ฉบับที่ 258 เฝ้าระวังสาธารณภัยผ่าน Thai Disaster Alert

        สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมาคู่กับการเกิดลมมรสุมหรือเกิดพายุพัดผ่านตลอด ดังนั้นการติดตามข่าวสารเพื่อแจ้งเตือนเรื่องพายุเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเกิดพายุพัดผ่านบริเวณใดจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการฝนตกหนักเบาตามลำดับ จนอาจกลายเป็นภัยธรรมชาติตามมาได้         ด้วยหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อติดตามจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากน้ำ บรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย จึงได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสาธารณภัยนี้โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thai Disaster Alert โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยข่าวสารสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแบบ Real Time ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันได้ทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ทันท่วงทีในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตนเองและทรัพย์สินก่อนที่ภัยจะมาถึง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง         เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลเพศ วันเดือนปีเกิด ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้เลือกจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัยได้ 3 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายหลัง และเลือกตั้งค่าเปิดสิทธิ์เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Service) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฎหมวดหมู่ ได้แก่ สัญลักษณ์กระดิ่ง สัญลักษณ์แผนที่ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) สัญลักษณ์โทรศัพท์ และสัญลักษณ์รูปคน         สัญลักษณ์กระดิ่ง จะแสดงข่าวสารการแจ้งเตือนโดยเรียงข่าวล่าสุดอยู่ด้านบนสุด เป็นข้อความสั้นๆ กระชับ และมีเอกสารอ้างอิงของข้อมูลนั้นๆ มุมบนขวาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูแหล่งที่มาได้ทันที ในหน้านี้จะมีเมนู 2 เมนูเพิ่มเติม ได้แก่ เมนูแจ้งเตือนในพื้นที่และเมนูแจ้งเตือนล่าสุด โดยเมนูแจ้งเตือนล่าสุดจะสามารถเลือกค้นหาข่าวตามช่วงวันเวลาต่างๆ ได้ตามต้องการ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนภาษาที่แสดงบนแอปพลิเคชันได้ที่หน้านี้         สัญลักษณ์แผนที่จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย โดยจะขึ้นแสดงเป็นแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้นว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยบ้าง ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกจังหวัดบนแผนที่ เพื่อดูการแจ้งเตือนเฉพาะจังหวัดได้ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) เป็นหมวดสำหรับปรับเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัย สัญลักษณ์โทรศัพท์เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง กองปราบปราม ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์ กทม. ศูนย์ควบคุมจราจร แจ้งเหตุเพลิงไหม้ แพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น และสัญลักษณ์รูปคนจะเป็นหน้าสำหรับแก้ไขข้อมูลส่วนตัว         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอแนะนำว่าประชาชนที่สนใจโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มาติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมในการรับมือไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายได้ทันเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 หมวกนิรภัยสำหรับนักปั่น

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน         คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ         คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น         องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น         ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ         นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น         จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท        ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย        · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ  เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน  ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย        ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา         บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน         ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point


ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ซื้อบ้านจัดสรรเจอภัยพิบัติบ้านชำรุด เคลมประกันได้ไหม

        ช่วงนี้สถานการณ์โควิดระบาดก็ว่าแย่แล้ว ยังมีเรื่องซ้ำเติมหลายๆ คนกับเหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในสมุทรปราการเกิดระเบิด จนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกายและสุขภาพ และแน่นอนว่าในบริเวณดังกล่าวมีบ้านเรือนประชาชนอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ไปสร้างในบริเวณใกล้โรงงาน ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านในโครงการใกล้โรงงานก็ได้รับผลกระทบความเสียหายในบ้านเรือนมากมาย ต้องการการซ่อมแซมบ้านอย่างเร่งด่วน ด้วยเชื่อว่ายังอยู่ในระยะประกันตามสัญญา แต่ปัญหาที่พบคือ “ประกันที่ทำของโครงการ อ้างว่าไม่ครอบคลุมความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ”  ผมจึงอยากหยิบยกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของบ้านจัดสรรมาฝากกันครับ         ก่อนอื่น ทราบกันหรือไม่ จริงๆ พวกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านของพวกโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ต้องดำเนินการตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน มาตรา 34  ซึ่งถือได้ว่าเป็น “แบบสัญญามาตรฐาน” ถ้าโครงการใดไม่ใช้สัญญามาตรฐานนี้ หรือมีการไปใส่ ดัดแปลง ตัดทอนเรื่องสำคัญ ให้มีเนื้อหาแตกต่างจากสัญญามาตรฐาน จะมีผลคือ เจอโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และข้อสัญญาที่แตกต่างจากสัญญามาตรฐานก็จะไม่มีผลบังคับใช้ด้วย         ในเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของแบบสัญญามาตรฐาน กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ข้อ 11 ระบุว่า เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้จะซื้อแล้ว ผู้จะขายต้องรับผิดในความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ  โดยกรณีโครงสร้างของอาคารได้แก่ เสาเข็ม ฐานรก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังที่รับน้ำหนัก ภายใน 5 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์  กรณีส่วนควบ เช่น ประตู หน้าต่าง กระจก รวมถึงรั้ว กำแพง ภายใน 1 ปีนับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์           มีข้อสังเกต ว่าตามแบบสัญญามาตรฐานดังกล่าว ไม่ได้ระบุเลยว่า ความรับผิดในความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้น จำกัดเฉพาะกรณีเกิดเหตุจากการก่อสร้างของผู้ขายเท่านั้น อย่างไรก็ดี พบว่าในทางปฏิบัติหลายโครงการมักไปเขียนข้อสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรให้ตัวเองรับผิดชอบในความชำรุดเฉพาะในกรณีที่เกิดจากเหตุการก่อสร้างของตนเท่านั้น  เพื่อจะอ้างไม่รับผิดชอบกรณีความเสียหายจากบุคคลภายนอกหรือภัยพิบัติ   เช่นนี้เห็นได้ว่าการเขียนข้อสัญญาลักษณะนี้ ถือว่าเข้าข่ายเขียนข้อสัญญาที่ขัดหรือแตกต่างต่อแบบของสัญญามาตรฐาน เป็นข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง จนสร้างภาระให้ผู้ซื้อเกินสมควร อาจเข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีผลบังคับและควรถือว่าสัญญาดังกล่าว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแบบสัญญามาตรฐานเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค ที่ควรได้รับความคุ้มครองในกรณีเกิดความชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ          ในเรื่องความชำรุดบกพร่อง ก็มีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กรณีซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แม้จะไปตรวจบ้านก่อนรับโอน แต่ในส่วนโครงสร้างที่ผู้ซื้อไม่เห็นประจักษ์ถึงความชำรุดตอนส่งมอบ เมื่อต่อมารับโอนแล้วพบ ผู้ขายก็จะต้องรับผิดชอบ จะบอกปัดโดยอ้างว่าผู้ซื้อไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนรับโอนไม่ได้ ตามแนวคำพิพากษาฏีกา ที่ 17002/2555          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555        การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าว จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)          กรณีซื้อบ้านใหม่อยู่ไม่ถึงปี พบชำรุดหลายจุดจนไม่อาจอยู่อาศัยได้ ก็ถือว่าเป็นความชำรุดที่ทำให้เสื่อมประโยชน์ใช้สอยตามปกติคือซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ถือเป็นการชำรุดก่อนเวลาอันควร ไม่ใช่เรื่องชำรุดบกพร่องจาการใช้สอยตามปกติ เช่นนี้ ผู้ขายก็ต้องรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2543         โจทก์ทั้งสามซื้อทาวน์เฮาส์หลังพิพาทมาในสภาพใหม่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากจำเลย และเข้าอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ได้เพียง 6 เดือน ก็เกิดความชำรุดบกพร่องในส่วนสำคัญหลายรายการ จนไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขหรือเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติต่อไปได้ เป็นการชำรุดบกพร่องก่อนเวลาอันสมควร จึงหาใช่เป็นเรื่องที่ความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจากธรรมชาติของการใช้สอยไม่ จำเลยผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทาวน์เฮ้าส์นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 472

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 เบาะกันกระแทก (จบ)

        ไม่ใช่แค่อายุกับอาชีพเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกประกันภัยอุบัติเหตุ เมื่อมันคือการจ่ายเงินเพื่อประกันความไม่แน่นอนในอนาคต เงินที่จ่ายออกไปก็ควรคุ้มค่าที่สุด คุณจึงต้องใส่ใจกับเบี้ยประกันเพราะมันสัมพันธ์กับทุนประกันหรือการคุ้มครองที่จะได้กลับมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ         แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ และแน่นอนด้วยว่าใครๆ ก็อยากการคุ้มครองมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน บริษัทประกันมีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ตัวเราเองก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วย เช่น นิสัยการขับขี่รถ กีฬาที่ชอบเล่น ผาดโผนมากก็เสี่ยงกว่านั่นแหละ หรือคุณมีภาระรออยู่ข้างหลังหรือเปล่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น         สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่าเบี้ยประกันและทุนประกันที่เหมาะสมกับตัวเราควรเป็นเท่าไหร่         ต้องไม่ลืมด้วยว่าการประกันภัยอุบัติเหตุเน้นคุ้มครองความเสี่ยงพื้นฐานทั่วไป มันจึงมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่คุ้มครองซึ่งจะกำหนดอยู่ในกรมธรรม์ เช่น การเข้าร่วมการทะเลาะวิวาท การจลาจล หรือการโดยสารพาหนะที่คนทั่วไปไม่ใช่กันอย่างเฮลิคอปเตอร์ รายละเอียดพวกนี้ต้องอ่านให้ดี         แต่อีกด้านหนึ่งเราก็สามารถขยายความคุ้มครองได้ (ถ้ามีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้เพียง 5 กรณี ได้แก่        1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์        2.การจลาจล การนัดหยุดงาน        3.การสงคราม        4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ (เช่นเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ)        5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย         แล้วอย่าลืมดูด้วยว่าบริษัทประกันที่คุณซื้อมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือข่ายประกันอุบัติเหตุครอบคลุมแค่ไหน         สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ บริษัทประกันคือธุรกิจ คุณในฐานะผู้ซื้อประกันคือผู้บริโภค บริการหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาประกอบด้วย จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อแบบที่มักเห็นตามข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เดินทางปลอดภัยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

        ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน  ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย         ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย  และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก         ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง  จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์        แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ        เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้         ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้        ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย         การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

        กลับมาแล้วจ้า ผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์ซีท) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้โดยเก็บตัวอย่างคาร์ซีทรุ่นยอดนิยมที่วางตลาดในยุโรปในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 คราวนี้ให้เลือกพิจารณากัน 19 รุ่น โดยการทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง คะแนนรวมคิดจากคะแนน 3 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัย ได้แก่ ประสิทธิภาพการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น (ร้อยละ 50) ความสะดวกในการใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้ง√ใช้งาน√ปรับระยะหรือขนาด√ทำความสะอาด (ร้อยละ 40)การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น (ร้อยละ 10)นอกจากนี้ยังตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก เป็นต้น         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบคราวนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 6,000 ยูโร (ประมาณ 222,000 บาท) โดยเฉลี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถ

        เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากประกันภัยรถยนต์ บางทีต้องรอให้ปัญหาปะทุและผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบอยู่นาน กว่าที่จะได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งผู้บริโภคเองต้องอย่าเพิกเฉย แม้บางครั้งการร้องเรียนอาจจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การร้องทุกข์หนึ่งครั้ง เชื่อเถอะว่า สามารถได้ผลกว่าการบ่นพันครั้งแน่นอน        ขณะคุณปิยบุตรกำลังชะลอรถยนต์ของตนเพื่อหยุดตรงไฟแดงเมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเหลือง แต่รถกระบะซึ่งตามมากลับชนรถยนต์ของคุณปิยบุตรเพราะไม่อยากจะหยุดรถที่สี่แยก โชคดีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะที่รถยนต์ คุณปิยบุตรปลอดภัย แต่ก็ต้องปวดหัวเพราะต้องวุ่นวายกับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายหนัก        แม้ทางคู่กรณีคือรถกระบะ ยอมรับผิดและมีประกันภาคสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้แจ้งรายละเอียดของอู่ต่างๆ เพื่อให้คุณปิยบุตรนำรถยนต์ไปซ่อมแซม (กรณีนี้คุณปิยบุตรต้องพึ่งอู่ที่ทางตัวแทนประกันภัยเสนอ เนื่องจากรถยนต์ของตนเองไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจมีเพียง ประกันตาม พ.ร.บ.เท่านั้น) แต่พอไปตามอู่ต่างๆ ที่ตัวแทนประกันภัยระบุ กลับถูกปฎิเสธจากหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ จึงมีอู่หนึ่งรับซ่อมแซมให้ซึ่งใช้เวลาในการซ่อมแซม 8 วัน คุณปิยบุตรจึงนำรถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ        ทางตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้จ่ายค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ให้กับคุณปิยบุตรเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ซึ่งจ่ายตามระยะเวลาที่รถยนต์อยู่ในการซ่อมแซมของอู่บริการ ทำให้คุณปิยบุตรสงสัยว่า แล้วระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ตนไม่ได้ใช้รถยนต์เพราะไม่มีอู่ไหนรับซ่อมแซมให้ ทำไมตนถึงไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงเวลานั้น แนวทางแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณปิยบุตรถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของคณะอนุกรรมการ คอบช. และได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งต่อมา ทางคปภ.ได้ปรับปรุงเรื่อง ความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัยและอยู่ระหว่างนำรถยนต์เข้าซ่อมแซม ดังนี้        รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท        รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท         รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท         “หากฝ่าฝืน มีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่า บริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”         ที่มา คปภ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 อ่านกรมธรรม์ประกันให้ละเอียดป้องกันการเสียประโยชน์

        การทำประกันภัย ประกันชีวิต คุณจะละเลยการอ่านรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือมีความผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่พึงได้         คุณลลิตา กังวลใจมากเมื่อพบว่า ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จากการที่เธอทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่งได้รับมานั้น มีการสะกดนามสกุลผิด เธอจึงรีบทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทันที เพื่อให้บริษัทฯ แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก         แต่เรื่องกลับเงียบหาย เธอส่งจดหมายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และรอการติดต่อกลับจนล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2561 ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากบริษัทประกันภัย “ดิฉันพยายามแจ้งกับตัวแทนของบริษัทรถยนต์ที่ดิฉันเช่าซื้อ เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องให้ เขาก็รับปาก” ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ ก็ไม่มีความคืบหน้า คุณลลิตาจึงขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ไว้ เกรงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามเรื่องที่คุณลลิตาเคยทำไปถึงบริษัทประกันภัยและขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมกับทำสำเนาแจ้งไปที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  ซึ่งต่อมาก็ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์ให้ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดต่อไปที่คุณลลิตาผู้ร้อง ได้รับการยืนยันว่าทางบริษัทประกันภัยได้ส่งกรมธรรม์ใหม่ที่ได้แก้ไขชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้แล้วจริงหากผู้บริโภคท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย เบื้องต้นควรทำหนังสือขอให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมแนบสำเนาดังกล่าวส่งไปให้หน่วยงาน คปภ. ช่วยเหลือด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค

รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ รถทัวร์สองชั้นไม่ประจำทาง ที่เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเพิงพักของชาวบ้านข้างทาง บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย นั้น  ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก และหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ต่างพูดกันถึงอนาคตรถสองชั้นว่าจะไปยังไงต่อ อย่างกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางกำหนดการให้บริการของรถโดยสารหมวด 30 (สามศูนย์) หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยเฉพาะรถสองชั้นที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 คัน โดยให้มีการกำหนดเส้นทาง รวมทั้งพื้นที่ให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น การจำกัดว่าเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยจะไม่อนุญาตให้ทำการวิ่งโดยเด็ดขาด หรือ จำกัดให้วิ่งเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงยังมีประเด็นผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสาธารณะทั่วไปอีกว่า ในปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากท้องถนนในประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหารถสองชั้นของกระทรวงคมนาคมที่สั่งกรมการขนส่งทางบกให้คิดแผนจัดการออกมา รวมถึงไม่มีการแก้ไขข่าวสารที่สื่อมวลชนระดมว่าปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากประเทศไทยด้วยจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงานี้ ผู้บริโภคจะต้องรู้อะไรบ้าง เพราะผู้บริโภคยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงกันเอง และคาราคาซังกันต่อไปว่า รถสองชั้นปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวนขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถสองชั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อมูลว่า รถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียว ถึง 8 เท่า และรถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 10 เท่า โดยเป็นการเทียบจำนวนอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน หรือที่เรียกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คันนอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาเชิงลึกจากสถิติอุบัติเหตุรถสองชั้นพบว่า รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด และยังพบอีกว่าในรถสองชั้นเมื่อเกิดการพลิกคว่ำจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ารถชั้นเดียว ถึง 3 เท่า ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ 8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง แต่อย่างไรก็ดี การจะผลักดันและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อในประเด็นรถสองชั้นให้มีผลในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย อีกทั้งผู้แทนกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงที่มาร่วมเวทีก็ยังไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า จากข้อเสนอ 8 ข้อ มาตรการอะไรบ้างที่กรมการขนส่งทางบกจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหารถสองชั้น แต่กลับกันสิ่งที่คิดว่าได้รับคำตอบชัดเจนและคลายข้อสงสัยได้ คือ ในปี 2563 จะยังมีรถสองชั้นวิ่งอยู่ ไม่ได้หมดไปตามที่ข่าวลงไว้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 4 สงสัย 2 ส่งต่อ : วิธีจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยให้อยู่หมัด

การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4.  สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >