ฉบับที่ 96 ผู้ป่วยจิตเวชก็มีหัวใจ

คุณสมโชค (นามสมมติ) มีอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังต้องใช้ยานอนหลับช่วยอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลชลประทาน ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ตรวจพบโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจิตเวช ทำให้คุณสมโชคต้องมารับยาเพื่อนำไปรักษาอาการจากโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ผ่านมาคุณสมโชคสังเกตเห็นว่า ยาที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาจะมีการใช้ปากกาเมจิกขีดทำตำหนิไว้ที่ด้านหลังแผ่นยาทุกแผง ส่วนยาทุกชนิดที่บรรจุกล่องอยู่จะถูกนำออกจากกล่องหมด “ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาต้องทำอย่างนี้ ผมอยากเหมือนคนไข้ทั่วไปที่ไม่ถูกแกล้งเอายาออกจากกล่อง ผมคิดมากจนนอนไม่หลับ ยาเอาไม่อยู่ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยคุยกับโรงพยาบาลให้ด้วย เพราะผมอยากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปครับ” ผลการดำเนินการหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิได้ทำหนังสือสอบถามถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีหนังสือชี้แจงกรณียาที่บรรจุกล่อง ถูกนำออกจากล่อง ว่า 1. กรณีทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่จะมีการจ่ายยาลักษณะนี้เพราะแพทย์สั่งยาไม่ตรงตามขนาดบรรจุ เช่น บรรจุ 100 สั่ง 60 จะมียาเหลือ 40 ยาเช่นนี้ก็จะไม่มีกล่องบรรจุ 2. จากการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา พบว่ายาที่บรรจุกล่อง เช่น 2 กล่อง การปิดฉลากล่องที่ 1 เพียงกล่องเดียวแล้วมัดรวมกับกล่องที่ 2 เมื่อผู้ป่วยใช้กล่องที่ 1 หมด ฉลากจะถูกทิ้งไปพร้อมกล่องทำให้ใช้ยากล่องต่อไปไม่ถูก ในทางกลับกัน ถ้าปิดฉลากครบทั้ง 2 กล่อง แม้จะทำการอธิบายรวมทั้งแจ้งเตือนเป็นเอกสารฉลากช่วยว่าให้รับประทานทีละกล่องแล้วต่อเนื่องกันไป ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทานยาทีเดียวทั้ง 2 กล่อง หรืออาจยุ่งยากขึ้นอีกกรณีสั่งยาไม่เต็มกล่องมีเศษ เป็น 1-2 แผง ทางที่ดีคือ เอายาออกจากล่องทั้งหมด ใส่ซองซิบพลาสติกแล้วปิดฉลากครั้งเดียวรวมทั้งหมด 3. การเอายาออกจากล่องหมายถึง การเอาฉลากออกทิ้งไปด้วย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยสนใจและอ่านเนื้อหาที่สั้นที่สุด คือฉลากยาที่แปะหน้าซอง เพราะพบว่าผู้ป่วยอ่านเอกสารกำกับยาแล้วเกิดความสับสน หรือหวาดระแวงจนไม่ทานยาตามแผนการรักษา กรณีนี้พบเสมอในผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 เป็นวิธีที่เพิ่มภาระงานให้กับห้องยา จึงยังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่เราพยายามที่จะทำเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา โดยเลือกทำในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยสูงอายุที่เราประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดูแลตนเองให้รับยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และผู้ป่วยด้านจิตเวชก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่อาจให้คำอธิบายโดยตรงได้ ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณเราไม่ตอกย้ำประเด็นความบกพร่องของผู้ป่วย เราจะมุ่งเน้นให้คำอธิบายที่ชัดเจนไม่สับสน เท่านั้น ส่วนกรณีมีการใช้ปากกาเมจิกขีดตำหนิไว้ที่แผงยา กรณีนี้ ห้องยาขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานได้กรุณาให้คำชี้แจงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนี้ อย่างละเอียดแต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ป่วย จึงขอสรุปคำชี้แจงหลักๆ ว่า ทางแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง คืออายุรแพทย์ จิตแพทย์ แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับทราบปัญหาของผู้ป่วย และมีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เพราะเคยพบว่าผู้ป่วยไปรับการรักษากับสถานพยาบาล 2 แห่งในวันเดียวกันทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยามากเกินขนาดได้ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากผู้ร้องเรียนว่า ตนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและใจของตัวเองดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอขอบพระคุณ นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานและทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยมด้วยความนับถืออย่างสูง  

อ่านเพิ่มเติม >