ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ผลทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ

        ใครอยากรู้ว่า call center มือถือค่ายไหนติดต่อได้ไวทันใจ หรือต้องรอนาน ตามมาๆ         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่  AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566   วิธีการทดสอบ         ผู้ทดสอบจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่าย (AIS 1175, DTAC 1678, NT 1888 และ TRUE 1242) โดยแบ่งขั้นตอนการติดต่อเป็นการเปลี่ยนโปรโมชั่น การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ การย้ายค่าย และปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะโทร.ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00 – 18.00 น.และ 19.00 – 23.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 9.00 – 16.00 น. และ 19.00 – 23.00 น. โดยจับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นที่ 0.01 จนถึงได้พูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ ผลการทดสอบ        เมื่อใช้เครือข่าย AIS โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (6.31)          2.AIS (3.10)             3.DTAC (2.37)            4.NT (0.40)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.27)          2.AIS (2.46)             3.DTAC (2.06)            4.NT (0.53)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (5.11)          2.DTAC (2.56)           3.AIS (2.24)               4.NT (1.37)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>          1.TRUE (4.33)          2.DTAC (3.02)           3.AIS (2.42)               4.NT (0.58)         ·     ลูกค้า AIS หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่นและมีปัญหาสัญญาณหายฯ ควรโทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนใครจะถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติและการย้ายค่าย แนะนำให้โทร.ในวันหยุดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น     เมื่อใช้เครือข่าย DTAC โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.AIS (6.47)            2.DTAC (3.56)            3.TRUE (3.39)              4.NT (1.21)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.02)          2.AIS (2.48)               3.DTAC (2.23)              4.NT (1.18)        การย้ายเครือข่าย =>                                             1.AIS (3.43)             2.TRUE (1.15)            3.DTAC (1.13)              4.NT (1.01)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.DTAC (4.08)         2.AIS (3.05)               3.TRUE (2.58)              4.NT (0.43)         ·     ลูกค้า DTAC แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วงค่ำ 1 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม แต่หากต้องการย้ายค่ายโทร.ช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะเร็วกว่า และเลี่ยงติดต่อในวันหยุดเพราะจะต้องรอนานกว่า      เมื่อใช้เครือข่าย NT โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (3.52)          2.AIS (3.24)                3.DTAC (1.54)             4.NT (0.47)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (3.30)          2.AIS (3.18)                3.DTAC (1.39)             4.NT (1.16)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (9.45)         2.DTAC (3.35)             3.AIS (2.13)                4.NT (0.38)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.TRUE (4.00)          2.AIS (2.40)                3.DTAC (1.47)             4.NT (0.38)        ·     ลูกค้า NT โทร.ถามทุกเรื่องได้จากโอเปอเรเตอร์โดยตรง ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม รอสายนานสุดไม่เกิน 4 นาที แต่ถ้าอยากให้ไวแบบไม่ถึงนาทีก็โทร.ช่วงค่ำวันหยุดได้เลย     เมื่อใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.TRUE (4.29)          2.AIS (3.30)                3.DTAC (2.57)             4.NT (0.39)         การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                        1.TRUE (3.01)          2.AIS (2.55)                3.DTAC (2.27)             4.NT (1.06)        การย้ายเครือข่าย =>                                          1.TRUE (5.03)          2.AIS (2.48)                3.DTAC (2.22)             4.NT (0.59)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>        1.TRUE (3.00)         2.AIS (2.53)                 3.DTAC (2.20)             4.NT(1.00)         ·     ลูกค้า TRUE แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น แต่หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่น ให้โทร.ช่วงค่ำๆ จะเร็วกว่า  *หมายเหตุ ลูกค้าในที่นี้ คือ ผู้ใช้เบอร์ที่โทร.ออก และเบอร์ติดต่อ call center เป็นของเครือข่ายเดียวกัน     เมื่อใช้โทรศัพท์พื้นฐาน โทร. ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.AIS (3.14)            2.DTAC (2.14)                3.TRUE (2.06)            4.NT (1.01)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                       1.AIS (2.48)            2.DTAC (2.40)                3.TRUE (2.22)            4.NT (0.57)        การย้ายเครือข่าย =>                                         1.TRUE (3.09)         2.DTAC (1.35)                3.NT (1.02)                4.AIS (0.55)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>       1.AIS (3.17)            2.TRUE (1.52)                3.DTAC (1.48)            4.NT (0.52)         ·     ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ออก ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในอันดับ 1 น้อยกว่าใช้ทุกค่ายโทร.ออก ยกเว้นใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก เรื่องปัญหาสัญญาณฯ  ข้อสังเกต         ·          call center ของ TRUE ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์ของ AIS, NT และ TRUE  เอง บางครั้งพนักงานมีการตัดสาย        ·          call center ของ NT ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยเร็วสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์มือถือของทุกค่าย และติดต่อพนักงานได้ทุกครั้ง        ·          call center ของ AIS, DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่ติดต่อพนักงานไม่ได้        ·          call center ของ DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่พนักงานติดต่อกลับ        ·          ระยะเวลานานสุดที่จับเวลาได้คือ 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE ในขั้นตอนการย้ายค่าย ช่วงวันและเวลาทำงาน        ·          ระยะเวลาเร็วสุดที่จับเวลาได้คือ 0.30 นาที เมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ไปยัง call center ของ NT ในขั้นตอนสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติ ช่วงวันและเวลาทำงาน สรุปผลโพลล์         จากการสำรวจเรื่อง call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร         จำนวน 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 4 -10 กันยายน 2566         ·        ร้อยละ     46.6            เป็นลูกค้าของ AIS        ·        ร้อยละ     33.4            เป็นลูกค้าของ TRUE        ·        ร้อยละ     18               เป็นลูกค้าของ DTAC        ·        ร้อยละ     2                 เป็นลูกค้าของ NT         ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.4) เคยโทร.ติดต่อ Call Center โดยมีผู้ใช้ทั้งเบอร์แบบหมายเลข 4 ตัว (ร้อยละ 50.8)        และแบบหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02 (ร้อยละ49.2) พอๆ กัน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้        ·        ร้อยละ    44.4        ใช้งานอินเทอร์เนตไม่ได้        ·        ร้อยละ    44           ค่าบริการผิดปกติ        ·        ร้อยละ    43.2        ตรวจสอบการใช้งาน        ·        ร้อยละ    26.6        โทรเข้า/ออกไม่ได้        ·        ร้อยละ    25.4        เปลี่ยนโปรโมชั่น        ·        ร้อยละ    23.1        สอบถามโปรโมชั่น         เหตุผลในการย้ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่        ·        ร้อยละ     38.9       ได้รับโปรโมชั่นที่ดีกว่าจากกการย้าย           ·        ร้อยละ    24.5        ลดค่าใช้จ่าย                  ·        ร้อยละ    17.4        เปลี่ยนเครื่องมือถือ        ·        ร้อยละ    17.4        ปัญหาสัญญาณมือถือ                  ·        ร้อยละ    1.8         อื่นๆ                                                                                                 เมื่อถามว่าเคยโทร.หา call center แล้วรอนานแค่ไหนกว่าจะได้คุยสายกับเจ้าหน้าที่ คำตอบคือ        ·  11 – 15    นาที          ร้อยละ    31.5        ·  6 – 10      นาที          ร้อยละ    25.3        ·  16 – 20    นาที          ร้อยละ    16        ·  1 – 5        นาที          ร้อยละ    15.5        ·  21 – 25    นาที          ร้อยละ    5.6        ·  26 -30      นาที          ร้อยละ    2.9        ·  น้อยกว่า 1 นาที          ร้อยละ    1.9        ·  มากกว่า 30 นาที        ร้อยละ    1.3 จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ร้อยละ 92.5 คิดว่าภาครัฐควรมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบ Cell Broadcasting ด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา         เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย         ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ         หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ         สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว         ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 1–20 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ         ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี         นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร         อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง         เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้         ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา         แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก         มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้         ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ         ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน         ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย         ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง         เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้         ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย         เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อยากเลิกต้องเลิกได้

        เขียนเรื่องเลิกอีกแล้วไม่ใช่เพราะหมกมุ่นกับการเลิกหรอกนะ แต่เพราะในช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต เว้นแต่จะต้องจ่ายค่าปรับอุปกรณ์และค่าแรกเข้าที่ทางเครือข่ายผู้ให้บริการอ้างว่าได้ยกเว้นให้เมื่อตอนสมัครใช้บริการ โดยแลกกับการต้องอยู่ใช้บริการกันไปไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น...ก็แล้วแต่จะกล่าวอ้างกันไป         อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วว่า ตามกติกาที่ กสทช. กำหนดนั้น มีการให้สิทธิผู้ใช้บริการในการยกเลิกบริการได้เสมอ ดังที่ระบุไว้ในข้อ 32 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (แม้เป็นประกาศของ กทช. แต่ก็มีผลใช้บังคับต่อมาจนถึงยุค กสทช.) ว่า        “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ”        ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามนัยของข้อ 32 นี้จึงเท่ากับว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะขอยกเลิกสัญญาหรือเลิกใช้บริการเมื่อไรก็ได้ เพียงแต่จะต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบแบบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การยกเลิกจะมีผลในอีก 5 วันหลังการแจ้งนั้น การยกเลิกนี้จะมีเหตุผลอะไรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือแสดงเหตุผลอันใด แค่อยากเลิกก็เลิกได้         ส่วนกรณีที่การใช้บริการมีปัญหา เมื่อแจ้งยกเลิกแล้ว ตามกฎหมายก็ถือว่ามีผลทันทีเลย เพียงแต่ว่าเรื่องยุ่งยากมักตามมาในแง่ที่ว่า ผู้ให้บริการอาจไม่ยอมรับว่าบริการมีปัญหาตามที่ผู้บริโภคกล่าวอ้าง จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและพิสูจน์กันยืดยาว        อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืนอุปกรณ์เหล่านั้นแก่ผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในกรณีอินเทอร์เน็ตบ้าน อย่างน้อยต้องมีเราเตอร์ ซึ่งหากเสียหายหรือไม่มีคืนให้ ก็ต้องชดใช้ตามราคาจริงในตลาดขณะนั้น        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าหากผู้บริโภคคนใดไม่ต้องการใช้บริการโทรคมนาคมใดอีกต่อไปแล้ว ก็มีหน้าที่เพียงแค่บอกเลิกกันไปให้เป็นเรื่องเป็นราว และ “มีหลักฐาน” ส่วนข้าวของก็ส่งคืนให้ครบถ้วน หากมีการสูญหายหรือสึกหรอก็ต้องชดใช้ตามสัดส่วน แต่สำหรับเรื่องของ “ค่าปรับ” ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บ “ค่าปรับ” ใดๆ จากผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น         กติกามีความตรงไปตรงมาเช่นนี้ และตั้งอยู่บนหลักการที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน  เพียงแต่ว่าในโลกความเป็นจริงมักมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น เช่นว่า บริการเน็ตบ้านมักถูกเสนอขายพ่วงมากับบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับชมรายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเครื่องโทรศัพท์มือถือ        ถ้าเน็ตบ้านเป็นบริการหลัก ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับสัญญาใช้บริการเน็ตบ้านคือสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเลิกกันแล้วจึงมักมีประเด็นว่า แล้วบริการพ่วงอื่นๆ จะอยู่ในสถานะใด ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคอาจยังประสงค์ใช้บริการอื่นๆ อยู่ เช่น ยังอยากเก็บกล่องไว้ดูทีวีต่อไป  หรือผู้บริโภคบางคนอาจเพียงแค่ลืมไปแล้วว่า “ตอนนั้น” มี “ซิมฟรี” ให้มาด้วยนะ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เอามาใช้เลย จึงไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำอะไรกับซิมนั้นทั้งสิ้น จนกระทั่งเดือนถัดมา คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการ บางรายการเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางรายการเป็นสิ่งที่โผล่มาใหม่ จากที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน        เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของผู้ให้บริการอธิบายได้ว่า เมื่อการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ใช่บริการที่พ่วงกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการหลักแล้ว ค่าบริการที่เคยคิดในอัตราลดพิเศษก็ต้องถูกคิดแบบเต็มจำนวน ส่วนซิมโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการให้บริการแบบรายเดือนในอัตราเหมาจ่าย เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะบริการแถม จึงไม่เคยมีการเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อสัญญาหลักหมดไป ก็กลับสู่การคิดค่าบริการตามปกติ        ในชีวิตจริงของการเลิกเน็ตบ้านที่มีบริการต่างๆ พ่วงอยู่ด้วยจึงไม่ง่ายนัก         ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของบริการพ่วงทั้งหลายด้วยว่าจะเอาอย่างไร ส่วนใดที่ไม่ได้จะใช้ต่อไปหรือไม่เคยใช้ก็ต้องยื่นยกเลิกไปพร้อมกัน ส่วนบริการที่อยากเก็บไว้ ก็ควรต้องทำสัญญาหรือทำความตกลงกันใหม่ให้มีความชัดเจน ว่าบริการส่วนนั้นๆ จะมีอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างหรือไม่        และเพื่อหลีกเลี่ยงความว้าวุ่นในอนาคต ควรที่จะเก็บหลักฐานการยกเลิกบริการทั้งหลายเอาไว้สักระยะหนึ่งด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีมีการเรียกเก็บค่าบริการขึ้นมาอีกในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานก็จะทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการพิสูจน์ และไม่ต้องโต้แย้งกันโดยยากจะหาข้อยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ผู้บริโภคไทยกับสังคมไร้เงินสด

        เหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ตลอดจนความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ และความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว        อย่างไรก็ตามการก้าวไปสู่ แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด นั้น ผู้บริโภคพร้อมจริงๆ หรือแค่ถูกสถานการณ์บังคับ หรือความกังวลใจในเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ จึงทดลองหาคำตอบ โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูลในวันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2566)        คำถามที่ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดแล้วหรือไม่ ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ร้อยละ 66 ใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 66.1 และไม่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 33.9        อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจการเงินในการทำความรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือทราบ (ร้อยละ 32.3) และอันดับสุดท้ายคือ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 24.4)ซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์เดือนหนึ่งมากกว่า 10 ครั้ง        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 750 กลุ่มตัวอย่าง มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 10 ครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 40.3) อันดับสองคือ 7 – 8 ครั้ง (ร้อยละ 16.4) อันดับสามคือ 5 – 6 ครั้ง (ร้อยละ 15.2) อันดับสี่คือ 9 – 10 ครั้ง (ร้อยละ 12.7) อันดับห้าคือ 3 – 4 ครั้ง (ร้อยละ 10.9) และอันดับสุดท้ายคือ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 4.5) โดยยอดเงินที่ใช้หรือโอนต่อการใช้จ่ายต่อครั้งนั้น อันดับที่หนึ่งคือ 101 – 300 บาท (ร้อยละ 28.8) อันดับสองคือ 301 – 500 บาท (ร้อยละ 24.5) อันดับสามคือ 501 – 800 บาท (ร้อยละ 16.5) อันดับสี่คือ มากกว่า 1,000 บาท (ร้อยละ 11) อันดับห้าคือ 801 – 1,000 บาท (ร้อยละ 9.7) และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท (ร้อยละ 9.5)แอปพลิเคชันธนาคารคือคำตอบ        มีการชำระค่าสินค้าบริการโดยไม่ใช้เงินสด อันดับที่หนึ่งคือ โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร (ร้อยละ 40.1) อันดับสองคือ จ่ายผ่าน QR Code (ร้อยละ 30.9) อันดับสามคือ โอนเงินระบบ PromptPay ร้อยละ (11.6) อันดับสี่คือ ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต (ร้อยละ 10.3) และอันดับสุดท้ายคือ จ่ายผ่าน e-Wallet (ร้อยละ 7.1)        ความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกใช้การซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/การจ่ายเงินออนไลน์ สะดวกต่อการใช้จ่าย (ร้อยละ 97.1) ความรวดเร็ว (ร้อยละ 96.8) และ มีบันทึกการใช้จ่าย สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด (ร้อยละ 67.6)คำถามเกี่ยวกับความพร้อมและข้อกังวล        • หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบ Online Payment หรือการจ่ายเงินออนไลน์ จะทำให้ท่านใช้บริการนี้น้อยลงหรือไม่                             น้อยลง                       ร้อยละ   55.9                             ไม่น้อยลง                   ร้อยละ   14.8                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   29.3        • คิดว่าปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   50.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   19.8                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.5        • คิดว่าการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์) เพิ่มมากขึ้นหรือไม่                             ใช่                              ร้อยละ   73.5                             ไม่ใช่                          ร้อยละ   10.7                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   15.8        • คิดว่าปัจจุบันระบบของธนาคารสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   44.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   26                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.3        • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                         ร้อยละ   50.8                             ไม่พร้อม                     ร้อยละ   25.9                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   23.3        • ระบุเหตุผลที่ไม่ใช้บริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือการชำระเงินออนไลน์ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)                            ไม่มีโทรศัพท์มือถือ                                                                   ร้อยละ   14.6                             โทรศัพท์มือถือที่มี ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้                                      ร้อยละ   33.7                             ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี                                                          ร้อยละ   56                             กลัวพลาดเพราะมีปัญหาสุขภาพ (เช่น สายตาไม่ดี มือสั่น)         ร้อยละ   22.6                             ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย กลัวตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ                     ร้อยละ   26.1                             ยังไม่เห็นข้อดีของธุรกรรมแบบไร้เงินสด                                    ร้อยละ   10.5                             สะดวกที่จะใช้เงินสดมากกว่า                                                     ร้อยละ   55.8                             อื่นๆ                                                                                           ร้อยละ   1.6         • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                        ร้อยละ   39.5                             ไม่พร้อม                    ร้อยละ   33.3                            ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ   27.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 สมาร์ตโฟน 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณเลือก 25 รุ่น เลือกจากรุ่นที่ได้คะแนนระดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในครึ่งแรกของปี 2023           การทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้แบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่            ร้อยละ 25   ประสิทธิภาพของกล้อง            ร้อยละ 15   แบตเตอรี             ร้อยละ 15   หน้าจอ             ร้อยละ 10   คุณภาพเสียง             ร้อยละ 10   ความทนทาน             ร้อยละ 10   ประสิทธิภาพโดยรวม         เนื่องจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้ “สมาร์ตโฟน” ยุคนี้เปลี่ยนไป คะแนน “การใช้งานโทรศัพท์” จึงถูกนำไปรวมกับคะแนนด้านความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานอย่างปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน รวมกันเป็นอีกร้อยละ 15 ที่เหลือ         สมาร์ตโฟนเหล่านี้มีตั้งแต่รุ่นที่ขนาดหน้าจอ 6.1 ไปจนถึง 7.6 นิ้ว สนนราคาระหว่าง 7,000 ถึง 63,000 บาท* รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ (80 คะแนน) ไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุด แต่ก็ราคามากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่รุ่นที่ถูกสุดเป็นรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดเช่นกัน โชคดีที่ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนดีพอสมควรในราคาประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หน้าตาและสเปคจะถูกใจหรือไม่ พลิกดูในหน้าต่อไปได้เลย        ·      ราคาที่แสดงเป็นราคาที่ได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบราคาล่าสุดและโปรโมชันกับทางร้านอีกครั้ง        ·     ดูผลการทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนครั้งก่อนหน้านี้ได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 253

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เบอร์ของคุณยายที่หายไป

        ทุกวันนี้ เลขหมายหรือเบอร์โทรศัพท์ยิ่งมีความหมายและความสำคัญกับหลายๆ คนยิ่งขึ้น จากผลของการที่ธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมทางการเงิน การสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำจึงไม่เพียงส่งผลกระทบเรื่องการสื่อสารทั่วๆ ไป แต่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายๆ ด้าน         เมื่อผู้ใช้บริการคนหนึ่งสูญเสียเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ไป ความปรารถนาที่จะได้รับเบอร์เดิมคืนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อได้อ่านจดหมายที่คนผู้นั้นร้องเรียนมายัง กสทช. ก็จะตระหนักได้ว่า เรื่องนี้ถึงขั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าตัวเลยทีเดียว         “หมายเลขดังกล่าวได้มีการทำธุรกรรมด้านการเงิน ระบบการรักษาพยาบาล และเกี่ยวกับเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบกับดิฉันสูงอายุ (84 ปี) มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางไปติดต่อสถานที่ต่างๆ” ตอนหนึ่งของจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือหวัดแต่เป็นระเบียบ ระบุเอาไว้         เบอร์ที่สูญเสียนั้นใช้บริการในระบบเติมเงินล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเป็นเวลานาน วันใช้งานจึงหมด โดยบริษัทผู้ให้บริการชี้แจงว่า การตัดบริการนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนที่ผู้ร้องเรียนแจ้งคือ ใช้บริการไม่ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ประเด็นเรื่องนี้จึงนับว่าสอดคล้องกัน         ในเบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งเรื่องไปทางบริษัทก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า หากต้องการเบอร์เดิม ต้องติดต่อภายใน 45 วัน หากเลยเวลาไปแล้ว เลขหมายจะถูกคืนเข้าระบบ กสทช. นั่นเป็นเหตุให้คุณยายลงแรงเขียนจดหมายเข้ามาขอ “ความกรุณา กสทช.”  ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน         จากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นเรื่องเลขหมายดังกล่าวถูกคืนเข้าระบบ กสทช. แล้วนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่อง 45 วันถือเป็นกรอบเวลาสำคัญจริง เนื่องจากตามกติกาที่ กสทช. กำหนด เลขหมายที่ยกเลิกการใช้แล้วจะต้องมีการกักเก็บไว้ 45 วัน ก่อนที่จะนำไปหมุนเวียนให้บริการต่อ เหตุผลก็เพื่อเป็นการทอดเวลาสำหรับการผลัดเปลี่ยน ผู้ใช้บริการที่ได้เบอร์ใหม่ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของคนอื่นไปจะได้ไม่ถูกรบกวนโดยญาติมิตรของผู้ใช้คนเดิมหนักหน่วงนัก         หลังพ้นเวลา 45 วัน จึงเป็นไปได้ที่เบอร์นั้นจะถูกนำไปขายในตลาดแล้วหรือกระทั่งกลายเป็นเบอร์ที่มีคนใหม่ครอบครองและนำไปใช้แล้ว         กรณีเกิดการสูญเสียเบอร์และต้องการขอคืน หากดำเนินการหลังจาก 45 วัน  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ตามประสงค์ เพราะการเรียกคืนย่อมจะกระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย         ดังนั้น ถึงแม้ว่าการขอคืนภายในกรอบเวลา จะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับเบอร์คืนเสมอไป เนื่องจากตามกติกาไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ จึงค่อนข้างจะขึ้นกับดุลพินิจของบริษัทที่ให้บริการ (ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณาหลากมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะขีดเส้นชัดๆ ได้ง่ายนัก) แต่การรู้ตัวให้เร็วและเร่งดำเนินการติดต่อแจ้งความประสงค์ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดิมคืนมา         อย่างไรก็ตามการขอเบอร์คืนเป็นเพียงเรื่องปลายทางมีเรื่องต้นทางที่น่าพิจารณากว่า นั่นคือการรักษาเบอร์         ตามปกติ เรื่องการยกเลิกบริการย่อมเป็นสิทธิของฝ่ายผู้ใช้บริการ มิใช่ของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ก็กำหนดเป็นหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา ยกเว้นใน 5 กรณี ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการตายหรือสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล 2) ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน 3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้ใช้บริการมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้บริการ หรือนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญา 4) ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้โดยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และ 5) เป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย         ส่วนใหญ่แล้วเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาได้มักเป็นไปตามข้อยกเว้นข้อ 2) นั่นคือเกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะได้หาโอกาสกล่าวถึงต่อไป ในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่มักทำให้เกิดข้อพิพาท         อย่างไรก็ตามสำหรับระบบเติมเงิน เรื่องการยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น เนื่องจากในตลาดมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วันหมดอายุการใช้งาน” ซึ่งจะถูกกำหนดตามการเติมเงิน โดยที่ในการเติมเงินแต่ละครั้งจะได้ระยะเวลาการใช้งานที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เช่น 30 วัน ดังนั้นแม้ว่ายอดเงินที่เติมไว้จะยังคงเหลือ แต่วันใช้งานก็อาจหมดลงก่อนได้         ดังเช่นในรายของผู้ร้องเรียนวัย 84 ปีข้างต้น บริษัทที่ให้บริการชี้แจงว่า การเติมเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ได้วันใช้งาน 60 วัน ดังนั้น ในที่สุดบริษัทจึงตัดบริการ         นี่คือช่องว่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ดังนั้นตั้งแต่มกราคม 2565 กสทช. จึงได้มีมติว่า “ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมายในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป”         จนกระทั่งกว่าหนึ่งปีผ่านไป มติดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลในโลกความเป็นจริง         ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้าของสำนักงาน กสทช. ปัญหาซ้ำซากเรื่องการสูญเสียเบอร์ จึงยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่ทำให้การใช้งานโทรศัพท์มือถือของหลายคนเบาบางลง และการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างไม่สะดวก เช่น การเติมเงิน หรือแม้แต่การร้องเรียนก็ตาม เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าหากสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เบอร์ของคุณยายวัย 84 ปีก็คงจะไม่ต้องหลุดมือไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ดวงตาเป็นหน้าต่างของกำไร

        ปัจจุบันผู้คนเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้า ไม่ว่าใครต่อใครก็มักจะก้มหน้าใช้สายตาจ้องหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา อาการเหนื่อยล้าทางสายตาย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางคนเกิดปัญหาทางตาตามมาอีก จึงเป็นช่องทางให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาผุดออกมาจำหน่ายมากมายและรุกโฆษณาเข้าถึงตัวเราได้ง่ายๆ         ผมลองสังเกตหน้าจอมือถือที่จู่ๆ ก็มีโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาถึง แค่ครึ่งวันก็จู่โจมมาเกือบ 10 ยี่ห้อแล้ว        “เห็นยักใย่ ดำๆลอยไปลอยมา 1 เม็ดก่อนนอน ตาใสปิ๊งเหมือนได้ตาใหม่ ซื้อตอนนี้ 590 บาท ลดเหลือ 390 บาท”         “ฟื้นฟูดวงตาด้วยสารสกัดหญ้าฝรั่น ให้ผลไวกว่าลูทีนทั่วไป 5 เท่า ดูดซึมเร็วกว่าเดิมถึง 25 เท่า”                 “ตาพร่าดวงตาล้า ดูซีรี่ย์นานใช้ดวงตาเยอะ ....(ชื่อดารา)....เลือกใช้”                 “ปวดตาเคืองตา น้ำตาไหล มองไม่ชัด ซื้อ 3 แถม 1”         “....(ชื่อดารารุ่นแม่)....แนะนำสูตรใหม่ เห็นผลไวกว่าลูทีน 8 เท่า การันตีด้วยรางวัลโนเบล”         “สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด เป็นต้อ รู้สึกไม่สบายตา แสบตาเคืองตาอย่ารอช้า รีบทาน (โทรติดต่อ......)         “รวบรวมสารสกัดที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยสาร..... ซึ่งเป็นสารที่ช่วยปกป้องจอตาหรือเรตินาจากการถูก         ทำลายโดยแสงสีฟ้าและแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ สาร... ช่วยให้กล้ามเนื้อยึดเลนส์คลายตัว การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณรอบๆตาจึงไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดอาการอ่อนล้าของดวงตา ลดอาการตาแห้ง และเพิ่มการโฟกัสของตาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”         “บำรุงสายตาลดอาการตาแห้งตาล้า ช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น ป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า บำรุง ฟื้นฟู สายตา ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม ช่วยลดอาการตาแห้งจากลม เพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจน ช่วยปรับโฟกัส ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาของผู้สูงอายุ สามารถดูดซึมได้รวดเร็ว ภายใน 15 นาที”         ข้อความต่างๆ ที่ส่งเข้ามาจะหลากหลาย ตั้งแต่บอกว่ามีสารที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณบำรุง ป้องกัน ไปจนกระทั่งถึงรักษาโรคทางตาได้ด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ แต่ต้องมายื่นขอ อย.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในส่วนประกอบอาจมีสารอาหารมากกว่าอาหารทั่วๆ ไปเพิ่มเข้ามา ดังนั้นเมื่อมันเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทยา มันจึงไม่มีสรรพคุณในการ บำบัด บรรเทา ป้องกันหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถล้ำเส้นอ้างสรรพคุณทางยาได้ ซึ่งทางหน่วยงานที่ดูแลก็พยายามไล่กวดจับกันอยู่ แต่ผู้ขายและเครือข่ายก็มักจะแอบไปเปิดช่องทางใหม่ๆ ในโซเชียลจนเจ้าหน้าที่ตามแทบไม่ทัน         สุดท้ายนี้ขอแนะนำวิธีการถนอมสายตา เพื่อช่วยช่วยป้องกันสายตาเมื่อต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือใช้มือถือนานๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น (1) พักสายตาทุก 30 นาที (2) กะพริบตาให้ได้ 4-6 ครั้ง/นาที (3)ไม่ฝืนอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กมากจนเกินไป (4) เว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 30-40 เซนติเมตร (5) ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีไม่มืดหรือสว่างเกินไป (6)ไม่ใช้งานมือถือหากอยู่บนพาหนะที่มีความสั่นไหวเพราะทำให้มองจอได้ยาก (7)ช่วงอากาศแห้งไม่ควรใช้สายตานานจนเกินไป เป็นต้น         มันไม่คุ้มค่าหากตาจะพังและกระเป๋าตังค์จะรั่ว ต้องระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาล้ำเส้นจนเกินจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2565

ยกเลิกโทษ-ปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย         หลังจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เกี่ยวกับให้อำนาจจังหวัดสำหรับการออกคำสั่งการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยกเลิกพระราชกำหนด พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบจะคงค้างอยู่ จึงให้ยกเลิกค่าปรับสำหรับคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศในราชกิจจาฯ ต่อไป ผ่อนรถคิดดอกเบี้ย "ลดต้น-ลดดอก”         17 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของปี พ.ศ.2561 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน โดยให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือของแต่ละงวด         นอกจากนี้กรณีที่ยังไม่มีกฎหมายอัตราดอกเบี้ยสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ไว้เฉพาะ ให้กำหนดดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อตามกลไกตลาด คำนวณดังนี้ กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี , กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี , กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ลดลง-เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจประเทศทุก 3 ปี ห้ามใช้มือถือตอนขับรถฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1,000 บาท         เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 43(9)  แห่งราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ผู้ขับสามารถใช้โทรศัพท์ได้ต่อเมื่อทำตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายหรืออุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา ระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจับโทรศัพท์ 2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถขณะขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ สัมผัสเพื่อใช้งานให้ผู้ขับหยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท อย. พบสารเอทิลีนออกไซด์ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป         กรณีที่มีข่าวสำนักงานอาหารของสิงคโปร์เรียกคืน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ” ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบปนเปื้อนสารเอิลีนออกไซด์ จำนวน 4 รายการ  จากกรณีดังกล่าว อย.ไทย ได้มีการตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในไทย” แต่ได้ทำการตรวจสอบสถานที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ซีดาพ จำนวน 8 รายการ ที่ผลิตในไทยมาตรวจสอบหาสารเอทิลีนออกไซด์          จากผลตรวจวิเคราะห์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบ 2 ตัวอย่างที่มีสารเอทิลีนออกไซด์ คือ หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) ซองสีดำ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-5-0548 รุ่นการผลิตได้แก่ รุ่นวันที่ผลิต 25 NOV 21 วันหมดอายุ 25 NOV 22 และ รุ่นวันที่ผลิต 07 DEC 21 วันหมดอายุ 07 DEC 22  ทั้งนี้ อย.ได้อายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและกำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าพร้อมเตรียมขอความร่วมมือเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นไม่เอาควบรวม ทรู-ดีแทค         17 ตุลาคม 2565 นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้กับ กรรมการ กสทช. เนื่องจากอีกฝ่ายทำตัวไม่น่าไว้วางใจ ปัจจุบันยังไม่พบความชัดเจนต่อการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้เล่ห์ทางกฎหมายปัดความรับผิดชอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อ กสทช. ว่าผู้บริโภคเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำธุรกิจภายใต้การใช้คลื่นความถี่ มีมูลค่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศใช้เป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเชื่อว่า กสทช.มีข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับการควบรวบ ทรู-ดีแทค แต่ไม่สิ่งที่ไม่เชื่อคือ ใจ วิธีคิดและจิตสำนึกของบอร์ดกสทช.ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน         ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 ต่อกรณีควบรวมทรู ดีแทค โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”  ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ไม่ได้เปิดใช้ซิม แต่ถูกเรียกเก็บเงิน

        ค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กำลังแข่งกันทำโปรโมชันการขาย โดยโปรโมชันที่เป็นที่นิยมโปรโมชันหนึ่งคือ การขายซิมรายเดือนพร้อมพ่วงค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเปิดใช้งานซิมเรา ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไม่เปิดใช้ซิมแต่มีการเรียกเก็บเงินเราจะทำอย่างไร มาดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร         ภูผาซื้อซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ แบบโปรโมชันรายเดือนเดือนละ 299 บาท รวมทั้งค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของค่ายทรูมูฟเอชจากร้านขายโทรศัพท์ ทางร้านขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเขาไว้เพื่อยืนยันการซื้อซิม หลังจากนั้นเขาเอาเบอร์ที่ซื้อมาไปตรวจดูว่าเบอร์ที่ซื้อมาเข้ากับเขาไหม เพราะมีคนแนะนำเรื่องพลังของตัวเลข เขาพบว่าเบอร์ที่เขาซื้อมาไม่เข้ากับเขาอย่างมาก เขาจึงไม่ได้เปิดใช้บริการซิมนี้ เรื่องก็ล่วงเลยมา จนประมาณ 1 ปี เขาได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ขอให้ชำระเงินกว่า 3,000 บาท เนื่องจากค้างค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อ้าว...ไปค้างเงินค่ามือถือได้อย่างไร เขางงมากว่าทำไมถึงถูกเรียกเก็บค่าบริการ เพราะว่าเขาไม่ได้เปิดใช้บริการ เขาเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เป็นธรรม จึงมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ตนไม่ได้เปิดใช้บริการซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเพื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือแจ้งผู้ให้บริการว่าไม่ได้เปิดใช้บริการเบอร์โทรศัพท์และปฏิเสธการจ่ายเงินไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ พร้อมแนบสำเนาใบบันทึกประจำวันและทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปที่สำนักงานกฎหมายที่ได้ส่งหนังสือมาให้ผู้ร้องชำระเงินด้วย         ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกการคิดค่าบริการจากผู้ร้อง ซึ่งทรูมูฟเอชได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและประสานกับผู้ร้องแจ้งว่า ได้ดำเนินการยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดแก่ผู้ร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 หลอกให้ซื้อโทรศัพท์ ค่าจ้างเป็นเงิน 500 บาท

        ปัจจุบันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ มีทั้งหลอกให้เติมเงินในเกม หลอกให้รักและโอนเงิน หลอกให้ทำงานแล้วไม่จ่ายเงินบ้าง พอๆ กับทางโทรศัพท์ที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะพยายามหาวิธีเตือนผู้บริโภคด้วยกันเองมากมายแต่ยังคงมีผู้ถูกหลอกอยู่เรื่อยไป ซึ่งเรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่จะนำมาเตือนนี้ เป็นเรื่องราวที่อยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ต้องตั้งสติ! อย่าโลภและเห็นแก่เงินเพียงเล็กน้อยจนตกเป็นเหยื่อให้มิจฉาชีพหลอก        คุณเสือ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังสนใจหางานทำจากทางเฟซบุ๊ก ในขณะเลื่อนหน้าจอมือถือเพื่อหางานเขาเจอโพสต์หางานที่น่าสนใจเข้าโพสต์หนึ่ง จึงได้ทักไปสอบถามว่าลักษณะงานต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้จ้างก็ได้บอกรายละเอียดว่า งานคือ “ซื้อโทรศัพท์ เจ๊ผมจะให้เงินไปซื้อตามศูนย์ หากซื้อเสร็จเอาโทรศัพท์ให้ผม ก็จะได้ค่าจ้างทันที 500 – 1,200 บาท เป็นอันถือว่าจบงาน”         เมื่อคุยกันได้สักพักทางผู้จ้างให้คุณเสือถ่ายรูปบัตรประชาชนของตัวคุณเสือส่งไปให้ ซึ่งเขาก็ได้ทำตามที่บอก แล้วทางผู้จ้างถามต่อว่าได้ติดโปรค่ายโทรศัพท์ค่ายหนึ่งไหม คุณเสือก็ตอบว่าไม่   จากนั้นผู้จ้างให้คุณเสือแอดไปคุยกับทางแอดมินทางค่ายผู้ให้บริการสัญญาณมือถือ  แต่เมื่อถามตอบกันไปได้สักพักเหมือนจะไม่ได้หรือไม่สะดวกสักที ผู้จ้างจึงได้นัดคุณเสือไปที่ห้างแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อโทรศัพท์โดยใช้บัตรประชาชนของคุณเสือเป็นผู้ซื้อ         ตอนแรกทางผู้จ้างได้บอกว่าจะซื้อแบบสดไม่ใช่แบบผ่อน แต่เมื่อซื้อจริงๆ ดันเป็นซื้อแบบผ่อนคุณเสือก็รู้สึกเอะใจ แต่ยังไม่ทันได้คิดอะไรมาก วันนั้นคุณเสือได้ซื้อไปถึง 2 เครื่อง ในแบบผ่อนและลงทะเบียนเปิดเบอร์ใหม่อีกด้วย หลังจากนั้นเมื่อเขากลับมาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าโดนหลอกแล้วแน่นอน  คุณเสือเองรู้สึกกังวลมากจึงได้ทักไปถามคนจ้างว่าที่ซื้อแบบผ่อนส่วนที่เหลือผู้จ้างจะเป็นคนชำระต่อใช่ไหม และไม่ได้หลอกเขาใช่ไหม ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ใช่ไม่ได้หลอกแน่นอน” แต่...หลังจากนั้นผู้จ้างได้ทำการบล็อกเฟซบุ๊กไป สุดท้ายคุณเสือจึงได้รู้ว่าโดนหลอกแล้ว จึงได้มาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดแต่เมื่อปี 2562 เคยมีเคสลักษณะเดียวกันมาร้องเรียนโดยส่วนมากมิจฉาชีพจะหลอกให้เปิดเบอร์ซื้อโทรศัพท์แบบผูกรายเดือนและจะให้ค่าจ้าง 500-1,200 บาท หลังจากนั้นทางมิจฉาชีพได้โทรศัพท์ไป ก็จะไม่ชำระค่าโทรศัพท์ ใบแจ้งหนี้ก็ส่งไปตามที่อยู่ผู้ร้องเพราะเป็นคนลงทะเบียนและเจ้าของเบอร์         ดังนั้นเบื้องต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาดังนี้         1.ควรรีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อยืนยันว่าถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ         2.ใช้เอกสารที่ได้ไปดำเนินการแจ้งความ ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการและแจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ทั้งนี้ควรสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.ให้แก้ไขปัญหาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวังกันอีกด้วย         ในส่วนของบุคคลที่ต้องการหางานแล้วเจอลักษณะงานดังกล่าวแล้วเห็นว่าทำแค่เพียงนิดหน่อยก็ได้เงินมาใช้ง่ายๆ แล้วหลงเข้าไปทำ ก็อยากจะเตือนว่าการใช้บัตรประชาชนของตนเองไปเปิดเบอร์ให้ผู้อื่นหากเกิดมีปัญหาใดๆ ตามมาสุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 สมาร์ตโฟน

        สำหรับหลายๆ คน ตอนนี้อาจได้เวลาเปลี่ยนสมาร์ตโฟนที่ใช้อยู่กันแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ 25 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ให้สมาชิกได้เลือกกัน         สมาร์ตโฟนรุ่นที่นำมาทดสอบคราวนี้มีขนาดหน้าจอระหว่าง 6.1 – 6.8 นิ้ว และด้วยหน้าที่หลักในการเป็นกล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอ นอกจากกล้องหลัง 1 ตัวตามปกติแล้ว โทรศัพท์เหล่านี้ยังมีกล้องหน้าไว้เอาใจคนชอบเซลฟี่ 2 – 4 กล้องแล้วแต่รุ่นด้วย         ในการทดสอบมีการแบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้านหลักๆ โดยให้สัดส่วนคะแนนร้อยละ 25  กับการถ่ายภาพ/บันทึกวิดีโอ  ร้อยละ 15 กับแบตเตอรี อีกร้อยละ 15 กับหน้าจอ นอกจากนี้ยังให้สัดส่วนร้อยละ 10 เท่ากันกับความทนทาน คุณภาพเสียง และประสิทธิภาพโดยรวม อีก 15 คะแนนที่เหลือเป็นคะแนนสำหรับความสะดวกในการใช้งาน ฟีเจอร์ต่างๆ ฟังก์ชันโทรศัพท์ และความปลอดภัย         ในภาพรวมเราพบว่าโทรศัพท์รุ่นที่ได้คะแนนสูงมักจะมีราคาแพงตามไปด้วย แต่รุ่นราคากลางๆ ที่ใช้งานได้ดีพอสมควรก็ยังมีอยู่บ้าง ส่วนที่ราคาถูกมากๆ นั้นประสิทธิภาพน่าจะไม่เหมาสำหรับการใช้งานเข้มข้นอย่างที่คนใช้สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ต้องการ         โทรศัพท์ที่เราทดสอบคราวนี้มีสนนราคาระหว่าง 2,000 ถึง 57,000 บาท นอกจากคะแนนรวมแล้ว แต่ละรุ่นยังมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน เชิญพลิกหน้าถัดไปเพื่อค้นหาสมาร์ตโฟนที่ตรงใจ ในราคาที่พร้อมจ่ายกันได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 250 อยากซ่อมต้องทำได้

        ในยุคที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร การเรียน การทำงาน ฯลฯยอดขายอุปกรณ์เหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับปริมาณขยะที่เกิดจากมัน ทั้งนี้เพราะผู้บริโภค(ถูกทำให้) รู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการซ่อม ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว สุดท้ายก็ตัดใจ “ทิ้ง” แล้วซื้อใหม่ สถิติในปี 2019 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กันคนละ 7.3 กิโลกรัมต่อปี         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมาร์ตโฟน ข้อมูลจากรายงานของ NGI Forward เรื่อง Breaking the two-year cycle: Extending the useful life of smartphones ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (ที่ประชากรเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก 2 ปี) ระบุว่าหากเรายืดอายุการใช้งานของสมาร์ตโฟนออกไปได้ 3-4 ปี เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 44 เลยทีเดียว         ตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา มีโทรศัพท์มือถือถูกขายออกไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเครื่องในแต่ละปี และสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่อง ซึ่งหนักไม่เกิน 200 กรัม สามารถทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 80 กิโลกรัม พูดง่ายๆ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องซักผ้าด้วยซ้ำ และร้อยละ 72 ของรอยเท้าคาร์บอนของสมาร์ตโฟนก็เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบที่ใช้มีทั้งโลหะ แร่ธาตุหายากที่ได้จากการทำเหมือง และในกระบวนการผลิตยังต้องผ่านกระบวนการใช้สารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราซ่อมสมาร์ตโฟนเองได้จริงหรือ?        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าย Apple ซึ่งเข้มงวดเรื่องการส่งซ่อมกับบริษัทมาตลอด ประกาศว่าพร้อมให้ผู้บริโภคใช้ “สิทธิ์ในการซ่อม” แล้ว โดยช่วงแรกจะจำกัดเฉพาะจอ แบตเตอรี และการแสดงผลของ iPhone 12 และ iPhone 13 โดยบริษัทจะวางจำหน่ายอะไหล่กว่า 200 ชิ้น รวมถึงเครื่องมือสำหรับซ่อมไว้ในเว็บไซต์   แต่ Apple ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเช่นนั้น เมื่อปี 2013 บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ได้เปิดตัว Fairphone สมาร์ตโฟนดีไซน์โมดูลาร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 8 ชิ้น ออกแบบมาเพื่อรองรับการถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้โดยใช้ไขควงธรรมดา และมีอะไหล่จำหน่ายแยก         โทรศัพท์ของค่ายนี้ยังออกแบบมาให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่น รุ่น Fairphone 3 สามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 50  ทำได้ดีขึ้นจาก Fairphone 2 ที่รีไซเคิลได้ร้อยละ 30 (สมาร์ตโฟนทั่วไปทำได้ร้อยละ 20 เท่านั้น)           รุ่นล่าสุด Fairphone 4 ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยราคา 579 -649 ยูโร (ประมาณ 22,000 – 25,000 บาท) ยังให้เวลารับประกันถึง 5 ปีด้วย         สมาร์ตโฟนของบริษัทดังกล่าวซึ่งมีพนักงานร้อยกว่าคน มียอดขายในปี 2020 ประมาณ 95,000 เครื่อง จากการทำตลาดเฉพาะในอังกฤษและสหภาพยุโรป ได้ครองที่หนึ่งทุกครั้งในการจัดอันดับสมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ “ซ่อมเองได้”  โดย ifixit.com เว็บไซต์สัญชาติอเมริกันซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปจนถึงรถยนต์         Fairphone จากเนเธอร์แลนด์ได้คะแนนไป 10 เต็ม 10            ตามมาติดๆ ด้วย Shiftphone จากเยอรมนีที่ได้รางวัล German Sustainability Award 2021 ที่ได้ไป 9 คะแนน           ในอันดับกลางๆ ได้แก่ iPhone 12 และ Google Pixel ที่ได้ 6 คะแนนเท่ากัน         รุ่นที่ได้คะแนนต่ำได้แก่ Microsoft Surface Duo และ Galaxy 2 Flip ที่ได้ไป 2 คะแนน และ Motorola Razor ที่ได้ไปเพียง 1 คะแนนเท่านั้น          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สมาชิกสามารถเข้าไปดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ คุณสามารถเข้าไปเรียนรู้หรือแบ่งปันวิธีซ่อมโทรศัพท์ ช่วยแปลเนื้อหาบางส่วนเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงสั่งซื้ออะไหล่หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นได้ด้วย        เทรนด์ “ซ่อมได้” สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังมาแรง เราน่าจะได้เห็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในแนวนี้มากขึ้น แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาก็ลดความซับซ้อนให้ผู้ใช้รถรู้สึกอุ่นใจที่สามารถซ่อมหรือซื้อหาอะไหล่มาเปลี่ยนเองได้ และความเรียบง่ายในการออกแบบยังมีส่วนทำให้ราคาถูกลงอีกด้วย   https://www.dw.com/en/fairphone-shiftphone-cell-phone-smartphone-environment-climate-co2https://research.ngi.eu/reports-white-papers/breaking-the-two-year-cycle-extending-the-useful-life-of-smartphones/https://positioningmag.com/1240029https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/6/183103/Apple-to-allow-iPhone-users-to-repair-their-own-deviceshttps://www.ifixit.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ค้างจ่าย 2 เดือน มือถือถูกระงับ แต่กลับได้บิลทวงหนี้ย้อนหลัง 11 เดือน

        คำเตือน สำหรับใครที่ใช้แพ็กเกจมือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือน คุณรู้ไหมว่าเงื่อนไขการใช้งานนั้น จะเป็นแบบใช้งานก่อนและชำระค่าบริการทีหลัง ถึงแม้จะไม่มีการใช้งานหมายเลข ระบบก็ยังคงคิดค่าบริการต่อเนื่องตามปกติ จนกว่าจะมีการยกเลิกหมายเลข ระบบจึงจะหยุดคิดค่าบริการ หลายคนอาจยังไม่รู้ คุณแท้จริง(นามสมมติ) ก็เช่นกัน         คุณแท้จริงต้องการยกเลิกการใช้เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท X แบบจ่ายรายเดือน ที่ใช้มาหลายปี แต่ไม่เคยใช้งานเบอร์นี้เต็มแพ็กเกจเลย เพราะเจอปัญหาสัญญาณไม่เต็มตามที่ผู้ให้บริการระบุไว้ เขาจึงหยุดใช้และมียอดค้างจ่ายอยู่ 2 เดือน ต่อมาบริษัทส่งข้อความระงับการใช้บริการมาให้ นับแต่นั้นเขาก็ไม่ได้ใช้เบอร์นั้นอีกเลยและเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายแล้ว         จนกระทั่งปลายเดือน มิถุนายน 2564 คุณแท้จริงได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแจ้งทวงหนี้มา 7 พันกว่าบาท เป็นค่าบริการตั้งแต่ มกราคม - พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเขาเองก็สงสัยว่า จริงๆ บริษัทมีสิทธิเรียกเก็บเงินเฉพาะส่วนที่คงค้างก่อนถูกตัดสัญญาณเท่านั้นไม่ใช่เหรอ ทำไมยังเรียกเก็บเพิ่มอีกล่ะทั้งๆ ที่เขาเลิกใช้เบอร์นั้นนานแล้ว คุณแท้จริงจึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้กับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าบริษัทอาจแจ้งระงับสัญญาณชั่วคราว เพื่อให้ผู้บริโภคไปชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกบริการอย่างที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยังคงมีหน้าที่ชำระค่าบริการอยู่ โดยการระงับสัญญาณชั่วคราวนั้นผู้ประกอบการสามารถทำได้ ตามข้อ 28 (6) ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการสามารถแจ้งขอระงับสัญญาณชั่วคราวได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระเกิน 2 รอบบิล ซึ่งเป็นสิทธิในการระงับสัญญาณ ยังไม่ใช่การยกเลิกสัญญา          ดังนั้น ผู้บริโภคควรทำเรื่องยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการให้เรียบร้อย ก่อนที่จะยุติการใช้เบอร์มือถือนั้นๆ ซึ่งก่อนจะยกเลิกสัญญาจะต้องชำระค่าบริการให้ครบถ้วนจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ตามข้อ 32 ของประกาศเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >