ฉบับที่ 223 ทำไมจักรยานยนต์จึงควรช้าลง

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์“เด็กคนนี้หมอได้รูปมาจากโคราชเด็กกำลังขับขี่รถกลับจากโรงเรียนตอนเย็น แล้วก็ไปชนกับรถบัส เป็นโชคดีในโชคร้ายก็คือรถบัสไม่ได้ตกถนนไปเพราะหักหลบเด็กคนนี้ ถ้ารถบัสตกถนนไปก็จะมีคนในรถบัสตายอีก” อาจารย์ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ ในวัยเกษียณอายุราชการ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาสำนักงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) และอาจารย์ผู้สอนและผู้เขียนตำราสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร Board of Traffic medicine, Medical council, Thailand เริ่มต้นเล่าปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการตายในปัจจุบัน         ในภาพรวมของอุบัติเหตุขนส่งทั้งหมด เราจะเห็นภาพผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร แล้วก็คนเดินเท้า มี 72 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งในกลุ่มผู้ขับขี่ 89 เปอร์เซ็นต์เป็นมอเตอร์ไซด์ ในส่วนของผู้โดยสาร 23 เปอร์เซ็นต์ มี 64 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้โดยสารมอเตอร์ไซด์ ถามว่าแล้วคนเดินเท้าถูกชนด้วยรถอะไรมากที่สุด ก็มอเตอร์ไซด์อีก    เราปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้มานานเกินไปเป็นยี่สิบกว่าปี มันก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามาดูในเด็กต่ำกว่า 18 ปีก็จะเห็นได้ว่า เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ 55 เปอร์เซ็นต์ พอไปดูจริงๆ ก็เป็นขับรถมอเตอร์ไซต์ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในกลุ่มผู้โดยสารก็เป็นโดยสารมอเตอร์ไซต์ 74 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ถูกชนก็โดยมอเตอร์ไซต์อีก ยังไงก็หนีไม่พ้นมอเตอร์ไซต์ “หมอก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่มีการขยับ” เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหลักๆ ลองดูในเด็กที่ไม่ควรมีใบขับขี่แล้ว  พวกเขาไม่ควรขับขี่รถใดๆ เลย แต่เราก็ยังพบว่าเขาเป็นผู้ขับขี่ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ (เป็นรถมอเตอร์ไซต์สักเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้โดยสาร 42 เปอร์เซ็นต์) ทุกอย่างเป็นมอเตอร์ไซต์หมด         ที่นี้เรามาดูกลุ่มอายุในกลุ่มมอเตอร์ไซด์แท้ๆ เลย กลุ่มมอเตอร์ไซต์แท้ๆ จะเริ่มบาดเจ็บรุนแรงได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดก็มีแล้ว เพราะเอาเด็กขึ้นมอเตอร์ไซต์ 10-14 ปี ชัดเจนแต่ไปสูงสุดที่ 15-19 ปี แล้วก็ไล่ๆ ลงมา แม้แต่วัยที่สมควรมีใบขับขี่แล้วคือ 20 ปี อันนี้เป็นอีกฐานหนึ่งที่เราต่างกันไป เราได้ ข้อมูลเรื่องการตายรวมจาก 3 ฐาน ที่พบว่า ผู้ตายจากบาดเจ็บอุบัติเหตุขนส่ง  15-19 ปี มีสัดส่วน เพิ่ม จาก2552ไป2557 เกือบ5%  จากนพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ข้อมูล 3 ฐานอันนี้เราจะเห็นได้แม้แต่กลุ่ม 20 ปี ตอนนี้ที่ยุโรปเขาถึงได้มีการเจรจาอยากจะเปลี่ยนคนที่ขับรถได้ให้เป็นอายุแถวๆ 25 ปี ซึ่งคงยากเพราะตรงนี้เขาจะดูกราฟจับแยกกันแล้วก็ตัดสิน เราเห็นกราฟพวกนี้มานานแล้ว สัดส่วนการตายในกลุ่ม 15-19 ปี ล่าสุดที่หมอเห็นปี 2552-2557 ขึ้นมาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เด็กเราตายเพิ่มขึ้น สรุปว่าเราอยากได้คนหนุ่มคนสาวไว้ดูแลคนแก่ แต่ว่าจะมาตายเพราะมอเตอร์ไซต์กันเยอะมากๆ ถ้ามาดูเป็นรายขวบปีอันนี้ก็เป็นการที่บาดเจ็บรุนแรง รุนแรงแปลว่า Admit  ดูอาการ หรือตายในโรงพยาบาลรวมหมด ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ขวบหนึ่งบาดเจ็บมานอนโรงพยาบาลแล้ว ไล่ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นจากฐานเฝ้าระวังของ 33 โรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทย หรือก็คือหนึ่งในสาม ถ้าประมาณการคร่าวๆ ทั้งประเทศก็คูณสามเข้าไป แปลว่าทุกๆ ปีเราจะมีคนบาดเจ็บประมาณสามเท่าของอันนี้ แล้วจะเห็นได้ว่าสถิติมันขึ้นชัดเจนมาที่ประมาณอายุ 12 ปี 13 ปี 14 ปี แล้วก็กระโดดขึ้นมา 15 ปี เพราะว่าได้ใบขับขี่ชั่วคราวแล้ว สถิติก็ขึ้นไปอีกไปสิ้นสุดที่อายุ 19 ปี จึงจะเริ่มลงมาหน่อย ภาพรวมนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่ 2538        มาดูสถิติคนตายจากการใช้รถจักรยานยนต์ คนตายเริ่มตั้งแต่ขวบหนึ่งก็มีแล้ว ทุกคนอยู่บนมอเตอร์ไซด์จะขี่หรือจะซ้อนก็ตามเรารวมหมด เป็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ แล้วก็จะเริ่มมีผู้ขับขี่ให้เห็นตอน 8 ขวบ คนที่ตายจากการใช้รถจักรยานยนต์เป็นรายปีจะเห็นว่ามันไปสูงสุดที่อายุ 19 ปี ตรงนี้เป็นอะไรที่เราควรจะปกป้องเขาไหม         มาดูเวลา เวลาที่เขาตายเวลาที่เขาเจ็บรวมกันจะเห็นว่ามันเริ่มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คือตั้งแต่ตอนเวลาเราออกจากบ้านแล้วไปสูงสุดที่ 19.00 น. เพราะฉะนั้นเด็กที่ได้ใบขับขี่ปีแรกไม่ควรจะออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็นแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรมันไม่ใช่โรงเรียนนี่ แต่ว่าขนส่งจะบอกเสมอเลยว่าคุณหมอต้องยอมให้เด็กขี่มอเตอร์ไซต์นะเพราะเขาต้องไปโรงเรียน เขาต้องไปทำอะไรให้พ่อแม่ เรื่องนี้คุยกับขนส่ง(กรมการขนส่งทางบก) มาหลายปีแล้วไม่มีทางทำอะไรกับเรื่องที่เขาอ้างได้ ถามว่า การขับขี่จักรยานยนต์เกิดการตาย การตายเกิดจากอะไรมากที่สุด เกิดจากการชนถึง 73 เปอร์เซ็นต์ คว่ำเองก็มีประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ ที่มาสถิตินี้นี้เกิดจากการศึกษาเครือข่ายเฝ้าระวัง 9 โรงพยาบาล            ถามว่ารถชนส่วนใหญ่ชนจากใคร ถ้าเอาเป็นยานพาหนะที่เขาชนร่วมก็คือรถจักรยานยนต์ด้วยกันเอง ปิกอัพ รถเก๋ง อันนี้ต่างจากฐานข้อมูลตำรวจ ฐานข้อมูลตำรวจมักจะใส่รถใหญ่ ไม่ใส่รถมอเตอร์ไซต์เพราะว่ามอเตอร์ไซต์กับมอเตอร์ไซต์มันอาจไม่นับเป็นกรณี(case) ได้ เจ็บไปโรงพยาบาลแต่ไม่แจ้งตำรวจ เห็นใจกันอันนี้ก็เป็นจุดที่ต่างกัน         เวลาเรานำเสนอต้องดูทั้งสองทาง มาดูกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ อายุน้อยที่สุด ป.1 อายุ 7 ปีที่เจ็บมานอนโรงพยาบาล แล้วเวลาเราไปเมืองนอกตอนนำเสนอ Young Driver ของประเทศอื่นเขา 18 ปี พอเราบอกของเราว่า 7 ปี ต่างชาติเขาบอกว่าเป็นไปได้อย่างไร     ที่เมืองเขาไม่ให้เกิดหรอกผู้ใหญ่จะห้ามเด็กไว้ไม่ให้ออกจากบ้าน เกิดอะไรขึ้นทำไมปล่อยให้เกิดอย่างนี้ได้ เมืองไทยคือขับตั้งแต่ 5 ขวบ 6 ขวบ พอขายันถึงก็ขี่แล้ว อายุ 12 ปีมีอัตราส่วนผู้ขับขี่ต่อผู้โดยสารคือ 2 ต่อ 1 อายุ 12 ปีก็ขี่มากกว่าซ้อนแล้ว แต่ว่าพ่อแม่ปล่อยให้เขาใช้ กลุ่มอายุที่ต้องมีใบขับขี่แต่ไม่มีบ่อยที่สุดคือ 15-19 ปี พวกนี้ยังไม่มีใบขับขี่ อันนี้เรารู้กันมานานแล้ว วิธีแก้ของขนส่งก็คือรีบแจกให้มันเยอะๆ ซึ่งมันก็ผิดทางอีก กลุ่มที่อายุขับขี่แล้วก็ไปชนกับคนอื่นก็เป็นกลุ่มนี้แหละ 15-19 ปี เราเริ่มสงสัยแล้วว่าการอนุโลมให้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีตั้งแต่ 2548 ไม่น่าจะช่วยลดปัญหาแต่กลับเพิ่มการตายในกลุ่ม 15-19 ปี แล้วก็กระตุ้นการขับขี่ก่อนวัยอันควรในอายุ  6-14 ปี อันนี้ คือกฎกระทรวงที่ออกในปี 2548 หมอโมโหมาก หมอไม่รู้เรื่องนี้ก่อนเลยขนาดเป็นนักวิชาการขนส่ง ใบอนุญาตใบขับขี่เด็กต่ำกว่า 15 ปีให้ขับขี่ได้ไม่เกิน 110 กม./ชม. (เดิม 90) พอหมอไปเมืองนอกได้สักปีสองปีเขาก็ทำอันนี้เลยซึ่งไม่มีใครรู้แล้วเราก็เพิ่งมาเห็นกัน  ดูเหตุผลนะคะ เหตุผลอันนี้น่าตื่นเต้นมาก เหตุผลในการประกาศคือ เพราะว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มขนาดความจุของกระบอกสูบให้สูงขึ้น มันไม่มีกฎหมายประเทศไหนหรอกที่ออกตามคนขาย มีแต่มันต้องออกมาคุมไม่ให้ทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ฟ้องให้เห็นเลยว่า “ประเทศไทยทำผิดทาง” แล้วขนส่งไม่ต้องไปคุยเลย เขาไม่ทำ เราคุยเรื่องนี้กันมา 30 กว่าปีแล้ว เรื่องของ “คำ” ที่ใช้ในการโฆษณามีส่วนด้วยไหม         ที่สำคัญเลยก็คือการโฆษณานี่แหละ การโฆษณาของประเทศไทยก็จะมีคำว่า  เร็ว เจ๋ง New Model  Maximum Speed  เพิ่มขึ้น ของเมืองนอกจะเขียนแค่ เท่ สกู๊ตเตอร์ธรรมดา แล้วก็ขับขี่ smooth(นุ่มนวล) ที่สำคัญก็คือพรีเซนเตอร์ กลุ่มที่เอามาโฆษณาประเทศเราใช้เด็กวัยรุ่น ใช้คนหนุ่มสาว ใช้ทั้งครอบครัว มันระบาดไปทั่วโลก อย่างกรณีหนึ่งมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราวัยรุ่นชายของไทยแสดงการขับขี่สื่อถึงความเร็ว โฆษณาออกทีวีเลยยกล้อออกทีวีค่ะ ตอนนั้นหมออยู่อินเดียหมอเลย capture หน้าจอไว้ แล้วหมอก็ไปพูดที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคมเขาตอบสนองทันที เขาสั่งห้ามโฆษณาแบบนี้ แล้วก็ออกมาเป็นตัววิ่งว่าถ้าใครเห็นโฆษณาที่สุ่มเสี่ยงอย่างนี้ให้โทรไปรายงานที่ Hotline เบอร์นี้         หมอก็นึกว่าเมืองไทยเรียบร้อยแล้วคงทำกันดีแล้ว พอเกษียณกลับมาก็ไปเปิดดู นี่เลย 2019 ตอนแรกเขาให้โชว์เปิดตัวเฉยๆ แต่ตอนจบของการแข่งในสนามยกล้อให้ดูตอนจบพอดี หน้าพระบรมมหาราชวัง เด็กมันเห็นยกล้อ  เด็กไม่ได้คิดเองเท่าไหร่หรอกแค่รู้ว่าทำได้ แล้วเห็นจากที่ไหนล่ะ ก็โฆษณา  โฆษณาเขาบอกว่าเด็กต้องขี่มอเตอร์ไซต์ ขี่เร็วขี่แข่งกับนักแข่งได้แล้วก็ไม่ต้องไปคนเดียวนะไปได้สามคนเพราะเบาะยาว ทุกอย่างมันเหนี่ยวนำหมด เขาโชว์แบบนี้มันดูสนุกสนานตื่นเต้นน่าดู เขาไม่เคยโชว์อันตราย  ซึ่ง “อันตราย” อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่ตำรวจเห็น   สิ่งที่หมอเห็น สิ่งที่พยาบาลเห็นอยู่ทุกวัน คนที่รอดตายมาได้ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ลองดูรถคันนี้นะคะ(คุณหมอแสดงภาพอุบัติเหตุ) จักรยานยนต์คันเดียวไปกัน 4 คน แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก  เขาซื้อเพราะโฆษณา ที่สื่อข้อความว่า เป็นความฝัน ตั้งชื่อดีมากเลย Dream ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชนชั้นกลาง และชนชั้นที่รายได้อยู่ด้านล่างเขาก็ใฝ่ฝันอย่างนี้ว่า สักวันเขาต้องมี นี่คือสิ่งที่เขาฝัน แต่สิ่งที่เขาต้องเจอคืออย่างนี้ ใครจะไปคิดว่าลูกน้อยของเขาจะถูกดูดเข้าไปในนี้ ชายผ้าอ้อมมันลงไปแล้วล้อมันพันเด็กเข้าไปคาอยู่ระหว่างซี่ล้อเลยดึงแรงมาก มันไวด้วยนะพันก็เรียบร้อยเลย         มีอีกอันที่อาจารย์หลายท่านเป็นห่วงว่าอย่าให้มีตะกร้าหน้ารถ ขอเลย เพราะตะกร้าหน้ารถนี่เขาบอกมันสบายดีมันใส่ของได้แต่ถ้าใส่เยอะๆ มันบังไฟไม่ปลอดภัย แล้วถ้าหนักก็ทำให้หน้ารถส่าย แต่ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือว่ามันเอาไว้เก็บหมวก พอพ้นตำรวจแล้ววางหมวกได้ แต่ถ้าเราไม่มีตะกร้าเขาก็จะลำบากหน่อย มอเตอร์ไซด์ไทยปลอดภัยจริงไหม         ปลอดภัยจริงไหม บริษัทรถเขามักพูดอยู่เสมอว่า รถเขาได้มาตรฐานเขาพูดทุกครั้ง อันนี้ต้องขอบคุณ ดร.ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิชาการอิสระ เป็นคนแรกที่ทำวิจัยนี้ให้ ลองดูข้อมูลนี้ ฮอนด้าสกู๊ปปี้ ที่ญี่ปุ่นหน้ายางล้อ 90 มิลลิเมตรของเรา 70 มิลลิเมตรหน้ายางเราแคบกว่า แล้วก็วงล้อของเขา 10 นิ้ว ของเรา  14 นิ้ว ความเร็วสูงสุดของเขาให้แค่ 90 กม./ชม. แต่สิงห์มอเตอร์ไซต์ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นเขาควบคุมที่ตัวจุดไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าไม่ให้มันวิ่งได้เร็วของเราเร็วที่สุดเลยคือ 143 กม./ชม. ลองดูทุกยี่ห้อมีหมด ในกลุ่ม Family มอเตอร์ไซต์กลุ่มครอบครัว อันนี้เอามาเพื่อฆ่าครอบครัวโดยตรง 125 ซีซี หน้ายาง 89 มิลลิเมตร แต่ว่าของไทยหน้ายาง 70 มิลลิเมตร  ที่สำคัญคือคุณศิริวรรณเขาฝากว่า เขาเห็นว่าเบาะมันน่าจะยาวกว่าด้วยนะ ต้องไปวัดดูเพราะว่าเบาะยาวกว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นถ้าเบาะยาวซ้อนได้เยอะได้สามสี่คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นด้วยบังเอิญ ทุกอย่างมันมีการวางแผนไว้ ของสหรัฐอเมริกาคุณศิริวรรณเขาทำไว้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาความเร็วอยู่แถวๆ 70 90 / 65 90 แล้วเขาก็สังเกตว่าน้ำหนักรถมันมากกว่า จุดนี้อาจารย์พิชัย ธานีรณานนท์ ก็บอกว่าน้ำหนักรถมันเยอะกว่า แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร น้ำหนักรถของมอเตอร์ไซต์ในปะเทศไทยถึงเบากว่า พอน้ำหนักเบาปุ๊บมันก็วิ่งได้เร็วขึ้น อาจจะเปลี่ยนเหล็กมาเป็นพลาสติก(ไม่แน่ใจ) แล้วคุณศิริวรรณเขาก็บอกหมอๆ นึกดีๆ นะ  ถ้ามันเบาลงมันดีอย่างไรเด็กมันบังคับได้ เด็กตัวเล็กๆ มันก็บังคับมอเตอร์ไซต์ได้ เพราะมันไม่หนัก เรามาดูว่าทางบริษัทมอเตอร์ไซด์นี่เราคุยกับเขานานแล้ว เขาบอกว่าของเขาได้มาตรฐานแล้วก็ไม่มีปัญหาของเขาปลอดภัยจนกระทั่ง ผศ.ดร.จุฑามาศ ม.สงขลา พูดเรื่อง การทดสอบเพียงแค่ 60 กม./ชม. และข้อมูลที่อาจารย์ไม่ได้กล่าวแต่แสดงตารางการเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ  เห็นได้ว่า รถจักรยานยนต์รุ่นเดียวกัน ในอังกฤษ เกือบทั้งหมด หน้ายางกว้างกว่าไทยชัดเจน  ของไทยกับของอังกฤษที่บอกว่าปลอดภัยเหมือนกันนี่ปลอดภัยจริงไหม เพราะว่าเราไม่สามารถจะบังคับให้มอเตอร์ไซต์มาแถลงต่อหน้าศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนนได้ คือตอนนั้นคุยกันแล้วและเราก็เถียงกันแล้ว เราก็บอกว่าเขาขอพบหมอนอกรอบ หมอบอกไม่พบเพราะถ้าพบแล้วหมออาจถูกถ่ายรูปแล้วไปโชว์ว่าหมอชไมพันธุ์ support  หมอบอกไม่พบค่ะ พบกันที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเลย ตอนนั้นหมออยู่ต่างประเทศแล้ว ปรากฏว่าเขาฝากคนที่เคยทำงานของญี่ปุ่นมาติดต่อ ทีนี้เขาก็บอกว่าของเขาปลอดภัย ผลการทดสอบ เราทดสอบที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่รู้ว่ามันวิ่งได้ 130  พบว่า หน้ายางที่กว้างจะช่วยผู้ขับขี่ควบคุมรถได้มีเสถียรภาพมากกว่าหน้ายางแคบ เพราะพื้นที่สัมผัสระหว่างยางกับถนนมากแรงเสียดทานมากและยึดเกาะถนนดีกว่า         ดร.จุฑามาศ เสนอแนะอย่างกล้าหาญเลยบอกว่า ควรจะมีหน้ายางที่กว้างขึ้น โดยที่ผู้ผลิตจักรยานยนต์ในประเทศไทยควรผลิตหน้ายางให้กว้างขึ้นอย่างน้อยยางหน้า 110 มิลลิเมตร ยางหลังก็เป็น 120 มิลลิเมตร และควรจะมีการวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นการนำเสนอที่กล้าหาญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่วิศวกรจะไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้ เหมือนหมอไม่ค่อยจะทำอะไรกับบริษัทยาอารมณ์เดียวกัน เรามาดูว่าแล้วที่บอกว่าแรงยึดเกาะถนนต่ำวิ่งเร็วดัดแปลงทำความเร็วได้นี่เจ็บจริงไหม ก็เจ็บมาเป็นอันดับต้นๆ นี่คือร้อยละของรุ่นจักรยานยนต์ที่ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตใช้ ก็เป็นไปตามส่วนแบ่งการตลาด(Market share)   คือ Market share เป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ใครขายดีกว่า สถิติการบาดเจ็บ ตาย ก็เรียงแบบเดียวกัน แล้วที่สำคัญรุ่นล้อกว้างสร้างเด็กแว้น พวกนี้เป็นอีกกลุ่มคือเขาไปทำเนื่องจากตะเกียบมันยาว เขาสามารถจะเอาล้อเล็กๆ ยางเล็กๆ ไปใส่เพื่อให้วิ่งเร็ว ลองดูที่เขาจับมาที่เป็นเด็กแว้นมันจะเป็นมอเตอร์ไซต์ถูก    มันไม่ใช่มอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ คือพวกนี้เขาไปกว้านลูกสูบ ไปเปลี่ยนยาง ราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยถูกเมื่อคิดเป็นเหรียญสหรัฐ เราไม่รู้ทำไมถึงทำได้ถูกมาก ปรับเปลี่ยนค่านิยมจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ไหม         ทำไมมันเกิดวิถีชีวิตแบบนี้ขึ้นมาในสังคมไทย เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมันถูกหลอมมา ฝรั่งถามว่าผู้ใหญ่เมืองไทยไปไหนหมดทำไมปล่อยให้เด็กขี่ ต้องบอกว่าพ่อแม่ให้หนูขี่เองใช้ไปซื้อของด้วยซ้ำไป แปลว่าเขาไม่คิดว่ามันอันตราย เมื่อก่อนนี้เขาก็ให้ลูกขี่ควายไปปากซอยไปปากถนน ตอนนี้ควายไม่มีแล้วมีแต่มอเตอร์ไซต์ส่งไปไม่เห็นมีใครบอกว่ามันอันตรายเลยใช่ไหม         ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข เป็นด็อกเตอร์ทางสังคมศาสตร์ท่านไปวิจัยไปอยู่คลุกคลีกับคนใช้มอเตอร์ไซต์ ท่านบอกว่ารถมอเตอร์ไซต์ที่แม่ซื้อให้ตอน ม.1 ที่จริงไม่ใช่ของขวัญ  ที่แท้แล้วคือเป็นภัยร้ายพ่อแม่สอนเองตั้งแต่ ป.5 แล้วตัดสินใจซื้อรถเมื่อ ม.1 บังเอิญท่านเป็นเด็กโชคดีที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้ บางคนเขาบอกเพราะว่าลูกอยู่ไกลถ้าเป็นหมอๆ ก็เข้าใจเขานะถ้าเขาต้องจ่าย 800 บาททุกเดือนเป็นค่ารถประจำทาง รถรับส่งนักเรียน เราเอา 800 บาททุกเดือนมาผ่อนมอเตอร์ไซต์ 2 ปีก็ได้แล้วคันหนึ่ง เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดาเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายว่ามันมีผลกระทบอย่างไร แล้วก็ยากด้วยที่คนต่างจังหวัดจะไปไหนมาไหนโดยไม่มีมอเตอร์ไซต์         คุณศิริวรรณที่เป็นคนวิจัยเขาบอกว่าเขาเป็นคนหนองคาย เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขามีรถประจำทางวิ่งจากท่าบ่อเข้าหนองคาย ต่อมาพอรถมอเตอร์ไซต์เยอะๆ มันเจ๊งหมด ตอนนี้หลานเขาต้องซ้อนมอเตอร์ไซต์ไปเพราะว่าเป็นวิธีเดียวที่จะไปโรงเรียน ขนส่งมันพังหมดเลยต้องให้บริษัทมอเตอร์ไซต์มาช่วย ถ้าระบบขนส่งดีทุกคนเข้าถึง ปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซต์กับอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์คงดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >