ฉบับที่ 258 มามี้ที่รัก : หลบหน่อย…แม่(ผู้มีฝัน)จะเดิน

                มนุษย์ทุกคนมี “ความฝัน” เพราะความฝันทำให้ชีวิตของคนเรามีคุณค่าและความหมาย และที่สำคัญ ความฝันถือเป็นเอกสิทธิ์โดยชอบธรรมที่ปัจเจกบุคคลพึงมี พึงเลือก และพึงรักษาไว้ เพื่อให้คุณค่ากับความหมายแห่งชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้นั่นเอง         ถ้าหากความฝันมีความสำคัญเฉกเช่นนี้ สำหรับผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” แล้ว พวกเธอจะวางตำแหน่งแห่งที่ของความฝันในชีวิตกันอย่างไร         “มามี้ที่รัก” ละครโทรทัศน์แนวคอมเมดี้เจือดรามา เป็นเรื่องเล่าที่ไม่เพียงผูกโยงเรื่องราวของบรรดาคุณแม่ๆ ที่มารวมตัวเป็นแก๊งก๊วนดูแลคุณลูกๆ วัยอนุบาลกันเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาสารที่ตั้งคำถามต่อโลกแห่งความฝันของผู้หญิง พลันเมื่อพวกเธอต้องเข้ามาสวมบทบาทของความเป็นแม่ควบคู่กันไป         เมื่อก้าวลงสู่สนามของความเป็นแม่นั้น บทบาทแรกที่สังคมมอบหมายให้กับผู้หญิงก็คือ ต้องยึดลูกเป็นสรณะ ทั้งนี้ นอกจากให้กำเนิดแล้ว พวกเธอยังต้องรับภาระหน้าที่เลี้ยงดูลูก และพึงต้องเสียสละเพื่อลูกก่อนที่จะนึกถึงความสุขของตนเอง ด้วยเหตุฉะนี้ ภายใต้ข้อกำกับของสังคมดังกล่าว จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของตัวละครผู้หญิงสามคนคือ “พริมา” “สรินตา” และ “กันนรี” ว่า ความฝันที่พวกเธอปรารถนาจะมี จักต้องปะทะต่อรองกับบทบัญญัติที่สังคมกำหนดให้กับแม่ๆ มามี้กันเช่นไร         ฉากเริ่มต้นของละครอาจดูไม่แตกต่างจากภาพที่เราคุ้นๆ กันว่า บรรดาคุณแม่ก็มักแข่งขันกันเพื่อให้ลูกของเธอ “เจ๋งที่สุด” หรือโดดเด่นเหนือลูกของคนอื่น เพราะฉะนั้น เมื่อลูกๆ ของคุณแม่ทั้งสามได้มาเรียนใน “โรงเรียนอนุบาลดีเลิศ” ห้อง 3/1 เหมือนกัน การช่วงชิงให้ลูกของตนได้รับบทเด่นเป็น “หนูน้อยหมวกแดง” ในละครเวทีปิดภาคเรียน จึงเป็นประหนึ่งสมรภูมิย่อยๆ ที่ปะทุขึ้นเป็นปกติในชีวิตของผู้หญิงสามคนนี้         มูลเหตุพลิกผันที่ทำให้คุณสามมามี้ต้องแท็กทีมจับมือกัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อโรงเรียนอนุบาลได้จัดกิจกรรมแรลลี่ “ปลูกรัก” เพื่อ “คืนความสุข” สมัครสมานสามัคคีในหมู่ผู้ปกครอง แต่ให้บังเอิญว่า คุณแม่ทั้งสามกลับต้องไปเป็นพยานในเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว จนถูกฆาตกรลึกลับคุกคามเอาชีวิต         ชะตาชีวิตที่ต้องเผชิญกับฆาตกรที่ตามไล่ล่า ได้นำไปสู่ชะตากรรมร่วมที่ผู้หญิงสามคนได้เรียนรู้เหตุและผลในการละทิ้งความฝันของผู้หญิงที่ต้องมาสวมบทบาทของแม่ผู้ที่ “เปลก็ต้องไกว ดาบก็ต้องแกว่ง”        สำหรับมามี้คนแรกคือพริมา หรือ “พริม” นั้น เธอเป็นเน็ตไอดอลสาวสวยและยูทูเบอร์เจ้าของรายการ “Healthy Kids” หากมองย้อนกลับไปในอดีต พริมเคยเป็นพริตตี้ที่มีชื่อเสียงอยู่บ้าง จนกระทั่งเธอตั้งท้องกับ “ภาณุ” ชายหนุ่มผู้รักการขี่รถบิ๊กไบค์ท่องเที่ยว และยังไม่พร้อมจะสร้างครอบครัวกับใคร เส้นทางชีวิตของพริมก็เลยต้องแปรเปลี่ยนไปจากเดิม         ดังนั้น เพื่อให้แฟนหนุ่มได้ทำตามความฝันเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วโลก พริมจึงตัดสินใจผันตัวมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวให้กับ “เอวา” ลูกสาววัยห้าขวบแต่เพียงลำพัง แม้ลึกๆ แล้ว พริมผู้ “ยากไร้ความฝัน” จะบอกกับตัวเองว่า “ฉันต้องการมากกว่านั้น ฉันต้องการให้คุณอยู่ด้วย”         ส่วนมามี้คนถัดมาคือสรินตา หรือ “หลิน” แม่บ้านปากร้ายใจดี ประธานชมรมผู้ปกครองของโรงเรียน ในอดีตหลินมาจากครอบครัวฐานะยากจน และเคยเป็นนักร้องกลางคืนมาก่อน จนเมื่อมี “จีโน่” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน หลินก็ละทิ้งทุกอย่าง รวมทั้งอาชีพนักร้องที่เธอรัก เพียงเพื่อมาเป็น “ช้างเท้าหลัง” สนับสนุนหน้าที่การงานของสามี “ปรเมศวร์” ผู้เป็นนักการเมืองอนาคตไกล         แต่ทว่าสิ่งที่หลินต้องอดทนอดกลั้นมาตลอดนั้น ไม่เพียงเธอต้องอยู่ในโอวาทของสามีเจ้าระเบียบ หรือถูกตั้งแง่รังเกียจกำพืดความจนจาก “คุณหญิงปรางทิพย์” แม่สามีที่เจ้ายศเจ้าอย่างแล้ว ยังรวมถึงการที่ครอบครัวของเขาก็ไม่เคยให้เกียรติ และไม่เคยนับว่าเธอเป็น “คนในครอบครัว” เลย         และสำหรับมามี้คนสุดท้ายก็คือกันนรี หรือ “กัน” คุณแม่สาวใหญ่เวิร์คกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ลึกลงไปในใจแล้ว เธอก็ปรารถนาจะมีครอบครัวที่ “สมบูรณ์” แบบพ่อแม่ลูกตามความคาดหวังของสังคม กันจึงตกลงใจผสมเทียมเด็กหลอดแก้วกับ “ชนะชล” ชายหนุ่มเรือนร่างซิกซ์แพ็ก เจ้าของธุรกิจขนย้ายบ้านและออฟฟิศ “เลิฟลี่โฮม”         แต่หลังจากมีลูกสาวแสนน่ารักอย่าง “ข้าวหอม” ชีวิตครอบครัวของกันที่น่าจะ “สมบูรณ์” ตามแบบอุดมคติทางสังคมกลับถึงคราวล่มสลาย เพราะเธอจับได้ว่า สามีแฟมิลี่แมนเป็นเกย์ และมีชายหนุ่มคนรักอย่าง “วิชญ์” ที่ข้าวหอมเองก็เรียกเขาว่า “คุณแด๊ด” จนเธอต้องการขอหย่าและแยกทางกับสามี         กับผู้หญิงสามคนที่ต่างละทิ้งและต่อรองความฝันกับเหตุผลอันหลากหลายของสังคม เมื่อได้มาร่วมชะตากรรมเดียวกัน โดยมีศพและการฆาตกรรมเป็นศูนย์กลางของเรื่อง มิตรภาพแห่ง “เพื่อนหญิงพลังหญิง” จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยต่อลมหายใจในการมีชีวิตอยู่ของพวกเธอ เฉกเช่นที่หลินได้ปรารภกับเพื่อนคุณแม่ด้วยกันว่า “ชีวิตครอบครัวของเรามันห่วยแตก แม่ๆ อย่างเราเลยต้องมาปรับทุกข์กันเอง”         เพราะแม่ย่อมเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ด้วยกัน แม้ไม่อาจทำตามความฝันของตนไปได้ แต่บรรดาแม่ๆ ก็แอบ “ฉกฉวยจังหวะ” เพื่อจะสร้างบางพื้นที่บางเวลาซึ่งปลอดจากภาระแห่งลูก สามี และครอบครัว ฉากที่พวกเธอแอบจัดปาร์ตี้ชนิดเมากันเละที่บ้านของหลิน พร้อมประสานเสียงออกมาว่า “ใครบอกว่าแต่งงานแล้วชีวิตจะสมบูรณ์…ไม่จริง!!!” ก็ชวนตั้งคำถามอยู่ในทีว่า ลูกและสามีเป็นความสุขสุดท้ายของมามี้กลุ่มนี้จริงๆ ล่ะหรือ?         แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ชีวิตครอบครัวอาจไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของบรรดาแม่ๆ แต่พลันที่เธอได้เลือกเป็นแม่ของลูกแล้ว ปณิธานร่วมของตัวละครหญิงสามคนก็ยังคงยืนยันว่า “คนเป็นแม่อย่างเราจะมีอะไรสำคัญไปกว่าลูกล่ะ” และ “เรื่องลูกต้องมาก่อนความฝันของเราเอง”         เมื่อมาถึงช่วงท้ายเรื่องที่เฉลยว่า “เชฟพีระ” ที่ดูเป็นสุภาพบุรุษในฝัน แต่แท้จริงแล้วเป็นฆาตกรที่ตามไล่ล่ามามี้ทั้งสาม และยังจับลูกๆ ของเธอเป็นตัวประกัน เราจึงได้เห็นภาพของ “มามี้ที่รัก” สวมบทบาท “นางฟ้าชาร์ลี” พร้อมอาวุธครบมือไปต่อสู้กับคนร้าย อันสะท้อนนัยพลังของแม่ซึ่งทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดเสียอีก         จะว่าไปแล้ว แม้จุดเริ่มต้นของละครอาจมาจากการฆาตกรรมที่สะท้อนความรุนแรงเชิงกายภาพซึ่งสังคมกระทำต่อร่างกายของเหยื่อผู้หญิงก็ตาม แต่เหนือไปกว่านั้น การที่สังคมได้พรากความฝันไปจากแก๊งมามี้ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิงที่ให้กำเนิดสรรพชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน         ภาพฉากจบที่ลูกและสามีมาเชียร์คุณแม่เข้าประกวดร้องเพลงและตะโกนว่า “คุณแม่…สู้!!!” ไปจนถึงภาพของบรรดาลูกๆ ที่พากันเปล่งเสียงให้กับทั้งสามมามี้ว่า “พวกเรารักมามี้นะคะ/นะครับ” ก็น่าจะทำให้เราย้อนคิดได้ว่า ความฝันไม่ใช่แค่เรื่องของลูกๆ และสามีเท่านั้น หากแต่มามี้เองก็มีความฝันได้ไม่ต่างจากพวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >