ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

                ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้         ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจนมองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ         หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้         หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 – 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน         แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน…         แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป         ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แท็กซี่ครองแชมป์ถูกร้องเรียนมากสุด

ทุกวันนี้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยมีกันหลากหลายรูปแบบ และมีให้เห็นกันได้ไม่เว้นวัน แถมไม่เลือกปฏิบัติเพราะเกิดทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติ แต่หากเจาะจงกลุ่มรถโดยสารที่มีปัญหาร้อนแรงสุดในช่วงนี้  คงต้องยกให้กับกลุ่มรถแท็กซี่ ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมและก่อตัวจนกลายเป็นความเคยชินที่ใครๆ ก็ทำได้ จากสถิติข้อมูลการร้องเรียนในระยะเวลา 5 เดือน (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)  ของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 17,794 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว  ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปจากการใช้บริการรถแท็กซี่ คือ ขับรถเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่กดมิเตอร์ คิดเหมาจ่าย ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ขับรถออกนอกเส้นทาง มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทิ้งผู้โดยสารลงข้างทาง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่เถื่อน หนักกว่านั้นวันดีคืนดีก็ออกมาขู่ประท้วงหยุดวิ่ง เรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแท็กซี่ หากไม่ปรับจะหยุดวิ่งให้บริการ เรียกได้ว่ามีทุกรูปแบบกับการให้บริการรถรับจ้างประเภทนี้  จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 85,820 คัน แบ่งเป็นประเภทส่วนบุคคล 19,789 คัน ประเภทนิติบุคคล 65,464 คัน และไม่ระบุประเภท 567 คัน โดยจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนสะสมมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในบริการของรถแท็กซี่ และหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนบุคลากรขับรถสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ที่จะมาขับรถแท็กซี่มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับรวมถึงการบังคับให้รถแท็กซี่ที่จะจดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องเข้าระบบโครงการ TAXI OK ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่รายเดิมเลือกที่จะเลิกขับหรือหันไปเช่ารถแท็กซี่ขับแทนที่จะออกรถคันใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนยังมีกรณีรถแท็กซี่ที่ทยอยหมดอายุการใช้บริการเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2561 นี้ จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุลงจำนวนมากกว่า 20,000 คัน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก แต่กลับพบว่ามีรถแท็กซี่บางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการแจ้งระงับหรือแจ้งเปลี่ยนประเภทรถ โดยปัจจุบันพบว่า มีรถแท็กซี่ที่หมดอายุ มาวิ่งรับส่งคนโดยสารอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเขตปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี นครปฐมซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะมีรถแท็กซี่เถื่อนสักกี่รายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รถแท็กซี่คันที่ขึ้นนั้นหมดอายุแล้วหรือยัง หรือขึ้นแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน ผู้บริโภคจะรู้ก็ต่อเมื่อรถแท็กซี่คันนั้นถูกจับปรับแล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะพยายามให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะเพื่อแจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้ว คือ รถแท็กซี่นิติบุคคล (หลายสี) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” ประกอบด้วย ทะเบียน ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” ประกอบด้วย ทะเบียน มก, มข, มค, มง, มจ รวมถึงรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้  พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคคอยสังเกตรถแท็กซี่ที่จะขึ้น หากพบเห็นรถเถื่อนรถไม่ปลอดภัยให้แจ้ง 1584 นั้นแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังไม่ให้เลือกใช้รถที่ผิดกฎหมาย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือรถแท็กซี่ที่หมดอายุ เป็นรถเถื่อนที่ไม่มีความคุ้มครอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่รัฐบอกให้ต้องคอยดูป้ายทะเบียนก่อนเลือกรถใช้บริการ ทั้งที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกควรจะทำได้มากกว่านี้ ถึงขนาดมีบอกกันว่า แค่โบกรถให้ไปยังยากเลย แล้วนี่จะมาให้จ้องป้ายทะเบียนด้วย ใครจะไปดู…เกิดเป็นผู้บริโภคไทยนี่ลำบากจริงๆ ครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2561แกร็บเตือนภัยอาชญากรแอบอ้างให้บริการ แนะเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชัน        จากเหตุการณ์บุคคลมีประวัติอาชญากรรม หลบหนีหมายจับคดีข่มขืน แอบอ้างเป็นคนขับแกร็บคาร์ ก่อเหตุล่อลวงผู้โดยสาร เมื่อ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีนัดแนะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านมือถือ โดยไม่ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บคาร์ ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานะการเดินทางหรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากแอปฯ ได้       บริษัท เเกร็บ ประเทศไทย ได้ออกมาย้ำถึงมาตรการความปลอดภัย ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ขับขี่ หรือตกลงการเดินทางโดยไม่ผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนขึ้นรถควรตรวจสอบใบหน้าคนขับและทะเบียนรถว่าตรงกับระบบหรือไม่ และเมื่อขึ้นโดยสารรถแล้วให้กดใช้ฟีเจอร์ Share My Ride เพื่อส่งแชร์ข้อมูลการเดินทางเป็นลิงก์ข้อความไปยังคนที่ห่วงใย ก็จะสามารถติดตามตำแหน่งรถโดยสารแบบเรียลไทม์เพื่อดูได้ว่าถึงไหนแล้ว หรือหากรู้สึกว่ามีสถานการณ์ไม่ปลอดภัยก็สามารถกดใช้ปุ่มฉุกเฉินบนแอปพลิเคชันได้ทันทีกรมสุขภาพจิต เผยคนไทยคิดสั้นชม.ละ 6 คน        นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน โดยในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท        สาเหตุที่มักพบมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก        ด้าน นพ. ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง   จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ   จึงขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คนร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ อย. เรื่องถ่ายโอนภารกิจตรวจสินค้าเกษตรนำเข้าให้ ก.เกษตรฯ เกรงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค        10 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งเห็นว่า ขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม โดยการฟ้องคดี ได้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศฯ และสั่งให้ยุติการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว        นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า "หลังจากที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไทยมีการนำเข้าปลาตาเดียว(ฮิราเมะ) จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำเพียงการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บตัวอย่างปลาไว้ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแต่อย่างใด และปัดให้ อย.ไปตรวจสอบหากมีปัญหา เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและการคุ้มครองผู้บริโภคถูกลดทอนอย่างชัดเจนเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ"        นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารฯ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า "หากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน"บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ        มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ วันที่ 6-7 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสมัชชา ในหัวข้อ "บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนงานและมาตรการความสำคัญในการจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         การบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตองค์กรผู้บริโภคกับงานด้านรถโดยสารปลอดภัย" และเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562นำเสนอสถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ และรถรับส่งนักเรียน โดยชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและแนวทางการแก้ไข และยังมีการจัดสภาผู้บริโภค "เรื่องมาตรการสำคัญในการจัดการรถรับส่งนักเรียน" พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย" ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน โดยให้โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเดินทางของนักเรียน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับตัวรถให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม จากนั้นเน้นเรื่องการเข้าถึงสภาพปัญหาจริงของแต่ละพื้นที่สปสช.หนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย        เว็บไซต์ศูนย์ข่าว สปสช. รายงานว่า เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรงและทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาตินั้น        จากข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ได้มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 4,983 ราย เสียชีวิตจำนวน 582 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,651,053 บาท นอกจากนี้ เมื่อดูการเข้ารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยแยกข้อมูลตามเขตบริการสุขภาพ 13 เขต พบว่า ปี 2561 เขต 1 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด จำนวน 644 ราย รองลงมา คือ นครราชสีมา 454 ราย, ราชบุรี 433 ราย, พิษณุโลก 426 ราย และนครสวรรค์ 422 ราย        จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้ เป็นเพียงข้อมูลเฉพาะในส่วนผู้ป่วยที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง เฉลี่ยพบผู้ป่วยประมาณ 5,000 รายต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 22 ล้านบาทต่อปี โดยยังมีข้อมูลที่น่าตระหนก เนื่องจากมีผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงปี 2559-2561 มีจำนวนสูงถึง 1,715 ราย หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 600 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค

รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ รถทัวร์สองชั้นไม่ประจำทาง ที่เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเพิงพักของชาวบ้านข้างทาง บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย นั้น  ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก และหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ต่างพูดกันถึงอนาคตรถสองชั้นว่าจะไปยังไงต่อ อย่างกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางกำหนดการให้บริการของรถโดยสารหมวด 30 (สามศูนย์) หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยเฉพาะรถสองชั้นที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 คัน โดยให้มีการกำหนดเส้นทาง รวมทั้งพื้นที่ให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น การจำกัดว่าเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยจะไม่อนุญาตให้ทำการวิ่งโดยเด็ดขาด หรือ จำกัดให้วิ่งเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงยังมีประเด็นผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสาธารณะทั่วไปอีกว่า ในปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากท้องถนนในประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหารถสองชั้นของกระทรวงคมนาคมที่สั่งกรมการขนส่งทางบกให้คิดแผนจัดการออกมา รวมถึงไม่มีการแก้ไขข่าวสารที่สื่อมวลชนระดมว่าปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากประเทศไทยด้วยจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงานี้ ผู้บริโภคจะต้องรู้อะไรบ้าง เพราะผู้บริโภคยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงกันเอง และคาราคาซังกันต่อไปว่า รถสองชั้นปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวนขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถสองชั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อมูลว่า รถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียว ถึง 8 เท่า และรถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 10 เท่า โดยเป็นการเทียบจำนวนอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน หรือที่เรียกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คันนอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาเชิงลึกจากสถิติอุบัติเหตุรถสองชั้นพบว่า รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด และยังพบอีกว่าในรถสองชั้นเมื่อเกิดการพลิกคว่ำจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ารถชั้นเดียว ถึง 3 เท่า ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ 8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง แต่อย่างไรก็ดี การจะผลักดันและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อในประเด็นรถสองชั้นให้มีผลในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย อีกทั้งผู้แทนกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงที่มาร่วมเวทีก็ยังไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า จากข้อเสนอ 8 ข้อ มาตรการอะไรบ้างที่กรมการขนส่งทางบกจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหารถสองชั้น แต่กลับกันสิ่งที่คิดว่าได้รับคำตอบชัดเจนและคลายข้อสงสัยได้ คือ ในปี 2563 จะยังมีรถสองชั้นวิ่งอยู่ ไม่ได้หมดไปตามที่ข่าวลงไว้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 GPS ตรวจจับพฤติกรรมผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ

จากที่เคยมีข่าวรถโดยสารขับรถเร็วเกินกำหนด ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาหลายครั้ง โดยที่ไม่เคยใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่ต้องโดยสารรถสาธารณะ  จนปัจจุบันได้มีมาตรการการเยียวยาเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการขับขี่โดยประมาทของคนขับรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นระบบของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้ติดตั้งระบบที่เรียกว่า GPS ซึ่งย่อมาจาก Global Positioning System หรือ “ระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก” ระบบนี้จะอาศัยการคำนวณพิกัดจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก โดยจะรับสัญญาณจากดาวเทียมตั้งแต่ 3 ดวงขึ้นไป ทำให้ระบบนี้สามารถชี้บอกตำแหน่งได้ทุกแห่งบนโลก ระบบนี้มีความแม่นยำของข้อมูลด้านทิศทาง เส้นทางการเดินทาง ถนน และสถานที่ต่างๆ แต่มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณส่งไม่ถึง เช่น อยู่ในตึก ใต้ทางด่วนก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ หรือแม้กระทั่งถ้าฟ้าปิด ฟ้าไม่ปลอดโปร่งก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้เช่นกัน  ผู้ที่ติดตั้งระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก หรือ GPS  จำเป็นต้องอยู่ตรงถนนสายหลักๆ ต่างๆ   เมื่อระบบสามารถแจ้งพิกัดที่เราอยู่บนพื้นโลกนี้ได้ จึงส่งผลให้การติดตั้งระบบ GPS ที่ทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้นำมาใช้ติดตั้งกับรถโดยสารสาธารณะนั้น จะช่วยบอกข้อมูลของรถแต่ละคันแบบ Realtime โดยจะแสดงข้อมูลตำแหน่งของรถ ความเร็วที่ขับ และลักษณะของรถที่มีการขับผิดปกติ ได้แก่ การเบรคกะทันหัน การขับกระชาก การเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือรถที่มีการเอียงเกิน 30 องศาซึ่งเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมาปรากฏขึ้นภายในศูนย์ควบคุมของบริษัท อย่างน้อยด้วยระบบติดตามรถสาธารณะชนิดนี้ ก็ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการรถสาธารณะสบายใจกันบ้าง   ประเภทของ GPS แบ่งออกตามประโยชน์การใช้งานได้ 2 แบบคือ ระบบนำทาง (Navigation System) โดยโครงสร้างของอุปกรณ์จะมีชุดรับสัญญาณดาวเทียม GPS ขนาดเล็ก ฝังติดตั้งอยู่ภายในแผ่นเซอร์กิต จากนั้นสัญญาณดาวเทียมจะถูกควบคุมด้วยโปรแกรมนำทางอีกที ระบบติดตาม (Tracking System) ใช้ในการติดตามสิ่งของที่อยู่ติดกับตัวอุปกรณ์ และในชุดอุปกรณ์จะมี ช่องให้ใส่ซิมการ์ด (โทรศัพท์มือถือ) เนื่องจาก GPS Module จะทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียม แล้วปล่อยออกมาเป็นข้อมูลพิกัด ณ จุดนั้น จากนั้น ก็ต้องอาศัยระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่งพิกัดนี้ ออกไปทาง SMS, EDGE , GPRS เป็นต้น เมื่อปลายทางได้รับข้อมูลแล้วก็จะนำเอาพิกัด ไป Plot กับตารางแผนที่ จึงออกมาเป็นตำแหน่งบนแผนที่ที่อุปกรณ์นั้นติดตั้งอยู่ ระบบนี้ โดยมากจะใช้ติดตามยานพาหะนะ ที่กำลังเป็นที่นิยมกันเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน  โดยสามารถนำมาใช้กับการติดตามคน และสัตว์เลี้ยงได้ด้วย **ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.it24hrs.com/2011/about-gps/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กระแสต่างแดน

ความสะดวกต้องมาก่อน? พาคุณผู้อ่านไปดูสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะในจีนกันบ้าง ข่าวว่ามีอุบัติเหตุบ่อยไม่แพ้ที่เมืองไทย แต่มันประหลาดกว่าตรงที่เราเลือกเดินทางกับรถทัวร์เพราะมันถูก แต่คนจีนเขานิยมเดินทางด้วยรถทัวร์กันมากที่สุดทั้งๆที่ตั๋วรถทัวร์แพงกว่าตั๋วรถไฟด้วยซ้ำ เหตุเพราะเวลาของรถทัวร์มันช่างเหมาะกับการใช้ชีวิตเสียจริงๆนะพี่น้อง ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาซื้อของไปขาย ตัวอย่างเช่น รถทัวร์ระหว่างลินเฮกับปักกิ่ง มีให้ขึ้นกันทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยค่าโดยสาร 250 หยวน ( ตั๋วรถไฟ ราคาเพียง 150 หยวน เท่านั้น) บรรดาพ่อค้าแม่ขายมาจะถึงปักกิ่งประมาณเที่ยง แล้วเดินจากสถานีขนส่งเข้าตลาดไปหาซื้อของได้เลย ได้ของครบก็กลับมาขึ้นรถที่ออกตอน 16.30 น. กลับบ้านสบายใจเฉิบ แถมบนรถยังมีพื้นให้วางของอีกด้วย ลืมบอกไปว่ารถโดยสารส่วนหนึ่งของที่นี่เขาเป็นรถนอน สองชั้น ขนาด 30 เตียง ส่วนใหญ่พาผู้โดยสารข้ามเมืองผ่านเส้นทางคดเคี้ยว มือใหม่หัดนั่งก็อาจจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่หลายคนที่ใช้บริการอยู่บอกเดี๋ยวก็ชิน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น 13 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 252 คน สาเหตุหลักมากจากโครงสร้างตัวรถและอาการหลับในของพนักงานขับรถนั่นเอง ทางการเขามีกฎให้เปลี่ยนคนขับทุก 4 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงก็อย่างที่เรารู้ๆกัน ยิ่งช่วงเทศกาลด้วยแล้วยิ่งเป็นโอกาสทองที่คนขับเขาจะทำเงิน มีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้าสภาพร่างกายเขาอึดพอ เขาจะสามารถหาเงินได้ ถึง 20,000 หยวน ซึ่งเท่ากับเงินที่หาได้จากการทำงาน 11 เดือนเลยทีเดียว รัฐบาลเขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะลดอุบัติเหตุ ตั้งแต่การบังคับติดกล้องวงจรปิดบนรถ และห้ามรถวิ่งในระหว่างเวลาตี 2 ถึง ตี 5 (ซึ่งจากสถิติแล้วเป็นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด) ไปจนถึงการสั่งเลิกผลิตรถสองชั้นพวกนี้ และไม่รับต่อทะเบียน ขอแสดงความเสียใจกับคนที่อยากไปทดลองขึ้น ลองแสวงหาความตื่นเต้นกันด้วยวิธีอื่นไปก่อนแล้วกัน     เวียดนามอัพเกรดกฎหมายโฆษณา กลับมาที่เพื่อนบ้านใกล้ตัว กฎหมายโฆษณาของเวียดนามฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เขาอนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มหน้าโฆษณาได้ และให้วิทยุ/โทรทัศน์มีโฆษณาได้ร้อยละ 10 ของเวลาออกอากาศ (มากกว่ากฎหมายเดิมซึ่งอนุญาตเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น) ประมาณการณ์ได้ว่าผู้ผลิตจะต้องมีเฮ ... แต่เดี๋ยวก่อน เขาระบุไว้ด้วยว่า ทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริษัทโฆษณาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบถ้าโฆษณาดังกล่าวมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ค่าปรับตามกฎหมายใหม่นั้น มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ใครลงโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ท่านก็มีสิทธิถูกปรับถึง 200 ล้านดอง (เกือบสามแสนบาท) ผู้ชมโทรทัศน์บอกว่าโฆษณาทุกวันนี้ ไม่ไหวจะดู แถมยังโผล่มาไม่เป็นเวล่ำเวลาอีกด้วย เห็นบอกว่าดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องเจอกับโฆษณาแทรกถึง 4 ครั้ง (นี่แสดงว่ายังไม่เคยดูละครไทยกันล่ะสิ) สื่อเวียดนามเขายังมีข้อสงสัย ว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามรู้สึกมั่นใจขึ้นว่าตัวเองจะปลอดภัยจากโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้จริงหรือไม่? ใครจะเป็นผู้รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์? ใครจะเป็นผู้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเวลาที่ผู้ประกอบการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆในโฆษณา? ข่าวเขายกตัวอย่าง การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจากการเข้าไปรับบริการที่มาเรีย คลินิก ซึ่ง โฆษณาว่าเป็นหนึ่งในคลินิกที่ดีที่สุดของเวียดนาม หรือโฆษณาหมวกกันน็อค ที่อ้างว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย ที่มาถูกจับได้ในภายหลังว่าเป็นหมวกกันน็อคชนิดที่ใช้สำหรับการขับขี่จักรยานเท่านั้น ผู้ผลิตถูกปรับไปเพียง 27.5 ล้านดอง (ประมาณ 45,000 บาท) ซึ่งเท่ากับเงินเดือนเพียงสองเดือนของคนชั้นกลางในเวียดนามเท่านั้น     ห้าม “อินเตอร์” แค่ชื่อ ขณะที่เรากำลังจะปั้นตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มาเลเซียเขาก็ตั้งธงจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน เริ่มจากกระทรวงอุดมศึกษาของเขาประกาศเข้มงวดกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน ที่ตั้งชื่อด้วยการใส่คำว่า “นานาชาติ” ว่าต้องมีคุณภาพและมาตรฐานสมระดับ international จริงๆ เขาบอกว่าต่อไปนี้ใครใช้คำที่ว่า ก็แปลว่าต้องมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นต้องมีสนามกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่มด้วย จะมามีเฉพาะห้องเรียน ห้องประชุมไม่ได้แล้ว แถมยังบอกว่ากำลังพิจารณาให้มหาวิทยาลัยตามตึกแถว ที่มีคำว่า “นานาชาติ” อยู่ในชื่อ ถอนคำดังกล่าวออกไปด้วย เพราะสถาบันพวกนี้ ตอนที่มาขอจดทะเบียนก็อ้างว่าขอใช้ห้องแถวเพียงชั่วคราว แต่ 15 ปีผ่านไปก็ยังไม่ขยับขยายไปที่อื่น ปัจจุบันมาเลเซียมีมหาวิทยาลัย “นานาชาติ” อยู่ทั้งหมด 109 แห่ง ในกลุ่มนี้เป็น “ห้องแถว” นานาชาติเสีย 48 แห่ง     ขาดแคลนจิตวิญญาณ การสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ของกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมของเวียดนามพบว่า ร้อยละ 20 ของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยที่นั่นยังไม่มีห้องสมุด อันนั้นไม่เท่าไร แต่เขาบอกว่าอีกร้อยละ 80 นั้นมีห้องสมุดก็จริง แต่มันเป็นห้องสมุดที่ช่าง “ขาดจิตวิญญาณ” เสียนี่กระไร จากการสำรวจ 196 คณะในมหาวิทยาลัยของกระทรวงฯ (จากทั้งหมด 392 แห่ง) พบว่ามีเพียง ร้อยละ 80.4 เท่านั้นมีห้องสมุด ในขณะที่มหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดกระทรวงอื่น หรือภายใต้สังกัดการปกครองท้องถิ่นนั้น มีสถิติการมีห้องสมุดสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 40 ในกลุ่มนี้ ที่มี “ห้องสมุดอิเล็กทรอนิ กส์” ให้นักศึกษาได้ใช้กัน ผู้บริหารคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาแห่งฮานอย บอกว่านี่แหละคือสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ณ ปัจจุบัน แม้แต่ข่าวห้องเรียนหรืออุปกรณ์การศึกษาไม่เพียงพอ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เขายกตัวอย่างว่า นักศึกษาจำนวน 10,000 คน ของมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาและการทำเหมืองก็ต้องใช้ห้องที่เป็นของโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นห้องเรียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการกีฬาแห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ก็บอกว่าปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งคือการมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการซื้อที่ดินมาทำสถานศึกษาด้วย     โชว์ห่วยแดนภารตะ  ผู้อ่านฉลาดซื้อคงจะได้ยินข่าวเรื่องรัฐบาลอินเดียยินยอมให้ห้างค้าปลีกข้ามชาติ อย่างวอลมาร์ท ของสหรัฐฯ หรือเทสโกของอังกฤษเข้าไปตั้งสาขาในแดนภารตะที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคนได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะโชติช่วงเท่าที่ควร แน่นอนอยู่แล้วว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจ เพราะตามถนนหนทาง ตรอกซอยต่างๆ ที่อินเดียนั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยร้านโชว์ห่วย ที่ถือเป็นกิจการของครอบครัว สืบทอดกันมากจากรุ่นสู่รุ่น ข้อมูลของสหพันธ์ผู้ค้าแห่งอินเดีย ระบุว่ามีร้านค้าประเภทนี้กว่า 50 ล้านแห่ง และมีผู้คนกว่า 220 ล้านคนที่การทำมาหากินของพวกเขาต้องพึ่งพาร้านเหล่านี้ คนกลุ่มนี้จึงเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ทีเดียว ต้องจับตาดูกันว่ารัฐบาลเขาจะเลือกอย่างไร แม้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจะมองว่า สังคมอินเดียน่าจะไม่ถูกผลกระทบจากการมีห้างเหล่านี้ซึ่งคาดว่าต้องออกไปตั้งอยู่ตามชานเมือง ในขณะที่ร้านโชว์ห่วยดั้งเดิมมีทำเลที่ดีกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับลูกค้า ข่าวบอกว่ารัฐบาลจำกัดให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดได้เฉพาะในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน (ซึ่งไม่น่าจะหายากนักในอินเดีย) ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายสินค้าที่จากท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 30 มาลุ้นกันดูว่าเหตุการณ์จะจบลงคล้ายที่บ้านเราหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >