ฉบับที่ 215 ปากหอมสดชื่นกับยาสีฟันสมุนไพร

        ตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ ยาสีฟันสมุนไพร ที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ฉลาดซื้อลงสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นี้พบว่า มีหลายยี่ห้อให้ได้เลือกซื้อ ทั้งผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ บางยี่ห้อมีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ยังสามารถครองใจผู้บริโภคมาได้อย่างยาวนาน        จุดขายของยาสีฟันสมุนไพรคือ ความหอมสดชื่นปากจากน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร อย่างสะระแหน่ พิมเสน การบูร หรือสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอันเป็นต้นเหตุของฟันผุ กลิ่นปาก เช่น น้ำมันกานพลู และสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ป้องกัน รักษาโรคเหงือก รำมะนาด เช่น ข่อย  เกลือ ว่านหางจระเข้        ฉลาดซื้อหยิบตัวอย่างยาสีฟันสมุนไพรจำนวน 29 ยี่ห้อ แบ่งได้สองประเภท คือ แบบมีฟลูออไรด์และไม่มีฟลูออไรด์ มาแสดงรายการส่วนประกอบสำคัญหรือชนิดของสารออกฤทธิ์สำคัญ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก ในขนาด 1 กรัม ว่าแต่ละยี่ห้อใครถูกแพงกว่ากัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้เลือกใช้อย่างคนฉลาดซื้อ ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไปการเลือกใช้ยาสีฟันสมุนไพร        แต่เดิมการใช้ยาสีฟันมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น ต่อมาก็มีการเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผล เช่น การเติมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เติมสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อลดการอักเสบของเหงือก จนปัจจุบันนี้มีการเติมสารต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเดิม ได้แก่        1. ผงขัดที่ละเอียดเพื่อเป็นตัวขัดสีให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และคราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่ที่ตัวฟันหลุดออก         2. สารทำให้เกิดฟองเพื่อให้คราบฟันหลุดออกได้ง่าย         3. สารแต่งกลิ่นและรสเพื่อให้น่าใช้ และรู้สึกสดชื่น        4. สารเพิ่มความชื้นเพื่อให้ยาสีฟันไม่แห้ง มีความชุ่มชื้น         5. สารทำให้ยาสีฟันข้น มีลักษณะเป็นครีม         6. สารกันบูดเพื่อให้สามารถเก็บยาสีฟันได้นาน         ส่วนประกอบพื้นฐานทั้ง 6 นี้ ยาสีฟันชนิดครีมเกือบทุกยี่ห้อจะมีเหมือนกัน ที่ทำให้ยาสีฟันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ได้แก่ สารฟลูออไรด์ สารฆ่าเชื้อโรค สารหรือผงขัดฟันที่ทำให้ฟันขาว สารที่ลดอาการเสียวฟัน สารสมุนไพร ฯลฯ        ในยาสีฟันสมุนไพรก็ไม่ต่างกันนัก โดยผงขัดละเอียดในยาสีฟันสมุนไพรจะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต หรือเกลือแกง หรือผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต) ส่วนสารชะล้างจะมีในยาสีฟันสมุนไพรที่ผสานเทคนิคการผลิตแบบสมัยใหม่เพื่อช่วยให้แปรงฟันได้ง่ายขึ้น สารปรุงแต่งกลิ่นและสี จะใช้น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากพืชสมุนไพร ซึ่งนอกจากช่วยแต่งกลิ่นและรสของยาสีฟันแล้ว ยังเพิ่มสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรคในช่องปากด้วย เช่น น้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ อบเชย กานพลู เป็นต้น        ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่ผสมฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ทำให้เป็นจุดอ่อนหนึ่งของยาสีฟันสมุนไพร  ที่อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องป้องกันฟันผุ  แต่ปัจจุบันมียาสีฟันสมุนไพรหลายยี่ห้อที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อลดจุดอ่อนข้อนี้         การโฆษณาในกลุ่มของยาสีฟันสมุนไพร มักอ้างว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก ปากหอมสดชื่นซึ่งจากรายงานทางวิชาการ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารสมุนไพรต่าง ๆ ที่คาดหวังว่า จะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ และสาเหตุมาจากอะไรเพื่อรักษาได้ตรงจุด เช่น ในคนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือเหงือกอักเสบก็ต้องรักษาโรคปริทันต์เป็นหลัก และถ้าคิดว่าแปรงฟันได้สะอาดไม่พอก็สามารถใช้ยาสีฟันสมุนไพรที่มีสารฆ่าเชื้อโรคช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องราคาก็ต้องพิจารณาเองว่า ราคาแค่ไหนเหมาะสมกับตัวของคุณเอง                                                                                                                                                                                                                       ข้อมูล ทันตแพทย์ ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาลฉลาดซื้อแนะ1.ยาสีฟันสมุนไพรควรใช้ในปริมาณน้อยตามที่ระบุบนฉลาก เพราะสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้ปากชา ใช้มากจะมีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์2.สำหรับคนที่มีปัญหาฟันผุง่าย ควรใช้ชนิดที่ผสมฟลูออไรด์หรือใช้สลับกับยาสีฟันทั่วไปที่ผสมฟลูออไรด์3.ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ส่วนผสมใกล้กันมาก ดังนั้นอาจเลือกจากความชอบหรือพิจารณาจากราคาที่ไม่แพงเกินไปสรรพคุณของสมุนไพรที่นิยมใช้ในยาสีฟันสมุนไพรกานพลู (Clove) ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และเป็นยาชาจึงบรรเทาอาการปวดฟันได้เกลือ (Sodium Cholride ) เป็นสารทำความสะอาดเหงือกและฟันการบูร (Camphor) และ พิมเสน (Borneol) ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น บำรุงเส้นประสาทรากฟันข่อย (Tooth brush tree)  แก้อาการปวดฟัน รักษารำมะนาดว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) ช่วยในการสมานแผล ลดการอักเสบของเนื้อเยื่ออบเชย (Cinnamon) ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สะระแหน่ (peppermint) ให้ความเย็น ทำให้ช่องปากหอมสดชื่น ใบฝรั่ง (Guava) มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเหงือก ลดกลิ่นปากตลาดยาสีฟันในบ้านเรามีมูลค่ากว่า 8,000  ล้านบาท ยาสีฟันในเซ็กเม้นต์เพื่อการรักษายังคงเป็นเซ็กเม้นต์ใหญ่สุดมีสัดส่วนถึง 36% รองลงมาเป็นยาสีฟันทั่วไป 29% สมุนไพร 22% ยาสีฟันเพื่อฟันขาว 10% และยาสีฟันเด็ก 3%

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวทำได้จริงหรือ

ยาสีฟันที่โฆษณาว่าทำให้ฟันขาวได้นั้นจะต้องใส่สารบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นไปจากยาสีฟันปกติ การที่จะตอบได้ว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าสารเคมีที่ใส่ในยาสีฟันนั้นคืออะไรและมีผลอย่างไรกับสีของฟัน สารสำคัญที่พบคือ   สารขัดฟัน ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งทุกยี่ห้อจะใส่สารขัดฟันที่มีความหยาบแตกต่างกัน สารขัดฟันนี้จะช่วยขจัดคราบสีต่างๆบนตัวฟันทำให้ฟันขาวขึ้นได้จริง แต่จะขาวเท่ากับสีฟันเดิมของเรา ถ้าฟันเดิมเหลืองก็จะเหลืองเหมือนเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการนี้เป็นการขัดเอาคราบที่ติดอยู่ภายนอกผิวฟันออกไป ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนสีภายในของเนื้อฟัน ถ้าฟันเดิมของเราสีออกเหลือง ถ้ามีคราบสีจากอาหาร น้ำชา กาแฟ บุหรี่ ฯลฯมาเกาะสีฟันก็จะเข้มขึ้น เมื่อใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันเหล่านี้คราบก็จะออกจนหมดกลับมาเป็นฟันเหลืองตามปกติที่ควรจะเป็น ขอย้ำนะครับว่าสารขัดฟันไม่ได้ทำให้ฟันขาวขึ้นจากสีธรรมชาติเดิมของฟัน สารขัดฟันที่มีใช้ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่นิยมใช้ได้แก่สารกลุ่มซิลิกา (Hydrate Silica, Silica dioxide, Perlite ที่มี 70-75% silica dioxide) สารกลุ่มอลูมิน่า (Alumina oxide) สารกลุ่ม แคลเซียม ( Calcium pyrophosphate,Calcium Carbonate, Dicalcium phosphate dihydrate)  และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น เบกิ้งโซดา (Sodium Bicarbonate) และ Mica เป็นต้น ปัญหาที่พบของสารขัดฟัน ก็คือ ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันมาก (หรือพูดง่ายๆว่า สารขัดฟันหยาบมาก) ก็จะกำจัดคราบสีต่างๆได้ดีและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เคลือบฟันถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้เคลือบฟันบางลง เมื่อใช้ต่อเนื่องไปนานๆ เคลือบฟันจะบางลงจนเห็นเนื้อฟันที่มีสีเหลืองกว่าอยู่ข้างใต้ การใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งต่อเนื่องนานๆอาจทำให้ฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิม และจะมีอาการเสียวฟันตามมาอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันน้อย การกำจัดคราบสีก็จะทำได้ช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่จะไม่ทำอันตรายเคลือบฟันเท่าใดนัก ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สารขัดฟันที่ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อนั้นมีความสามารถในการขัดฟันเท่าใด ในยาสีฟันปกติ จะใส่สารขัดฟันที่มีค่าความสามารถในการขัดฟัน (RDA, Realtive Dentine Abrasivitiy) อยู่ที่ 40-80 หน่วย ซึ่งเป็นค่าที่ปลอดภัยไม่ทำอันตราบเคลือบฟัน  ส่วนในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะมีค่า RDA มากกว่า 100 หน่วย เพื่อให้ขัดคราบฟันได้ดี ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเพดานค่า RDA ไว้ไม่เกิน 200 หน่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สารเคมีช่วยขจัดคราบฟัน ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารเคมีบางตัวเช่น  enzymes, Sodium Citrate, Sodium Pyrophosphate, Sodium tripolyphosphate หรือ hexametaphosphate ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยขจัดคราบบนตัวฟันออกและช่วยป้องกันให้คราบสีมาเกาะติดกับฟันยากขึ้น สารเคมีเหล่านี้มักจะคุณสมบัติในการย่อยโปรตีนได้ดี ซึ่งคราบที่ติดฟันนั้นก็มีองค์ประกอบของโปรตีนอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปเรามักจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดบริเวณคอฟันและซอกฟัน ดังนั้นผู้ผลิตยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้อจึงคาดหวังให้สารเคมีเหล่านี้ไปช่วยกำจัดคราบบริเวณคอฟันและซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่สารขัดฟันไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด แต่จากรายงานการวิจัยพบว่า สารเคมีเหล่านี้มีส่วนช่วยได้เล็กน้อยมาก การกำจัดคราบสีต่างๆยังต้องพึ่งสารขัดฟันเป็นหลัก   สารสีฟ้า ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากสารขัดฟันแล้วยังใช้ สีสะท้อน Optical agents เช่น การใช้สีฟ้า ( Blue Covarine หรือ CI74160 Pigment Blue) ผสมลงในยาสีฟัน เมื่อแปรงฟันสารสีฟ้าเหล่านี้จะไปเกาะที่ฟัน เวลามองสะท้อนแสงก็จะเห็นฟันขาวขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้เพียงครั้งเดียวก็จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นทันที เปรียบเทียบง่ายๆกับถ้าเราต้องการให้ผ้ามีสีขาว เราก็ไปย้อมให้เป็นสีคราม เมื่อเป็นการย้อมสี ดังนั้นข้างหลอดยาสีฟันจะมีคำเตือนว่า “ยาสีฟันอาจทำให้เสื้อผ้าเลอะได้” การใช้สารสีฟ้าเคลือบฟันไว้จะได้ชั่วคราวเท่านั้น สารสีฟ้าจะติดฟันได้ไม่นานนัก เมื่อมีการรับประทานอาหาร สีเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออก ทำให้กลับไปเป็นสีฟันเดิมของเรา   ข้อแนะนำ ยาสีฟันไวท์เทนนิง สามารถใช้ได้เพื่อกำจัดคราบฟันที่ติดอยู่ที่ผิวฟันออกได้ จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นกว่าเดิม แต่จะขาวได้เท่ากับสีของฟันเดิมของเราเท่านั้น จะขาวขึ้นกว่าเดิมไม่ได้ ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่มีสารสีฟ้า เป็นการใช้เทคนิคการสะท้อนสีฟ้าเพื่อทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่สีฟ้าจะหลุดออกเมื่อรับประทานอาหาร ฟันจะกลับมาเป็นสีเดิม ไม่ควรใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งติดต่อกันต่อเนื่อง ทั้งนี้สารขัดฟันของยาสีฟันไวท์เทนนิ่งจะมีความหยาบมากกว่า ซึ่งจะทำให้เคลือบฟันบางลงเมื่อใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใช้กับแปรงสีฟันขนแปรงแข็ง แปรงฟันแรงเกิน ก็จะทำให้เคลือบฟันบางลงได้เร็ว แนะนำให้ซื้อใช้เพียงหลอดเดียวเท่านั้น เมื่อรู้สึกว่าฟันเริ่มมีคราบมาติดใหม่ ก็กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นระยะๆ ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันโดยใช้แรงพอประมาณ สังเกตุได้จากหากใช้แปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่มแล้วแปรงควรจะปานใน 3 เดือน หากแปรงบานเร็วก่อนกำหนดแสดงว่าเราแปรงฟันแรงเกินไป   หมายเหตุ ยาสีฟันไวเทนนิ่งเป็นกลุ่มยาสีฟันที่ขจัดคราบภายนอกฟันเท่านั้น มียาสีฟันอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ยาสีฟันฟอกสีฟัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะไปฟอกสีฟันภายในเนื้อฟัน โดยใช้สารเคมีที่จะซึมผ่านเคลือบฟันและเนื้อฟันเข้าไปสลายโมเลกุลของสีในเนื้อฟันเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น โดยปกติแล้วสารเคมีที่ใช้จะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1% หรือ แคลเซียมเปอร์ออกไซด์ 0.5-0.7% ซึ่งความเข้มข้นที่ใช้ถือว่าน้อยมาก จากงานวิจัยพบว่า ในความเข้มข้นที่น้อยและเวลาที่สัมผัสฟันตอนแปรงฟันสั้นๆ ไม่กี่นาทีนั้น ไม่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้แต่อย่างใด การไปพบทันตแพทย์เพื่อฟอกสีฟันจะใช้สารเคมีตัวเดียวกันซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่ามาก และใช้เวลาสัมผัสฟันนานเป็นชั่วโมง สีของฟันจึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งมีข้อเสียตามมามากมายหลายอย่าง ผมอยากชวนให้คิดว่า ฟันสีเหลืองธรรมชาติของคนไทยเรามีเสน่ห์และเหมาะกับสีผิวและใบหน้าของคนไทย การที่มีฟันขาวจนเกินพอดีนั้น น่าจะดูแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาตินะครับ   ส่วนประกอบอื่น ของยาสีฟัน Titanium Dioxide หรือ CI 77891 เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีสีขาว หรือทำให้มีความขุ่น Cocamidopropyl Betaine เป็นสารลดแรงตึงผิว ทำให้สารต่างในยาสีฟันแทรกซึมสัมผัสกับฟันได้ง่ายขึ้น Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารทำให้เกิดฟอง Sodium Saccharin ขัณฑสกร​ เป็นสารให้ความหวาน Sorbitol, Xylitol เป็นน้ำตาลโพลิออล ให้ความหวานและยังทำให้ชุ่มชื้นอีกด้วย Glycerin ทำให้ชุ่มชื้น Sodium Hydroxide โซดาไฟ ใช้ดูดความชื้น ทำให้คงตัวและปรับความเป็นกรดด่าง Carrageenan สารเพิ่มความหนืดที่เป็นเจลใส Xanthan Gum, Cellulose Gum, PEG-12 (Polyethylene Glycol) เป็นสารที่ให้ความหนึดแบบทึบ Methylparaben, Butylparaben  สารกันเสีย (สารกันบูด) Spearmint, peppermint, Eucalyptus, Mentol  เป็นสารแต่งกลิ่นและรส ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ยาสีฟัน ยาสีฟันในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ และราคาก็แตกต่างกันมากมาย  ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผลบางอย่างเข้าไปมากมาย จนบางทีก็ดูเกินกว่าหน้าที่ของยาสีฟันแต่เดิม ที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น กลุ่มของยาสีฟันแยกตามวัตถุประสงค์ 1.กลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นยาสีฟันที่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย ในทางวิชาการเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สามารถป้องกันฟันผุ ได้ และองค์การอนามัยโลกก็ให้คำแนะนำประชาชนใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นหลัก ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ จะมีอยู่ 1,000 ส่วนในล้านส่วน หรือ 1,000 พีพีเอ็ม. และ 500   พีพีเอ็ม. สำหรับเด็ก เหตุผลที่ยาสีฟันเด็กมีปริมาณความเข้มข้นเพียงครึ่งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะกลืนยาสีฟันทำให้ได้รับฟลูออไรด์เกิน 2.กลุ่มยาสีฟันที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสารสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน ไทมอล น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ  สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ในคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบใช้แล้วจะรู้สึกว่า เหงือกกระชับแน่นขึ้น ไม่อักเสบบวมแดงอย่างที่เคยเป็น 3.กลุ่มยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท เพื่อไปปิดรูเล็ก ๆ ที่เนื้อฟัน ทำให้ลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว แต่ควรต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียวฟันร่วมด้วย จึงจะแก้ที่ต้นเหตุได้จริง 4.กลุ่มยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว มีการใช้ผงขัดที่หยาบเพื่อให้ขจัดเอาคราบสีต่าง ๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก รวมทั้งอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ซึ่งการใช้ผงขัดที่หยาบผสมลงในยาสีฟันอาจทำให้มีการขัดเอาผิวฟันออกมากเกินไป ทำให้เคลือบฟันสึกและบางลง รวมทั้งสารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ อาจมีอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ จึงควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง 5.กลุ่มที่มีการโฆษณาว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก หรือใช้กลางคืนเพื่อลดกลิ่นปากตอนเช้า จากรายงานทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารเคมีหรือสารสมุนไพรต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point