ฉบับที่ 262 เตี๋ยวน้ำในชามเมลามีน

        ภาชนะเมลามีนเช่น จาน ชาม ทัพพี ช้อน ถ้วยกาแฟ ฯลฯ จัดเป็นภาชนะพลาสติกที่มีราคาไม่แพง ทนกรด ทนด่าง ทนทาน (ไม่แตกง่าย) แล้วยังมีน้ำหนักเบา ผลิตให้มีลวดลายหลากหลายตามรสนิยมของแต่ละคน อย่างไรก็ดีภาชนะเมลามีนซึ่งต้องสัมผัสกับอาหารที่เราบริโภคนั้นมีข้อจำกัดบางประการคือ ถ้าอาหารมีความร้อนสูงราว 100 องศาเซลเซียส โอกาสเกิดการแพร่กระจายของฟอร์มาลดีไฮด์และเมลามีนออกสู่อาหารอาจเกิดขึ้น ซึ่งก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้         การสะสมของเมลามีนในร่างกายถึงปริมาณหนึ่งอาจก่อให้เกิดนิ่วในไตซึ่งนำไปสู่มะเร็งที่ไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงไม่สมควรนำภาชนะเมลามีนอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ หรือนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารที่ร้อนจัด เช่น ใส่น้ำขณะที่เดือดจัด ของทอดที่ร้อนจัดซึ่งอาจมีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส เพราะความร้อนทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด (กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แพร่กระจายได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร...ข้อมูลนี้ได้จากเว็บของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช www.phonabon.go.th)         โมเลกุลของเมลามีนเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีสูตร C3H6N6 มีสถานะเป็นผลึกของแข็งสีขาว เมื่อนำเมลามีนมาทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์หรือสารเคมีอื่นๆ จะได้เรซินเมลามีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพลาสติกชนิดทนความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง จึงเหมาะในการนำมาผลิตเป็นแผ่นลามิเนตทนแรงดันสูง เช่น ภาชนะเมลามีน ฟอร์ไมก้า (formica) พื้นไม้ลามิเนต กระดานลบแบบแห้ง (white board) เป็นต้น         เนื่องจากการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีนเป็นไปอย่างแพร่หลาย จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าการใช้ภาชนะนั้นเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารมีความร้อนเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ออกมาของโมเลกุลเมลามีน การได้รับเมลามีนในขนาดต่ำอย่างต่อเนื่องอาจเชื่อมโยงกับโรคนิ่วในท่อไตของเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นในบางประเทศที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงมีการทำวิจัยและรายงานถึงปริมาณเมลามีนในระดับ ppm (ส่วนในล้านส่วน) ที่หลุดออกมาจากชามพลาสติก         บทความเรื่อง Liquid Chromatographic Determination of Melamine in Beverages ในวารสาร Journal of the Association of Official Analytical Chemists ของปี 1987 ให้ข้อมูลในการทดลองเทเครื่องดื่มได้แก่ นมเปรี้ยวเข้มข้น น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว และกาแฟด้วยปริมาตร 220 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสลงในถ้วยเมลามีน โดยให้พื้นผิวเครื่องดื่มอยู่ต่ำกว่าขอบถ้วยด้านบน 5 มิลลิเมตรแล้วปิดปากถ้วยด้วยกระจกนาฬิกาก่อนวางถ้วยนั้นไว้ในอ่างน้ำอุ่นอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที จากนั้นจึงนำเครื่องดื่มไปสกัดและวิเคราะห์หาปริมาณเมลามีนที่แพร่ออกมา ผลการวิเคราะห์พบระดับของเมลามีนปนเปื้อนในเครื่องดื่มที่ 0.45-3.54 ส่วนในล้านส่วน         เมลามีนปริมาณเล็กน้อยตามธรรมชาติอาจถูกตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์และพืช เพราะเมลามีนเป็นอนุพันธ์เกิดจากการสลายตัวของสารกำจัดแมลงคือ ไซโรมาซีน (cyromazine) ดังปรากฏข้อมูลในบทความเรื่อง Residue determination of cyromazine and its metabolite melamine in chard samples by ion-pair liquid chromatography coupled to electrospray tandem mass spectrometry ในวารสาร Analytica Chimica Acta ของปี 2005 ด้วยข้อมูลดังนี้ Codex Alimentarius Commission แห่งสหประชาชาติจึงได้กำหนดปริมาณเมลามีนสูงสุดที่อาจปนเปื้อนตามธรรมชาติในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกไว้ที่ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารคนชนิดอื่นและในอาหารสัตว์ (ข้อมูลจาก Wikipedia)        ชามเมลามีนกับก๋วยเตี๋ยว         การแพร่กระจายของเมลามีนสู่อาหารที่มีความร้อนสูงที่น่าจะเกิดขึ้นตามสมมุติฐานที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น น่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียที่นิยมกินอาหารที่มีความร้อนจัดเช่น แกงจืด ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตรชาวจีนไต้หวันที่ศึกษาถึงโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับเมลามีนที่แพร่ออกมาจากชามพลาสติกเมลามีนที่ใช้ใส่ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบของจีนซึ่งหากินได้ง่ายในไทย         บทความเรื่อง A Crossover Study of Noodle Soup Consumption in Melamine Bowls and Total Melamine Excretion in Urine.ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2013 ได้กล่าวถึงการศึกษานำร่อง (pilot study) ในอาสาสมัครซึ่งมีสุขภาพดี 16 คน (อายุ 20-27 ปี) ซึ่งกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร จากชามเมลามีนในช่วงเช้าวันหนึ่ง โดยมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 1 ครั้งจากผู้เข้าร่วมการศึกษาก่อนกินก๋วยเตี๋ยวหนึ่งครั้งและทุก 2 ชั่วโมงหลังกินก๋วยเตี่ยว ในช่วงเวลา 12 ชั่วโมง (การทดลองนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ทางธรรมชาติ ดังนั้นผู้เข้าร่วมบางคนจึงไม่ได้ถ่ายปัสสาวะทุกๆ 2 ชั่วโมง) หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ความเข้มข้นของเมลามีนในปัสสาวะที่เก็บแต่ละช่วงเวลาของแต่ละคนซึ่งพบว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเมลามีนที่ถูกขับออกมาและสูงสุดที่ 4 ถึง 6 ชั่วโมง จากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ปริมาณเมลามีนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว         ส่วนการศึกษาจริงนั้นได้ให้อาสาสมัครซึ่งระบุว่า ไม่ใช่กลุ่มเดิมจากการศึกษานำร่อง และอย่างน้อย 3 วันก่อนการทดลองต้องไม่กินอาหารจากภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเมลามีน โดยกลุ่มที่ 1 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) อดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร ในชามเมลามีนเป็นอาหารเช้าโดยใช้เวลากิน 30 นาที นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) ที่ได้กินก๋วยเตี๋ยวน้ำชุดเดียวกันแต่ใช้ชามกระเบื้อง (ซึ่งตรวจไม่พบระดับเมลามีน) สำหรับระดับเมลามีนในปัสสาวะถูกวัดโดย triple-quadrupole liquid chromatography tandem mass spectrometry นอกจากนี้ในระเบียบวิธีวิจัยได้กำหนดหลังการศึกษาในช่วงแรกจบ ให้อาสาสมัครทุกคนได้พักโดยไม่กินอาหารจากภาชนะเมลามีนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วกลับมาทำการศึกษาซ้ำโดยสลับกลุ่มกันคือ ให้กลุ่มที่เป็นกลุ่มที่ 1 กินก๋วยเตี๋ยวในชามกระเบื้องแล้วกลุ่มที่ 2 กินก๋วยเตี๋ยวในชามเมลามีน         ผลการศึกษานั้น พบปริมาณเมลามีนรวมในปัสสาวะที่เก็บได้ในช่วง 12 ชั่วโมงเท่ากับ 8.35 ไมโครกรัม (ชามเมลามีน) และ 1.31 ไมโครกรัม (ชามเซรามิก) ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในปริมาณเมลามีนในปัสสาวะจากทั้ง 2 กลุ่ม โดยค่าครึ่งชีวิตโดยประมาณของการกำจัดเมลามีนในปัสสาวะคือ 6 ชั่วโมง (หมายความว่า ความเข้มข้นของเมลามีนในเลือดลดลงเหลือครึ่งหนึ่งทุก 6 ชั่วโมง จนสุดท้ายที่ระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านไป จะไม่สามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจพบเมลามีนได้)         มีการระบุในผลการศึกษาว่า ชามเมลามีนที่ใช้ในการศึกษาทั้ง 2 ครั้งถูกเลือกมาจาก 5 ยี่ห้อ โดยปริมาณเมลามีนที่ปล่อยออกมาแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ ทำให้ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แม้ว่ามีการขับเมลามีนออกมาในปัสสาววะของอาสาสมัคร แต่ก็มีค่าความเบี่ยงเบนสูง ดังนั้นผลการศึกษาที่พบว่า จานยี่ห้อหนึ่งปล่อยเมลามีออกมานั้นไม่ได้หมายความว่า จานยี่ห้ออื่นต้องปล่อยเมลามีนออกมาด้วยเมื่อใส่อาหารที่ร้อนจัด         สำหรับสถานะการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของภาชนะพลาสติกเมลามีนนั้นมีบทความเรื่อง การสำรวจเบื้องต้น : คุณภาพของเครื่องใช้ในครัวเรือนพลาสติกเมลามีน ในวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Bulletin of Applied Sciences) ในปี 2016 นั้น นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สุ่มตัวอย่างเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 71 ตัวอย่าง แยกตามประเทศผู้ผลิตได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม และที่ไม่ระบุแหล่งผลิตเป็น 20, 36, 2 และ 13 ตัวอย่างตามลำดับ ซึ่งเมื่อตรวจสอบชนิดของพลาสติกเมลามีนด้วยเทคนิค Fourier transform infrared spectroscopy (FT-IR) พบว่าเป็นพลาสติกเมลามีนชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 21 ตัวอย่าง ชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ 8 ตัวอย่าง และชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 42 ตัวอย่าง         ผลการสำรวจพบว่า ภาชนะชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 62 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 16.0-797.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.0-455.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) สำหรับพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 22.2-12,193.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.1-16.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ส่วนพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 88 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์และปริมาณเมลามีนในช่วง 15.2-5,247.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.7-26.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่า เครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีปริมาณเมลามีนและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นการนำเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนมาใช้งานควรให้ความระมัดระวังในการใช้.................................        มาตรฐานของภาชนะเมลามีน        -ยุโรปมีข้อบังคับ EU Regulation No. 10/2011 on plastic material and articles intended to come into contact with food กำหนดปริมาณเมลามีนไม่มากกว่า 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่มากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        -มาตรฐานประเทศไทย มี 2 มาตรฐาน คือ ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน มอก. 524-2539 กำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์โดยเทียบกับสารมาตรฐาน 4 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร แต่ไม่ได้กำหนดปริมาณสารเมลามีน และประกาศกระทรวงสาธารณะสุขฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะที่ทำจากพลาสติกซึ่งกำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >