ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พลังงานไทย เพื่อใคร

  “ก๊าซ LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร...” จากการตามติดอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยในเรื่องพลังงาน วันนี้เราลองมาเปิดโลกเรื่องพลังงานไทยกันอีกครั้ง กับท่าน สว.รสนา โตสิตระกูล ดูกันว่าเธอค้นพบอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในระบบพลังงานไทยบ้าง ปัญหาใหญ่สุดของกิจการพลังงานประเทศนี้คืออะไรการขึ้นราคาเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลง ในขณะที่เรากำลังจะขึ้นราคาสวนทาง คิดว่ากลไกในการจัดการของภาครัฐต้องถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดือนตุลาคม 2554 เมื่อดูจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ในเดือนตุลาคม ปี 54 อยู่แค่ กก.ละ 4 บาท ในขณะที่ ปตท.ประชาสัมพันธ์ต้นทุนที่แท้จริงของราคาก๊าซ NGV ว่าเป็นเท่าไร ได้จะแสดงตัวเลข 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ราคาเนื้อก๊าซ ซึ่งเขาบวกกำไร ค่าบริหาร ค่าผ่านท่อ ไว้เรียบร้อยแล้วเพราะฉะนั้น 8.39 บาท/กก. จากตัวเลขที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมทั้ง ปตท.ซึ่งเคยชี้แจงกรรมาธิการ แล้วเราเทียบตั้งแต่ปี 46 จนถึงปี 51 ราคาก๊าซในตลาดโลก กับราคาก๊าซจากปากหลุมที่ ปตท.ซื้อ ของเราจะถูกกว่าตลาดโลกตั้งแต่ 45 % จนถึง 67%  การที่เค้าตั้งราคา 8.39 บาท จะเห็นว่าสูงกว่าราคาตลาดโลกมากกว่า 100 %  ถือเป็นการเอากำไรเกินควร จุดนี้จำเป็นต้องตั้งคำถามโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานทำไมปล่อยให้มีการแสวงหากำไรเกินควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจโดยงบประมาณมีรัฐบาลถือหุ้น 52% รัฐก็น่าจะสามารถกำกับราคา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ จะมาเอาเปรียบประชาชนอย่างนี้ได้อย่างไร ส่วนที่สองที่ ปตท.ชี้แจงคือค่าบริหารจัดการและการขนส่ง 5.56 บาท ค่าภาษีอีก 1.01 บาท รวมทั้งหมดแล้ว 14.96 บาท ซึ่งราคานี้ทาง ปตท.อ้างว่าเป็นราคาที่สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกำหนด จากตัวเลขการโฆษณา ถ้าเรานำต้นทุนค่าก๊าซ 8.39 บาท บวกด้วยค่าขนส่ง 5.56  บาท ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเท่า 40 % ของต้นทุนทั้งหมดถือว่าเยอะมากนะ ทีนี้มาดูราคาเนื้อก๊าซ ถ้าตลาดโลก กก.ละ 4 บาท ของบ้านเราก็จะ กก.ละ 2 บาท ค่าขนส่งจะกลายเป็น 73%  ธุรกิจอะไรที่ค่าขนส่ง 73% นั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว ค่าการบริหาร 40 – 73 % อันนี้เป็นอะไรที่ไร้เหตุผลสิ้นดีเลยนะ เป็นกิจการที่รัฐไม่ควรส่งเสริมเลย แต่ทำไมรัฐถึงพยายามส่งเสริมถึงขนาดนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปให้รถแท็กซี่ เพื่อให้เปลี่ยนจากถึง LPG มาเป็น NGV แล้วอุดหนุนเงินอย่างน้อยปีละ 3,600 ล้านบาทช่วยค่าขนส่งกิโลกรัมละ 2 บาท  รัฐยอมควักเงินตัวเอง ซึ่งก็มาจากภาษาประชาชนมาให้กับกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าราคาพลังงานในตลาดโลกมันถูกกว่าในบ้านเรา ก็นำเข้ามาเลย บ้านเรากิโลกรัม 8.39 บาท ก็ให้เก็บไว้ลูกหลานใช้ แล้วให้ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเลยกิโลกรัมละ 4 บาท  ซื้อเลย เวลาจะขายบอกว่าราคาตลาดโลกราคาเท่านั้นเท่านี้  แต่ต้นทุนไม่ยอมใช้ราคาตลาดโลกบ้าง  เพราะฉะนั้นก็นำเข้าเลย ราคาถูกกว่าตั้งเยอะ แล้วก็เก็บพลังงานที่แพงๆ ไว้ ให้ลูกหลานใช้ ก็ของเรามันแพง ก็ต้องเก็บไว้ใช้ จริงไหม ซื้อของคนอื่นมาใช้ดีกว่า ถูกกว่าเยอะ เหมือนนโยบายที่ออกมาก็ส่งเสริมให้คนใช้แต่ก๊าซ NGV เขาต้องการให้รถเล็กเปลี่ยนมาใช้ NGV ทั้งหมด ส่วน LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร ก็เข้ากระเป๋าคนเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติมาจากทรัพยากรในประเทศ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้  ตอนนี้เขาไม่กล้าให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” เขาก็เลยต้องยอมกล้ำกลืนว่าตรงนี้ต้องใช้ แต่ว่ารถนั้นเขาไม่อยากให้ใช้ก็พยายามดึงภาคขนส่งให้มาใช้ NGV  แต่หลังจากที่ส่งเสริมให้คนมาใช้ NGV ให้มากขึ้นก็จะเกิดปัญหาว่า “การผูกขาด” โดยเจ้าเดียว เขาจะขึ้นราคาอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระทรวงพลังงาน ที่ไม่กำกับดูแล แต่กระทรวงพลังงานกลายเป็นหน่วยงานที่คอยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ปตท. เพราะฉะนั้นมันก็กลับตาลปัตร กระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่คอยกำกับให้กำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และให้ราคาไม่กระทบต่อการครองชีพ  เพราะว่าเวลาก๊าซขึ้นราคานั้นส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นใช่ไหม   คิดอย่างไรกับบทบาทของกระทรวงพลังงาน เป็นส่วนที่คอยเปิดช่องให้ ปตท. มากกว่าการเป็นผู้กำกับ อย่างกรณีที่มีการออกประกาศให้ก๊าซ NGV มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึง 18% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน 6 เท่า เพราะในระดับโลกให้มีได้ไม่เกิน 3 % แล้วต้องบอกว่าการส่งเสริมก๊าซ LPG นั้นเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว เพราะเนื่องจากเขาไม่ต้องการให้คนไปก๊าซ LPG ที่ไปแข่งกับธุรกิจปิโตรเคมีของเขา  ก็เลยต้องพยายามดันให้ทุกคนที่จะต้องใช้พลังงานที่เป็นก๊าซ หันไปใช้ NGV เพราะคนที่หันมาใช้ก๊าซหนีราคาน้ำมันใช่ไหม สิ่งที่ต้องถามต่อไปก็คือกิจการของก๊าซ NGV ผลักภาระให้กับประชาชนทั้งนั้นเลย 1.ถึงบรรจุก๊าซต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% ทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นยิ่งส่งเสริมให้ใช้มากขึ้นเท่าไรก็จะเสียงบดุลให้กับต่างประเทศ เพราะต้องนำเข้าถัง และถังบรรจุกำหนดไว้ว่าสามารถรับ Co2 ได้ 3 % แต่ในบ้านเราล่อซะ 18 % มากกว่า 6 เท่า จริงๆ ต้องมีระบบตรวจเช็คทุก 5 ปีด้วยว่า ถังที่ใช้เสื่อมสภาพหรือยัง และยิ่งกว่านั้นเปิดให้มี Co2ถึง 18 % ถังก็จะเสื่อมขึ้น 6 เท่านะ ไม่มีการตรวจสอบระบบเหล่านี้เลย  แล้วค่าดูแลรถที่ใช้ก๊าซ NGV สูงกว่ารถที่ใช้ LPG มาก ภาระก็ตกอยู่กับประชาชน สิ่งเหล่านี้รัฐทำอะไรบ้าง...ไม่ทำอะไรเลย ยังสมควรที่จะเป็นรัฐอยู่ไหม?  ทำไมไม่ทำหน้าที่ตรง หรือมีมาเพื่อจะเป็น “กระดองหุ้ม ปตท.” เท่านั้นเอง กระทรวงพลังงานตอนนี้เป็นกระดองหุ้ม ปตท.นะ ปตท.เป็นเนื้ออยู่ข้างใน ปตท. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีการหมุนเวียนของเงินมากกว่ากระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นใหญ่ของภาครัฐ 3 เท่า ถือว่าใหญ่กระทรวงการคลังไหม คิดว่ากระทรวงพลังงานจะควบคุม ปตท.ได้ไหม  เมื่อมีเงินมากกว่าก็ย่อมที่จะเป็นฝ่ายคอนโทรล  กระทรวงพลังงานก็จะถูกคอนโทรล รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ด้วย  พวกนี้มีมาร์เก็ตแท็บอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 30 % เพราะฉะนั้นมันเป็นกระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลอย่างยิ่งในการบริหารแบบนี้  แต่มันยังอยู่ไ/ด้...เพราะอะไร...มันต้องถูกตั้งคำถาม ปตท.ถูกแปรรูปมาเพื่อให้เกิดการแข่งขันใช่ไหม ถูกแปรรูปออกมาเพื่อที่จะเป็นอิสระจากรัฐจะได้ไม่ถูกผูกขาดใช่ไหม แล้วทำไมรัฐถึงให้เอกชนมาผูกขาด   แบบนี้เรียกว่าฉ้อราษฎร์โดยสุจริตได้ไหม (หัวเราะ) กฎหมายจริงๆ เขาก็ไม่ได้ให้ทำนะ เพราะว่ากฎหมายมาตรา 84 (5) ที่บอกว่ารัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีให้เป็นธรรมและต้องป้องกันการผูกขาด ไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อมและต้องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นจะผูกขาดทั้งทางตรง หรือทางอ้อมไม่ได้ แต่นี่ผูกขาดตรงๆ เลย แบบนี้อยู่ได้อย่างไร แล้วรัฐบาลก็ออกกฎเอื้อเขาตลอดเลย กระทรวงพลังงานเคยมาชี้แจงที่กรรมาธิการ เรื่องการให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 18 % นี่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนะ เพราะจ่ายเงิน 100 บาท แต่จะได้เนื้อก๊าซแค่ 82 นะ ที่เหลือเป็นขยะ กระทรวงพลังงานชี้แจงว่าจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์นี้มาเพื่อให้ธุรกิจพอจะดำเนินต่อไปได้ อ้าว...นี่ตกลง จะคุ้มครองธุรกิจใช่ไหม ไม่คุ้มครองผู้บริโภค รัฐธรรมนูญ บอกให้คุ้มครองธุรกิจเหรอ รัฐธรรมนูญเคยบอกหรือว่าจะต้องส่งเสริมธุรกิจเสรีที่เป็นธรรมและให้ผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม และคุ้มครองธุรกิจ รัฐธรรมนูญเขียนอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ได้เขียนอย่างนั้นเลย (หัวเราะ) แต่ทำไมรัฐบาลทำตรงกันข้าม คือไม่มีใครไปจัดการกับเขา เพราะว่าระบบของเรามันยังมีจุดโหว่ค่อนข้างมาก กฎหมายดีมีเยอะแต่ไม่มีการบังคับใช้  จึงทำให้สภาพการณ์แบบนี้ยังคงดำรงอยู่ ดูที่ก๊าซ NGV สาเหตุสำคัญก็มาจากก๊าซ LPG นี่ล่ะ ก๊าซ LPG สามารถดึงส่วนประกอบอย่างก๊าซโพเพน และบิวเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่สามารถนำไปใช้ในปิโตรเคมีต่างๆ  ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ 9 – 20 เท่า แต่การที่กระทรวงพลังงานต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ที่แบ่งปันกัน จะให้ภาคปิโตรเคมีทั้งหมดไม่ได้ หรือให้ภาคครัวเรือนหันไปใช้ถ่านหุงข้าว ก็พูดไม่ได้ใช่ไหม หรือจะภาคขนส่งมีคนออกมาพูดกันเยอะว่าใช้กับรถไม่น่าจะใช้กับรถเลย ไม่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันต่างประเทศอย่างฮ่องกงให้รถแท็กซี่มาใช้ก๊าซ LPG แทนดีเซล จริงๆ ของในประเทศเรามันถูกหมด แต่ว่าตอนแรกที่เขาขายก๊าซ NGV นั้นเขาบอกว่าเป็นของเหลือ หากยังจำโฆษณายุคแรกๆ ที่ชักชวนให้รถแท็กซี่ รถบ้าน เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซ LPG มาใช้ NGV ด้วยการให้ราคาที่ถูกกว่า เพราะว่าราคาก๊าซ LPG ราคา กิโลกรัมละ 18.13  บาท ช่วงที่ขาย NGV ในช่วงแรกๆ ขายที่ราคา 8.50 บาท เพื่อตัดราคา LPG ให้คนหันมาใช้ NGV เพราะราคาถูกกว่า แต่ตอนนี้เขาก็จะขยับราคาก๊าซ NGV ให้ขึ้นไป กิโลกรัมละ 14.50 บาท เพราะเขาจะเทียบราคาจากดีเซล หากราคาดีเซล 30 บาท เขาก็จะขายในราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล อาจจะ 14.50 บาท หรือ 15 บาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไร้เหตุผล เอามาตรฐานที่ไหนมาคิดว่าทำไมต้องเป็นครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล  ทั้งที่ในต่างประเทศ พลังงานที่จะสามารถทดแทนกันได้ “ต้องแข่งกัน” และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าจะเลือกใช้อะไร  แต่บ้านเราเขากำหนดให้หมดเลยว่าคุณใช้อันนี้ราคานี้  คุณใช้อันนั้นราคานี้  มันไม่ใช่ราคาที่เกิดจากการแข่งขัน เป็นราคาที่เกิดจากการกำหนด แต่เวลาพูดก็จะบอกว่า “เราใช้กลไกตลาด” นี่เป็นกลไกตลาดตรงไหน ไม่มีกลไกการตลาดเลย แต่ชอบอ้างกลไกการตลาด ความจริงพลังงานทั้งหมดมันต้องแข่งกันมันถึงจะได้ราคาที่เป็นธรรม พอไม่มีการแข่งขัน ทีนี้ไม่ว่าจะมีการลงทุนแย่ขนาดไหน ก็โยนภาระมาให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่จะต้องรับกรรม เหมือนผู้ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหลาย ที่ลงทุนผิดพลาดแล้วโปะมาลงที่ค่า Ft หมด LPG ไม่อยากขาย แต่ลองให้รัฐไม่ตรึงราคา แล้วปล่อยให้เท่ากับราคาตลาดโลก รับรอง ปตท.จะต้องบอกว่า ให้รถเล็กมาใช้ได้เลย เพราะได้กำไรเท่ากัน ไม่ต้องส่งขายเมืองนอก และจะไม่มีการห้ามให้รถเล็กใช้  ตอนนี้รัฐมีการตรึงราคา LPG ไว้ทำให้ นโยบายต่างๆ มันบิดเบือนให้คนมาใช้ NGV  ในขณะที่ NGV สร้างภาระมหาศาล   การขึ้นราคาก๊าซ ประชาชนทำอะไรได้บ้าง ต้องเดินขบวนหรือเปล่า (หัวเราะ) พี่คิดว่าจริงๆ แล้ว จำเป็นต้องมีเสียงจากสังคม เพราะถ้าไม่มีเสียงจากสังคมขึ้นมา รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจอะไร ถ้าหากประชาชนยังเงียบก็จะขึ้นราคาแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ เพราะฉะนั้นเสียงสะท้อนจากประชาชนก็จะมีผลช่วยได้  แต่เขาก็ฉลาดนะมีการทำบัตรเครดิตพลังงานไว้รองรับ แต่นี่อาจจะเป็นช่วงโปรโมชั่นใช่ไหม ไม่ใช่ให้ตลอดไป แต่ให้เพื่อที่จะลดกระแสเพื่อไม่ให้ออกมาโวยวายใช่ไหม และจะให้บัตรเครดิตพลังงานไปได้นานเท่าไร แต่การที่ออกบัตรเครดิตพลังงานนั่นก็เงินของเราอีก ในที่สุดเราก็เสียเงินอยู่ดี แค่ควักกระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา และเป็นวิธีการที่รัฐผ่องถ่ายกำไรให้กับเอกชน แต่ขาดทุนมาอยู่ที่รัฐ หนี้มาไว้ที่รัฐ แต่กำไร ไปให้กับเอกชน แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐก็มีเอี่ยวด้วยใช่ไหม   เราเคยถามไหมว่า 48% ที่ถือหุ้นของ ปตท. มีนักการเมืองเข้าไปถือหุ้นเท่าไร ไม่เคยถูกเปิดเผย ว่าใครถือหุ้น มีฝรั่งหัวดำที่ไหนบ้างที่มาถือหุ้นในกองทุนนอมินีทั้งหลาย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงพลังงานที่เข้าไปนั่งในบอร์ด ปตท. ก็เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งโบนัส ทั้งเบี้ยประชุม เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจตัดสินใจแบบนี้ก็เท่ากับใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองด้วย ประชาชนต้องออกมาออกเสียง ส่งเสียง ไม่ใช่เงียบ เพราะความเงียบคือการยอมรับ และต้องตั้งคำถามว่าราคาแบบนี้เป็นธรรมไหม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point