ฉบับที่ 168 มัดกล้ามนี้..ท่านได้แต่ใดมา

ทางบรรณาธิการฉลาดซื้อได้เปรยกับผู้เขียนว่า เดี๋ยวนี้มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับหนุ่มๆ ที่ต้องการเป็นที่ติดใจตรึงตาสาวด้วยมัดกล้าม ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันมีประโยชน์และความปลอดภัยเพียงใด ผู้เขียนจึงรับเรื่องมาพิจารณาดูว่ามันมีอะไรเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคควรระวังบ้าง แม้ว่าไปมันจะไม่มีประโยชน์ต่อ สว. อย่างผู้เขียนแล้วก็ตาม เมื่อเข้าไปค้นดูข้อมูลในเน็ตโดยอาศัย Google ก็พบบทความหนึ่งในเว็บ Kapook ชื่อ 12 อาหารสร้างกล้าม (Men's Health) เขียนโดย นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย เมื่อ 27 มีนาคม 2555 เวลา 18:03:15 ซึ่งใจความก็เป็นการแนะนำให้กินอาหารธรรมชาติบางชนิดที่ควรมีประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของหนุ่มๆ มีส่วนหนึ่งของบทความที่ต้องจริตของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งคือ “อาหารเสริมต่างๆ มากมายอาจไม่ได้ผล แถมยังทำให้คุณเสียเงินไปเปล่าๆ เพราะถ้าคุณยังรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารเสริมราคาแพง ก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ หรืออาจไม่ต่างอะไรกับการรับประทานแป้งเปล่าๆ ดังนั้นเพื่อให้ได้กล้ามเนื้อสมใจหล่อเลือกได้ในระยะยาวหรือถาวร คุณจำเป็นต้อง เลือกทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม....................” จริงแล้วการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ไม่เข้าใจหลักการของอาหารห้าหมู่ หรือถึงเข้าใจแต่เป็นคนรวยไม่รู้เรื่อง ในการหาข้อมูลผ่านฐานข้อมูล ScienceDirect ผู้เขียนได้พบบทความของ Tzu-Cheg Kao และคณะ เรื่อง Health Behaviors Associated With Use of Body Building, Weight Loss, and Performance Enhancing Supplements ตีพิมพ์ใน Annals of Epidemiology ชุดที่ 22 หน้าที่ 331–339 ในปี 2012 ซึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่น่าประหลาดใจที่จากการสำรวจในปี 1999 ถึง 2000 พบว่าผู้ใหญ่อเมริกันอย่างน้อยร้อยละ 52 กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้อยหนึ่งชนิดขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า เกินกว่าร้อยละ 50 ของนักกีฬา ทหาร และคนทั่วไป กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในทหารที่ฝึกอย่างหนักมีถึงร้อยละ 13 ที่กินครีเอตีน (creatine) และผลิตภัณฑ์ที่มีเอ็พฟีดรีน (ephedrine) เป็นประจำเพื่อปรับปรุงสมรรถนะทางร่างกาย   ในปี 2008 สถาบันทางการแพทย์(Institute of Medicine หรือ IOM) ได้รายงานถึงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในทหารซึ่งส่งผลกระทบถึงความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหารและสมรรถนะทางกาย สถาบันทางการแพทย์แนะนำว่ากระทรวงกลาโหม (Department of Defense) ควร 1) วางระบบติดตามตรวจสอบผลเสียที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของทหารโดยรวม 2) ติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าหนึ่งชนิดของกำลังพล และ 3) ติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบหลายชนิดที่ไม่ทราบสัดส่วนแน่นอนผสมกัน ตัวอย่างปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจาการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกาคือ หัวใจเต้นผิดปรกติ ตัวร้อน กล้ามเนื้อสลายตัว(Rhabdomyolysis ซึ่งมีเซลล์กล้ามเนื้อหลุดเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะถ้าเป็นโปรตีนของกล้ามเนื้อเช่น มัยโอกลอบิน(myoglobin) หลุดไปถึงไต อาจทำให้ไตวาย) หมดสติ ชัก สมองหยุดทำงานเนื่องจากขาดเลือด และเสียชีวิต โดยจำนวนผู้เคราะห์ร้ายในลักษณะนี้ไม่แน่ชัด แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประเมินว่าน่าจะราวร้อยละ 1 ของปัญหาที่เกิดการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัญหาทางสุขภาพนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะ บุคลากรทางทหารนั้นมักต้องฝึกในสภาวะแวดล้อมที่คับขันสาหัสสากรรจ์ ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงของปัญหาที่เกิดเนื่องจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นการลดความเสี่ยงในประเด็นนี้ จึงสำคัญต่อความพร้อมของกำลังพลของกองทัพ ในปี 1980 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เริ่มโครงการสำรวจพฤติกรรมของกำลังพลที่ใช้สารต่างๆที่ไม่ใช่อาหารในกองทัพ จากนั้นในปี 2005 ก็มีการสำรวจถามถึงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกำลังพล โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมกล้ามเนื้อ (body building) ลดน้ำหนัก (weight loss) และเสริมสมรรถนะร่างกาย (performance enhancing) ในประเด็นต่อไปนี้คือ สาเหตุการใช้ ระดับที่ใช้ และแหล่งข้อมูลในการใช้ผลิตภัณฑ์ จากการสำรวจได้มีการรายงานว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกามีการปนเปื้อนขององค์ประกอบที่ผู้บริโภคไม่รู้จัก ดังนั้นการที่กำลังพลของกองทัพหันมากินผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีผลต่อสุขภาพอาจส่งผลต่อความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ การสำรวจบอกว่า กำลังพล 1 ใน 4 กินผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อหรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเป็นประจำโดยไม่ได้ใช้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยในการตัดสินใจ นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นยังไปมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่กำลังพลมีเป็นประจำอยู่แล้วคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกกันน็อค และที่น่าสนใจก็คือ มีข้อมูลว่า คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นมีแนวโน้มต่อการใช้สารกระตุ้นชนิดสเตียรอยด์(anabolic steroid) สูงกว่าคนทั่วไปถึงห้าเท่า โดยสรุปของรายงานกล่าวว่า การปนเปื้อนของสิ่งที่ไม่ต้องการและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์นั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยของผู้ป่วย อีกทั้งการกินผลิตภัณฑ์มากกว่า 2 ชนิดขึ้นไปในกำลังพลร้อยละ 9 ของกองทัพนั้นน่าจะมีผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสมรรถนะของกองทัพ และที่น่าสนใจคือ มีผู้รายงานว่ากว่าร้อยละ 30 ของนักกีฬามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกานั้น ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะของร่างกาย รูปแบบของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกำลังพลในกองทัพนั้นยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2005 พบว่านาวิกโยธินอาจมีความเสี่ยงในการดื่มแอลกอฮอล์และอื่น ๆ มากเกินไป โดยความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มว่าเกิดในชายอายุ 25 ปี ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือน้อยกว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าประมาณร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นปนเปื้อนด้วยสเตียรอยด์ที่ใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อ(anabolic steroid) ซึ่งสารเหล่านี้มักไม่ถูกแจ้งว่าเป็นองค์ประกอบในฉลาก ดังนั้นในการศึกษาถึงผลการที่ผู้บริโภคกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ จึงมักรายงานว่าผู้บริโภคมีอาการตับเป็นพิษ ภาวะทางจิตผิดปรกติ ความผิดปรกติของทางเดินอาหาร หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้มักสัมพันธ์กับการใช้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก แม้ว่ามีบางการศึกษาพบว่าบางผลิตภัณฑ์นั้นมี ไซบูทรามีน (Sibutramine) และซินเนฟฟรีน (Synephrine) ซึ่งใช้ในกิจการลดน้ำหนัก หรือส่วนประกอบอื่นปนอยู่ ก็ยังพบว่าเพียงร้อยละ 36 ของนักกีฬาเยอรมันเท่านั้นที่กังวลในปัญหานี้ และไม่มีใครทราบว่ากำลังพลของทหารอเมริกันเท่าใดที่รู้คิดกังวลต่อการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือมีโครงการอะไรบ้างของผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประกันว่า องค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเป็นไปตามฉลากที่ติดไว้ โดยสรุปแล้ว มีการประมาณว่า หนึ่งในสี่ของกำลังพลของสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งอาจมีผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดพิษภัยต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่(คิดว่า)เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ผลิตภัณฑ์ที่(คิดว่า)เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานและ(คิดว่า)ลดน้ำหนัก เป็นความเสี่ยงของปัจเจกบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องต่อความพร้อมของกำลังพลในกองทัพ การปรับปรุงระบบรายงานความเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และปรับปรุงความรู้สำนึกของผู้ผลิตและใช้นั้นเป็นสองขั้นตอนที่สำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพของสาธารณชนที่ควรขับเคลื่อนเพื่อยังไว้ซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์ของกำลังพล ความคิดดังกล่าวที่เล่ามานี้รับรองว่าอีกนานจึงจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point