ฉบับที่ 241 กระแสต่างแดน

มือสะอาดหรือเปล่า        บริษัทท้อปโกลฟ (Top Glove Corp) ผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีถึงสิบข้อหา โทษฐานไม่จัดหาที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานให้กับแรงงานต่างชาติ ตามข้อกำหนดของกรมแรงงานมาเลเซียแต่ท้อปโกลฟซึ่งมีโรงงาน 41 แห่งในมาเลเซีย และมีคนงานกว่า 21,000 คน ปฏิเสธทุกข้อหา เรื่องนี้จึงต้องติดตามคำตัดสินกันอีกครั้งในปลายเดือนเมษายนหากพบว่ามีความผิดจริง บริษัทจะถูกปรับเป็นเงิน 50,000 ริงกิต ( 375,400 บาท) ต่อหนึ่งข้อหาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้เข้าตรวจสอบหอพักสำหรับคนงานต่างชาติในพื้นที่หลายแห่งของบริษัท หลังมีการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มก้อนดังกล่าวได้กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ที่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อมากกว่า 5,000 คน ลอนนี้ดีต่อใจ        เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สาวๆ อิยิปต์ต้องดิ้นรนไปซาลอนหรือซื้อหาครีมยืดผมมาเปลี่ยนผมให้ตรงสวย “ดูดีมีคลาส” ตามมาตรฐานความงามแบบตะวันตก ในขณะที่หนุ่มๆ ก็ใช้วิธีไว้ผมทรงสั้นติดหนังศีรษะหลายคนเคยถูกครูทำโทษฐานไม่ดูแลตัวเองถ้าไปโรงเรียนด้วยทรงผมหยิกตามธรรมชาติ บ้างก็ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน หากไปสอบสัมภาษณ์ด้วยลอนผมที่แม่ให้มา เพราะสังคมมองว่าทรงแบบนั้น “ไม่เป็นมืออาชีพ”แต่เรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนไป หนุ่มสาวอิยิปต์วันนี้กล้าโชว์รอยสัก ตัดผมทรงขัดใจบุพการี และกล้าเดินอวดลอนผมตามท้องถนนในเมืองโดยไม่แคร์เสียงโห่ฮาด้วยพวกเขาตระหนักแล้วว่าการยืดผมส่งผลกระทบต่อทั้งเส้นผมและจิตใจ ในขณะที่ความร้อนหรือสารเคมีทำให้ผมแตกแห้งหลุดร่วง การไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองก็ทำให้พวกเขารู้สึกขาดอิสรภาพเช่นกัน   บรรดาคนดังของอิยิปต์เริ่มปรากฏตัวในเทศกาลหนังด้วยลอนผมธรรมชาติ แบบเดียวกับที่โมฮาเหม็ด ซาลาห์นักฟุตระดับโลกทำมาตลอดนั่นเอง ขอฉลากมีสี        นักวิทยาศาสตร์ 269 คน และสมาคมสุขภาพ 21 แห่ง ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปนำระบบฉลากแบบ Nutri-Score ซึ่งเป็นการระบุข้อมูลโภชนาการด้วยตัวอักษร A B C D E พร้อมสีประจำตัว มาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้นศาสตราจารย์ Serge Hercberg ผู้ให้กำเนิดนูทรีสกอร์ ย้ำว่านี่คือระบบเดียวที่มีงานวิจัยรับรอง แต่กลับถูกลดความน่าเชื่อถือโดยการแทรกแซงทางการเมืองและการให้ข้อมูลเชิงลบผ่านสื่อโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันอิตาลี กรีก และสเปน ไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือฉลาก Nutinform ที่แสดงร้อยละของพลังงาน ไขมัน น้ำตาล และเกลือ คล้ายการแสดงกำลังไฟในรูปแบตเตอรี ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยรับรองปัจจุบันฉลาก Nutri-Score ใช้อยู่ในฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน (ซึ่งรัฐบาลรับมาใช้ แต่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย) ภายในปี 2022 สหภาพยุโรปต้องเลือกรูปแบบของฉลากโภชนาการสำหรับใช้กับทุกประเทศในกลุ่ม  ปวดเมือไรก็แวะมา        ฝรั่งเศสมีร้านยา 21,000 แห่ง ข้อมูลปี 2017 ระบุว่ามีร้านยา 33 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (ค่าเฉลี่ยของทั้งยุโรปคือ 29)   ร้านยาที่มีสัญลักษณ์กากบาทสีเขียวเรืองรอง พร้อมป้ายบอกวัน เวลา และอุณหภูมิ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ที่มีมากขนาดนี้เพราะตามกฎหมายฝรั่งเศส คุณจะซื้อยาแก้ไอ แก้ไข้ แก้ปวด ลดน้ำมูก ได้จากร้านขายยาเท่านั้น แต่หลักๆ แล้วรายได้ของร้านยังมาจากการจัดยาตามใบสั่งแพทย์การสำรวจในปี 2019 พบว่าร้อยละ 90 ของการพบแพทย์จบลงด้วยการได้ใบสั่งยา ซึ่งมียาไม่ต่ำกว่า 3 รายการในนั้น รายงานบอกว่าคุณหมอเองก็ถูกกดดันทั้งจากตัวแทนบริษัทยาและคนไข้ (1 ใน 5 ของคนไข้เรียกร้องให้หมอจ่ายยา) ซึ่งไม่วิตกเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะเบิกจากรัฐได้พวกเขาคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากร้านขายยาเต็มที่ เภสัชกรประจำร้านนอกจากจะจ่ายยาแล้ว ยังให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ รวมถึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี หรือแม้แต่วัคซีนโควิดให้ลูกค้าด้วยใครเข้าป่าไปเก็บเห็ดมาแล้วไม่แน่ใจว่ากินได้หรือไม่ ก็เก็บใส่ถุงไปให้เภสัชกรเขาช่วยดูได้   เสียงจากเบื้องบน        Korea Environment Corporation เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่าในปี 2020 มีเหตุร้องเรียนเพื่อนบ้านชั้นบนถึง 42,250 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เพราะโรคระบาดทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น  ปัญหาส่วนใหญ่มาจากเสียงกระทืบพื้น (ร้อยละ 61) ตามด้วยเสียงลากเฟอร์นิเจอร์ เสียงค้อนทุบผนัง เสียงปิดประตู และเสียงเพลงที่ดังเกินไปการตอบโต้กันระหว่างเพื่อนบ้าน “ต่างชั้น” นอกจากการใช้เสียง เช่น บางคนลงทุนซื้อลำโพงใหญ่ๆ มาเปิดเสียงพุ่งใส่ชั้นบนแล้ว บางรายถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมเพื่อนบ้านด้วย  ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการได้ยินเสียงรบกวนอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับหรือภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 60 ของประชากรเกาหลี 50 ล้านคนอาศัยในอพาร์ตเมนต์ แต่กฎหมายที่กำหนดให้พื้นห้องมีความหนาอย่างต่ำ 21 เซนติเมตรนั้นเพิ่งจะประกาศใช้เมื่อปี 2005 ตึกที่สร้างก่อนหน้านั้นจึงมีพื้นหนาเพียง 13.5 เซนติเมตร และไม่สามารถลดเสียงรบกวนได้         

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เลี้ยงสัตว์ รบกวนชาวบ้าน

สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์เดือดร้อนรำคาญ เพราะเพื่อนบ้านเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง หรือกระทบต่อสุขภาพก็ตาม ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน ว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรคุณทินกรเป็นหนึ่งในผู้พักอาศัยของหมู่บ้านชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งได้เพื่อนข้างบ้านที่มีพฤติกรรมชอบเลี้ยงเป็ดและไก่ แต่นั่นจะไม่ใช่ปัญหาเลย หากเพื่อนข้างบ้านของเขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  และปล่อยให้สัตว์ทั้งสองชนิดกีดขวางทางสัญจรสาธารณะภายในหมู่บ้าน มากไปกว่านั้นยังนำแผ่นคอนกรีตมาวางในที่ถนนสาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ทางสัญจรสกปรกและมีเชื้อโรคแม้เขาจะพยายามแสดงความไม่ประทับใจในพฤติกรรมดังกล่าว ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่งผลให้คุณทินกรส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการที่เพื่อนบ้านนำเป็ดและไก่จำนวนมากมาเลี้ยงและปล่อยให้เดินขับถ่าย ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนข้างเคียง หรือแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ โดยการการเลี้ยงสัตว์ในที่นี้ หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่ 1) สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เป็นต้น 2) โดยวิธีการเลี้ยงที่รบกวนความเป็นอยู่ ของผู้อาศัยข้างเคียง เช่น การปล่อยให้สัตว์ไปกินพืชผักของคนข้างบ้าน หรือปล่อยให้ไปถ่ายบ้านข้างเคียง เป็นต้น 3) เลี้ยงจำนวนมากเกินไป เช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่ก็เลี้ยงจำนวนมาก จนเกิดเสียงร้องดัง มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นมูลเหม็น เป็นต้น ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและออกคำสั่งให้ผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนั้นระงับหรือแก้ไขเหตุนั้นได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นประจำจังหวัด (รูปแบบของการฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานเทศบาลประจำจังหวัด ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับผลการดำเนินการมาว่า ได้ออกคำสั่งให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาด้วยการเลี้ยงไก่และเป็ดแบบมีรั้วรอบ พร้อมให้ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร้องพอใจในการดำเนินการดังกล่าวและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >