ฉบับที่ 182 รู้เท่าทันย่านาง

ทุกวันนี้มีการส่งเสริมการใช้ย่านางกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การนำมาคั้นเป็นน้ำย่านางสดๆ สีเขียว แช่เย็น แคปซูลใบย่านาง และชาวบ้านได้พัฒนาการสกัดด้วยวิธีการต่างๆ นำสารสกัดมาทำเป็นน้ำดื่มใสๆ สเปรย์น้ำใบย่านาง สบู่ เป็นต้น โดยมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ ตั้งแต่ การปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะไม่สมดุลจากร้อนเกิน คลอโรฟิล สารต้านอนุมูลอิสระ ให้ความสดชื่น ฟื้นฟูพลัง บางคนอ้างว่าน้ำใบย่านางสามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้มากกว่า 32 อาการ เรามารู้เท่าทันน้ำใบย่านางนั้นดีจริงหรือ การใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน การใช้ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ตามภูมิปัญญานั้น ยาพื้นบ้านไทยใช้รากแก้ไข้ แก้ร้อนใน ในทางเภสัชวิทยาสารสกัดเมทานอลของรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาเลเรียในหลอดทดลอง สารสกัดรากย่านางยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านออกซิเดชั่น ในตำราสรรพคุณยาไทยว่า รากย่านางมีรสขมจืด แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ถอนพิษสำแดง มีงานวิจัยรองรับความเชื่อหรือไม่ พบว่ามีการศึกษาวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้มาตรฐานคือ Pubmed มีบทความวิชาการที่เกี่ยวกับย่านาง 10 บทความ สรุปสาระสำคัญได้ว่า   1. สารสกัดย่านางมีฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติของการทำงานของสมองที่เกิดจากแอลกอฮอล์ในหนูทดลอง แต่จำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจกลไกและสารออกฤทธิ์ 2. สารสกัดใบย่านางด้วยน้ำเป็นสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เป็นหลักและมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้สูงในการทำสารสกัดใบย่านางให้แห้งด้วยการอบแห้งแบบพ่นฝอยและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยการบรรจุในแคปซูล 3. สารสกัดย่านาง (Bisbenzylisoquinoline alkaloids) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยยาห้ารากหรือเบญจโลกวิเชียร ซึ่งประกอบด้วย มะเดื่อชุมพร ชิงชี่ เท้ายายม่อม คนทา ย่านาง พบว่า 1. การใช้สารสกัดยาห้ารากนั้นมีผลในการลดอาการคันและอาการแพ้ของผิวหนังต่างๆ 2. สารสกัดเมทานอลยาห้ารากนั้น ย่านางและเท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสูงสุด   การศึกษาความเป็นพิษของย่านางนั้นค่อนข้างปลอดภัย สรุปได้ว่า สารสกัดใบย่านางนั้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง รักษาความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาอีกด้วย ดังนั้น น่ายกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านที่พัฒนาการใช้น้ำใบย่านางอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชนในการดูแลสุขภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากใบย่านางให้เป็นน้ำดื่มต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิผลสูงและราคาถูก การรักษาวัณโรคที่ดื้อยา และการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้ประชาชนคาดหวังมากเกินไป และทำให้หมดความเชื่อถือภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีคุณค่า  

อ่านเพิ่มเติม >