ฉบับที่ 177 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2558 “สีย้อมผ้า” ห้ามใช้สารก่อมะเร็งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ. ออกมายืนยันแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศมาตฐารบังคับ (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ สีย้อมผ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้าที่วางขายในประเทศไทยมีการใช้สาร “อโรมาติกส์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปได้มีการประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าวแล้ว เพราะหากผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสารดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่ยังมีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์สีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำมัน และ สีเคลือบแอลคีด ในด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณโลหะหนัก อย่าง ตะกั่ว แคดเมียม ไม่ให้เกิน 100 พีพีเอ็ม เพราะสารโลหะหนักถือเป็นสารอันตรายที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งที่ผ่านมานิตยสารฉลาดซื้อเองก็เคยลงผลสำรวจว่า ยังพบการใช้สีน้ำมันที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ทาอยู่ตามอาคารต่างๆ เครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก ซึ่งโลหะหนักจะพบได้ในสีที่มีเฉดสีสดๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งสีที่ทาไปนานๆ อาจจะมีการหลุดร่อนออกมา หากเด็กๆ มีการสัมผัสหรือนำเข้าปากก็จะเป็นอันตราย   เพิ่มโทษคนขายเครื่องสำอางอันตรายในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้ผู้ใช้เสียโฉม อย.พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิด พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช่เครื่องสำอาง และต้องมีมาตรการเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาขายในประเทศ ที่สำคัญคือการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด จากเดิมที่ผู้ขายผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้ามจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ อย. ในการกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาเอาไว้ด้วย จากเดิมที่ต้องอ้างอิงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้การตรวจสอบและจัดการปัญหาน่าจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “คปภ.” จับมือ “ศาลยุติธรรม” พัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับมือร่วมทำงานกับ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องนำไปเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งใช้เวลานาน ถือเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทประกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีบริการอยู่มากมาย ซึ่ง คปภ. เองก็คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยในแต่ละปีมีเรื่องฟ้องร้องด้านประกันภัยมาที่ คปภ. ประมาณ 12,000 เรื่อง โดยสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% ในปี 2559 คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ กินหลากหลายลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปและเนื้อแดงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่เราทานกันเป็นปกติ เนื้อสัตว์มีโปรตีนซึ่งให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายของเรา ซึ่งผลวิจัยที่นำมาออกมาเผยแพร่นั้นเป็นผลวิจัยที่ได้จากห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้บริโภคเพียงแค่เนื้อสัตว์อย่างเดียว ข้อมูลที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำเตือนเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคมากกว่าที่เป็นไปในลักษณะของการห้ามการบริโภคแบบเด็ดขาด รศ.ดร.วิสิฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ ไม่ใช่แค่การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะเกิดโรคขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ เท่าที่มีหลักฐานคือ การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยน้อย ซึ่งตามปกติต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม นอกจากนี้เราควรกินอาหารแต่พอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่ให้ลำไส้อยู่นิ่งๆ และต้องขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ให้ลำไส้สะสมสารพิษ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีครอบคลุมหลายด้าน เช่น  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จากเดิมที่มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย กรณีคลอดบุตร และ สงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิให้ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง  พร้อมได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง จากเดิมที่มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้เพิ่มเป็นคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมที่ได้รับคราวละไม่เกิน 2 คน สำหรับกรณีว่างงาน ก็มีการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายด้านที่เพิ่มขึ้นในพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ผู้ประกันตนสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506

อ่านเพิ่มเติม >