ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสต่างแดน

ดื่มตามลำดับทิม ฮันท์ บรรณาธิการร่วมของนิตยสาร Ethical Consumer ชักชวนให้คนอังกฤษเปลี่ยนจากการเดินเข้าร้านกาแฟใหญ่ๆ ด้วยความเคยชิน ไปอุดหนุนร้านกาแฟอิสระเจ้าเล็กบ้างการสำรวจโดยนิตยสารดังกล่าวพบว่าร้านอย่างสตาร์บัคส์  คอสตา  หรือคาเฟ่เนโร ได้คะแนนจริยธรรมการประกอบการในอันดับต่ำมากเมื่อเทียบกับร้านกาแฟเจ้าเล็กกว่าในขณะที่ร้านที่ได้คะแนนความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นคือ ร้านโซโห คอฟฟี่  เอสไควร์ คอฟฟี่ และเอเอ็มที คอฟฟี่  คุณฮันท์เขาบอกว่าร้านพวกนี้ไม่เคยเลี่ยงภาษี แถมยังใช้เมล็ดกาแฟที่จัดซื้อมาด้วยราคาเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านโซโห ที่ใช้ชา กาแฟ และผงโกโก้ที่มีตรารับรอง “Fairtrade” หรือ “การค้าที่เป็นธรรม” ทั้งสิ้น หรือร้านเอเอ็มที ที่ใช้นมออร์กานิกเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มในทางกลับกัน ร้านใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ กลับละเมิดข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ยกเลิกการจ่ายค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน และไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะจัดหาน้ำมันปาล์มจากแหล่งที่ถูกที่ควร ส่วนคาเฟ่เนโร และคอสตา คอฟฟี่ ก็แทบไม่มีหลักฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย    ที่สำคัญ สามเจ้านี้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขาทั่วอังกฤษจะไม่บอกก็กระไรอยู่ว่าเจ้าที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ Harris + Hoole ของเทสโก ที่สร้างภาพว่าเป็นแบรนด์กาแฟอิสระ เจ้านี้ไม่มีข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม จริยธรรม หรือการจัดซื้อที่ชัดเจนเลย     ขอถนนเพื่อคนเดินบ้าง“ร้อยละ 92 ของผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนในซิดนีย์ทุกวันนี้เป็นคนเดินเท้า แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกปฏิบัติต่อราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง” นี่เป็นคำถามจาก โคลเวอร์ มัวร์ ผู้ว่าการเมืองซิดนีย์  เธอยังสงสัยต่อไปว่า ทำไมเวลาในการยืนรอข้ามถนนถึงนานกว่าระยะเวลาที่รถติด ระยะเวลาที่ให้เดินข้ามก็สั้นกว่าเวลาที่ปล่อยให้รถวิ่ง ... เราจัดลำดับอะไรผิดหรือเปล่า?คงมีหลายคนข้องใจเหมือนๆกัน จึงทำให้ในที่สุดเทศบาลเมืองซิดนีย์วางแผนจะเพิ่มและปรับปรุงทางเท้าและทางข้ามถนน โดยใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 400 ล้านบาท)โครงการที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านเหรียญ (1,600 ล้านบาท) นี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เดินทางด้วยเท้า ลดเวลาการเดินทาง ขยายทางเท้า และทำให้การทางเดินไปยังร้านค้าต่างๆ สะดวกสบายขึ้น ที่สำคัญคือต้องลดอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดกับคนเดินเท้าลงให้ได้ร้อยละ 50 แม้ว่าจำนวนคนถูกรถชนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังน่าตกใจ เช่น ในรัศมี 400 เมตรจากสถานีรถไฟเซ็นทรัล มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 131 คน และในรัศมี 300 เมตรจากศาลาว่ากลางเมืองซิดนีย์มีคนเดินที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 142 คน ดราม่าบะหมี่ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผู้คนทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะทั้งสะดวก อร่อย และถูกคนจีนบริโภคบะหมี่ดังกล่าวปีละ 40,000 ล้านซอง (ครึ่งหนึ่งของบะหมี่ที่ชาวโลกบริโภค) แต่เสน่ห์ของอาหารเส้นชนิดนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรายได้น้อย ข่าวบอกว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2014 ยอดขายลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะคนจีนเริ่มมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารขยะ ที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจได้ถ้าบริโภคบ่อยเกินไป ปัจจุบันจีนมีผู้ผลิตบะหมี่เจ้าใหญ่อยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ Uni-President China และ Master Kong (บริษัทบะหมี่ถึงร้อยละ 90 ปิดกิจการไปในช่วงปี 2000 ถึง 2010) นอกจากนี้รายงานจากนีลเซนยังพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ไม่มีสารปรุงแต่ง หรือไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมด้วย   นอกจากความกังวลเรื่องสุขภาพแล้ว การสำรวจโดย China Confidential ยังพบว่า แรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมากที่สุด มีการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองเล็กๆ ในขณะที่บริษัทบะหมี่ยังคงทำการตลาดอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้นแต่เดี๋ยวก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไฮเอนด์ที่นำเข้าจากเกาหลียังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะกระแสความนิยมละครทีวีของเกาหลีที่ยังแรงไม่หยุดนั่นเอง บิดลดควันเวียดนามมีแผนจะทำให้ร้อยละ 20 ของรถจักรยานยนต์ลดการปล่อยควันเสียลงให้ได้ภายในปี 2013 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มกันใหม่ ด้วยมาตรการตรวจควันเสียดานังจะเป็นเมืองแรกที่มีมาตรการบังคับดังกล่าว นี่คือข้อเสนอต่อกระทรวงขนส่งที่ระบุว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป จะต้องนำรถเข้ารับการตรวจควันปีต่อมาจะขยายผลไปยังรถที่อายุ 5 ปีขึ้นไป และภายในปี 2020 แผนนี้จะถูกนำไปใช้ในเมืองฮานอย ไฮฟอง เกิ่นเทอ และโฮจิมิห์นซิตี้ ด้วยเจ้าของรถคันที่ตรวจแล้วไม่ผ่าน จะต้องนำไปปรับปรุงแล้วมารับการตรวจวัดใหม่ ถ้าผ่านก็จะได้ตรารับรองไป ใครไม่ยอมปรับปรุงและยังขับขี่รถที่ไม่มีตรารับรอง ก็จะโดนปรับชาวบ้านโอดว่าค่าธรรมเนียมรถมอเตอร์ไซค์ที่จ่ายอยู่จะไม่ยิ่งสูงไปกว่าเดิมหรือ แต่ทางการยืนยันว่าค่าตรวจสอบรายปีนั้นไม่เกิน 150,000 ดอง (230 บาท) ว่าแล้วเขาก็บอกว่ากำลังจะขอความร่วมมือจาก ฮอนดา ซูซูกิ พิอาจิโอ และยามาฮา ให้ช่วยตั้งสถานีตรวจควันด้วยสาเหตุที่เลือกดานังเป็นเมืองแรกเพราะขนาดประชากรที่พอเหมาะ (1 ล้านคน) และการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานรัฐ และเมืองนี้มีจักรยานยนต์ 713,000 คัน งดขายงดดื่ม         พรรคอิสลามของอินโดนีเซียเสนอให้มีการห้ามผลิต ขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอลมากกว่าร้อยละ 1 และให้มีโทษจำคุกถึง 2 ปีสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่อาจจะประกาศใช้ภายในสิ้นปี 2015 ระบุว่า การห้ามดังกล่าวเป็นไปเพื่อสุขภาพมากกว่าเรื่องของศีลธรรม แต่มียังข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเขาบอกว่าอาจจะต้องยกเว้นให้กับโรงแรมห้าดาวและเกาะบาหลี เพราะ “คนตะวันตกนั้น มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต”ด้านสมาคมผู้ผลิตก็บอกว่าการสั่งแบนดังกล่าวอาจทำให้มีคนตกงานกว่า 200,000 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งเบียร์สัญชาติอินโดนีเซียอย่าง บินตัง (ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือไฮเนเก้น) ไปจนถึงเครื่องดื่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างคาร์ลสเบิร์กและดีอาจิโออินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน และมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันรั้งอันดับ 10 ของเอเชีย 

อ่านเพิ่มเติม >