ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาดต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจริงหรือ

        คนไทยนิยมใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก และสถิติอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของไทยก็มาจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ         พี่ชายของคุณวิเชียร เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักล้ม ตัวพี่ชายกระแทกแท่งแบริเออร์อย่างแรง อาการหนัก กู้ภัยมาช่วยและดำเนินการส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา โรงพยาบาลแรกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการรักษา แพทย์ผู้ทำการรักษาตรวจพบว่า อวัยวะภายในเสียหายอย่างมาก ตับแตก ต้องทำการผ่าตัด และทางโรงพยาบาลบอกเขาว่าต้องออกค่ารักษาเอง เป็นค่าผ่าตัด 30,000 บาท เพราะพ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ขาด (หมดอายุ) เขางงว่าในเมื่อพี่ชายของเขามีสิทธิประกันสังคมทำไมใช้สิทธิประกันสังคมรักษาไม่ได้ และสงสัยว่าโรงพยาบาลสามารถเรียกค่ารักษา 30,000 บาท โดยอ้างว่า พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ได้หรือ จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้รับทำประกัน กรณีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุล้มเอง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามอเตอร์ไซค์คันที่เกิดเหตุมีประกันภาคบังคับไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังไม่หมดอายุ ผู้ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้คนละไม่เกิน 35,000 บาท         แต่กรณีของผู้ร้องเสียหลักล้มเอง เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี และพ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ผู้ร้องจึงต้องออกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 30,000 บาทเอง หรือผู้ร้องสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ แต่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเรียกเงินตามจำนวนที่จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถ (เพราะขาดการต่ออายุ พ.ร.บ.) รวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัย         ส่วนเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงต้องใช้สิทธิในส่วนนี้ก่อน ถ้าการรักษาพยาบาลเกินวงเงิน 30,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินมาจึงจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนติดใจก็เคลียร์กันได้

        เมื่อทางราชการได้กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนขึ้นแล้ว ผู้บริโภคก็ควรได้ใช้สิทธิของตนเพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เรามาดูกรณีศึกษาจากผู้บริโภคคุณภาพท่านหนึ่งกัน         คุณพยุง อายุเข้าวัยกลางคนแล้ว วันหนึ่งมีอาการตาพร่ามัวและเคลื่อนไหวร่างกายไม่ถนัด จึงคิดว่าน่าจะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการว่ามีอะไรผิดปกติไหม คุณพยุงเรียกแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะมีมาตรฐานและเครื่องมือที่พร้อมกว่าโรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เมื่อถึง รพ.คุณพยุงได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ห้องฉุกเฉิน ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าอาจเป็นอาการของเส้นเลือดสมองตีบ จึงให้ผู้ร้องทำ MRI* ซึ่งผลเป็นไปตามที่แพทย์ผู้รักษาคาด แพทย์จึงขอให้คุณพยุงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล(แอดมิท) ทันที          คุณพยุงนั้นยังลังเลที่จะเข้าแอดมิทเลย เพราะห่วงว่าคุณแม่ซึ่งอยู่บ้านลำพังจะลำบาก จึงผัดว่าจะเข้ามาแอดมิทในตอนกลางคืน และจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 18,195 บาท        เมื่อจัดการธุระทางบ้านเรียบร้อยคุณพยุงจึงให้น้องชายมาส่งที่ รพ.เพื่อเข้ารับการรักษาในคืนนั้น แพทย์ทำการตรวจรักษาด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาค่าโคเรสเตอรอลและให้นอนพัก ซึ่งขณะพักมีการให้น้ำเกลือ 1 ขวด ก่อนนอนแพทย์ให้คุณพยุงรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาแก้ปวดและยาลดไขมัน วันรุ่งขึ้น ตอนเช้าเมื่อแพทย์ดูอาการแล้วได้สั่งเพิ่มการทำ MRA (การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง MRI เราเรียกว่า MRA Brain หรือ Magnetic Resonance Angiography) อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้ต้องรอเครื่องว่าง ซึ่งคุณพยุงต้องรอถึง 3 ทุ่ม และนอนอีกหนึ่งคืน         วันต่อมาคุณพยุงไม่อยากนอน รพ.อีก แต่ตื่นเช้ามาอาการไม่ค่อยดีไม่สามารถขยับมือเพื่อเซ็นชื่อได้ถนัด จึงบอกแพทย์ว่าจะขอดูอาการตัวเองก่อนว่าจะกลับบ้านหรือไม่ ต่อมาตอนบ่ายอาการดีขึ้นจึงตัดสินใจกลับบ้าน ขณะที่กำลังจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาล คุณพยุงถูกเรียกเก็บค่ารักษาที่ 20,000 บาทกว่า คุณพยุงพิจารณาว่า บางรายการแพงเกินไป เช่น ค่าน้ำเกลือและค่าวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จึงจ่ายเงินเพียง 14,661 บาท โดยเว้นรายการที่ไม่ชัดเจนไว้ก่อน และจะมาขอคำชี้แจงในภายหลังว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร จึงจะจ่ายส่วนดังกล่าวให้กับโรงพยาบาล        “ดิฉันจ่ายในสิ่งที่เห็นว่า รพ.เรียกเก็บอย่างเหมาะสมเท่านั้น เช่น ค่าห้อง อันนี้ดิฉันตัดสินใจนอนเอง ส่วนน้ำเกลือเปล่าๆ จำนวน 2 ขวด คิดขวดละ 990 บาทเห็นว่าแพงเกินไป”            คุณพยุงเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และขอแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้หนี้ที่คุณพยุงค้างไว้คือ เงินจำนวน 6,028 บาท แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ขอให้คุณพยุงส่งเอกสารประเภทใบเสร็จและรายการค่าวัสดุอุปกรณ์ที่มีเพื่อจะได้ส่งเรื่องให้กับทางกรมการค้าภายใน อย่างไรก็ตามคุณพยุงได้ติดต่อมาในภายหลังว่า ได้เจรจากับทาง รพ.แล้ว และทาง รพ.ได้ลดราคาในส่วนที่ค้างอยู่ ลงมาเหลือ 3,000 บาท ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเหมาะสมจึงจ่ายหนี้ส่วนดังกล่าวและยินดียุติเรื่อง         สำหรับผู้บริโภคที่เกิดข้อสงสัยในส่วนของค่ารักษาของ รพ.เอกชน ท่านสามารถแจ้งรายละเอียดและร้องเรียนไปที่ กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์                 *MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริง ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ (Radio Frequency) ด้วยการส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ นำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพ ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้รายละเอียดและความคมชัดเสมือนการตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ ทำให้แพทย์สามารถมองจุดที่ผิดปกติในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 อาสาสมัคร มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย

“พ.ศ.2509 ท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน อาศัยจิตวิญญาณ “ยับยั้งชั่งใจ อุตสาหะ มัธยัสถ์ ฟันฝ่าอุปสรรค” จนสามารถก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ขึ้น ณ เมือง    ฮวาเหลียน ไต้หวัน ในยุคแรกลูกศิษย์ซึ่งเป็นภิกษุณี 6 รูป ต่างช่วยกันเย็บรองเท้าเด็กเพิ่มวันละหนึ่งคู่ และแม่บ้าน 30 คน ต่างช่วยกันออมเงินลงในกระบอกไม้ไผ่ ออมบุญวันละ 50 สตางค์ เพื่อดำเนินงานการกุศลของฉือจี้ ปัจจุบันมูลนิธิฉือจี้มีสำนักงานและจุดติดต่อรวมทั้งสิ้น 56 ประเทศ โดยให้การช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกไปแล้ว 92 ประเทศ” ที่ประเทศไทย สุชน แซ่เฮง อาสาสมัคร มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ได้เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นการเป็นอาสาสมัคร         สมัยเรียน ผมเรียนหลักคิดของท่านขงจื้อ อันนี้หมายถึงที่ไต้หวันนะ   ชอบมากสังคมแบบนั้น ตอนหลังผมมาพบว่ามันมีหลายส่วนคล้ายๆ กับสังคมไทยในอดีต มีหลายส่วนคล้าย แต่เหมือนว่ามันไกลจากตัวเรา ในสมัยท่านขงจื้อ 2,600 ปีก่อน หรืออย่างสมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน เหมือนเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่ไกลมาก แล้วเราจะเดินไปถึงได้อย่างไรกับอุดมการณ์และสังคมแบบนั้น พอผมมามีเพื่อนเป็นชาวคริสต์ เขาเรียกผมไปพบที่มูลนิธิฉือจี้ประเทศไทยซึ่งที่ตั้งเดิมที่อยู่รัชดาซอย 3 ผมก็ไป         “เขาบอกว่ามูลนิธินี้เปิดใหม่ เป็นมูลนิธิที่ดีควรเข้าร่วม ตอนนั้นจะไม่มีหนังสือไทยเลย โปสเตอร์ต่างๆ ก็เป็นภาษาจีนหมด ผมไปยืนอ่าน แล้วก็ดูภาพ และก็อ่านข้อความข้างใน แค่ตรงนั้นเอง  ผมบอกว่าอันนี้น่าสนใจมาก” มันมาเชื่อมต่อกับตอนที่เราเป็นหนุ่มๆ ที่บอกว่ามันทำให้สังคมนี้เกิดได้ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าอะไรคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พอเขาเอามาแปลเป็นเรื่องการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษาและวัฒนธรรม ผมเห็นการกุศลอย่างเดียวเท่านั้น การทำของฉือจี้ก็จะทำให้สังคมของท่านขงจื้อเกิดได้ระดับหนึ่งแล้ว เฉพาะแค่หนึ่งภารกิจ แล้วภารกิจต่อๆ ไปมันเป็นภารกิจที่ผมเห็น แก้ปัญหาสังคมไทย แค่ดูกับอ่านอันนี้มันไม่พอ         หลังจากนั้นก็มีการลงมือปฏิบัติ สัมผัสคนไทย การสัมผัสเป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ใช่หรือไม่คนไทยในอดีตเป็นแบบนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้มันไม่ค่อยเหมือน แต่ว่ายังมีหลงเหลืออยู่หรือเปล่า ใกล้ยี่สิบปีแล้ว ไปหลายๆ จังหวัดและไปอยู่ตามบ้านนอกเลยยิ่งมั่นใจเลยว่าใช่ สังคมของคนไทยในอดีตคล้ายมาก การทำงานจิตจอาสาแบ่งเวลาอย่างไร สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ยั่งยืน         ตรงนี้สำคัญที่สุดเลย ที่ศาสนาพุทธพูดถึงคือ ทางสายกลาง อย่าเกินและอย่าขาดเกินไป คนเราไม่ว่าคุณจะยุ่งขนาดไหนคุณจะมีเวลากับสิ่งนั้นๆ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า อันนี้สำคัญมาก แต่ถ้าบอกว่าไม่มีเวลาแปลว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในหัวใจเรา    อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เป็นเรื่องปกติ หมายถึงอย่างนี้ ฉะนั้นผมก็เห็นหลายๆ ท่าน ชาวฉือจี้ปัจจุบันยุ่งมากแต่เขาก็เจียดเวลามาช่วย เฉพาะคนไทยหลังๆ นี่ เป็นแพทย์ พยาบาล ใครจะมีเวลายุ่งมากกว่าแพทย์ พยาบาล เหนื่อยก็เหนื่อยงานก็หนักเวลาส่วนตัวก็น้อย แต่เวลาที่เหลืออยู่เทให้ฉือจี้หมด เขาเห็นคุณค่าถ้าไม่เห็นคุณค่าเขาก็จะมองว่าแค่เป็นมูลนิธิฉือจ         อันที่หนึ่งคำว่ามูลนิธิเราถูกตีกรอบแล้ว เหมือนอย่างที่เรา  คุ้นชินกัน อันที่สองพอเป็นชื่อมูลนิธิฉือจี้ คนเราถูกบ่มเพาะมาแล้วในเรื่องความแตกต่าง การแยกแยะให้เป็นสองส่วน โดยเฉพาะพวกเก่งวิทยาศาสตร์มันจะต้องมีสองอย่างมาชนกัน พอมองฉือจี้ว่าเป็นมูลนิธิถึงเวลาเอาข้าวสารเอาเงินมาให้อะไรต่างๆ  ก็มองเป็นแบบนี้ไป มันก็ถูกนิดหน่อยถูกส่วนหนึ่ง แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นมูลนิธิองค์กรศาสนาพุทธ พอเป็นศาสนาพุทธก็จะเป็นเรื่องของหลักธรรม พอเป็นเรื่องหลักธรรม อิสลาม ศริสต์  ก็เข้ามาได้ คำว่าหลักธรรมเป็นของทุกศาสนา ขงจื้อไม่ใช่ศาสนา เพราะปัญญาของศาสดาเหล่านี้ ขออนุญาตใช้คำว่าศาสดา ท่านขงจื้อท่านก็ไม่ได้บอกว่าท่านเป็นศาสดา แต่ท่านเป็นครูท่านมีปัญญาสูงแบบนี้ เวลาพูดออกมาหลักธรรมใกล้เคียงกันมาก เช่น เราพูดเรื่องความจริง ความดี ความงาม อะไรคือความจริง ความจริงคือสิ่งที่ไม่ตาย คนไทยบอก อะไรคือสิ่งที่ไม่ตาย หมายถึงว่าเอาไปไว้ที่ไหนก็ได้ เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนมันจะมีคุณค่าของมัน อันนี้เป็นนามธรรมมากๆ อย่างทองคำแท่งหนึ่งตู้เย็น กับโอ่งน้ำหนึ่งโอ่ง ให้เลือกๆ อะไรตอนนี้ในใจเลือกอะไร เลือกทองโดยไม่ต้องคิดเลย เพราะเราคิดว่าทองมีค่า ถ้าเปลี่ยนสถานที่ให้ไปอยู่ที่ทะเลทรายกำลังหลงทาง เราก็อยากได้น้ำมากกว่า แสดงว่าทองก็ไม่จริง พอเปลี่ยนสถานที่มันก็ไม่จริง         เราบอกความจริง ความดี ความงาม แล้วอะไรคือความจริง ในทางหลักธรรมทางสายกลาง ท่านขงจื้อก็พูด พระพุทธองค์ก็พูด พระพุทธองค์พูดเอาเรื่องพิณมาเปรียบเทียบ ถ้าสายหย่อนมันไม่เป็นเพลง ถ้าตึงเกินมันจะขาด มันต้องพอดี  มันถึงจะเป็นเพลง ชาวจีนเขาจะบอกว่า ชาหนึ่งถ้วยมันจะกลมกล่อมน้ำต้องพอดี  ชาต้องพอดี ความร้อนต้องพอดี ระยะแช่ต้องพอดี นี่คือทางสายกลาง ถ้าขาดไปมัน  ก็จืด ถ้านานไปมันก็ขม นี่คือความจริง หลักธรรมอันที่สองคือความดี ความดีเยอะเลย พูดจาเพราะก็ความดี ช่วยเหลือคนก็ความดี แล้วอะไรดีเลิศประเสริฐที่สุด ดีที่สุด ท่านขงจื้อบอกว่าสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐที่สุดก็คือความกตัญญู ส่วนพระพุทธองค์บอกว่าความกตัญญูเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลาย อะไรคือความงาม เรื่องความงามท่านขงจื้อบอกว่ามนุษย์เราเกิดมาบนโลกใบนี้เป็นพี่เป็นน้องกัน ทัดเทียมกันทุกชีวิต แต่พระพุทธองค์ไม่ได้พูดเรื่องมนุษย์อย่างเดียว พูดเรื่องสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ตัวที่มองไม่เห็นเขาก็มีค่าเหมือนกับมนุษย์ เขาเรียกว่าหลักธรรม ท่านขงจื้อกับพระพุทธองค์อยู่ในยุคเดียวกันต่างกันแค่ 5 ขวบ ท่านหนึ่งอยู่ที่อินเดียท่านหนึ่งอยู่ที่จีน ท่านคิดตรงกัน เขาเรียกว่าหลักธรรม ถ้าสามอย่างนี้เรายอมรับว่าใช่ สามอย่างนี้ในบ้านเมืองเรามีไหม ยังมีอยู่          ถ้าเรายอมรับ พระพุทธเจ้าและท่านขงจื้อก็เสริมหนุนบอกว่าคำสอนตรงนี้ใช่ แล้วเราทำไมปล่อยปละละเลยโดยเฉพาะเรื่องความกตัญญู มันเกี่ยวกับเรื่องชีวิตเลย คนที่ไม่กตัญญูเขาเรียกว่าคนที่ไม่รู้บุญคุณคน ลองคิดดูคนที่ไม่รู้บุญคุณคนอันตรายนะ ถ้าเราไปมอบชีวิตให้กับเขาหรือเราไปอยู่กับเขาเหมือนอยู่ใกล้เสือ มันจะกัดเมื่อไหร่ก็ได้ ความกตัญญูมันไปหลายเรื่อง มันก็ไปเรื่องความซื่อสัตย์ด้วย คนที่ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่    คุณเชื่อไหมว่าเขาจะซื่อสัตย์ ถ้าเขาไม่ซื่อสัตย์เขาก็ไม่ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเขาเอง ไม่ซื่อสัตย์ต่อคนอื่น ถ้าเขาสูงขึ้นๆ เป็นผู้ปกครองแผ่นดินเขาก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ฉะนั้นความกตัญญูเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลายที่พุทธองค์ปรารภเอาไว้ เราขยายความเอาไว้ พอเราขยายความมันใช่ มันเป็นเรื่องสัจธรรมที่แท้จริง ต้องแก้ตรงนี้ ไม่แก้ตรงนี้แล้วจะไปแก้ตรงไหน แล้วบ้านเมืองเราจะสงบ เมื่อมาเป็นจิตอาสา ฉือจี้ให้อะไรบ้าง         ฉือจี้ทำให้ผมเห็น ผมเห็นเฉพาะเรื่องการกุศลที่เขาไปช่วยเหลือคน ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าความกตัญญูเราหายไปเยอะแล้ว เราต้องเรียกกลับมา เอามาท่องเป็นบทความนี่ไม่กลับมานะ เพราะไม่ได้สัมผัสไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็นพ่อแม่ตัวเองกตัญญูกับปู่ย่าตายาย เขาก็ไม่รู้ว่าหน้าตาความกตัญญูมันเป็นอย่างไร ภาพนั้นเป็นภาพกตัญญูหรือเปล่า มองภาพไม่ออก อันที่สองคือตัวเองไม่ได้ไปสัมผัส พอไม่ได้สัมผัสมันเข้าไม่ถึงใจ พอเข้าไม่ถึงใจในที่สุดพอรุ่นลูกร่นหลานของคนไทยก็หายหมดแล้ว ความกตัญญูหายไปหมด มันเกิดอย่างนี้คือด่าคนเขาไปทั่ว ไม่รู้ว่าคนนั้นมีบุญคุณกับเราขนาดไหน ยังไม่รู้เลยก็ด่าไปแล้วคุณไปด่าเขาได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนนี้คุณไม่ได้อยู่บนแผ่นดินนี้แล้ว บรรพบุรุษคุณก็ไม่ได้มาที่นี่ ดีไม่ดีไปตกทะเลตายไปแล้ว อะไรอย่างนี้ไม่รู้แต่ด่าไปแล้ว เหตุผลที่ด่าไปแล้ว เพราะตัวเองไม่มีความกตัญญู ไม่ได้ไปโทษว่าเขาเลวร้ายนะ แต่เพราะเขาไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างไรนึกภาพไม่ออก    พ่อแม่เขาไม่ได้ทำให้เห็น         การกุศลมันฟื้นฟูความกตัญญูได้อย่างไร เราก็พาลูกๆ หลานๆ ขึ้นเครื่องไปดูแลพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ตกยาก ฉือจี้จะไปทำให้เห็น ไปเช็ดตัว ช่วยอะไรได้ก็จะช่วย คนนี้เดิมทีเขาอาจจะไม่สนใจเอามือล้วงกระเป๋า แต่พอนานๆ ไปเขาก็ทำเพราะเห็นว่าคนอื่นเขาทำงานแล้วเรามายืนดูเขาเฉยๆ เขาก็อาจจะเอาไม้กวาดมากวาด หรือมาช่วยตัดเล็บก็ได้ เอาผ้ามาเช็ดตัว ไปหลายๆ ครั้งก็ทำได้มากขึ้น วันหนึ่งได้คิดว่าคนที่บ้านปู่ย่าตายาย พ่อแม่ คนนี้เป็นคนอื่นเราทำได้ แล้วคนที่บ้านเราล่ะ  ก็กลับไปทำ นี่คือพฤติกรรมของความกตัญญู กตัญญูแปลว่ารู้คุณคน พอรู้คุณคน  คุณจะลงมือทำ ไม่ใช่รู้คุณอย่างเดียว พอรู้คุณคนก็ต้องตอบแทนบุญคุณ อันนี้เป็นพฤติกรรมตอบแทนบุญคุณ การเช็ดตัว การตัดเล็บ การอุ้มไปอาบน้ำอะไรต่างๆ   พอเป็นอย่างนี้ความกตัญญูฟื้นแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าไม่ใช้วิธีนี้แล้วเราจะเอาวิธีไหนมาสอนได้ หนังสือศีลธรรมก็ไม่มีแล้ว เอาหนังสือศีลธรรมมาท่องก็ทำไม่ได้ เพราะว่าภาพนั้นมันไม่ปรากฏ มันไม่เหมือนสมัยพ่ออุ้ยแม่อุ้ยจะมีภาพเหล่านี้อยู่ ลูกหลานเราไม่ต้องสอนเขาเห็น รู้ว่าต้องไปวัด ต้องรู้ไม่ต้องสอน รู้ว่าเห็นพระต้องไหว้ เพราะว่าภาพเหล่านี้มันสอนเรา คือรุ่นบรรพบุรุษเขาสอนด้วยภาพทำให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี         ตอนนี้บ้านเมืองเราเจริญรุ่งเรืองต่างๆ เต็มไปหมด แต่เรื่องจิตใจตกต่ำถอยหลังจะเป็นคนป่าคนดงแล้วก็ว่าได้ เราจะเอาอย่างไรดี เป็นคนป่าคนดงก็ดีขับเครื่องบิน คนป่าคนดงขับรถยนต์ก็ไม่ว่าอะไร ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราคิดว่าคนไทยน่าจะเป็นชนเผ่าที่ดีงามที่สุดในโลก ถ้าเราตีความแบบนี้ ผมคิดว่ามันน่าทุ่มมาก ทำให้ฟื้นขึ้นมา แล้วบ้านเมืองเราจะไม่ต้องไปกังวลเรื่องกินเรื่องอยู่เลย มันสมบูรณ์มาก ทำไมเราต้องไปแข่งกับคนอื่นเขา แข่งอะไร ของเรามีน้ำที่ดี มีดินที่สมบูรณ์ มีอากาศที่ดีๆ อย่างเราว่าหนาวลองไปอีกที่ๆ หิมะตกทั้งเดือน เลยประเทศเกาหลีไปก็ไม่น่าอยู่แล้ว ประเทศไทยดีที่สุดแล้วผมเชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่พอดี ทางสายกลางดีมากๆ ในทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งตัวคนไทยเอง ประเทศไม่ใหญ่ประชากรก็ไม่มาก ทุกอย่างมันพอดีหมดเลย วัด โบสถ์ มัสยิด สวยงามไปหมด พอภาพเป็นอย่างนี้ ถามว่าเกิดมาเป็นคนไทยทำไม ทำไมต้องอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ต้องคิดแล้วนะครับ บางทีเราก็คิดว่าเราเป็นคนไทยทำไม ก็ไม่รู้ ก็เกิดมาเป็นคนไทยก็เป็นคนไทย แล้วเกิดมาเป็นคนไทยแล้วต้องทำอะไรเพื่อบำเพ็ญตน  ถ้าคนไทยทุกคนค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องชีวิต การบำเพ็ญตนมาที่หนึ่งจะทำอะไรก็มีความสุข จะอยู่ที่ไหนก็มีความสุขได้ ยกตัวอย่างเช่น ใครบอกว่าอยากเกิดมาเพื่อเป็นหมอ ใครอยากเกิดมาเพื่อเป็นนายก ไม่มีนะ แต่ถ้าหากว่าไม่รู้จักหลักธรรม แล้วเป็นหมอนี่มันมีความสุขจริงไหม เป็นนายกแล้วมีความสุขจริงไหม แต่เราก็รู้ว่าเป็นยามนี่ทุกข์แน่ แต่ถ้าคนไทยที่บอกว่าเกิดมาเพื่อบำเพ็ญตนไม่ว่าจะเป็นยามเป็นหมอเป็นนายก คุณจะมีความสุขเหมือนๆ กัน เพราะว่าคุณค่าของคุณไม่ได้วัดว่าที่แบงค์ คุณมีจำนวนเงินเท่าไหร่ มันวัดอยู่ที่หัวใจของคุณว่ามีความปีติขนาดไหน ถ้าเราทำแล้วใจเรามีความสุขนั่นคือมีความสุขแล้ว ถ้าคนไทยเราเกิดมาเพื่อบำเพ็ญตน พอรู้ตรงนี้แล้วเอาอะไรมาบำเพ็ญ เอางานที่ทำมาขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ  ตรงนี้ของผมมาได้ที่ฉือจี้ ถ้าทุกคนมีค่านิยมแบบนี้ ค่านิยมทางตะวันตกที่บ้าบอคอแตกทำอะไรเราไม่ได้ แต่เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญรุ่งเรือง ไม่ได้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เรายอมรับที่สุดคือเรื่องจิตใจ พัฒนาจิตใจท่ามกลางความเป็นอยู่ที่พัฒนาต่อไป มีอะไรมาทำๆ เอาสิ่งนั้นมาขัดเกลาจิตใจตนไม่ใช่ไปเป็นทาสมัน เอามาเป็นเครื่องมือเรา  มาทำให้ใจเราสะอาดขึ้น ดีขึ้น งานของฉือจี้มีอะไรบ้าง         ภารกิจด้านต่างๆ มันขัดเกลาจิตใจเรา เรามีทั้งหมด 4 ภารกิจ อาจารย์เรา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนต้องการขัดเกลาจิตใจมนุษย์ด้วยศาสตร์ เพราะเป็นเป้าหมายเดียวและเป็นเป้าหมายสุดท้าย แล้วเอาอะไรมาขัดเกลา มันต้องมีวิธีการ ก็ใช้หลักพรหมวิหารสี่ อันนี้พุทธใช่ไหม พรหมวิหารสี่คืออะไร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วหน้าตามันเป็นอย่างไร คนไทยผมคิดว่าส่วนมากไม่รู้นะ หรือว่าให้อธิบายก็อธิบายได้ แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไร อย่างผมนี่ลูกศิษย์ขงจื้อ หลายๆ คนไม่มีศาสนา อาจารย์ท่านบอกทำ 4 อย่างนี้ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา และก็วัฒนธรรมที่ดีงาม อันนี้ก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นอย่างนี้ อิสลามมาอยู่ด้วย  ได้ไหม อยู่ได้ ศาสนาคริสต์ก็มาอยู่ด้วยได้ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา วัฒนธรรมที่ดีงาม         การกุศลก็คือการบำบัดทุกข์การบำรุงสุข คนเขาทุกข์มาก เราก็ไปบำรุงสุขให้เขา ขาดเงินเอาเงินให้ ขาดของเอาของให้ ขาดอะไรให้อะไรเพื่อให้เขาสุขขึ้นมา บำรุงสุข นี่ใช่การกุศลไหม ใช่การกุศล เมตตา กรุณา บำบัดทุกข์เป็นอย่างไร เจ็บป่วยทำอย่างไรให้เขาทุกข์น้อยลงก็คือการรักษาพยาบาล ต่อมาก็คือมุทิตา มุทิตาตรงนี้ก็คือทำอย่างไรให้เกิดความปีติยินดีอยู่เรื่อยๆ ผมยังไม่อยากจะใช้คำว่าตลอดเวลาเพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่ว่าเราจะเป็นยาม หรือคนขายผักที่หน้าตลาดหรืออะไรก็ช่าง แต่ถ้าเรามีความยินดีอยู่ตลอด คืออยู่บ่อยๆ เกิดความสุขไหม แน่นอนอยู่ดีๆ จะมีความสุขไม่ได้หรอก มันต้องเกิดจากการขัดเกลาจากการบำเพ็ญ เขามาผิดกับเรา เราให้อภัยเขา ยกตัวอย่างเช่น เขาทำผิดเราทำถูก เราอภัย หรือว่าเราทำผิดเราไปขอโทษ อะไรต่างๆ เหล่านี้ พออย่างนี้ พอปมต่างๆ มันไม่มีในหัวใจ มันมีความยินดี คนเราถ้าไม่มีปมหัวใจมันมีความยินดีไหม คือไม่ไปโกรธไปเคืองใครมันก็ตลอดเวลา มันไม่ทุกข์ อันนี้คือการศึกษา อันที่สี่วัฒนธรรมที่ดีงามอันนี้หัวใจเลย วัฒนธรรมที่ดีงาม เรื่องการแยกขยะ เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้วยไหม         เราบอกมีสี่ภารกิจใช่ไหม มันมีลำดับของมันนะครับ เมื่อกี้บอกการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา วัฒนธรรม หนึ่งภารกิจท่านธรรมาจารย์ผู้ก่อตั้งใช้เวลา 10 ปี หนึ่งภารกิจสิบปี สิบปีที่สอง การรักษาพยาบาล สิบปีที่สามการศึกษา 10 ปี ที่สี่วัฒนธรรมที่ดีงาม พอเวลาผ่านไปคนเยอะขึ้น อาสาสมัครเยอะขึ้น ผ่านไปเกือบสี่สิบปีแล้ว อาสาสมัครมีทั่วแล้ว อาจารย์ก็บอกว่าอาจารย์ไปสะดุดตาเดินผ่านตลาดมีแต่ขยะ เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนโน้น พอไปเที่ยวเก็บ  ก็บอก คนจีนพอพระเทศน์ดีเขาปรบมือนะเขาไม่พนมมือสาธุนะ อาจารย์บอกว่าอย่าปรบมือนะเอาสองมือนี้ไปแยกขยะ ได้ครับๆ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ เป็นอาสาสมัครทำไมไม่ได้เพราะศรัทธา ท่านมีวิสัยทัศน์แต่ตอนนั้นไม่ได้บอกว่าทำไม         แต่ด้วยความศรัทธาเรารู้ว่าเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์และมีปัญญามาก ก็ไปแยกที่ไหนแยกที่บ้าน ทำที่บ้านก่อนเสร็จแล้วบ้านผมอยู่ในหมู่บ้านมันมีที่ว่าง ว่างอยู่ที่หนึ่งก็ทำก่อนแล้วบังเอิญคุณก็เป็นเพื่อนผมแล้วรู้จักกันแล้วเป็นชาวฉือจี้ด้วยกัน บอกว่าให้ใช้บ้านผมแล้วกันเอามากองๆ รวมกันแล้วมาแยก เริ่มจากตรงนี้ แล้วค่อยๆ ไปบอกชาวบ้าน มีไหมหนังสือพิมพ์เก่าๆ มีไหมขวดพลาสติก มีไหม พอนานๆ เข้ามันโต ชุมชนนี้ก็มานัดกันบอกว่าทุกวันพุธ  มันจะมีโรงแยกขยะใหญ่จะมารับจุดย่อย ตรงนี้สำคัญ เริ่มต้นที่ไหนก่อนเริ่มที่บ้านที่ครอบครัว บทนำจาก บทความ “รู้จักมูลนิธิฉือจี้” https://www.tzuchithailand.org/th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >