ฉบับที่ 267 จองรถทัวร์แต่ขึ้นไม่ได้ เพราะรถออกก่อนกำหนดเวลา

        จู่ๆ ถูกเท มันก็จะเคว้งคว้างหน่อยๆ นี่คือเรื่องราวของ “คุณเมฆ”ที่จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพอถึงเวลากลับไม่เจอรถที่จุดจอดตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพราะ “รถทัวร์ออกไปก่อนเวลา” เสียแล้ว ทำให้คุณเมฆต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับ เพราะต้องมาทำงานให้ทัน รวมมูลค่าความเสียหายที่ซื้อตั๋วรถทัวร์แต่ไม่ได้รับบริการและซื้อตั๋วเครื่องบินเกือบ  5,500 บาท         ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา “คุณเมฆ” เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต  ขากลับวันที่ 16 เมษายน  2566 ได้จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เป็นรถทัวร์ Premium first class VIP24  ตั๋วราคา 1,192 บาท  นัดหมายขึ้นรถเวลา 18.10 น. ตามที่พนักงานของบริษัทรถทัวร์โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้า   “คุณเมฆ” ไปถึงสถานีขนส่งก่อนเวลารถออกด้วยซ้ำเผื่อไว้เพราะไม่ชำนาญทาง แต่กลับไม่พบรถทัวร์คันที่ตนเองจองไว้  สอบถามรถทัวร์คันอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  บอกตรงกันว่ารถคันที่ผู้เสียหายจองไว้  ขับออกไปแล้ว คุณเมฆงงใจมาก ฉันมาก่อนเวลาด้วยซ้ำทำไมออกไปก่อน ทำไมไม่รอ นี่ทิ้งฉันใช่ไหม เรียกว่าสารพัดคำถามผุดขึ้นมาในหัวอยู่ตลอดเวลา         คุณเมฆพยายามติดต่อหาบริษัทขนส่งรายนี้ทุกช่องทางเพื่อแก้ปัญหา ทว่าติดต่อไม่ได้เลย  เมื่อล่วงเลยมา 1 ทุ่มเศษ  ตั๋วรถทัวร์บริษัทอื่นๆ ก็ไม่มีขายแล้ว  คุณเมฆจึงจำต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ราคา 4,250 บาท และขึ้นเครื่องเวลา 21.20 น. เพื่อให้ทันกลับมาทำงานที่กรุงเทพในวันรุ่งขึ้น “ผมทำอะไรได้บ้าง” คือคำขอที่ส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “เอาเปรียบกันเกินไป ผมต้องการค่ารถทัวร์คืนและชดเชยค่าเครื่องบินให้ผมด้วย”  แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำ ดังนี้  (1) ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ  ส่งถึงบริษัททัวร์เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (2) รวบรวมหลักฐานนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการทางคดีร้องเรียนเรื่องรถโดยสารสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก ขณะเดียวกันทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัททัวร์ให้เร่งดำเนินการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค  โดยขอรับทราบผลดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรและได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะเพื่อหาข้อตกลงในการเยียวยาผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร

        เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ของวันที่ 6 มกราคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้น สายกรุงเทพฯ-พนมไพร เสียหลักพลิกคว่ำลงร่องกลางถนน บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามร้านไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  หลังรับผู้โดยสารมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตถึง 6  ราย        จากเหตุการณ์นั้นนอกจากความสูญเสียจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่น่าตกใจจากการสืบสวนสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเป็นข้อมูลสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น คือ สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งปกติหากเราต้องการความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ องค์ประกอบสำคัญของความปลอดภัยจะประกอบด้วย คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะ “คน” สามารถแยกออกได้เป็น พนักงานขับรถโดยสาร พนักงานผู้ช่วยคนขับ และ ผู้โดยสาร        ในกรณีพนักงานขับรถโดยสาร หากเจาะจงเรื่องสมรรถนะและความพร้อมในการขับรถ ย่อมรวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การกินอยู่ตามอัตภาพปกติที่คนทั่วไปพึงกระทำ และรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอดูแลตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งในกรณีนี้พบว่าพนักงานขับรถโดยสารคันเกิดเหตุนอกจากจะต้องขับรถมือเดียวจากต้นทางอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดมากรุงเทพมหานครที่มีระยะเวลาขับรถต่อเนื่องมากกว่า 10 ชั่วโมงแล้ว ยังได้รับค่าตอบแทนจากการขับรถโดยสารเพียงเที่ยวละ 500 บาท เท่ากับสามารถวิ่งได้เพียง 1 เที่ยวต่อวัน และหากขับรถทุกวันๆละ 1 เที่ยวในหนึ่งเดือนจะได้ค่าตอบแทนเพียง 15,000 บาท เท่านั้น        ค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานขับรถโดยสารที่ย่ำแย่ เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี มีปัญหารุมเร้ม พักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลถึงสมรรถนะและความพร้อมในการบริการขับรถโดยสาร ที่ต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบในชีวิตทรัพย์สินของผู้โดยสารจำนวนมาก        จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับสำนักงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการศึกษา “ความพึงพอใจของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางที่มีต่อค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน” เพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารในประเภทต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการช่วยบรรเทาผลกระทบและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของพนักงานขับรถได้ โดยอาศัยหลักปฏิบัติ 4 ข้อที่ผู้ประกอบการขนส่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้        1) ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยทั่วไปของพนักงานขับรถและปัจจัยองค์กร เช่น ประสบการณ์ ขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ประสิทธิภาพการขับขี่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้โดยสาร ความเชี่ยวชาญเส้นทาง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดรายได้ของพนักงาน ผนวกกับปัจจัยองค์กรที่จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกัน เช่น การกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอและเป็นธรรม การให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าชดเชยวันหยุด ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมบุตร เป็นต้น         2) ปัจจัยร่วม เป็นปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ เช่น เงินรางวัลเมื่อพนักงานขับรถได้ตามเป้าหมาย ค่าตอบแทนเหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย การได้รับการยกย่อง ชื่นชมจากผู้โดยสาร จำนวนวันหยุดที่เพียงพอ และเงินรางวัลและสวัสดิการเพียงพอครอบคุมถึงครอบครัว เป็นต้น         3) การสร้างแรงจูงใจ เป็นอีกปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พนักงานขับรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานจะมีวิธีการดังนี้คือ 1) มีความพยายามในการพัฒนาวิธีการทำงานของตนเอง 2) เป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ 3) ได้รับความไว้วางใจจากองค์กร และ 4) ได้รับการยอมรับจากผู้โดยสาร         4) การเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพการทำงาน การเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและทำให้พนักงานขับรถมีความพึงพอใจและภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง อีกทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาสร้างโครงสร้างรายได้ของผู้ขับรถโดยสาร        ทั้งนี้เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความมั่นคงทางอาชีพให้กับพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งจากการสอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการทั่วไปพบว่า เห็นด้วยกับการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารและสมควรที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีรายได้ที่เพียงพอดูแลครอบครัว พักผ่อนเพียงพอไม่ต้องทนเหนื่อยง่วงขับรถทำรอบ เพียงเพื่อหวังรายได้ให้มากขึ้น ก็จะลดโอกาสความเหนื่อยล้าและความเสี่ยงที่นำไปสู่การหลับใน อันเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

                ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้         ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจนมองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ         หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้         หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 – 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน         แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน…         แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป         ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ชวนวิ่ง...สร้างกองทุนเพื่อเหยื่อรถโดยสาร

        วันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่สนใจกิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ถามมาว่ากิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้ด้วย  แล้วทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น และเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน วันนี้เลยมาขอตอบให้ชัดกันไปเลยว่าทำไม!         สำหรับคำถามแรกที่ถามว่า กิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้  ?    ต้องบอกเลยว่างานนี้เป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี 3 เหตุผลสุดคุ้ม ที่ว่าทำไมต้องหยุดซิ่ง...แล้วมาวิ่งกันเถอะ         ประการที่หนึ่ง เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ เพราะประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึงวันละ 62 คนต่อวัน หรือทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2.5 คน ตัวเลขดูน้อยๆ แบบนี้ พวกเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่นัก เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่ตัวเราหรือคนใกล้ชิด ในความเป็นจริงหากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ความสูญเสียนั้นไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไป แต่หมายรวมถึงครอบครัวที่ต้องมาทนทุกข์กับการสูญเสียนี้ด้วย         ประการที่สอง เพื่อจัดตั้งกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รู้ไหมในแต่ละปีผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน แม้วันเวลาจะพาให้เรื่องราวของอุบัติเหตุจะผ่านพ้นไป แต่ความทุกข์ของคนที่บาดเจ็บและสูญเสียนั้นยังอยู่ การใช้ชีวิตหลังความสูญเสียต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้รัฐจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่การเข้าถึงสิทธิกองทุนกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิ ขณะที่สิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องการ คือ อยากให้มีกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้จริง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน           ประการที่สาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกายกับการเดิน-วิ่งที่เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและต้นทุนน้อยที่สุด ที่สำคัญถ้าทุกคนได้มาวิ่งที่สวนบางกะเจ้า ก็จะได้พบกับแหล่งโอโซนอากาศบริสุทธิ์ สถานที่ฟอกปอดที่เหมาะสำหรับการมาเดิน-วิ่ง พักผ่อนกันแบบชิลๆ และไม่ใช่จะได้เพียงสุขภาพที่ดีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ทุกคนยังได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนที่คงอยู่กับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอีกด้วย          สำหรับคำถามสองที่ถามว่า กิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น ?         เพราะวันที่ 17 พฤศจิกายนของปีนี้ จะตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ “วันเหยื่อโลก” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง        เพราะอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และคร่าชีวิตผู้คนจากความประมาทเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขที่น่าตกใจที่พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 คนต่อปี  หรือ 62 คนบนถนนทุกวัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เสียชีวิตต่อปีประมาณ 26,500 คน         จะเห็นได้ว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งเป้าหมายของ “วันเหยื่อโลก” คือวันที่คนทั้งโลกจะร่วมกันรำลึกอาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง         อย่างไรก็ดี ในวันเหยื่อโลกของทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่หลากหลายรูปแบบกันไป และวันเหยื่อโลกในปีนี้ที่จะมาครบบรรจบในวันที่ 17 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะเป็นครั้งแรกของการรวมพลังของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่อยากรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน         ด้วยการรณรงค์เดิน-วิ่ง หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ “Run for Road Traffic Victims” ที่มีเป้าหมายเพื่อการลดอุบัติเหตุหยุดไม่ให้เหยื่อรายใหม่ และรายได้จาการค่าสมัครสมทบจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวให้มีสิทธิ และโอกาสการเข้าถึงสังคมเหมือนเช่นคนปกติทั่วไป         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องเวรกรรมและเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ นอกจากนี้ทุกคนยังมีโอกาสเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าประมาทชะล่าใจ สักวันอาจจะเกิดกับตัวเราและคนรอบข้างก็ได้  ถึงเวลาแล้วล่ะที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดสิ่งนี้ด้วยกัน หยุดซิ่ง…แล้วมาวิ่งกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ภัยจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร

เพียง “วูบเดียว” ของ นายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะ เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องหลั่งน้ำตาในงานศพ แทนที่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัวช่วงเทศกาลปีใหม่         ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่ามีรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสาร เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพ บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถ เกิดเสียหลักข้ามไปถนนฝั่งตรงข้ามประสานงาเข้าอย่างจังกับรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถเช่นเดียวกัน จนเกิดไฟลุกท่วมก่อนเกิดระเบิดตามมาอีก 1 ครั้ง จนกลายเป็นการย่างสดผู้โดยสารเสียชีวิตรวมทั้งหมด 25 ราย สาเหตุคาดว่าคนขับ ชื่อ ของนายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ มีอาการหลับใน เพราะต้องขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง        ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ประสานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกเข้าไปพูดคุยกับญาติผู้เสียหายว่า ยังมีประเด็นปัญหาอะไรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่         นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า “เพราะจากประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการโดยสารรถสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา พบว่าหลังเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้โดยสารไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับการชดเชยอะไรบ้าง ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้รับการชดเชย และจากการพูดคุยทำให้เราได้รู้ว่าผู้เสียหายได้รับเพียงการชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รายละ 7 แสนบาท เท่านั้น โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยจากประกันภัยภาคบังคับ 3 แสนบาท และประกันภัยภาคสมัครใจ 4 แสนบาท แต่สิทธิอื่นๆ ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นจึงคิดว่าต้องลงไปพูดคุยกับเขาเพื่อให้ได้รับการชดเชยตามสิทธิที่มีมากกว่านี้”           แต่การเข้าไปให้การช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เสียหายไม่ยอมเปิดใจ มีความกังวลว่าทางมูลนิธิฯ จะเข้าไปหาผลประโยชน์อะไรจากเขาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ถูกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปเรียกร้องบางอย่างจากการเข้าไปให้การช่วยเหลือ จึงค่อนข้างผิดหวัง แต่สุดท้ายหลังจากที่ทำความเข้าใจกันแล้วก็เปิดใจยอมรับการให้การช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ และนำสู่การฟ้องร้องคดีห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 กรณีละเมิด ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เรียกค่าเสียหาย ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม การต่อสู้มีอุปสรรคบ้าง เพราะดูเหมือนว่าหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลในหลายๆ เรื่อง ทำให้การทำงานครั้งนี้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ต้องเสาะหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ อาทิ หลักฐานการเสียชีวิต หลักฐานการจัดการงานศพ ภาพถ่ายต่างๆ เอกสารต่างๆ หลักฐานรายได้ของผู้เสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ผ่านไป 2 เดือนแล้ว บางอย่างหาได้ บางอย่างหาไม่ได้ บทเรียนจากการสู้คดี         การสู้คดีถือว่าใช้เวลาไม่นานศาลจันทบุรีได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 โดย นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ผู้ดูแลคดีดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ในวันนั้น ว่า ศาลฯ ได้ตัดสินให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 1 และ 2 คือ ทายาทของคนขับ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 20,780,000 บาท รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด นั่นคือวันที่ 2 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ         ทนายความของคดี ยังระบุอีกว่า ส่วนสำคัญ คือ ศาลชั้นต้นได้กรุณากำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับโจทก์แต่ละราย รายละ 500,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าคนขับรถประมาท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าทรัพย์สินเสียหายสูญหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ศาลได้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการตัวแทนที่ต้องรับผิดร่วมกับคนขับรถตู้คันเกิดเหตุ ซึ่งทาง มพบ. จะมีการประชุมคดีเพื่อพิจารณาในการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป         และในวันเดียวกันนั้น “นางเสงี่ยม หินอ่อน” มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ได้ให้สัมภาษณ์ ด้วยสีหน้าและแววตาที่ปราศจากรอยยิ้ม โดยสรุปใจความว่า         “ตัวเธอเองต้องสูญเสียลูกสาวไปอย่างไม่มีวันกลับ หนำซ้ำ หลานสาวตาดำๆ ยังต้องกลายมาเป็นเด็กกำพร้าที่คอยถามเธอทุกครั้งที่เห็นภาพถ่ายว่า “แม่ไปไหน” และคำตอบที่เธอพอจะพูดออกไปได้เพื่อเป็นการปลอบประโลมใจทั้งของหลานสาว และของตัวเธอเองคือ “แม่ไปสวรรค์นะ” ขณะที่ฐานะทางบ้านเริ่มสั่นคลอนเพราะเสียเสาหลักไป ส่วนเงินที่ได้จากการชดเชยก็จะนำไปใช้เป็นเงินเก็บไว้เลี้ยงดูลูกของลูกสาวในอนาคตต่อไป”อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุดถึงกลางปี 2562 นายคงศักดิ์ บอกว่า คดีความยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากจำเลย คือ บริษัทขนส่งจำกัด ได้มีการยื่นอุทธรณ์เนื่องจากมองว่าศาลตัดสินให้ต้องมีการชดเชยมากเกินไป ซึ่งศาลก็ได้นัดฟังคำตัดสินในเดือน ก.ย.2562 นี้ ก็ต้องมาดูว่าศาลเห็นด้วยหรือไม่ มีการปรับแก้คำพิพากษาอะไรหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่ามีคำพิพากษาออกมาแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นฟ้องถึงศาลฎีกาได้อีก ซึ่งคาดว่าหากถึงขั้นนั้นคงใช้เวลาประมาณ 4 ปี ถือว่าค่อนข้างเร็วในมุมมองของทางมูลนิธิฯ เพราะบางคดีเคยต่อสู้กันนานถึง 8 ปี กว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย         ทั้งนี้ ถึงแม้คดีความจะยังไม่จบ แต่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่กลายเป็นการเสียเปล่าเสียทีเดียว เพราะทำให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะของไทยขนานใหญ่ โดยมีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือกำหนดให้รถโดยสารต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจ         “การทำประกันภัยภาคสมัครใจสำคัญมากเพราะเมื่อก่อนรถบางคันก็ทำ บางคันก็ไม่ทำ รถคันที่ไม่ทำก็มีเพียง พ.ร.บ. เท่านั้น หากเกิดเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เสียชีวิตก็จะได้รับการชดเชยน้อยมาก ดังนั้นการมีการทำประกันภัยภาคสมัครใจก็จะได้รับการชดเชยอย่างต่ำ 3 แสนบาท รวมกับประกันภัยภาคบังคับอีก 3 แสนบาท รวมเป็น 6-7 แสนบาท”         นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น การควบคุมจำนวนที่นั่งของรถตู้โดยสารจากเดิมที่มีมากถึง 15-16 ที่นั่ง ก็กำหนดให้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง มีการจำกัดความเร็ว การจัดจุดบริการรถตู้ให้เป็นสัดส่วน จากเดิมที่อยู่กระจัดกระจาย ไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีมาตรการควบคุมอะไรเลย         นายคงศักดิ์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารทุกประเภท เฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 200-300 คน ต่อปี บาดเจ็บประมาณ 2,000-3,000 คน ต่อปี ในจำนวนนี้รถตู้โดยสารเป็นประเภทรถเกิดอุบัติเหตุรุนแรงที่สุด เพราะมีการขับรถเร็ว ไม่มีการติดตั้งจีพีเอสติดตาม แต่พอเกิดอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรีก็ทำให้มีการควบคุมมาตรฐานที่น่าพอใจ จำนวนการเกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะลดลง แต่ไปพบปัญหาใหม่คือ เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างส่วนตัว ที่สูงขึ้นเพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกบังคับให้ติดจีพีเอส อาจจะยังสามารถขับรถเร็วมากกว่า 90 กม./ชม.เป็นเรื่องที่ต้องติดตามแก้ไขกันต่อไป         เช่นเดียวกับบทสรุปคำพิพากษาของศาลต่อกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร “จันทบุรี – กรุงเทพ” ว่าจะออกมาอย่างไร ผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยเยียวยาอันสมควรหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป แน่นอนว่าเงินชดเชยที่ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ไม่อาจชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนได้ แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักของผู้ตายในฐานะเหยื่อของเหตุการณ์ไม่อาจจะดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักต่อไปในอนาคต.นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ข่าวที่โหมรุนแรง ทางบริษัทประกันฯ เลยชักช้าไม่ได้ ทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยอย่างตรงไปตรงมา แต่หากเปรียบกับเคสอื่นๆ เมื่อมีการรับเงินชดเชยส่วนนี้แล้วจะถูกให้เซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งในสัญญาตัวนี้จะมีถ้อยคำที่เป็นอันตราย ที่ระบุว่า “ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา”  ซึ่งเมื่อมีข้อความเหล่านี้จะไม่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ได้เลย จะได้รับแค่สิทธิที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกันภัยผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยการขาดรายได้ ค่าเลี้ยงลูกจนโต        “เรื่องนี้หลายคนไม่รู้ หน่วยงานก็ไม่เคยบอกว่าหากเซ็นแล้วต้องเจอแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเจอกรณีให้เซ็นสัญญาประนีประนอมผู้เสียหายสามารถเขียนข้อความกำกับลงไปได้ว่า ขอสงวนสิทธิในการที่จะเรียกร้องดำเนินคดีกับเจ้าของรถต่อ หรือไม่ต้องเซ็นเอกสารนั้นเลยก็ได้ ถ้าถูกบังคับให้เซ็นหรือข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมเซ็นชื่อจะไม่ได้รับเงินชดเชย ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยัง คปภ.ได้ ว่าถูกบังคับ ถ้าไม่ร้องเรียนทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการบริษัทประกันฝ่ายเดียว”         ดังนั้น เวลาขึ้นรถโดยสารขอให้คำนึงว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นหมั่นสังเกตข้อมูล เกี่ยวกับรถ ทะเบียนรถ ตั๋วโดยสาร ข้อมูลคนขับ สิ่งสำคัญคือสิทธิที่จะได้รับมีอะไรบ้าง หลักๆ เลย วงเงินที่ได้รับการชดเชยตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ กรณีเป็นผู้โดยสารจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลตามจริง ประมาณ 80,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ยังไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด สิทธิที่ผู้โดยสารจะได้รับเบื้องต้นคือ ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000  บาท.          จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะในปี 2560 โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารสาธารณะที่เก็บข้อมูลผ่านข่าวออนไลน์ พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศมากถึง  252 ครั้ง แบ่งเป็น ประเภทรถตู้โดยสารประจำทาง 61 ครั้ง รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 72 ครั้ง และรถตู้โดยสารส่วนบุคคล 119  ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 1,008 คน และเสียชีวิต 229 คน           ปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561จำนวน 45,510 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 14,436 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 31,074 คัน แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็ว บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในรถตู้โดยสารประจำทาง ที่ส่งผลถึงมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารของผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากอุบัติเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เรื่องบ่นหลังเทศกาล คุณสามารถจัดการได้

               พ้นช่วงหยุดยาวมหาสงกรานต์กันไปแล้ว นับเป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางเพื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนกันเป็นจำนวนมหาศาล ระดับกรุงเทพฯ ร้างกันทีเดียว หลายคนโชคดีเดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัย ขณะที่อีกหลายคนต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ นานา กว่าจะถึงบ้านก็เล่นเอาเสียเวลาเสียความรู้สึกกันไปจนเกือบจะหมดสนุก         คนที่พบเจอปัญหาหลายคน ต่างก็มาบ่นและแชร์กันไปมากมายในสื่อโซเชียล ซึ่งความจริงแล้วอยากให้ทุกท่านที่พบเจอปัญหา ได้ทดลองใช้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ของ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผลของข้อมูลและการดำเนินการต่างๆ จะได้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขต่อไป หรือกับปัญหาเฉพาะหน้า ทางหน่วยงานรัฐจะได้มีบทบาทในการลงโทษคนผิดให้หลาบจำ         ดังนั้นในครั้งนี้ จะรวบรวมเสียงบ่นจากทางโซเชียลมีเดียมานำเสนอกันสักนิดนะครับ เป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอกันแทบทุกเทศกาล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกการร้องเรียนของผู้โดยสารมีความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการได้         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้บริการรถโดยสารประจำทางของบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฎว่ากว่ารถจะมารับที่สถานีก็ช้าไปเกือบชั่วโมงแล้ว แถมระหว่างทางยังจอดทิ้งผู้โดยสารที่วังเจ้าตาก ห่างจากปลายทางที่แม่สอดกว่า 80 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนรถซื้อตั๋วใหม่ อ้างไม่กล้าขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีทิ้งผู้โดยสารกลางทางแบบนี้ ทั้งที่ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารครบถ้วนแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฐานปล่อยผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้านผู้ประกอบการไม่พ้นผิดต้องมีความผิดด้วย ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากไม่ควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพ ไปจังหวัดลพบุรี โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฎว่าระหว่างทางพนักงานขับรถโดยสารกลับรับผู้โดยสารรายทางและรับมาเรื่อยๆ จนมีผู้โดยสารยืนบนรถตู้โดยสาร เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ในข้อหารับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ตามมาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งตัวเข้ารับการอบรม บันทึกประวัติความผิด และกำชับมิให้กระทำความผิดซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 31(4) ประกอบมาตรา 131 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่นั่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดขอนแก่น โดยใช้บริการรถทัวร์โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฏว่ามีการคิดราคาค่าโดยสารแพงกว่าปกติ เจอแบบนี้จะทำยังไงดี        ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.การขนส่งทางบก ในข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน ตามมาตรา 159  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท        เห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การร้องเรียนของผู้โดยสารทุกคนมีความหมาย นอกจากจะเป็นการป้องปรามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของผู้ประกอบการให้มีความรอบคอบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้เงียบเฉยกัน อย่าลืมว่าทุกเสียงทุกปัญหา สามารถเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง “ ร้องทุกหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง ” ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 การเยียวยาจากเหตุรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาบอกกัน

คล้อยหลัง 7 วันอันตรายไม่กี่วัน กลางดึกเวลาตีสี่ของวันที่ 6 มกราคม 2562  สายด่วนข่าวอุบัติเหตุรายงานว่า เกิดเหตุรถโดยสารสองชั้นของบริษัทประหยัดทัวร์เสียหลักพลิกคว่ำที่จังหวัดปทุมธานี มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุรุนแรงของรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นครั้งแรกของปี 2562         รายงานข่าวระบุว่า รถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถโดยสารสองชั้นของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-8175 นครราชสีมา ที่ให้บริการในฐานะผู้ประกอบการรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งบริการในเส้นทางกรุงเทพ – พนมไพร  มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร แต่เกิดเสียหลักพลิกคว่ำสภาพรถหงายท้อง บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เสียก่อน ตรวจสอบแล้วมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 24 รายและเสียชีวิตรวมจำนวน 6 ราย        หลังเกิดเหตุทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่านอกจากสภาพถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  พฤติกรรมของคนขับก็เป็นสาเหตุที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มีการเปลี่ยนตัวคนขับระหว่างทางจากพ่อมาเป็นลูกที่อายุเพียง 24 ปี แต่ต้องมารับผิดชอบคนเกือบครึ่งร้อยบนรถโดยสาร คนขับคนที่สองขับรถเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครื่องรูดบัตรร้องเตือนตลอดเวลา และพบว่ามีประวัติขับรถเร็วจากกล้องตรวจจับของตำรวจทางหลวงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ารถโดยสารคันนี้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50 คน ทั้งที่มีที่นั่งบนรถเพียง 46 ที่เท่านั้น        จากอุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการของรัฐที่ยังใช้ไม่ได้จริงในสองประเด็นหลัก คือ การกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติด GPS เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคู่ไปกับเครื่องรูดบัตรใบขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องขับรถได้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักอย่างน้อย 30 นาที และการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนด        นอกจากมาตรการทางกฎหมายในสองส่วนข้างต้นที่ใช้ไม่ได้จริงแล้ว ระบบการกำกับติดตามรถโดยสารไม่ปลอดภัยของรัฐก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันทีอีกด้วย ทั้งที่เป้าหมายการติดตั้ง GPS tracking คือการควบคุมกำกับให้รถโดยสารที่ติดตั้งระบบมีความปลอดภัยจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วยระบบออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ากำลังขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายขึ้นได้        และที่สำคัญปัญหาที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหาย โดยพบว่ามีวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน  80,000 บาท ส่วนกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิตจ่ายทันที 300,000 บาท และความคุ้มครองตามประกันภัยภาคสมัครใจมีค่ารักษาพยาบาล PA 200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท ซึ่งหากมีผู้เสียชีวิตทายาทจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินรวม 800,000 บาทนั้น        แต่ในความเป็นจริงการจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ในทันที แต่ละรายต้องมีความยากลำบากในการจัดทำเอกสารต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และถึงแม้จะได้เอกสารมาแล้วแต่ก็ต้องถูกบังคับให้เจรจาต่อรองตามฐานานุรูปและอาการบาดเจ็บ บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงเพื่ออยากให้เรื่องจบ จะได้เอาเวลาต่อจากนี้ไปรักษาตัวและทำมาหากินตามปกติที่เคยทำ ทั้งที่คนเหล่านั้นเพิ่งจะเฉียดความตายจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุมา           นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันง่ายๆ คือ ถ้าลงชื่อในสัญญาประนีประนอมแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก ทั้งที่ผู้ประสบเหตุมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทรถโดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้ เพราะความเสียหายของเขายังมีอยู่        อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจะยังไม่มีวันหมดไป หากยังไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการกำกับรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย มาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเสียหายของผู้ประสบเหตุ  และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดซ้ำซากจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 กระแสต่างแดน

รางวัลแด่คน “ช่างกล้า”Consumer NZ นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของนิวซีแลนด์มอบรางวัลยอดแย่ประจำปีให้กับผู้ผลิตอาหารที่กล้าเคลมว่าสินค้าตนเอง “ดีต่อสุขภาพ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบมันไม่ใช่เจ้าใหญ่อย่าง เคลลอกส์ เนสท์เล่ เทเกล และ เฟรชแอนด์ฟรุ้ตตี้ ต่างไดัรับเกียรติกันถ้วนหน้าคะแนนที่ได้มาจากเสียงโหวตของผู้บริโภคที่พบว่า อาหารที่มีฉลากกำกับความดีงาม เช่น  “ไขมันต่ำ” “ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี” “ไม่ใช้น้ำตาลทรายขาว” “ไม่ใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์” หรือ “เป็นแหล่งไฟเบอร์” กลับมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ 3 ถึง 20 ช้อนชาต่อหนึ่งเสิร์ฟ        บ้างก็ชูจุดขายเรื่องส่วนประกอบที่เป็นผักและผลไม้ ทั้งที่ใส่ไปแค่ร้อยละ 1.36 มีแม้กระทั่งไก่ทั้งตัวที่ระบุว่าไก่ “ไม่ได้ถูกขังในกรง” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าพวกมันถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ทั้งๆ ที่พวกมันก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในคอกนั่นเองขอเสียงหน่อย            นครเชินเจิ้นเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงร้อยละ 48    แม้จะต้องใช้งบประมาณ 1.8 ล้านหยวนต่อคัน(ประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงขึ้นมากนัก            ทั้งนี้เพราะรัฐบาลกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งให้กับผู้ประกอบการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเติมให้อีก 500,000 หยวน(ประมาณ 2.3 ล้านบาท) เมื่อรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นระยะทางครบ 60,000 กิโลเมตร                   จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ปัจจุบันเชินเจิ้นมีประชากร 12 ล้านคน มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด16,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่เทศบาลเป็นเจ้าของอีก 40,000 แห่ง             รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชินเจิ้นบัสกรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรถเมล์สามรายของเมืองนี้บอกว่า บริษัทกำลังหาวิธีเพิ่ม “เสียง” ให้กับรถ เพราะมีผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาว่ามันวิ่งได้ “เงียบเกินไป”Madrid Central           กรุงแมดริดเริ่มโครงการ Madrid Central เพื่อลดมลภาวะจากน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการทดลองใช้กฎห้ามรถที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 2000 (รถเบนซิน) และ ค.ศ. 2006 (รถดีเซล) เข้ามาในเขตใจกลางเมือง           ข่าวระบุว่าประมาณร้อยละ 17 ของรถที่วิ่งในเมืองนี้ถือเป็น “รถเก่า” ใครฝ่าฝืนขับเข้ามาจะมีค่าปรับ 90 ยูโร (เขาอนุโลมในนำรถดังกล่าวเข้ามาวิ่งได้หากลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าและมีที่จอดรถเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคนที่มีบ้านอยู่ในเขตเมือง)           แผนนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน สต็อกโฮล์ม และมิลาน ที่จำกัดจำนวนรถด้วยการเรียกเก็บ “ค่าเข้าเมือง” จากผู้ขับขี่ “รถเก่า” ซึ่งปล่อยมลภาวะมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ           แมดริดมีประชากร 3.2 ล้านคน ยานพาหนะ 1.8 ล้านคัน ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงของเมืองมักถูกปกคลุมด้วยมลภาวะหนาแน่นในวันที่ไม่ค่อยมีลมของมันต้องมี             คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc และ Alphabet Inc (เจ้าของกูเกิ้ล) ที่อาจผูกขาดธุรกิจโฆษณาออนไลน์             คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไม่ได้เลือกนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเอง ก่อนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา             นอกจากนี้บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารแข่งกับสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลท่วมท้นจนอาจเกิดความสับสน             หน่วยงานตรวจสอบระบบการจัดอันดับโฆษณาหรือบทความต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแผนการปฏิรูปสื่อของออสเตรเลีย             ด้านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีก็เพิ่งจะสั่งปรับ facebook เป็นเงิน 10 ล้านยูโร(ประมาณ 370 ล้านบาท) จากการที่บริษัทนำข้อมูลผู้ใช้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เลือกเราไปสร้างตึกตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ที่จะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้        สำนักงานตำรวจโซลเปิดเผยว่าเมื่อปี 2560 บริษัท แดวู ล็อตเต้ และฮุนได ได้เสนอสินบนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมเป็นเงิน 230 ล้านวอน  200 ล้านวอน และ 110 ล้านวอนตามลำดับ เพื่อแลกกับการได้สิทธิก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล        นอกจากเงินแล้วยังแจกแทบเล็ตหรือคูปองห้องพักโรงแรมหรูด้วย         ทั้งสามบริษัทที่ได้สิทธิการก่อสร้างไปบอกว่าตนเองไม่รู้เห็นกับการกระทำของ “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์”  สำนักงานตำรวจฯ จึงส่งฟ้องพนักงานของบริษัทเพราะมีหลักฐานว่า “บริษัทที่ปรึกษาฯ” ได้แจ้งให้บริษัททราบแล้ว        นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีในระดับสากล ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แท็กซี่ครองแชมป์ถูกร้องเรียนมากสุด

ทุกวันนี้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยมีกันหลากหลายรูปแบบ และมีให้เห็นกันได้ไม่เว้นวัน แถมไม่เลือกปฏิบัติเพราะเกิดทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติ แต่หากเจาะจงกลุ่มรถโดยสารที่มีปัญหาร้อนแรงสุดในช่วงนี้  คงต้องยกให้กับกลุ่มรถแท็กซี่ ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมและก่อตัวจนกลายเป็นความเคยชินที่ใครๆ ก็ทำได้ จากสถิติข้อมูลการร้องเรียนในระยะเวลา 5 เดือน (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)  ของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 17,794 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว  ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปจากการใช้บริการรถแท็กซี่ คือ ขับรถเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่กดมิเตอร์ คิดเหมาจ่าย ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ขับรถออกนอกเส้นทาง มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทิ้งผู้โดยสารลงข้างทาง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่เถื่อน หนักกว่านั้นวันดีคืนดีก็ออกมาขู่ประท้วงหยุดวิ่ง เรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแท็กซี่ หากไม่ปรับจะหยุดวิ่งให้บริการ เรียกได้ว่ามีทุกรูปแบบกับการให้บริการรถรับจ้างประเภทนี้  จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 85,820 คัน แบ่งเป็นประเภทส่วนบุคคล 19,789 คัน ประเภทนิติบุคคล 65,464 คัน และไม่ระบุประเภท 567 คัน โดยจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนสะสมมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในบริการของรถแท็กซี่ และหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนบุคลากรขับรถสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ที่จะมาขับรถแท็กซี่มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับรวมถึงการบังคับให้รถแท็กซี่ที่จะจดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องเข้าระบบโครงการ TAXI OK ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่รายเดิมเลือกที่จะเลิกขับหรือหันไปเช่ารถแท็กซี่ขับแทนที่จะออกรถคันใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนยังมีกรณีรถแท็กซี่ที่ทยอยหมดอายุการใช้บริการเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2561 นี้ จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุลงจำนวนมากกว่า 20,000 คัน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก แต่กลับพบว่ามีรถแท็กซี่บางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการแจ้งระงับหรือแจ้งเปลี่ยนประเภทรถ โดยปัจจุบันพบว่า มีรถแท็กซี่ที่หมดอายุ มาวิ่งรับส่งคนโดยสารอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเขตปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี นครปฐมซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะมีรถแท็กซี่เถื่อนสักกี่รายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รถแท็กซี่คันที่ขึ้นนั้นหมดอายุแล้วหรือยัง หรือขึ้นแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน ผู้บริโภคจะรู้ก็ต่อเมื่อรถแท็กซี่คันนั้นถูกจับปรับแล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะพยายามให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะเพื่อแจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้ว คือ รถแท็กซี่นิติบุคคล (หลายสี) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” ประกอบด้วย ทะเบียน ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” ประกอบด้วย ทะเบียน มก, มข, มค, มง, มจ รวมถึงรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้  พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคคอยสังเกตรถแท็กซี่ที่จะขึ้น หากพบเห็นรถเถื่อนรถไม่ปลอดภัยให้แจ้ง 1584 นั้นแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังไม่ให้เลือกใช้รถที่ผิดกฎหมาย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือรถแท็กซี่ที่หมดอายุ เป็นรถเถื่อนที่ไม่มีความคุ้มครอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่รัฐบอกให้ต้องคอยดูป้ายทะเบียนก่อนเลือกรถใช้บริการ ทั้งที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกควรจะทำได้มากกว่านี้ ถึงขนาดมีบอกกันว่า แค่โบกรถให้ไปยังยากเลย แล้วนี่จะมาให้จ้องป้ายทะเบียนด้วย ใครจะไปดู…เกิดเป็นผู้บริโภคไทยนี่ลำบากจริงๆ ครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

   ผู้บริโภคหลายท่านน่าจะเคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกัน ไม่ว่าระยะทางจะใกล้หรือไกล มีกรณีศึกษาของสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ที่น่าสนใจพบว่า มีผู้บริโภคหลายท่านที่ประสบอุบัติเหตุแล้วได้รับการชดเชยความเสียหายได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดความรู้ที่สำคัญ            คุณเอก(นามสมมติ) ได้โดยสารรถทัวร์ของบริษัทรถชื่อดังแห่งหนึ่ง เส้นทางสายมุกดาหาร - กรุงเทพฯ  เมื่อรถวิ่งมาถึงบริเวณถนนสายมหาสารคาม – บรบือ  รถโดยสารเสียหลักพุ่งเข้าชนกับรถบรรทุก ทำให้คุณเอกและภรรยาที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน  เป็นเพราะยังบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส ทำให้ช่วงแรกไม่รู้ว่าตนเองจะไปเรียกร้องความเสียหายจากใคร  อย่างไรได้บ้าง ต่อมาตัวแทนของทางบริษัทรถโดยสารได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย และได้แถลงข่าวว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะเยียวยาความเสียหายกับผู้โดยสารทุกราย ไม่เคยทอดทิ้งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเสนอตัวเข้าช่วยเหลือทางด้านสิทธิในการเยียวยาเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คุณเอกพบว่า ทางบริษัทฯ สร้างเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย บอกข้อมูลที่สำคัญไม่ครบถ้วน คุณเอกจึงปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขของบริษัทฯ และยังได้ขอความช่วยเหลือกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยดำเนินเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ  โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 และนัดสืบเมื่อ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ต่อมาหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางบริษัทรถโดยสารยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับทั้งสองสามีภรรยาตามที่เรียกร้องไป โดยนัดให้ทางบริษัทฯ นำเงินมาจ่ายค่าเสียหายที่ศาล  และลงบันทึกเป็นหนังสือยินยอมให้คุณเอกถอนฟ้อง  แนวทางแก้ไขปัญหา   เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ดังนี้ 1. ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุหรือการกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการเช่าเหมาเดินทางได้2. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกล3. ปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ กรณีเสียชีวิต จาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย  โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มวงเงินกรณีรักษาพยาบาลจาก 80,000 บาท  เป็น 150,000 บาทต่อราย  และปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยสมัครใจ เฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจของรถสองชั้น จาก 10 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถ4. มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกประจำจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด5.ให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสาธารณะภายในปี 2562 แหล่งที่มาของเงิน ให้เรียกจากค่าปรับจากจราจรทางบก และกองทุนเลขสวย 6.ยกระดับคนขับรถโดยสารสาธารณะ ให้เป็นอาชีพที่น่าเชื่อถือ มีเงินเดือนที่เหมาะสม กำหนดอายุในช่วงวัยที่เหมาะสม  โดยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการขับรถ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2561แกร็บเตือนภัยอาชญากรแอบอ้างให้บริการ แนะเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชัน        จากเหตุการณ์บุคคลมีประวัติอาชญากรรม หลบหนีหมายจับคดีข่มขืน แอบอ้างเป็นคนขับแกร็บคาร์ ก่อเหตุล่อลวงผู้โดยสาร เมื่อ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีนัดแนะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านมือถือ โดยไม่ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บคาร์ ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานะการเดินทางหรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากแอปฯ ได้       บริษัท เเกร็บ ประเทศไทย ได้ออกมาย้ำถึงมาตรการความปลอดภัย ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ขับขี่ หรือตกลงการเดินทางโดยไม่ผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนขึ้นรถควรตรวจสอบใบหน้าคนขับและทะเบียนรถว่าตรงกับระบบหรือไม่ และเมื่อขึ้นโดยสารรถแล้วให้กดใช้ฟีเจอร์ Share My Ride เพื่อส่งแชร์ข้อมูลการเดินทางเป็นลิงก์ข้อความไปยังคนที่ห่วงใย ก็จะสามารถติดตามตำแหน่งรถโดยสารแบบเรียลไทม์เพื่อดูได้ว่าถึงไหนแล้ว หรือหากรู้สึกว่ามีสถานการณ์ไม่ปลอดภัยก็สามารถกดใช้ปุ่มฉุกเฉินบนแอปพลิเคชันได้ทันทีกรมสุขภาพจิต เผยคนไทยคิดสั้นชม.ละ 6 คน        นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน โดยในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท        สาเหตุที่มักพบมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก        ด้าน นพ. ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง   จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ   จึงขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คนร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ อย. เรื่องถ่ายโอนภารกิจตรวจสินค้าเกษตรนำเข้าให้ ก.เกษตรฯ เกรงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค        10 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งเห็นว่า ขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม โดยการฟ้องคดี ได้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศฯ และสั่งให้ยุติการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว        นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า "หลังจากที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไทยมีการนำเข้าปลาตาเดียว(ฮิราเมะ) จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำเพียงการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บตัวอย่างปลาไว้ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแต่อย่างใด และปัดให้ อย.ไปตรวจสอบหากมีปัญหา เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและการคุ้มครองผู้บริโภคถูกลดทอนอย่างชัดเจนเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ"        นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารฯ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า "หากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน"บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ        มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ วันที่ 6-7 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสมัชชา ในหัวข้อ "บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนงานและมาตรการความสำคัญในการจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         การบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตองค์กรผู้บริโภคกับงานด้านรถโดยสารปลอดภัย" และเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562นำเสนอสถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ และรถรับส่งนักเรียน โดยชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและแนวทางการแก้ไข และยังมีการจัดสภาผู้บริโภค "เรื่องมาตรการสำคัญในการจัดการรถรับส่งนักเรียน" พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย" ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน โดยให้โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเดินทางของนักเรียน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับตัวรถให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม จากนั้นเน้นเรื่องการเข้าถึงสภาพปัญหาจริงของแต่ละพื้นที่สปสช.หนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย        เว็บไซต์ศูนย์ข่าว สปสช. รายงานว่า เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรงและทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาตินั้น        จากข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ได้มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 4,983 ราย เสียชีวิตจำนวน 582 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,651,053 บาท นอกจากนี้ เมื่อดูการเข้ารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยแยกข้อมูลตามเขตบริการสุขภาพ 13 เขต พบว่า ปี 2561 เขต 1 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด จำนวน 644 ราย รองลงมา คือ นครราชสีมา 454 ราย, ราชบุรี 433 ราย, พิษณุโลก 426 ราย และนครสวรรค์ 422 ราย        จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้ เป็นเพียงข้อมูลเฉพาะในส่วนผู้ป่วยที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง เฉลี่ยพบผู้ป่วยประมาณ 5,000 รายต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 22 ล้านบาทต่อปี โดยยังมีข้อมูลที่น่าตระหนก เนื่องจากมีผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงปี 2559-2561 มีจำนวนสูงถึง 1,715 ราย หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 600 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 มูลค่าเงินชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง การชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุ หรือผู้ได้รับความเสียหายจากกใช้บริการ เช่น สิทธิตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบเหตุทางถนนหรือรถยนต์ สามารถเบิกค่าเสียหายตามวงเงินที่กำหนดไว้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย(จำเลย) ในคดีอาญาที่สามารถขอรับเงินช่วยเหลือได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมสรุปว่ามีหลายกองทุนชดเชยเยียวยา ซึ่งแต่ละกองทุนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นของตนเอง โดยมีหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดถึงวัตถุประสงค์ รูปแบบ วิธีการ ที่มาของกองทุน จำนวนเงินชดเชย และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยาตามข้อบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าใครอยากจะขอใช้สิทธิในกองทุนไหนก็ได้ หรืออยากใช้หลายกองทุนในเหตุการณ์เดียวกันก็ไม่ได้เช่นกันยกตัวอย่าง กรณีที่ 1 สมชายเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุสมชายได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนขาหัก ม้ามแตก ปอดฉีก ต้องได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บ กรณีแบบนี้หลายคนสงสัยว่า สมชายใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาเลยได้ไหม เพราะฉุกเฉินบาดเจ็บสาหัส ในทางกฎหมายสมชายยังไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ แม้ว่าจะมีสิทธิและเป็นกรณีฉุกเฉิน กรณีนี้สมชายต้องใช้สิทธิของประกันภัยภาคบังคับ(พ.ร.บ.รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้ครบวงเงินความคุ้มครอง 80,000 บาทก่อน เมื่อครบแล้วถึงจะสามารถไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มี เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิราชการ หรือสิทธิประกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่มี นอกจากนี้สมชายยังสามารถใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพิ่มได้ตามเงื่อนไขและระเบียบของกองทุน แต่หากว่าหลังการใช้สิทธิการรักษาของ พ.ร.บ.รถ ครบแล้ว สมชายเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บต่อด้วยสิทธิบัตรทอง แล้วพบภายหลังว่า สมชายได้รับความเสียหายจากการใช้บริการบัตรทอง เช่น แพทย์ผ่าตัดผิด ลืมอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย โดยที่ไม่ใช่เป็นเหตุจากพยาธิสภาพของร่างกาย กรณีนี้สมชายถึงจะสามารถใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กรณีที่ 2 ปรีดาเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุปรีดาได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต กรณีแบบนี้ทายาทของปรีดาสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ. รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยได้ทันทีในวงเงิน 300,000 บาท และสิทธิความคุ้มครองของประกันภัยภาคสมัครใจรถโดยสารคันเกิดเหตุอีก 300,000 บาท รวมกับสิทธิตามประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PA ของรถโดยสารคันเกิดเหตุอีกอย่างน้อย 50,000 บาท โดยกรณีปรีดาที่เสียชีวิต เมื่อทายาทได้รับเงินชดเชยตามสิทธิทางกฎหมายครบแล้ว จะไม่สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้อีก เนื่องจากได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว            ทั้งนี้หากพิจารณาเพียงตัวหนังสืออาจจะคิดว่าการขอใช้สิทธิชดเชยเยียวยาความเสียหายนั้นไม่น่าจะมีความยุ่งยาก มีกฎหมายบัญญัติแนวทางวิธีปฏิบัติไว้หมดแล้ว ความคิดนี้ต้องขอบอกเลยว่าคิดผิด!!! เพราะในทางปฏิบัติการขอรับเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายในแต่ละกองทุนล้วนมีข้อจำกัดต่างๆที่ผู้บริโภคยังไม่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการชดเชยความเสียหายของ พ.ร.บ.รถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่กำหนดไว้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายถึง ค่าเสียหายต่อชีวิต – ร่างกาย ของผู้ประสบภัยอันเนื่องจากการใช้รถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิด (มาคันไหนเบิก พ.ร.บ. รถคันนั้นได้เลย จ่ายทันทีภายใน 7 วัน) และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท กรณีทุพพลภาพ/สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต 35,000 บาท หรือรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น) หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต – ร่างกายของผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่าย เมื่ออุบัติเหตุจากรถนั้นเป็นความผิดของผู้ขับขี่รถที่เอาประกันภัย กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรจ่าย  300,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ (เป็นไปตามเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนด) จ่าย 200,000 -300,000 บาท กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จ่ายค่าชดเชย 200 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน แต่หากกรณีเป็นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิด จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้นดังนั้นว่าแค่เรื่องสิทธิตาม พ.ร.บ.รถ เพียงอย่างเดียวก็มีรายละเอียดที่สร้างความงุนงงให้กับผู้บริโภคแล้ว มีทั้งค่าเสียหายเบื้องต้น ที่มีเงื่อนไขไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด จ่ายทันทีภายใน 7 วัน และมีค่าสินไหมทดแทนสูงสุดอีก แม้กฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิไว้แล้วว่าใครควรจะได้รับสิทธิแบบไหน แต่ในอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีมีผู้โดยสารได้รับความเสียหาย ไม่ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะประสบอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณีเฉี่ยวชนหรือพลิกคว่ำล้มเองไม่มีคู่กรณีก็ตาม ผู้โดยสารที่เสียหายมักถูกรวมให้ต้องอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความรับผิดของผู้ขับขี่ทุกครั้งเสมอ ทั้งที่ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้โดยสารที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ควรที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายได้สูงสุดเต็มวงเงินของ พรบ.รถ ทันที ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลบางแห่ง ที่แนะนำผู้ประสบภัยให้ใช้สิทธิเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อรอพิสูจน์ถูกผิดก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือจะถูกผลักภาระให้ไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มีแทน  ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งแต่ละรายการมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าในอดีต การกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไว้เพียง 30,000 บาท ย่อมไม่เพียงพอต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่มีอาการรุนแรงหรือสาหัส อย่างไรก็ตามวงเงินความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถ กรณีบาดเจ็บมีจำนวนเงิน 80,000 บาท รวมถึงค่าเสียหายกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรที่กำหนดไว้สูงสุด 300,000 บาท ก็ยังถือว่ามีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่บ้านเรานั้น มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นน่าจะถึงแล้วเวลาแล้วประเด็นเรื่องวงเงินค่าชดเชยเยียวยา ควรได้มีการพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนคนใช้รถใช้ถนนอย่างจริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค

รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ รถทัวร์สองชั้นไม่ประจำทาง ที่เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเพิงพักของชาวบ้านข้างทาง บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย นั้น  ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก และหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ต่างพูดกันถึงอนาคตรถสองชั้นว่าจะไปยังไงต่อ อย่างกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางกำหนดการให้บริการของรถโดยสารหมวด 30 (สามศูนย์) หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยเฉพาะรถสองชั้นที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 คัน โดยให้มีการกำหนดเส้นทาง รวมทั้งพื้นที่ให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น การจำกัดว่าเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยจะไม่อนุญาตให้ทำการวิ่งโดยเด็ดขาด หรือ จำกัดให้วิ่งเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงยังมีประเด็นผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสาธารณะทั่วไปอีกว่า ในปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากท้องถนนในประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหารถสองชั้นของกระทรวงคมนาคมที่สั่งกรมการขนส่งทางบกให้คิดแผนจัดการออกมา รวมถึงไม่มีการแก้ไขข่าวสารที่สื่อมวลชนระดมว่าปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากประเทศไทยด้วยจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงานี้ ผู้บริโภคจะต้องรู้อะไรบ้าง เพราะผู้บริโภคยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงกันเอง และคาราคาซังกันต่อไปว่า รถสองชั้นปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวนขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถสองชั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อมูลว่า รถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียว ถึง 8 เท่า และรถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 10 เท่า โดยเป็นการเทียบจำนวนอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน หรือที่เรียกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คันนอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาเชิงลึกจากสถิติอุบัติเหตุรถสองชั้นพบว่า รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด และยังพบอีกว่าในรถสองชั้นเมื่อเกิดการพลิกคว่ำจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ารถชั้นเดียว ถึง 3 เท่า ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ 8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง แต่อย่างไรก็ดี การจะผลักดันและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อในประเด็นรถสองชั้นให้มีผลในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย อีกทั้งผู้แทนกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงที่มาร่วมเวทีก็ยังไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า จากข้อเสนอ 8 ข้อ มาตรการอะไรบ้างที่กรมการขนส่งทางบกจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหารถสองชั้น แต่กลับกันสิ่งที่คิดว่าได้รับคำตอบชัดเจนและคลายข้อสงสัยได้ คือ ในปี 2563 จะยังมีรถสองชั้นวิ่งอยู่ ไม่ได้หมดไปตามที่ข่าวลงไว้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >