ฉบับที่ 249 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆก็ยังมา (1)

        โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์          กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้         แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้          ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19         มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้         น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์         ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล         รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19         ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง            กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง         มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2552 22 พ.ย. 52โพลชี้ชัด! ผู้บริโภคไม่อยากดูโฆษณาแฝงนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโฆษณาแฝง” พบว่ากว่าร้อยละ 72 ไม่เห็นด้วยกับร่างแนวทางที่ สคบ. กำลังพิจารณาว่าการปรากฏให้เห็นของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง ทำให้มีโฆษณาแฝงเกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายระบุไว้ จากการสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์รุกล้ำสิทธิของผู้บริโภค และคิดว่าควรมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้จากโฆษณาแฝงและให้มีการตรวจสอบระบบการเสียภาษีให้กับรัฐให้ถูกต้อง นางอัญญาอร กล่าวว่า “ร่างฯ นี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่กลับจะยิ่งทำให้โฆษณาแฝงมีความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะร่างแนวทางระบุให้การปรากฏของสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา ซึ่งจะยิ่งทำให้มีโฆษณาแฝงในรายการทีวีเพิ่มมากขึ้น” 26 พ.ย. 52องค์กรผู้บริโภคจี้ ก.อุตสาหกรรมเลิกใช้ “แร่ใยหิน” เหตุเป็นสารก่อมะเร็งแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคการประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 เรื่อง “ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก” โดยมีผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยพบได้ในผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน กระเบื้องปูพื้น ผ้าเบรก หรือแม้กระทั่งในเครื่องสำอาง องค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอ 10 ข้อยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีประเด็นสำคัญคือ ให้กำหนดมาตรการยกเลิกการนำเข้าภายใน 3 เดือน และยกเลิกการผลิต การจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี พร้อมทั้งยกเลิกภาษีวัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหิน และควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและชนิดของสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน 27 พ.ย. 52อย. ออกคำสั่ง! ห้ามใช้ยาแอสไพรินกับเด็กสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีคำสั่งให้ผู้ผลิตยาแอสไพรินแก้ไขทะเบียนตำรับยา ไม่ให้ใช้ แก้ปวด ลดไข้ ในเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรายย์ ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงเนื่องจากตับถูกทำลาย ทำให้สมองบวม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า มียาแอสไพรินที่ขึ้นทะเบียนโดยเป็นยาสำหรับเด็กเท่านั้น จำนวน 29 ตำรับ และตำรับที่มีข้อบ่งใช้ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 55 ตำรับ ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องมีหน้าที่แก้ไขฉลากและเอกสารกำกับยา โดยให้ตัดข้อความที่แสดงสรรพคุณที่ใช้สำหรับเด็กออกไป ซึ่งคำสั่งนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2552 หากไม่ปฏิบัติตามประกาศจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย 29 พ.ย 2552“นมหวาน” ทำร้ายเด็ก ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุว่ายังมีผู้ปกครองซื้อนมหวานให้เด็กบริโภคเป็นประจำถึงปีละ 9,924 พันตัน ผลเสียทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นทันทีจากการดื่มนมรสหวานโดยใช้ขวดนม คือเด็กจะฟันผุตั้งแต่ฟันน้ำนมยังขึ้นไม่เต็มปาก ส่งผลให้เด็กเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ปวดฟัน นอนหลับไม่สนิท การกินนมรสหวาน จะนำไปสู่พฤติกรรมติดหวานและทำให้เด็กอ้วน จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต “แม้เครือข่ายด้านสุขภาพร่วมกับ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 286 ระบุไม่ให้มีการเติมน้ำตาลซูโครสลงในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ทำให้แนวโน้มการใช้นมรสหวานเลี้ยงเด็กทารกลดลงอย่างมาก ปีละประมาณ 1,000 ตัน แต่ประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงนมผงครบส่วนสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงทำให้ยังมีทั้งนมผงรสหวานและรสจืดวางขายในท้องตลาดอีกจำนวนมาก  ร้องนายก ให้ กฟผ. คืนเงินคนใช้ไฟฟ้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มพลังงานทางเลือก ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ เพื่อขอให้ยุติการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และนำเงินที่เรียกเก็บโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งคืนให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะการจัดตั้งกองทุนเพื่อเรียกเก็บเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน ทั้งนี้ กฟผ. ได้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยเรียกเก็บเงินจากค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ซึ่งเป็นการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เครือข่ายประชาชนยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ กฟผ. ยุติการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากค่าเอฟทีโดยทันที 2.ให้นำเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ ไปแล้วทั้งหมดส่งคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเร็ว 3.ให้หามาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อการเรียกเก็บเงินสำหรับดำเนินการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยตรง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการตามที่ได้เรียกร้องจะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด กลุ่มองค์กรและเครือข่ายประชาชนก็จะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินการต่อไป เร่ง คลัง – พลังงาน ทวงเงินชาติคืนจากปตท.เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้บังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินกลับคืนให้กับประเทศ หลังจากศาลพิพากษาให้ ปตท. ต้องทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แต่จากรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนทรัพย์สินเพียงเฉพาะที่ดินเวนคืนมูลค่า 1.45 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินมูลค่า 1,125.11 ล้านบาท และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเพียง 3 โครงการ (โครงการท่าบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่าราชบุรี-วังน้อย) รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งสิ้นเพียง 16,176.22 ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่ตามรายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานว่า ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่าทางบัญชีสุทธิ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2544 จำนวน 52,393,498,180.37 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการตรวจสอบทรัพย์สินโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน พบว่ายังมีทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาเพิ่มเติมหลังการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 205,891 ล้านบาทมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายจึงต้องการเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ให้ ปตท. คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >