ฉบับที่ 235 หน้าฝนระวังอาการภูมิแพ้เชื้อรา

        ฝนตกหนักน้ำท่วมขังและบ้านที่อับชื้น ไม่เพียงทำให้อารมณ์ไม่สดชื่น มันอาจเสี่ยงกับอาการภูมิแพ้เชื้อราด้วย  ซึ่งคนที่รู้ตัวว่ามีอาการภูมิแพ้อากาศคงไหวตัวทัน เมื่อเริ่มหายใจอึดอัด น้ำตาไหล หรือเกิดหอบหืดกำเริบ แต่หลายคนอาจเพิ่งเริ่มหรือเพิ่งเคยมีอาการ ก็ขอให้ระมัดระวังและเร่งป้องกันก่อนกลายเป็นปัญหาใหญ่        ในสิ่งแวดล้อมมีเชื้อราลอยอยู่ในอากาศทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรคและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เชื้อราบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคได้ถ้าร่างกายอ่อนแอ ปกติคนแข็งแรงมักไม่ก่ออาการ แต่ในคนที่มีอาการภูมิแพ้อาจจะมีอาการน้ำมูกไหล หายใจไม่ออก น้ำตาไหล หอบหืด มีผื่นผิวหนังอักเสบ และมักจะกำเริบในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น เพราะมีเชื้อราเป็นตัวกระตุ้น โดยสปอร์ของเชื้อราสามารถกระจายไปได้ในอากาศ เราจึงควรทราบถึงแหล่งที่มาของเชื้อราเหล่านี้ และพยายามกำจัดให้หมดไปจากบริเวณบ้าน         เชื้อราชอบอยู่ตามที่ชื้นและอับทึบ         ห้องน้ำ ห้องครัวหรือในพื้นที่ส่วนที่ใช้ในการชำระล้าง ต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้แห้ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ปล่อยให้ชื้นแฉะตลอดเวลา        ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นประจำจะเป็นที่ที่มีความชื้นมาก เชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย ควรหมั่นตรวจตราเปิดให้อากาศถ่ายเท ตัวเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้         ตู้เย็น หลายครั้งที่สะสมอาหารไว้เป็นจำนวนมากในตู้เย็นแล้วรับประทานไม่ทัน อาหารบางอย่างก่อให้เกิดเชื้อรา ถ้าพบทิ้งทันที ห้ามรับประทาน วิธีป้องกันง่ายๆ คือ ไม่สะสมอาหารจนรับประทานไม่ทัน        ต้นไม้ ปัจจุบันนิยมปลูกต้นไม้ในบ้านเพื่อช่วยฟอกอากาศ แต่รู้ไหมว่าดินที่ใช้ปลูกก็เป็นแหล่งที่ก่อเกิดเชื้อราได้ ควรวางไว้ในตำแหน่งที่แดดส่องถึง รดน้ำแต่พอชุ่มไม่บ่อยเกินไป แต่หากเป็นผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไม่ควรนำต้นไม้วางไว้ในบ้าน อีกอย่างที่อาจคาดไม่ถึงคือ ดอกไม้ประดับ ดอกไม้บูชาพระ หากเหี่ยวเฉาแล้วควรรีบทิ้งไป ไม่ปล่อยไว้เพราะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้เช่นกัน         สํารวจเชื้อราหลังน้ำท่วม         หน้าฝนหลายบ้านระบายน้ำไม่ทัน น้ำท่วม หลังคารั่ว ควรต้องสังเกตว่ากลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราหรือไม่ อาจทําได้ง่ายมองหาว่า ผนังมีรอยเปื้อนหรือมีลักษณะเชื้อราขึ้นหรือไม่ และวิธีดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราเป็นกลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีเชื้อราควรให้ใช้หลักว่า สิ่งของใดที่ไม่สามารถกําจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้ง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน ซึ่งไม่สามารถชะล้างและทําให้แห้งได้จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา ส่วนผ้าที่เกิดเชื้อราฝังอยู่ หากยังเสียดายต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มด้วยน้ำร้อนก่อนจึงจะนํามาใช้อีก         หลังน้ำลดต้องรีบทําความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุดภายใน 24 - 48 ชั่วโมง อย่าทิ้งไว้จนเกิดคราบรา กรณีเกิดคราบราขึ้นแล้ว ต้องเร่งกำจัด ควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วตามด้วยการขัดล้างด้วยน้ำยา ถ้าเป็นการขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบควรขัดด้วยแปรงชนิดแข็ง น้ำยาฆ่าเชื้อรามีจำหน่ายในท้องตลาดหลายชนิด ชนิดที่หาซื้อง่ายและราคาไม่แพง คือน้ำยาดับกลิ่นไลโซล หรือน้ำยาฟอกฝ้าขาวเช่น คลอร็อกซ์ เป็นต้น ระหว่างทําความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว กรณีกำจัดเชื้อราไม่ออกเป็นคราบฝังแน่นตามผนังควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ทาสีทับ         เชื้อรานอกบ้าน        หลีกเลี่ยงการสูดดมสปอร์ของเชื้อรา ง่ายๆ โดยใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก แนะนำเป็นการสวมหน้ากากอนามัย (จะป้องกันได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากผ้า)        ตรวจร่างกาย         บางคนไม่เคยมีประวัติของโรคภูมิแพ้แต่มีอาการหอบ ไอและเหนื่อยเมื่อถึงฤดูฝน หากสงสัยตัวเอง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเพียงไข้หวัดหรือเป็นโรคภูมิแพ้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้เพื่อตรวจว่าแพ้อะไรบ้าง จากนั้นก็ต้องคอยหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ยามาตามแก้เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น         เราสามารถควบคุมความชื้นได้ โดยอาจจะใช้อุปกรณ์วัดระดับความชื้น เครื่องดูดความชื้น ซึ่งสามารถหาซื้อมาใช้ได้ทั่วๆ ไป แต่ในการเลือกซื้อและนำมาใช้งานก็ควรศึกษาผลให้ดี เพราะในระดับความชื้นที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็สามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 255217 มีนาคม 52ก่อนกิน สังเกตป้าย “ก๋วยเตี๋ยวอนามัย” ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ โดยนายสมโภช ศรีอัสดร นักวิชาการสาธารณสุข กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกันจัดโครงการ “ก๋วยเตี๋ยวอนามัย” เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวใส่ใจเรื่องสุขลักษณะของอาหารที่ปลอดภัยและไร้สารพิษและกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลร้านก๋วยเตี๋ยวให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น   จากผลสำรวจของกรมอนามัยพบว่า มีร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศทั้งในแบบร้านค้า แผงลอย รถเข็น จนถึงที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จำนวนรวมกันมากถึงกว่า 75,500 ร้าน เฉลี่ยมีคนไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยวถึง 4 ล้านคนต่อวัน แต่ปัญหาคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่มีการใช้สารกันเสียชนิด “เบนโซอิก” ในเส้นเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 22 ส่วนผักที่ใช้เป็นส่วนประกอบ ก็มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนร้อยละ 4–11 ในส่วนเครื่องปรุงก็พบว่ามีการใช้น้ำส้มสายชูที่ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 26 รวมทั้งยังพบสารพิษอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงและพริกป่นร้อยละ 19 ซึ่งหากสะสมพิษดังกล่าวไว้ในร่างกายเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ โครงการก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยนี้ กรมอนามัยจะเฝ้าติดตามพัฒนาและประเมินผลร้านก๋วยเตี๋ยวที่ร่วมโครงการ ซึ่งหากร้านก๋วยเตี๋ยวใดผ่านการประเมินความปลอดภัยจะได้รับป้ายก๋วยเตี๋ยวอนามัย เพื่อการันตีเรื่องความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้บริโภค 20 มีนาคม 2552ยอดผ่าตัดไส้ติ่งรพ.ชุมชนลดฮวบ เหตุแพทย์กลัวถูกฟ้องผลสำรวจโรงพยาบาลชุมชนเผยว่า แพทย์กว่าร้อยละ 50 ไม่กล้าผ่าตัดผู้ป่วย เพราะกลัวถูกฟ้อง ขณะที่ยอดผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชนในรอบ 4 ปีลดลงถึงร้อยละ 25 โดย นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจากการสำรวจโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 187 แห่ง ซึ่งสาเหตุของการลดลงของตัวเลขการผ่าตัดพบว่า โรงพยาบาลชุมชนกว่าครึ่งหรือ 94 แห่งระบุว่า กลัวการฟ้องร้องแล้วแพทย์ถูกดำเนินคดี ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 87 แห่งหรือร้อยละ 46 ระบุว่าระยะทางระหว่างโรงพยาบาลชุมชนใกล้กับโรงพยาบาลใหญ่ จึงเลือกที่จะส่งต่อในกรณีที่อาจจะเกิดความเสี่ยงสูง ขณะที่อีก 80 แห่งหรือร้อยละ 42.8 ระบุว่าไม่มีวิสัญญี แพทย์ และเครื่องมือไม่พร้อม ส่วนความเห็นที่ว่าหากมี พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใดร้อยละ 55 ตอบว่า ช่วยได้บ้างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ร้อยละ 15.5 บอกว่าไม่ช่วยเท่าใดนัก ซึ่งพ.