ฉบับที่ 259 ใต้หล้า : กว่าฝนจะตกทั่วฟ้า

        สังคมไทยมีรากเหง้าที่ผูกพันกับธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยริ้วรอยที่เห็นในความเปรียบสำนวนและพังเพยต่างๆ บ่งบอกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน         และในขณะที่ผู้เขียนยกร่างต้นฉบับบทวิจารณ์ละครอยู่ ณ ขณะนี้ ก็เป็นช่วงจังหวะที่ฟ้ากำลังฉ่ำฝน เพราะเมืองไทยก้าวย่างเข้าสู่วสันตฤดูกันอีกคราหนึ่ง เลยทำให้ขบคิดตระหนักได้ว่า คำพังเพยของไทยที่อุปมาอุปไมยด้วยเรื่องราวของฟ้าฝนที่ชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นแบบนี้ ก็ดูจะมีอยู่ไม่น้อย         ความเปรียบว่า “ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” ที่หมายถึงการกระทำอันใดเพื่อฝากฝังไว้ก่อนลาจากไป หรือพังเพยที่ว่า “ฝนตกอย่าเชื่อดาว” อันกล่าวเตือนสติว่าไม่ควรวางใจใครจนมากเกินไป หรือแม้แต่สำนวนเชิงประชดประชันอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ซึ่งหมายถึงคนที่พลอยทำตัวเหลวไหลไม่ดีไปด้วยกัน ต่างก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยผูกพันวิถีชีวิตในช่วงหน้าฝน จนกลายมาเป็นระบบภาษาสำนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน         เมื่อผู้เขียนนั่งดูละครโทรทัศน์แนวดราม่าเข้มข้นเรื่อง “ใต้หล้า” อยู่นั้น สำนวนเปรียบเปรยว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ก็ผุดขึ้นมาอยู่ในห้วงความคิด ความหมายจริงๆ ของสำนวนนี้แสดงนัยถึงการให้หรือจ่ายแจกสิ่งใดๆ โดยไม่ทั่วถึง หรือจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการที่คนโบราณตั้งคำถามว่า การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” กันบ้างไหม         หากคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นประหนึ่งการตั้งโจทย์ว่า ตกลงแล้วฝนตกลงมาถ้วนทั่วท้องฟ้าจริงๆ หรือ ชีวิตของตัวละครที่พื้นเพเป็นคนชั้นกลางทั่วไปแต่ฐานะขัดสนอย่าง “ใต้หล้า” ผู้ต้องเผชิญมรสุมแห่งความอยุติธรรมมากมาย ก็คือการพิสูจน์คำตอบว่า ถึงที่สุดแล้ว สองมือแห่งปัจเจกบุคคลจะสามารถทำให้ฝนจากฟ้าหล่นลงมาทั่วถ้วนผืนแผ่นหล้าได้หรือไม่         ชีวิตที่ดำเนินไปของตัวละครใต้หล้าดูจะไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเขาได้โคจรมาเจอกับ “หิรัญ” ลูกชายของ “เปี่ยมยศ” นักธุรกิจรายใหญ่แห่งตระกูล “เถากุหลาบ” และอาจจะด้วยเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ แต่ขาดความรักจากบิดา และถูกเลี้ยงตามใจให้เสียคนจาก “อุษา” ผู้เป็นมารดา หิรัญผู้เกิดมาบนกองเงินกองทองจึงเชื่อว่า “เงินเนรมิตความสุขทุกอย่างในชีวิตได้”         จนกระทั่งวันหนึ่ง หิรัญเมาสุราและได้ขับรถสปอร์ตคันงามซิ่งออกไปชนกับรถยนต์ที่พ่อแม่ของใต้หล้าขับมา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเพราะ “คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้จะ “เมาแล้วขับ” จนมีคนตาย และใต้หล้าเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงความถูกต้องยุติธรรมให้กับบุพการี แต่กระนั้น กฎหมายก็ไม่อาจทำอะไรกับทายาทมหาเศรษฐ๊ ผู้ที่ประกาศเสียงก้องอยู่ในสองโสตสัมผัสของพระเอกหนุ่มว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้ เพราะอะไร…เพราะกูคือเถากุหลาบ”         เมื่อสายธารชีวิตของชายหนุ่มสองคนได้ไหลมาบรรจบพบกัน โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนกลางของเส้นเรื่อง สงครามความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงระเบิดขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สำหรับชนชั้นรากหญ้าที่สังคมมักรับรู้กันว่า “คนจนแค่หายใจก็ผิดแล้ว” นั้น ในสงครามยกแรก ฐานานุภาพทางการเงินของเถากุหลาบก็ทำให้เปี่ยมยศมั่นใจที่จะพูดกับหิรัญว่า “ไอ้เด็กนั่นมันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้”         ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ละครได้ฉายภาพจำลองวิถีปฏิบัติของคนรวยที่ใช้เงินซื้อตัว “สันติ” ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ไม่มีอะไรเลยนอกจากหนี้ติดตัว” ให้มาสมอ้างเป็น “แพะรับบาป” ติดคุกแทนหิรัญ ตามด้วยการป้องปรามและเอาคืนใต้หล้าโดยตัดอนาคตของ “ฟ้ารุ่ง” พี่สาวของเขา ทั้งล่อลวงทางเพศและกระทำกับเธอประหนึ่งวัตถุสิ่งของด้วยการติดป้ายประจานกลางหลังว่า “ขายถูก” โพสต์เป็นคลิปลงในสื่อโซเชียล         ฉากจบในสงครามยกแรกจึงลงเอยที่ใต้หล้าได้ลุแก่โทสะท้าดวลและพลั้งไปตัดนิ้วมือข้างขวาของหิรัญขาด จนทำให้พระเอกหนุ่มติดคุกเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เซ่นสังเวยให้กับความยุติธรรมที่เขาต้องการทวงถาม         เพราะ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สองปีผ่านไป ผู้ต้องขังชั้นดีอย่างใต้หล้าก็พ้นโทษ และพร้อมจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมกันอีกคำรบหนึ่ง แม้ใครต่อใครรวมทั้ง “อาม่า” จะพยายามเตือนสติเขาว่า “คิดเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม มันเกิดไปแล้ว ให้เราพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่นั่นก็มิอาจหน่วงรั้งจิตสำนึกพระเอกหนุ่มผู้ต้องการต่อสู้เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบอันไร้ซึ่งความยุติธรรมไปได้เลย         เมื่อสงครามยกใหม่ระหว่างตัวละครได้เริ่มขึ้น ใต้หล้าผู้ที่บัดนี้มีอิสรภาพและปรารถนาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ “หยาง” นายทุนจีนรายใหญ่ผู้รักในคุณธรรมความดี ไม่นานนักเขาก็ค่อยๆ มีเงินทุนและมีฐานะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมบ่งชี้ข้อพิสูจน์กับใต้หล้าว่า สำหรับคนที่เคยติดคุก หากมีคุณธรรมและความพากเพียร ก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้ทุกคน         แต่เพราะสมรภูมิความขัดแย้งของชนชั้นเองก็มิเคยเจือจางลางเลือนหายไป เมื่อเถากุหลาบเล็งเห็นว่า ธุรกิจของใต้หล้าที่เติบโตและมีกลุ่มทุนจีนหนุนหลัง เริ่มเขยิบมา “เหยียบปลายจมูก” กันแล้ว ภาพของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่จับจ้องเอาเปรียบกลุ่มคนอื่นๆ เฉกเช่นใต้หล้า จึงวนเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็นความพยายามซื้อตัวฟ้ารุ่งมาเป็นพวก การลอบวางเพลิงเผาโกดังสินค้าของพระเอกหนุ่ม การที่หิรัญส่งนิ้วมือที่ถูกตัดของเขาไปข่มขู่คุกคามอาม่าผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการที่เปี่ยมยศใช้เงินเพื่อร้อย “อากาศ” ผู้หญิงคนรักของใต้หล้าเอาไว้หลอกใช้งาน ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวนอกสมรสคนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษามารดาที่ลมหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเถากุหลาบนั่นเอง         จากนั้น สงครามแห่งชนชั้นก็ได้ดำเนินมาใกล้ฉากจบ พร้อมๆ กับใต้หล้าและฟ้ารุ่งที่บอกกันและกันว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องสองคนจะ “set zero” เริ่มต้นใหม่ เพื่อทำให้เถากุหลาบรู้ซึ้งว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” ไม่ต่างจากหยาดฝนที่ปัจเจกบุคคลต้องลงมือทำให้ตกมาจากฟากฟ้าด้วยตนเอง         จนในท้ายที่สุดของเรื่อง เราจึงได้เห็นบทสรุปที่เป็นภาพของคนผิดอย่างหิรัญถอดนิ้วปลอมออกจากมือขวา และเดินเข้าคุกเพื่อชดใช้กรรม รวมไปถึงฉากที่ “แพะ” อย่างสันติตัดสินใจขับรถพุ่งชนเปี่ยมยศจนเขาพิการตลอดชีวิต แม้ภาพจะดูรุนแรง แต่ก็บอกเป็นนัยได้ว่า ถ้าความยุติธรรมในระบบกฎหมายใช้การไม่ได้กับคนบางคน หรือถ้าหาก “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” แต่เตียงโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นคุกที่ใช้ขังคนกลุ่มนี้ได้แทน         จากคำถามที่ว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า หรือความยุติธรรมมีจริงได้บ้างไหม คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การรอคอยให้เม็ดฝนนั้นตกมาเอง แต่อยู่ที่ปัจเจกบุคคลมากกว่าว่า จะลงมือสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เฉกเช่นที่ใต้หล้าได้ชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลโพ้น และกล่าวกับอากาศผู้เป็นหญิงคนรักว่า “แม้ความยุติธรรมจะใหญ่เหมือนภูเขาลูกโน้น แต่หล้าก็อยากจะลองขยับดู”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 บาปอยุติธรรม : ความ(อ)ยุติธรรมได้ทำงานของมัน

        ในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” แห่งสังคม กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่แค่การพยายามค้นหานิยามว่า อะไรคือความยุติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเกิดมาจากการตั้งคำถามว่า สังคมทุกวันนี้ยังจะมีความยุติธรรมด้านต่างๆ ได้จริงหรือ         โดยทั่วไปแล้ว ความยุติธรรมจะมีความหมายในสองลักษณะ โดยในนิยามแรก ความยุติธรรมคือ “ความเท่าเทียม” หรือการที่ทุกคนต้องได้ต้องมีอย่างเท่ากัน กับอีกนิยามนั้น ความยุติธรรมหมายถึง “ความคู่ควร” เช่น คนที่ทำงานหนักหรือดีกว่า ก็พึงต้องได้ประโยชน์มากกว่าบุคคลอื่นๆ ด้วย         กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องความยุติธรรมหาใช่จะเป็นเพียง “ผล” ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมหรือคู่ควรแค่นั้นไม่ หากอยู่ที่ “การเข้าถึง” ซึ่งจะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วยเช่นกัน เพราะหากกระบวนการจัดการหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ยังถูกกำกับไว้ภายใต้โครงสร้างอำนาจบางอย่าง ความยุติธรรมก็ยากที่จะบังเกิดขึ้นได้จริง         หากความยุติธรรมสัมพันธ์กับโอกาสแห่งการเข้าถึงที่จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมและความคู่ควรดั่งนี้แล้ว ชะตากรรมชีวิตของตัวละครพระเอกหนุ่มอย่าง “ชิดตะวัน” ผู้ถูกตัดสินให้ติดคุกกว่า 11 ปีด้วยคดีที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด ก็คงเป็นภาพฉายให้เห็นลักษณาการอันผิดเพี้ยนของสถาบันหรือกลไกที่ทำหน้าที่สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม         ต้นเรื่องของละครเปิดฉากขึ้นด้วยภาพที่ดูสดใสอบอุ่นของตัวละครชิดตะวันนักศึกษาแพทย์อนาคตไกล ทั้งนี้ ว่าที่หมอหนุ่มไม่เพียงแต่มุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อจะเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” ของคนไข้ทั้งหลาย หากแต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความฝันที่จะได้ลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “น้ำทิพย์” แฟนสาวที่คบหากันมายาวนาน         แต่แล้วจุดพลิกผันของกราฟชีวิตก็อุบัติขึ้น เมื่อ “ชลธี” บิดาของน้ำทิพย์ถูกยิงเสียชีวิต และหลักฐานทั้งมวลได้ชี้มาที่ตัวของชิดตะวันว่า เขาคือผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียว โดยมี “บัวบูชา” เด็กหญิงวัยสิบสามปี ที่ถูก “บริบูรณ์” ผู้เป็นพี่ชาย วางแผนให้เป็นพยานชี้ตัวชิดตะวันในครั้งนั้น ทั้งที่ลึกๆ แล้ว เด็กน้อยเองก็ไม่รู้ประสีประสากับแผนการครั้งนี้         จากผู้ต้องสงสัยกลายเป็นผู้ต้องขัง จากชายผู้มีอนาคตอันสวยงามสู่ชายผู้สิ้นหวังและถูกคนรักสะบั้นความสัมพันธ์ที่คบหามา และจากโทนอารมณ์ของละครซึ่งดูสดใสในตอนต้นเรื่อง ฉับพลันกลายเป็นโทนอารมณ์ดาร์กๆ มืดมนลง ชีวิตที่ภินท์พังลงด้วยความอยุติธรรมทำให้ชิดตะวันต้องกลายเป็นนักโทษคดีฆ่าคนตาย และสูญเสียโอกาสในชีวิตไปตลอดกาล         11 ปีผ่านไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ 11 ปีที่เวลาแห่งชีวิตต้องหายไป ทนายสาว “ปลายฝน” นางเอกของเรื่อง ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชิดตะวัน และด้วยหลักฐานใหม่ที่ปลายฝนนำมาอ้างอิงเพื่อต่อสู้คดีนี้เอง ในที่สุดชิดตะวันก็ได้ออกจากเรือนจำ และได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพนอกกรงขังเป็นครั้งแรก         และพลันที่ได้ก้าวย่างออกจากเรือนจำ ชิดตะวันกลับพบว่า ความผิดเพี้ยนของระบบยุติธรรมไม่ได้แค่ทำให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพมานานกว่าทศวรรษเท่านั้น แม้แต่กับชีวิตนอกคุกของคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของเขา ก็ยังกลายเป็นเหยื่อเซ่นสรวงต่อความอยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         เริ่มตั้งแต่ “อนุพงษ์” ผู้เป็นบิดา ก็ต้องตกงานเพราะตราประทับของสังคมที่ตีค่าให้เขากลายเป็นพ่อของนักโทษฆ่าคนตาย “มาลินี” ผู้เป็นมารดา ก็ไม่หลงเหลือรอยยิ้มเพราะชีวิตถูกผลักให้อยู่ในสภาวะระทมทุกข์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และ “ศศิ” น้องสาวคนเดียวก็ต้องระเห็จลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากฐานะที่อัตคัดลงของครอบครัวจึงไม่อาจส่งเสียให้เธอศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้        ไม่ว่าความยุติธรรมจะหมายถึงความเท่าเทียมหรือคู่ควรที่มนุษย์พึงได้นั้น ชิดตะวันก็ตระหนักว่า ที่แน่ๆ ความยุติธรรมหาใช่จะ “ตกมาจากฟากฟ้า” หรือถูกจัดสรรให้มีอยู่แล้วสำหรับทุกคนในสังคม การได้มาซึ่งความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องต่อสู้ช่วงชิง “โอกาสแห่งการเข้าถึง” เพื่อให้ได้มาเท่านั้น         เมื่อสวรรค์ไม่ได้บันดาลความยุติธรรมมาให้ ชิดตะวันผู้ได้ลิ้มรสอิสรภาพเข้าไปจึงสมาทานตนที่จะสร้างโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมดังกล่าวเอง เพราะแม้จะออกจากคุกมาแล้ว แต่เขาก็บอกตนเองและใครต่อใครว่า กับชีวิตคนที่เคยถูกตีตรา “บาปแห่งความอยุติธรรม” นั้น “อดีตหนีไปไม่พ้น มันตามไปทุกที่”         เพราะตัดสินใจกลับสู่สมรภูมิช่วงชิงความยุติธรรมคืนอีกครั้ง ข้อเท็จจริงบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมา ในขณะที่ “คทาเพชร” เพื่อนวัยเด็กของน้ำทิพย์ ก็คือตัวการวางแผนใส่ความพระเอกหนุ่มเพื่อพรากหญิงคนรักมาจากเขา แต่ทว่า ยิ่งเมื่อความลับนี้ถูกสาวไส้ออกมามากเท่าไร ชิดตะวันกลับยิ่งพบว่า ความอยุติธรรมมีความซับซ้อน และเกาะเกี่ยวเป็นโครงข่ายที่กัดกร่อนรากแก้วของสังคมไว้อย่างน่าสะพรึงกลัว         แม้ด้านหน้าฉาก คทาเพชรจะเป็นอดีตศัตรูหัวใจที่ชิดตะวันต้องสัประยุทธ์ต่อกรด้วย แต่ฉากหลังอันดำมืดของคทาเพชร ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนผู้วางโครงข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ผนวกผสานเข้ากับกลไกแห่งอำนาจรัฐเอาไว้ โดยมี “สารวัตรนิติ” นายตำรวจกังฉิน กับ “เตชินท์” ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจมืด เป็นฟันเฟืองหลักที่ทำให้วงจรแห่งความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยวไป         และแม้แต่ปลายฝนเอง ก็มีความลับด้านหลังที่เธอคือเด็กหญิงบัวบูชา ผู้ชี้ตัวชิดตะวันจนเขาต้องโทษในคุกกว่าสิบปี แม้ปลายฝนจะเลือกใช้อาชีพทนายเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้พระเอกหนุ่ม เหมือนที่เธอกล่าวว่า “ความยุติธรรมมันพิกลพิการ เลยขับเคลื่อนไปช้าๆ แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันก็จะไปสู่จุดหมาย” แต่จริงๆ แล้ว จุดหมายปลายฝันที่ขับเคลื่อนไป ก็ช่างเชื่องช้าริบหรี่จนไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาเลย         หลังจากที่พระเอกหนุ่มต้องสูญเสียบิดาเพื่อเซ่นสังเวยแก่ความอยุติธรรม เพราะไปรับรู้เบื้องหลังโครงข่ายอำนาจที่กลุ่มทุนประสานประโยชน์เพื่อขูดรีดโอกาสจากผู้เสียเปรียบ ดังนั้น “หลังที่ต้องพิงฝา” หรือ “สุนัขที่ถูกบีบให้ต้องจนตรอก” เมื่อความอยุติธรรมได้แทรกซึมอยู่ในทุกองคาพยพแห่งสังคม คงมีเพียงจิตสำนึกกับสองมือของปัจเจกบุคคลเท่านั้นที่จะรื้อถอนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ “พิกลพิการ” นั้นได้         ตามสูตรเรื่องราวละครแนวดรามา ที่หลังจากตัวละครเอกต้องสูญเสียระลอกแล้วระลอกเล่า ในฉากท้ายเรื่องก็ถึงคราวที่ตัวร้ายจะต้องพบจุดจบ ไม่ตายก็ต้องติดคุกหรือถูกลงทัณฑ์ แบบเดียวกับที่ชิดตะวันได้พูดขมวดทิ้งท้ายไว้ว่า “ความยุติธรรมได้ทำงานของมัน” ภายหลังสถานการณ์ร้ายๆ คลี่คลายไปแล้ว         อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ ยังคุกรุ่นเป็นภูเขาไฟรอวันปะทุอยู่ในสังคม ละครอาจบอกนัยที่คู่ขนานไปอีกทางด้วยว่า เผลอๆ อาจไม่ใช่ “ความยุติธรรม” แต่เป็น “ความอยุติธรรม” ต่างหากกระมังที่เป็น “บาป” ซึ่งรอวัน “ทำงานของมัน” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >