ฉบับที่ 182 เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมเปรี้ยว(fermented milk) หรือผลิตภัณฑ์นมชนิดที่ได้จากการหมักด้วยแบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria, LAB) แบคทีเรียชนิดที่นิยมใช้หมักโยเกิร์ต คือ สเตรพโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactoobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) โดยผู้ผลิตมักใช้เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อให้สามารถผลิตโยเกิร์ตได้เร็วขึ้น มีกลิ่นและรสชาติดีกว่าใช้เชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดและสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาเป็นหัวเชื้อจะมีผลต่อรสชาติและกลิ่นรวมทั้งเนื้อสัมผัสของโยเกิร์ต ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาขาย และอาจมีการเติมแบคทีเรีย LAB ชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น แบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติก อย่าง บิฟีโดแบคทีเรียม(Bifidobacterium) โยเกิร์ตนั้นโดยทั่วไปจะใช้น้ำนมวัวเป็นวัตถุดิบ แต่ก็สามารถใช้น้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ หรือผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองหรือกะทิแทนน้ำนมวัวได้ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเรียกโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือเติมผลไม้ลงไปว่า โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yogurt) ทั้งโยเกิร์ตและโยเกิร์ตปรุงแต่งจะต้องมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ ในประเทศไทยโยเกิร์ตจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ โยเกิร์ตชนิดแข็งตัว(set yoghurt) ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และโยเกิร์ตชนิดคน(stirred yoghurt) ซึ่งเนื้อโยเกิร์ตค่อนข้างเหลวไม่จับเป็นก้อน   การเลือกซื้อโยเกิร์ต จุดเด่นที่เราต้องการจากโยเกิร์ตคือ จุลินทรีย์กลุ่มแลกทิก(LAB) ซึ่งช่วยเรื่องสมดุลในระบบทางเดินอาหารและยังทำให้คนที่ไม่สามารถดื่มนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่จะย่อยแลกโทสในน้ำนมนั้น สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนได้ หลักการซื้อจึงควรดูเรื่องอุณหภูมิในการเก็บรักษาโยเกิร์ต เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้หมักและรุ่นการผลิต   1.เลือกที่มีวันผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ เพื่อให้ได้โยเกิร์ตที่สดใหม่ ซึ่งจะยังมีเชื้อจุลินทรีย์ LAB ที่มีชีวิตจำนวนมาก(เชื้อจุลินทรีย์จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวัน) 2.ตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์ควรมีอุณหภูมิในการเก็บรักษาระหว่าง 2 – 5 องศาเซลเซียส คือต้องเย็นพอๆ กับตู้เย็นบ้านหรือเย็นกว่า เนื่องจากจุลินทรีย์ LAB ชอบอากาศเย็น และจะคงสภาพมีจำนวนเชื้อที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน 3.พลิกดูฉลากอ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัสและแล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส เพียงสองชนิดจัดว่าเป็นโยเกิร์ตธรรมดา แต่หากต้องการโยเกิร์ตที่เป็นโพรไบโอติก ต้องเลือกที่มีเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โดยโพรไบโอติกที่มีอยู่ในโยเกิร์ตในท้องตลาดบ้านเราคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้น (ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติกเพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติกลงไป 1-3 ชนิด) 4.โยเกิร์ตแบบโพรไบโอติก จะมีคุณสมบัติในเรื่องของการช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ้าคุณเป็นคนท้องผูกควรลองรับประทานโยเกิร์ตประเภทนี้ แต่ถ้ามีระบบขับถ่ายไว ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตแบบธรรมดา โยเกิร์ตพร้อมดื่มเหมือนหรือแตกต่างจากโยเกิร์ตอย่างไร โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นนมวัวและเติมเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแลกทิกลงไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจะมีการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือมีการเติมน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อมเพิ่มลงไป จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหลว นมเปรี้ยวที่วางขายซึ่งผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที โพรไบโอติก(Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก(lactic acid bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้ พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก(fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค(pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร โคเรสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่แบคทีเรีย กลุ่มโพรไบโอติกนำไปใช้ได้ เรียกว่า พรีไบโอติก(prebiotic) เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) ข้อมูล1. ดร.สุนัดดา โยมญาติ นักวิชาการสาขาชีววิทยา http://biology.ipst.ac.th/?p=9872. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 สีใน “กะปิ”

“กะปิ” ถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารทีแทบทุกบ้านจะต้องมีติดครัวเอาไว้ เพราะหลากหลายเมนูอาหารไทย ล้วนแล้วแต่ต้องเพิ่งพาความอร่อยจากรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกะปิ ด้วยว่าประเทศไทยเรามีพื้นที่หลายส่วนที่ติดกับทะเล เมื่อบวกเข้ากับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านของคนรุ่นปู่รุ่นย่า ที่นำเอาสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ อย่าง “เคย” นำมาหมักรวมเข้ากับเกลือ ตากแดดทิ้งไว้จนเนื้อเคยและเกลือทำปฏิกิริยาเข้าด้วยกัน ได้เป็นกะปิของดีของอร่อย เป็นเครื่องปรุงหลักทั้งในน้ำพริกและเครื่องแกงต่างๆ แม้ขั้นตอนการทำกะปิดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนและใช้เพียงแสงแดดจากดวงอาทิตย์บวกกับกำลังคนคอยหมั่นพลิกเนื้อกะปิให้สัมผัสแดดโดยทั่วถึงกัน แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังได้ยินข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในกะปิที่วางขายตามท้องตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใส่ “สี” ซึ่งกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า “ห้ามใส่สี” ในกะปิ ซึ่งสีสังเคราะห์ที่ใช้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนกิน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงของอาสาสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตในกทม. เพื่อดูว่ากะปิที่เรากินกันอยู่นั้น ปลอดภัยจากสีผสมอาหารมากน้อยแค่ไหน       **** Update (17 ธันวาคม 2558) กะปิระยอง  มีข้อชี้แจงมาด้านล่างครับ          ผลทดสอบ -พบตัวอย่างกะปิที่ใส่สีสังเคราะห์จำนวน 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.กะปิดี ร้านเจ๊ติ่ง ตลาดสี่มุมเมือง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 47.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./ กก.), 2.กะปิตัวอย่างจากตลาดคลองเตย พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 18.84 มก./ กก., 3.กะปิระยอง ตราเรือใบ จาก ท๊อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 6.04 มก./ กก., 4.กะปิร้านน้อยกุ้งแห้ง ตลาดโชคชัย 4 พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 4.55 มก./ กก. และ 5.กะปิกุ้งใหญ่ชุมพร ตลาดห้วยขวาง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณน้อยกว่า 1 มก./กก. -สี Erythrosine E127 หรือ เออร์โธรซีน เป็นสีสังเคราะห์กลุ่มสีแดง เป็นชนิดของสีที่พบในทุกตัวอย่างกะปิที่มีการพบการใส่สี -กะปิ ถือเป็นอาหารที่ห้ามมีการใส่สีทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ซึงกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ หรือมาตรฐานอาหารสากล หรือตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเคยประกาศไว้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) เรื่องการใช้สีผสมอาหาร -การใส่สีลงไปในกะปิก็เพื่อให้กะปิมีสีที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แต่สีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็อาจสะสมส่งผลเสียในระยะยาว ทางที่ดีควรเลือกรับประทานกะปิที่ไม่ใส่สีใดๆ จะดีที่สุด   คำแนะนำในการเลือกซื้อกะปิ -สีของกะปิต้องเป็นที่ดูเป็นธรรมชาติ เช่น สีชมพู สีแดงออกม่วง ไม่ออกคล่ำและดูสีสดเกินไป -เนื้อของกะปิต้องละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน มีความสม่ำเสมอ เหนียว ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป -มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของกะปิ ไม่มีกลิ่นคาวปลา หรือกลิ่นฉุนคล้ายสารเคมี ไม่เหม็นอับ -รสชาติเค็มพอดี ไม่มีรสขม -ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น แป้ง กรวด ทราย ฯลฯ ไม่มีเม็ดเกลือเป็นก้อนๆ -บรรจุในภาชนะที่สะอาด แห้ง และปิดไว้สนิท   สีในกะปิ...ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว เมื่อปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิที่ผลิตใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล  จำนวน 86 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสี ผลที่ได้พบว่า 52.3% ของตัวอย่างกะปิมีการใส่สีสังเคราะห์ โดยชนิดของสีที่พบมีดังนี้ สีโรดามีน 50%, สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟซีเอ็ฟ 9.3%,  สีเอโซรูบีน 9.3%,  และสีปองโซ 4 อาร์  1.1% นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ก็เคยตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างกะปิ พบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษหลายชนิด โดยเฉพาะกะปิที่เก็บเอาไว้นาน เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ กะปิควรทำให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน       ....ผู้ผลิตและจำหน่ายกะปิระยอง ตราเรือใบ ขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตกะปิที่ได้มาตรฐาน GMP ไม่มีการใส่สีและไม่มีสารกันบูด แต่เมื่อทางฉลาดซื้อพบว่ามีการปนเปื้อนของสีในรุ่นการผลิตที่เก็บตัวอย่าง เดือนเมษายน ทางบริษัทจึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ในรุ่นการผลิตอื่นๆ และปัจจุบันไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสีในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงเรียนมาเพื่อทราบ...ฉลาดซื้อขอขอบคุณที่บริษัทฯ ใส่ใจและเข้มงวดในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน เนื่องจากปริมาณสีที่พบในรุ่นการผลิตที่ฉลาดซื้อทดสอบมีปริมาณน้อย จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการปนเปื้อนมาในส่วนของวัตถุดิบ ซึ่งทางบริษัทคงได้เข้มงวดในจุดนี้มากขึ้นจึงไม่พบการปนเปื้อนของสีซ้ำ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่บริษัทฯ เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผุ้บริโภค   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 รสหวานในน้ำจิ้มไก่

น้ำจิ้ม จัดเป็นของคู่สำรับอาหาร อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีพริกน้ำปลาสักถ้วย น้ำจิ้มช่วยเพิ่มอรรถรสในการกิน เรียกได้ว่าเป็นตัวชูรสอาหารให้โดดเด่นขึ้น ปัจจุบันน้ำจิ้มถ้าไม่ทำเอง ก็มีผู้ผลิต บรรจุขวดไว้ให้เราซื้อหากันได้สะดวก น้ำจิ้มมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากถึงกับเคยมีการจัดอันดับน้ำจิ้มที่คนไทยชื่นชอบ ปรากฏว่า น้ำจิ้มไก่มาเป็นอันดับหนึ่ง  “เหตุเพราะน้ำจิ้มไก่สามารถทานได้กับอาหาราแทบทุกชนิดไม่ใช่แค่ไก่อย่างเดียว แถมทานกับข้าวสวยเปล่าๆยังอร่อยอย่าบอกใคร” (ที่มา toptenthailand) และเพราะว่ากินคู่กับอาหารมาเป็นเวลานาน ทำให้คนส่วนใหญ่ติดในรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว หวานและเผ็ดนิดๆ อีกทั้งยังกินกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอไปรวมกับอาหารอื่นๆ เข้า ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกัน เพราะน้ำจิ้มไม่เพียงแต่หวานจากน้ำตาล ยังมีการตัดรสด้วยเกลือ ซึ่งก็คือโซเดียม ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้มองภาพรวมของน้ำจิ้มไก่ได้ว่า อาจมีปัญหาถ้าติดรสชาติของน้ำจิ้มมากเกินไป และจิ้มกินจนเพลิน เราลองมาดูฉลากของน้ำจิ้มไก่กันดีกว่า ซึ่งน่าสนใจว่า หลายยี่ห้อได้ทำฉลากโภชนาการไว้ด้วย   อย่ามองข้ามน้ำจิ้ม แค่สองช้อนโต๊ะ ก็หวานพุ่ง ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในน้ำจิ้มไก่ ในหน่วยบริโภคขนาด 36 กรัมหรือราวๆ 2 ช้อนโต๊ะ คือ 460 มก. ส่วนน้ำตาลประมาณ 14.3 กรัม เรียกว่า แค่จิ้มนิดๆ ก็หวานจัดกันทีเดียว สำคัญอีกอย่างที่ต้องระวังคือ โซเดียม ซึ่งมีปริมาณไม่เบาเลย ดังนั้นแล้ว อย่าเห็นว่าหวานเลยจิ้มเพลินจนลืมโซเดียมที่แฝงอยู่ในน้ำจิ้มอันแสนอร่อย แม้น้ำจิ้มจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ควรกินแต่เพียงพอดี อย่าเยอะนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากฉลาดซื้อ(มารคอหอยตัวสำคัญ)   ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงและอาหารสำเร็จรูป   •        เกลือ 1 ช.ช                                             =โซเดียม 2,000 มก. •        น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช. ช.                        =โซเดียม  400  มก. •        ซอสมะเขือเทศ  1 ช.ช                           = โซเดียม 55 มก. •        ซอสหอยนางรม 1ช.ช                            = โซเดียม140 – 160มก. •        น้ำจิ้มไก่ 1 ช.ช                                        = โซเดียม 67 - 76 มก. •        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 60 กรัม                   = โซเดียม 1,500 มก. •        โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป    42 กรัม                    = โซเดียม 1,000 มก. http://www.raktai.org/Home/KnowledgeContent.aspx?id=4         คำแนะนำสิบข้อที่เตือนให้เราทบทวน “นิสัยการกิน” 1. กรุณาชิมทุกครั้งก่อนที่จะเติมเครื่องปรุงลงไป โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว2. กรุณากวาดเอาขวดน้ำปลา ซอส ซีอิ๊วและเกลือออกจากโต๊ะอาหารให้เกลี้ยงภายในวันนี้3. ลดการกินอาหารหมัก-ดอง, อาหารแปรรูปเช่นผัก, ผลไม้ดอง, ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน4. ลด การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (เพราะมีโซเดียมในอาหารประเภทนี้มหาศาล ซึ่งอาจจะมาจากผงชูรส ดังนั้น สัปดาห์หนึ่งอย่ากินเกินสามซอง และเวลากินอย่าไปซดน้ำจนหมดเกลี้ยง เพราะถ้าซดจนหมด ก็จะได้ทั้งความเค็มจากเกลือ, น้ำปลาและผงชูรสไปเต็มๆ ) 5. ลดการกิน อาหารที่มีน้ำจิ้ม (เวลากินสุกียากี้หรือหมูกระทะ น้ำจิ้มมีเหลือล้น บางคนขอเพิ่มสองสามรอบด้วยซ้ำไป นั่นคือความเต็มอย่างยิ่งและมีโซเดียมสูงอย่างยิ่ง)6. ลดการกินอาหารที่ปรุงจากปลาเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาร้า กะปิ เต้าหู้ยี้ (ไม่ควรกินบ่อย, ขอย้ำว่ากินได้แต่อย่าบ่อย)7. กินผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มพริก, เกลือหรือน้ำตาล 8. ลดการกินอาหารจานด่วนตะวันตกและขนมกรุบกรอบ เพราะอาหารประเภทนี้ผงชูรสและโซเดียมมากเกินความจำเป็น9. ลดการใช้ผงชูรส (ไม่ถึงกับต้องงด หากกินปริมาณพอเหมาะก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากกินมากก็จะเจอปัญหาโซเดียมสูง)10. อ่านฉลากก่อนซื้อ (ฉลากไหนที่บอกว่ามีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ก็ถือว่าใช้ได้)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ตรวจแถวคุณภาพข้าวหอมมะลิ

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอชวนผู้อ่านมารับประทานข้าวด้วยกัน กับผลทดสอบพร้อมเสิร์ฟ “เปรียบเทียบคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุง” ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นข้าวขวัญใจมหาชน ได้รับการยกย่องในเรื่องของรสชาติความอร่อย แต่จะสักกี่คนที่จะรู้ว่าข้าวหอมมะลิที่ดีนั้นควรมีลักษณะอย่างไร ฉลาดซื้ออยากให้ทุกคนได้กินข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ อร่อยคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เราจึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จำนวน 18 ยี่ห้อ และข้าวหอมชนิดอื่นอีก 2 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เรื่องคุณภาพในส่วนของคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งประกอบด้วย 3 คุณสมบัติ ได้แก่ 1.ปริมาณอมิโลส 2.ปริมาณ % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก และ 3.เรื่องความหอม มาทำความรู้จักคุณสมบัติทางเคมีในข้าวหอมละมิทั้ง 3 ประเภทกันก่อน   ปริมาณอมิโลส ส่วนประกอบหลักของข้าวก็คือ แป้ง ซึ่งในแป้งข้าวจะมีองค์ประกอบสำคัญคือ อมิโลเปคติน และ อมิโลส อัตราส่วนของอมิโลสและอมิโลเปคติน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวสุกมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ถ้าหากข้าวมีปริมาณอมิโลสสูงเวลาที่หุงข้าวจะดูดน้ำมากกว่าข้าวที่มีอมิโลสต่ำ ทำให้ข้าวที่มีอมิโลสสูงเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความร่วน แข็ง ตรงข้ามกับข้าวที่มีอมิโลสต่ำจะทำให้ข้าวมีความเหนียว อย่างในข้าวเหนียวจะมีปริมาณอมิโลสอยู่ที่ประมาณ 0 – 2% เท่านั้น สำหรับปริมาณอมิโลสที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย คือ 13 – 18% ซึ่งเป็นปริมาณอมิโลสจะที่จะทำให้ข้าวหอมมะลิที่หุงมีความเหนียวนุ่มกำลังดี ทั้งนี้ก็ต้องหุงโดยใช้น้ำให้เหมาะสม ปริมาณอมิโลสในข้าวหอมมะลิถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ น้ำที่ใช้หุงก็ไม่ควรใช้มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำคือ ถ้าใช้ข้าวสารหอมมะลิ 1 ถ้วยตวง ให้ใช้น้ำ 1 ถ้วยครึ่ง หรือไม่เกิน 1 ถ้วยกับอีก 3 ใน 4 ส่วนของถ้วยตวง อุณหภูมิแป้งสุก ข้าวที่มีคุณภาพดีควรมีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ หากมีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะทำให้ข้าวเมื่อหุงสุกมีความแข็งกระด้าง อุณหภูมิแป้งสุกมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการหุงต้ม โดยทั่วไป การหุงต้มข้าวจะใช้เวลา 13 - 24 นาที ข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะใช้เวลาในการหุงต้มนานกว่าข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวหอมมะลิต้องมีอุณหภูมิข้าวสุกต่ำเมื่อหุงสุกแล้วความจะไม่แฉะ โดยอุณหภูมิแป้งสุกที่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ คือไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส การตรวจหาคุณภาพของข้าวหอมมะลิในส่วนของอุณหภูมิแป้งสุก จะใช้วิธีดูจากปริมาณของเมล็ดข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกจากการหุง คือเมื่อทำการหุงตามระยะเวลาที่กำหนด ข้าวที่หุงได้สุกทั่วทั้งเมล็ด ไม่มีส่วนที่แข็งคล้ายข้าวสาร ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ดีควรมีปริมาณเมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 92% กลิ่นหอม ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยที่ชื่อว่า 2 – acetyl – 1 – pyrroline ความหอมของข้าวหอมมะลิแต่เดิมนั้นว่ากันว่ากินหอมนั้นหอมคล้ายกับดอกมะลิ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ แต่หลายคนเปรียบกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิว่าเหมือนกับกลิ่นหอมของใบเตย แต่ว่ากลิ่นหอมนี้จะระเหยไปตามเวลา อายุของข้าว ข้าวใหม่ – ข้าวเก่าจึงมีผลกับความหอมของข้าวหอมมะลิ โดยธรรมชาติแล้ว ข้าวใหม่จะมีความหอมมากกว่าข้าวเก่าหรือข้าวที่เก็บไว้นานก่อนจะนำมาบรรจุใส่ถุงขาย   ตารางเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ข้าวขาวหอมมะลิบรรจุถุง ยี่ห้อ ชนิดของข้าว มีตรารับรอง ของกระทรวงพานิชย์ (ตรามือพนม) ผู้ผลิต แจ้งว่าเป็น ข้าวใหม่ หรือ ข้าวเก่า ที่ถุง วันเดือนปีที่ผลิต ราคา ผลวิเคราะห์ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ % อมิโลส % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย 13 – 18 ต่ำ >= 92 ปานกลาง – สูง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 ชาโบราณยี่ห้อไหนใส่สีมากเกินไป

เสน่ห์ของ ชาโบราณ ที่มัดใจใครหลายๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติที่สะดุดลิ้นกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และคงรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ฉูดฉาดบาดใจ แต่นักดื่มชาโบราณทั้งหลายเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สีของชาเย็น ชาดำเย็นที่เราดื่มนั้นมันเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้มีความจริงเรื่อง “สีในชา” ที่น่าตกใจมาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กัน ชาโบราณ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ที่ทางการอนุญาตให้ใส่สีได้ โดยต้องมาจดแจ้งขออนุญาตกันก่อน เพื่อจำกัดปริมาณสีที่ผสมเข้าไปไม่ให้มากจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ได้ตระเวนเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูป แบบที่นำมาชงเป็นชาดำเย็นหรือชาเย็นใส่นมที่หลายๆ คนชอบซื้อดื่มจากร้านหรือรถเข็นขายชา-กาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งชาชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น ชาโบราณ ชาแดง ชาซีลอน ชาดำ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 196) พ.ศ. 2543 ระบุเอาไว้ว่า ชาผงสำเร็จรูป ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานดังนี้ คือ (1) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 ของน้ำหนัก (2) มีเถ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักชาผงสำเร็จรูปแห้ง (3) มีกาเฟอีน (caffeine) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ของน้ำหนัก เว้นแต่ชาผงสำเร็จรูปที่สกัดเอากาเฟอีนออกแล้ว ให้มีกาเฟอีนได้ในปริมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และข้อที่ (4) ที่สำคัญมากๆ คือ เรื่อง สี ซึ่งในประกาศระบุไว้ว่า “ไม่ให้ใส่สี” แม้จะแต่งกลิ่นและรสได้ แต่ห้ามใส่สีเด็ดขาดทั้งในชาผงสำเร็จรูปและใบชา จะยกเว้นก็เฉพาะชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่มที่ไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามใส่สีเอาไว้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลทดสอบ “สี” ในชาผงปรุงสำเร็จ- ในการทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ซึ่งเลือกจากการบอกเล่าของแม่ค้า พ่อค้า ที่ขายชาโบราณว่า นิยมใช้ยี่ห้อใดในการขาย โดยฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างของชาเขียว 1 ตัวอย่าง คือ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม เพิ่มเติม นอกนั้นเป็นชาดำ ทั้งหมด - การทดสอบตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่ามีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่พบการใส่สีสังเคราะห์เพิ่มเติม คือ Yoku ซึ่งที่ข้างซองไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ไว้เลย แจ้งเพียงแค่ ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเลขที่ 10-3-13-13446 - สีผสมอาหารที่พบในการทดสอบครั้งนี้คือ ซันเซ็ต เย็ลโลว์ (Sunset yellow) และ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้สีเหลือง, ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4R) และ คาร์โมอีซีน (Carmoisine) กลุ่มสีที่ให้สีแดง และ บริลเลียนท์ บลู (Brilliant blue) กลุ่มสีที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นสีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ - ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เป็นสีที่พบในทุกตัวอย่าง (ยกเว้น Yoku ที่ไม่พบสีผสมอยู่เลย) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ยี่ห้อ ตราแพะ (ชาซีลอน) ซึ่งมีถึง 7356.70 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งในการชงชาดื่ม 1 แก้ว ปริมาณชาผงปรุงสำเร็จที่ใช้ชงจะอยู่ที่ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อคำนวณดูแล้ว ปริมาณสีสังเคราะห์ต่อการดื่มชาตราแพะ (ชาซีลอน) 1 แก้ว จะอยู่ที่ประมาณ 73.56 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูง เพราะโดยทั่วไปแล้วปริมาณที่ให้ใช้โดยปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ภัยมืดจากสารพิษ. เชษฐ สตูดิโอ แอน กราฟิคดีไซน์ จำกัด : กรุงเทพฯ. 2537) - ตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจพบสีในปริมาณที่สูงรองลงมา คือ ตรามังกรบิน (5091.60 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัม), Racehorse (ตราม้าแข่ง) (4338.03 มล./ 1 กก.), ตรางูเห่า สูตรเข้มข้น (4012.31 มล./ 1 กก.) และ ตราเทพพนม (3191.35 มล./ 1 กก.) - Racehorse (ตราม้าแข่ง), ตราเทพพนม, ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม, ตราสามแพะ และ Kapak (ใบชาตราขวาน) ตรวจพบสีสังเคราะห์ปนเปื้อนมากกว่า 1 ชนิด คือ พบทั้ง ซันเซ็ต เย็ลโลว์ กับ ตาร์ตราซีน ซึ่งเป็นสีในกล่มสีเหลือง และ ปองโซ 4 อาร์ กับ คาร์โมอีซีน ซึ่งเป็นสีในกลุ่มสีแดง ยกเว้น ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง แต่พบสีในกลุ่มสีน้ำเงินคือ บริลเลียนท์ บลู - ชาโบราณ Finest Ceylontea Dust 999, ชาโบราณ Finest Ceylon Tea Dust 666 และ Racehorse (ตราม้าแข่ง) เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงปรุงสำเร็จที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวว่า อย. เก็บตัวอย่างของทั้ง 3 ยี่ห้อมาทดสอบแล้วก็พบการเติมสีสังเคราะห์ในปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งแม้ อย. จะออกมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีสินค้าเหล่านี้เล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี - ชาผงปรุงสำเร็จ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม และ ตรามือ ฉลากแดง (ชนิดเติม) มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า เจือสี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากผู้ผลิตเดียวกัน - นอกจากเรื่องสีผสมอาหารแล้ว ในการทดสอบชาผงปรุงสำเร็จครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ”  ได้เลือกวิเคราะห์หาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้นบ้าง เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ฉลาดซื้อแนะ1.ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าส่งขนาดใหญ่ เพื่อไปต้มชงขายอีกที ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ทราบกันอยู่แล้วว่าร้านที่เราซื้อเขาใช้ชาแบบไหนมาชงให้เรา แบบนี้การหลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาก็เป็นเรื่องยาก นอกจากจะลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าสีส้มสวยๆ ของชา มาจากสีสังเคราะห์ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ก็อาจเป็นอันตราย2.แต่ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงกินเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย---------------------------------------------------------------------------------------------------- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ดังนี้สีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - เอโซรูบีน , เออริโทรซิน * สีเหลือง ได้แก่ - ตาร์ตราซีน , ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีเขียว ได้แก่ - ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตินสีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้ บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - ปองโซ 4 อาร์ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - บริลเลียนห์บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/.../candy.htm - ---------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของสีผสมอาหาร1.การรับประทานสีสังเคราะห์ในปริมาณมากร่างกายอาจได้รับอันตราย สีสังเคราะห์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก และยังมีผลทำให้การดูดซึมอาหารถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ 2.ในสีสังเคราะห์มักจะมีสารตกค้างอื่นๆ ปะปนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภทโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  ตะกั่ว สารหนู ปรอท พลวง  โครเมียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ปล่อยไว้นานเข้าก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตารางแสดงผลทดสอบสีผสมอาหารในชาผงปรุงสำเร็จ     ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >