ฉบับที่ 105 รถเข็นเด็ก: อันตรายจากสารเคมีที่แอบแฝง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการรายการข่าวหลายช่องได้นำเสนอข่าวอุบัติเหตุสุดช็อคที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย กรณีที่รถเข็นเด็กไถลจากชานชาลาและคว่ำลงในรางรถไฟจังหวะเดียวกับที่รถไฟวิ่งเข้าชานชาลาพอดี เดชะบุญเด็กน้อยไม่เป็นอะไรมากนอกจากหัวโน เนื่องจากคุณแม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยไว้ทำให้เด็กไม่กระเด็นหลุดออกมานอกรถเข็นขณะโดนกระแทก (ตามข่าววันที่ 16 ตุลาคม 2552)  ไม่ว่าคุณแม่คนดังกล่าวจะเลือกใช้รถเข็นเด็กยี่ห้ออะไร แต่ถือว่ารถเข็นยี่ห้อดังกล่าวใช้ได้ครับ เพราะมีความแข็งแรงมากพอจนสามารถป้องกันเด็กจากอุบัติเหตร้ายแรงได้ พูดถึงเรื่องของรถเข็นเด็ก ในเยอรมนีก็ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอย่างมาก มีการทดสอบสินค้าประเภทนี้เฉลี่ยแล้วปีละครั้ง แต่ละครั้งที่ทดสอบก็จะพบข้อบกพร่องมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งทางผู้ทดสอบก็จะแจ้งให้ผู้ผลิตรับทราบ ซึ่งผู้ผลิตของเยอรมนีเองก็ไม่เคยเพิกเฉย และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับผลการทดสอบเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีเองก็ขึ้นชื่อว่ามีมาตรการควบคุมและบังคับอย่างเข้มข้น สำหรับเมืองไทยของเรานั้น หากมีการร้องเรียนหรือการแจ้งข้อมูลจากผู้บริโภค/สื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรมีมาตรการรับผิดชอบหากพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปไม่เกิน 7 วัน แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เกิดข้อบกพร่องเสียหายซึ่งมาจากการผลิต ก็ควรจะเปลี่ยนสินค้าอันใหม่ให้เลย หลายครั้งที่ผู้เขียนมีประสบการณ์จากเพื่อนฝูง พี่น้องมาปรารภเกี่ยวกับการซื้อสินค้ามาใช้ไม่นานแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนบางอย่างเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ซื้อเองต้องการจะเปลี่ยนสินค้าเป็นชิ้นใหม่แต่ผู้ขายไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทำได้แค่เพียงส่งซ่อมและแก้ไขให้เท่านั้น บางกรณีอ้างว่า ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเงินสด (ใช้บริการผ่อนชำระ 0% ทำให้เสียสิทธิ!!!) ซึ่งการเปลี่ยนสินค้าให้แบบไม่มีเงื่อนไขคงไม่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการเพราะโอกาสเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ (หากเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง สินค้าชิ้นนั้นควรได้รับการตรวจสอบ เพราะอาจจะผลิตไม่ได้มาตรฐานจริงๆ) ลองติดตามดูข่าวคราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในบ้านเรายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวเลยครับ แต่เรื่องลักษณะนี้ก็มีเกิดขึ้นในสังคมอยู่เป็นประจำ สำหรับผมนั้นก็จะนำข่าวเหล่านี้มาเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบเป็นระยะๆ ครับ และหวังว่าการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลต่อความรับผิดขอบของผู้ผลิตในเมืองไทย ตามมาตรฐานสากล สมกับที่ได้ตรามาตรฐาน ISO ซึ่งผู้ผลิตบ้านเราพยายามทำหรือหาวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งมาตรฐานนี้ สำหรับมาตรฐานของฝรั่งที่ไม่ได้ออกเป็น ISO แต่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ผลิตคือ การรับผิดชอบสินค้าที่ผลิตขึ้นและพบข้อบกพร่อง โดยการรับเปลี่ยนสินค้าแบบไม่มีเงื่อนไข และหากผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขจริยธรรมแบบฝรั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไหร่ คงต้องดูกันต่อไปครับ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ฉบับนี้ผมนำเรื่องผลการทดสอบรถเข็นเด็กของนิตยสาร Test เยอรมนี ฉบับเดือนกันยายน 2552 มานำเสนอครับ ผลการทดสอบพบสารเคมีอันตรายในรถเข็นเด็กถึง 10 ยี่ห้อ จากจำนวนยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ ชิ้นส่วนที่มีการตรวจพบสารเคมีอันตราย ได้แก่ บริเวณที่จับ (Handle) เข็มขัดนิรภัย เบาะคลุม และที่กันฝน ชิ้นส่วนดังกล่าวมีปริมาณสารเคมีประเภท Plasticizer หรือ Phatalate และ สารเคมีประเภท Polycyclic Aromatic Hydro Carbon (PAHC) สารเคมีกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และทำให้เป็นหมันได้ สารเคมีดังกล่าวถูกตรวจพบในกลุ่มสินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเด็กอ่อน (baby article) ได้แก่ เก้าอี้เสริมของเด็ก เก้าอี้หัดเดิน และเครื่องเขียน เป็นต้น ในการทดสอบครั้งนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นด้วย อาทิ Chlorinated paraffin, สารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) สารเคมีกลุ่ม Organozine กลุ่ม Phenol และFormaldehyde ผลการทดสอบสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่าสารเคมีที่กล่าวมานี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแบบปัจจุบันทันด่วน แต่หากสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดการสะสม สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทั้งหลายเหล่านี้ สำหรับยี่ห้อที่ตรวจพบสารเคมีอันตรายดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูได้จากข้อมูลที่เรานำมาลง และหากพบสินค้ายี่ห้อดังกล่าวมีวางจำหน่ายในประเทศไทย ก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่เลือกมาใช้งานและแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point