ฉบับที่ 156 เข้าสู่ยุคดิจิตัล: ทางเลือกของผู้บริโภคในการรับชมรายการทีวี บทเรียนจากเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการขณะที่คนไทยต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมทีวีดิจิตัล ที่จัดการประมูลสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดีนั้น  ทางเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุค ทีวีดิจิตัล ในระบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestrial) ซึ่งรับส่งสัญญาณบนภาคพื้นดินเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเฉพาะในเขตที่เป็นชุมชนมีผู้อาศัยอย่างแน่นหนา เช่นเมืองมิวนิค มีจำนวนผู้ที่รับสัญญาณผ่านระบบนี้น้อยลง จนส่งผลให้สถานี RTL (Royal Television Luxemburg) ได้ใช้อ้างเพื่อที่จะระงับการส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้กลุ่มทุนสื่อของ ProsiebenSat 1 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชน เข้าใช้ช่องสถานีที่ว่างลง โดยได้เล็งเห็นว่าในอนาคต การรับส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดินนั้นจะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์สามารถส่งสัญญาณในระบบความคมชัดสูง (HD-TV) แต่อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่นับวันจะมีการใช้งานลดลง เป็นสิ่งที่ นักลงทุนคาดหวังและต้องการที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) หรือ  4 G ในสมาร์ตโฟนมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่สามารถรับชมรายการต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา   สิ่งที่ผู้บริโภคในอนาคตจะต้องพิจารณาก็คือ ช่องทางใดที่ผู้บริโภคจะเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ผ่านดาวเทียม ผ่านทีวีเคเบิล หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม ข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ มีช่องรายการมากมาย และสามารถรับสัญญาณได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (ฟรีทีวี) ยกเว้นช่องสถานีที่มีการส่งสัญญาณแบบความคมชัดสูง(HD) ที่มีการใส่รหัสการส่งสัญญาณที่เป็น เพย์ทีวี ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก จ่ายเป็นรายเดือน หรือ จ่ายตามรายการที่สนใจ (Pay per view) และข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ จานดาวเทียมมีระบบที่รองรับการส่งสัญญาณทั้งแบบความคมชัดสูง (HD-TV) และแบบความคมชัดธรรมดา (SD Standard Definition-TV) อยู่แล้วก็จะทำให้ต้นทุนในการติดตั้งการรับสัญญาณนั้นราคาไม่แพงเหมือนการรับสัญญาณผ่านระบบอื่นๆ ข้อเสียของทีวีดาวเทียมคือ การติดตั้งจานดาวเทียม เพราะในเยอรมนีมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในเรื่องของการติดตั้งจานดาวเทียมนอกอาคาร เพราะจะเป็นการรบกวนทางทัศนียภาพ ซึ่งปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการรวมกลุ่มติดตั้งจานดาวเทียมของผู้อยู่อาศัยในอาคาร เพื่อจะลดจำนวนจานดวเทียมในการติดตั้ง   เคเบิลทีวี มีจำนวนช่องรายการน้อยกว่าทีวีดาวเทียม แต่ช่องรายการที่มีความคมชัดสูงก็สามารถส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการรับชมรายการช่องสาธารณะ ก็สามารถรับชมผ่านทางเคเบิลทีวี (และทีวีดาวเทียม ได้ทุกช่อง การรับชมผ่านเคเบิลทีวี ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน และเนื่องจากทางผู้ประกอบการเคเบิลทีวีต้องหารายได้จากค่าโฆษณา ส่งผลให้การบันทึกรายการทีวีเคเบิลค่อนข้างยุ่งยาก คือการบันทึกรายการทีวีก็จะติดโฆษณารวมไว้ด้วย   อินเตอร์เน็ตทีวี (IPTV) ในเยอรมนีมีผู้ชมผ่านช่องทางนี้ 2-3 ล้านครัวเรือนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ตของบริษัท ด้อยทช์เทเลคอม (Entertain) และบริษัทโวดาโฟน (Vodafone TV) เมื่อเปรียบเทียบกับการรับชมผ่านเคเบิลทีวีนั้น การรับชมผ่านอินเตอร์เน็ตทีวีจะมีช่องรายการมากกว่าและการบันทึกสัญญาณนั้นสามารถทำได้สะดวกกว่า โดยสามารถบันทึกรายการเพื่อมารับชมภายหลังผ่าน ฮาร์ดดิสก์ ที่ติดมาพร้อมกับกล่องรับสัญญาณ ข้อเสียของอินเตอร์เน็ตทีวีคือ เรื่องราคา เพราะเป็นการเลือกชมรายการทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีราคาสูงที่สุด และความเร็วของอินเตอร์เนตต้องสูง ทำให้ราคาในการเลือกรับชมทีวีผ่านช่องทางนี้สูงตามไปด้วย ซึ่งในทางเทคนิค ต้องเป็นเทคโนโลยีแบบ Broadband Internet จึงจะเหมาะสมกับการเลือกรับชมผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มา http://www.test.de/DVB-T-Antennenempfang-RTL-steigt-aus-4585522-0/   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล: บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี (ตอนจบ)

สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T)  ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ตามแผนแม่บทกิจการโทรทัศน์ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนการส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล นอกจาก กสทช.ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลแล้ว หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน และต้องทำอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงงอนปัดความรับผิดชอบ ทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผลประโยชน์โดยรวมก็จะตกถึงประชาชนคนไทยตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทที่ได้ประกาศไว้   ปี 2003 ทดสอบการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในเขตพื้นที่ เบอร์ลินและพอรท์สดัม หลังจากทดสอบนานกว่า 6 เดือน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ได้นำไปสู่  โครงการนำร่องในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล ของการส่งสัญญาณทั่วประเทศเยอรมนี   ปี 2005 สถานีโทรทัศน์สาธารณะ(ฟรีทีวี) ทั้งสองช่อง คือ ช่อง ARD และ ZDF ได้ทำการตกลงร่วมกันในการติดตั้งและสร้างโครงข่ายสถานีกระจายสัญญาณให้คลอบคลุมการเข้าถึงสัญญาณ ของประชากร 90 %ทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ก็ได้มีการขยายการส่งสัญญาณออกไปยังรัฐอื่นตามมา เริ่มจาก รัฐเมคเคลนบวร์ก ทางตะวันออก และสามารถเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2008 สำหรับความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งนี้ คือการที่ประชาชนได้ตัดสินใจ ยอมรับการรับสัญญาณในระบบดิจิตอล สืบเนื่องมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ หน่วยงานกกำกับดูแลด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ให้กับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคสื่อสารมวลชน อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับสัญญาณ เนื่องจากในประเทศเยอรมนีการส่งสัญญาณภาคพื้นดินคลอบคลุมถึง 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลจึงส่งสัญญาณเป็นแบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestik*) นอกจากนี้ประชากรกว่า 30% ก็สามารถรับสัญญาณด้วยหนวดกุ้งได้ และจากรายงานของสมาคมผู้ประกอบการเครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Gesellschaft für Unterhaltungs- und Kommunikationselektronik) สามารถจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง (ข้อมูลวันที่ 21 พฤศจิกายน  2008) ซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้ ก็เป็นโทรทัศน์จอแบน ที่ได้ออกแบบมาให้สามารถรับสัญญาณแบบดิจิตอลได้ โดยไม่ต้องไปเพิ่มอุปกรณ์เสริมใดๆ อีก นอกจากนี้การรับสัญญาณโดโทรทัศน์โดยตรงผ่านคอมพิวเตอร์ แล็บทอป ก็สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอลในรถยนต์มาตั้งแต่ ปี 2002 จากข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีการติดตั้งทีวีดิจิตอลในรถยนต์ไปแล้วกว่า 550,000 คัน ในส่วนของการรับประกันคุณภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณแบบดิจิตอลนั้น ก็ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ว่าจะได้รับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งอุปกรณ์ใดๆ ผ่านการทดสอบมาตรฐานดังกล่าว ก็จะได้รับเครื่องหมายนี้ แผนการในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการส่งสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล จะต้องคำนึงถึงประเด็น Digital Divide เพราะคลื่นที่เคยใช้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (UHF: Ultra High Frequency) จะว่างลง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการใช้คลื่นความถี่นี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างสูงสุด และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึง ความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค สร้างภาระและข้อจำกัดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ -------------- หมายเหตุ : ระบบการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลของเยอรมนีจะมี 3 ประเภทได้แก่ DVB-T: Digital Video Broadcast-Terrestrial การส่งสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB-S: Digital Video Broadcast-Satellite การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบดาวเทียม DVB-C: Digital Video Broadcast- Cable การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบเคเบิล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล : บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี

คดีระหว่างองค์กรผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3, 5 ช่อง 9 อสมท. และกองทัพบกยังไม่จบครับ แม้นจะเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ยอมออกคำสั่งคุ้มครอง โดยศาลให้เหตุผลว่าหากศาลมีคำสั่งให้ทางทีวีสาธารณะเผยแพร่สัญญาณออกอากาศทุกช่องทาง อาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ UEFA สั่งระงับสัญญาณการถ่ายทอดสัญญาณได้ทันที ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจศาล และมีผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับชมบอลยูโรได้ และการที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง ก็ยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสัญญาณผ่านช่องทางอื่นได้ (ถ้ายังจำกรณีวิกฤติระหว่างประเทศทั้งสองที่เครื่องบินส่วนพระองค์ถูกทางเยอรมันอาญัติไว้เป็นการชั่วคราว จนทำให้มีหลายคนในรัฐบาลเดือดร้อนกันไปตามๆ นั้น จะเห็นได้ว่า การตัดสินของศาลเยอรมนี จะคำนึงถึงหลักนิติธรรม เป็นที่ตั้ง ในกรณีนี้ หากเป็นศาลไทยผมยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ศาลคงหาเหตุผลมาอธิบายในการที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ซึ่งประชาชนอย่างเราก็ต้องจับตามองการทำงานขององค์กรศาลด้วยเช่นกัน)   สำหรับประเด็นการทำผิดกฎหมายแล้วอยู่นอกเหนืออำนาจศาลนั้น เคยมีกรณีของศาลอาญาเยอรมนี ได้สั่งให้ทางเฟสบุค ซึ่งเป็นผู้เก็บข้อมูล ไว้ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ส่งหลักฐานมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา จริงๆ แล้ว หากศาลของเรามีความตั้งใจจริงในการไต่สวน เพราะในคดีผู้บริโภคก็ได้เปิดช่องไว้เช่นกันนั้น น่าจะลองทำดู โดยการส่งหนังสือเรียก  UEFA มาเป็นพยานให้การ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ที่ในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องพรมแดนและขอบเขตอำนาจศาล ในประเด็นการทำผิดหรือละเมิด ในโลกไซเบอร์อย่างแน่นอน สำหรับบทความในวันนี้ จะแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestic: DVB-T) ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ใครอยากเตรียมความพร้อม ในเรื่องนี้ ผมจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆ เพราะขณะนี้ไม่มีองค์กรไหนที่ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาได้เลย  เป็นเรื่องที่ต้องยึดถือพุทธสุภาษิตว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รายงานฉบับนี้มีทั้งหมด 21 หน้าครับ สำหรับวันนี้ผมจะสรุปให้ฟังดังนี้ บทสรุปการเปลี่ยนการส่งสัญญาณแพร่ภาพและกระจายเสียงจากอนาลอกมาสู่แบบดิจิตัล (DVB-T) ตั้งแต่ปี ค ศ. 2008 เป็นต้นมาการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณการแพร่ภาพจากแบบอนาลอก มาเป็นแบบดิจิตอลนั้น ของโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ  การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนอกจากไม่ใช่จะเป็นไปตามที่ข้อกำหนดของกฎหมายที่ระบุไว้เพียงเท่านั้นแต่ยังดีกว่าที่กำหนดอีกด้วย เพราะ การเปลี่ยนการส่งสัญญาณแต่เดิมนั้น จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในปี 2010 แต่การเปลี่ยนการส่งสัญญาณสำเร็จล่วงหน้าก่อน 2 ปี คือ ปี 2008 เนื่องจากการส่งสัญญาณภาคพื้นดินในเยอรมนีนั้น ครอบคลุมประชากรถึง 90 กว่า % ประชากรจำนวน 74 ล้านคนสามารถเข้าถึงการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (DVB-T) ผ่านเสาก้างปลา และประชากรจำนวน 24 ล้านคนสามารถรับสัญญาณด้วยเสาหนวดกุ้งได้เช่นกัน ขณะนี้ (เดือน ธันวาคม 2008) สามารถขายเครื่องแปลงสัญญาณได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค เรเนสซองส์ ของการรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน  Renaissance of the Terrestic) การตัดสินใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งสัญญาณนั้นนับได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันของตลาดการส่งสัญญาณแพร่ภาพ และมีผลต่อตลาดเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ (Mobile- TV) และโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (Portable- TV) อีกด้วย คอนเซปต์ในการเปลี่ยนการส่งสัญญาณ ปี ค.ศ. 1998 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (Bundeswirtschaftministerium) ได้นำเสนอโครงการ ความคิดริเริ่มในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (Inititative Digitaler  Rundfunk) โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเศรษฐการ และรัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนี ตลอดจนตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชน และองค์กรกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ (Federal Network Agency) และผู้ประกอบการให้บริการโครงข่ายสัญญาณ ก่อนที่จะได้ข้อสรุป การส่งสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียงมาเป็นระบบดิจิตอลนั้น ได้มีการนำเสนอโมเดลรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการทดลอง ปี ค.ศ. 1998- 2004 ได้ติดตั้งและทดสอบโครงข่ายส่งสัญญาณทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี ได้แก่ ระหว่างเมือง โวล์ฟสบวร์ก (Wolfsburg) ถึงเมือง เบรเมนฮาเวน (Bremenhaven) และระหว่างเมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) ถึงเมืองฮัมบวร์ก (Hammburg) นอกจากนี้ยังได้ทดลองส่งสัญญาณในกรุงเบอร์ลิน ตามสนธิสัญญาเชสเตอร์ (Chester Agreement) ปี 1997 การทดสอบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหาเงื่อนไข (Parameter) ที่ดีที่สุดในการส่งสัญญาณ ปี 1997-1999 ทดสอบระบบส่งสัญญาณดิจิตอล แบบ DVB-T ในย่านเมืองมิวนิค รัฐบาวาเรียทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่เมืองโคโลญจ์ ทดสอบการรับสัญญาณด้วยเครื่องทีวีแบบพกพา ภายใต้การเคลื่อนที่ความเร็วสูง(เรียกว่า การทดสอบ Maserati-Test : เนื่องจากทดสอบภายใต้การรับสัญญาณที่ความเร็วสูง เหมือนกับรถสปอร์ต Maserati) ปี 2000 มีการจัดงานงาน EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเวอร์(มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนไปเยี่ยมชมงานนี้กัน) ซึ่งทางเยอรมนีได้จัดเตรียมรถโฟล์กสวาเกน (VW) สำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองที่ไปเยี่ยมชมงานนี้ ในรถรับรองแขกบ้านแขกเมืองนั้น ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณ DVB-T จนนำมาสู่การยอมรับของระบบส่งสัญญาณและแพร่ภาพด้วยระบบนี้ วันนี้หมดเนื้อที่สัมปทานครับ ไว้มารายงานต่อคราวหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point