ฉบับที่ 112-113 มะแฮะ ในผัดหมี่ซั้ว

หมี่ซั้ว  ในความคุ้นเคย มักถูกดัดแปลงไปทำอาหารเมนูอื่นๆ นอกจากผัดหมี่ซั้ว ตามแต่ความนึกอยากกิน วันหนึ่งอยากกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ หรือผัดสปาเก็ตตี้ แต่ความขี้เกียจที่จะไปตลาดมีมากกว่า  เส้นหมี่ซั้วมักถูกเอามาใช้ทดแทนกันได้เสมอ  ก็เส้นหมี่ซั้วทำจากแป้งสาลี มีความนุ่มและออกรสเค็มปะแล่ม  มีความยาว นุ่มเหนียว  สมกับที่คนจีนมักเอามาผัดเป็นอาหารมงคลในโอกาสแซยิด 60 ปี  โดยมีนัยว่าเป็นศิริที่ทำให้มีอายุยืนยาว ค้นหาของตกค้างในตู้เก็บอาหารแห้งต่อไป พบเห็ดหอมแห้ง และถั่วมะแฮะเมล็ดลายที่พี่ยายเอามาฝาก  พี่ยายผันตัวมาทำการเกษตรทางเลือกเองสัก 10 กว่าปี  และยังชักชวนชาวบ้านแถบอีสานพัฒนาพลังงานทางเลือกของตัวเอง  โดยก่อนหน้าที่พี่ยายจะลงมือทำเกษตรบนดินแทนห้องประชุมและหน้ากระดาษนี้ย้อนไปอีกเกือบ 10 ปี พี่ยายเป็นผู้ที่พัฒนาการกินแบบทางเลือก ที่ทดลองกินถั่วมากหมายหลายประเภทวิธี ถั่วมะแฮะที่พี่ยายมาฝาก เม็ดกลม สีแดง ลายกระ  มีขนาดใหญ่กว่าและเปลือกหุ้มเมล็ดบางกว่าถั่วมะแฮะที่ฉันเอาพันธุ์จากอำเภอกุดชุมมาปลูก  ถั่วมะแฮะที่ฉันปลูกเป็นถั่วมะแฮะเมล็ดเล็กสีเหลืองนวล เปลือกหนา  ขนาดเอาไปแช่น้ำนานกว่าครึ่งวันแล้วเอาไปต้มกับน้ำธรรมดาเกือบ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่สุก   พี่ยายไขความจริงให้ฉันฟังเมื่อเจอหน้าว่า ถั่วมะแฮะของฉันเป็นถั่วมะแฮะหิน  ชาวบ้านอีสานเขาไม่กินเมล็ดแห้ง  นั่นสินะ ตอนที่ฉันเก็บเมล็ดมาปลูก ฉันถามเจ้าของพันธุ์ว่ากินยังไง   เขาว่ากินฝักตอนเป็นเม็ดเต็มแต่ยังอ่อนๆ  เอาไปลวกต้มจิ้มแจ่ว หรือซุป  ครั้นเมื่อไปที่บ้านป่าคู้ ชาวกะเหรี่ยงโปวที่นั่น บอกว่ากินฝักสดทั้งแบบสดและลวกสุกเช่นกัน อืม...ไม่น่าเลยเรา ถั่วมะแฮะแดงลายกระนั้น  แช่น้ำ แค่ 3 ชั่วโมงก็เปลือกนิ่ม ต้มกินเล่นเปล่าๆ ก็มันดี  เอาไปปรุงอาหารอื่นๆ ต่อได้ง่ายและสุกไว  เคยเอามาทำน้ำนมมะแฮะให้เพื่อนพี่น้องทดลองดื่มกันในงานฉายหนัง Food inc. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดร่วมกับกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรทางเลือก และมูลนิธิชีววิถี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเมนูทางเลือกใหม่จากถั่วพื้นบ้านในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับความสนใจและสอบผ่าน เดินไปดูสวนเล็กๆ รกๆ หน้าบ้าน  มียอดฟักทองอวบเต่งและมีดอกตัวผู้ของมันเบ่งบาน  ... แม้จะเล็งและเพ่งดูอยู่นานดอกฟักทองที่บ้านก็ไม่มีดอกไหนกลายเป็นดอกตัวเมียสักดอกเดียว  แม้ความหวังที่จะได้กินลูกฟักมันๆ จากต้นที่เอาเมล็ดพันธุ์จากลูกที่กินอร่อยมาปลูกจะเหือดหายไปแล้ว  แต่ยอดและก้านอ่อนอันอวบอิ่มนั่นแปลงเป็นเมนูอาหารอร่อยได้หลากหลายไม่แพ้ผลเช่นกัน  พี่น้องชาวบ้านที่ปลูกฟักทองยังคงมีเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ผลดีอย่างที่เขาคัดเอาไว้จากการกิน   โอกาสและความน่าจะเป็นที่จะมีลูกฟักทองกินในสวนรกๆ ของก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน  และหวังว่าวันนั้นฉันจะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ชาวบ้านคัดสรรไว้แบ่งปันเพื่อนคนอื่นที่อยากปลูกต่อได้เองด้วย ผัดหมี่กับถั่วมะแฮะ เครื่องปรุง  หมี่ซั้ว 1 ถุง ,  ยอดและก้านอ่อนของฟักทองลอกขนออก  1 จาน  ,  กระเทียมสัก 1 หัว , เห็ดหอมแช่น้ำแล้วหั่นเส้น 3 – 4 ดอก ,  ถั่วมะแฮะลายแห้ง  1/ 4 ถั่ว (ถั่วมะแฮะแห้งล้างแล้วสงน้ำให้สะเด็ด ใช้เครื่องปั่นเนื้อไฟฟ้าปั่นแบบแห้ง) วิธีทำ 1.ต้มเส้นหมี่ซั้วในน้ำที่เดือดจัดสัก 5 นาที เส้นสุกพอดีดับเตา  เทน้ำทิ้ง ล้างด้วยน้ำเย็นสะอาด แล้วพักน้ำให้สะเด็ดรอไว้ 2.นำถั่วมะแฮะแห้งที่ปั่นละเอียดมาต้มกับน้ำ  1 ½ ถ้วย  นานสัก 15 นาที  จนเนื้อถั่วสุกดีแล้วจึงใส่เห็ดหอมซอย  กระเทียมสับลงไปน้ำต้มถั่วมะแฮะ  ปรุงรสด้วยซีอิ๊วตามชอบ  เมื่อเดือดและได้รสดีแล้วใส่ยอดฟักทองลงไป   ตอนนี้น้ำจะหดหายไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังพอมีน้ำขลุกขลิกอยู่บ้าง  ดอดฟักทองสุกดีอย่าให้ทันเฉาสลด ก็ปิดเตา เอาเส้นหมี่ซั้วที่ลวกแล้วใส่ชามแล้วเอาน้ำถั่วมะแฮะที่ปรุงเสร็จแล้วราดหน้า ก่อนกิน นึกขึ้นได้ว่าในตู้เย็นมีของดีเก็บไว้  ของที่มาไกลจากทะเลสาบน้ำกร่อยของพัทลุง ที่ชาวพัทลุงไม่ยอมเรียกที่นั่นว่า “เลสาบสงขลา” แต่เรียกว่า “เลสาบ” เฉยๆ   โรยด้วย กุ้งแก้ว  ของชาวบ้านจากเกาะหมาก  อ.ปากพยูน  จ.พัทลุง  ตอนไปเจอมันครั้งแรกในแหล่งผลิตและจำหน่าย ฉันเข้าใจว่ามันเป็นกุ้งเสียบ  หากแต่คนขายซึ่งยืนยันว่า “ฉันทำเองกับมือ”  บอกว่า มันเรียกกุ้งแก้ว  ซึ่งเอาเป็นกุ้งหัวแข็งในทะเลสาบมาล้างทำความสะอาด ตัดหัวทิ้ง เพราะส่วนของกรีมันแข็ง  อบแห้งด้วยเตาถ่านนาน 6 ชั่วโมง   แถมยังบอกฉันด้วยว่า “ราคาไม่แพงหรอก เพราะ 1 กิโล นั้นทำจากกุ้งสด 7 กิโล” หมี่ซั้วจานนี้  ว่าไปแล้ว รสชาติหน้าตาคล้ายบะหมี่ญี่ปุ่นเหมือนกันแฮะ  มีน้ำขลุกขลิกและกินหอมกลมกล่อมของถั่วมะแฮะ เห็ดหอม และซีอิ้วขาว   ประทังความหิวชั่วคราวได้เยี่ยมแบบประหยัด และขี้เกียจได้ด้วยค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point