ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทดลองให้ถนนบางสายเป็น Bus Lane

        คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลาย และระบบขนส่งมวลชนกำลังจะสิ้นใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ กับตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นคน         ทุกวันนี้ถามแต่ละคนได้เลยว่า ในเวลานี้หากเลือกได้ใครบ้างอยากใช้ชีวิตแบบปกติ หรือออกจากบ้านใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเดิมไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร  แท็กซี่ หรือแม้แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะที่บอกมาทั้งหมดนั้น คือ บริการขนส่งมวลชนที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งนั้น เนื่องมาจากลักษณะของการแพร่ระบาด คือ การที่มีประชาชนจำนวนมากจากหลายทิศทางมารวมตัวอยู่ในยานพาหนะเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่อาจจะไม่รู้ตัว และมีพฤติกรรมประมาทไม่ระมัดระวัง รวมถึงผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเอง ผู้ที่มีเชื้อก็อาจจะกลายเป็นพาหนะนำเชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก         ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้จากโควิด 19 สายพันธุ์แรกเริ่ม ที่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่ไม่มีภูมิต้านทาน และไม่ป้องกันตัวได้ 2.4 - 2.6 คน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาที่โจมตีประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ การแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 4 - 5 คนในเงื่อนไขเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังกลายเป็นตัวอันตรายหลักในตอนนี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ถึง 5 - 8 คน เลยทีเดียว         ชี้ชัดว่าความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้น่ากลัวจริงๆ และยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะและการจราจรทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าคนใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะชื่นชอบเพราะถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร โล่งขับสบาย เหมือนการจราจรในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หากมองออกนอกกระจก ชมเมืองรอบนอกรถแล้วจะพบความจริงที่แสนน่ากลัว เห็นแต่ความทุกข์และคราบน้ำตาของ ผู้คน พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย คนขับรถสาธารณะ เพราะกรุงเทพมหานครในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นเมืองร้างไปแล้ว         จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากของบริการขนส่งสาธารณะที่ระบุว่า ในช่วงวันหยุดที่ 10 – 11 ก.ค. มีอัตราการใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบไม่ถึง 2 แสนราย ขณะที่ในวันทำการปกติวันที่ 12 – 13 ก.ค. มีอัตราผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 2.75 – 3 แสนราย ด้วยจำนวนตัวเลขผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่าประชาชนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านกันแล้ว และหากสถานการณ์ยังไม่ดีและรุนแรงขึ้น อัตราของผู้โดยสารก็อาจจะลดน้อยลงได้อีก         นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ยังส่งผลให้ รถเมล์ รถโดยสารต่างๆ มีจำนวนผู้โดยสารลดน้อยมากกว่า 80% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรถร่วมเอกชน ทั้งรถเมล์ รถตู้ และรถทัวร์โดยสารต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายรายถึงขั้นถอดใจจอดรถหยุดวิ่งและบางรายยอมขาดทุนเลิกกิจการไปเลยก็มี เพราะไม่สามารถทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไปได้แล้ว         แตกต่างกับ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐยังอุดหนุนค้ำจุนอยู่ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง แต่พันธะหน้าที่บริการรถเมล์ให้กับประชาชนของ ขสมก. จะหยุดตามไม่ได้ เพราะบริการรถเมล์ ขสมก. ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงไปทั่วทุกเส้นทางในเมืองหลวงแห่งนี้ หากหยุดวิ่งบริการเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะออกมาตรการขอความร่วมมือเชิงสั่งการให้ Work From Home 100% แต่ก็ยังมีประชาชนคนทำงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ และคนเหล่านี้แหละ คือ กลุ่มคนที่ทำให้ ขสมก. อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้         อย่างไรก็ดีการให้บริการเดินรถเมล์ ขสมก. ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดแบบนี้ พนักงานด่านหน้าของ ขสมก. กลับกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในทันที โดยพบว่ามีพนักงาน ขสมก. ทั้ง พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารจากหลายเส้นทางที่ทยอยกลายเป็นผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการติดเชื้อจากที่พักอาศัย ไม่ได้มีต้นทางจากการให้บริการ แต่พนักงานที่ติดเชื้อก็ต้องให้พักงานเพื่อรักษาตัว และพักการใช้รถ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้รถโดยสารสาธารณะอยู่ในขณะนี้         การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 รอบนี้สั่นคลอนประเทศในทุกระบบจริง ๆ  และถ้าภายในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้าต่อไปนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนมาได้ทัน เพราะตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของทุกคนแล้ว ก่อนที่ระบบทั้งหมดจะพังทลายลง อย่างไรก็ดีหากจะมองหาแง่ดี (ที่น้อยนิด) ของวิกฤตครั้งนี้ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือสามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองได้รับการพัฒนา เนื่องจากในขณะนี้ปัญหารถติดไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะการจราจรบนท้องถนนในช่วงนี้อย่างน้อยก็ไม่ติดขัดเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19         ดังนั้นการปรับนโยบายทดลองนำร่องให้ถนนบางสายบางช่วงเวลาเป็น Bus Lane สำหรับรถเมล์โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรเพิ่ม รวมถึงการทดลองปรับระบบ และการควบคุมเวลาเดินรถให้สามารถทำรอบตามเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานยามเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เบาบางลงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่ายและควรคิดที่จะเริ่มปรับแผนทดลองกันตั้งแต่ตอนนี้เลย แบบนี้จะดีไหมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ขสมก. กับแผนงานที่เริ่มออกห่างคำว่าขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐาน

        2563 เป็นปีที่ทั้งประเทศไม่มีงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีทั้งที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นคึกคัก หลังจากบอบช้ำจากพิษโควิด-19 มาทั้งตลอดปี แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทันทีที่โควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาระบาดอีกรอบทำให้กิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวันทุกอย่างทั้งประเทศต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้าง แนวทางควบคุมความเสี่ยงใน บริการขนส่งมวลชน จึงถูกนำมากลับมาใช้ให้เห็นกันอีกครั้ง ทั้งการเว้นระยะห่างที่นั่งและการยืนในพื้นที่รถโดยสาร รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร นอกเหนือจากการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรอบ วัดอุณหภูมิและให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการ         ขณะที่รัฐบาลเลือกขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและภาคเอกชนปรับแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทางและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะมีตัวอย่างผู้ติดเชื้อจากการไปในสถานที่ปิด แออัดอากาศไม่ถ่ายเท มีคนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เช่น รถสาธาณะ ร้านอาหาร รวมถึงการสัมผัสสิ่งของหรือผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวเวลาอยู่นอกบ้าน ทว่ายังมีมนุษย์เงินเดือน คนที่ต้องทำงานอีกจำนวนมากที่เลือกจะอยู่บ้านทำงานไม่ได้ พวกเขาต้องยอมรับความเสี่ยงเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนเหมือนทุกวันท่ามกลางกระแสโรคระบาดโควิด-19  แต่โชคยังดีที่รถไฟฟ้า BTS และเรือโดยสารคลองแสนแสบ สองในสามเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทางคนกรุงตอบรับมาตรการลดความเสี่ยง  ยืนยันไม่ลดจำนวนเที่ยววิ่งให้บริการ และเพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้แก่ผู้โดยสาร แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดน้อยลงก็ตาม         โชคไม่ดีนักที่แนวคิดผู้บริหาร ขสมก. กลับสวนทางบริการขนส่งอื่น เริ่มด้วยการประกาศลดจำนวนเที่ยววิ่งรถเมล์เหลือเพียง 60% อ้างจำนวนผู้โดยสารลดลง โดยที่ไม่รับฟังความเห็นเสียงวิจารณ์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการเลย ซึ่งจะส่งผลให้รถเมล์เกือบทุกสายของ ขสมก. วิ่งบริการน้อยลงและทิ้งระยะห่างนานขึ้น หมายความว่า ผู้โดยสารจะต้องรอรถนาน และแออัดเบียดเสียดบนรถมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากรอรถคันต่อไปที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่         เรื่องนี้กลายเป็นคำถามและประเด็นร้อนของสังคมที่เรียกร้องต่อ ขสมก. ว่า ทำไมถึงมองเรื่องต้นทุนรายได้มากกว่าความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการ ทั้งที่ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ขสมก. ควรต้องคงจำนวนเที่ยววิ่ง หรือเพิ่มจำนวนรถในบางเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนไปซักระยะหนึ่งก่อน เพื่อลดความแออัดและกระจายผู้โดยสารในแต่ละคันให้อยู่ในปริมาณที่กำหนด เพราะต่อให้จำนวนผู้โดยสารน้อยลงเกือบ 40% แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 400,000 คน ต่อวัน ที่ต้องใช้รถเมล์ ขสมก.อยู่ทุกวัน        อีกทั้ง ขสมก. ยังมีประเด็นตามแผนฟื้นฟูที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เห็นด้วยว่าจะทำให้ฟื้นฟูได้จริง เช่น  1) ค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน 2) ปฏิรูปเส้นทาง ลดเส้นทาง ขสมก. ปรับเพิ่มเส้นทางเอกชน 3)  การจัดหารถเมล์ปรับอากาศใหม่ 2,511 คัน และจ้างเอกชนวิ่งอีก 1,500 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายปลดหนี้แสนล้านภายในสิบปี         ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงค้านทั้งสองฝ่าย ในประเด็นยกเลิกรถเมล์ร้อนขวัญใจคนรายได้น้อย และเพิ่มรถปรับอากาศพร้อมจัดเก็บค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งแม้การจัดเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่นี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่ต้องต่อรถเมล์หลายสาย แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นอนาคตที่ค่าโดยสารเหมาจ่ายจะใช้ร่วมกับรถเมล์ร่วมบริการเอกชนได้เลย และที่สำคัญ ขสมก. จะมีทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการที่จ่ายค่าโดยสารน้อยกว่าอัตราเหมาจ่ายหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะต้องจ่ายอัตราเหมาตามที่ ขสมก. คิดไว้        ตามเว็บไซต์ www.bmta.co.th ระบุถึงความรับผิดชอบในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่ง รับ-ส่ง ผู้โดยสาร ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังผลกำไร แต่เมื่อดูวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ ขสมก. อย่างน้อยสามปีหลังสุดตามรายงานประจำปี (2560-2562) องค์กรกลับมีเป้าหมายที่ การให้บริการขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวกและปลอดภัยและสามารถเลี้ยงตนเองได้ลดภาระกับภาครัฐ โดยที่ไม่มีเรื่องการให้บริการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังกำไรแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รถเมล์ไทย ทำอย่างไรให้เป็นตัวเลือกแรกของการเดินทาง

        รถเมล์เป็นรูปแบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่ทุกคนน่าจะต้องเคยใช้ เนื่องจากเป็นบริการขนส่งมวลชนที่มีราคาถูกและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการแออัดของผู้คนและรถยนต์จำนวนมาก รถเมล์เป็นพาหนะที่ขนคนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกประเภท  ในทุกวันมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนใช้บริการรถเมล์ (จาก 10 ล้านคน) ถึงอย่างนั้นรถเมล์กลับไม่ใช่ตัวเลือกลำดับแรก สำหรับคนที่จะต้องเดินทางในเขตเมืองหากพวกเขาเลือกได้        คงต้องยอมรับว่า ปัญหาบริการขนส่งสาธารณะบ้านเมืองเรามีทั้งปัญหาด้านคุณภาพและด้านปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณการสัญจรของประชาชน ซ้ำยังมีปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ แม้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาเสริม แต่ด้วยราคาค่าบริการที่แพง ล้วนทำให้คนกรุงเทพส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43 % รถจักรยานยนต์ 26 % และรถขนส่งสาธารณะเพียง 24 % เท่านั้น         หันมาดูข้อมูลด้านปริมาณรถเมล์ของ ขสมก. กันบ้าง ณ 31 มีนาคม 2562  ขสมก. มีรถเมล์วิ่งให้บริการทั้งหมด 13,461 คัน แยกเป็น ขสมก. รถร้อน 1,543  คัน รถปรับอากาศ 1,501 คัน รถ PBC (รถเช่า) 117 คัน และมีรถเอกชนร่วมวิ่งบริการเป็น รถร้อน 1,870 คัน รถร่วมบริการ รถปรับอากาศ 1,396 คัน รถมินิบัส 882 คัน  รถเล็กในซอย 2,052 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 4,103 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 87 คัน         เห็นตัวเลขรถเมล์กันแล้วอาจดูเยอะมีหมื่นกว่าคัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่รถทุกคันจะออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นรถเก่าอายุเกิน 20 ปี จอดเสียซ่อมบ่อย ทำให้รถเมล์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนที่ใช้บริการโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นผลสะสมส่วนหนึ่งที่ทำให้ ขสมก. ขาดรายได้ และนำไปสู่ข้ออ้างของการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ในเวลาต่อมา        แม้ว่าแนวทางการควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง ที่รัฐต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงบริการนี้ได้ และรัฐต้องพร้อมขาดทุนเพื่อจัดบริการพื้นฐานเพื่อการเดินทางนี้ให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาการคิดอัตราค่าโดยสารรถเมล์กลับคิดตามต้นทุนและภาะหนี้สินของ ขสมก. มากกว่าคิดตามสภาพความพร้อมในการจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคารถเมล์ทุกประเภทครั้งล่าสุดเมื่อ 22 เมษายน 2562 ที่ปรับขึ้นจากเดิม 1 – 7 บาท ตามระยะทาง รวมถึงรถแอร์รุ่นใหม่ใหม่ที่คิดระยะเหมา 15-20-25 บาท และในส่วนของรถร่วมบริการที่ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาทด้วย         ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้จัดทำข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถสาธารณะเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การใช้รถเมล์ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 14 - 16% เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หรือเท่ากับ ค่าแรง 300 บาท/วัน จะต้องเสียค่าเดินทางเกือบ 50 บาท/วัน และในปกติคงไม่มีใครเดินทางแค่เที่ยวเดียว          และหากต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มด้วยแล้วไม่ว่าจะเป็น BTS MRT และ ARL จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28 % ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % เท่านั้น เท่ากับคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพงมาก ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย        โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในตอนเช้าของทุกวัน ที่ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14-16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ        จะเห็นได้ว่าปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง การมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางในแต่ละวันที่อยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งหมดอาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่ใช้รถเมล์ รถสาธารณะ เพราะรวมๆ กันแล้ว แพงมาก ดังนั้นหากพอมีทางเลือกทุกคนอยากไปกับรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า        การจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด คือต้องออกแบบและพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะให้เป็นจริง กล่าวคือ  ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท (เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องเดินทางออกจากซอย เป็นต้น) โดยอาจจะเริ่มด้วยวิธีการง่ายๆ        เริ่มจากทำให้ประชาชนต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งมวลชนในระยะทาง 500 เมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที พัฒนาระบบแอปพลิเคชันให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้าถึงทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อดูได้ว่า รถเมล์สายอะไรที่กำลังจะมา เพื่อเชื่อมต่อการพัฒนาระบบขนส่งอื่นๆ ลดระยะเวลารอรถเมล์ให้ไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงการเดินทางประจำวัน และที่สำคัญค่าโดยสารโดยรวมทุกประเภทต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำของประชากร ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภควันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ตลกร้ายรับปีใหม่ ของขวัญแด่คนกรุงเทพ

        รถเมล์สามพันคันประกันหมด        ถอนหายใจสามเฮือก ขสมก.คิดทำอะไรอยู่ รู้ทั้งรู้ว่าประกันภัยจะหมดสิ้นปี แต่ยังปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น อ้างยังไม่สามารถจัดหาบริษัทประกันภัยรายใหม่ได้ทัน เนื่องจากความล่าช้าของการอนุมัติโครงการ เหตุเพราะผิดขั้นตอนจึงถูกตีตกไปจัดทำใหม่         ถ้าว่ากันเรื่องมาตรฐานองค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ออกมาขอโทษหรือแก้ตัว หน้าที่องค์กรของรัฐอย่าง ขสมก.ควรมีความรับผิดชอบและมาตรฐานการจัดการที่ดีมากกว่านี้ แค่ตั้งใจปล่อยข่าวออกมาให้ประชาชนรู้หลังประกันภัยหมดหลายวัน ก็ไม่จริงใจต่อกันแล้วหลายคนรับไม่ได้แล้ว แต่องค์กรอย่าง ขสมก.ก็ยังอยู่ได้ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น         แม้ว่าภายหลัง ขสมก.จะออกมาแก้ข่าวว่า ขสมก.จะรับผิดชอบดูแลความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุ โดยพนักงานขับรถไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของ ขสมก. แต่สิ่งที่ออกมาบอกก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วมิใช่หรือ การรับผิดชอบประชาชนที่ใช้รถเมล์กว่าล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ยังไม่รวมถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบที่ดีที่ต้องมีมากกว่านี้        หากกรณีนี้เป็นรถร่วมเอกชนที่ออกมาบอกว่า รถประกันหมดนะ ขอวิ่งไปก่อนจนกว่าจะหาประกันภัยใหม่ได้ คงโดนเล่นงานสาปส่งลงโทษสถานหนักแล้ว เพราะการนำรถที่ไม่มีประกันออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่พอเป็น ขสมก.ที่ออกมาบอกหน้าตาเฉยว่าประกันหมด ตอนนี้กำลังรีบหาประกันภัยใหม่อยู่ บอกแบบนี้ คือให้ทุกคนต้องดูแลตัวเองอย่างนั้นหรือ ความปลอดภัยของประชาชนและความเชื่อมั่นต่อองค์กรหนี้แสนล้านนี้อยู่ที่ไหน ตรงนี้ประชาชนถามเยอะมาก แต่ก็ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ออกมาจาก ขสมก. ความผิดพลาดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นและควรต้องมีคนรับผิดชอบ         เรื่องรถเมล์ว่าแย่แล้ว ปัญหาเรื่องรถตู้โดยสารก็ยังไม่จบ         ประมาณเดือนมีนาคมนี้คงได้คำตอบจากกระทรวงคมนาคมว่า ที่ขอขยายเวลาไปศึกษาแนวทางการยืดอายุรถตู้โดยสารประจำทางหมวด 1 และ 4 ที่อายุสิบปีไม่ให้ต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสนั้น ทิศทางข้างหน้าจะเป็นยังไง         เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมต้องคิดให้รอบคอบ เพราะกว่าที่ทุกฝ่ายจะผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยให้รถตู้โดยสารประจำทางมาจนถึงจุดนี้ ที่ผ่านมาต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้สูญเสียมากมาย บทเรียนจากอดีตเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และแก้ไข เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่การวิ่งใกล้หรือวิ่งไกลอย่างที่ผู้ประกอบการโต้แย้ง แต่ประเด็นอยู่ที่สภาพโครงสร้างของรถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบให้มาวิ่งรับส่งคนโดยสาร การเอาชีวิตรอดจากโครงสร้างรถตู้ที่ไม่ปลอดภัยต่างหากคือเรื่องสำคัญ การเปลี่ยนผ่านรถตู้เป็นรถไมโครบัสที่ปลอดภัยกว่าจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยินยอมเปลี่ยนรถ ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยด้านคนขับและการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ลดลง         อย่างไรก็ดีต้องให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางกันสักนิด ที่หลังจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในหลายส่วน รวมถึงการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการ มีผลทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารประจำทางลดน้อยลงอย่างน่าพอใจ         กลับกันรถตู้ส่วนบุคคลหรือที่เรียกกันว่า รถตู้ป้ายฟ้า และรถตู้โดยสารไม่ประจำทางกลับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเกิดเหตุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางอย่างชัดเจน และโดยเฉพาะกลุ่มรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรถกลุ่มนี้จะไม่ถูกกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ไม่ต้องติด GPS ไม่ถูกควบคุมความเร็ว ไม่บังคับทำประกันภัยค้ำจุน ไม่ต้องมีสมุดประจำรถ ไม่ต้องเดินรถด้านซ้าย ฯลฯ เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ ที่เป็นรถส่วนบุคคลห้ามนำมาวิ่งรับจ้าง         แต่ในทางปฏิบัติกลับมีรถกลุ่มนี้ออกมาวิ่งรับส่งคนตามท้องถนนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ผ่านมามีเพียงคำขู่จากกรมการขนส่งทางบก แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นถึงมาตรการเด็ดขาดที่จะหยุดรถกลุ่มนี้ไม่ให้ออกมาวิ่งรับจ้างแต่อย่างใด         เหตุผลสำคัญคือ นอกจากสภาพโครงสร้างรถจะไม่ปลอดภัยแล้ว รถกลุ่มนี้อาจจะไม่จัดทำประกันภัยค้ำจุน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้หากเกิดอุบัติเหตุความรุนแรง เจ้าของรถก็จะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อชดเชยเยียวยาผู้โดยสารที่จ้างเหมาได้ ทุกคนอาจจะต้องเจ็บตัวฟรี เหมือนกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น         และปัญหาใหญ่ที่เริ่มกันแล้วในตอนนี้ คือ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทางทั้งประเภททะเบียน 30 และ 36 ที่ออกมาเรียกร้องปลดแอกไม่ให้ถูกเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวกับรถตู้โดยสารประจำทาง อ้างว่าเพราะเป็นกลุ่มรถรับจ้างเช่าเหมา จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง รวมถึงการเรียกร้องยกเลิกข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น ไม่เอา GPS ที่ควบคุมความเร็ว ไม่เอาความเร็วที่บังคับ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอคืนป้ายทะเบียนรถรับจ้างเพื่อกลับมาใช้ป้ายรถส่วนบุคคล ไม่ต้องทำประกันภัยค้ำจุนเพิ่ม (ภาคสมัครใจ) เพราะจ่ายค่า GPS ไปแล้ว และอีกหลายข้ออ้างเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง         หากกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยตามข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ เห็นผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง จนละเลยความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดความปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคที่ใช้บริการและกลุ่มผู้ประกอบการเอง ถ้ายอมให้คืนป้ายกลับไปใช้ป้ายส่วนบุคคลได้ รถผีรถเถื่อนจะเกลื่อนเมือง หรือ ถ้ายอมยกเลิก GPS ยอมเพิ่มความเร็ว เชื่อเลยว่าอุบัติเหตุที่รุนแรงจะกลับมา การบังคับใช้กฎหมายจะล่มสลาย คำถามคือ แล้วกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบไหวได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กระแสต่างแดน

เรื่องเที่ยวเฟี๊ยวกว่า        สินค้ายอดนิยมชนิดใหม่ที่ชาวจีนนิยมสั่งซื้อออนไลน์ใน “วันคนโสด” คือ “ประสบการณ์กิน/เที่ยว” ที่มียอดเติบโตถึงร้อยละ 60 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ในขณะที่สินค้าหรูหราอย่างไวน์ หรือนมผงไฮเอนด์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า เติบโตร้อยละ 50)         ข่าวระบุว่าสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ขายดีที่สุดในวันนี้ สามอันดับแรกได้แก่ ตั๋วเครื่องบิน เวาเชอร์โรงแรมหรูพร้อมคูปองบุฟเฟต์ และบัตรเข้าสวนสนุก         เว็บฟลิกกี้ในเครือของอาลีบาบารายงานว่ามีผู้คลิกซื้อทัวร์ต่างประเทศถึง 5 ล้านราย (ปลายทางยอดนิยมสามอันดับแรกของชาวจีนได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) ซื้อบริการรับทำวีซ่า 900,000 ราย และจองห้องพักไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านห้อง           ปีนี้มีผู้บริโภคหน้าใหม่ที่เข้ามาช้อปในวัน 11.11 มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 30 และขาช้อปออนไลน์จาก เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และปักกิ่ง (ตามลำดับ) คือกลุ่มที่มีสถิติช้อปสูงสุดเข้าขั้นวิกฤต        นอกจากปัญหา “โลกร้อน” แล้ว มนุษย์ยังกำลังเผชิญกับ “มลภาวะจากยาปฏิชีวนะ” ที่องค์การสหประชาชาติประเมินว่าจะเป็นสาเหตุการตายของผู้คนถึง 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2050         นักวิจัยพบว่าสองในสามของตัวอย่างน้ำ 711 ตัวอย่างจากแม่น้ำใน 72 ประเทศจาก 6 ทวีป มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในระดับที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีประชากรมีฐานะยากจน         ทวีปที่มีการปนเปื้อนรุนแรงที่สุดคืออัฟริกา ตามด้วยเอเชีย (บังคลาเทศที่มีการปนเปื้อนของเมโทรนิดาโซลเกินระดับที่ปลอดภัยถึง 300 เท่า) อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ตามลำดับ         โดยรวมแล้วไม่มีที่ไหนปลอดภัย แม้แต่แม่น้ำเทมส์ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่สะอาดที่สุดก็ยังปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะถึง 5 ชนิด ในขณะที่แม่น้ำดานูบได้ตำแหน่งแม่น้ำที่ปนเปื้อนมากที่สุดในยุโรปไปครอง          ยาเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำผ่านทางขยะ ของเสียของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการรั่วไหลจากโรงบำบัดน้ำเสียหรือจากโรงงานผลิตยานั่นเองผู้หญิงจ่ายแพง        ในที่สุดอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่เก็บภาษีผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยสตรีสูงเป็นอันดับ 6 ของยุโรป ก็ประกาศลดภาษีผ้าอนามัยเหลือร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป         การรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลตีความว่าผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยนั้นมีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะผลักดันได้สำเร็จ อิตาลีกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไว้ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเช่น ไวน์ บุหรี่ อยู่ที่ร้อยละ 22         ปีที่แล้วรัฐบาลอิตาลีประกาศลดภาษีเห็ดทรัฟเฟิล แต่กลับคงภาษีผ้าอนามัยไว้ที่ร้อยละ 22 ทำเอาหลายฝ่ายงุนงงว่าการมีประจำเดือนมันฟุ่มเฟือยกว่าการซื้อเห็ดกิโลกรัมละเป็นแสนเป็นล้านได้อย่างไร         ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเรียกเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราต่ำ อังกฤษเก็บที่ร้อยละ 5 ในขณะที่ไอร์แลนด์ไม่เรียกเก็บเลย เช่นเดียวกับใน 12 มลรัฐในอเมริกา    อย่าทิ้งหนู        ในช่วงที่ผ่านมามีเด็กหลายรายเสียชีวิตเพราะถูกผู้ปกครองลืมทิ้งไว้ในรถ อิตาลีจึงออกกฎหมายกำหนดให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยต่ำกว่า 4 ขวบ จัดหาคาร์ซีทหรือที่นั่งสำหรับเด็ก ชนิดที่มีสัญญาณเตือนไปยังผู้ขับขี่หากยังมีเด็กนั่งอยู่ในรถ หรือซื้อสัญญาณเตือนมาติดคาร์ซีทที่มีอยู่แล้วก็ได้         ที่นั่งแบบ “ป้องกันการถูกทิ้ง” มีราคาตั้งแต่ 50 ถึง 100 ยูโร (ประมาณ 1,700 – 3,400 บาท) เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐบาลจึงประกาศให้เงินสนับสนุน 30 ยูโรต่อที่นั่ง         รายงานข่าวบอกว่างบประมาณที่เตรียมไว้สามารถช่วยได้แค่ 1 ใน 4 ของพ่อแม่ที่ต้องใช้คาร์ซีทเท่านั้นงานนี้เขาใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน ไม่เกี่ยงเรื่องรวยหรือจน         อิตาลีเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2019 ผู้ฝ่าฝืนต้องจ่ายค่าปรับ 326 ยูโร (ประมาณ 11,000 บาท) และเสียแต้มในใบขับขี่ 5 คะแนนนั่งแล้วหนาว        นอกจากจะต้องทนนั่งรถเมล์ที่ขับได้หวาดเสียวและฝ่าฝืนกฎจราจรตลอดเวลา ผู้โดยสารรถเมล์ในศรีลังกาต้องตื่นเต้นขึ้นอีกหลายระดับเมื่อมีคนออกมาเปิดโปงว่ากว่าครึ่งของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์เอกชน “ติดยาไอซ์”         ผู้คร่ำหวอดในวงการบอกว่านี่คือความผิดพลาดของระบบขนส่ง การไม่มีป้ายรถเมล์ที่ชัดเจน หรือตารางออกรถที่แน่นอน รวมถึงการจราจรที่ติดขัด ล้วนทำให้คนทำงานเกิดความเครียด จนต้องพึ่งยาเมื่อ “ติด” แล้ว ก็เริ่มทอนเงินผู้โดยสารไม่ครบ หรือเก็บค่าโดยสารเกินจริง เพื่อนำเงินส่วนเกินไปซื้อยาอาจดูเป็นการกล่าวหารุนแรง แต่แหล่งข่าวคือบรรดาเจ้าของกิจการรถเอกชนที่ทนพฤติกรรมลูกจ้างของตัวเองไม่ไหวจนต้องบอกผ่านใครสักคน          กระทรวงคมนาคมรับปากว่าจะส่งทีมไปตรวจการใช้ยาเสพติดให้บ่อยขึ้น หากพบว่ามีการใช้ยาขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็จะยึดใบอนุญาตทันที แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะปรับปรุงระบบโดยรวมอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 สิทธิในการใช้รถสาธารณะในราคาที่ไม่แพง

เป็นข่าวใหญ่ของคนกรุงเทพในเดือนเมษายน เมื่อรัฐประกาศขึ้นราคาค่ารถโดยสารเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ขสมก.และรถเมล์ร่วมบริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่สำคัญการขึ้นราคารถเมล์ครั้งนี้ส่งผลต่อการขึ้นราคาขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น รถตู้ รถทัวร์ อีกด้วย         จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะวุ่นวายกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะตามแผนเดิมของการปรับราคาค่าโดยสารจะปรับหลังปีใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2562 แต่เหมือนจะยังเป็นโชคดีของคนกรุงเทพอยู่นิดหน่อย ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพพอดี รัฐบาลเลยหยิบมาอ้างได้ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นสาเหตุของมลพิษและทำให้เกิดฝุ่นละออง เลยให้เลื่อนการปรับราคาค่าโดยสารออกไปอีกสามเดือน           แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า การเลื่อนขึ้นราคาค่าโดยสารครั้งนั้นเป็นการหวังผลทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมมากกว่า และรัฐบาลต้องเสียคะแนนแน่ๆ หากปล่อยให้ขึ้นราคาในช่วงนั้น เผาหลอกขู่กันไปแล้ว ถึงเวลาเผาจริง 22 เมษายน 2562 ครบกำหนดสามเดือนที่จะต้องขึ้นราคาค่าโดยสารกันแล้ว สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ในส่วนรถ ขสมก. ปรับเพิ่มอีก 2-7 บาท หากขึ้นทางด่วนคิดเพิ่มอีก 2 บาท แต่หากเป็นรถ ขสมก.รุ่นใหม่สีฟ้า ขึ้นหนักหน่อยคิดตามระยะแบบขั้นบันได 15-20-25 บาท ส่วนรถร่วมเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท เช่น         นาย ก. ปกติ ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นเก่าสีขาวสาย 522 จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ทางด่วนไปลงงามวงศ์วาน จากเดิมเสียค่าโดยสาร 15 บาท ราคาใหม่ต้องเสียค่าโดยสาร 19 บาท เพิ่มจากเดิม 4 บาท แต่หากนาย ก. ต้องขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่สีฟ้าในเส้นทางเดิมต้องจ่ายค่าโดยสารถึง 22 บาท เพิ่มจากเดิม 7 บาท หรือ เกือบ 50% ของราคาเดิมที่เคยจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง         ข้อมูลของ ขสมก. ระบุว่า ปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก.มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน แบ่งเป็นรถร้อนประมาณ 1,500 คันและรถปรับอากาศอีกประมาณ 1,500 คัน มีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าในปีก่อนๆ         ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2559 ระบุว่า มีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 582,463 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 195,389 คน รถเมล์ร้อน 154,574 คน และรถเมล์ฟรี 232,500 คนขณะที่ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2560 ระบุว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 584,997 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 192,923 คน รถเมล์ร้อน 124,667 คน และรถเมล์ฟรี 267,407 คน          จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการมีสูงขึ้นโดยมีนัยยะสำคัญ หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ไม่มีรถเมล์ฟรีแล้ว แม้จะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการรถเมล์ก็คงมีจำนวนสูงขึ้น ปรากฎตามข้อมูลของ ขสมก. ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์อยู่ที่ 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นรถปรับอากาศประมาณ 9 แสนคน และรถร้อนประมาณ 3-5 แสนคนต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20% หลังจากปรับค่าโดยสารขึ้นแล้ว         เห็นข้อมูลแบบนี้ ขสมก.คงดีใจ เลยมีแผนใหญ่ที่จะล้างหนี้แสนล้าน และจัดหารถปรับอากาศใหม่เพิ่มอีกกว่า 2,000 คันในสามปีต่อจากนี้ ถ้าทำได้ก็ต้องถือว่าเป็นการยกระดับระบบขนส่งมวลชนสู่รูปแบบ smart city ที่มองไปทางไหนก็จะเจอแต่รถปรับอากาศเหมือนเช่นต่างประเทศแต่ ขสมก.อาจจะลืมหรือรู้แต่ไม่สนใจว่า การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของ ขสมก. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดขององค์กรในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถเมล์ใหม่ที่สิบปีที่ผ่านมาซื้อไม่ได้เลย ทั้งที่ควรจะได้มาใช้นานแล้ว หรือที่ตรวจรับมา 489 คันก็ผิดสเปค หรือแม้กระทั่งการพยายามจะนำเครื่องอ่านบัตรโดยสารแบบ E-ticket มาใช้แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างองค์กร การจัดสรรเส้นทางเดินรถ จำนวนพนักงานฯ ที่เป็นเหตุของการขาดทุนสะสมด้วย        ที่สำคัญการขึ้นค่าโดยสารรถทุกประเภทครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้ใช้บริการรถเมล์ รถโดยสาร ฯลฯ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลือกฟังเฉพาะเสียงจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยลืมไปว่าระบบบริการขนส่งมวลชนของรัฐในลักษณะนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชน         อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการคิดค่าบริการขนส่งมวลชนแบบเทียบสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำของประชาชน หรือค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวัน ทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ต้องคัดค้านการดำเนินการเรื่องนี้เป็นระยะๆ ทั้งที่บริการขนส่งมวลชนเป็นบริการที่รัฐต้องอุดหนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพ         อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ ชัดเจนว่าเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับคนทุกกลุ่มที่ใช้บริการ เป็นการบังคับให้ต้องจ่ายโดยไม่มีทางเลือก แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้นราคา         แต่เสียงส่วนใหญ่ที่ ขสมก.ไม่เคยรับฟังเลย คือ เสียงสะท้อนที่บอกว่าการขึ้นราคาครั้งนี้สร้างภาระเกินสมควรให้กับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถเมล์และรถโดยสารประเภทอื่นอยู่แล้วอะไรคือหลักประกันเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนในอนาคตจากการขึ้นราคาหรือนี่คือการส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้รถขนส่งสาธารณะ ใครตอบได้ช่วยตอบที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 คุณภาพรถเมล์ไทย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาคุณภาพรถเมล์ของประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” อาทิ ตัวรถ สภาพรถ การให้บริการ กับ “ปัญหาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น ป้ายรถเมล์ จุดจอด การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เป็นต้นสำหรับ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” พบว่ามีปัญหาตั้งแต่สภาพตัวรถ รวมถึงรูปแบบการประกอบการ โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่เป็นรถของขนส่งมวลชน(ขสมก.) มีปัญหาสะสมที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ หรือจัดซื้อได้ล่าช้า ปัจจุบันรถใน กทม. และปริมลฑล มีอยู่ประมาณ 7-8 พันคัน เข้าใจว่าเป็นรถเก่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 พันคัน จะมีรถใหม่ของขสมก.จะเข้ามาประมาณ 2-3 พันคันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอควรมีปริมาณรถใหม่มากกว่านี้ รวมถึงมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพในอนาคตต่อไปว่าจะการันตีได้อย่างไรเมื่อเปลี่ยนรถแล้วคุณภาพต้องดีด้วย ต้องเข้มข้นเรื่องการรับพนักงาน รวมถึงเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม เพราะก็ยังมีคำถามอยู่ว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าค่าโดยสารไม่ควรสูงเกินไป แต่รัฐก็ไม่มีกลไกทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็เลยเป็นปัญหาค่าโดยสารที่กำหนดอยู่ปัจจุบันจะทำให้ได้คุณภาพการให้บริการที่ดีหรือไม่ ถ้าจะให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพต้องอนุญาตให้เขาสามารถขึ้นค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่ แต่คงไม่ได้ขึ้นมากเกินไป เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ 9 บาท สำหรับรถร้อน ถ้าปรับราคาขึ้นเป็น 11-12 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าน่าจะพอขึ้นได้ และพอจ่ายได้ เพราะอยากได้บริการที่ดี แต่กลัวว่าขึ้นไปแล้วยังได้บริการแย่เหมือนเดิม อะไรจะการันตี  “เวลาสำรวจความพึงพอใจเรื่องพวกนี้ก็จะเห็นภาพว่าผู้โดยสารมีความรู้สึกคล้ายกันว่ารถเก่า บริการไม่ดี รถขาดระยะ ความถี่ไม่ดี รอนาน สภาพโดยรวมไม่สะดวกสบาย”  คำถามที่จะตามมาคือต่อให้คุณภาพรถเมล์ดีแล้ว “โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จะดีตามมาหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจทั้งในกทม. และปริมณฑลพบว่ามีปัญหาคล้ายกันคือ ตำแหน่งป้ายไม่ชัดเจน ที่พักพิงผู้โดยสาร เช่น ศาลาไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาคือการบริการช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตราย ตรงนี้ผู้ประกอบการคงไม่ได้เป็นคนจ่าย หน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลน่าจะต้องเป็นคนที่ลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้า อะไรต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ลงทุนเรื่องเหล่านี้บ้าง “จริงๆ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนารถเมล์น้อยไป ถ้าพัฒนาเต็มที่ต้องดีทั้งตัวรถ และคนขับ พนักงานประจำรถ ตรงนี้เริ่มมีการปฏิรูปบ้าง แต่ที่ยังขาด คือโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมต่อ เรื่องป้ายรถเมล์ ถ้าจะทำต้องทำควบคู่กัน  ไม่อย่างนั้นคนเดินมาป้ายรถเมล์ก็ไม่อยากเดิน ไม่จูงใจให้คนมาใช้รถเมล์” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว อย่างเช่น รถเมล์ในกรุงเทพจากเดิมมีเพียงการให้บริการของ “ขสมก.” เท่านั้น ปัจจุบันก็มี “เอกชน” เข้ามาร่วมเดินรถด้วย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้บริษัทเอกชน บางรายสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตรง และเดินรถเองได้ ตรงจุดนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้เอง แต่ความอิสระนี้ยังไม่ได้การันตีว่าการให้บริการจะมีคุณภาพ ต้องมีระบบกำกับดูแลที่ต้องตรวจสอบคุณภาพรถเอกชนที่จะเข้ามาวิ่งในระบบต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร  ปัญหารถขาดระยะ-เส้นทางเดินรถ “รถเมล์ขาดระยะ” มาจากทั้งปัญหาการจราจร และจำนวนรถไม่เพียงพอ ยิ่งรถติดมากยิ่งทำให้รถขาดระยะมาก ตรงนี้ก็พูดยาก เพราะหลายครั้งปริมาณการเดินทางของคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าทำให้คนขึ้นรถเมล์มากเท่าไหร่ ก็จะลดการใช้รถส่วนบุคคลเท่านั้น รถไม่ติด และจะส่งผลดีกับทั้งคู่คือรถติดน้อยลง ต้นทุนการประกอบการก็น้อยลง ไม่ต้องซื้อรถมาเก็บไว้จำนวนมาก ทำรอบความถี่ได้ นี่เป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขยาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก ส่วนเรื่องเส้นทางการเดินรถนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “การทับซ้อนเส้นทาง” แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง แต่ความครอบคลุมปัจจุบันเรียกว่าลากเส้นรถเมล์ไม่ทันกับการขยายเมือง สวัสดิการภาครัฐเดิมรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีให้ประชาชนก็ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเปลี่ยนแปลงอีกแบบ ซึ่งเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูล เลยยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเองให้การสนับสนุนระบบขนส่งพวกนี้เพียงพอหรือยังในเชิงของการลงทุน รัฐอาจจะไม่ต้องให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนขึ้นรถเมล์ แต่อาจจะต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์หรือไม่ เรื่องป้ายรถเมล์ เรื่องจุดจอด เรื่องการบำรุงรักษา รัฐต้องเข้ามาดูมากขึ้น เสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม พัฒนาระบบ เรื่องคุณภาพของการให้บริการก่อน เมื่อเริ่มดีขึ้นค่อยเริ่มหาช่องทางในการให้เงินอุดหนุนเงินเฉพาะกลุ่ม เช่น การลดค่าโดยสาร 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้สูงอายุ ลดค่าโดยสาร 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้เฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลน่าจะทำได้ และไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง คุณภาพรถเมล์กับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมีคำถามว่าการพัฒนาระบบขนส่งหลงลืมผู้พิการ และผู้สูงอายุ จริงๆ ถ้ากรณีรถเมล์ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าให้ใช้รถเมล์ชานต่ำ แต่มีสัญญาณที่ดีจากผู้ประกอบการ  อย่างเช่น ขสมก. หากจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ก็เปลี่ยนเป็นชานต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและนำเข้ามาใช้ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และผู้สูงอายุขึ้นลงได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สมมติว่ารถเมล์เข้าป้ายได้ แต่ทางเท้า หรือป้ายรถเมล์ไม่ดี คนพิการก็ใช้ไม่ได้ หรือถ้าปัญหาเรื้อรัง เข้าป้ายไม่ได้คนพิการต้องลงมาที่ถนน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบพร้อมกัน    สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก่อนจะมีรถเมล์ชานต่ำในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้เลย ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้น มีคนช่วยยกวีลแชร์ ซึ่งมีแต่น้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ไป เพราะการคลานขึ้นรถเมล์เป็นภาพที่ไม่น่าดู ส่วนผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าก็มีความยากลำบาก อุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมลมีให้เห็นบ่อย ปัญหาใหญ่ที่สุด คือลักษณะของรถสูง ประตูแคบ บวกกับพฤติกรรมขับรถและการให้บริการของพนักงานประจำรถ “พฤติกรรมของพนักงานขับรถไม่ต้องอธิบายมาก จอดปุ๊บไปปั๊บ ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ บางทีมีการตะโกนบอก คนพิการมา หลบให้คนพิการขึ้นหน่อย เร็วๆ ได้ยินแบบนี้ถามว่าเรามีความสุขที่จะไปต่อไหม เราก็อาย เรากลายเป็นจุดรวมสายตาของทุกคน ซึ่งมีทั้งสายตาที่เห็นอกเห็นใจ และสายตาที่มีคำถามว่ามาทำไม คุณลำบากแล้วมาทำไม สร้างปัญหา คือไม่ขึ้นรถเมล์แล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร ให้อยู่กับบ้านอย่างนั้นหรือ” ในอดีตปัญหาแบบนี้ชัดเจนมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ใหม่ เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงเมื่อ 10 ปีก่อน เดิม ขสมก. ไม่ต้องการซื้อรถเมล์ชานต่ำ แต่ด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นของเครือข่ายผู้พิการต่างๆ เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ทุกวันนี้ ขสมก.มีนโยบายใหม่ชัดเจนว่าถ้าจะซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ รถเมล์ชานต่ำล็อตแรก 489 คัน ที่จะทยอยส่งมอบเข้ามา แม้ยังมีบางจุดที่ต้องปรับปรุง แต่ไม่ถึงกับเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะต้องยอมรับว่าล็อตแรกอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นครั้งแรกที่แปลงกฎหมาย เป็นทีโออาร์ ตัวรถอาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพราะประตูกว้างขึ้น เดินสเต็ปท์เดียว ก้าวขาจากฟุตบาทขึ้นตัวรถได้เลย ถือว่ามีความปลอดภัยสูง มีระบบเซ็นเซอร์ มีกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตาม มีรถเมล์ใหม่แล้วก็ต้องมาพร้อมการบริการที่มีการปรับปรุงทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การจอดให้ตรงป้ายยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งต้องเรียนว่า “รถเมล์ชานต่ำ” นั้นการจอดให้ตรงป้ายถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะมีบันไดพาดจากตัวรถมายังฟุตบาท หากจอดไม่ตรงบันไดก็ต้องวางกับถนนซึ่งจะทำให้ชันมากเป็นอันตราย นอกจากนี้การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณป้ายรถเมล์ก็มีความสำคัญ รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารถจะบริการคนพิการอย่างไร ก็ต้องมีการสื่อสารและพัฒนานอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ รถเมล์ชานต่ำที่จะเข้ามา 489 คัน นั้นคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรถเมล์ของ ขสมก. ซึ่งปกติ ขสมก.เดินรถเมล์ประมาณ 120 สาย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่ารถเมล์ชานต่ำล็อตนี้เอาไปวางบนเส้นทางอย่างไร ยกตัวอย่างรถ 1 สาย มีรถ 20 คัน แล้วรถจะเข้ามาทุก 10-15 นาที แสดงว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุเดินออกมาก็จะเจอรถเมล์ชานต่ำทุกคัน แต่ถ้าสมมติในสายนั้นมีรถเมล์ 20 คัน แต่มี รถเมล์ชานต่ำ 5 คัน ถามว่า 5 คันนั้นจัดวางอย่างไร ถ้าทำแบบผสมตามสัดส่วน แสดงว่ารถเมล์แบบเก่าต้องผ่านไปแล้ว 5 คัน คันที่ 5 ถึงจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ แสดงว่าต้องรอเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง “ถามว่าในชีวิตจริงที่ต้องไปทำงานทุกวัน เราจะใช้บริการรถเมล์แบบนี้ได้หรือไม่ การแก้ปัญหาต้องมีตารางเดินรถชัดเจน จริงอยู่ว่าสภาพการจราจรของ กทม.เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับตามความเหมาะสมได้ วันนี้ตัวรถสะดวก บริการดีขึ้น แต่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ เว้นแต่ว่า ขสมก.จะวางรถเมล์ชานต่ำใหม่ทั้งเส้นทั้งหมด อันนี้แน่นอนใช้ได้เลย ถ้าเอามาผสมกันก็ไม่สะดวก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาระยะยาว คิดว่า ภายใน 5-10 ปี ของขสมก.น่าจะได้มาทดแทนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย แต่ปัญหาที่คาราคาซังอยู่คือเนื่องจาก ขสมก.จัดซื้อรถใหม่ไม่สะดวก เลยแก้ปัญหาโดยการนำรถเก่ามาปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำตัวถัง ทำสี แต่บอดี้อยังเหมือนเดิม และใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้พิการ และผู้สูงอายุก็ยังคงมีอยู่”อย่างไรก็ตาม ปัญหารถเมล์ไม่ได้มีแค่ของ ขสมก. เท่านั้น แต่ยังมีรถร่วมบริการด้วย และดูเหมือนว่าสัดส่วนจะเพิ่มสูงกว่าขสมก. ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ยังไม่พูดชัดเจนว่ารถร่วมฯ ที่ให้สัมปทานใหม่จะต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำหรือไม่ ซึ่งเราพยายามคุยกับกรมการขนส่งทางบกว่าควรกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัมปทานด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่รถร่วมบริการเส้นแรกที่วิ่งระหว่าง รพ.รามาธิบดี บางพลี จ.สมุทรปราการ ไปยังรพ.รามาธิบดี ย่านราชวิถีนั้นทางบริษัทเอกชนได้นำเอารถเมล์ชานต่ำมาให้บริการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำหนดให้ชัดว่าจากนี้เป็นต้นไป รถใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นรถเมลชานต่ำเท่านั้น ถ้าปล่อยเป็นเรื่องความสมัครใจแล้วมีทั้งรถเมล์ชานต่ำ ชานสูงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เราพยายามคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เราไม่ไปแตะรถเมล์คันเก่า แต่ขอแค่ว่ารถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขา รมว.-รมช.คมนาคม ก็ยังไม่ตอบ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในกรณีรถร่วมบริการ” นอกจากนี้ หากเป็นการนำเอารถตู้มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นแน่นอน แต่บรรเทาได้หากมีการอบรมและขอความร่วมมือ เช่น ให้คนพิการนั่งหน้า และเก็บรถเข็นไว้ด้านหลังรถ แต่ปัญหาคือ ดีไซน์ของรถตู้ส่วนมากต้องพยายามบรรทุกผู้โดยสารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนถ้าเป็นคนพิการตาบอด ปัญหาน้อยกว่า อาจต้องจับสัญญาณเสียง ซึ่งรถบางคันก็มี ถ้าไม่มีก็อาศัยการสอบถามคนรอบข้าง ในขณะที่ปัญหาคนหูหนวก อาจจะต้องมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ต้องนึกถึงคือผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแปลก คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมครอบครัวไม่ดูแลลูก แต่ความจริงคือพ่อ แม่ควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้กับคนไทยเรื่องความแตกต่างของคนในสังคม อย่าด่วนตำหนิ มองกันในเชิงลบ คงไม่มีใครปรารถนาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรในที่สาธารณะ “ดังนั้นโดยรวมการใช้บริการรถเมล์ของผู้พิการใน กทม. ปริมณฑล มีความสะดวกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 7,000-10,000 คัน”ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศภายในรถเมลไทย ตรงนี้ในฐานะที่มีโอกาสคลุกคลีกับคณะกรรมการที่เขียนสเป็คของรถ คิดว่าสิ่งที่เราขาดคือ ความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงของรถโดยสาร และความร่วมมือของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างรถเมล์ที่ดี คงไม่ใช่รถราคาถูก แต่กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของไทยต้องการรถที่ราคาถูกที่สุด แล้วจะหวังเรื่องคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างไร ทางแก้ คือเขียนคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาอีกตรงที่ระเบียบ มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรฐานที่ต่ำ เมื่อเขียนสเป็คก็ต้องเขียนต่ำ เพราะถ้าเขียนสูงก็ถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ คิดว่านี่เป็นปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย มันมีช่องว่างอยู่ระหว่างสินค้าที่มีคุณภาพและราคา รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนกำหนดระเบียบ สุดท้ายอาจจะสำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ ว่าผู้ใช้ควรจะได้สินค้าที่ดี ที่มีคุณภาพแบบไหน คิดว่า เวลานโยบายกำหนดมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขมาด้วย แต่ไปบีบคนทำงานให้ไม่สามารถมองเป้าของผู้บริโภคเป็นหลัก หรืออย่างการจัดซื้อ จัดจ้างรถเมล์ ทำไม ขสมก.รถพัง รถหมดสภาพเยอะแยะ แต่การจัดซื้อต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในเวลา 10 ปีนี้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถเมล์ที่ดีไปแค่ไหน “คนใช้บริการรถเมล์เป็นคนที่รายได้ไม่สูง คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง นี่คือปัญหาสำคัญ คนมีปาก เสียงคือคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้สิทธิประโยชน์ในการขยายถนน ลดภาษี แต่คนใช้รถโดยสารประจำทางไม่สามารถส่งเสียงให้ฝ่ายนโยบายได้ยินได้ ทำให้กระบวนการจัดซื้อยืดยาว และได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเลยตามมา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ โครงสร้างนโยบายของประเทศ” วันนี้มีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาแล้ว แต่การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งความสะอาด การอำนวยความสะดวกต่างๆ  เข้าใจว่าได้ทำไปพอสมควร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ณ วันนี้ มันเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เห็นจุดที่เป็นข้อบกพร่องปรากฏออกมาเป็นระยะๆ  ในภาพรวมทางเท้า ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะ คนเดินถนน ในกทม. รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนตัวไม่คิดว่าแนวคิดการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์แล้วจะทำให้การจราจรคล่องตัวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขยายถนนเท่าไหร่รถก็ยังติด การไม่ให้ความสำคัญกับการทำทางเท้าที่มีคุณภาพ ทั้งแคบ สกปรกและเหม็นขยะ ไม่เรียบ ไม่มีความปลอดภัย ใครจะอยากเดินมาขึ้นรถเมล์ตราบใดที่รัฐบาล หรือ กทม. ไม่ได้ใส่ใจวางนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าการขยายถนน ที่ผ่านมามักได้ยินนโยบายการหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาการจราจรภายในระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีถนนเพิ่ม คนก็ซื้อรถเพิ่มเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราขยายพื้นทางเดินเท้าให้ประชาชน ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ และความสะอาด คิดว่าประชาชนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทางเดินเท้าคือสิ่งสำคัญเช่นกัน บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน ใครจะเปิดก็ต้องระบุให้ชัดว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการจราจรภายใน ไม่ใช่สร้างปัญหารถติดบนท้องถนนส่วนรวม เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดรถสาธารณะใช่แนวทางที่ดีจริงหรือ

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการจราจรที่ติดขัดแทบทุกจุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ คณะกรรมการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีใครรู้จักว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบ้าง ก็เสนอมาตรการใหม่ เอารถเมล์ที่ถูกมองว่าคันใหญ่กีดขวางการจราจรออกไป เพื่อแก้ปัญหารถติดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนรามคำแหง ทันทีที่มาตรการเผยสู่สาธารณะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกๆ ช่องทางว่าคนกลุ่มนี้เขาคิดอะไรกันอยู่ มีหลายคนแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ safethaibus และ inbox เช่น“รถเมล์ 1 คันจุดคนได้มากกว่า 50 คน ทำไมถึงไม่เพิ่มรถสาธารณะ แล้วลดรถส่วนตัวแทน” “ทำรถสาธารณะให้ดีขึ้น ออกมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะกันดีมั้ย” “เอารถเมล์ออก แต่รถส่วนตัวยังวิ่งเหมือนเดิม จะแก้ปัญหาได้ยังไง” ถึงประเด็นนี้จะวิจารณ์กันร้อนแรงแค่ไหน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนคิดเรื่องนี้ด้วย โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) แล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในเส้นทางรามคำแหง ในสายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจากแนวคิดของ รอง ผบช.น นั่นหมายความว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เสริมเติมเข้าไปด้วย ทั้งการหาที่จอดรถ การให้บริการรถชัทเทิลบัสส่งต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยมุ่งหวังว่าการมีจุดจอดที่รองรับปริมาณรถส่วนตัวได้มากพอ แล้วมีรถชัทเทิลบัสนำพาไปส่งจุดปลายทาง จะช่วยลดปริมาณการนำรถส่วนตัวเข้ามาวิ่งบนถนนรามคำแหงได้อ่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับภาพที่สวยหรู รถยนต์จะน้อยลง ถนนจะโล่งขึ้น… แต่ในความเป็นจริงท่านคณะกรรมการฯ อาจจะคิดผิดหรือคิดไม่ครบ เพราะจากมาตรการที่ออกมายังไม่เห็นถึงแรงจูงใจที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัว อยากที่จะเอารถไปจอดไว้ที่จุดจอดแล้วใช้รถชัทเทิลบัสไปสถานีรถไฟฟ้าเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ส่วนหนึ่งที่คนมีรถส่วนตัวเพราะอยากสบาย ถึงรถติดแค่ไหนก็ยังสบายๆ นั่งอยู่ในรถฟังเพลงเปิดแอร์ได้ ดีกว่าไปทนยืนเบียดสูดกลิ่นเหงื่อไคลของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ในรถสาธารณะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนความทรมานจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฝนตกรถติดน้ำท่วม ยืนรอเป็นชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา หรือรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดมากๆ ในช่วงเร่งด่วน เรียกว่าแน่นจนขึ้นไม่ได้ ท่านจะสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างไร การทำให้ระบบรถสาธารณะที่บรรทุกคนได้จำนวนมากใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นคำตอบมากกว่าเป็นปัญหา ทุกที่ของเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งในเมือง ยิ่งเป็นเส้นทางก่อสร้าง ยิ่งต้องกำหนดเส้นทางเลี่ยงออกจากจุดก่อสร้าง และเสริมด้วยแรงจูงใจที่อยากให้คนมาใช้รถเมล์ เพิ่มรถเมล์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทน แบบนี้ประชาชนถึงอยากจอดรถแล้วไปใช้รถสาธารณะ แต่ปัญหารถสาธารณะบ้านเมืองเราเป็นของแสลงทำให้ดีได้ยาก คนไทยก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้กันในระดับสินค้าขายดี จึงเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดนี้คงหมดหนทาง เมื่อไม่สามารถควบคุมปริมาณรถส่วนตัวได้ เลยมาลงที่รถสาธารณะอย่างรถเมล์แทน โดยใช้เหตุผลที่ทุกคนเบื่อหน่ายกับรถเมล์ ที่หลายคันมีสภาพเก่าทรุดโทรม บางสายคนใช้น้อย คนขับหลายรายไร้วินัยเป็นแรงหนุน ซึ่งต้องบอกว่าพลาดครับ แม้ว่าคล้อยหลังออกมาตรการเพียงสองวัน รอง ผบช.น. จะได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนของรถเมล์บนถนนรามคำแหง แต่เป็นการลดขนาดของรถเมล์ลงจากรถขนาดใหญ่บางสายที่มีคนขึ้นน้อยให้เป็นมินิบัส เพื่อให้ถนนโล่งขึ้นลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจะมองกันให้ลึกแล้ว ปัญหารถติดสำหรับคนเมืองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่รอวันแก้ไข แต่มันคือวิถีชีวิตที่คนเมืองทุกคนต้องเจอตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำงานจนเลิกงานกลับเข้าบ้าน ยิ่งผสมกับมหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรจะยืนยันได้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วรถจะไม่ติดอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเพียงบางจุด ย่อมไม่อาจทำให้ปัญหาในภาพรวมแก้ไขไปด้วยได้ ตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหารถติดบนถนนรามคำแหงนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ดีของผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนก่อน ไม่งั้นก็จะตกม้าตายแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสต่างแดน

ถุงลมมหาภัยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคฮาวายยื่นฟ้องฟอร์ด นิสสัน และโตโยต้า ที่เลือกใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะที่มีข้อบกพร่อง จนกลายเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่แทนที่จะเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน เขาให้เหตุผลว่า บริษัทรถเหล่านี้น่าจะรู้เรื่องความบกพร่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรู้ว่าแอมโมเนียมไนเตรต(สารเคมีที่ใช้ในการปล่อยจรวด) เป็นสารที่ยากแก่การควบคุม และภูมิอากาศในฮาวายเองมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งก็เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดการระเบิดของถุงลมด้วยสำนักงานดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหาย 10,000 เหรียญต่อรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งคาดว่าในฮาวายมีรถยี่ห้อดังกล่าวที่ใช้ถุงลมทาคาตะอยู่ประมาณ 30,000 คัน  ก่อนหน้านี้รัฐนิวเม็กซิโก ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัททาคาตะและบริษัทรถยนต์ไปแล้วเช่นกัน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย บาดเจ็บ 180 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถุงลมดังกล่าว เลือกกินไม่ได้?หลายพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละของอินเดียจัดงานเทศกาลกินเนื้อวัวเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกลางประกาศห้ามซื้อขายวัวเพื่อนำเข้าโรงฆ่าหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในอินเดียที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย การแบนครั้งนี้จะทำให้มีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คนรัฐเกรละซึ่งมีประชากรที่บริโภคเนื้อวัวอยู่ถึงร้อยละ 70 นำเข้าเนื้อวัวจากรัฐอื่นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตันต่อปี  กฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปริมาณเนื้อที่เข้าสู่ตลาดน้อยลงและบริษัทรับจ้างขนส่งที่ไม่ยินดีรับงานเพราะกลัวจะถูกทำร้ายเมื่อขับผ่านพื้นที่ ที่ต่อต้านการบริโภคเนื้อวัว รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนดรา โมดี ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 อินเดียมีประชากรร้อยละ 20 ที่ไม่ได้นับถือฮินดู ไม่ปลื้มของนอกธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศดูจะไปได้ไม่สวยนักในเวียดนาม เบอร์เกอร์คิงตัดสินใจปิดสาขาในเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์และดานังไปหลายสาขา หลายเจ้าเลือกที่จะไม่เปิดสาขาเพิ่มแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เคยประกาศไว้เมื่อสามปีก่อนตอนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามว่าจะเปิดให้ได้ 100 สาขาภายใน 10 ปี ขณะนี้ก็มีเพียง 15 สาขาเท่านั้น เหตุผลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์เขาบอกไว้ คืออาหารไม่ถูกปาก ราคาก็ไม่ถูกใจ แถมคนเวียดนามเขายังมีทางเลือกเป็นแซนวิช “บั๋นหมี่” ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามถนนในราคาย่อมเยา รสชาติโดนใจกว่าและดีต่อสุขภาพด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตกับธุรกิจต่างชาติ 148 แบรนด์ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 43.7 ที่เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จอดได้ แต่จ่ายเพิ่มกรุงเดลลีมีประชากร 17 ล้านคน มีรถยนต์ 10 ล้านคัน(ในจำนวนนั้น 9.5 แสนคันเป็นรถส่วนตัว) ปัญหาเรื่องรถติด มลภาวะ และการขาดแคลนที่จอดรถจึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเทศบาลเมืองจึงเสนอมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นค่าจอดรถบนพื้นที่ข้างถนนในกรณีต่อไปนี้ : จอดตอนกลางวัน จอดช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น จอดช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ใครที่มีรถมากกว่าสองคันก็จะต้องจ่ายค่าจอดมากกว่าคนอื่นที่พีคไปกว่านั้น คือค่าจอดรถในพื้นที่ใกล้ตลาดจะแพงขึ้นเป็นสามเท่า ข่าวบอกว่าเขาจะปรับค่าบริการจอดรถริมทางให้แพงกว่าการนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ ส่วนใครที่จะซื้อรถใหม่ก็ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ามีที่จอดด้วย ชาวเดลลีมีเวลาหนึ่งเดือน ในการแสดงความคิดเห็นก่อนที่นโยบายนี้จะประกาศใช้ เขาคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ย่างกุ้งได้รถเมล์ใหม่ปีนี้เป็นการดำเนินงานปีแรกของขนส่งมวลชนย่างกุ้ง(Yangon Bus System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับบริการรถสาธารณะให้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน YBS นำรถเมล์ใหม่มาวิ่งแล้ว 2,600 คัน(2,000 คันเป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชน) เพื่อนำมาวิ่งแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ทำงานล่วงเวลามาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เจ้าของรถเก่าเหล่านั้นสามารถนำรถไปส่งที่โรงหลอมแล้วรับคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อคันใหม่ได้ตามแผนนี้ผู้ประกอบการรายเดิมจะมี 3 ทางเลือก ได้แก่ เลิกกิจการ เข้าร่วมเป็นรถของ YBS หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ทั้งนี้โครงสร้างรายได้สำหรับคนขับจะเป็นการรับเงินเดือนแทนการ “ทำยอด” เหมือนก่อนรัฐบาลพม่าจะต้องใช้งบประมาณ 70,000 ล้านจัต(ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ในการจัดซื้อรถเมล์ทั้งหมด 3,000 คัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เสี่ยงอันตรายขณะลงรถเมล์

หลายคนที่ต้องโดยสารรถเมล์ อาจเคยเจอปัญหาเมื่อถึงป้ายที่ต้องการจะลงแล้วรถเมล์ไม่ยอมจอดรถให้สนิท ซึ่งสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากผู้โดยสารก้าวขาลงไม่ทันขณะที่รถเมล์ออกตัวไป ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ควรทำอย่างไร ลองไปดูกันคุณสุชาติและครอบครัวโดยสารรถเมล์สาย 81 จากต้นสายเชิงสะพานปิ่นเกล้า ไปลงป้ายก่อนถึงห้างสรรพสินค้าซีคอนบางแค อย่างไรก็ตามเมื่อถึงป้ายที่ต้องการก็พบว่ามีคนลงจำนวนมาก ซึ่งในขณะที่เขากำลังก้าวลงจากรถ คนขับรถเมล์ก็ออกรถไปเลย แม้คนที่อยู่บนรถจะช่วยกันบอกว่าคนยังลงไม่หมด แต่คนขับและกระเป๋ารถเมล์ก็ไม่ได้สนใจและขับรถออกไป ซึ่งแม้ครั้งนี้เขาจะลงรถได้อย่างปลอดภัย แต่ก็กังวลว่าหากรถเมล์คันดังกล่าวยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยอยากให้ทาง ขสมก. มีการตรวจสอบ ตักเตือนหรือลงโทษการกระทำของคนขับในกรณีดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องเตรียมหลักฐานประกอบการร้องเรียน คือ ทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ และวันเวลาการโดยสาร เพราะเป็นสิ่งที่สามารถติดตามเอาผิดได้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า เขาไม่ได้จำเลขทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ เพียงแต่จำรูปพรรณของกระเป๋ารถเมล์และวันเวลาการเดินทางได้เท่านั้น ทำให้เมื่อศูนย์ฯ ช่วยดำเนินเรื่องร้องเรียนไปยัง ขสมก. ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 “ON WIFI” บนรถเมล์ ขสมก.

วันนี้ขอเอาใจผู้ใช้สมาร์ทโฟนขึ้นรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)กันสักหน่อยนะคะ เนื่องจากทางรถโดยสารสาธารณะได้มีบริการอินเตอร์เน็ตในรูปแบบไวไฟ (WIFI) ให้กับผู้ใช้บริการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้มากนัก วันนี้ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ ทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กำลังทยอยติดตั้งอินเตอร์เน็ตในรูปแบบไวไฟ (WIFI) ในรถเมล์สายต่างๆ เพื่อให้บริการฟรีกับผู้ที่ใช้บริการ โดยตั้งเป้าการติดตั้งไวไฟ (WIFI) ไว้ที่ 1,500 คัน ภายใน ปี 2559 ผู้อ่านที่ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำ ลองสังเกตภายในรถจะมีประกาศประชาสัมพันธ์และวิธีปฏิบัติในการเข้าถึงไวไฟ (WIFI) แปะไว้ด้านหลังเก้าอี้นั่งของผู้โดยสาร หรือบริเวณที่ให้ติดป้ายประชาสัมพันธ์ อย่างเช่น ป้ายที่ห้อยอยู่ตรงราวจับ เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ที่ใช้บริการรถเมล์ แต่ไม่เคยเข้าถึงไวไฟ (WIFI) ก็สามารถทำตามขั้นตอนที่แนะนำไว้ได้เลย ในการใช้บริการไวไฟ (WIFI) ครั้งแรก เมื่อเลือกใช้ไวไฟ (WIFI) ที่ชื่อว่า “ON WIFI” เรียบร้อยแล้ว ผู้อ่านจะต้องลงทะเบียนโดยกรอกข้อมูล ดังนี้ เบอร์โทรศัพท์มือถือ วันเกิด เพศ หลังจากนั้นระบบจะส่งรหัสผ่านในการเข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ต มาทางข้อความ SMS ตามเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ได้กรอกไว้ในตอนแรก เพื่อเป็นการยืนยันการลงทะเบียนและนำรหัสผ่านนั้นมาใช้ในการ log in ได้ทันที การลงทะเบียนใช้งานจะทำแค่ครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อขึ้นรถเมล์ครั้งต่อไป ก็สามารถใช้รหัสผ่านเดิมนี้ได้เลย ข้อจำกัดของการใช้ไวไฟ (WIFI) บนรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. คือ ในการเข้าเล่นอินเตอร์เน็ตในแต่ละครั้งจะมีเวลาให้ 15 นาที เมื่อหมดเวลาแล้ว ระบบจะตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แต่ถ้าผู้ใช้บริการต้องการเล่นอินเตอร์เน็ตต่อ ก็สามารถ log in เข้าระบบได้ใหม่เรื่อยๆ แต่ขอย้ำนะคะว่า ไวไฟ (WIFI) นี้จะมีให้บริการในรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เท่านั้น      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 แอพค้นหาสายรถเมล์แบบเคลื่อนที่

เคยไหมคะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์แล้วไม่รู้ว่าต้องขึ้นรถเมล์สายไหน... มีเรื่องมาเล่าให้ฟังค่ะ หลายอาทิตย์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือเรียกว่า “รถเมล์” โดยต้องไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน และด้วยเงินเดือนของมนุษย์เงินเดือนอันน้อยนิด การใช้บริการรถเมล์ จึงถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด บริเวณที่รอขึ้นรถเมล์คือ สนามหลวง หลายคนคงนึกออกใช่ไหมค่ะ ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างก็คือไม่รู้จะขึ้นสายไหน พยายามยืนมองป้ายข้างรถทุกคันที่ผ่านว่ามีจุดหมายที่เราต้องการไปหรือไม่ บอกได้คำเดียวว่าเก็กซิม เพราะก็ยังหาคำตอบที่ต้องการไม่ได้อยู่ดี กระวนกระวายอยู่สักพัก พยายามนึกเบอร์สอบถามสายรถเมล์ ก็นึกไม่ออก เลยได้แค่ยืนรอให้มีสติไปอีกสักพัก หลายคนคงสงสัยว่าทำไมไม่ถามคนที่อยู่ที่ป้ายรถเมล์ ต้องบอกว่าช่วงเวลาที่ยืนรอรถเมล์นั้น เวลาประมาณ 20.30 น. ไม่มีใครเหลือเลยค่ะ แต่ด้วยความฉลาดส่วนตัวทำให้นึกขึ้นได้ว่าโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนน่าจะช่วยได้ ด้วยความขวนขวายจึงทำให้เจอเครื่องมือที่ช่วยเหลือให้การเดินทางครั้งประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง แอพพลิเคชั่นจะช่วยเหลือเรื่องการโดยสารรถเมล์ได้ดีทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า“รถเมล์” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ในแอพพลิเคชั่นจะมีฟังก์ชั่นด้านล่างให้เลือก 4 ฟังก์ชั่น อันที่หนึ่งจะเป็นการค้นหาโดยใช้หมายเลขสายรถเมล์ ฟังก์ชั่นนี้จะช่วยได้ตอนที่ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แล้วนำหมายเลขสายรถเมล์ที่อยู่ตรงป้ายมาค้นหาว่าสายดังกล่าววิ่งไปที่ใดบ้าง อันที่สองจะเป็นฟังก์ชั่นป้ายหยุดรถ และอันที่สามจะเป็นฟังก์ชั่นชื่อถนน ถ้ามีชื่อสถานที่หรือชื่อถนนสามารถพิมพ์ลงในช่องค้นหาได้ทันที จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะค้นสายรถเมล์มาให้ เพื่อให้เข้าไปดูเส้นทางการเดินรถว่าใช่ที่ต้องการหรือไม่ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าชื่อจุดหมายปลายทางจะเป็นในส่วนของป้ายรถเมล์หรือชื่อถนน ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นที่สี่เพื่อค้นหาได้เช่นกัน โดยในทุกฟังก์ชั่นที่ทำการค้นหานั้น เมื่อคลิกเลือกสายรถเมล์แล้ว ภายในนั้นแอพพลิเคชั่นจะแจ้งเส้นทางเดินรถของสายรถเมล์นั้นว่าผ่านสถานที่ใดบ้าง ทั้งในขาเข้าเมืองและขาออกเมือง พร้อมทั้งระบุเวลาการวิ่งรถว่าเริ่มและสิ้นสุดการวิ่งรถเมล์กี่โมง นอกจากนี้ถ้ายังไม่แน่ใจว่ารถเมล์สายนั้นผ่านตรงบริเวณที่ต้องการจะไปหรือไม่ สามารถกดเข้าไปที่แผนที่ หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางการเดินรถในรูปของแผนที่ได้ด้วย การโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ ถือว่าได้ช่วยมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการใช้รถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ได้มากทีเดียว และวันนั้นแอพพลิเคชั่นนี้ก็ช่วยทำให้เลือกสายรถเมล์ได้ถูกต้องและถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่หลงทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสต่างแดน

รถเมล์ในเมืองหลวง กระแสต่างแดนฉบับนี้พาคุณไปดูความเคลื่อนไหวของวงการรถโดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปพบกับเรื่องเด่นประจำฉบับที่ว่าด้วยสถานการณ์รถเมล์โดยสารในกรุงเทพมหานครของเรา เริ่มจากสิงคโปร์ ต้องยกให้เขาจริงๆ เรื่องความเป็นเลิศในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่นักข่าวหลายสำนักจัดให้อยู่ในสิบอันดับที่ดีที่สุดของโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนสิงคโปร์เองยังไม่ค่อยพึงพอใจกับบริการรถเมล์ของเขาเท่าที่ควร เพราะยังต้องรอ “นานเกินไป” รัฐจึงต้องออกมาตรการ “ทำดีได้ ทำร้ายเสีย” เพื่อเพิ่มอัตราการตรงต่อเวลา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีทีเดียว ผลการประเมินระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาพบว่า เวลารอรถเมล์ลดลงประมาณ 12 – 36 วินาที(ย้ำวินาที) บริษัท SBS Transit ได้รับเงินรางวัลประมาณ 17 ล้านบาท จากการทำให้รถเมล์ของบริษัทวิ่งตรงเวลาขึ้น อีกบริษัท คือ SMRT Corp ก็ไม่น้อยหน้า ได้ไปประมาณ 8.3 ล้านบาท เช่นกัน บริษัทจะได้รางวัล 6,000 เหรียญ(ประมาณ 145,000 บาท) ทุกๆ 6 วินาทีของ “เวลารอรถเมล์” ที่ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน บริษัทจะถูกปรับ 4,000 เหรียญ(ประมาณ 96,000 บาท ต่อทุกๆ 6 วินาทีที่คนต้องรอนานขึ้นด้วย และเพื่อให้ได้บริการที่ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการแข่งขันด้วยการเปิดให้เอกชนที่มีรถเมล์ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 250 คันเข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถ ในเบื้องต้นมี 3 แพ็คเก็จ เริ่มจากบูลิมแพ็คเก็จที่มี 26 เส้นทาง ซึ่งข่าวระบุว่ามีผู้สนใจร่วมประมูลถึง 11 เจ้า ตั้งแต่เจ้าเก่าอย่าง SBS Transit และ SMRT Corp ไปจนถึงผู้ประกอบการผลงานเยี่ยมจากจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียด้วย ใครจะเป็นผู้ได้เซ็นสัญญาต้องติดตามในปลายเดือนพฤษภาคม มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จัดว่ามีเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่ดีอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาเรื่องการวางผังเมือง สภาพการจราจรที่หนาแน่น และความสะดวกในการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพการเดินทางบนท้องถนนโดยรถสาธารณะเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอัตราการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนต้องการลดภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น เลยทำให้ต้องยอมรับสภาพการเดินทางที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้บริการรถเมล์สายต่างๆ (ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Rapid KL) เพราะยังต้องพบกับสถานการณ์รถขาดช่วง มาช้า หรือวิ่งนอกเส้นทาง แถมยังมีประเด็นเรื่องขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2015 นี้จะต้องมีผู้คนใน Klang Valley (รวมตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์) ใช้บริการขนส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 750,000 ไปที่อินโดนีเซียกันบ้าง ล่าสุด บริษัททรานส์จาการ์ตา ผู้ประกอบการรถ BRT ในเขตเมืองจาการ์ตาซึ่งเป็นระบบ BRT ที่ยาวที่สุดในโลก(208 กิโลเมตร) ครอบคลุม 12 เส้นทาง จะเป็นผู้ดูแลการขนส่งสาธารณะทางบกทั้งหมด รวมถึงรถเมล์ร่วมบริการด้วย คนขับรถร่วมก็สนับสนุนแผนการปรับปรุงบริการรถร่วมโดยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะปัจจุบันรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร จึงเน้นรับคนให้ได้จำนวนมากไว้ก่อน อาจจะละเลยเรื่องบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ก็ลดลง พขร. รายหนึ่งบอกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเขาเคยหาได้ถึงวันละ 200,000 รูเปีย(ประมาณ 500 บาท) แต่วันนี้ถ้าได้ 100,000 รูเปีย ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว จึงคิดว่าถ้ามีเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัทก็ย่อมดีกว่าแน่นอน(พวกเขาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับทรานส์จาการ์ตา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอบรมและรับรองก่อน) เงินเดือนพวกเขาจะเป็นเท่าไรข่าวไม่ได้บอก แต่ที่แน่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำในจาการ์ตา คือ 6,000 บาท บรูไน ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีฐานะดีและนิยมใช้รถส่วนตัวก็ประกาศแผนแม่บทเพื่อยกเครื่องขนส่งมวลชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันขนส่งมวลชนในบรูไนมี 3 ประเภทได้แก่ รถโดยสาร รถแท็กซี่ และเรือแท็กซี่ ซึ่งยังมีจำนวนไม่พียงพอ ไม่ครอบคลุมเส้นทาง และยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ จึงไม่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนท้องถิ่นและคนต่างชาติ สิ่งที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ คือเส้นทางรถ BRT จำนวน 4 เส้นทางในเขตบรูไน-มัวรา รวมความยาว 48 กิโลเมตร ที่จะมีรถออกทุก 4 นาที และในนั้นก็มีเส้นทางที่สำรวจพบว่ามีผู้คนใช้มากที่สุดนั่นคือ ระหว่างมัสยิดทอง Masjid Jame'Asr Hassanil Bolkiah Mosque กับโรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital ที่รองรับผู้โดยสารถึง 60,000 คนต่อวันด้วย ฟิลิปปินส์ กรมการขนส่งและการสื่อสารของฟิลิปปินส์เชื่อว่า ระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงโซล ประเทศเกาหลีจะใช้ได้ดีกับการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงมะนิลา เขาต้องการลดอุบัติเหตุจากรถประจำทางและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร โดยเริ่มจากการทดลองใช้ระบบการประมูลเส้นทางรถเมล์ C5 ในเขตตัวเมืองของมะนิลา ระบบเดิมของเขาคือ คนขับรถจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อจบ “กะ” ของตนเองในแต่ละวัน แต่ในระบบใหม่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือกับคนขับในบางเส้นทางเพื่อให้สามารถออกรถตามกำหนดเวลา ไม่ต้องถ่วงเวลาเพื่อรอรับคนหรือขับเร็วขับแซงเพื่อแย่งลูกค้าจากรถคันอื่น  ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากวุฒิสมาชิกให้จ่ายค่าตอบแทนคนขับรถเป็นเงินเดือนที่แน่นอน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาแล้ว กัมพูชา กัมพูชาเตรียมเปิดบริการรถสาธารณะอีกครั้ง(หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วเปิดดำเนินการได้เพียง 2 เดือนก็ต้องพับไป) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคัน และรถยนต์อีก 300,000 คัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะเลิกการใช้มอเตอร์ไซค์แล้วหันมาใช้บริการสาธารณะแทน รัฐมนตรีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคราวก่อนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะผู้คนยังติดกับการมีรถมาส่งถึงหน้าบ้าน ไม่ชอบเดินไกล จึงไม่ชอบขึ้นรถเมล์ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา มีรถปรับอากาศ 10 คันทดลองให้บริการระหว่าง 5.30 น. – 16.30 น. บนถนนมณีวงศ์ ด้วยค่าโดยสาร 1,500 เรียล (12 บาท) ตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “โมโตดุ๊บ” ถึง 5 เท่า ถ้าได้ผลตอบรับดีเขาก็จะพิจารณาเพิ่มรถและเพิ่มเส้นทางอีกที เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การขนส่งมวลชนยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้า รถส่วนตัวยังเต็มท้องถนน เวียดนามยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถ BRT ในเขตเมืองและยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถโดยสารสาธารณะ นักวิจัยจากโครงการลดความแออัดของการจราจร ระบุว่าในช่วงปี 2011 – 2015 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองนี้จะมีไม่เกินร้อยละ 15 ของความต้องการในการสัญจรไปมาเท่านั้น ที่ผ่านมาเทศบาลโฮจิมินห์ซิตี้ มุ่งแต่เรื่องการปรับปรุงสภาพรถ(มีการชงเรื่องขอจัดซื้อรถเมล์ใหม่ 1,670 คัน) แต่ถึงจะปรับปรุงสถานีขนส่งหรือเพิ่มบัสเลนแล้วก็ตาม ในปี 2015 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพียง 707 ล้านคน หรือร้อยละ 11.5 ของความต้องการในการเดินทางเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการไม่จำกัดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ กรมการขนส่งจึงเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถใหม่ เพิ่มภาษี คิดค่าจอดรถ รวมถึงจำกัดพื้นที่จอดรถบนทางเท้าด้วย

อ่านเพิ่มเติม >