ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ผักสดในตลาด กับการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

เนื่องด้วยเกิดความผิดพลาดขึ้นใน นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 มิถุนายน 2555 ในคอลัมน์ทดสอบ “ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี” ซึ่งเนื้อหาในส่วนของผลวิเคราะห์ ที่มีการรายงานปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผักที่ทดสอบเป็นหน่วย มล./กก. หรือ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ต้องใช้หน่วยเป็น มก./กก. หรือ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่แสดงไว้ในตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ กองบรรณาธิการต้องขออภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะเพิ่มความรอบคอบในการตรวจทานแก้ไขให้มากยิ่งขึ้น จึงเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้   หลังจากเราพาไปสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันเมื่อฉบับที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงภาคต่อที่ฉลาดซื้อขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปตะลุยตลาดสด ลองไปดูกันสิว่าผักสดจากตลาดจะปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?   ฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างผักที่ขายในตลาดสด 2 แห่ง คือ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง โดยผักที่เราเลือกมาทดสอบประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา (เช่นเดียวกับที่เราทดสอบผักจากห้างค้าปลีก) ลองไปดูกันสิว่าผักที่เรารับประทานกันอยู่เป็นประจำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงมากน้อยแค่ไหน “ผักบุ้ง” ปลอดภัยไร้สารตกค้าง อย่างน้อยก็มีเรื่องน่าดีใจ เมื่อผลการวิเคราะห์ที่ได้บอกกับเราว่า ตัวอย่าง ผักบุ้งจีน จากทั้ง 2 ตลาด ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าใครยังจำผลการวิเคราะห์ผักสดที่วางขายในห้างเมื่อฉบับที่แล้วได้ ตัวผักบุ้งจีนที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งตัวอย่างที่เป็นตราห้างและตัวอย่างที่ได้เครื่องหมาย Q ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผักสดอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พบยาฆ่าแมลง นั่นคือ กะหล่ำปลี จากตลาดประชานิเวศน์ ส่วนตัวอย่างกะหล่ำปลีจากตลาดห้วยขวาง พบการปนเปื้อนของสาร คาร์โบฟูราน (Carbofuran) แต่ไม่เกินระดับมาตรฐาน   สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์ในไทย ถ้าลองดูจากผลวิเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบในตัวอย่างผักสดที่เรานำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีในเกณฑ์ “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” (มกอช.) ซึ่งเท่ากับว่าไม่ควรพบการตกค้าง แต่ที่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ก็เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรา ที่ยังคงมีการใช้กันเป็นจำนวนมาก แถมชนิดของสารเคมีที่ใช้กันก็มีหลากหลาย พูดได้เลยสุขภาพของคนไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง   “ผักชี” และ “พริกจินดา” ความเสี่ยงสูง ตัวอย่าง ผักชี และ พริกจินดา จากทั้ง 2 ตลาด ถือเป็นตัวอย่างผักสดที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีมากจนน่าตกใจ โดยในหนึ่งตัวอย่างพบการปนเปื้อนสารเคมี 3 – 4 ชนิด แถมสารเคมีที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งผักซีเป็นผักที่ มกอช. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกำกับไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง แม้หลายคนอาจจะมองว่าผักทั้งสองชนิดถ้าคิดเป็นต่อหนึ่งมื้อเราจะรับประทานในปริมาณที่น้อยมาก แต่ผลร้ายของการใช้ยาฆ่าแมลงมันมีมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลของการสะสมในระยะยาวที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง คุณภาพของดินและระบบนิเวศวิทยาที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี นี่ยังไม่นับรวมถึงผลเสียของเศรษฐกิจที่เราต้องขาดดุลจากการนำเข้าสารเคมี และการที่ผักของประเทศไทยถูกห้ามนำเข้าไปขายยังต่างประเทศเพราะเขาตรวจพบว่าผักของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐาน เป็นสารเฝ้าระวังแท้ๆ แต่ว่าเจอเพียบ สารเคมีกำจัดศัตรูที่เราตรวจพบในตัวอย่างผักสดทั้ง 14 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้ง 2 ตลาด ไม่ว่าจะเป็น อัลดิคาร์บ (aldicarb), คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อ๊อกซามิล (oxamyl), อีพีเอ็น (EPN), เมโทมิล (methomyl) และ เมทิดาไธออน (methidathion) จัดเป็นสารเคมีที่อยู่ใน “รายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องมีการแจ้งการนำเข้า การผลิต ส่งออก และต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง เพราะจัดเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายกับผู้ที่ได้รับสารแม้เพียงปริมาณไม่มาก ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นสารเคมีอันตราย แม้จะไม่ได้มีการห้ามใช้แบบเด็ดขาด แต่ก็น่าจะมีการควบคุมการใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่จากผลวิเคราะห์เห็นได้ชัดเลยว่าบรรดาสารเคมีที่อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรยังคงหาซื้อมาใช้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ายังคงใช้กันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาต้อง “แบน” เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่มาจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร กำลังช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบสารทั้ง 4 ชนิดนี้ กระจายอยู่ในตัวอย่างผักสดที่เราสุ่มเก็บมาทดสอบเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่สารเหล่านี้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพราะมีอันตรายมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยเรากลับยังมียอดการนำเข้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าและการประกาศห้ามใช้ เรียกว่าสุขภาพของคนไทยก็ยังคงต้องเสี่ยงกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป ตัวอย่างประเทศที่ประกาศห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด รายชื่อสารเคมี ประเทศที่ประกาศห้าม คาร์โบฟูราน (carbofuran) สหภาพยุโรป อเมริกา เมโทมิล (methomyl) สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อีพีเอ็น (EPN) อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินเดีย   ทีมา: ข้อมูลพื้นฐานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด โดย มูลนิธิชีววิถี   ผักแพง เพราะอะไร ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวที่ชวนให้หลายๆ คนปวดใจ โดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก เมื่อข้าวของต่างๆ เดินหน้าขึ้นราคา พืชผักต่างๆ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์ขอเกาะขบวนกลายเป็นสินค้าราคาแพงกับเขาด้วย หลายๆ คนสงสัยว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไหงผักถึงราคาแพง เหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเมื่อรวมกันก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” แล้วรู้กันหรือว่าเปล่าอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาผักที่หลายคนบ่นว่าแพงทุกวันนี้ก็คือ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช”   ผักแพง ยาฆ่าแมลงก็มีส่วน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียกับร่างกาย แม้มันจะเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกรในการป้องกันรักษาพืชผักที่ปลูกไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงหรือวัชพืช แต่ก็เสี่ยงกับการที่สารเคมีจะตกค้างในผัก ข้อมูลสถิติการนำเข้าวัตถุอันตราย ของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานเอาไว้เมื่อปี 2553 ประเทศไทยเรามีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบ 120 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เราต้องเสียไปกว่า 18,000 ล้านบาท (รู้แล้วใช่มั้ยว่าทำไมเราถึงกินผักราคาแพง) ซึ่งถ้าลองนำตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเทียบกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการนำเข้ามีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัวเลยทีเดียว (ปี 2543 สถิติการนำเข้าจะอยู่ที่แค่ประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น)   ปัญหายาฆ่าแมลงในผัก ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้เราจะเริ่มรู้สึกตรงกันแล้วว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรานั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยเราป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น แต่แนวทางการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการใช้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน เกษตรกรเองก็ยังต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกษตรกรมีกำไร (ว่ากันว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องจ่ายคิดได้เท่ากับ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด) ภาครัฐเองก็อาจยังมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในการใช้สารเคมีและรวมถึงแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารแก่เกษตรกรน้อยเกินไป แถมยังไม่มีมาตรการที่ใช้คุมเข้มการขาย การโฆษณา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้สนใจกันแล้วว่าผักชนิดไหนออกช่วงฤดูกาลอะไร เราเลือกกินแต่ผักชนิดเดิมๆ ตลอดทั้งปี (เช่น คะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาว ฯลฯ) เกษตรกรเองจึงเลือกปลูกแต่ผักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นผักแค่ไม่กี่ชนิด ลองคิดดูแล้วกันว่าผักชนิดเดิมๆ ที่มีให้เรากินตลอดเวลา จะต้องพึ่งสารเคมีมากแค่ไหนถึงปลูกให้เรากินได้ทั้งปี   ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ Carbofuran น้อยกว่า 0.01 Carbofuran 0.2 Carbofuran 0.02   คะน้า   Dicrotophos 2.02 Oxamyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Oxamyl 0.01 Dicrotophos ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ถั่วฝักยาว Acephate น้อยกว่า 0.05 EPN 0.34 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Acephate 0.02 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 Methomyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 Methomyl 0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี Chlorpyrifos 0.10 EPN 1.02 Methidathion 0.06 Methomyl 0.04 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Methomyl 0.3 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) พริกจินดา Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.11 Carbaryl 0.01 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดประชานิเวศน์) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า ไม่พบ Aldicarb น้อยกว่า 0.01 Methiocarb 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Aldicarb 0.02 Methiocarb 0.1 ถั่วฝักยาว Omethoate 0.07 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) แต่หากลองเทียบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของ Omethoate ไว้ในผักหลายชนิด (แต่ไม่มีถั่วฝักยาว) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.05 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี   Chlorpyrifos น้อยกว่า 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 1.13 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา   Chlorpyrifos 0.07 Methidathion 0.10 Triazophos 0.05 Carbaryl 0.02 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion และ Triazopho ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 Triazopho 0.01   : เก็บตัวอย่างเมื่อ เดือนมีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >