ฉบับที่ 270 เทคโนโลยี “ฝากไข่” ช่วยคนมีลูกเมื่อพร้อม กับข้อที่ต้องศึกษา รู้ก่อนเสียเงินมหาศาล

        ด้วยความที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง หรือไม่ว่าจะเป็นเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้หลายครอบครัวมีลูกเมื่ออายุมากขึ้น ด้ายสภาพร่างกายที่อาจไม่สมบูรณ์ถึงเวลานั้นบางคนก็ไม่สามารถมีลูกได้ หรือบางคนก็มีลูกยากและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงทารกในครรภ์ที่เสี่ยงเกิดมาไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการมีลูกมากขึ้น อย่างเช่น หลายๆ ครอบครัวที่พอมีเงินก็จะเลือกใช้วิธี “ฝากไข่” ไว้กับสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากเอาไว้ก่อน เมื่อพร้อมจึงมาทำการผสมเทียมและฝังตัวอ่อนต่อไป         การกำกับดูแลสถานพยาบาลสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก         ปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเด็กหลอดแก้ว จนแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยากก็เข้ามารับการรักษาในเมืองไทยจำนวนมากขึ้น เพราะมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐานของสถานพยาบาลและบุคลากร ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลที่ให้การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากนั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)        นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสบส. อธิบายให้ฟังว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีต่างๆ  แน่นอนว่ารวมไปถึงการเก็บไข่ ฝากไข่ กระทั่งสเปิร์มก็ตาม  ตลอดจนการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) จะถูกกำกับด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ทั้งเรื่องผู้รับบริการที่จะมีการกำหนดถึงความเป็นสามี ภรรยาตามกฎหมาย ตลอดจนกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาล และบุคลากรการแทพย์           สำหรับ “สถานพยาบาล” ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ จะต้องจัดให้มี องค์ประกอบต่างๆ ตามมาตรฐาน ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีองค์ประกอบ ของบุคลากร ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน สูตินรีแพทย์ พยาบาล รวมทั้งมีสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว สบส. จะออกหนังสือรับรองมาตรฐานฯ ให้ พร้อมทั้งจัดทำ โปรแกรม ICMART-IVE ซึ่งเป็นโปรแกรมคลังข้อมูลด้าน เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯของประเทศไทย (Big-DATA)         “ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ ทั้งสิ้น 110 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพยาบาลรัฐ 16 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 94 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง และคลินิกเอกชน 64 แห่ง รองรับผู้รับบริการที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากทั้งคนไทยและต่างชาติ อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึง 46 % ให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา  สร้างรายได้ในบริการทางการแพทย์นี้กว่า 7,500 ล้านบาท”         ส่วนเรื่องการตั้งครรภ์แทนนั้น ยิ่งมีความเข้มงวดมาก โดยกำหมายกำหนดว่า ในกรณีที่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้จะสามารถขออนุญาตดำเนินการให้มี การตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 23 ซึ่งจะต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง มาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่ กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผ่านการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภแทน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะออกหนังสืออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายๆ ต่อไป           “นพ.สุระ” ย้ำว่า ประชาชนที่กำลังจะเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จะต้องทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ  ต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และห้ามทำในเชิงพาณิชย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ นายหน้า คู่สมรส และหญิงที่ตั้งครรภ์แทน หากมีปัญหาในการรับบริการ หรือพบเห็นการทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งที่สายด่วนกรม สบส. 1426  เรื่องต้องรู้ การตลาดกับบริการรับฝากไข่         แม้จะมีข้อกำหนดตามกฎหมายที่ชัดเจนในการให้บริการ แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะการโฆษณาหรือนำเสนอข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด ตลอดจนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังเช่นกรณีหนึ่งที่เข้ามาร้องเรียนต่อ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ก็เป็นปัญหาเริ่มตั้งแต่กระบวนการ “เก็บไข่ ฝากไข่” เลยด้วยซ้ำ และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการฝากไข่ โดยผู้ร้องให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ได้จ่ายเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท เพื่อตกลงซื้อแพ็คเกจฝากไข่ Oocyte Freezing Package ซึ่งราคาเต็มอยู่ที่ 189,000 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2565 เข้ารับการเก็บไข่ตามกระบวนการ พร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือ รวมถึงค่ายาฮอร์โมนกระตุ้นเพิ่มเติมประมาณ 20,000 บาท  และวันที่ 21 มีนาคม 2565 โรงพยาบาลดังกล่าวได้นัดผู้ร้องเพื่อฟังผล และแจ้งว่าจะต้องชำระเงินเพิ่มอีก 40,000 บาท เพื่อแช่ไข่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามแพ็คเกจของโรงพยาบาลฯ แต่พยาบาลแจ้งแก่ผู้ร้องว่ายังไม่ต้องดำเนินการชำระเงิน ให้ผู้ร้องมาต่อสัญญาใหม่หลังจากสัญญาเดิมครบกำหนด เมื่อครบกำหนด 1 ปี         โรงพยาบาลฯ ส่งข้อความ ผู้ร้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลติดต่อเพื่อให้เข้าไปดำเนินการต่อสัญญาตามใบนัด แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลแจ้งว่าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะดำเนินการปิดศูนย์ฯ โดยทางโรงพยาบาลมีข้อเสนอดังนี้ 1. ให้ผู้ร้องย้ายไปฝากกับ “แพทย์ที่ดูแลผู้ร้อง” ซึ่งได้ย้ายไปทำหัตถการในคลินิกอื่น หรือ 2. ให้ฝากกับโรงพยาบาลในเครือของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว แต่ผู้ร้องจะต้องชำระค่าฝากปีแรก 20,000 บาท และปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนด         ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ประสงค์ย้ายการฝากไข่ไปที่คลินิกอื่นเพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียงของโรงพยาบาลจึงตัดสินใจเลือกฝากที่โรงพยาบาลเดิมตั้งแต่แรกแม้จะมีค่าใช่จ่ายที่สูงกว่า แต่การที่ให้ยายไปฝากไข่ที่โรงพยาบาลในเครือแล้วต้องจ่ายค่าฝากปีแรก 20,000 บาท ส่วนปีถัดไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในเครือกำหนดนั้น ผู้ร้องมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมที่ได้ทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการฝากแช่ไข่ 5 ปี จำนวน 40,000 บาท ไปอีกหลายเท่า ซ้ำในปีถัดไปโรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ร้องจะต้องจ่ายเท่าไหร่  จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ         ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2566 ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ ก็ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า โรงพยาบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ร้อง โดยหากผู้ร้องประสงค์ย้ายไปฝากไข่กับสถานพยาบาลอีกแห่งจะคิดค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ปีละ 20,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มย้ายไข่ หากครบกำหนดระยะเวลา 5ปี ค่าใช้จ่ายจะเป็นไปตามที่สถานพยาบาลแห่งนั้นกำหนด แต่ผู้ร้องปฏิเสธข้อเสนอ        มูลนิธิฯ จึงทำหนังสือขอให้ทบทวนค่าใช้จ่ายในการย้ายไปฝากไข่ที่สถานพยาบาลแห่งใหม่ โดย 3 ปีแรกขอให้คิดค่าใช้จ่ายจำนวน 40,000 บาท และ ปีต่อๆไป ปีละ 15,000 อีก 2 ปี ทั้งนี้หากไม่สามารถตกลงกันได้ผู้ร้องขอใช้สิทธิทางศาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แต่ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิฯ ทำให้ทางฝั่งผู้ร้องมีการปรึกษาหารือกับทีมกฎหมายอยู่ระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายตัดสินใจย้ายไข่ไปฝากกับสถานพยาบาลแห่งอื่นแทน แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องน้ำยาการแช่ไข่ทำให้ไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลปลายทางที่ผู้ร้องเลือกได้ ทำให้ผู้ร้องต้องเลือกข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชนดังที่ระบุไว้ในตอนต้น         ทั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่บกพร่องจากตัวผู้บริโภคเอง สุดท้ายต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงขอแนะนำผู้ที่มีความสนใจอยากฝากไข่ จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ  เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ เช่น ใบโฆษณา รายละเอียดคอร์ส หลักฐานการชำระเงิน ให้ครบถ้วนและที่สำคัญต้องมีสัญญา โดยสัญญาต้องมีความชัดเจน ระบุรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน เช่น กรณีการยกเลิกสัญญา การย้ายโรงพยาบาล การคืนเงิน เป็นต้น         เทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่อยากมีลูกสามารถมีลูกได้สมความตั้งใจ ทุกฝ่ายทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้กำกับดูแล ต่างอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย แม่หวังแต่ประโยชน์หรือผลกำไรที่จะ “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” เชื่อว่า นอกจากจะเป็นการช่วยให้ครอบครัวมีความสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สู้กับวิกฤติเด็กเกิดน้อยในปัจจุบันได้ จากนั้นก็เข้ากระบวนการหล่อหลอมทางการศึกษา สังคม เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังหลักของประเทศต่อไปอ้างอิงจากบทความของเว็บของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา National Institutes of Healthhttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4554370/#:~:text=The%20most%20problematic%20aspects%20in,granted%20oocyte%20cryopreservation%20is%20a..................................................Ø ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566) สถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ – กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (moph.go.th)

อ่านเพิ่มเติม >