ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กระแสต่างแดน

เข้มได้อีก        กรุงโซลแบนการใช้ถุงและภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารมาได้สองปีแล้ว และเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2563 โซลได้เพิ่มกฎการแยกขยะขวดน้ำพลาสติก(ขวด PET) ด้วย         ครัวเรือนในอพาร์ตเมนท์จะต้องลอกฉลากขวดออก แล้วนำมาทิ้งในที่ๆ ส่วนกลางจัดไว้ ส่วนผู้อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวต้องไปรับ “ถุงทิ้งขวด PET” จากเทศบาล เมื่อใส่ขวดดังกล่าวจนเต็มแล้วก็นำไปทิ้งในจุดที่กำหนด ในวันพฤหัสเท่านั้น         เดนมาร์กก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้อียูแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งและห้ามร้านค้าแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้ว ลูกค้าที่ต้องการใช้ต้องซื้อและจ่ายแพงขึ้นด้วย รายงานบอกว่าถุงหูหิ้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือพลาสติกชนิดหนากว่า 0.33 มม. จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 4 โครน (ประมาณ 5 บาท)        ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัย เขายังอนุญาตให้ร้านแจกถุงบางๆ สำหรับใส่ผักผลไม้หรือขนมปังได้         ถูกและไว        รถไฟ AVLO หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “รถไฟความเร็วสูงต้นทุนต่ำ” พร้อมจะเปิดให้บริการระหว่างเมืองมาดริดและบาเซโลนา (ระยะทาง 621 กิโลเมตร) ในเดือนเมษายนนี้แล้ว         รถไฟดังกล่าวมีให้บริการวันละ 5 เที่ยวจากแต่ละเมือง ด้วยค่าโดยสารในอัตรา 10 ถึง 60 ยูโร (ประมาณ 345 ถึง 2,000 บาท) ต่อเที่ยว ทั้งนี้ AVLO สามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกกว่า AVE รถไฟความเร็วสูง (310 กม./ชม.) ของสเปนที่ให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้ในราคา 41 ถึง 152 ยูโร (ประมาณ 1,400 ถึง 5,200 บาท) ต่อเที่ยว        AVLO ซึ่งมีพื้นที่ระหว่างที่นั่งเท่ากับ AVE จะไม่มีบริการอาหารและไม่มีไวฟายฟรี         Renfe หรือการรถไฟสเปนระบุว่า แต่ละปีมีผู้คนเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ถึง 10 ล้านคน (4 ล้านคนเดินทางด้วยรถยนต์ 4 ล้านคนใช้บริการ AVE และอีก 2 ล้านคนใช้เครื่องบิน) เขาคาดหวังว่าในสองปีแรกที่เปิดดำเนินการจะมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน โดยเน้นไปที่คนหนุ่มสาวที่เคยเดินทางด้วยรถยนต์        ไม่มีพี่วิน         ผู้คนในเมืองลากอส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของไนจีเรีย ออกมาแสดงความไม่พอใจกันอย่างกว้างขวางหลังรัฐบาลประกาศให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย         การจราจรในลากอสหนาแน่นไม่แพ้ใครในโลก ด้วยปริมาณรถ 200 คันต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร บวกกับบริการรถ/เรือโดยสารสาธารณะที่ยังมีไม่เพียงพอ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดสำหรับคนที่เดินทางไปทำงาน         แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่ามอเตอร์ไซค์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในอันดับต้นๆ สร้างความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบบนท้องถนน และมักถูกใช้เป็นพาหนะพาอาชญากรหลบหนีการจับกุม         การแบนครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสตาร์ทอัปที่ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์อย่าง Okada และ ORide ในขณะเดียวกันบริการเรียกรถยนต์อย่าง Uber และ Bolt ที่ผู้คนต้องหันไปพึ่งพาก็มีอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังการประกาศ        เกินควบคุม        ที่อยู่อาศัยในปารีสนั้นขึ้นชื่อว่าหายากและราคาแพงสุดๆ รัฐบาลจึงออกกฎหมายกำหนดเพดานค่าเช่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้เช่าถูกเอาเปรียบ        แต่การสำรวจประกาศโฆษณาบ้านเช่าในปารีส 1,000 ชิ้นโดย CLCV องค์กรผู้บริโภคของฝรั่งเศส พบว่า ร้อยละ 44 ของโฆษณาเหล่านั้นยัง “ผิดกฎหมาย” และชนิดของที่อยู่อาศัยที่มีการละเมิดผู้บริโภคมากที่สุดคืออพาร์ตเมนต์แบบห้องนอนเดียว ตามด้วยอพาร์ตเมนต์แบบ 2-3 ห้องนอน และแบบ 4 ห้องนอน         โดยเฉลี่ยแล้วค่าเช่ารายเดือนที่ระบุในโฆษณา สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อย 120 ยูโร (4,100 บาท) และเขายังพบว่า เจ้าของบ้านที่ติดประกาศเองมีอัตราการเอาเปรียบผู้เช่าสูงกว่าบริษัทนายหน้าด้วยซ้ำ (ร้อยละ 52 และ ร้อยละ 30 ตามลำดับ)         แม้จะเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แต่จนถึงธันวาคม 2562 มีผู้ร้องเข้ามาแค่ 21 รายเท่านั้น CLCV บอกว่าผู้บริโภคอาจยังไม่รู้กฎหมาย หรืออาจยอมจ่ายแพงเพราะหาบ้านจนท้อแล้วก็ได้        มีต้นทุน        พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีกำลังผลักดันให้เบอลินออกตั๋วโดยสารรายปีในราคา 365 ยูโร (12,540 บาท) เรื่องนี้ถูกใจคนเดินทางที่ปัจจุบันจ่าย 728 ยูโร (25,000 บาท) แน่นอน         แต่สมาคมการขนส่งและค่าโดยสารแห่งมิวนิคค้านว่า “แผนตั๋วถูก” นี้ต้องใช้เงินสนับสนุนถึงปีละ 160 ล้านยูโร (54,000 ล้านบาท) และตั้งคำถามว่าเงินนี้จะมาจากไหน สมาคมฯ ระบุว่ากรุงเวียนนา ในออสเตรียสามารถทำตั๋ววันละ 1 ยูโรได้ตั้งแต่ 7 ปีก่อน เพราะมีระบบรองรับที่ดีบวกกับมีค่าจอดรถที่แพงจนผู้คนไม่อยากใช้รถ         ก่อนหน้านี้แคว้นบาวาเรียเคยเสนอแผนดังกล่าวแต่ก็พับเก็บไป มีเพียงนักเรียนและผู้ที่อยู่ระหว่างฝึกงานเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ตั๋ว 365 ยูโรได้             ในเบอลิน นักเรียนนักศึกษาได้รับยกเว้นค่าโดยสาร คนว่างงานมีสิทธิซื้อตั๋วเดือนราคาพิเศษ (27.5 ยูโร หรือ 950 บาท) และพนักงานบริษัทที่เซ็นสัญญาร่วมจ่ายกับรัฐในโครงการ Job Ticket สามารถซื้อตั๋วราคาพิเศษได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 นิวเคลียร์ อาหาร และผีเสื้อ

หลังจากเกษียณราชการแล้วผู้เขียนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงนั่งคิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ผ่านไป วันหนึ่งก็คิดถึงนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ลาออกก่อนถูกปฏิวัติว่า ต้องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งได้รับการต้อนรับแบบว่าทั้งโขกทั้งสับจากวิญญูชน เนื่องจากเป็นโครงการใช้ภาษีซึ่งรีดจากประชาชนมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของคนขยุ้มมือหนึ่งในการนั่งรถไฟไปไหนเร็วๆ ทั้งที่ค่าเครื่องบินของสายการบินราคาประหยัดก็แพงกว่ารถทัวร์ไม่เท่าไรแล้ว ดังนั้นการปฏิวัติจึงทำให้โครงการนี้หยุดไปก่อน หลายท่านคงภาวนาให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่าเพิ่งกลับมาตอนนี้ แบบว่าขอให้กลับมาในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยแล้วกัน(เพราะในยุคนั้นอะไรๆ ก็ฟรี) เนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าความเร็วสูงเช่นรถไฟหัวจรวดในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก เมื่อราวยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยขึ้นรถสายชินคันเซนจากโตเกียวไปเมืองฮามะมะสึ จังหวัดชิสุโอกะ ระยะทางราว 210 กิโลเมตรนั้น ค่าโดยสารเที่ยวเดียวก็ปาเข้าไปเจ็ดพันกว่าบาทไทย ดังนั้นจึงต้องเป็นการขึ้นฟรีอย่างเดียว(แบบรถเมล์และรถไฟชั้นสาม)เท่านั้นกรรมกรและชาวนาจึงมีสิทธิขึ้นได้ โดยไม่ต้องฆ่าตัวตายเมื่อถึงปลายทาง สาเหตุของความแพงในค่าโดยสารนั้นคงเป็นเพราะต้นทุนการวางรางและตู้รถไฟสูงมาก ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบจริงจังหรือไม่ ผู้เขียนใช้การค้นหาทางอินเตอร์เน็ทพบเอกสาร (pdf file) 2 ชิ้นชื่อ “มาตรฐานสากลด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) กรณีศึกษา: รถไฟความเร็วสูง ตอนที่ 1 และตอนที่ 2” เขียนโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ แห่งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และรูปแบบเอกสารสวยดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่พบในเอกสารของ ดร.ไกรสร คือ พลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นมาจากไหน เพราะโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เรามีอยู่ก็ผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้อยู่แล้ว ต้องซื้อไฟจากลาวมาใช้ จนถ้าวันใดลาวไม่ขายไฟให้เรา(เพราะลาวเองก็กำลังพัฒนาบ้านเมืองอย่างก้าวกระโดดโดยไม่กลัวคอหัก) คนไทยที่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า ชอบความฟุ้งเฟ้อตอนค่ำคืน คงได้ลงแดงกันบ้าง   ด้วยความใคร่รู้ ผู้เขียนจึงต้องพึ่ง Professor Wikipedia ภาคภาษาไทยว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงได้พลังงานไฟฟ้ามาแหล่งใด ปรากฏข้อมูลสรุปได้ว่า มีน้อยมากที่รถไฟความเร็วสูงใช้เชื้อเพลิงดีเซลหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ โดยในประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมมาก สัดส่วนใหญ่ของกระแสไฟฟ้ามาจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์นั้นดีร้ายเช่นใดมีคนวิเคราะห์และสรุปไว้มากมายแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏนั้นขึ้นกับว่าคนสรุป ชอบหรือกลัวนิวเคลียร์ มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเยอรมันซึ่งพบได้ใน wikipedia หัวข้อ Nuclear power in Germany กล่าวว่า Merkel's government announced that it would close all of its nuclear power plants by 2022 ซึ่งหมายความว่า อีกไม่กี่ปีเยอรมันจะเป็นประเทศที่เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ (โดยหันไปใช้พลังงานทางเลือกเช่น กังหันลม โซลาร์เซลล์ เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า) โดยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงอนุสรณ์สถานทำไมคนเยอรมันจึงกลัวนิวเคลียร์ถึงขนาดบีบให้รัฐบาลสร้างแนวทางเลิกใช้นั้น ใน wikipedia ได้อธิบายไว้แล้ว โดยมีประเด็นหนึ่งที่พาดพิงถึงปัญหาของโรงไฟฟ้าปรมาณูของญี่ปุ่นที่โดนสึนามิถล่มแล้วยังแก้ไขไม่จบจนถึงวันนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในปี 2011 นั้นโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะ ที่เมืองเซ็นได ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดมิยะงิ ประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาในการควบคุมปฏิกิริยาของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์หลังโดนสึนามิทำให้เกิดการรั่วไหลของสารรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยรอบวารสารออนไลน์ชื่อ sciencedaily ฉบับวันที่ 23 กันยายนปีนี้มีบทความชื่อ Food affected by Fukushima disaster harms animals, even at low-levels of radiation, study shows ซึ่งมีใจความว่าจริงอยู่แม้ว่าไม่มีความเสียหายถึงชีวิตของประชาชนแต่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยริวกิว (Rukyus) จังหวัดโอกินะวะ (Okinawa) ก็ได้ติดตามตรวจสอบอันตรายที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติบริเวณนั้น โดยศึกษาในผีเสื้อสายพันธุ์ pale grass blue butterflies (Zizeeria maha หรือ Pseudozizeeria maha ซึ่งมีชื่อภาษาไทยที่ค้นได้คือ ผีเสื้อเซลจุดป่าสูง) ที่กินใบไม้ที่เก็บจากเมืองรอบๆ โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์ปรมาณูฟูกูชิมะ ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Evolutionary Biology ชุดที่ 14 หน้า 193 ปี 2014ที่จริงแล้วการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เคยกระทำหลังการระเบิดไม่นานนัก พบว่าการให้ผีเสื้อกินใบไม้ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระดับสูงนั้นทำให้ผีเสื้อมีปัญหาทางสุขภาพ โดยผีเสื้อที่กินใบไม้ที่เก็บจากต้นที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าซึ่งมีระดับรังสีเป็นพันๆ เบคเคอเรลต่อน้ำหนักใบไม้ 1 กิโลกรัม มีขนาดตัวเล็กและมีสัณฐานร่างกายโดยเฉพาะปีกที่ผิดปรกติ สำหรับการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2013 นั้น ได้ทดลองให้ผีเสื้อกินใบไม้ที่เก็บตั้งแต่ปี 2012 จากบริเวณที่มีการปนเปื้อนต่ำ 6 จุด ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งของโรงไฟฟ้า 59-1760 กิโลเมตร และพบว่าช่วงชีวิตของผีเสื้อนั้นต่างกันขึ้นกับว่าใบไม้นั้นมีการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมเป็นเท่าใด (ซึ่งอยู่ระหว่าง 0.2-161bq/kg) ศาสตราจารย์ โจจิ โอตากิ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยหลักได้กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นได้รับอันตรายในระดับต่างๆ กันแม้ว่าอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนรังสีระดับต่ำ ในการศึกษาเดียวกันนั้นมีภาคที่ 2 ซึ่งนักวิจัยได้เฝ้าสังเกตผีเสื้อรุ่นลูกและพบว่า ลูกผีเสื้อ(ได้จากพ่อแม่ ซึ่งกินใบไม้ปนเปื้อนสารรังสีระดับสูง)ที่ถูกเลี้ยงให้กินใบไม้ที่ไม่มีรังสีนั้น มีอวัยวะเกือบทุกอย่างเหมือนผีเสื้อธรรมดายกเว้นปีก ซึ่งเล็กกว่าผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่กลุ่มควบคุม(ที่ไม่ได้กินใบไม้ปนเปื้อนรังสี) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลูกผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่ที่กินใบไม้ปนเปื้อนรังสีและต้องกินใบไม้ปนเปื้อนรังสีด้วยนั้นมีความผิดปรกติในระดับที่สูงมากกว่า ซึ่งแสดงว่าอันตรายของสารรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถสืบต่อขยายผลไปได้ในรุ่นลูกหลานที่ยังกินอาหารปนเปื้อนต่อไป ดังนั้นวิธีลดอันตรายจากสารรังสีทำได้โดยไม่กินอาหารปนเปื้อนสารรังสี ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ซึ่งเราคงสร้างแน่ถ้ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูง) ที่นำเสนอนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การจะได้อะไรที่คิดว่าสุดดีนั้น อาจจำเป็นต้องแลกกับความเสี่ยงซึ่งสุดเลวอยู่เหมือนกัน เมืองไทยมีสึนามิมาแล้ว ดังนั้นถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูอยู่ใกล้ทะเล (ซึ่งนิยมทำกันเพราะสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่ต้องใช้และอื่นๆ) ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นคงนอนตาไม่หลับกันแน่ (ยกเว้นจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทั้งหมดไปอาศัยอยู่แถวนั้นสักสิบปี) ที่สำคัญอาหารทั้งที่เป็นพืชหรือสัตว์ก็อาจเกิดปัญหาได้ถ้ามีความบกพร่องเกิดขึ้นดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่น่ากลัวสุดๆ ก็คือ เวลาเกิดปัญหาทางเทคนิคใดๆ ก็ตามในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่มักปกปิดจนกว่าปัญหามันเกินเลยถึงขั้น ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด จึงมีการออกมารับผิดแบบมีข้อแก้ตัวต่างๆ นานา จากนั้นเรื่องก็เงียบ ขาดคนซึ่งหน้าบางพอที่จะลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด ไม่เหมือนนักบริหารของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ อะไรนิดหน่อยก็ลาออกหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งหลายคนในเมืองไทยคิดว่ามันโง่หน้าบางเองนี่หว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >