ฉบับที่ 244 ข่าวดีเพิ่มเติมจากยาสูบ

        ข้อมูลส่วนใหญ่ที่สืบค้นได้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลียสู้ไวรัสนั้น มักเป็นไปในด้านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนที่เป็นแอนติบอดีสู้กับเชื้อโรค (neutralizing antibody) ดังที่เล่าให้ฟังในฉลาดซื้อประจำเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ดีได้มีคำถามถึงการใช้ใบยาสูบเพื่อผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่ในวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อโรคมีบ้างไหม ซึ่งคำตอบคือ มี         บทความชื่อ Potential Applications of Plant Biotechnology against SARS-CoV-2 ตีพิมพ์ในวารสาร Trends in Plant Science ในปี 2020 นั้น ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาทางต่อสู้ covid-19 โดยอาศัยใบยาสูบช่วยในการผลิตวัคซีน ข้อความส่วนหนึ่งในบทความกล่าวประมาณว่า...         “อย่างน้อยก็มีบริษัทหนึ่งที่คิดจะพัฒนาวัคซีน covid-19 โดยอาศัยการแสดงออกของยีน (เพื่อสร้างหน่วยย่อยโปรตีนจาก SARS-CoV-2) ในใบยาสูบ บริษัทนั้นคือ Kentucky BioProcessing ในเมือง Owensboro รัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ British American Tobacco อย่างไรก็ดีรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นการใช้ลำดับโปรตีน S1 ซึ่งเป็นโพลีเป็บไทด์ที่เป็นองค์ประกอบส่วนที่แสดงความแตกต่างระหว่างหนามโปรตีน (spike protein) ของ SARS-CoV-2 และหนามโปรตีนของ coronavirus ชนิดอื่น มาถอดเป็นรหัสพันธุกรรมแล้วใส่เข้าไปในเซลล์ของใบยาสูบ เพื่อบังคับให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนซึ่งสามารถแยกออกเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่มีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อใช้ทำเป็นวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้าน SARS-CoV-2 ในคน”         กลับมาที่แอนติบอดีที่ผลิตจากใบยาสูบ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในแง่ความปลอดภัยว่าผ่านหรือไม่นั้น ในเว็บ www.sanook.com เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีหัวข้อข่าวเรื่อง บริษัทยาสหรัฐแตะเบรก ระงับการทดลองแอนติบอดีรักษาโควิด-19 เหตุกังวลความปลอดภัย บริษัทที่ข่าวกล่าวถึงคือ Eli Lilly & Co ซึ่งได้แถลงการณ์ว่า คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยด้านข้อมูลของบริษัทจาก US.FDA ได้แนะนำให้บริษัทระงับการรับอาสาสมัครทดลองการฉีดแอนติบอดีในโครงการทดลองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยแอนติบอดีชนิดนี้เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่ Eli Lilly & Co ต้องการใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควบคู่กับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences)         ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้มีข่าวปรากฏใน https://www.prnewswire.com กล่าวว่า Lilly's neutralizing antibody bamlanivimab (LY-CoV555) receives FDA emergency use authorization for the treatment of recently diagnosed COVID-19 และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในเว็บ https://www.biopharma-reporter.com มีข่าวเรื่อง Canada grants emergency use authorization to Lilly’s COVID-19 antibody, drug maker in strategic manufacturing deal with Samsung ซึ่งเป็นการแสดงว่ามีการอนุมัติแบบฉุกเฉินในการใช้ neutralizing antibody เป็นยาในคนไข้วิกฤตบางกลุ่มเป็นกรณีพิเศษแล้ว         Bamlanivimab เป็นโปรตีนแอนติบอดีที่สามารถจับตัวกับหนามโปรตีนของไวรัส เพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ โดยมีข้อแม้ในการใช้ยาตัวนี้คือ ต้องเป็นคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่หนักหรือถ้าเป็นเด็กจะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีและมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม ซึ่งแพทย์ต้องประเมินว่า ถ้าไม่ได้รับการบำบัดด้วยยานี้แล้วมีแนวโน้มว่า จะมีอาการหนักเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล        Bamlanivimab นี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยใน (Inpatient) ของโรงพยาบาลซึ่งป่วยเนื่องจาก covid-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและผู้ป่วยที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่เกิดจาก cytokine storm คือสภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและตอบสนองด้านการอักเสบแบบโหมกระหน่ำเกินภาวะควบคุมได้ ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ปอดในคนไข้หลายคน) ยานี้ผ่านการประเมินทั้ง 3 ระยะแล้วในคน แต่ผลจากการประเมินนั้น US.FDA ไม่ประทับใจนัก ซึ่งดูได้จากการกำหนดให้มีข้อแม้ในการใช้ยามากมายซึ่งหาดูได้จากเอกสารหลายชิ้นที่ Eli Lilly & Co เผยแพร่ในเว็บของบริษัท         ตัวอย่างที่สำคัญของข้อมูลที่เป็นข้อจำกัดห้ามใช้คือ ผู้ป่วยต้องไม่เป็น 1. คนขี้แพ้ (allergies) 2. คนท้องหรือเตรียมจะท้อง 3. แม่กำลังให้นมลูก 4. คนไข้โรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือ 5. ผู้ที่กำลังกินยาหรือวิตามินเสริมใด ๆ เพื่อการบำบัดโรค และที่สำคัญคือ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยจำเป็นต้องให้สู่หลอดเลือดดำโดยผ่านสายน้ำเกลือในปริมาณสูงถึง 700 มิลลิกรัมต่อ 20 มิลลิลิตร ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้ถึงขั้น “ตาย” หรืออยู่โรงพยาบาลนานขึ้น เป็นต้น         ต่อคำถามที่อาจมีคือ แอนติบอดีชนิดใดบ้างถูกใช้ในการบำบัดโรคเนื่องจากไวรัสได้จริงแล้วหรือไม่ นั้น ผู้เขียนได้สืบข้อมูลพบว่า มีหลายบทความในอินเตอร์เน็ตที่กล่าวถึงยาชื่อ ZMapp ของ Eli Lilly & Co ที่เคยมีเป็นความหวังในการใช้บำบัดโรค Ebola ที่เกิดจากไวรัสชื่อ Zaire ebolavirus โดยโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน (Human to human transmission) ผ่านการสัมผัสเมือกหรือสารคัดหลั่ง (ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ อุจจาระ อาเจียน น้ำนมหรือน้ำอสุจิ) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) และลิง เป็นต้น         อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยทั่วไปเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออกคือ มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อาการจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นมีเลือดออก ตาเหลือง ตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว นอกจากนี้ให้สงสัยไว้ก่อนในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และ/หรือ มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า เป็นผู้อาจติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โรคอีโบลานี้มีความรุนแรงมากเพราะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงราวร้อยละ 50         จากบทความเรื่อง Fighting Ebola with ZMapp: spotlight on plant-made antibody ใน Scientific China Life Sciences ของปี 2014 (doi: 10.1007/s11427-014-4746-7) และบทความเรื่อง Ebola 'Secret Serum': Small Biopharma, The Army, And Big Tobacco ในเว็บ www.forbes.com รวมถึงข้อมูลจาก Wikipedia ทำให้ประมวลรู้เรื่องของ ZMapp ว่า ยานี้ผลิตภายใต้กระบวนการแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดีซึ่งมีหลายวิธี แต่วิธีที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมของยาสูบออสเตรเลีย (Nicotiana bethamiana) นั้นเป็นความพยายามของบริษัท Kentucky BioProcessing Inc. ซึ่งหวังว่าจะเป็นยาที่อาจช่วยชีวิตชาวโลกจากโรคอีโบลา         จากข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ ZMapp นั้นกล่าวประมาณว่า โปรตีนนี้เป็นยาชีวเภสัชภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่เป็น chimeric antibodies 3 ชนิดที่ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกันเพื่อบำบัดโรคอีโบลา คำว่า Chimeric antibody นั้นหมายถึง แอนติบอดีลูกผสมที่เกิดจากการต่อโปรตีนส่วน Fab (ส่วนของแอนติบอดีที่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ซึ่งมักผลิตได้จากสัตว์ทดลอง (เช่นหนู) กับโปรตีนส่วน Fc (ส่วนของแอนติบอดีที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ของแอนติบอดีจากมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนที่ใช้เป็นยา (ในที่นี้คือ ZMabb) ให้น้อยลง         ยา ZMapp ได้รับการทดสอบกับสัตว์เท่านั้นและยังไม่ได้รับการทดลองแบบ randomized controlled trial ในคน แต่จำเป็นต้องใช้ในมนุษย์อย่างรีบด่วนเพราะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2014 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน ชื่อ Dr. Kent Brantly (อาสาสมัครวัย 33 ปีของ โครงการของ Samaritan's Purse ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์) และ Nancy Writebol (อาสาสมัครวัย 59 ปี ที่ไปทำงานช่วยคนไข้อีโบลา) ได้ติดเชื้อในระหว่างการดูแลผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย ซึ่งหลังจากได้ยา ZMapp แล้วผู้ป่วยทั้งสองอ้างว่า รู้สึกดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2014 ซึ่งเป็นข่าวโทรทัศน์ที่หาดูได้จาก YouTube เรื่อง How to grow an Ebola vaccine with a tobacco plant (https://www.youtube.com/watch?v=uCW6qeJt-JA)         National Institute of Health (หรือกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา) เริ่มดำเนินการทดลองประสิทธิภาพของ ZMapp ทางคลินิกในอาสาสมัครจากเซียร์ราเลโอน กินี และไลบีเรีย ในเดือนมกราคม 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะทดลองในคน 200 คน แต่การแพร่ระบาดของโรคลดลงส่งผลทำให้ต้องปิดการทดลองก่อนกำหนดในเดือนมกราคม 2016 โดยมีข้อมูล (ที่ไม่สามารถตัดสินทางสถิติ) ว่า ZMapp ช่วยลดอันตรายของโรคราวร้อยละ 40         แม้ว่า ZMapp เคยได้รับการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากมีประโยชน์มากกว่าผลเสียที่เป็นความเสี่ยงก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาของอุณหภูมิของการจัดเก็บระหว่างการขนส่งที่ต้องการความเย็นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม 2019 หน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก องค์การอนามัยโลกและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหยุดใช้ ZMapp จากนั้นในเดือนตุลาคม 2020 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาอีกชนิดหนึ่งในลักษณะเดียวกับ ZMapp ชื่อ Inmazeb ซึ่งเป็นของผสมของโมโนโคลนอลแอนติบอดี 3 ชนิด คือ atoltivimab, maftivimab, และ odesivimab ในการรักษาการติดเชื้อที่เกิดจาก Zaire ebolavirus         ดังนั้นโดยสรุปแล้ว แอนติบอดีสู้ไวรัสที่ผลิตโดยใช้ใบยาสูบจึงมีแค่แนวโน้มที่อาจถูกใช้ได้จริงยามฉุกเฉิน แต่ยังไม่ได้ใช้โดยทั่วไปในขณะที่เขียนบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบยาสูบสู้โควิด-19

        การวิเคราะห์เพื่อหาว่ามีสารเคมีใดอยู่ในตัวอย่างที่อาจเป็นอาหาร เลือด น้ำทิ้งจากสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ นั้นมีหลายวิธี โดยวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การประยุกต์ใช้แอนติบอดี (antibody) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะวิธีการซึ่งเรียกแบบกว้าง ๆ ว่า immunoassay นี้มีความแม่นยำ ความจำเพาะสูง เร็วและเมื่อนำมาใช้กันแพร่หลายพอจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่น         สำหรับคนไทยในยุคที่โควิด-19 เคาะอยู่ที่หน้าประตูบ้านนี้ บางคนคงพอรู้บ้างว่า แอนติบอดี คือโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ยับยั้งการรุกรานไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เหนือไปกว่านั้นบางคนอาจเคยรู้มาว่า  แอนติบอดีในร่างกายอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสารเคมีหลายประเภท เช่น สารเจือปนในอาหาร สารเคมีทางการเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้หลายชนิดไม่ได้มีความเป็นโปรตีน จึงไม่น่ามีคุณสมบัติของการเป็นแอนติเจน (antigenicity) ที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้         แต่ปรากฏว่าหลายคนที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้กลับมีโอกาสเกิดอาการแพ้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับแอนติบอดีอย่างแน่นอน) ตัวอย่างเช่น บางคนแพ้สารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งตกค้างจากกระบวนการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรม (จะเห็นว่าอาหารสำเร็จรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรปมักมีคำเตือนบนฉลากประมาณว่า อาหารอาจมีสารกลุ่มซัลไฟต์ เพื่อเตือนคนที่แพ้สารนี้)  บางคนแพ้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนบนผักและผลไม้ บางคนแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ บางคนแพ้สีย้อมผม เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มีคำอธิบายทางวิชาการว่า สารเคมีหลายชนิดนั้นมีคุณสมบัติที่เรียกว่า แฮพเทน (hapten)         แฮพเทน เป็นคุณสมบัติของสารเคมีที่สามารถเชื่อมตัวกับโปรตีนใดๆ ในน้ำเลือด แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสามมิติ (conformation) ของโปรตีนนั้นๆ ไปจากเดิม จนเซลล์ในระบบภูมิต้านทานของร่างกายจำไม่ได้คิดว่าเป็นโปรตีนแปลกปลอมจึงเริ่มกระบวนการต่อต้านเพื่อทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการที่เม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟลาจ (macrophage) เข้าทำลายในลักษณะเสมือนการฉีกโปรตีนโมเลกุลนั้นเป็นชิ้นๆ โดยบางชิ้นมีสารที่เป็นแฮพเทนติดอยู่ด้วย จากนั้นเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีจะเข้าสำรวจว่า โปรตีนชิ้นใดมีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างแอนติบอดีเข้าหาโปรตีนชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ละชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นโปรตีนที่มีแฮพเทนติดอยู่ ดังนั้นแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นมาบางส่วน จึงสามารถจับตัวกับสารที่มีคุณสบบัติเป็นแฮพเทนได้         ความรู้เกี่ยวกับความสามารถเป็นแฮพเทนของสารเคมีบางชนิดช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการผลิตแอนติบอดีต่อสารเคมีที่ไม่ใช่โปรตีน เช่น สารพิษจากเชื้อรา สารเคมีทางการเกษตร สารเจือปนในอาหาร และอื่น เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ที่ง่ายและรวดเร็วขึ้นได้         ส่วนกระบวนการผลิตให้ได้สารแอนติบอดีต่อสารเคมีใดๆ ในปริมาณมากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยาคือ cell fusion (โดยใช้สารเคมีเช่น polyethylene glycol) เพื่อควบรวมเซลล์ของสัตว์ที่สร้างแอนติบอดี เช่น เซลล์จากม้ามของสัตว์ที่ถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะกับสารเคมีที่สนใจ เข้ากับเซลล์มะเร็งบางชนิด (ที่นิยมกันคือ มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์ที่เปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง) ได้เซลล์ใหม่ที่สร้างแอนติบอดีที่ต้องการและมีการแบ่งตัวไม่หยุด (กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า การผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดี)  จึงทำให้ได้แอนติบอดีในปริมาณมากจนคุ้มทุนเกิดกำไรในทางธุรกิจตรวจวัดหาปริมาณสารเคมีที่สนใจ การสร้างแอนติบอดีจากใบยาสูบ         มาถึงศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางชีวโมเลกุลในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการผลิตแอนติบอดีแนวใหม่ที่อาศัยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมของพืช ทำให้ได้พืชหลายชนิดที่ผลิตสารแอนติบอดีจำเพาะต่อสารเคมีต่างๆ ตลอดไปจนถึงเชื้อโรคต่างๆ ในลักษณะของโมโนคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการพูดถึงการได้มาซึ่งแอนติบอดีจากใบยาสูบที่สามารถต้านเชื้อ SARS-CoV-2         ข่าวจากหลายสื่อได้กล่าวถึงนวตกรรมหนึ่งในการผลิด rapid test เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นระบุว่า มีการใช้แอนติบอดีมาตรฐานที่ผลิตได้จากใบยาสูบออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana benthamiana (มีญาติสนิทเป็นต้นยาสูบคือ  Nicotiana tabacum และ Nicotiana rustica ที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งแต่อดีตกาลนั้นชนพื้นเมืองออสเตรเลีย (Aborigines) ใช้เป็นสารกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา         ความที่พืชในตระกูลของยาสูบนั้นมีศัตรูเป็นไวรัสหลายชนิด จึงเหมาะในการศึกษาที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเพื่อพาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ ที่สำคัญคือ ยาสูบสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลีย (ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการผลิตแอนติบอดี) นั้นเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงมียีน Rdr1 (RNA-dependent RNA polymerase 1) อยู่ จึงทำให้ง่ายต่อการที่ไวรัสชนิด RNA virus เข้ารุกราน         มีบทความวิจัยหนึ่งของคนไทยเรื่อง Monoclonal Antibodies B38 and H4 Produced in Nicotiana benthamiana Neutralize SARS-CoV-2 in vitro ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Plant Science เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2020 ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ของออสเตรเลียผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดีของมนุษย์ 2 ชนิดคือ B38 และ H4 (เป็นรหัสเรียกชื่อของแอนติบอดีสองชนิดต่อโปรตีนที่เป็นหนามของไวรัส SARS-CoV-2) โดยในบทความนั้นได้กล่าวถึงการนำข้อมูลการเรียงตัวของกรดอะมิโนในโปรตีน B38 และ H4 ซึ่งถูกวิเคราะห์และเผยแพร่เป็นบทความวิจัยเรื่อง A noncompeting pair of human neutralizing antibodies block COVID-19 virus binding to its receptor ACE2 ใน www.sciencemag.org เมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนซึ่งนำทีมโดย Yan Wu (สังกัด Capital Medical University, Beijing, China) มาใช้ประโยชน์         คณะวิจัยชาวไทยที่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวในวารสาร Frontiers in Plant Science ได้ใช้เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งอาศัย geminiviral vector (เป็นไวรัสสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งมีกรดนิวคลีอิคเป็นแบบดีเอ็นเอสายเดี่ยว) พายีนที่สนใจในรูป DNA plasmid (สังเคราะห์โดย บริษัท Genewiz ในเมือง Suzhou ประเทศจีน ให้มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่อ่านผลภายในเซลล์ที่มีชีวิตแล้วได้โปรตีนที่มีลำดับกรดอะมิโนตรงกับแอนติบอดีสองชนิดคือ B38 และ H4 ตามที่ Yan Wu และคณะศึกษาไว้) เข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ         จากนั้นนักวิจัยได้นำเซลล์ใบยาสูบที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วไปเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นด้วยวิธีการทางอณูชีววิทยา ก่อนนำไปปลูกเป็นต้นยาสูบในโรงเรือนแบบปิด จนได้ใบยามากพอสำหรับการนำไปบดให้ละเอียด แล้วแยกเอาโปรตีนออกมาโดยอาศัยวิธีการ affinity column chromatography ได้สารแอนติบอดี B38 และ H4 ที่บริสุทธิ์ ซึ่งถูกนำไปทำการศึกษาถึงความสามารถในการจับตัวกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานถึงการผลิตแอนติบอดีจากพืชที่สามารถจับกับ receptor binding domain (หมายถึงหนามของไวรัส หรือ spike protein) ของ SARS-CoV-2 ในลักษณะที่เป็นการหยุดฤทธิ์ของไวรัสดังกล่าวสำเร็จ และรายงานต่ออีกว่า ได้กำลังศึกษาต่อในสัตว์ทดลองแล้ว         ในการใช้พืชผลิตแอนติบอดีเพื่อใช้ในการบำบัดโรคติดเชื้อใดๆ นั้น ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์มีคำศัพท์ใหม่คำหนึ่งคือ pharming ซึ่งออกเสียงคล้าย farming มีความหมายว่า เป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตเป็นยา โดยการอาศัยการตัดแต่งพันธุกรรมพืชใดพืชหนึ่งให้มีหน่วยพันธุกรรมเพิ่ม ที่เมื่อเซลล์ของพืชนั้นมีการอ่านรหัสพันธุกรรมที่ตัดแต่งใส่เพิ่มเข้าไปจะได้โปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นแอนติบอดีต่อจุลชีพใดจุลชีพหนึ่ง         ในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตแอนติบอดี (มีชื่อการค้าคือ ZMabb) จากใบยาสูบเพื่อสู้โรคที่เกิดจาก Ebola virus และได้รับอนุมัติแบบฉุกเฉินจาก US.FDA แล้ว นอกจากนี้ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็มีโรงงานหนึ่งที่กำลังผลิตแอนติบอดีสำหรับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นขออนุมัติฉุกเฉินในการใช้จาก US.FDA และตั้งเป้าจะผลิตแอนติบอดีสำหรับ ไวรัส AIDS, ไวรัส Herpes และอื่น ๆ ส่วนในเอเชียนั้นได้มีบริษัทผลิตยาแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาให้ใบยาสูบออสเตรเลียสามารถผลิตแอนติบอดีต่อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในหมู         ประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจคือ แอนติบอดีนั้นไม่ว่ามาจากแหล่งใดก็ตามย่อมเป็นโปรตีน ซึ่งถ้าฉีดเข้าสู่คนหรือสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ เพียงครั้งเดียวแล้วบำบัดโรคได้เลย คงไม่ก่อปัญหาทางสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าต้องใช้การฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป ร่างกายย่อมสังเกตได้ว่ามันเป็นโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งมีความเป็น แอนติเจน จึงต้องสร้างแอนติบอดีออกมาสู้ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีบำบัดโรค จึงย่อมจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ ถ้ามีการฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป  มากกว่าการใช้วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีของร่างกายเอง         ด้วยเหตุที่ข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลียผลิตเวชภัณฑ์ที่ไปต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้น มีมากมายทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ทางโทรทัศน์ และคลิปซึ่งหาดูได้ใน YouTube ประเด็นหนึ่งที่ก่อให้นักวิชาการหลายคนสับสนคือ ในการทำวิจัยต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายที่ต้องการผลิตวัคซีนหรือแอนติบอดีกันแน่         การใช้คำที่ต่างกันสับสนไปมาเกี่ยวกับการจัดการกับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นเกิดเช่นกันกับนักข่าวต่างชาติ เช่น คลิปเรื่อง “Korean researchers mass produce swine flu vaccine using tobacco leaves” ซึ่งปรากฏใน YouTube ที่เล่าถึงการใช้ใบยาสูบออสเตรเลียผลิตแอนติบอดีสำหรับสู้กับไวรัสก่อโรคปากเท้าเปื่อยในหมูที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น นักข่าวในคลิปนี้มีความสับสนในการใช้คำว่าวัคซีนในงานวิจัย ซึ่งความจริงแล้วดูเหมือนเป็นการผลิตแอนติบอดี (neutralizing antibody) ซึ่งใช้เป็นยาเพื่อจัดการกับไวรัสในลักษณะที่เรียกว่า passive immunization ไม่ใช่ผลิตเป็นวัคซีน นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูคลิปชื่อ Future jobs: Pharmer ใน YouTube ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2010 แล้ว จะพบว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย St. George's Medical School ใน London ชื่อ Professor Julian Ma ได้แสดงวิธีการผลิตแอนติบอดีต่อโรคเอดส์จากใบยาสูบอย่างคร่าวๆ ในห้องปฏิบัติการ และใช้คำว่า แอนติบอดี อย่างชัดเจนตลอดคลิป         สิ่งที่เหนือกว่าในการใช้วัคซีนต่อการใช้แอนติบอดีเพื่อสู้โรคติดต่อนั้นคือ วัคซีนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันครบทั้งระบบคือ T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอม และ B-cells ชนิดที่ถูกพัฒนาให้สร้างแอนติบอดี เหนือจากนั้นที่สำคัญคือ จะเกิดเซลล์ความจำที่เรียกว่า memory cells ทั้ง T-cells และ B-cells เพื่อสู้กับเชื้อโรคที่ต้องการป้องกันอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายถูกโจมตีนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 กระแสต่างประเทศ

เร็วทันใจคุณภาพของบริการโทรคมนาคมในฟิลิปปินส์นั้นถือว่าแย่มาก คนของเขาเป็นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่นี่กลับต่ำที่สุดในโซนเอเชียแปซิฟิก(ประมาณ 5.5 Mbps) ว่ากันว่าสาเหตุที่ช้า ค่าบริการแพง และการบริการไม่ได้คุณภาพนั้นก็เพราะมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายได้แก่ PLDT และ Globe Telecom ซึ่งมีเสาสัญญาณรวมกัน 15,000 แห่ง คนฟิลิปปินส์จึงมีเฮ เมื่อได้ข่าวว่า China Telecom จากประเทศจีนจะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ข่าวบอกว่าประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ออกปากเชิญบริษัทนี้ด้วยตัวเองเมื่อตอนที่ไปเยือนประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเขายังออกคำสั่งให้หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต  ดำเนินการ ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันเอาเป็นว่า China Telecom จะเริ่มให้บริการได้เลยในไตรมาสแรกของปี 2018 ... เร็วดีไหมล่ะ อย่างนี้ก็ได้เหรออินเดียประกาศห้ามใช้ยาเส้นหรือยาสูบแบบเคี้ยวมาตั้งแต่ปี 2013 เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมายความปลอดภัยและมาตรฐานอาหารที่ระบุว่า อาหารจะต้องไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย(เช่น ยาสูบ และนิโคติน)แต่ละปีอินเดียมีผู้ชาย 85,000 คน ผู้หญิง 34,000 คนเสียชีวิตจากมะเร็งช่องปากและคอหอย ร้อยละ 90 ของกรณีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบแต่ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจ เพราะยาเส้นที่ว่านี้ยังคงหาซื้อได้ง่ายในขนาดพอคำตามแผงข้างถนนในราคาซองละ 2 ถึง 5 บาท แถมยังมีให้เลือกหลายสูตร หลายรสชาติ ทั้งๆ ที่มีการห้ามผลิตและห้ามขาย ธุรกิจนี้กลับทำรายได้มหาศาล ค่าย Manikchand ที่ผู้ก่อตั้งเพิ่งจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งช่องปาก มีรายได้ปีละประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนี่ไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวเสียด้วย รวมกันเราแย่ศาลสูงสุดของนิวซีแลนด์ยืนยันไม่อนุญาตให้สองยักษ์ใหญ่วงการสื่อควบรวมกิจการกัน เพราะสัดส่วนการถือครองสื่อขนาดนั้นจะมีผลต่อคุณภาพความเป็นประชาธิปไตยของประเทศNZME(เจ้าของหนังสือพิมพ์ New Zealand Herald สถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสองฉบับ) อ้างว่าต้องการควบรวมกิจการกับ Fairfax Media(เจ้าของ Stuff เว็บไซต์ที่มีคนอ่านมากที่สุด และหนังสือพิมพ์รายวันอีกสามฉบับ) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับ facebook และ Google News รวมถึงบรรดา “ข่าวหลอกให้คลิก” ที่มีอยู่ทั่วไปในหน้าเว็บรวมๆ แล้วสองค่ายนี้เป็นเจ้าของสื่อประมาณร้อยละ 90 ศาลท่านยืนยันว่าอนุญาตไม่ได้จริงๆ เพราะมันจะทำให้การถ่วงดุลระหว่างสื่อใหญ่สองเจ้าหายไป NZME และ Fairfax มีผู้อ่านรวมกัน 3.7 ล้านคน ในขณะที่นิวซีแลนด์มีประชากร 4.7 ล้านคน  มาเฟียไส้กรอกบริษัทผู้ผลิตไส้กรอก 4 รายในเยอรมนีรวมตัวกันฟ้องต่อศาลขอไม่จ่ายค่าปรับที่สำนักงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเรียกเก็บ 22.6 ล้านยูโร (ประมาณ 870 ล้านบาท)สำนักงานฯ ได้ข่าวว่ามีการฮั้วราคาผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในระหว่างผู้ผลิตเพื่อที่จะขายให้กับบรรดาร้านค้าปลีกในราคาที่สูงเกินจริง และพบว่า “กลุ่มแอตแลนติก” (เรียกตามชื่อโรงแรมที่นัดคุยกัน) ร่วมกันโก่งราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาตั้งแต่ช่วงปี 80  ปี 2014 สำนักงานฯ สั่งปรับบริษัท 22 แห่ง และบุคคล 33 คน รวมเป็นเงิน 338 ล้านยูโร  (ประมาณ 13,000  ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีเพียง 11 บริษัทที่ยอมจ่ายค่าปรับแต่โดยดี อีกเจ็ดบริษัทรอดไปได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย(บริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบค่าปรับของ บริษัทลูก หากบริษัทลูกเลิกกิจการไปแล้ว) รัฐจึงขาดรายได้ไป 240 ล้านยูโร อีกสี่บริษัทยังยื้ออยู่จนถึงวันนี้ หากศาลตัดสินว่าผิดจริงกลุ่มนี้จะโดนค่าปรับหนักกว่าเดิม   ไม่รับคนนอกปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 34  สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่  ต้องการให้มีผู้มาเยือนไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ล้านคนภายใน 2020 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก  เมื่อมีคนมาเยอะขึ้น ธุรกิจการให้เช่าห้อง/บ้านผ่านแอปพลิเคชันจึงเข้ามาตอบโจทย์ การให้เช่าแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้หากแจ้งต่อหน่วยงานรัฐ มันสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นมากกว่าการให้เช่าแบบเดิมๆ เกือบห้าเท่า ดูแล้วน่าจะพอใจกันทุกฝ่ายแต่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมหลายแห่งในย่านฮิต เช่น บริเวณรอบอ่าวโตเกียว ได้เรียกร้องให้ทางอาคารออกกฎห้ามผู้อยู่อาศัยปล่อยเช่าห้องให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบ หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่ามีคอนโดฯ จำนวนมากมาแจ้งขอเปลี่ยนกฎ จนต้องตั้งโต๊ะรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ  นิติบุคคลอาคารก็ต้องเข้าไปดูเว็บไซต์จองที่พักเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่า ห้องที่อยู่ภายใต้การดูแลของตัวเองไม่ถูกนำไปเสนอขาย 

อ่านเพิ่มเติม >