ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >