ฉบับที่ 222 รับมือกับแผลน้ำร้อนลวก

        โอกาสโดนน้ำร้อนลวกหรือน้ำมันร้อนกระเด็นใส่นั้น ทุกคนมีความเสี่ยงพบเจอได้ ยิ่งเป็นคนที่ชอบทำอาหารโดนกันประจำ การจะดูแลปฐมพยาบาลแผลน้ำร้อนลวกนั้น ต้องประเมินจากขนาดของแผลและบริเวณที่สัมผัสความร้อน เพื่อที่จะประเมินได้ว่า ต้องจัดการอย่างไร ที่แน่ๆ พอโดนลวกแล้วปวดแสบปวดร้อนจนสุดทน จนบางคนต้องหาของที่เอ่ยอ้างต่อๆ กันมากันว่าบรรเทาได้ อย่างยาสีฟัน น้ำปลา น้ำแข็ง มาทา ประคบ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผสมความเข้าใจผิด และอาจทำให้แผลยิ่งอักเสบจนกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ คราวนี้จึงจะนำวิธีการรับมือแบบถูกต้องมาฝากกัน ประเมินบาดแผลและการรักษา         1. แผลระดับแรก เป็นแผลกินบริเวณไม่กว้าง ความร้อนทำลายแค่ผิวหนังกำพร้าชั้นนอกเท่านั้น โดยแผลนั้นจะไม่มีตุ่มพองใส แต่จะแค่ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีแดงกว่าปกติ มีความรู้สึกว่าปวดแสบและร้อนแบบพอทนได้ ซึ่งจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่อหายปวด โดยทั่วไปแผลระดับแรกนี้จะหายไปในระยะเวลา 7 วัน วิธีการรักษา แค่ใช้น้ำอุณหภูมิปกติไหลผ่านแผล แล้วจึงใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบไว้สักครู่หนึ่ง อาการปวดก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าใครมีคูลฟีเวอร์ ( แปะหน้าผากลดไข้เด็ก ) ก็สามารถนำมาแปะที่แผลไว้ นอกจากนี้การใช้สมุนไพรบางตัว อย่าง ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก หรือบัวหิมะ พอกทาที่แผล ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนได้ดี พออาการปวดดีขึ้นก็ให้ทายารักษาอาการ ยาทานั้นมีขายทั่วไปตามร้านขายยา สอบถามได้จากเภสัชกรในร้าน         2. แผลระดับสอง คือแผลที่โดนลึกขึ้น และกินบริเวณกว้างกว่าแผลในระดับแรก เข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้า แล้วลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังหลงเหลือเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตมาทดแทนชั้นหนังที่ตายแล้วได้อยู่ แผลนั้นจะมี 2 แบบ คือทั้งแบบเป็นตุ่มพองมีน้ำใสๆ ข้างใน พอแกะน้ำออกมาผิวบริเวณนั้นจะมีสีชมพู และมีน้ำเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย แผลระดับนี้จะเริ่มมีอาการปวดแสบมากขึ้น เพราะเส้นประสาทถูกทำลายไปด้วย แต่ไม่เยอะมากนักและแผลจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะไม่เกิดแผลเป็น ส่วนอีกแบบนึงจะเป็นแผลที่ไม่มีตุ่มพองแผลจะแห้ง มีสีเหลืองขาวและไม่ค่อยปวด แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นได้วิธีการรักษา ใช้วิธีการเดียวกับแผลระดับแรก เพียงแต่อาการแสบร้อนอาจมีมากกว่ากินระยะเวลาการรักษานานกว่า หากมีอาการตุ่มพองน้ำใส อย่าแกะหรือสะกิดให้น้ำออก น้ำด้านในจะค่อยๆ แห้งลงเอง แต่ถ้าแผลเปิดออก ต้องทายาเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อ และบางครั้งอาจต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ            3. แผลระดับสาม แผลลึก รุนแรงกินลึกลงไปถึง หนังแท้ รูขุมขน ต่อมเหงื่อ และเซลล์ประสาทจนหมด ซึ่งแผลระดับนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะอาจกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก แต่จะไม่มีอาการปวดจากแผล เพราะเซลล์ประสาทโดนทำลายไปทั้งหมด ทำให้ไม่รับรู้ถึงอาการปวด ระดับนี้รักษาเองไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น สมุนไพร ที่ช่วยในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บรรเทาอาการแสบร้อน        1. ว่านหางจระเข้ วุ้นของว่านหางจระเข้นั้นมีสาร ไกลโคโปรตีน มีสรรพคุณในการลดการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อในแผลและห้ามเลือด เหมาะกับการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้เป็นอย่างดี วิธีการใช้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ ทั้งแบบครีมและเจลเพื่อให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือถ้าไม่อยากซื้อใช้ ก็แค่เพียงนำว่านหางจระเข้สดๆ ล้างน้ำเอายางออกปอกเปลือกให้หมด แล้วจึงขูดเอาเนื้อวุ้นมาปิดที่บริเวณแผล ระยะแรกอาจต้องเปลี่ยนบ่อยเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนจนอาการดีขึ้น จากนั้นพอกทาวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น จนกว่าแผลจะหาย         2. ใบบัวบก มีสรรพคุณในรักษาแผลอักเสบ และสมานแผลทำให้แผลหายเร็ว ลดอาการปวดแสบร้อนได้ดีเช่นกัน วิธีการใช้ ให้นำใบบัวบกสดล้างให้สะอาด แล้วนำไปตำจนละเอียด กรองเอาน้ำแต่ติดกากใบมาด้วยเล็กน้อย แล้วเอามาชโลมที่แผลเรื่อยๆ จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น หรือใช้ครีมบัวบกซึ่งพัฒนาเป็นยาเพื่อใช้บรรเทาอาการแสบร้อนและสมานแผลน้ำร้อนลวก         3. นมสด หรือโยเกิร์ตแช่เย็น ทั้ง 2 อย่างนี้ มีปริมาณไขมันและโปรตีน ที่ช่วยในการสมานแผล และลดอาการปวดแสบร้อนได้ดี วิธีการใช้ แช่แผลลงในนมสดหรือโยเกิร์ต ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก วิธีนี้นอกจากจะลดอาการปวดได้แล้ว ยังทำให้ไม่เป็นแผลเป็นอีกด้วย         4. เกลือ มีสรรพคุณในการสมานแผล และลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ดี อย่างไม่น่าเชื่อ วิธีการใช้ เมื่อเกิดแผลให้รีบนำเกลือป่นมาพอกไว้ที่บริเวณแผล  แล้วหยดน้ำลงไปเล็กน้อย จะทำให้แผลที่ปวดแสบปวดร้อนดีขึ้น        5. บัวหิมะ สมุนไพรจากจีนที่ค่อนข้างหาซื้อยาก แต่มีสรรพคุณแก้พิษจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบปวดแสบร้อนอย่างรุนแรงได้ดี เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น แล้วยังทำให้ผิวบริเวณที่โดนลวกหรือไหม้นั้นไม่เป็นแผลเป็นอีกด้วย วิธีการใช้ ปัจจุบันมีการนำมาทำในรูปแบบของ ผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อใช้ได้ง่ายขึ้น แต่อาจมีราคาที่ค่อนข้างสูง บรรเทาอาการและช่วยสมานแผล 1. น้ำส้มสายชู ด้วยกรดอะซีตริกที่อยู่ในน้ำส้ม ช่วยบรรเทาอาการ อักเสบ ปวด และการคันจากการโดนของร้อน และการเผาไหม้ นอกจากนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อและป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้ออีกด้วย วิธีการใช้ ล้างแผลให้สะอาด แล้วใช้สำลีจุ่มลงไปในน้ำส้มสายชู บีบน้ำออกเล็กน้อยแล้วนำมาวางโปะไว้บนแผลสักครู่ รอจนแผลหายปวดแล้วจึงเอาออก สามารถทำได้ทุกวันจนกว่าแผลจะหาย2. น้ำมันมะพร้าว สามารถป้องกันแผลจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่มาของการอักเสบ และเกิดรอยแผลเป็นได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอีและกรดไขมัน เหมาะสำหรับแผลที่หายแล้ว วิธีการใช้ นำน้ำมันมะพร้าวมาชโลม แล้วนวดตรงบริเวณที่เป็นแผลเป็น จนผิวและแผลบริเวณนนั้นนุ่มและอ่อนลง สามารถทาได้ทุกวัน 3. น้ำผึ้งจากธรรมชาติ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและลดอาการเจ็บปวดของแผลได้เป็นอย่างดี วิธีการใช้ ล้างแผลให้สะอาดแล้วนำน้ำผึ้งมาหยด จากนั้นนวดตรงบริเวณแผล สามารถทำได้เรื่อยๆ จนกว่าแผลจะหายปวด ข้อมูลจาก  https://www.honestdocs.co/burn-wound-treatment

อ่านเพิ่มเติม >