ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >