ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถใหม่ป้ายแดง ใช้ได้แค่ 6 เดือน กุญแจพัง!

ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาทรถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์)“ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหาเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาทหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาทก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หลักการคืนรถใหม่ที่มีข้อบกพร่อง : แนวทางปฏิบัติในประเทศเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการติดตามข่าวปัญหาของผู้ซื้อรถเชพโรเลทครูซ ที่พบว่ารถเกิดข้อบกพร่อง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อคนขับและผู้โดยสารได้ ผู้บริโภคพยายามที่จะขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืน ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบพิสูจน์ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะฟ้องร้องต่อศาล ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้นั้น ผมมีแนวทางในเรื่องนี้ โดยจะขอเล่าแนวทางปฏิบัติของทางเยอรมันดังต่อไปนี้ครับ ในกรณีที่ซื้อรถใหม่ โดยปกติผู้บริโภคจะได้รับการประกันสองรูปแบบ คือ การรับประกันจากผู้ขาย ที่เรียกว่า Dealer Guarantee และได้รับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เรียกว่า Manufacturer Guarantee โดยจะมีระยะเวลาประกันนาน 2 ปี  ในกรณีที่ผู้บริโภคพบว่ารถมีข้อบกพร่อง (Defects) หลังจากส่งมอบรถก่อน 6 เดือนจะใช้สิทธิการประกันรถก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ต้องพิสูจน์ว่ารถตอนส่งมอบนั้นมีข้อบกพร่อง และผู้บริโภคใช้รถอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถใช้สิทธิจากการรับประกันของผู้ผลิตได้ ในกรณีที่รถใหม่เป็นรถที่มีข้อบกพร่องหลายจุด (Montagsauto: Monday cars) เบื้องต้นผู้บริโภคไม่สามารถจะคืนรถได้ทันที ต้องปล่อยให้ทางผู้ขาย หรือ ผู้ผลิตทำการซ่อมแซมรถก่อน และหากลองซ่อมแล้ว 2 ครั้งยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อผู้ผลิต หรือฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญา หรือให้ทางผู้จำหน่ายซื้อรถคืนได้ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่จะขายรถคืนให้กับทางบริษัทนั้น โดยทั่วไปจะโดนหักค่าเสื่อมราคา คิดเป็น 0.67% ของราคาเต็มของรถต่อระยะทางที่รถวิ่ง 1000 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะของรถ Monday cars นี้ มักจะมีจุดบกพร่องหลายๆ จุด เพราะฉะนั้นหากรถจอดอยู่ในอู่ซ่อมเป็นระยะเวลานานๆ รวมแล้วมากกว่าระยะเวลาที่รถวิ่ง ผู้บริโภคก็สามารถใช้ประเด็นนี้ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญาการซื้อขาย โดยเป็นกรณีที่เรียกว่า “สินค้าอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถยอมรับได้” (Unzumutbarkeit: Unacceptability) สามารถขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืนกลับไปได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ รถ แสดงอาการว่าผิดปกติและอาจส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร ก็สามารถที่จะใช้สิทธิผ่าน กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ (Product Liability Law) โดยบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเป็นฝ่ายพิสูจน์ ในกรณีที่เป็นคดีฟ้องร้องไม่สามารถตกลงไกล่เกลี่ยกันได้ แต่เนื่องจากในเยอรมันหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคและประชาชน หากรถยนต์ส่อเค้าว่ามีข้อบกพร่อง ทางบริษัทก็จะทำการแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่ต้องใช้กฎหมายมาบีบบังคับ เหมือนในเมืองไทย เพราะทางบริษัทผลิตรถยนต์ เป็นห่วงเรื่องภาพพจน์ของยี่ห้อเขา มากกว่าที่จะใช้สิทธิในการต่อสู้คดีความทางศาลครับ และกรณีรถยนต์เชพโรเลทนี้ คาดว่าผู้บริโภคของไทยยังต้องเหนื่อยกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบอีกพอสมควรทีเดียว ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดสำหรับการรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร แหล่งข้อมูล www.adac.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point