ร.บ.นี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลต้องพิจารณาและผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป 21 มีนาคม 52คนเป็นภูมิแพ้ระวัง อาจตายเพราะแมลงทอดนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขของผู้ป่วยจากการรับประทานแมลงทอดที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 2550 – 7 ม.ค. 2551 พบว่ามีจำนวนถึง 118 คน จาก 7 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา สุราษฏร์ธานี ชัยนาท และนครราชสีมา ซึ่งอาการที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่มีทั้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะรุนแรง พูดไม่ได้ ตัวสั่น เหงื่อออก ใจสั่น บางรายมีอาการชาตามร่างกาย ซึ่งจากการตรวจในห้องปฏิบัติการ ไม่พบสารพิษปนเปื้อนอย่างยากำจัดศัตรูพืชหรือสารอันตรายใดๆ ในตัวอย่างของแมลงทั้งที่ทอดและยังไม่ได้ทอด ใบเตย น้ำมันที่ใช้ทอดแมลง และอาเจียนของผู้ป่วย แต่ตรวจพบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ตกค้างอยู่ โดยพบมากที่สุดในดักแด้หนอนไหมทอด ที่เก็บตัวอย่างจาก จ.สุราษฏร์ธานี ตรวจพบสารฮีสตามีน 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปริมาณฮีสตามีนในอาหารของไทยกำหนดไว้ให้มีได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเสริมว่า อาการหลังได้รับสารฮีสตามีนจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป แต่ในกลุ่มที่มีประวัติภูมิแพ้หรือหอบหืด จะตอบสนองได้เร็วกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ซึ่งอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการตรวจสอบแหล่งที่มาของแมลงทอดที่มีรายงานผู้ป่วยจาก 7 จังหวัด พบรับดักแด้หนอนไหมมาจากแหล่งเดียวกันคือ ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว คาดว่ากระบวนการเก็บรักษาไม่ดีพอกว่าจะถึงมือแม่ค้ารายย่อย ทำให้เกิดการสะสมของสารฮิสตามีนที่ก่อภาวะเจ็บป่วยให้กับผู้บริโภค พบสารก่อมะเร็งในแก๊สโซฮอล์นางเดซี่ หมอกน้อย นักวิจัยด้านอากาศจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องปริมาณการแพร่กระจายของสารประกอบคาร์บอนิลในอากาศในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2549 – 2551 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซล ว่าจากผลการวิจัยพบ อากาศในกรุงเทพฯ มีปริมาณสารพิษกลุ่มคาร์บอนิลซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น การวิจัยครั้งนี้เก็บตัวอย่างสารกลุ่มคาร์บอนิลในอากาศครอบคลุมพื้นที่ริมถนน 49 จุดในเขตกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งตรวจพบค่าความเข้มข้นของสารกลุ่มคาร์บอนิล 10 ชนิด โดยเฉพาะในถนนที่มีการจราจรหนาแน่นอย่าง ริมถนนอนุสาวรีย์ชัย พระราม 5 รัชดาภิเษก สุขุมวิท และดอนเมือง มีค่าความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์ 10.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินเกณฑ์ระดับความเสี่ยงของอเมริกาถึง 5 เท่า ส่วนสารที่พบอีกตัวคืออะเซทัลดีไฮด์มีปริมาณความเข้มข้นอยู่ในช่วง 3.31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอเมริกากำหนดมาตรฐานไว้ที่ 2.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แก๊สโซฮอล์มีสารพิษดังกล่าวเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ออกมาแล้วเจอกับแสงในบรรยากาศจะส่งผลให้มลพิษตัวอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสารฟอร์มัลดีไฮด์และอะเซทัลดีไฮด์ยังไม่มีการกำหนดมาตราฐานในเมืองไทย อย่างไรก็ตามหลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทางด้านผู้เกี่ยวข้องอย่างนายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลว่า “ยอมรับว่าแก๊สโซฮอล์ มีผลเกี่ยวเนื่องกับการเกิดสารประกอบคาร์บอนิล หากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดไอเสียที่มีสารดังกล่าวปะปนกับไอเสีย อาจมากหรือน้อยแล้วแต่สภาพของเครื่องยนต์ ทั้งนี้หากรถยนต์เก่าดูแลไม่ดีมีโอกาสเกิดไอเสียที่มีสารพิษปะปนมาก และไม่ว่ารถชนิดนั้นจะใช้น้ำมันชนิดใดก็ตามจะมีไอเสียที่เป็นสารพิษออกมา เช่น จากน้ำมันดีเซลมีสารกำมะถันมาก น้ำมันเบนซินมีสารอะโรมาติกส์ และสารเบนซีน ที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง เป็นอันตรายมากกว่าสารกลุ่มคาร์บอนิล หากดูในภาพรวมแล้วแก๊สโซฮอล์จะเกิดมลพิษน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน” ไม่อยากให้ผู้ที่ได้รับข่าวสารกลัวว่าใช้แก๊สโซฮอล์แล้วจะเป็นมะเร็ง ในตัวของน้ำมันเองไม่มีสารที่ก่อมะเร็ง แต่หากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ใช้รถควรหมั่นนำรถตรวจสภาพ และจูนอัพเครื่องยนต์เสมอ เพราะรถยนต์เมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่งชิ้นส่วนจะผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่นิสัยคนไทยไม่เสียไม่ซ่อมจึงทำให้มลพิษเพิ่มขึ้น และไปโทษว่าแก๊สโซฮอล์ผิดอีกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อย่าโยนภาระค่าไฟให้ประชาชนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคัดค้าน กกพ. ขึ้นค่าผ่านท่อ หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซให้กับ ปตท.จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.02 บาท ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2552 นั้น ด้านเครือข่ายผู้บริโภคที่มองเห็นถึงความไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสมในเรื่องผลประโยชน์ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะได้รับ พร้อมๆ กับที่จะผลักภาระมาให้ประชาชน จึงรวมพลังกันออกมาคัดค้านทันที นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซนี้ว่า ความจริงราคาที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดให้ค่าผ่านท่อเป็นค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ ทำให้ในแต่ละปี ปตท. ได้กำไรส่วนเกินไปปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้มีการประมาณการตัวเลขการใช้ก๊าซที่น้อยกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาค่าผ่านท่อสูงเกินจริง ซึ่งหากจะมีปรับราคาจริงควรเป็นการปรับลดมากกว่า ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือ ปตท.คิดอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return of Equality : ROE)สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือคิดถึงร้อยละ 18 ทั้งที่ควรจะคิดเพียงเป็นร้อยละ 14 เท่านั้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 40 ปีไว้ในอัตราคงที่สูงถึงร้อยละ 10.5 ทั้งที่ความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดตลอดเวลา การคิดค่าผ่านท่ออยู่บนฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงขนาดนี้ ทำให้ปตท.ได้ผลประโยชน์ไปมาก เลขาธิการ มพบ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการคำนวณกันไว้ว่า หากมีการปรับลดค่า ROE เป็นร้อยละ 14 และอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นคือร้อยละ 5.75 มูลค่าก๊าซจะลดลงมากถึง 3,800 ล้านบาท และค่าบริการต้นทุนคงที่ (Demand Charge) ซึ่งเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของราคาค่าส่งท่อก๊าซจะสามารถลดลงจากเดิม 19.40 บาทเป็น 13.13 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น นอกจากนี้ ปตท.ยังมีความผิดเรื่อง ไม่คืนทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและนับเป็นการนำทรัพย์สินประชาชนมาหากำไรกับประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่สุดถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านท่อก๊าซมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน คือค่าเอฟที (Ft) จะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคจะเข้ายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองและจะขอให้มีการคุ้มครองให้มีการระงับการอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซดังกล่าวของ กกพ.เพราะถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคและจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >