ฉบับที่ 274 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)

        จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี สามารถกระทำได้หรือไม่ เรื่องนี้มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกามีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ...ดูก่อนหน้าจากฉบับ 273         อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ซึ่งหมายถึงหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้ เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ที่ไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่นาย  ศ. ปฏิเสธคำเสนอที่อนุมัติให้สินเชื่อและเกิดจากการที่นาย  ศ. ละเลยไม่เสนอขอให้บริษัทเมอร์ซิเดส  เบนซ์  ลีสซิ่ง  จำกัด  พิจารณาสินเชื่อแก่ตนในเงื่อนไขอื่นแล้วทำคำเสนอใหม่แก่ตน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาจองระหว่างนาย  ศ. กับจำเลย เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ  200,000  บาท  ได้          อย่างไรก็ตามกรณีอยู่ใต้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า  “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ  ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้” แม้การดำเนินการเพื่อให้ได้สินเชื่อไม่เกิดขึ้นโดยเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  แต่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเช่นจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า  ชอบที่จะแจ้งเตือนให้นาย  ศ. ดำเนินการเพื่อให้ขอสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขใหม่  ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย  นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของตนตามที่ควรจะได้รับโดยชอบแล้ว  ยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่นาย ศ. ผู้ซื้ออันเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการจากตนพึงได้รับตามสมควรด้วย  การที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเตือนนาย  ศ. ว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อได้เพื่อให้นาย ศ. ทราบถึงสิทธิที่จะต่อรองเจรจาเพื่อขอสินเชื่อต่อไปซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยไม่กระทำ  จำเลยกลับใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงแล้วขายรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่นาย  ศ. ที่จะรักษาประโยชน์ของตนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามสมควร  ทั้งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของจำเลยไปในขณะเดียวกันเพื่อให้ขายรถยนต์พิพาทที่มีอุปกรณ์พิเศษแก่นาย  ศ. ได้โดยไม่ขาดทุน         การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ใช่มาตรฐานปกติประเพณีการค้าที่พึงปฏิบัติต่อผู้บริโภค  ดังนี้  การที่จำเลยต้องขายรถยนต์พิพาทไปในราคาขาดทุนดังจำเลยอ้าง  จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย  เมื่อคดีไม่ปรากฏความเสียหายที่แท้จริงจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเงินมัดจำได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดให้  120,000 บาท  จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ  80,000 บาท  แก่นาย  ศ.  และกรณีเป็นเรื่องการคืนมัดจำที่สูงเกินส่วนตามที่ศาลกำหนด  หาใช่กรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือเป็นกรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  391  วรรคสองไม่  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยนับแต่รับเงินมัดจำไว้  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเป็นหนี้เงินและความรับผิดเกิดแต่คำพิพากษาของศาล  จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน  80,000 บาท  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นไป        สรุปว่า หากการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  ผู้ประกอบธุรกิจชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้  และในคดีนี้ ศาลยังเห็นว่า เงินมัดจำนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บสูงเกินไป ศาลมีอำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)

        ปัจจุบันเราจะพบว่า ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สัญญาที่ตนเขียนขึ้นมาฝ่ายเดียวและมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่พบเจอบ่อยๆ คือ เรื่องของการริบเงินมัดจำ ซึ่งแน่นอนว่ามัดจำเป็นเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจริบได้ หากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญา อย่างไรก็ตามเราจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี จึงมีประเด็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด  ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563          คำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง  ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2551   เอกสารหมาย  จ.13  ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  มาตรา  35  ทวิ  จึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ความตามข้อ  3  (4)  ของประกาศกำหนดว่า  “ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า  ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม  (2)” ความตามข้อ  3  (2)  กำหนดว่า  “กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์”  ความตามข้อ  3  (5)  กำหนดว่า  “เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม  (3)  หรือ  (4)  แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน  15  วัน”  และความตาม  ข้อ  4  กำหนดว่า  “ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้  ...(2)  ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ  ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์  ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา...” ดังนี้          การวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จึงต้องพิจารณาว่า  เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาหรือไม่         เมื่อได้ความว่าขณะสั่งจองรถยนต์นาย  ศ. ทราบดีว่า  จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนพิเศษต่างหากจากรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่จำเลยต้องเสียไปในการสั่งรถยนต์นำเข้ามาให้แก่นาย  ศ. เป็นการเฉพาะ  และทราบดีถึงการที่จำเลยไม่อาจจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการทั่วไปในท้องตลาดได้ดังเช่นรถยนต์รุ่นปกติ  แต่นาย ศ. ก็ยังยืนยันประสงค์จะให้จำเลยสั่งรถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษเช่นนั้นจากผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาเพื่อความประสงค์ของตนเป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยนาย ศ. ยินยอมตกลงกับจำเลยในเงื่อนไขไม่ต้องคืนเงินจองให้ไม่ว่ากรณีใด  ซึ่งหมายความว่า  ในกรณีการซื้อขายไม่เกิดขึ้น  นาย ศ. ยินดีให้จำเลยริบเงินจองนั้นได้         เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้  ความเข้าใจ  สถานะของนาย  ศ. ที่เป็นกรรมการของบริษัทจำกัด  ตลอดจนอำนาจต่อรองและทางเลือกอย่างอื่นรวมทั้งทางได้เสียทุกอย่างของทั้งสองฝ่าย  ประกอบปกติประเพณีของการทำสัญญาจองรถยนต์กับโอกาสที่นาย  ศ.  มีในการไตร่ตรองทบทวนข้อตกลงไม่คืนเงิน  เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาของนาย  ศ.  แล้ว  เห็นว่า  หากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยก็ดีหรือด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ก็ดี  ย่อมเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่จำเลยต้องรับผิดชอบและจำเลยจะแสวงประโยชน์จากข้อตกลงให้ริบเงินนั้นมิได้  เพราะมิได้เกิดแต่การกระทำของนาย  ศ. อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น...อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ฉบับ 274   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 205 มีสิทธิยกเลิกสัญญาหรือไม่

หากเราตกลงทำสัญญาใดๆ ไปแล้ว แต่ต้องการยกเลิกในภายหลังจะสามารถทำได้หรือไม่ ลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมพรได้รับการเชิญชวนให้ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งภายหลังการตรวจเลือด พนักงานก็แจ้งว่าเลือดในร่างกายไม่ปกติ เพราะมีการสะสมของไขมันและโลหะหนัก ทำให้เลือดขาดออกซิเจน โดยอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ในอนาคต นอกจากนี้เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็ยังพบอีกว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดีและตับเสื่อม ด้วยผลการตรวจเช่นนั้น ทำให้คุณสมพรวิตกกังวลอย่างมาก จึงยินดีเข้ารับการรักษาแบบคีเลชั่น (Chelation) เพื่อเอาสารพิษออกจากเลือดตามที่พนักงานแนะนำ ในราคาพิเศษเหลือ 149,000 บาท สามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง อย่างไรก็ตามในอีกอาทิตย์ถัดมา เมื่อคุณสมพรได้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาดังกล่าว แพทย์กลับแจ้งว่าการทำ 50 ครั้งมากเกินไป ควรทำแค่ 10 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะหากทำมากเกินไปสามารถส่งผลให้ไตวายได้ คุณสมพรจึงยังไม่เข้ารับการรักษาทันที เพราะเห็นว่าแพทย์และพนักงานให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำคีเลชั่นเพิ่มเติมจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเธอพบว่าแพทย์สภาไม่รับรองการรักษาดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการรักษาและขอเงินคืนทั้งหมด แต่พนักงานกลับต่อรองให้ทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำต่อไป ทำให้คุณสมพรส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หลักในการยกเลิกสัญญามี 3 วิธีดังนี้ 1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องการยกเลิกสัญญา 2. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกสัญญา แล้วทำคำเสนอขอยกเลิกสัญญา เมื่อคู่สัญญาเห็นพ้องด้วย ทำคำสนองตอบกลับมา 3. การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายไม่ต้องเห็นพ้องด้วยโดยในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียวนั้น คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญา ต้องมีสิทธิในการบอกเลิก คือ ในข้อสัญญามีการระบุไว้ว่าถ้ามีการผิดสัญญา อีกฝ่ายสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือตามบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่ไม่ได้มีข้อสัญญาระบุไว้ ดังนี้ 3.1 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้3.2 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ตามเวลา ในกรณีที่เวลาเป็นสาระสำคัญ และ 3.3 สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยโทษลูกหนี้ได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องอาจเจรจาต่อรองและรับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำคือ 10 ครั้ง โดยจ่ายราคาตามจริงได้ ส่วนการรักษาแบบคีเลชั่นนั้น เป็นการขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีปัญหาธาตุเหล็กเกินในร่างกายแต่หากพบว่าสถานบริการหรือโรงพยาบาลใด ที่ระบุว่าการทำคีเลชั่นสามารถช่วยรักษาโรคหลอดเลือด โรคหัวใจหรือออทิสติคได้ จะถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลต่อได้ที่สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย (http://www.cmat.or.th/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เป็น “หนี้” เพราะยกเลิกประกันชีวิต

ยกเลิกประกันชีวิต  แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเป็นหนี้     ฟังแล้วก็งง ไปตามกัน  ลองค่อยๆ ติดตามกันว่าเรื่องมันมีที่มาที่ไปอย่างไรตอนที่ลุงสายันต์ หอบกรมธรรม์ที่ลุงเก็บไว้ในซองจดหมายของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งแต่ปี 2553  มากางให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ดู แล้วก็โวยวายว่า   ลุงเป็นหนี้เพราะถูก บริษัทฯ หลอกให้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อแล้วลุงจะได้เงินคืนทั้งหมด   ลุงอุตส่าห์ไปกู้เงินเพื่อนมาจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนรวมแล้ว หมื่นเจ็ดพันกว่าบาท แต่จ่ายครบแล้วบริษัทฯ กลับเบี้ยวคืนเงินให้ลุงไม่ครบ   ลุงจะไปแจ้งความข้อหาหลอกลวง  เอ้า !  ไปกันใหญ่เสียงลุงดังมาก จนต้องบอกคุณลุงใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คุยกัน หลังจากปล่อยให้ลุงสงบ สติอารมณ์ สักพักเราซักถามลุงจึงรู้ว่าที่ลุงพูดเสียงดังๆ เพราะหูข้างซ้ายพิการไม่ได้ยิน  และนี่เป็นสาเหตุที่ลุงต้องไปขอยกเลิกสัญญากรมธรรม์กับบริษัทฯ  ความพิการทำให้ลุงไม่สามารถทำงานหาเงินส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีกได้  แต่ตอนที่ลุงไปแจ้งบริษัทฯ  มันครบสองปีแล้ว  เจ้าหน้าที่ Call center บอกให้ลุงส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีก 1  ปี เพื่อที่จะได้เงินคืนตามสิทธิ  ลุงคิดคำนวณแล้วว่า หากลุงส่งเบี้ยประกันเพิ่มอีกปี ลุงจะได้เงินคืนประมาณ ห้าหมื่นบาท  ลุงจึงไปกู้เงินเพื่อนมาส่งเบี้ยประกัน    แต่เมื่อครบกำหนด ลุงไปแจ้งยกเลิกกรมธรรม์  บริษัทฯ กลับคืนเงินให้ลุง เพียง 15,400 บาท  บอกว่าลุงมีสิทธิที่จะได้เงินคืนเท่านี้ลุงไม่ยอมจำนนง่ายๆ ไปร้องเรียนที่ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)  เจ้าหน้าที่เรียกบริษัทมาฯ ไกล่เกลี่ย  ทางตัวแทนบริษัทฯ  ก็บอกว่าจะเสนอบริษัทฯ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ลุงอีกสามพันกว่าบาท  ลุงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คปภ.เข้าข้างบริษัทฯ ก็เลยไม่ตกลง  ลุงจึงไปปรึกษาทนายความที่รู้จัก  “เขาบอกว่าลุงฟ้องชนะแน่” ลุงบอกว่าอย่างนั้น ฟังลุงเล่าแล้วซับซ้อนน่าดู    แต่พอมาตรวจสอบจากเอกสาร  เจ้าหน้าที่อย่างเราเลยถึงบาง “อ้อ”  ว่าเงินที่ลุงแกเข้าใจว่าต้องได้คืนนั้น  คือ เบี้ยประกันชีวิตที่ส่งมา 3 ปี ส่วนที่บริษัทฯ บอกว่าแกจะได้เงินตามสิทธินั้น เป็น “มูลค่าเงินสด”  ที่หากผู้เอาประกันบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ภายหลังส่งเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี  จะมีสิทธิได้รับเงินคืน ที่เราเรียกกันว่า “ค่าเวนคืนกรมธรรม์”  ซึ่งจะมีระบุอยู่ในกรมธรรม์ว่า ในแต่ละปีมีมูลค่าเงินสดเท่าไร      เมื่อทราบสาเหตุจึงได้พยายามอธิบายให้ลุงทราบ  ซึ่งกว่าลุงจะเข้าใจเสียงแหบเสียงแห้งไปตามๆ กัน แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้เชิญตัวแทนบริษัทฯ  และลุงเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้  ทนายที่เป็นตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่า (1) ลุงไปบอกเลิกสัญญาก่อนครบ 2  ปีเพียงเดือนเดียว   ดังนั้นเจ้าหน้าที่ Call center เห็นว่าหากยกเลิกก่อนลุงจะเสียสิทธิไม่ได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประมาณเจ็ดพันกว่าบาท  และเหลือเวลาไม่นาน จึงแนะนำให้ลุงส่งต่อ  แต่ไม่แน่ใจว่าขณะอธิบายลุงเข้าใจอย่างไร  (2) เมื่อลุงสายันต์ส่งเบี้ยประกันต่อมาเรื่อยๆ  แต่ลุงไม่ได้แจ้งยกเลิกสักที  บริษัทฯ จึงคิดว่าคงไม่ยกเลิกแล้ว  แต่ลุงมาแจ้งยกเลิกเมื่อครบปีที่ 3  และพอลุงทราบว่าได้เงินไม่ครบตามที่ลุงคิด  ลุงจึงไปร้องที่ คปภ. ตัวแทนบริษัทฯ จึงไปชี้แจงพร้อมทั้งเสนอเงินช่วยเหลือ  แต่ลุงปฏิเสธ  เพราะความเข้าใจผิดหลังจากทุกฝ่ายได้พูดคุยและเข้าใจตรงกันแล้ว  จึงตกลงกันที่ข้อยุติที่ว่า  บริษัทฯ จะคืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในปีที่ 2  และเงินค่าเบี้ยประกันในปีที่ 3  ทั้งหมด  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24,712 บาท  วันที่ลุงมารับเช็คจากบริษัทฯ   ลุงบอกขอบคุณมูลนิธิฯ  มากมายที่ช่วยให้ลุงได้รับเงิน  ลุงจะได้มีเงินไปใช้หนี้เพื่อนที่ยืมมาซักทีข้อคิดจากเรื่องนี้คือ ผู้บริโภคพึงทราบว่า การซื้อประกันชีวิตต่างกับการฝากเงินออมทรัพย์ ตรงที่ว่าฝากเงินเท่าไร ถอนเงินเมื่อไรก็ได้ และจะได้เงินคืนเท่าที่ฝากพร้อมดอกเบี้ย   แต่หากทำประกันชีวิต เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไม่ได้คืน  และหากยกเลิกสัญญาก่อน 2 ปี จะไม่มีมูลค่าเงินสดเพื่อนำมาคำนวณ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เลย  ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดีก่อนทำสัญญาประกันชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 เมื่อบ้านเอื้ออาทร ไม่อาทรต่อคนจน

สำหรับคนมีรายได้น้อย การอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย  “ ฉัตร”  คือเป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอเริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐมี “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดหาบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่บ้านเป็นของตนเอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เธอถึงรู้ว่า บ้านเอื้ออาทร นั้นไม่ได้อาทรต่อคนมีรายได้น้อยเลย…เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฉัตรตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โครงการเอื้ออาทรจังหวัดบุรีรัมย์ กับการเคหะแห่งชาติในราคา 390,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อนำมาชำระหนี้เป็นค่าซื้อบ้านให้แก่การเคหะฯ  โดยมีการเคหะฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาด้วยผ่อนมาปีกว่าเธอเริ่มผิดนัดบางงวด เพราะการเงินเริ่มยอบแยบ แต่เธอก็พยายามเก็บเงิน เพื่อไปชำระยอดที่ค้างชำระกับธนาคารให้ได้ โดยที่ธนาคารยังคงรับชำระเงินของผู้ร้องไว้ตามปกติเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เมื่อเธอไปจ่ายค่างวดที่ธนาคารตามปกติ ธนาคารปฏิเสธรับเงินจากเธอ และแจ้งให้เธอทราบว่า บ้านที่เช่าซื้ออยู่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะผิดนัดค้างชำระเกินกำหนด และการเคหะแห่งชาติได้มาซื้อคืนไปแล้ว โดยที่เธอไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเตือน หรือหนังสือบอกเลิกสัญญาใดๆ มาก่อนเลย “เราเลือกซื้อบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะฯ เพราะเชื่อมั่นว่า การเคหะ ฯ จะดูแลเราที่เป็นคนมีรายได้น้อย ให้มีบ้านเป็นของตัวเองได้ เราขาดส่งบางงวดจริง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด เราไม่รู้ว่าทำไมอาคารสงเคราะห์ ถึงไม่แจ้งเตือนเราตามสัญญาก่อน  ทั้งที่ธนาคาร ธอส. ก็ยังรับเงินที่เราไปจ่ายทุกครั้ง แต่อยู่ดีๆ บอกว่าเราถูกบอกเลิกสัญญา บ้านถูกยึดคืนไปแล้ว มาบอกกันแบบนี้ เราจะทำยังไง  แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ” นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่อยากให้หลายคนได้รับรู้.... แนวทางแก้ไขปัญหากรณีนี้ ฉัตร เธอเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างร้องเรียน เธอก็ถูกฟ้องให้ตกเป็นจำเลยในคดีที่การเคหะแห่งชาติ ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่พักอาศัยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า สัญญาที่เราทำกับการเคหะฯ และธนาคาร ธอส. จะเอาเปรียบเรามากขนาดนี้ นี่มันเอื้ออาทรจริงแน่เหรอ สัญญายิ่งกว่าบริษัทเอกชนซะอีก”กรณีนี้แม้ฉัตรจะผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้การเคหะฯ มีอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายได้นั้น แต่ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่ด้วยหลายรายการ มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภคที่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้หลังจากผู้บริโภคแพ้คดีในศาลชั้นต้น ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) บัญญัติ ว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะต้องเป็นข้อที่ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไปและก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ฉัตร ผู้กู้ กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้ให้กู้ ในข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้กู้จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ให้ดำเนินการแก้ไขการผิดสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน หากผู้กู้ไม่ดำเนินการแก้ไขจนพ้นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้กำหนด ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดคืนได้ทันที”ธนาคารจึงต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในกำหนดก่อน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ธนาคารคงมีเพียงหนังสือขอให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินตามปกติเท่านั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกให้การเคหะแห่งชาติมาซื้อทรัพย์คืนได้ด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่โจทก์แทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับแต่งวดที่ชำระครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปคดีนี้ จึงจบลงที่ การเคหะแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ ฉัตร กลับเข้าไปทำสัญญาเดิมใหม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข !!  นับเป็นคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคอีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ยกเลิกคอร์สทำหน้าแล้ว แต่บัตรเครดิตยังเรียกเก็บเงิน

ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยค่ะได้ทำเรื่องยกเลิกคอร์สทำหน้ากับคลินิกแห่งหนึ่ง(ยังไม่เคยไปใช้บริการเลยค่ะ) จ่ายไปจำนวนเงิน 30,000 บาทเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ทางเจ้าหน้าที่ของคลินิกได้ออกเอกสารทำเรื่องคืนเงินเข้าบัตรมาให้ 2 ฉบับและดิฉันได้ไปทำเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงินพร้อมกับแนบเอกสารที่คลินิกออกให้กับดิฉันให้ทางธนาคารด้วย  แต่พอใกล้ ๆ สิ้นเดือนตุลาคม มีจดหมายใบแจ้งหนี้ยอดบัตรเครดิตส่งมาให้ โทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ได้รับคำตอบว่าในระหว่างดำเนินการตรวจสอบยอดจำนวนเงินที่ขอปฏิเสธการชำระไว้ ดิฉันต้องจ่ายเงินที่รูดไปให้กับทางธนาคารก่อน  ระยะเวลาในการตรวจสอบอาจนานถึง 120 วันดิฉันอยากจะถามว่าทำไมต้องตรวจสอบนานมากขนาดนั้นด้วยคะ ทั้ง ๆ ที่ดิฉันก็มีเอกสารที่ทางร้านค้าให้เป็นหลักฐานในการคืนเงินเข้าบัตรเครดิตแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าทางร้านค้าไม่ยอมคืนเงินให้ดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้าง โทรไปสอบถามกับทางธนาคารหลายทีแล้วว่าเรื่องได้ดำเนินการไปถึงไหนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์เลยค่ะ ดูเหมือนทางธนาคารจะไม่สนใจไม่ยอมช่วยเหลืออะไรดิฉันเลย กลุ้มใจมากค่ะ อยากขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ในกรณีที่มีการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านทางบัตรเครดิต แล้วผู้บริโภคเกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้นอีกต่อไปและทางผู้ให้บริการยินดียกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการอีกต่อไปประกาศฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว ด้วยการบังคับให้บัตรเครดิตต้องมีข้อสัญญาว่า ถ้าผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้วจะคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังดังนั้น เมื่อผู้บริโภคได้ทักท้วงไปยังธนาคารที่ออกบัตรเครดิตว่า ไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการจากทางคลินิกแล้ว เมื่อธนาคารรับทราบแล้ว จะต้องปฏิบัติตามสัญญาควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วก็จะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีเช่นกัน หากมิได้ดำเนินการโดยทันที ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากธนาคารได้ โดยอาจเทียบเคียงจากเบี้ยปรับการชำระเงินล่าช้าที่ธนาคารเรียกเก็บก็ได้นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าว ยังให้ความคุ้มครองในสิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการอีกด้วย ด้วยการออกข้อบังคับให้สัญญาบัตรเครดิตต้องมีเงื่อนไขที่จะไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ในกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาหรือได้รับแล้วแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์โดยผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 แฟนท้อง อยากจะขอเลิกสัญญาฟิตเนส

แฟนเล่นฟิตเนสครบปีและเพิ่งต่อสัญญาเมื่อเดือนมกราคม ในสัญญาลงไว้ 12 เดือน ถ้าจะ dropต้องเสีย ทุกเดือน 20% หรือประมาณ 400 บาทตอนนี้แฟนผมท้อง จึงจะขอยกเลิกสัญญา เพราะคิดว่าไม่ได้ไปใช้บริการเพราะไม่จำเป็นทำไมต้องเสียเงินอีก ไม่ทราบยกเลิกสัญญาได้ไหมครับ แล้วต้องทำอย่างไรถึงไม่โดนหักบัตรเครดิตต่อ ขอบคุณครับ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. ๒๕๕๔  มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หมายความว่า หากข้อความในสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนขัดต่อประกาศฉบับนี้ให้ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และหากสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนไม่มีข้อความตามประกาศฉบับนี้ ก็ให้ถือว่าสัญญาของฟิตเนสนั้น มีข้อความหรือข้อสัญญาตามที่ประกาศได้กำหนดไว้โดยอัตโนมัติทันที แม้มิได้มีข้อความปรากฏอยู่ในสัญญาฉบับนั้นก็ตาม “ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกาย” ตามประกาศฉบับนี้ หมายความว่า ธุรกิจให้บริการ ใช้สถานที่ และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจทำสัญญาให้บริการ ออกกำลังกายกับผู้บริโภคให้เป็นสมาชิก แต่ไม่หมายความรวมถึงธุรกิจให้บริการเฉพาะโยคะ ศิลปะการป้องกันตัว และกีฬา ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้(1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของสถานที่ให้บริการออกกำลังกาย จำนวนประเภทและจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการให้บริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิพึงได้รับตามสัญญา(2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้ บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้น และสิ้นสุดการเป็นสมาชิก(3) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุเหตุในเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำหรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่การผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ดังนี้ (ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า)(ก) กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา(ข) มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น(ค) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงประกาศฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภค ไว้เพียง 3 กรณี คือ(1) ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือบริการอื่น ๆ ตาม (1) หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ เมื่อเทียบกับ จำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง(2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ(3) ได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่องดังนั้น จากคำถามที่ถามมา ภรรยาตั้งครรภ์หรือการมีปัญหาทางด้านสุขภาพ จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อมีหลักฐานใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการฟิตเนสต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ไปแสดงประกอบการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้บริโภคชำระค่าสมาชิกและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งระงับการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงคำบอกกล่าวในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคให้ทำเป็นจดหมายส่งถึงผู้ให้บริการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นดีที่สุดครับ        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ขอยกเลิกใช้บริการมือถือยุ่งยากจริงหรือเปล่า

คุณวิศว์ เป็นสมาชิกฉลาดซื้อของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้เบอร์มือถือของค่ายทรูสองเบอร์ สองซิม โดยไม่รู้ตัว เรื่องวุ่นๆ เลยเกิดคุณวิศว์ ผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขียนจดหมายมาถึงบก.ฉลาดซื้อเล่าว่า เขาเคยใช้ซิมมือถือของทรูมูฟ หมายเลข 080901XXXX ต่อมาได้เดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด และเกิดความไม่สะดวกในการใช้งานมือถือที่มีเบอร์อยู่ต้องการยกเลิก จึงไปติดต่อที่บูธของทรูมูฟทั้งใน จ.ลำพูนและเชียงใหม่เพื่อเลิกใช้บริการ ได้รับคำตอบว่าจะต้องขอยกเลิกการใช้บริการกับสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น“ผมจึงได้โทรติดต่อที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ได้รับแจ้งว่า จะต้องเดินทางมาดำเนินการด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้ใดดำเนินการแทนได้ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ผมได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้รับใบแจ้งค่าบริการว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 317.79 บาท”คุณวิศว์เขียนข้อปรึกษาสำคัญมาว่า เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่เขาไม่ได้ใช้บริการใดๆ เลย และไม่ได้รับความสะดวกในการยกเลิกการใช้บริการ และเสียค่าบริการดังกล่าว แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริโภค  ทำให้รู้ว่าคุณวิศว์มีเบอร์ของทรูมูฟอยู่สองเบอร์ และเข้าใจมาตลอดว่าเป็นซิมแบบระบบเติมเงินทั้งคู่ ได้พยายามติดต่อยกเลิกการใช้บริการเบอร์หนึ่งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซ้ำเมื่อปล่อยเวลายืดยาวต่อมา มีใบแจ้งค่าบริการจำนวน 317.79 บาทโผล่ขึ้นมา คุณวิศว์จึงยอมรับไม่ได้เพราะคิดว่ามือถือในระบบเติมเงินไม่น่ามีค่าค้างจ่ายเกิดขึ้นได้ เราได้สอบถามไปที่ทรูมูฟ ได้รับคำชี้แจงว่า เบอร์ที่คุณวิศว์ต้องการยกเลิกนั้นเป็นเบอร์ในระบบรายเดือน โดยใช้โปรโมชั่นเดือนละ 99 บาท และผู้ร้องไม่ชำระค่าบริการคงค้างมา 3 เดือนแล้ว จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 99 X 3 + VAT 7% = 317.79 บาท และเมื่อรวมยอดปัจจุบันอีกเดือนเลยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 423.72 บาท ทรูจึงไม่สามารถยกเลิกเลขหมายดังกล่าวให้ได้ฟังข้อมูลมาถึงตรงนี้แล้ว ประเด็นก็เหมือนกับว่าคุณวิศว์จะต้องชำระค่าค้างจ่ายเสียก่อนถึงจะยกเลิกการใช้บริการได้ แต่เมื่อย้อนตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วคุณวิศว์ได้ไปติดต่อขอยกเลิกบริการกับทรูมูฟแล้วก่อนหน้านี้แล้ว 3 เดือนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เมื่อผู้บริโภคไม่มีค่าค้างจ่ายก็ย่อมมีสิทธิเลิกการใช้บริการได้ แต่ทรูมูฟใช้วิธีการโยกโย้ไม่ยอมยกเลิกบริการให้ ไปบอกเลิกที่ลำพูน เชียงใหม่ ก็บอกให้กลับมาบอกเลิกที่กรุงเทพฯ เสียอย่างนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังนั้น คุณวิศว์จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายดังกล่าว และมีสิทธิที่จะบอกเลิกบริการได้ส่วนวิธีการยกเลิกก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปๆ มาๆ อย่างที่ทรูมูฟแนะนำ การยกเลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่มีค่าใช้จ่ายคงค้างกันอยู่ ก็ให้เขียนเป็นจดหมายบอกเลิกส่งไปให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือ จะส่งแฟกซ์หรือจดหมายอีเอ็มเอสก็ได้ แต่ให้เก็บจดหมายไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายค้างกันอยู่ก็ให้ชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างเหลืออยู่ก่อนแล้วค่อยบอกยกเลิก แต่หากไม่ได้เปิดใช้บริการซิมมือถือนั้น หรือเปิดใช้บริการเพราะหลงผิดคิดว่าเป็นซิมแบบเติมเงิน เพราะตัวแทนบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนอย่างนี้ก็สามารถปฏิเสธค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >