ฉบับที่ 135 รักออกอากาศ : เรื่องจริงที่ผ่านจอ

มีคำถามข้อหนึ่งว่า สิ่งที่โทรทัศน์กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม หรือโทรทัศน์กำลังทำหน้าที่ชี้นำทิศทางความเป็นจริงบางอย่างผ่านทางหน้าจอ??? สำหรับผมแล้วนั้น คำตอบคงไม่ใช่แบบ (ก) หรือ (ข) อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โทรทัศน์คงกำลังทำทั้งสะท้อนและตั้งคำถามกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หรือโทรทัศน์คงเป็นได้ทั้ง “กระจก” และ “ตะเกียง” แบบที่นักวิชาการสายสื่อมวลชนหลายคนได้เคยตอบคำถามเอาไว้ ถ้าอยากรู้ว่าโทรทัศน์ทำหน้าที่ทั้งแบบ “กระจก” และ “ตะเกียง” ได้อย่างไร ก็คงต้องหวนกลับมาดูละครแล้วค่อยๆ ย้อนดูความเป็นจริงต่างๆ ในสังคมกันอีกสักครั้ง ท่ามกลางกระแสของรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เบ่งบานอยู่ในเมืองไทยเรา ณ ขณะนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “รักออกอากาศ” ก็โหนกระแส “สะท้อน” ภาพความเบ่งบานของอุตสาหกรรมเรียลลิตึ้โชว์เอาไว้ ด้วยการสร้างภาพของไฮโซหนุ่มอย่าง “เจ้าคุณ” ที่ปลอมตัวไปเป็น “เจ้าขุนทอง” และไปใช้ชีวิตในชนบทของชุมชน “ม่วนแต๊” โดยมีกล้องโทรทัศน์จับตามองความเป็นไปของเขาอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง   ในโลกความจริงนั้น เราเคยมีรายการเรียลลิตี้โชว์ทำนองนี้อย่าง “ไฮโซบ้านนอก” ได้ฉันใด ในละครโทรทัศน์ก็ได้เป็นประหนึ่งกระจกสะท้อนหรือจำลองภาพรายการทีวี “ไฮโซบ้านเฮา” ขึ้นมาท่ามกลางขุนเขาและไร่ชาของชุมชนม่วนแต๊ พร้อมทั้งมีบรรยากาศของผู้ชมที่คอยชูป้ายยกไฟเชียร์ความรักของเจ้าขุนทองกับน้องนางบ้านไร่อย่างน้องใจ๋กันสุดชีวิต และที่สำคัญ ละครไม่ได้เพียงแค่จำลองภาพขึ้นมาเปล่า ๆ หากแต่ยังหยิบยกเสี้ยวโน้นเสี้ยวนี้ของฉากชีวิตลูกหลานไฮโซมาผสมปน ๆ อยู่ในโครงเรื่องของละครอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหยิบภาพชีวิตของบรรดาไฮโซที่มักทำตัวแบบ “คนรวยเจ้าสำราญ” ขึ้นมาตั้งแต่เปิดเรื่อง หรือการนำเสนอภาพบรรดาลูกหลานไฮโซที่มักถูกพ่อแม่จับคู่คลุมถุงชนให้แต่งงานกันในหมู่แวดวงชนชั้นสูงด้วยกันเอง หรือแม้แต่ภาพของไฮโซเจ้าคุณที่ขับรถซิ่งตามท้องถนน ก็ดูไปคล้าย ๆ กับภาพข่าวหลาย ๆ ครั้งที่เราเคยได้เห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นเรื่องราวที่ดูคุ้นและดูใกล้เคียงกับที่เราๆ เคยรับรู้จากข่าวหนังสือพิมพ์ แต่จุดต่างของภาพที่สะท้อนชีวิตไฮโซในละครโทรทัศน์กับของจริงก็คือ ในขณะที่ไฮโซจริงเขาซิ่งรถคว่ำกันระเนระนาดเป็นโศกนาฏกรรม แต่ไฮโซเจ้าขุนทองนั้น กลับขับรถสปอร์ตพุ่งชนเข้ากับแผงร้านหมูกระทะที่มีน้องใจ๋นางเอกของเรื่องกำลังนั่งโซ้ยอาหารมื้อค่ำกันอยู่ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปมพ่อแง่แม่งอนต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่อง เพราะฉะนั้น ภาพที่ละครโทรทัศน์ฉายออกมาให้เห็นเหล่านี้ ก็คงจะเป็นเสมือนกับ “กระจก” ที่กำลัง “สะท้อน” โลกแห่งความเป็นจริงนอกจอมาให้เราได้รับชมไม่มากก็น้อย ส่วนในมุมของ “ตะเกียง” หรือการที่ละครโทรทัศน์ทำหน้าที่ชี้นำทิศทางความเป็นจริงให้กับผู้ชมนั้น ก็ปรากฏให้เห็นผ่านบรรดาเนื้อหาหรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผูกแต่งโยงกันเข้ามาเป็นโครงหลักๆ ของเรื่อง เริ่มตั้งแต่การที่ละครได้ทดลองสร้างตัวละครให้สมมติฉากแบบที่ไฮโซพลัดถิ่นอย่างเจ้าคุณต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ภาพอากัปกิริยาเปิ่น ๆ ของตัวละครเมื่อต้องข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมแบบเมืองไปใช้ชีวิตในชนบทบ้านม่วนแต๊ จะนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำ จะกินอาหารพื้นบ้านพื้นเมือง จะกางมุ้งเข้านอน รวมไปถึงการเข้าส้วมเพื่อขับถ่าย ทุกอย่างก็ดูเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ผิดฝาผิดตัวแทบทั้งสิ้น ภาพแบบเคอะๆ เขินๆ หรือภาพของความไม่ลงรอยกันระหว่างสองโลกที่แตกต่างของเมืองกับชนบท หรือระหว่างไฮโซเจ้าคุณกับชาวชุมชนม่วนแต๊แบบนี้ คงไม่ใช่เหตุวิสัยที่เกิดกันเป็นปกติเท่าใดนัก หากแต่น่าจะเป็นภาพที่ละครได้เสกสรรปั้นแต่งความบันเทิงขึ้นมาให้เราได้ดู แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมความบันเทิงจึงต้องสอดแทรกมุขตลกที่ให้เมืองกับชนบทได้มาพานมาพบมาเข้าอกเข้าใจกันแบบอิหลักอิเหลื่อเช่นนี้??? ผมคิดว่าคงเป็นความตั้งใจของผู้เขียนบทและผู้สร้างละครด้วยนั่นแหละ ที่อยากจะใช้ละครเป็นพื้นที่กอบกู้ศักดิ์ศรีของคนชนบท และใช้ความบันเทิงของละครเชื่อมประสานรอยแยกระหว่างสองขั้ววัฒนธรรมที่แตกต่างให้ได้มาปรองดองกัน คล้าย ๆ กับภาพที่น้องใจ๋นางเอกของเรื่องที่เดินเข้าไปตบหน้าไฮโซหนุ่มเจ้าคุณในงานแต่งงานของเขากับไฮโซสาวเอมี่ ก็ชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ว่า ทุกวันนี้คนเมืองกรุงของเราอาจจะกำลังหลอกลวงให้หลงรักหรือหยามศักดิ์ศรีคนชนบทแบบชาวบ้านม่วนแต๊ที่อยู่ในละครกันมากน้อยเพียงไร แต่หลังจากที่คุณพระเอกไฮโซของเราได้ “พาหญิงงามกลับไปหยามน้ำใจ” ของสาวใจ๋แห่งบ้านม่วนแต๊แล้ว ละครก็เริ่มพลิกกลับมาอีกด้านของความปรองดองเข้าใจกัน โดยให้ภาพของทั้งเจ้าคุณและคุณหญิงรจนาวรรณผู้เป็นมารดา ที่ได้เรียนรู้สัจธรรมชีวิตว่า ทั้งเมืองและชนบทอาจไม่ใช่ความแตกต่างที่ต้องแตกแยกกันเสมอไป จนนำไปสู่ฉากจบของเรื่องที่ทั้งเจ้าคุณและใจ๋ก็ได้ลงเอยความรักท่ามกลางบรรยากาศของไร่ชาและอารมณ์ม่วนชื่นของชาวม่วนแต๊ เพราะฉะนั้น ข้อสรุปของ “รัก” ที่เกิดจากการ “ออกอากาศ” ก็คงเป็นไปในทำนองว่า ทั้งไฮโซเมืองกรุงและน้องนางบ้านไร่จึงต่างอยู่โดยขาดความเข้าใจและเกื้อกูลระหว่างกันและกันไปไม่ได้ ในโลกความเป็นจริง ฐานการผลิตของชนบทจะขาดการสนับสนุนจากคนในสังคมเมืองไม่ได้ฉันใด ละครก็ชี้นำให้เราเห็นในอีกทางด้วยว่า คนเมืองอย่างไฮโซเจ้าคุณเองจะเข้าใจตัวคุณเองได้ ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างความเข้าใจและเคารพในศักดิ์ศรีของคนชนบทแบบชาวม่วนแต๊กันเสียก่อน หากละครได้เป็นทั้ง “กระจก” และ “ตะเกียง” ที่นำร่องความคิดเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนที่แตกต่างกันในทางวัฒนธรรมมาแบบนี้แล้ว คำถามที่ทิ้งท้ายไว้ก็คือ แล้วจากโลกของละครที่จำลองภาพเอาไว้เช่นนั้น จะกลายมาเป็น “เรื่องจริง” ที่อยู่นอกจอได้บ้างหรือไม่...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point