ฉบับที่ 230 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (1)

        นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กรมารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเรา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ           ตอนนี้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว  “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลานื้ที่มีไวรัสโควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด  ถ้ามี"สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย         หรือ “ปัญหาของสายการบิน” ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 สายการบินต่างๆ มีการประกาศระงับการบริการ และแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกระหว่างการเลื่อนวันเดินทาง หรือเก็บเครดิตวงเงินไว้เพื่อใช้ในภายหลัง ซึ่งมีกำหนดเวลา 365 วัน โดยไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ หรือปัญหาสำหรับผู้ที่เลือกรับตามเงื่อนไขของสายการบิน แต่การติดต่อก็มีความยุ่งยาก เพราะไม่มีการใช้พนักงานมาประสานด้วยตนเอง กลับให้ผู้บริโภคติดต่อผ่านระบบ AI ที่เพียงการตอบคำถามตามที่ตั้งค่าไว้ ไม่สามารถให้คำอธิบาย หรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญคือ ถูกบังคับให้รับสิทธิตามที่บริษัทเสนอไว้ โดยไม่มีอำนาจต่อรอง บางคนติดต่อทำเรื่องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และเงื่อนไขการกำหนดวงเงินเครดิตที่ไม่เป็นธรรมของสายการบินที่ให้เราต้องรีบใช้เงินตัวเองภายใน 365 วัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป และเกิดซ้ำไปซ้ำมา เพราะเราไม่มี “ตัวแทน”มาคอยช่วยต่อรองแทนให้ ดังนั้น หากมี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ก็จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย รวมกลุ่มผู้บริโภคเจรจาต่อรองกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน รวมถึงตรวจสอบการกระทำของสายการบินต่างๆ ที่ออกเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไข หรือออกกติการมากำกับให้เกิดแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ยังมีทีมนักกฎหมาย ทั้งทนายความและนักวิชาการเพื่อเข้าช่วยเหลือเจรจาต่อรอง รวมถึงฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย        ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคยังเชื่อมโยงถึงเรื่อง “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น การที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นรับส่งอาหารทางออนไลน์ มักไม่ทราบข้อมูลของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้  ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้บริโภค มีการไปเก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ร้านค้าต้องเพิ่มราคาอาหาร กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือหากร้านใดมีการคิดค่าบริการขนส่งสินค้า การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงต้องมี “ตัวแทนผู้บริโภค” ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรู้ในการเลือกใช้บริการรับส่งอาหาร เพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด มีข้อมูลเปรียบเทียบราคาค่าส่งของแต่ละราย รวมถึงช่วยตรวจสอบราคาอาหาร ค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม            นอกจากนี้ “ตัวแทนผู้บริโภค” ยังช่วยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกฎหมาย หรือมาตรการดูแลผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีของการจัดการปัญหาค่าบริการของธุรกิจรับส่งอาหารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของโรคระบาดโควิด 19  สภาองค์กรผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคสามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ลดค่าจัดส่งอาหารแก่ผู้บริโภค โดยลดค่าส่วนแบ่งร้านค้า เนื่องจากช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคประสบปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด จึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีรายได้มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้บริการรับส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน หรือกักตัวอยู่ในบริเวณที่พักตนเองเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ควรลดราคาค่าจัดส่งแก่ผู้บริโภค โดยอย่างน้อยราคาต้องไม่เกินกว่าราคาอาหารหน้าร้าน พร้อมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งร้านค้าและผู้ส่ง  รวมถึงเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม เพื่อลดขยะโลก โดยทำระบบแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มีเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช้โฟม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ รวมถึงมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน เป็นต้น        ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคนั้น สำคัญต่อผู้บริโภคมากขนาดไหน เพราะเกี่ยวข้องในเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน และสำคัญยิ่งที่วาระวิกฤต ไม่เพียงเท่านั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สภาองคืกรผู้บริโภค คือ การสร้างและพัฒนาองค์กรที่ทำงานจริงจังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในฉบับถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >