ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 รถยนต์หายในห้างฯ บิ๊กซี

ฉบับนี้เป็นเรื่องรถยนต์หายอีกครั้ง ในฉบับก่อนๆ ผู้เขียนเคยเขียนถึงกรณีรถยนต์หายในห้างฯ แห่งหนึ่ง   เดิมแต่ละห้างฯ ใช้วิธีการแจกบัตรจอดรถสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยพนักงานของห้าง และค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของห้างฯ  ต่อมามีรถยนต์ของลูกค้าหายโดยที่บัตรเข้าออกยังอยู่ที่ตัวลูกค้า  ในคดีนั้น ต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลให้ห้างฯ และบริษัทฯ รปภ. ซึ่งห้างฯ จ้างมาดูแลความปลอดภัยในบริเวณห้างฯ ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์คันที่หาย  ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า หากพนักงาน รปภ.ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตรวจสอบบัตรเข้าออกโดยละเอียดรอบคอบแล้วคนร้ายก็ไม่สามารถโจรกรรมรถยนต์ออกไปจากห้างได้  จึงพิพากษาให้ห้างฯกับบริษัท รปภ. ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้า  จากผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้บรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งหลายเลิกแจกบัตรเข้าออกรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้าง(คงคิดว่าไม่แจกบัตรเข้าออก ก็ไม่ต้องตรวจบัตร จะได้ไม่มีกรณีที่จะอ้างว่าห้างประมาทเลินเล่ออีก)ต่อมามีผู้บริโภคไปใช้บริการของห้างฯ บิ๊กซี แล้วรถยนต์หาย  บริษัทประกันของลูกค้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้าไปแล้วช่วงสิทธิมาฟ้องห้างฯ บิ๊กซี กับ บริษัท รปภ. เป็นจำเลยร่วม ให้ ร่วมกันรับผิด  ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 คดีระหว่าง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กับ บริษัทบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลย บริษัทพีเคเอฟเซฟตี้การ์ด จำกัด จำเลยร่วม ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ดังนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังสาขาต่างๆ ของจำเลยรวมทั้งสาขาลำลูกกาที่เกิดเหตุ  ซึ่งเป็นผู้ที่มาอุดหนุนสินค้าของจำเลย จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า หรือใช้บริการอื่นๆ หรือไม่  หากจำเลยจัดสถานที่จอดรถไว้กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบาย ย่อมดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9) , 34 ยังได้บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่า การจัดสถานที่จอดรถของจำเลยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดีจำเลยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยกันเอาเอง ได้ความจากนายชานุ หัวหน้าฝ่ายป้องกันความสูญหายของจำเลยสาขาลำลูกกาเบิกความว่า รถยนต์ของนายวินับหายไปขณะจอดอยู่ในลานจอดรถของจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552  เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุยกเลิกไปแล้ว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเคยใช้วิธีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยโดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย  แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น  การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย  และที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย และการที่นายวินัยหรือลูกค้าซึ่งทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังคงเข้ามาจอดรถเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยจะถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเองของนายวินัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ( ให้ใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 รถหายในคาร์ฟูร์ (ตอนจบ)

  มาว่ากันต่อเลยนะครับ... ...จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์  สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี  ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องมอบคืนบัตรจอดรถให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกเสียก่อนจึงจะนำรถยนต์ผ่านออกไปได้  หากไม่มีบัตรจอดรถพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกไปได้  รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้างคาร์ฟูร์เท่านั้น  บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม  แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว  ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้างคาร์ฟูร์โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า  บริเวณลานจอดรถดังกล่าว  จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างคาร์ฟูร์จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะที่เข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทั้งขณะนำรถยนต์เข้าไปจอดและขณะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และไม่มีบัตรจอดรถจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้ เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน  การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก   ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของนายสรศักดิ์จะถูกคนร้ายลักไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของนายสรศักดิ์ผ่านช่องทางออกนั้น  คนร้ายได้ขับผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้  จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร  แต่คนขับรถนิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป   จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้คือ 7978 หรือ 7879 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้างคาร์ฟูร์ทราบโดยอ้างว่าวิทยุสื่อสารของจำเลยที่ 1 แบตเตอรี่หมด   แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสรศักดิ์ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2  ดังนั้น  จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 425  โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่นายสรศักดิ์เรียบร้อยแล้ว  จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้  จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้อง  ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”  พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม  2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 2,678 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน  คดีมันพลิกครับท่าน  และปัจจุบันนี้ตามห้างต่างๆ ก็เลิกแจกบัตรก็เพราะเหตุนี้  และก็ยังมีรถหายอยู่เรื่อยๆ หายแบบว่าไม่มีบัตร   ตอนนี้มีคดีฟ้องห้างดอกบัว คดียังอยู่ศาลชั้นต้น  คงต้องรอฟังศาลฎีกาต่อไปว่าจะออกอย่างไรแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 รถหายในคาร์ฟูร์

  ฉบับนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อของในห้างคาร์ฟูร์ พอซื้อเสร็จออกมาพบว่ารถหาย โชคดีหน่อยที่ผู้บริโภครายนี้ได้ทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บริโภคแล้ว ช่วงสิทธิมาฟ้องตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยจนกระทั่งเจ้าของห้าง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็ไม่ย่อท้อสู้ขาดใจยื่นฎีกา ซึ่งผู้เขียนจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับล่าสุดนี้ จัดเต็มให้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2543 คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ กับ นายธนพล วอนวงศ์ กับพวก จำเลย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 430,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 2,687 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 432,678 บาท กับขอให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ  โจทก์อุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ  โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลา 19 นาฬิกาเศษ นายสรศักดิ์ จันทร์แสงวัฒนา ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี ไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 โดยรับบัตรจอดรถแล้วนายสรศักดิ์ขึ้นไปซื้อของในห้างเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ต่อมามีคนร้ายลักรถยนต์ของนายสรศักดิ์ขับรถหลบหนีผ่านจุดทางออกของลานจอดรถที่จำเลยที่ 1ประจำอยู่โดยไม่มีบัตรจอดรถคืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่นายสรศักดิ์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายสรศักดิ์มาฟ้องลาเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องตรวจตรารถยนต์เข้าออกว่าจะต้องคืนบัตรจอดรถเมื่อมีคนขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถและบัตรนั้นต้องมีหมายเลขทะเบียนตรงกับหมายเลขทะเบียนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเขียนไว้ในบัตรจอดรถขณะที่ขับรถเข้ามาจอด หากไม่มีบัตรจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่อนุญาตให้ลูกค้านำรถยนต์ออกไปได้ จนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ  เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้....ว่า คดีนี้ไม่อยากตัดทอน เพราะเป็นที่มาที่ห้างในปัจจุบันไม่มีบัตรเข้าออกแบบนี้อีก ไปตามต่อกันฉบับหน้านะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >