ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >