ฉบับที่ 275 ฝึกฝนภาษาบนสมาร์ทโฟนด้วยปลายนิ้ว

        การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม เมื่อได้เรียนรู้ ทักษะความสามารถย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนเท่านั้น การอ่านหนังสือ การอ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การเล่าสู่กันฟัง การอธิบายยกตัวอย่าง ฯลฯ รวมถึงการฝึกฝนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เช่นกัน         ปัจจุบันภาษาเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ช่วยในการสื่อสารกันทั่วโลก ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ทั้งทางด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ก็มีความสำคัญอย่างมาก        ฉบับนี้มาแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องใช้ทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการฝึกพูด ด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Johnny Grammar Word Challenge ของ British Council ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ แอปพลิเคชันนี้เป็นการทดสอบคำศัพท์ การสะกดคำ และไวยากรณ์สำหรับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของผู้เรียนภาษาอังกฤษ โดยทดสอบผ่านการทำแบบฝึกหัดจากการแข่งขันกับเวลาภายในระยะเวลา 60 วินาที การเข้าใช้แอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้โดยการกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือเข้าใช้ผ่าน facebook หรือเลือกเข้าใช้แบบ guest ซึ่งไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีหมวดการทดสอบ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Grammar (ไวยากรณ์) หมวด Words (คำศัพท์) และหมวด Spelling (สะกดคำ)         หมวด Grammar เป็นหมวดที่ทดสอบด้านไวยากรณ์ แบ่งตามหัวข้อจากระดับง่ายไปจนถึงระดับยาก ดังนี้ หัวข้อคำบุพบท (preposition) หัวข้อกริยาไม่ปกติ (Irregular verbs) หัวข้อคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์ (Adjectives & adverbs) หัวข้อคำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ (Countable and uncountable) หัวข้อกริยาที่มี  to และไม่มี  to หรือกริยาที่เติม ing และใช้แบบ noun (Infinitives or gerunds) หัวข้อการใช้คำ More or less หัวข้อเกี่ยวกับสี (Expression with colour) หัวข้อการใช้คำ Few and little หัวข้อคำวิเศษณ์ (Adverbial Clauses) หัวข้อกริยาช่วย (Modals) หัวข้อคำเชื่อม (Linkers) และหัวข้อคำสันธาน (Conjunctions)         หมวด Words (คำศัพท์) เป็นหมวดที่ทดสอบด้านคำศัพท์ แบ่งตามหัวข้อตามกิจกรรม ดังนี้ หัวข้อร้านอาหาร หัวข้อการท่องเที่ยว หัวข้อการสนทนาสั้นๆ หัวข้องานอดิเรก หัวข้อคำ idioms หัวข้อแสดงความเป็นตัวตน หัวข้อความสนใจ หัวข้อการทำงาน หัวข้อการสนทนาง่ายๆ และหัวข้อช้อปปิ้ง ส่วนหมวด Spelling เป็นหมวดที่ทดสอบด้านการสะกดคำ เมื่อกดในหมวดนี้แอปพลิเคชันจะนำไปสู่การทดสอบโดยกำหนดโจทย์ในรูปแบบประโยคและให้ผู้ใช้เลือกคำให้เหมาะสม ซึ่งในหมวดนี้จะเป็นการทบทวนการใช้ประโยคไปในตัว ทั้งนี้เมื่อจบบททดสอบการสะกดคำแล้ว แอปพลิเคชันจะสรุปและเฉลยคำตอบทีละข้อเพื่อให้ตรวจสอบและทำความเข้าใจอีกครั้งมาฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันผ่านแอปพลิเคชันนี้กัน เพราะการเรียนและฝึกฝนทุกวันจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 เรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบเค้ก..เค้ก

        ฉบับนี้ขอมาแบ่งปัน Cake กับผู้อ่านกันสักหน่อย Cake ในที่นี้ไม่ใช่ขนมหวานทั่วไป แต่เป็นการแบ่งปันการฝึกฟังและพูดภาษาอังกฤษกับแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Cake”         ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาษาอังกฤษได้เข้ามามีความสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวัน เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต่อการติดต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย ดังนั้นการฝึกฟังและฝึกพูดภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญกับการใช้สื่อสารในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมากทีเดียว         ผู้เขียนจึงเห็นว่าแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Cake” น่าจะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ดี โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Cake ได้ฟรี ทั้งระบบปฏิบัติการ android และระบบปฏิบัติการ iOS         หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Cake มาแล้วให้ลงชื่อเข้าใช้ผ่านเฟซบุ๊คหรือผ่าน google mail อย่างใดอย่างหนึ่ง และภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งหมวดออกเป็นหมวด Home หมวด Search หมวด Speak หมวด Library และหมวด Profile         ในหมวด Home จะเป็นหน้าที่รวบรวมคลิปวิดีโอที่มาจากหนัง การ์ตูน และอื่นๆ มา โดยสามารถเลือกรูปแบบคลิปวิดีโอที่ต้องการฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขำขัน การให้กำลังใจ โรแมนติก เรื่องเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ หรือต้องการฝึกคำศัพท์ การฝึกรูปประโยค ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ เมื่อเปิดคลิปวิดีโอนั้นขึ้นมาแล้ว จะปรากฎภาพวิดีโอและข้อความภาษาอังกฤษด้านล่าง ซึ่งจะแบ่งประโยคไม่ยาวมากนักประมาณ 10-15 ประโยค เพื่อให้สามารถฝึกฟังและฝึกพูดตามได้ การฝึกพูดของหมวดนี้จะเป็นการฝึกพูดตามข้อความที่พูดในคลิปวิดีโอนั้นๆ         สำหรับในหมวด Speak จะเป็นหมวดที่ให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกระดับการฝึกพูดตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง มีบทเรียนให้เลือกหลากหลาย โดยจะเป็นการฝึกโต้ตอบในรูปแบบบทสนทนาสลับกันไปมา เพื่อทำให้สามารถฝึกการออกเสียงได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าต้องออกเสียงอย่างไร ก็สามารถกดฟังตัวอย่างการพูดประโยคดังกล่าวได้         ส่วนหมวด Search จะใช้ค้นหาคลิปวิดีโอเพิ่มเติม หมวด Library เป็นหมวดที่รวบรวมคลิปวิดีโอที่เคยเข้าดูและที่ bookmarks ไว้ สุดท้ายหมวด Profile จะเป็นหมวดจัดการและตั้งค่าต่างๆ ภายในแอปพลิเคชัน         นอกจากนี้แอปพลิเคชันนี้ยังมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือ จะมีโน้ตเล็กๆ ที่มีสัญลักษณ์เหมือนรูปไฟอยู่บริเวณด้านล่างขวามือ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเก็บสถิติการใช้แอปพลิเคชันที่ใช้ฝึกฟังและฝึกพูดภาษาอังกฤษ โดยบันทึกในรูปแบบของเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ทั้งหมด ทั้งนี้สามารถตั้งค่าเวลาที่ต้องการฝึกต่อวันได้อีกด้วย เพื่อให้ทราบว่าในแต่ละวันสามารถฝึกพูดและฝึกฟังภาษาอังกฤษเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่         ดาวน์โหลดเรียบร้อยแล้ว งั้นมาเริ่มฝึกฟังและฝึกพูดภาษาอังกฤษกันเลยดีกว่า เริ่ม!!!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ฝึกภาษาอังกฤษกับ Echo English

การสื่อสารในปัจจุบันถือว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นภาษาที่สามารถใช้สื่อสารได้กับคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการบุคคลที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี ทั้งการพูด การฟัง การเขียนและการอ่าน  ดังนั้นคนยุคใหม่ที่กำลังมองหางาน จึงควรมีทักษะทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการสมัครงานในที่ต่างๆ ฉบับนี้มาเสริมทักษะภาษาอังกฤษกันดีกว่าค่ะแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้น มีชื่อว่า Echo English ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนามาโดยกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชน ที่เน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในรูปแบบสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และระบบปฏิบัติการ Androidเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว ระบบจะให้สร้างบัญชีหรือลงทะเบียนผ่านเฟสบุ๊ค ภายในแอปพลิเคชันจะมี 2 หมวด ได้แก่ หมวด Home ซึ่งจะเป็นหมวดที่เก็บบทเรียนที่ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดบทเรียนนั้นไว้เรียบร้อยแล้ว และหมวด Discover โดยในหมวดนี้จะแบ่งบทเรียนตามความยากง่าย และมีบทเรียนให้เลือกตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้มีความสนใจ อาทิ บทเรียน Can-do A1 จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับการทักทาย บทสนทนาเกี่ยวกับการถามข้อมูล หรือบทเรียน Intermediate จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับระบบขนส่ง บทสนทนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้นหลังจากที่ผู้ใช้สามารถเลือกบทสนทนาที่ต้องการเรียนรู้ได้แล้วให้กดเลือก จะปรากฏหัวข้อบทสนทนาและวิดีโอสอน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีความต่อเนื่องกัน และให้ผู้ใช้กดดาวน์โหลดหัวข้อที่ต้องการ ทั้งนี้ภายในแต่ละหัวข้อบทสนทนาจะแบ่งรายละเอียดออกเป็นดังนี้  บทเรียน การฟัง การพูด การเขียน การทดสอบ และโหมดอัดเสียง ส่วนหัวข้อวิดีโอสอนจะเป็นการสอนแบบลงรายละเอียดในแต่ละประโยคของบทสนทนาส่วนรายละเอียดของหัวข้อบทสนทนา ในเรื่องบทเรียนจะเป็นวิดีโอบทสนทนาตามสถานการณ์ เรื่องการฟังจะเป็นการฝึกฟังทีละประโยค เรื่องการพูดจะเป็นการฝึกพูดโดยให้ผู้ใช้กดปุ่มบันทึกและพูดแต่ละประโยค หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะประมวลผลว่าดีหรือไม่ โดยจะปรากฏผลในรูปแบบคะแนน เรื่องการเขียนจะเป็นการฝึกเติมคำลงในช่องว่างในแต่ละประโยค เรื่องการทดสอบจะเป็นการทดสอบจากการเรียนรู้จากบทเรียนนั้น และเรื่องโหมดอัดเสียงจะเป็นการอัดเสียงขณะพูดแต่ละประโยคของผู้ใช้ เพื่อนำมาฟังได้ภายหลัง แอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นบทเรียนที่ง่าย  ลองดาวน์โหลดมาเรียนรู้และลองใช้เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 Voice Translator แปลภาษาผ่านเสียง

หลังจากแนะนำแอปพลิเคชันแปลภาษาไปพอสมควร ล่าสุดผู้เขียนได้เจอแอปพลิเคชันล่าสุดดูดีมีประโยชน์ จึงขอนำมาแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบกันเจ้าค่ะแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Free Voice Translator ความพิเศษของแอปพลิเคชันนี้คือวิธีการใช้ที่ง่าย โดยภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏภาพธงชาติขึ้นมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้น และนั่นคือสัญลักษณ์ที่แสดงในการเลือกภาษาที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการแปล  การเลือกภาษาสามารถกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลงที่อยู่ข้างใต้ระหว่างสัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและด้านขวา เมื่อกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลง  ภาษาทั้งหมดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏขึ้นโดยมีสัญลักษณ์ธงชาติของภาษานั้นกำกับอยู่ด้วย ซึ่งจะมีภาษาให้เลือกประมาณ 100 ภาษา เมื่อปรากฏภาษาทั้งหมดแล้ว ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านซ้าย ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและกดเลือกภาษาที่ต้องการ  ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านขวา ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านขวาและกดเลือกภาษาที่ต้องการเช่นกัน โดยการแปลภาษาในแอปพลิเคชันนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเลือกภาษาใดก่อนหรือหลัง เพราะสามารถแปลสลับไปมาระหว่างภาษาที่เลือกด้านซ้ายและด้านขวาได้แอปพลิเคชันนี้จะมีสัญลักษณ์วิธีการป้อนคำหรือประโยคอยู่ 2 วิธี ได้แก่ สัญลักษณ์รูปไมค์และสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์ สัญลักษณ์รูปไมค์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง ส่วนสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการพิมพ์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งวิธีการเลือกนั้นให้เลื่อนซ้ายและขวาแต่ขอแนะนำวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก นั่นคือวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง เพียงแค่พูดเป็นประโยคภาษาไทย จากนั้นแอปพลิเคชันจะแปลภาษาที่ต้องการให้ โดยจะปรากฏเป็นคำหรือประโยคที่ป้อนเข้าไปและที่แปลออกมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันยังสามารถกดสัญลักษณ์เสียงหลังประโยคที่ปรากฎนั้น เพื่อให้สมาร์ทโฟนออกเสียงและสามารถยื่นสมาร์ทโฟนให้เจ้าของภาษานั้นฟังได้ทันที บริเวณมุมบนซ้ายของแอปพลิเคชันจะมีสัญลักษณ์สำหรับการตั้งค่าการใช้ของแอปพลิเคชันนี้ไว้ ซึ่งจะมีปุ่มปรับเปลี่ยนความเร็วของการออกเสียงภาษาว่าจะมีความเร็วมากน้อยแค่ไหน การเลือกเสียงที่ออกเสียงว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย และการลบประวัติการแปลภาษาภายในแอปพลิเคชัน แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ ก็ไม่ต้องกลัวการพบปะคนต่างชาติและไม่ต้องเดินหลงทาง(อีกแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอื่นๆ ก็สามารถรับมือได้แน่นอน  เท่านี้จะให้เดินทางไปไหนก็พร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางเลยเจ้าค่ะ แถมเป็นการฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วยนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 Google Translate ตัวช่วยแปลภาษา

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับชาวต่างชาติบินตรงมาจากสหรัฐอเมริกา ต้องสปีค ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ กันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว คุยงาน ทำกิจกรรมทุกอย่าง คงเดากันได้ใช่ไหมคะ ว่าความวุ่นวายสำหรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง จะมีมากมายแค่ไหน บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมากค่ะ บางท่านอาจจะกำลังคิดว่าทำไมไม่หาคนแปลมาช่วย ถูกค่ะ เราหาคนมาช่วยแปลแน่นอน แต่ในบางช่วงเล็กๆ น้อยๆ เราก็ต้องสื่อสารด้วยประโยคภาษาอังกฤษไปบ้างเช่นกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องหา Talking Dict มาเป็นตัวช่วย แต่กว่าจะหาซื้อ กว่าจะกดแต่ละตัวอักษร คงไม่ได้คุยกันแน่  ดีว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยเราได้มาก แค่ยกสมาร์ทโฟนกดค้นหาแอพพลิเคชั่นสำหรับแปลภาษาก็ช่วยได้มากทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักกันดี เป็นของ Google หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมช่วยแปลภาษาบน Google มาบ้างแล้ว แอพพลิเคชั่นได้ย่อมาไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  แอพพลิเคชั่นมีชื่อว่า Google Translate แอพพลิเคชั่น Google Translate  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนสมาร์ทโฟน ภายในแอพพลิเคชั่นมีภาษาครอบคลุมมากกว่า 70 ภาษา ขั้นตอนแรกต้องเลือกภาษาที่ต้องการป้อนและภาษาที่ต้องการให้แปลออกมา จากนั้นจะมีวิธีการป้อนคำต่างๆ ได้ 3 วิธี วิธีที่ 1 สามารถพิมพ์ในรูปแบบคีย์บอร์ดปกติ วิธีที่ 2 สามารถกดรูปเส้นด้านขวามือ เพื่อให้มือเขียนเป็นคำที่ต้องการได้เลย และทางแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อความที่เขียนนั้นอัตโนมัติ และวิธีที่ 3 ระบบเสียง ให้กดรูปไมโครโฟนแล้วพูดเป็นเสียง เพื่อให้แอพพลิเคชั่นจับคลื่นเสียงแล้วอ่านเป็นข้อความให้อัตโนมัติ เมื่อแปลภาษาเรียบร้อยแล้ว ด้านหลังประโยคที่แปลจะมีสัญลักษณ์รูปลำโพง สามารถกดเพื่อให้แอพพลิเคชั่นอ่านออกเสียงให้ฟังได้ด้วย  นอกจากนี้ Google Translate  ยังเก็บข้อมูลที่เคยมีการแปลไว้ให้ด้วย เพื่อช่วยเก็บบันทึกการแปลภาษา เพื่อเอาไว้ใช้งานภายหลัง ข้อสังเกตอันหนึ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ ไม่แนะนำให้แปลประโยคยาวๆ เนื่องจากการแปลประโยคที่ซับซ้อนของ Google ยังได้ผลไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่สามารสรุปใจความได้ในระดับพอใช้ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่น Google Translate ก็ช่วยให้ความไม่เข้าใจในภาษาอังกฤษบางคำ เปลี่ยนมาเป็นสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้พอสมควร แค่นี้ก็ทำให้รู้สึก ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ ได้คล่องขึ้นมานิดนึงล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ไม่น่ารักอ่ะ

เฮ้ออออ..........ที่ต้องอุทานคำนี้เพราะมันเกิดอารมณ์พูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสอ่าน เนชั่นสุดสัปดาห์  ที่พาดหัวคำว่า  “น่อร๊อร์กอะ!” อ่านแล้วรู้สึกงงๆ อยู่ตั้งนาน มันแปลว่าอะไรว่ะจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรแปลไม่ได้ก็ไม่แปล  จนกระทั่งเปิดไปเจอเนื้อหาด้านใน คอลัมน์  “ที่เห็นและเป็นอยู่” หัวข้อสัมภาษณ์  “มาดามมด” จึงได้รู้ว่าภาษาที่พาดหัวหน้าปกอยู่ที่นี่เอง เมื่ออ่านเนื้อหาจึงรู้ว่าเป็นการเขียนเพื่อชื่นชมว่าเธอผู้นี้..เป็นคนที่มีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรกๆ...  เช่น   จะดรีหร๋า.. แต่เว่.....ชีเริดน้า...ไม่นอยอ้ะ....ชีไม่นู๊บ...ชีเป๊ะ......แล้วยังมีการแปลความหมายภาษาเหล่านี้ไว้อีกด้วย เช่น น่ารักอ่ะ.แปลว่าถูกใจใช่เลย จะดรีหร๋า แปลว่า แสดงอาการลังเลไม่แน่ใจ  คือก็โอ แปลว่า ตกลงยินยอมมันก็ดี  อะจริงดิ  แปลว่าใช้พูดเพื่อตอกย้ำความมั่นใจในเรื่องต่างๆ ได้อีก แปลว่า มากๆ มากที่สุด ตลอด แปลว่า บ่อยๆ เป็นประจำ กาก แปลว่า ไม่เก่งไม่ชำนาญ เป็นต้น(ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับภาษาเหล่านี้)หลังจากนั้นก็มีเนื้อหาว่าคุณมาดามมดนี่ เป็นแม่แบบที่น่าภาคภูมิใจของเหล่าผองเพื่อนที่สามารถบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้เองและติดตลาดในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผู้เขียน ไม่ขอติติงมาดามมด  เพราะเธอมีสิทธิที่จะพูดจะแสดงออก จะใช้ภาษาอย่างที่เธอต้องการใช้   แต่ขอติติงสื่อ  ที่นำศัพท์พวกนี้มาเผยแพร่ ตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ  เพียงเพื่อเป้าหมายการตลาด (หรืออะไร!) ที่น่าสะท้อนใจคือบทสัมภาษณ์นี้เป็นไปในแนวชื่นชมส่งเสริมการใช้ภาษา ที่เป็นภาษาเฉพาะตัวของบางคนหรือบางกลุ่ม ราวกับเธอคือสุดยอดแม่แบบแห่งการบัญญัติศัพท์ ถ้าพูดภาษาวัยรุ่นคือ ยกย่องให้เธอเป็นไอดอล แห่งภาษา  ทั้งๆ ที่ภาษาเหล่านี้  “อาจเป็นต้นฉบับที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ” นี่หรือที่วงการสื่อเรียกร้องความอิสระแห่งการสื่อสาร สิ่งที่สื่อควรคำนึงให้มาก(กว่านี้)  คือการสื่อสารเรื่องนี้สื่อต้องการอะไร? และอาจมีผลกระทบอะไรกับสังคมไทยบ้าง?    ผู้เขียนในฐานะคนไทย และเป็นเจ้าของภาษาไทย  มีความภาคภูมิใจ ในภาษาไทย คนหนึ่งรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง  กับบทความเหล่านี้  ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นคนไทยเป็นเจ้าของภาษาไทย  ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรกำกับดูแลสื่อ  ช่วยปกป้องภาษาไทยที่เป็นภาษาแห่งชาติอย่าปล่อยให้คนบางกลุ่มสื่อบางประเภท มาทำให้ภาษาไทยวิบัติ  และเกิดความไม่มั่นคงทางภาษาไปมากกว่านี้ ได้หรือไม่????

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ทำอย่างไรจะเข้าใจภาษา “พยากรณ์อากาศ”

 ท่ามกลางสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบ กับคนทั่วโลก ทั้งเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม ฯลฯ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงมากอย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นอยู่ ไม่ใช่หน้าหนาวมันก็หนาว ไม่ใช่หน้าฝน ฝนก็มา เรียกได้ว่ามันกลับตาลปัตรไปหมดนั้นหลายคนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างตั้งตัวไม่ทัน หลายคนอยู่ในอาการตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และที่ใกล้ตัวที่สุดคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังดีที่สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน แม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ช่วยบรรเทาเบื้องต้นได้บ้าง และด้วยการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนไปจากที่เคยเป็น สิ่งเดียวที่จะทำให้เรารู้การเปลี่ยนแปลงนั้นคงหนีไม่พ้น การรอฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่คอยเตือนประชาชนให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของ ลมฟ้าอากาศคำว่าพยากรณ์ แปลง่ายๆ ก็คือการทำนายทายทักล่วงหน้านั่นเอง แต่เขาทาย(คำนวณ)บนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงเป็นการทำนายที่ค่อนข้างถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการออกมาให้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญ แต่ปัญหาของคำพยากรณ์ในบ้านเราคือการใช้ภาษาสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจยากหรือไม่เข้าใจเลย วันก่อนผู้เขียนนั่งฟังเองแล้วก็งง..เอง เช่น “วันนี้มีฟ้าหลัวตอนกลางวัน” ฟังแล้วงง..ฟ้าหลัวคืออะไร หลัวแล้วเป็นยังไง? ถ้าไม่หลัวแล้วจะเกิดอะไร? ผู้เขียนก็พยายามไปสืบค้นหาคำตอบแล้วก็ได้มาว่า ฟ้าหลัวตอนกลางวันหมายความว่า มีหมอกกลางแดดหรือที่เรียกกันว่า “หมอกแดดนั่นเอง” ซึ่งไม่ได้ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงอะไร (อ้าว....แล้วมาบอกเราทำไม?) อีกหลายคำคือ “ความชื้นสัมพัทธ์กี่ %” “ฝนตกกี่มิลลิเมตร” ฟังแล้วไม่เข้าใจว่าเขากำลังสื่อสารอะไรกับเรา... แล้วหากความชื้นมากจะเกิดอะไร? ความชื้นน้อยจะเกิดอะไร? ฝนตกกี่มิลลิเมตรจึงเรียกว่าปกติ และกี่มิลลิเมตรที่ต้องระวัง กี่มิลลิเมตรที่มีอันตราย?... (และยังมีภาษาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจอีกหลายส่วน) ที่ผู้เขียน เขียนถึงเรื่องนี้เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประชาชน ไม่ใช่แค่มาพูดตามหน้าที่ให้เสร็จๆ ไป และไม่ใช่ให้เรามีหน้าที่แค่ฟัง...แต่เราไม่รู้ว่าอุตุกำลังบอกอะไรเรา...เพราะการสื่อสารของอุตุฯ เกือบๆ จะเรียกได้ว่าเป็นภาษาเฉพาะของคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้นที่ฟังแล้วเข้าใจ ไอ้ชาวบ้านอย่างเราๆ ก็แค่ฟังให้มันผ่านๆ หูไปเท่านั้นที่เล่ามาก็แค่อยากส่งเสียงดังๆ ไปถึงผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่าคำพยากรณ์ของท่านมีความสำคัญต่อประชาชนมากนะ... ได้โปรดช่วยใช้ภาษาสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านเขาฟังแล้วเข้าใจง่ายๆ หน่อยได้ไหม..ว่าสภาพฝนฟ้าอากาศกำลังจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะได้เตรียมตัวได้ทันและรู้ข้อมูลไปพร้อมๆ กัน หนักจะได้กลายเป็นเบา การสื่อสารที่ประชาชนส่วนใหญ่ฟังไม่เข้าใจมันก็เหมือนไม่มีการสื่อสาร เราคิดว่าอุตุฯ ทำได้ ให้กำลังใจนะ เรารอภาษาที่ฟังแล้วรู้เรื่องอยู่จ้ะ

อ่านเพิ่มเติม >