ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >