ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 กระแสต่างแดน

เราไม่เอารถประจำทาง เราที่ว่านี้ไม่ใช่ใคร เป็นผู้ประกอบการรถตู้โดยสารไม่ประจำทางแบบดั้งเดิมของเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางที่รัฐบาลจะจัดให้มีขึ้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายนปีนี้คนกลุ่มนี้บอกว่าถ้ามีรถประจำทางขึ้นมาเมื่อไร พวกเขาก็มีแต่เจ๊ง แต่ผู้บริโภคนั้นแสนจะยินดีที่จะได้นั่งรถประจำทางที่เชื่อถือได้ ตรงเวลาและปลอดภัย เพราะทนไม่ไหวแล้วกับบริการรถตู้ที่พวกเขาต้องเสี่ยงกับคนขับที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ขับรถก็หวาดเสียวแถมยังหยาบคายอีกต่างหากเพื่อเป็นการรองรับบรรดาแฟนๆ ที่จะมาเชียร์ทีมของตัวเองในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐอัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจึงจัดระบบการขนส่งใหม่ที่จะให้บรรดารถตู้และรถบัสที่ต่างคนต่างวิ่งกันอยู่ในขณะนี้มารวมตัวกันตั้งบริษัท โดยเจ้าของรถแต่ละคนก็จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับระยะทางสะสมที่ทำได้ (ไม่ใช่จำนวนผู้โดยสาร) และชั่วโมงทำงานจะลดลงจากวันละ 12 – 16 ชั่วโมงเหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้นแม้บริการที่เคยทำมาจะไม่เป็นที่ประทับใจเห็นๆ แต่ธุรกิจรถตู้โดยสารไม่ประจำทางนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่อนุญาตให้คนผิวสีสามารถทำได้ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงอ่อนไหวกับเรื่องนี้มากและมองว่ารัฐบาลกำลังแย่งสิ่งที่เป็นของพวกเขาไป แม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิวไปได้ 15 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มรถตู้โดยสารนั้นยังไม่ดีขึ้นเลย  ปัจจุบันร้อยละ 40 ของรถรับจ้างที่วิ่งอยู่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กนั้นเป็นรถเถื่อนด้วย ------------------------------------------------------------------------------------ ผู้ดีซื้อเพลงแพงคนอังกฤษที่ซื้อเพลงผ่านร้านเพลงออนไลน์นั้น อาจพลาดโอกาสในการประหยัดเงินไปถึงปีละ 1,200 ปอนด์ (ประมาณ 64,000 บาท) เลยทีเดียว ไม่ใช่เพราะเพลงออนไลน์ขายแพงกว่าเพลงในแผ่นซีดีตามร้าน แต่เพราะตลาดเพลงออนไลน์ซึ่งมีมูลค่าถึง 120 ล้านปอนด์นั้น ไม่มีการควบคุมราคาที่ชัดเจน จึงทำให้แต่ละร้าน (ซึ่งในที่นี้ก็คือเว็บไซต์) ตั้งราคาขายแตกต่างกันไปเว็บไซต์ www.tunechecker.com ซึ่งเป็นเว็บที่รวมร้านขายเพลงออนไลน์ และเป็นเว็บที่ทำการสำรวจดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณีอัลบั้มของไมเคิล บลูเบล ซึ่งขายในราคา 8 ปอนด์ (ประมาณ 425 บาท) ที่เว็บ iTunes แต่สามารถซื้อได้ในราคา 5 ปอนด์ (ประมาณ 265 บาท) ในเว็บอเมซอน อีกตัวอย่างคือถ้าซื้ออัลบัมเพลงฮิต 40 อัลบั้มต่อปี จากร้าน Play เพียงร้านเดียว ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินทั้งหมด 3,235 ปอนด์ (170,000 บาท) แต่ถ้าลองใช้เวลาค้นหาราคาที่ถูกที่สุดของแต่ละอัลบั้มนั้น จะใช้เงินเพียงแค่ 1,980 ปอนด์ (105,600 บาท) นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าต้องซื้อเพลงจากเว็บใดเว็บหนึ่งเท่านั้นจึงจะสามารถนำมาเล่นกับอุปกรณ์เครื่องเสียงของที่ตนมีได้  ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถซื้อเพลงจากร้านออนไลน์ร้านใดก็ได้ผลสำรวจย้ำว่าเพลงยิ่งดังก็ยิ่งมีร้านเสนอขายในราคาที่แตกต่างกันหลายระดับ ถ้าผู้บริโภครักอยู่ร้านเดียวไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งมีโอกาสเสียเงินโดยไม่จำเป็นมากขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------- สูตรใครก็ได้ แต่ต้องไม่อ้วน ข่าวเรื่องบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาผู้ผลิตขนมหวานรสช็อคโกแลตจะเข้าครอบครองกิจการของบริษัทประเภทเดียวกันที่อังกฤษ ทำให้มีคนออกมาแสดงความวิตกว่ารสชาติแบบดั้งเดิมของช็อคโกแลตอังกฤษนั้นอาจจะต้องจบสิ้นลงเขาว่ากันว่าคนสองประเทศนี้กินช็อคโกแลตกันคนละรส สูตรของทางเมืองผู้ดีนั้นเขากำหนดให้มีปริมาณโกโก้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และใช้เมล็ดโกโก้จากฝั่งตะวันตกของอัฟริกา ส่วนในอเมริกานั้นแม้จะมีส่วนผสมของโกโก้เพียงร้อยละ 10 ก็สามารถเรียกว่าช็อคโกแลตได้แล้ว และวัตถุดิบที่ใช้คือเมล็กโกโก้จากอเมริกาใต้ (แต่คนในภาคพื้นยุโรปฟังแล้วคงเชิดใส่ เพราะเขาชอบช็อคโกแลตเข้มๆ จึงต้องมีโกโก้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ของส่วนผสม)แต่ไม่ว่าจะผลิตจากสูตรไหน เจ้าช็อคโกแลตเหล่านี้หรือเรียกให้ถูกว่าขนมหวานรสช็อคโกแลต ถูกจับตามานานแล้วว่าเป็นตัวการหนึ่งทำให้เด็กและผู้ใหญ่ยุคนี้มีน้ำหนักเกินสำนักงานมาตรฐานอาหารของอเมริกาจึงกำหนดให้ภายในปีค.ศ. 2012 ขนมที่มีช็อคโกแลตเป็นส่วนประกอบจะต้องลดขนาดลงมาให้เหลือเพียงชิ้นละไม่เกิน 50 กรัม ถ้าเป็นช็อคโกแลตแท่งก็ต้องมีขนาดไม่เกิน 40 กรัมด้วย โลกจะแตกในปี 2012 อย่างในหนังเขาว่าหรือไม่เรายังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เราจะได้เห็นขนมหวานที่ขนาดเล็กลงแน่นอน -----------------------------------------------------------------   จากเครดิต สู้เดบิตปัจจุบันคนอเมริกันเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า เก้าแสนเจ็ดหมื่นล้านเหรียญ (จากตัวเลขเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551) และแต่ละครัวเรือนที่มีบัตรเครดิตประมาณ 10,679 เหรียญ (ประมาณ 350,000 บาท)ร้อยละ 78 ของครัวเรือนอเมริกัน หรือประมาณ 91 ล้านครัวเรือน มีบัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งใบ โจราธาน เลวาฟ อาจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่าประเทศอเมริกานั้นเป็นสังคมที่เน้นการบริโภคอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นบริโภคนิยมที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไปด้วยเลยทีเดียว แต่ขณะนี้คนอเมริกันหันมาใช้บัตรเดบิตกันมากขึ้น ปี 2007 มีคนใช้บัตรเดบิตประมาณร้อยละ 65 อีกหนึ่งปีถัดมาสถิติการใช้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 72 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้คนต้องการออมมากขึ้น และบัตรเดบิตก็ดูเหมือนจะเป็นการจัดการงบประมาณของตนเองได้ดีกว่า และไม่เป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้พูดถึงเรื่องบัตรเครดิตก็ต้องยกตัวอย่างพฤติกรรมของบริษัทบัตรเครดิตที่ไม่น่ารัก ที่สหภาพผู้บริโภคหรือ Consumers Union ของอเมริกา เขาประณามไว้เสียหน่อย ขณะนี้บริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายกำลังรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันยกใหญ่ พูดง่ายๆ คือรีบเก็บซะก่อนที่กฎหมายว่าด้วยบัตรเครดิตของอเมริกาจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า บางบริษัทก็ใช้วิธีหลอกล่อให้ลูกค้าต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว และหลายบริษัทเพิ่มอัตราขั้นต่ำในการชำระหนี้ขึ้นกว่าร้อยละ 250 นอกจากนี้ยังมีการใช้มุข “คืนดอกเบี้ย” เช่นบางแห่งคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 29.9 แต่อ้างว่าจะลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 10 ถ้าลูกค้าจ่ายตรงเวลา ซึ่งความจริงนี่ก็คือการแอบขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง หลายๆ แห่งที่อ้างว่าใช้อัตราดอกเบี้ยแบบผันแปร ก็ไม่ได้ใช้ในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด เพราะพวกเล่นกำหนดอัตราขั้นต่ำเอาไว้ด้วย คือสูงเท่าไรก็จะขอเก็บเท่านั้นแต่ถ้าต่ำมากเกินไปกลับไม่ยินยอม (แล้วนี่มันเป็นอัตราผันแปรตรงไหนเนี่ย) น่าจะบอกกันตรงๆ ว่าผันแปรแต่ขาขึ้นเท่านั้นก็หมดเรื่อง --------------------------------------------------------------------------------- อเมริกันชนยังต้องใช้ยาแพงต่อไปอเมริกากำลังจะออก พรบ. ปฏิรูประบบสุขภาพ ฉบับใหม่เร็วๆ นี้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 800,000 ล้านเหรียญ(26 ล้านล้านบาท) มาดูกันให้ชัดๆ ว่าอเมริกา “เปลี่ยน” ไปอย่างที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คนอเมริกันจะยังคงใช้ยาแพงเหมือนเดิม เพราะวุฒิสภาไม่รับข้อเสนอเรื่องการนำเข้ายาราคาถูกจากเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ยิ่งไปกว่านั้นอเมริกันชนยังต้องรอถึง 12 ปี กว่าจะซื้อยาสามัญประเภทชีววัตถุ (เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง) ในราคาที่ถูกลงได้ เพราะร่างพรบ.ฉบับนี้ให้สิทธิกับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อการค้าประเภทชีววัตถุ ผูกขาดการขายยาดังกล่าวได้ถึง 12 ปี แถมต่อไปนี้ อย.ของสหรัฐจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองยาประเภทชีววัตถุจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญอีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าร่างฉบับนี้ยกเลิกภาษีร้อยละ 5 ที่เคยเก็บจากบริการเสริมความงามอย่างการฉีดโบท็อกซ์ลบริ้วรอย ผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือลดไขมันหน้าท้อง ข่าวบอกว่าผู้ผลิตโบท็อกซ์รายใหญ่อย่าง Allergen Inc และแพทย์ศัลยกรรมได้ร่วมกันล็อบบี้ไม่ให้มีการเก็บภาษีจากบริการดังกล่าวโดยอ้างว่าจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมาก ข่าวบอกว่าเหตุที่รัฐบาลนี้ดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจยาและสุขภาพเป็นพิเศษนั้น น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่นายโอบามาเคยรับเงินบริจาคถึง 20 ล้านเหรียญจากบริษัทเหล่านี้ ในการรณรงค์หาเสียงในเมื่อสองปีก่อน “เปลี่ยน” ที่ว่านี่สงสัยจะหมายถึงโอกาสเข้าถึงยารักษาโรคที่น้อยลง ในขณะที่โอกาสในการเข้าถึงบริการศัลยกรรมความงามเปลี่ยนโฉมเพิ่มขึ้นนี่เอง  

อ่านเพิ่มเติม >