ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 เพชฌฆาตจันทร์เจ้า : จะขอให้มีแค่ใครคนหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ช้ำ และไม่ทำให้เราเศร้าใจ

        “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง”         บทเพลงกล่อมเด็ก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ข้างต้นที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่างมีนัยความหมายของเนื้อเพลงที่สะท้อนวิธีคิดของคนสมัยก่อน ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุ รวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วย         ไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นแกง แหวนทองแดง ช้างม้า เก้าอี้เตียงตั่ง และอื่นๆ ที่ขับกล่อมอยู่ในเนื้อเพลง ต่างบ่งชี้ให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนผู้ “พี่” ที่ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้มาซึ่งวัตถุที่เชื่อว่ามีคุณค่าเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งยุคนั้น ก็เพื่อให้เด็กน้อยผู้เป็น “น้องข้า” ได้มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเยาว์         หาก “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานมาจากการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับโลกรอบตัว ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมเฉกเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในยุคสมัยใหม่สายสัมพันธ์ในความเป็นมนุษย์เริ่มเปราะบางและ “แปลกแยก” ไปท่ามกลางผลประโยชน์อื่นที่เข้ามาทดแทน         คำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอันแปลกแยกดังกล่าว สามารถส่องซูมและเรียนรู้ได้จากตัวละครนักฆ่าสาวสมัญญานามว่า “มูน” หรือ “บลัดดี้มูน” อันแปลว่า “พระจันทร์สีเลือด” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เพชฌฆาตจันทร์เจ้า”         มูนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อคนที่หญิงสาวเรียกว่า “นาย” หัวหน้ากลุ่มมาเฟียค้าอาวุธข้ามชาติ และด้วยถูกหล่อหลอมให้เป็นนักฆ่า มูนจึงถูกเลี้ยงมาให้มีหัวใจที่เย็นชาหยาบกระด้าง ภายใต้กฎบัญญัติแห่งมือสังหารที่ว่า นักฆ่าต้องลงมือเพียงลำพัง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในมือให้เป็นอาวุธ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องนายและความลับของนาย และที่สำคัญ ต้องหยิบยื่นความกลัวและความตายให้กับศัตรู         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายใต้กฎเหล็กที่บัญญัติเอาไว้นี้ นักฆ่าอย่างมูนจึงไม่ต่างอันใดจากสัญลักษณ์ตัวแทนของ “สภาวะแปลกแยก” ใน “ความเป็นมนุษย์” นั่นเอง         โดยทั่วไปแล้ว ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกบุคคลถูกตัดสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับคนอื่น และท้ายที่สุด ความเป็นมนุษย์ของเขาก็จะค่อยๆ ถูกทำลายไป         เพราะฉะนั้น เมื่อมูนถูกฝึกให้เป็นมือสังหาร เธอจึงกลายเป็นคนที่ไร้จิตใจ ไร้ความรัก ไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ที่จะยึดโยงผูกพันกับคนรอบข้าง และที่สำคัญ เธอจะแปลกแยกไม่เหลือความเป็นคน จนกลายเป็นเพชฌฆาตสมญาบลัดดี้มูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับที่นายได้เคยกล่าวถึงมูนกับ “ลุงแสง” ครูฝึกนักฆ่าว่า “เลี้ยงมันให้กลายเป็นนักฆ่า ทำลายความเป็นมนุษย์ของมันลง”         หลังจากกลายเป็นนักฆ่าสาวเลือดเย็นแล้ว ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่แต่ต้อง “หันซ้ายหันขวา” ไปตามอาณัติอำนาจของนาย ทำให้มูนลงมือสังหารศัตรูของนายลงคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งที่มูนทำงานพลาด เธอเองจึงถูก “ภพ” กับ “เข้ม” ลูกสมุนซ้ายขวาของนายไล่ฆ่า และพลาดท่าพลัดตกจากหน้าผาในคืนวันที่พระจันทร์ส่องแสงเป็นสีเลือด         ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกหนุ่ม “อติรุจ” หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติป่างาม มูนสามารถรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอกลับตกอยู่ในสภาพความจำเสื่อม และมีพฤตินิสัยที่แตกต่างไปจากนักฆ่าสาวเลือดเย็นโดยสิ้นเชิง         หลังจากไฟล์ตัวตนเดิมถูกดีลีทไปจากคลังความทรงจำ มูนได้มาสวมอัตลักษณ์เป็นแม่บ้านคนใหม่ของอติรุจ พร้อมกับชื่อที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า “จันทร์เจ้า” ก่อนที่ภายหลังก็ต้องมาสวมบทบาทเป็นภรรยาปลอมๆ ของพระเอกหนุ่ม เพื่อช่วยให้เขาหนีรอดจากการคลุมถุงชนของ “เฉิดโฉม” ผู้เป็นมารดา         กล่าวกันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะแปลกแยกเพียงใด ความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยในจิตวิญญาณของคนเรา ก็ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่รอวันดิ้นรนเพื่อฟื้นคืนชีพ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นประหนึ่งดินน้ำปุ๋ยและแสงแดดจะเอื้ออำนวย ดังนั้นจันทร์เจ้าสาวน้อยผู้ที่ถือกำเนิดใหม่จึงเริ่มเรียนรู้และซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่สึกหรอ ด้วยเพราะผู้เป็นนายเคยสะบั้นและพรากไปเสียจากห้วงชีวิตของเธอ         เริ่มจากสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่ “สาวใหญ่” ผู้เป็นเสมือนพี่สาวที่คอยช่วยเหลือและรับฟังทุกข์สุขของจันทร์เจ้า กลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานและชาวบ้านแห่งป่าเกาะงามที่ไม่ต่างจากเครือญาติกลุ่มใหม่ ภพและลุงแสงผู้แอบคอยช่วยดูแลจันทร์เจ้าอยู่ห่างๆ ไปจนถึงความรักที่ผลิบานกับพระเอกหนุ่มอติรุจผู้ที่กล่าวกับจันทร์เจ้าในช่วงที่เธอถูกทำร้ายจนสลบว่า “กลับมานะจันทร์เจ้า เธอยังมีฉันในวันที่อ้างว้าง โลกใบนี้ไม่ได้หม่นหมอง โลกใบนี้ยินดีต้อนรับเธอเสมอ”         ที่น่าสนใจ เมื่อนักฆ่าตัดสินใจปลดอาวุธมาเป็นแม่บ้าน ทักษะควงมีดใช้ดาบแบบเดิมก็กลายมาเป็นทักษะในงานครัว จันทร์เจ้าได้ปรับเปลี่ยนอาวุธที่รุนแรงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารใหม่ๆ เสน่ห์ปลายจวักกับคมมีดในห้องครัวทำให้เธอได้ลงแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของ “อาจารย์ป้าพาเพลิน” ผู้เป็นกูรูอาหาร และได้ใช้รสชาติอาหารเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งชายคนรักของเธอ         แต่ทว่า สิ่งที่จันทร์เจ้าต้องเรียนรู้ก็คือ ในขณะที่กำลังฟื้นฟูสภาวะความเป็นมนุษย์กลับมานั้น ระบอบแห่งอำนาจเองก็ไม่เคยเปิดให้ปัจเจกบุคคลเป็นอิสระหลุดพ้นไปจากวังวนของมันไปได้ ยิ่งเมื่อภายหลังละครได้เฉลยคำตอบว่า ตัวจริงของนายก็คือ “อธิปัตย์” ผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของอติรุจ จันทร์เจ้าผู้เลือกสลัดความเป็นบลัดดี้มูนทิ้งก็พบว่า อำนาจของนายยิ่งไม่มีวันปล่อยให้เธอได้เลือกทางเดินชีวิตหรือเป็นมนุษย์ไปได้จริงๆ เหมือนกับที่นายเองก็เคยสบถออกมาว่า “เป็นนักฆ่า สะเออะจะมีความรัก…”         เพราะจันทร์เจ้าเชื่อว่า “ทุกครั้งที่นายเรียกว่ามูน หนูจะรู้สึกเจ็บปวดตลอด” ฉะนั้นหนทางเดียวที่ปัจเจกจะหลุดรอดไปจากกรงแห่งอำนาจ อาจไม่ใช่การหนีไปให้พ้น หากแต่ต้องตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่แผ่ซ่านไปถ้วนทั่วทุกๆ อณูของสังคม และต้องเป็นการต่อสู้ในแบบที่เธอเป็น ไม่ใช่ในแบบบลัดดี้มูนอีกต่อไป         เมื่อมาถึงฉากอวสานของละคร แม้ด้านหนึ่งเราจะได้เห็นจุดจบของนายเป็นบทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ แต่ในอีกด้านจันทร์เจ้าก็ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตกันใหม่ โดยมีความรักดีๆ ของพระเอกหนุ่มและคนรอบข้างเป็นน้ำเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงอยู่         ในวันนี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขอพร “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้ข้าวได้แกงหรือได้แหวนทองแดงมาผูกมือ “น้องข้า” กันเหมือนเดิมต่อไปแล้ว หากคงต้องร้องเพลงขอพรให้ “น้องข้า” หลุดพ้นจากสภาพนักฆ่า และหวนคืนความเป็นมนุษย์ที่นับวันจะแปลกแยก ห่างเหิน และแร้นแค้นกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่เบี้ย : จิตมนุษย์นี้ไซร้…อยู่ในเรือนไทยริมน้ำ

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้” คืออะไรกันแน่? แม้นว่าความข้อนี้ดูจะตอบได้อย่าง “ยากแท้หยั่งถึง” แต่มนุษย์เราก็ยังมุ่งหมายที่จะเข้าถึงปริศนาธรรมอันยากหยั่งจะควานหาคำตอบนี้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างของศาสตร์ความรู้ด้าน “จิตวิทยา” สมัยใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เป็นความพยายามของการแสวงหาคำตอบว่า จิตของมนุษย์คืออะไร ดำรงอยู่ที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไร         นักจิตวิทยาบางคนได้ใช้หลักการทดลองกับหนูตะเภาหรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ ในห้องแล็บ ก่อนจะให้ข้อสรุปว่า จิตของคนเราเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา ตามแต่ว่าจะมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่าง ในขณะเดียวกับที่นักจิตวิทยาบางรายกลับเห็นว่า จิตคือการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อโลกรอบตัว จนเกิดเป็นความเข้าใจที่สลักฝังไว้เป็น “กล่องดำ” ในคลังความคิดของคนเรา         อย่างไรก็ดี ถ้าเรานำคำถามเดียวกันนี้ไปขอคำตอบจากคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คุณปู่ฟรอยด์ก็จะอธิบายว่า จิตของมนุษย์นั้นเป็นด้านที่เราไม่สำเหนียกรู้ตัว เป็นส่วนที่ไร้สำนึก ทว่าหลบเร้นเป็นแรงขับที่อาจจะรอวันปะทุไม่ต่างจากภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ใต้มหาสมุทร         เพื่อจำลองให้เห็นว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา…” และจิตของคนเราก็ดำดิ่งฝังลึกอยู่ใต้ห้วงมหรรณพเฉกเช่นนี้ เราอาจต้องไปลองส่องดูความเป็นไปของตัวละครต่างๆ ณ เรือนไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรีในละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่เบี้ย” หรือที่ใครต่อใครตั้งสมญาให้ว่าเป็น “เรือนบาป”         เรือนไทยริมน้ำที่ฉากหน้าดูสวยงามแปลกตาหลังนี้ มีอีกด้านที่เป็นอดีตอันลี้ลับดำมืดหลบเร้นอยู่ ทายาทรุ่นปัจจุบันของเรือนดังกล่าวเป็นหญิงสาวสวยลึกลับผู้มีนามว่า “เมขลา” ซึ่งแม้จะมีชีวิตที่ดูรักสันโดษ แต่ความงามของนางก็ดึงดูดชายหนุ่มมากหน้าหลายตาให้แวะเวียนมาเยือนเรือนไม้โบราณของเธอ         แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาที่คอนโดฯ หรูหราใจกลางป่าคอนกรีตของกรุงเทพมหานคร เมขลากลับดำเนินชีวิตผกผันแตกต่างไปจากที่เคย “เป็นอยู่คือ” ในเรือนไทยริมน้ำชนบท เธอเป็นเซเลบเจ้าของบริษัททัวร์ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม และมักจะพานักท่องเที่ยวมาเยือนเรือนไทยโบราณซึ่งเธอถือมรดกครอบครองอยู่         หากเรือนไทยริมน้ำเป็นประดุจแบบจำลองแห่งจิตของมนุษย์ เรือนโบราณที่ตั้งเด่นตระหง่านนี้เองก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของงูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ อสรพิษตัวยักษ์ทำหน้าที่ปกป้องและพร้อมจะคร่าชีวิตใครก็ตามที่ไม่หวังดีต่อเมขลาและทุกคนที่อาศัยอยู่ในเรือนริมน้ำ จนชาวบ้านต่างโจษจันกันว่า งูใหญ่ที่มักแผ่แม่เบี้ยพังพานตัวนี้เป็น “งูผี” บ้าง หรือเป็น “งูเจ้า” บ้าง “งูเจ้าที่” บ้าง         จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “ชนะชล” หนุ่มใหญ่คุณพ่อลูกสอง ได้ขอให้ “ภาคภูมิ” เลขานุการส่วนตัวของเขาช่วยหาเรือนไทยโบราณริมน้ำสักหลัง เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่พักผ่อนเงียบๆ เมื่อว่างจากภาระงาน ภาคภูมิจึงได้ติดต่อให้ชนะชลเข้าร่วมคณะทัวร์ของเมขลา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พระเอกหนุ่มได้จมดิ่งสู่ห้วงแห่งจิตที่อยู่ในหลืบลึกของบ้านเรือนไทย และเผชิญหน้ากับความลับของงูเห่าตัวใหญ่ตัวนั้น         ตามทัศนะของคุณปู่ฟรอยด์ เพราะจิตเป็นสนามสัประยุทธ์กำลังกันระหว่างด้านดิบๆ ของสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนเรา กับอีกด้านที่เป็นกฎระเบียบศีลธรรมของสังคมที่เข้ามากำกับปิดกั้นมิให้ความปรารถนาดิบๆ เหล่านั้นได้เผยอตัวออกมา การช่วงชิงชัยระหว่างสองด้านที่อยู่ในจิตของมนุษย์นี้เองถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตตาหรือตัวตนของปัจเจกบุคคล         ดังนั้น เมื่อชนะชลได้เดินทางมาถึงเรือนโบราณหลังนี้ ความทรงจำบางอย่างที่หลบเร้นอยู่ในจิตของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ก็เริ่มเผยตัวตนออกมา นอกจากเรือนไม้หลังเดียวกันนี้จะปรากฏเป็นฉากหลังในความฝันหรือห้วงจิตไร้สำนึกของเขาอยู่เป็นเนืองๆ แล้ว ในจิตนิวรณ์แห่งฝันอีกเช่นกัน ที่เขาเห็นภาพตัวเองกำลังจมดิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำ อันเป็นบาดแผลเจ็บปวดที่ชนะชลเคยเกือบเสียชีวิตกลางสายน้ำมาตั้งแต่วัยเด็ก         ขณะเดียวกัน พลันที่ชนะชลได้มาพบกับเมขลาเป็นครั้งแรก อารมณ์และจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงสาวก็ปะทุขึ้น แม้ชนะชลจะแต่งงานอยู่กินกับ “ไหมแก้ว” ผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในแวดวงสังคมชั้นสูง และมีลูกด้วยกันสองคน ไม่ต่างจากภาพอุดมคติครอบครัวที่สังคมได้กำหนดคาดหวังเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่งศีลธรรมครอบครัวก็คอยย้ำเตือนให้เขาต้องกักกั้นเก็บกดความปรารถนาทางเพศรสที่มีต่อนางเอกสาว ไม่ให้สำแดงตนออกมา         ทุกครั้งที่ได้มาเยือนเรือนไทยด้วยจิตผูกพันถวิลหาในตัวเมขลา ชนะชลก็สัมผัสได้ว่า มีสายตาของงูเห่าตัวใหญ่คอยจับจ้องมองการกระทำของเขาอยู่ ยิ่งเมื่อเส้นศีลธรรมระหว่างหนุ่มใหญ่กับหญิงสาวจะถูกล่วงละเมิดขึ้นคราใด งูเจ้าที่ก็ไม่เพียงปรากฏตัวออกมา หากแต่มุ่งมาดจะเข้ามาฉกทำร้ายชนะชลทุกครั้งครา         งูเห่าที่คอยแผ่แม่เบี้ยหลอกหลอนตัวนี้ จึงไม่ต่างจากกรอบศีลธรรมทางสังคมที่คอยกระตุกเตือน “ความรู้สึกผิด” ของตัวละคร เหมือนกับคำสรรพนามแบบเคารพที่เมขลาเรียกงูใหญ่ว่า “คุณ” อันมีนัยประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ด้านดิบได้เข้าครอบงำตัวตนของปัจเจกบุคคล         แต่ก็เหมือนที่คุณปู่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้ แม้จะปิดกั้นเก็บกดไว้ด้วยความรู้สึกผิดเพียงไร แต่ทว่า ในห้วงลึกของจิตนั้น ด้านดิบหรือ “ดำฤษณา” แห่งตัวละครก็ดูจะเกินหักห้ามข่มจิตใจเอาไว้ได้ ดังนั้น เมื่อกลับจากเรือนไทยริมน้ำ ชนะชลก็ได้แต่ฝันซ้ำๆ ถึงเรือนไม้โบราณ และในฉากฝันนั้น เมขลาในชุดไทยก็จะคอยกระทุ้งแรงปรารถนาและกามารมณ์ของเขา ไม่ต่างจากเมขลาเองก็ร้อนรุ่มและพยายามขัดขืนผลักไส หรือแม้แต่แสดงอาการเกรี้ยวกราดต่อ “คุณ” หรืองูเห่าเจ้าที่ให้ออกไปจากชีวิตของทั้งเขาและเธอ         จนเมื่อมาถึงขีดสุด มนุษย์เราก็พร้อมจะสลัดม่านประเพณีปฏิบัติที่เกาะกุมจิตแห่งตน แม้งูเห่าตัวใหญ่จะออกมาเตือนเป็นระยะๆ แต่ความปรารถนาดิบของพระเอกหนุ่มก็ทำให้เขา “รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง” ท้าทายกับอสรพิษร้ายผู้ลึกลับและน่ากลัว         ดังภาพอีโรติกต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่องละคร ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ชายหนุ่มหญิงสาวชวนกั้นคั้นกะทิสด (ซึ่งดูหวือหวาต่างออกไปจากภาพจำของฉากขูดมะพร้าวในตำนาน) ฉากร่วมรักหลับนอนบนเตียงไม้ และล้ำเส้นศีลธรรมที่สังคมเรียกว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ไปจนถึงฉากที่ชนะชลยอมก้มกราบไหมแก้วผู้เป็นภรรยา เพราะศิโรราบต่อแรงขับแห่งอารมณ์ดิบๆ ซึ่งเขาเองกลับทึกทักไปว่า นั่นเป็นเพราะ “พรหมลิขิต”         จนมาถึงฉากจบ หลังจากได้เห็นสรรพชีวิตที่สูญเสียท่ามกลางวังวนแห่ง “เรือนบาป” และเรียนรู้วัตรวิถีแห่งจิตมนุษย์กันแล้ว ชนะชลผู้มีชื่อแปลว่าชัยชนะเหนือสายน้ำ ก็เลือกจะหันกลับมาเผชิญหน้ากับ “คุณ” และยอมพ่ายแพ้ดิ่งดำสู่ใต้ท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมขลาที่เลือกจะกำจัด “คุณ” ให้หายไปจากชีวิต และเดินดำดิ่งสายน้ำสู่ห้วงแห่งดำฤษณาไปกับชนะชล ก่อนจะทิ้งปริศนาของงูเห่าตัวใหญ่และเรือนไทยริมน้ำไว้อีกครา เพื่อรอคอยมนุษย์รายถัดไปให้มาเรียนรู้และเข้าใจการดำรงอยู่แห่งจิตที่ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ฤกษ์สังหาร : ความรู้ ความเป็นกลาง และการขับเคลื่อนดวงเมือง

        ย้อนกลับไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นและชวนสะเทือนขวัญ จนนำมาซึ่งบาดแผลอันยากเกินเยียวยามาจวบถึงทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านๆ ชีวิต โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีและพรรคนาซีที่เรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น         เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้อิทธิพลของนาซีและฮิตเลอร์แผ่ไพศาลจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็คือ การเล่นบทบาทอันผิดเพี้ยนของนักวิชาการที่ก้มยอมสวามิภักดิ์หรือขายจิตวิญญาณความรู้ให้กับผู้นำนาซี จนมองข้ามแม้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อในความเป็นมนุษย์ของชาวยิวผู้ต่างชาติพันธุ์         ด้วยบาดแผลที่สลักลึกไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักคิดทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นเพเป็นคนยิว ซึ่งรู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีแห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต จึงเป็นหัวหอกที่ผลักดันและทบทวนบทบาท “ความเป็นกลาง” ของนักวิชาการ หรือบรรดากุนซือผู้ทำหน้าที่ผลิตความรู้แห่งศาสตร์ต่างๆ ในสังคม         ภายหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง นักคิดกลุ่มนี้ที่หนีรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า หากความรู้คืออำนาจ นักวิชาการคือผู้ที่ผลิตความรู้นั้น และนักวิชาการขาดซึ่ง “ความเป็นกลาง” แต่ทว่าแปดเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์เสียแล้ว อำนาจแห่งความรู้ก็จะกลายมาเป็น “มนต์ดำ” ที่ประหัตประหารมนุษยชาติด้วยกันในที่สุด         เกินกว่ากึ่งศตวรรษผ่านไป คำถามต่อจุดยืนความเป็นกลางของนักวิชาการก็ได้ถูกหยิบยกมาทบทวนหวนคิดกันอีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ฤกษ์สังหาร” ซึ่งถูกวางเส้นเรื่องให้เป็นแนวละครสืบสวนสอบสวน ที่เปิดฉากขึ้นด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่ง โดยศพของเธอเสมือนหนึ่งถูกทำพิธีกรรมบางอย่าง และฝังเอาไว้อยู่ในดิน         ด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมอันดูแปลกประหลาด ได้ดึงดูดความสนใจของพระเอกหนุ่มอย่าง “มหากะทิง” หมอดูชื่อดังผู้มีความรู้โหราศาสตร์ และต้องการใช้องค์ความรู้ของเขาเพื่อเข้าร่วมสืบหาและคลี่คลายปมคดีการสังหารเหยื่อสาวเคราะห์ร้ายดังกล่าว         จากนั้น ความจริงก็ค่อยๆ เผยออกมาว่า การฆาตกรรมหญิงสาวเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกรรมฤกษ์สังหารตามตำราแก้เคล็ดดวงเมือง ด้วยเพราะมีใครบางคนต้องการจะเปลี่ยนแปลงดวงเมือง และใช้พิธีกรรมนี้ในการเปลี่ยนวงโคจรของดวงดาวให้มาเสริมบารมีของเขา เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่         ตามตำราดังกล่าวเชื่อว่า ในปีใดที่มีอาเพศใหญ่เกิดขึ้น 4 ครั้งในบ้านเมือง และในแต่ละครั้งของอาเพศ หากมีการใช้ชีวิตของหญิงสาวตามฤกษ์มาสังเวยทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ให้สัมฤทธิ์ได้แล้ว ผู้ประกอบพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมืองก็จะก้าวขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยมิจฉาวิชชาที่ว่านี้         เมื่อโจทย์ของมหากะทิงคือการคลี่คลายปมว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมตามฤกษ์สังหาร และการขัดขวางพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมือง เราจึงได้เห็นภาพการเดินจับมือฟั่นเกลียวกันไประหว่างการใช้องค์ความรู้แบบโหราศาสตร์และการคำนวณฤกษ์ดวงดาวแบบดั้งเดิม กับองค์ความรู้นิติวิทยาศาสตร์และอาชญวิทยาสมัยใหม่ ที่จะว่าไปแล้ว ทั้งศาสตร์ความรู้เก่าและใหม่ที่ไขว้ประสานกันเยี่ยงนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้อยู่แล้วในสังคมไทย         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นบทบาทของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “นักวิชาการ” หรือปัญญาชน ผู้เป็นประหนึ่ง “think tank” หรือ “คลังสมอง” ซึ่งใช้ศาสตร์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนทิศทางความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ         หากมหากะทิงและมิตรสหายของเขาอีกหลายคน รวมทั้ง “ศรีล” สารวัตรตำรวจมือสะอาด กับ “ชิงดวง” คุณหมอนักนิติวิทยาศาสตร์สาว เป็นตัวละครที่เลือกยืนอยู่ฝั่งคุณธรรมความดี ละครก็ได้สร้างให้เห็นขั้วความแตกต่างอีกฝั่งของ “อุทธิ” หมอดูโหราจารย์ที่เลือกใช้ความรู้ด้านมืดเสริมดวงของฝ่ายอธรรม         เนื่องจากโหราศาสตร์เป็นศาสตร์ความรู้ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ยอมรับไม่ต่างจากแขนงความรู้ของศาสตร์อื่นๆ แล้ว ทั้งมหากะทิงและอุทธิก็คือปัญญานักวิชาการผู้เป็น “คลังสมอง” ของศาสตร์วิชาดังกล่าว ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้องค์ความรู้เพื่อไปขับเคลื่อนดวงเมืองและความเป็นไปในเศรษฐกิจสังคมไทย         แต่เพราะจิตใจของอุทธิอาบเจือปนเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตนที่ต้องการเอาชนะมหากะทิง แบบที่อุทธิเคยกล่าวว่า “กูต้องชนะ กูทำมาขนาดนี้แล้ว ยังไงกูก็ต้องชนะ กูใช้เวลาทั้งชีวิต ยอมไม่มีเพื่อน ยอมเรียนดูดวง ยอมไปดูดวงคนเป็นพันๆ หมื่นๆ ที่อยากเจอหมอดูที่เก่ง กูทำพิธีนี้เพราะต้องการชนะมึง กูต้องเป็นอันดับหนึ่ง กูต้องอยู่เหนือมึง...” ดังนั้นอุทธิจึงเป็นนักวิชาการที่สละจุดยืนอัน “เป็นกลาง” แต่เลือกสมาทานความรู้โหราศาสตร์ของเขาเข้าสู่ด้านมืดแห่งอวิชชา         ด้วยกิเลสที่ต้องการเอาชนะคุกรุ่นอยู่ในใจ อุทธิจึงใช้ความรู้แบบ “มนต์ดำ” เพื่อประกอบพิธีฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมือง ที่จะเสริมส่งให้นักการเมืองใจซื่อมือคดอย่าง “รวี” ก้าวขึ้นสู่ผู้นำประเทศ พร้อมๆ กับบรรดาโครงข่ายอำนาจของท่านรวี ที่มีตั้งแต่คนในเครื่องแบบแต่เล่นบทบาทเป็นตำรวจกังฉินอย่าง “ผู้การดำริห์” ไปจนถึงนายทุนใหญ่ที่จิตใจเต็มไปด้วยโลภจริตอย่าง “เจ้าสัวพิพัฒน์”         และที่สำคัญ เพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจเช่นนี้ อุทธิและพรรคพวกจึงมีความพยายามเปลี่ยนแปลงดวงเมืองให้ได้ โดยที่ไม่ตระหนักเห็นถึงคุณค่าในชีวิตมนุษย์อย่างบรรดาผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกมาทำบัดพลีเซ่นสังเวยฤกษ์สังหาร ซึ่งไม่ต่างอันใดกับที่ครั้งหนึ่งฮิตเลอร์ก็สามารถขึ้นสู่อำนาจโดยสังหารชาวยิวนับล้านๆ คน          ด้วยพล็อตของละครแนวสืบสวนสอบสวนแบบนี้ ผู้ชมก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า เราจะได้เห็นภาพการสัประยุทธ์แก้กลเกมระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม โดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้วิชาความรู้มาปะทะต่อกรกันและกัน และในท้ายที่สุด ความรู้แบบอวิชชาก็ต้องปราชัย และฝ่ายมหากะทิงก็สามารถยุติการแก้เคล็ดดวงเมือง โดยช่วยเหลือนางเอก “รันหณ์” ให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของพิธีฤกษ์สังหารเอาไว้ได้         และในเวลาเดียวกัน เพราะความรู้เองก็มีกฎในการใช้งาน เมื่อพิธีฤกษ์สังหารไม่อาจทำจนสัมฤทธิ์ได้ คนเล่นของก็เลยต้องถูกคุณไสยย้อนมาเล่นใส่เสียเอง ภาพของอุทธิและพรรคพวกของท่านรวีที่ถูกลงโทษเซ่นสรวงสังเวยในฉากจบ จึงชวนดูสยดสยองไม่ต่างจากภาพหญิงสาวที่ถูกทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 เท่าใดนัก         จากบทเรียนจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจากพิธีกรรมฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมืองในละครโทรทัศน์เช่นนี้ คงถึงเวลาอีกครั้งแล้วที่เราน่าจะต้องหันกลับมาทบทวนเรียกร้อง “ความเป็นกลาง” ในหมู่ปัญญาชนนักวิชาการ เพราะคลังสมองของชาติเหล่านี้ก็คือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนชะตากรรมสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวงโคจรของดวงเมือง จนอาจนำสู่โศกนาฏกรรมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 รู้จักใช้เงินให้เป็นกับ Money Manager

     หลายคนอาจคิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ซึ่งมันก็จริงตามนั้น แต่อยากให้มองเห็นถึงความสำคัญของการออมเงิน เพราะเงินที่ออมนั้นจะสามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นเงินเก็บเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ วัยที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะวัยที่เริ่มทำงานที่ยังไม่มีภาระควรออมเงินบางส่วนไว้สำหรับอนาคต แนะนำว่าควรนำรายได้หักลบจากเงินออม ส่วนเงินที่เหลือก็ค่อยไว้ใช้จ่าย        แต่เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่มักใช้จ่ายเกินเงินที่ควรใช้และต้องมาเอาเงินในส่วนที่ออมไว้ไปใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้อ่านได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แค่ขจัดความอยาก ความไม่จำเป็นออกไป เมื่อเกิดความอยากสิ่งที่ตามมาคือการหาเหตุผลในการใช้จ่าย แต่บางครั้งเหตุผลดังกล่าวอาจเป็นแค่ข้ออ้างในความอยากได้เท่านั้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่ต้องใช้จ่ายนั้นเป็นแค่ความอยากหรือเป็นความจำเป็น ก่อนที่เงินในกระเป๋าจะหมดเกลี้ยงไปอย่างไม่รู้ตัว         วิธีที่ดีที่สุดนั่นคือการทำบันทึกรายรับรายจ่ายการใช้จ่ายเงินของตนเองในแต่ละวัน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินตัว นอกจากนี้ควรวางแผนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ตั้งงบประมาณรายจ่ายค่าอาหารต่อเดือนไว้ประมาณ 3,000 บาท เป็นต้น         การทำบันทึกรายรับรายจ่ายอาจจะใช้วิธีการจดบันทึกลงสมุด หรืออาจจะบันทึกผ่านแอปพลิเคชันก็ได้เช่นกัน ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชัน Money Manager         ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดรายรับรายจ่าย, หมวด Stats, หมวด Accounts และหมวด settings โดยสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่เข้าไปที่หมวดรายรับรายจ่ายเป็นหลัก เพื่อที่จะเพิ่มข้อมูลจากการเลือกว่าเป็นรายรับหรือรายจ่ายเท่าใด หลังจากนั้นให้เลือกรูปแบบการใช้เงิน เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น เลือกหมวดค่าใช้จ่ายของสินค้า ระบุตัวเลขที่ใช้จ่าย และกดบันทึก         ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถเลือกดูรูปแบบการสรุปการใช้จ่ายเงินเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยสรุปเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายในแต่ละเดือนออกมาเป็นสถิติรูปวงกลมก็ให้ไปดูได้ที่หมวด Stats หรือถ้าต้องการใช้แอปพลิเคชันช่วยแบ่งตามรูปแบบการใช้จ่ายว่าการใช้จ่ายเงินสดใช้เงินไปทั้งหมดเท่าใดและใช้ผ่านบัตรเครดิตไปจำนวนเท่าใดก็สามารถดูได้เช่นกัน         ประโยชน์ของการใช้แอปพลิชัน Money Manager นี้จะช่วยสรุปค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้รู้ว่าในแต่ละช่วงสัปดาห์ได้ใช้จ่ายไปในเรื่องใดมากที่สุด และพิจารณาว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการบริหารการใช้เงินและควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้เกินตัวได้ทางหนึ่ง         อย่าลืมท่องเอาไว้ว่า “เงินจะไม่หมด ถ้ารู้จักใช้เงินให้เป็น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ชีวิตที่ “กำลังเป็น” กับ ชีวิตที่ “กลายมาเป็น”

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมานมนุษย์เรามักมีข้อคำถามเชิงปรัชญาที่ถกเถียงกันอยู่เสมอว่า ชีวิตของเราที่เราเห็นๆ เป็นเช่นนี้เช่นนั้น เป็นใครกันหนอที่เข้ามากำหนด จะเป็นคนอื่นที่กำหนดชีวิตเรา หรือว่าเป็นมนุษย์เราที่มีอำนาจกำหนดขีดได้เอง ทั้งนี้ ในการก่อกำเนิดศาสตร์สาขาวิชาที่ชื่อว่า “ปรัชญา” หรือ “philosophy” นั้น ก็มักเริ่มต้นด้วยข้อถกเถียงทำนองข้างต้น อันเป็นข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นการวิเคราะห์ดูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เพราะนักปรัชญาเชื่อว่า การตอบคำถามว่า “ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร” ถือเป็นขั้นบันไดแรกในการเข้าใจแก่นแท้ความเป็นคน และนำไปสู่คำตอบอื่น ๆ ของมนุษย์กับสังคม และดูเหมือนว่า ในมุ้งย่อย ๆ ของสาขาวิชาปรัชญา จะมีคำตอบเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่จัดได้เป็นสองปีกใหญ่ๆ สุดโต่งด้วยกัน กล่าวคือ. คำตอบแรก เป็นของมุ้งนักคิดที่เชื่อว่า มนุษย์นั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของอำนาจบางอย่างที่อยู่นอกเหนือตัวมนุษย์ เช่น อยู่ใต้ชะตาฟ้าลิขิต อยู่ใต้การกำหนดมาแล้วโดยกรรมแต่ปางก่อน หรือดำเนินไปภายใต้สัญชาตญาณดิบที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว ทัศนะแบบนี้อาจเรียกชื่อเก๋ไก๋ว่าอยู่ในมุ้งของนักคิดสาย “ชะตากรรมกำหนด” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “fatalism” ส่วนคำตอบที่สอง เป็นของพวกที่เชื่อในพลังอำนาจของมนุษย์ว่ามีอย่างไร้ข้อจำกัด มุ้งนักคิดสายนี้เห็นว่า มนุษย์สามารถจะกำหนดชะตากรรมได้ด้วยตัวเอง ขอเพียงให้มนุษย์มีความเชื่อมั่นในศักยภาพหรืออำนาจของตนเท่านั้น ทัศนะแบบนี้อาจเรียกชื่อหรูๆ ได้ว่า เป็นมุ้งนักคิดในสาย “มนุษยนิยมแนวจิตนิยม” หรือ “idealist humanism” อย่างไรก็ดี การจำแนกขั้วคำอธิบายแบบสุดโต่งเป็นสองมุ้งเช่นนี้ บ่อยครั้งก็มีขีดจำกัดในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์เราอาจไม่ได้มีคุณลักษณะด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่มนุษย์เรามีสัดส่วนของธรรมชาติสองด้าน ที่แตกต่างกันไประหว่างข้อกำหนดจากภายนอก กับการที่มนุษย์เรามีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง มีโฆษณาโทรทัศน์ร่วมสมัยอยู่ชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสองด้านในธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ โฆษณานี้ทำขึ้นเพื่อขายภาพลักษณ์ของสินค้าบริการประเภทธนาคารออมทรัพย์แห่งหนึ่ง โฆษณาเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายชายที่พูดขึ้นว่า “ชีวิตมีสองด้าน อยู่ที่คุณเลือกว่าจะใช้ชีวิตด้านไหน” และก็เปิดฉากด้วยภาพชายคนหนึ่งยืนอยู่ระหว่างโลกสองด้าน ที่ครึ่งจอด้านหนึ่งเป็นความมืดและบรรยากาศพายุกำลังโหมกระหน่ำ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของจอ เป็นฉากบรรยากาศแสงสว่าง เห็นต้นไม้ใบไม้สีเขียวอุดมสมบูรณ์ จากนั้น เสียงเพลงก็เริ่มร้องขึ้นมาว่า “ถ้าหากลองมองดูให้ดีในชีวิต หากลองคิดให้ลึกซึ้งและทบทวนด้วยหัวใจ เราจะพบกันในโลกใบนี้ ทุกอย่างนั้นมีอยู่สองด้าน ไม่ว่าสิ่งไหน...โลกไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้มีแต่ด้านมืด ด้านเดียวเสมอไป อยู่ที่ความคิดว่าเราจะมืดหรือไม่ ความทุกข์ความสุขเกิดจากในใจ ชีวิตจะเปิดกว้างสักแค่ไหน...คำตอบนั้นอยู่กับหัวใจเราอย่างเดียว” และนอกจากภาพผู้ชายที่ยืนอยู่ระหว่างโลกที่มืดกับสว่างแล้ว ภาพที่ตัดสลับมากับเพลงก็แสดงให้เห็นสองด้านของชีวิตในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ภาพของหญิงสาวที่เดินก้าวออกมาจากมุมมืด แล้วกระโดดเล่นยิมนาสติกลีลาอยู่ในโลกที่สว่างขึ้น ต่อด้วยภาพของมนุษย์เงินเดือนที่กำลังทุกข์จากการตกงานและหุ้นที่ดิ่งลงเหว ก้าวมาสู่ชีวิตมนุษย์งานที่ตลาดหุ้นค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น ภาพของเด็กน้อยที่เดินใต้ต้นไม้แห้งแล้ง ออกวิ่งมาสู่ต้นไม้เขียวครึ้มและนั่งเล่นโยกชิงช้าอยู่ใต้ร่มไม้นั้น ภาพของคุณตาที่นั่งเงียบๆ อยู่ในมุมมืด ก่อนจะตัดสินใจเดินออกมาหาคุณยายคู่ชีวิตที่กำลังนั่งจัดดอกไม้อยู่ในมุมสว่างอย่างเป็นสุข ภาพของผู้ชายที่เดินฝ่าฝนฟ้ากระหน่ำมาสู่ด้านที่ฟ้าเปิดสว่างอย่างสุขใจ ภาพของผู้ชายที่วิ่งออกจากเงามืด มาอยู่ที่ป่าละเมาะกับนกบินขึ้นฟ้าเป็นฝูงๆก่อนจะมาปิดท้ายด้วยภาพของคลื่นมนุษย์จำนวนมากพร้อมใจกันเดินมาที่อาคารสำนักงานของธนาคารเจ้าของโฆษณาชิ้นนี้ พร้อมกับเสียงบรรยายปิดท้ายที่พูดขึ้นในตอนจบว่า “ด้านที่ดีกว่าของชีวิต รอให้คุณก้าวเข้าไป...” อันที่จริงแล้ว โฆษณาชิ้นนี้ใช้วิธีการสื่อความหมายด้วยการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่แบ่งแยกคู่ตรงข้าม เป็นดำ/ขาว มืด/สว่าง ทุกข์/สุข เงียบเหงา/อบอุ่น แห้งแล้ง/ร่มรื่น ก็เพื่อที่จะสื่อสารไปยังผู้ชมว่า มนุษย์เรามีโลกสองด้านเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองด้านที่แยกกัน ระหว่างด้านที่เราจะยอมจำนนต่อโชคชะตา กับด้านที่เราจะก้าวไปเป็นด้วยมือของเราเอง นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันคนหนึ่งที่ชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ เคยกล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ว่า มนุษย์มีลักษณะหมือนกับเหรียญที่มีสองด้านในเวลาเดียวกันแบบที่อยู่ในโฆษณาชิ้นนี้นั่นแหละครับ ทั้งนี้ คุณปู่ค้านท์กล่าวว่า มนุษย์เราทุกผู้ทุกนามจะมีลักษณะสองด้านในตัวเองเสมอ คือ มีทั้งด้าน “ปัจจุบัน” ที่กำลังเป็นอยู่ และมีด้าน “อนาคต” หรือศักยภาพที่จะเป็นไป กล่าวง่าย ๆ ก็คือ มนุษย์เราเปรียบเสมือน “เมล็ดพืช” โดยสิ่งที่เรา “กำลังเป็นอยู่” ในวันนี้ก็คือ “เมล็ดพืช” แต่ทว่า ภายในนั้น มนุษย์เราก็มีศักยภาพที่จะเจริญเติบโต หรือคลี่คลายและ “กลายมาเป็น” ต้นไม้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขสังคมที่จะเป็นดินดำน้ำชุ่มและปุ๋ยหล่อเลี้ยง แต่ต้องมีแรงศรัทธาและความมุ่งมั่นที่จะเติบโตต่อไปได้ด้วย ก็เฉกเช่นเดียวกับคำถามที่อยู่ในโฆษณาชิ้นนี้นั่นแหละครับ ที่ชี้ให้ผู้ชมได้เห็นว่า ชีวิตของมนุษย์เรามีสองด้านแบบขั้วตรงข้าม คุณจะเลือกเป็นชายหนุ่มที่ยืนอยู่ในด้านมืด หรือเป็นหญิงสาวที่อยู่กับความท้อแท้ เป็นเด็กน้อยที่อยู่ท่ามกลางความแห้งแล้ง หรือเป็นชายชราที่อยู่กับความเปลี่ยวเหงา หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นมนุษย์ผู้ยินยอมน้อมรับกับชะตากรรมที่เป็นอยู่โดยไม่คิดใช้สองมือสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นไปแต่อย่างใด หรือในอีกทางหนึ่ง คุณจะเลือกใช้สูตรแบบ “คือหัตถาครองพิภพ” ที่เชื่อว่า มนุษย์เราสามารถก้าวออกจากด้านมืดมิดมาสู่ด้านแห่งแสงสว่าง เป็นชายหนุ่มที่กล้าวิ่งฝ่าพายุฝน เป็นหญิงสาวที่กล้าออกลีลายิมนาสติกเป็นสุขกับชีวิต เป็นเด็กน้อยที่รู้จักหัดโล้ชิงช้าแกว่งไกวไปมา และเป็นชายชราที่รู้จักเสาะแสวงหาความอบอุ่นให้กับครอบครัวของตนเอง อันเป็นทัศนะแบบพวกปรัชญามนุษยนิยมจิตนิยม และก็ดูเหมือนว่า โฆษณาก็ได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนแล้วว่า มนุษย์เราควรเป็นดั่ง “เมล็ดพืช” ที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เพราะจากชีวิตที่เรา “กำลังเป็น/อยู่/คือ” ณ วันนี้ มนุษย์เราก็ควรที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวของเราเอง ที่พร้อมจะ “กลายไปเป็น” ไม้ใหญ่อันร่มรื่นพร้อมรับไออุ่นแห่งแสงตะวัน และที่สำคัญ การเป็นประดุจเมล็ดพืชที่สามารถงอกเงยและงอกงามแบบนี้ได้ ไม่ได้ขีดวงแค่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ไม่ว่าวัยเด็ก วัยทำงาน หรือวัยชรา มนุษย์เราล้วนแต่สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งศักยภาพเอาไว้ในใจได้ทั้งสิ้น แน่นอนนะครับว่า เนื่องจากโฆษณาชิ้นนี้เขาทำขึ้นเพื่อขายภาพลักษณ์ที่ดีของบริการธุรกิจธนาคาร เพราะฉะนั้น คำตอบที่โฆษณาย่อมต้องบอกพ่วงมาด้วยก็คือ ในการ “กลายมาเป็น” เมล็ดพืชที่จะงามงอกดอกใบผลได้ในอนาคตนั้น มนุษย์เราอาจต้องรู้จักเก็บออม และควรฝากความหวังไว้กับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แม้จะมีวาระแฝงเร้นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจการธนาคารอยู่เบื้องหลังแบบนี้ แต่ผมก็คิดว่า อย่างน้อยๆ ในยุคที่สังคมกำลังท้อแท้ กราฟเศรษฐกิจกำลังดูจะดิ่งลง และมนุษย์เรากำลังมีบาดแผลและอยู่กับความเหี่ยวเฉาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แค่โฆษณาได้มากระตุกให้เราคิดถึงชีวิตที่ “กำลังเป็น” กับชีวิตที่ “กลายมาเป็น” ก็อาจจะช่วยให้ใครหลาย ๆ คนได้เริ่มผันตัวจากไม้ที่กำลังตายซาก มาเป็นเมล็ดพืชที่เตรียมงอกงามเป็นร่มไม้ในป่าใหญ่กันได้ในอนาคต...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point