ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมื่อผู้ค้ำประกันถูกฟ้องให้ใช้หนี้

คุณสุภาพร  พันธุ์เลิศวิไล เป็นผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณพ่อ  เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำหนังสือแจ้งขอพักชำระหนี้ถึงบริษัทฯ  แต่บริษัทฯ ไม่ตอบ คุณสุภาพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงผ่อนชำระต่อ  แต่กลับถูกบริษัทฟ้องคดี  เธอเล่าเรื่องราวให้ฉลาดซื้อฟังว่า         หนูเป็นผู้ค้ำประกันให้คุณพ่อค่ะ ทีนี้เราผ่อนชำระมาเกินครึ่งทางแล้ว แล้วมีสถานการณ์โควิดรอบแรก คุณพ่อเลยไปทำหนังสือขอพักชำระหนี้หกเดือน เสร็จแล้วพอยื่นไปใช่ไหมคะ บริษัทเขาก็มีการเซ็นต์รับทราบกลับมาค่ะ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ร่วมโครงการ (โครงการพักชำระหนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้) หรืออะไร ทีนี้พอมันใกล้ๆ ถึงกำหนดชำระที่เราขอยื่นไป เขาก็โทรมาแจ้งว่าเขาไม่ได้ร่วมโครงการนะ พอเขาไม่ได้ร่วมเราก็ต้องส่งต่อใช่ไหมคะ เราก็ส่งต่อไปประมาณสักสองเดือน สองสามเดือนนี่แหละค่ะ         หลังจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันว่าขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แล้วขอให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ประมาณแสนนิดๆ เราเห็นแล้วว่าเราจ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าจะให้เราจ่ายอีกแสนกว่าบาทก็คิดว่าเรามีเงินก้อนอยู่สำหรับมาเติมตัวนี้ได้ น่าจะปิดดีลรถคันนี้ได้ เราก็เลยไปเจรจาตั้งแต่วันที่เขาส่งจดหมายแจ้งมาเลยว่าขอปิดยอดรถคันนี้ โดยที่จะเอาเงินสดไปจ่ายให้ ทางบริษัทเขาอยากให้เราไปเจรจาก่อน เขาก็พูดว่าถ้าไปเจรจาลดได้เยอะ อย่างโน้นอย่างนี้            เราคุยกับพนักงานของบริษัทใช่ไหมคะ         ใช่ค่ะ พอเราไปถึงบริษัทเราไปดูยอดจริงๆ ปรากฎว่ายอดของเขามันไม่เคยตรงกับยอดที่เราส่งเลย เพราะว่าเขาหักต้นหักดอกแบบไม่ใช่ร้อยละ 15 ตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งเขาบอกว่าการหัก การคิดของเขามันเป็นการคิดทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็บอกว่ามันควรจะเหลือยอดเท่านี้สิ เราขอจ่ายยอดเท่านี้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าสองปี ก็ไม่ควรที่จะคิดดอกเบี้ยเรา แต่เขาก็ไม่ยอมลดค่ะ พอไม่ลดเราก็จ่ายของเราปกติก็คือไม่เจรจาแล้ว เราก็ผ่อนของเราไปตามปกติ พอเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คือเท่ากับผ่อนหลังโควิดมาประมาณสี่ถึงห้างวดแล้วนะคะ พอเดือนมกราคมเขาก็ไปฟ้องศาล ฟ้องขอรถคืนหรือให้ชำระราคารถ         ทั้งที่เราผ่อนส่งตามปกติแต่เขาก็ยังเดินหน้าฟ้องเรา        เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนที่เข้าไปเจรจา เขาก็โอเค ไม่ได้ปิดยอด เราก็ผ่อนไปตามปกติ แต่เขาฟ้องคดีค่ะ ทนายที่คุยด้วยบอกว่าฟ้องแล้วก็ให้เราไปเจรจาในศาลแทน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว อยากจะไปเจรจาเพื่อปิดยอดรถคันนี้ในศาลแทน เพราะว่าศาลท่านลดให้มากกว่า ถูกไหมคะ คือศาลท่านจะเมตตากว่า อะไรที่มันเกินความเป็นจริง เขาจะไม่ได้มาคิดจากเราไม่ได้หรอก         ทีนี้พอขึ้นศาล นัดแรกเลย ขึ้นไปนัดเดียวนะคะ ศาลบอกว่าท่านสามารถพิพากษาให้ได้ว่าจ่ายตามที่เราต้องการได้ แต่รู้ไหมว่าบริษัทไม่ยอมโอนรถให้ ศาลท่านพูดแบบนี้ ศาลพูดขึ้นมาให้ก่อนเลย คือศาลคำนวณมาให้คร่าวๆ เลย ก็ตรงกับที่เราคำนวณไป คือเราทำการบ้านคำนวณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ตรงกันใกล้เคียงกันมากเลย ผู้พิพากษาท่านก็พูดว่าเคสแบบนี้บริษัทไม่โอนหรอก ท่านไม่ได้เจอมาเคสแรกนะ  ท่านเจอมาหลายเคสแล้ว ทนายบริษัททำหน้างงว่า ไม่นะเขาเคยได้ ศาลก็บอกไม่จริงไม่เชื่อให้โทรถามที่บริษัทเดี๋ยวนี้เลยว่าโอนหรือไม่โอน ให้ทนายโทรหน้าบัลลังก์เลย แล้วทางบริษัทก็บอกว่าไม่โอนให้จริงๆ ด้วย         บริษัทให้เหตุผลว่าอย่างไรคะ         ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทนายบอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคสเป็นอย่างนี้ไม่โอนรถให้ ซึ่งเราไม่เชื่อไงว่าไม่รู้ แต่เราก็ไม่อะไรนะเพราะว่าเราทำตามศาลท่านมีคำวินิจฉัย ศาลบอกให้ไปคุยเลยให้ไปคุยกับที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ส่งผู้แทนคือคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ไปกับเราด้วย  พอไปคุยแล้ว ทางเราบอกตัวเลขไป เขาไม่โอเค เราก็เลยบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ คืนรถไปเลย         บริษัทกำหนดให้เราจ่ายเท่าไหร่         เขาก็ยังให้ตัวเลขมาเท่าเดิมกับที่เจรจาครั้งแรกก่อนไปศาลอยู่ดี ตัวเลขที่เราคุยกับเขารอบแรก มีการบอกว่านี่เป็นยอดหลังฟ้อง นี่เป็นยอดก่อนฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าคุณจะให้เป็นยอดไหนเราก็ไม่โอเคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาลดให้หนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เราก็จ่ายดอกเบี้ยมาให้เยอะแล้ว สรุปคือเราเอารถไปคืนแล้ว ตอนนี้เขากำลังทำเรื่องถอนคดี         ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการขายทอดตลาดนั้น ในกรณีเราก็คือ ในส่วนของค่าขาดประโยชน์ ก็คือจะเป็นแค่ในช่วงที่รถอยู่กับเรา อันนี้เราก็จ่ายปกติคือเราจ่ายไปแล้ว แล้วบริษัทคุณรับเงินในตรงนั้นไปแล้ว โดยไม่แจ้งอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเราเลย จุดนี้คือถือว่ามันเป็นลาภไม่ควรได้ที่บริษัทจะได้อยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องหักกันตั้งแต่ตอนที่คุณบอกว่าไม่เอาไม่ให้จ่ายแบบนี้ แล้วก็ยกเลิกสัญญาไป ถูกไหมคะ ไม่ให้ผ่อนผันตอนโควิด  แต่ว่าคุณให้เราผ่อนมาตลอดๆ ตอนนั้น         ฝากบทเรียนต่อผู้บริโภคท่านอื่นๆ         อยากจะฝากว่าการคำนวณเรื่องค่างวด ค่าดอกเบี้ย  เราต้องคำนวณของเราไว้เองด้วย โดยที่ว่าเขามีในเอกสารมาว่า เวลาที่เราผ่อนชำระต่อเดือนเท่านี้ มันจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์อะไรของเขา คือเราก็ทำตามสูตรเขานั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ถ้าเขามาอ้างตัวเลขกับเรา เขาก็จะบอกว่าเป็นหักเงินต้นแค่เท่านี้หักดอกแค่เท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะว่าอัตราของเขามันคือ อัตราคงที่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเท่ากันทุกเดือน มันไม่ใช่ลดต้นลดดอก ตรงนี้ต้องตามเขาให้ทัน แล้วตอนนี้มีกฎหมายใหม่ที่ออกมาแล้ว ว่าต้องมีการลดต้นลดดอก         แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นข้ออ้างของบริษัทคือ เขามักอ้างว่า รถแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคล มันไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อคดีที่เขาฟ้องเรามันก็เป็น “คดีผู้บริโภค” เหมือนกัน อย่างแรกเลยคุณใช้กฎหมายตัวไหนในการฟ้องคดีผู้บริโภค เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ คนที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบเรา หรือจะเป็นคนที่เป็นลูกหนี้เองก็ตาม ถ้าหากว่าเราจ่ายหรือทำอะไรไปเช่นการเจรจา คุณก็ต้องเก็บหลักฐานตรงนั้นไว้ให้หมดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือสัญญาต่างๆ เราต้องเก็บไว้ทั้งหมดเก็บทุกเดือน หรือสิ่งที่เรายื่นอะไรให้ทางบริษัท แล้วบริษัทเซ็นรับทราบกลับมาเราก็เก็บเอาไว้ ตอนก่อนที่จะเอารถไปคืน ก็เช็คสภาพมาอย่างไรโดยมีช่างให้หนังสือรับรอง (จริงๆ กรณีของเราก็ไม่ได้บอกที่บริษัทนะว่าเราเช็คสภาพรถมาก่อนคุณอีก แต่เราทำเช็คสภาพเผื่อไว้ก่อน) แล้วถ้าบริษัทเขาเช็คส่วนอะไรบ้าง เราก็ต้องคอยดูเขาเพื่อเปรียบเทียบกัน เออ...ตอนมามันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องมีการยืนยันกับเขาได้ แล้วหลังจากนี้เมื่อบริษัทถอนฟ้องเสร็จแล้ว   เราควรจะต้องไปคัดสำเนาถอนฟ้องไว้นะคะ         การเป็นผู้ค้ำประกันต้องดูละเอียดแบบเดียวกับคู่สัญญาเลยนะคะ             อย่างแรกเลยคือคงต้องมองที่บริษัท เพราะว่าพูดตามตรงนะคะว่าตรงนี้ก็พลาดไปเหมือนกัน เพราะว่าคุณพ่อเขาก็ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาเลย นอกจากการชักชวนกันไปแล้วบอกว่าอันนี้โอเค แต่จริงๆ แล้วเราควรดูข้อมูลบริษัท เพราะบริษัทพวกนี้มันมีตั้งเยอะแยะเราสามารถเลือกได้ ถ้าเราไม่โอเคกับบริษัทนี้ เราเป็นผู้ค้ำประกันก็คงจะบอกได้ว่าอย่าไปทำกับบริษัทนี้เลยไปทำกับที่อื่นดีกว่า         พอรู้ว่าจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ควรที่จะหาข้อมูล หาข้อมูลทั้งบริษัท หาข้อมูลทั้งคนที่เราจะค้ำประกันให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ญาติ ควรจะเก็บเอกสารทุกอย่างให้ดี คือถ้าเป็นผู้ค้ำประกันคงต้องคอยติดตามลูกหนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มาผู้ค้ำก็เดือดร้อน กรณีนี้คือเป็นคุณพ่อเราสามารถคุยได้ว่าเอกสารเอามาให้เราเก็บนะ เอกสารอยู่ที่ไหน อะไรอย่างไร แต่ถ้าเกิดเขาเป็นผู้ค้ำอย่างเช่นช่วยเพื่อนอย่างนี้ จะได้ติดตามเรื่องว่าเอกสารเรียบร้อยไหม หรือถ้าเพื่อนไม่ได้ชำระตามเวลาเราจะได้ไปตาม จริงๆ การเป็นผู้ค้ำก็ต้องใส่ใจเขานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นผู้ค้ำแล้วจบ         ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ก็ควรที่จะเผชิญหน้าสู้กับมัน คุณมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ปรึกษาผู้ที่รู้ ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ค่ะ เราไม่ควรจะหนีหนี้ ทุกอย่างมันมีทางออก แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะได้เริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พอเราตั้งต้นใหม่ได้เร็ว ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับมัน

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง

        ปัญหาบอส กระทิงแดง ทำให้ย้อนกลับมาคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นอกเหนือจากตำรวจและอัยการ ที่ต้องการปฏิรูป ลดขั้นตอน สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การฟ้องศาลยังเป็นเรื่องยุ่งยากต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  คดีผู้บริโภคมีผู้ประกอบการฟ้องคดีมากกว่าผู้บริโภคดำเนินการฟ้องเอง จนถูกข้อครหาว่าช่วยทวงหนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังเป็นความจริง ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากฎหมายได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั่นคือ“พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551” ที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคเรียกว่า“กฎหมายช่วยฟ้อง”          หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองกล่าวคือเมื่อถูกละเมิดสิทธิสามารถเอาหลักฐานความเสียหายที่มีไปศาลฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องจากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย         กฎหมายช่วยฟ้องยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการโดยกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบการ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ         ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองโดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานของคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิตตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค         สามารถมีคำพิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้ผู้ถือหุ้นมาร่วมรับผิดชอบ มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดกฎหมายซ้ำหรือยุติการเอาเปรียบผู้บริโภค เท่ากับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ การฟ้องคดีไม่ใช่การตั้งรับเยียวยาความเสียหายเพียงอย่างเดียว โดยสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท และมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าจริงจากบทเรียนกรณีการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้จันทบุรีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งเพื่อการลงโทษที่ชัดเจน https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/public-society/4256-611004van.html         ผู้บริโภคสามารถทำได้จริงเมื่อใช้สิทธิกับผู้ประกอบการแล้วไม่สำเร็จ เช่นตัวอย่างฟ้องร้านทองของผู้บริโภคที่รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำกำหนด บริการส่งอาหารไม่เป็นธรรม ซื้อที่นอนออนไลน์แล้วถูกฉ้อโกง สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา ใช้บริการรถโดยสารแล้วประสบอุบัติเหตุ จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใช้บริการโรงพยาบาลแล้วราคาแพง หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ         หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรม ฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมมากขึ้นกับผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยกันตรวจสอบว่าทำได้จริงมั้ย เพื่อช่วยป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นระบบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยฟ้อง

อ่านเพิ่มเติม >

รวมพลังฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทำได้จริง!

“กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” เป็นกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2558  จุดเด่นของกฎหมายคือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหาย แล้วยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ และเมื่อมีคดีระดับสาธารณะเกิดขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงเริ่มทดสอบกระบวนการฟ้องร้องแบบกลุ่ม โดยประเดิมด้วยคดีกระทะยี่ห้อโคเรียคิง...อันเป็นข่าวโด่งดังในระยะเวลาที่ผ่านมา และคราวนี้ฉลาดซื้อจะพาท่านไปติดตามความในใจของผู้บริโภค 4 ท่าน จากผู้ร่วมฟ้องทั้งสิ้น 74 ราย ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจร่วมฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.60 ศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก) นัดไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่ม กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับผู้เสียหาย 74 ราย ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม กับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เหตุจำหน่ายกระทะ (กระทะยี่ห้อโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์ (Diamond Series) และรุ่นโกลด์ (Gold Series)) ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามโฆษณา เรียกค่าเสียหายกว่า 1,650 ล้านบาท โดยทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนนัดไต่สวนคดี พร้อมนัดเปิดเวทีเจรจาในวันที่ 13 พย.2560 ที่จะถึงนี้คุณนลินทิพย์ ศุภกุลกิตติวัฒน์ “จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้”คุณนลินทิพย์ เล่าว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จริงๆ ก่อนที่จะไปร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ได้ติดต่อมาทางบริษัทโคเรียคิง บอกปัญหากับเขาไปแล้วแต่เขาไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา แล้วพอดีกับได้ยินข่าวว่าทางมูลนิธิฯ จะมีการฟ้องรวมกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าร่วมฟ้องร้องด้วยเพราะตัวเองตอนที่เห็นโฆษณาทางทีวี เห็นมาตั้งนานก็ยังไม่คิดตัดสินใจซื้อเพราะว่ายังไม่ค่อยเชื่อมั่น พอดูไปเรื่อยๆ มันเหมือนดูดซึมตัวเรา ด้วยความที่แต่เดิมเราใช้กระทะสแตนเลสก็รู้สึกว่ามันก็ล้างยากนะ ถ้าเราได้กระทะอย่างดี ล้างง่ายๆ มันน่าจะสะดวกกับเรา และด้วยความเชื่อมั่นในตัวคุณวู้ดดี้ ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ เห็นเขาโฆษณากระทะเพื่อสุขภาพ ทำให้อยากซื้อสักใบหนึ่งแล้วราคาที่เขาว่า คิดแล้วมันก็รู้สึกไม่แพง มันคุ้มค่าก็เลยตัดสินใจซื้อ แต่พอซื้อมาแล้วในคู่มือบอกให้ใช้ไฟอย่างอ่อน ทีนี้ก็ทำอาหารไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทอดเพราะว่าป่วย ส่วนใหญ่จะผัดแล้วใส่น้ำมันนิดหนึ่งอยู่แล้ว แต่ใช้เวลาผัดนานมากเลยเพราะเขาบอกให้ใช้ไฟอ่อน แล้วผัดเมื่อไรจะสุก จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้ จริงๆ คือเสียดายเพราะซื้อมาแล้วมันต้องใช้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช้ดีกว่ายอมเสียเงินแล้วก็เอาเก็บใส่กล่องได้อ่านคู่มือก่อนใช้ไหมก็อ่านคู่มือก่อน ทำตามขั้นตอนที่เขาบอกแล้วค่อยใช้ พอเจอปัญหาที่ว่าเมื่อเราล้างกระทะแล้ว ล้างด้วยฟองน้ำกับน้ำยาล้างจาน น้ำที่ล้างมันออกมาเป็นสีเทาๆ ดำๆ ก็นึกว่าเป็นครั้งแรกของการใช้แต่พอครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทุกวันก็เป็นเหมือนกัน เราก็คิดว่าทำไมมันไม่หายสักที เลยรู้สึกกลัวว่าคงจะเกิดจากผิวกระทะมากกว่า แทนที่จะเป็นการดูแลสุขภาพกลายเป็นต้องกินสารพวกนี้เข้าไป ตายผ่อนส่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ จึงหยุดการใช้ใช้ไปประมาณ 10 กว่าครั้งได้ โทรไปถามเขาว่าขอใช้ไฟแรงกว่านี้ได้ไหมเพราะว่าไฟมันอ่อนเกินไปอาหารเราไม่สามารถทำได้นะ เขาก็ตอบมาว่า ถ้าใช้เตาแก๊สให้ใช้ไฟดวงในเพิ่มอีกนิดแล้วกัน ก็ลองเพิ่มแล้วเวลาทำอาหาร ตอนนั้นก็ลองทำราดหน้า เวลาผัดผักก็ใส่น้ำร้อนไม่ใส่น้ำเย็นนะ มันก็ยังไม่ค่อยยอมเดือด คิดอยู่ว่าจะโทรไปบอกเขาก็เปลี่ยนใจไม่ได้โทรแต่หลังจากนั้นทางบริษัทโทรกลับมาหาเราเพื่อขายสินค้าอีกว่าถ้าต้องการซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษ หรือมีเพื่อนสนใจจะซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษเหมือนกันโดยใช้ชื่อสมาชิกของเรา เราก็เลยแจ้งเขาไปว่าเราใช้แล้วมีปัญหานะ อาหารมันสุกช้าแล้วเวลาล้างกระทะก็มีปัญหาเป็นน้ำสีดำๆ ออกมา เขาก็รับฟังแล้วก็บอกว่าจะบอกผู้ใหญ่ให้นะคะ แล้วก็ไม่เคยติดต่อมาอีกเลย หลัวจากนั้นก็มีคนโทรมาอีกเป็นตัวแทนขายของอีก เราก็บอกปัญหาเขาไปเขาก็ตอบมาว่าเหรอคะ เดี๋ยวจะแจ้งผู้ใหญ่ให้ แต่ก็ไม่มีใครโทรตามเรื่องเราเลย ก็เงียบไปตลอด เราได้แต่ทำใจทำไมจึงตัดสินใจฟ้องคดีตอนเห็นเป็นข่าวขึ้นมาคนที่บ้านก็บอกกระทะแบบนี้ที่สิงคโปร์ใบละไม่เท่าไรเองนะ เราก็มาตามข่าวแล้วได้ยินว่ามีการรวมกลุ่มก็คิดว่าจะร่วมด้วยแต่ก่อนที่จะคิดตรงนี้ก็พอดี บริษัทก็โทรมาขายก่อนที่จะฟ้องแล้วก็เงียบหายไปอีกอยู่ดี เขาก็ไม่ได้จัดการอะไรให้เราเลย ถ้าตอนนั้นเขาใส่ใจเราที่เป็นลูกค้าสักนิดหนึ่ง สอบถามสักนิดเราก็อาจไม่ได้ฟ้องร้องกับเขา แต่นี่ทำให้มีความรู้สึกว่าเขาหวังแค่ขาย ไม่ได้ใส่ใจลูกค้า และเมื่อเราบอกปัญหาไปเขาก็ยังไม่ใส่ใจคิดว่าการรวมกลุ่มแบบนี้มีโอกาสจะชนะมากขึ้นไหมใช่ค่ะ คิดว่าอย่างนั้น เพราะมีความรู้สึกว่าคนขายเขาต้องขายตามที่เขาบอก เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็เหมือนหลอกลวงผู้บริโภค อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่มาเพราะเราอยากเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่มาหลอกลวงเราแบบนี้ อีกหน่อยก็หลอกคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะเขาบอกว่าสินค้าเขาดีและเราก็ซื้อเพราะเราเชื่อว่าสินค้าดี----------------------------คุณวิไลพรรณ สกุลนาค“กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน”  เมื่อได้กระทะมา ก่อนใช้ล้างด้วยน้ำเปล่ากับฟองน้ำก่อนด้วยนะ แล้วก็ใช้งานตั้งแต่ครั้งแรกเลยไข่ไม่ล่อนอย่างที่เขาโฆษณา ลูกสาวบ่นเลยว่า แม่โดนหลอกแล้ว แล้วที่บ้านอยู่กัน 3 คน ทดลองกัน 3 คน 3 ครั้ง ประสิทธิภาพคือเหมือนเดิม พอล่าสุดเริ่มมีข่าวที่พูดถึงกันมากๆ เราจึงหยุดใช้ทันทีเพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปกระทะ คุณภาพของกระทะรู้สึกว่า มันไม่เหมือนกับกระทะที่เราเคยใช้งานมานานถึง 20 ปี อย่างเช่น สีเริ่มเปลี่ยน ขนาดใช้แค่ 3 ครั้งนะคะ แล้วหัวน็อตเริ่มเป็นสนิม แล้วพอมีข่าวการผ่ากระทะหรืออะไรออกมาเราก็ติดตามข่าวเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องมูลค่า ราคาของ การผลิต การขาย การผ่าพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นจริงอย่างคำโฆษณา ทุกสิ่งอย่างทำให้เราหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในกระทะเจ้านี้ไปเลยทำให้มารวมตัวกับท่านอื่นร่วมฟ้องคดีค่ะ จริงๆ แล้วประเด็นที่ว่ามันเหมือนทำร้ายจิตใจเรา  กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน  ตัวแม่จะเลือกทำอาหารเองในครัว ทุกคนในบ้านจะรักษาสุขอนามัยเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคทุกอย่างเข้าไป ทีนี้การโฆษณาสินค้าบอกว่าการที่ไม่ใช้น้ำมันนั้น ก็คิดว่าลูกกับแม่เราน่าจะได้ประโยชน์มากสุดก็เลยเลือกซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาซื้อได้ ทีเดียวได้ 2 ต่อเลย ได้ดูแลสุขภาพแม่และลูกเบ็ดเสร็จในเวลาเดียวกัน มันพร้อม แต่ก็ไม่ใช่ พอฟังคำโฆษณาหรือสื่อแล้วเราซื้อเลยนะ ฟังอยู่เป็นเดือนจนมั่นใจว่าเอาดารามาขาย เขามีชื่อเสียง เขาไม่น่าจะมาหลอกลวง คงไม่กล้าเอาชื่อเสียงลงมาทำลายเล่น เราก็มั่นใจว่าเราควรจะซื้อ ใช้เวลา 1 เดือนบวกกับชื่อเสียงคนที่เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วกลายเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเรากำลังทำร้ายคนในครอบครัวหรือเปล่า แล้วเราไม่ได้รับความเป็นธรรมในลักษณะที่ว่าทำไมเขาขายเกินราคาจริงอย่างมากมายจากท้องตลาด แล้วมันไม่มีคุณภาพอย่างที่เขาโฆษณา นี่เลยทำให้ต้องมาร่วมฟ้องกลุ่มในวันนี้คิดอย่างไรกับการฟ้องกลุ่ม มันรู้สึกว่า ดูเหมือนมีพลังและประสิทธิภาพมากกว่า น่าจะทำให้ศาลรับฟ้องได้ง่ายขึ้นแล้วก็มันทำให้ไม่ยุ่งยากกับรายบุคคลเพราะบางคนอาจจะไม่สะดวกในการมาเดี่ยวๆ ในศาล การฟ้องกลุ่มก็เลยเป็นทางเลือกที่เหมือนว่าจะดีที่สุด คุณกัณฏารัตน์ เรืองวงษ์ศา“มาเพราะได้ยินข่าวการฟ้องกลุ่ม”ดูทีวีแล้วเห็นทางมูลนิธิฯ บอกให้ส่งรูป ส่งหลักฐานมาก็เลยให้ลูกชายถ่ายส่งให้เพราะเราทำเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยเป็น ก็เลยได้มา คิดว่าฟ้องดีกว่า เพราะเราเคยติดต่อทางบริษัทฯ ไปแล้ว แล้วเขาก็บอกว่าเดี๋ยวต้องโทรไปตรงนี้ เราก็โทรไปเขาก็ให้โทรไปตรงนั้น เราก็โทรไปๆ มาๆ สายหลุดอีก ก็โทรไปหลายครั้งนะ จนโอนกันไปโอนกันมา จนรอนานไม่มีใครรับสายสักที จนสุดท้ายผู้หญิงคนหนึ่งรับสาย เราก็พูดให้เขาฟัง เขาก็บอกให้เราไปซื้อเบคกิ้งโซดามาล้าง เราก็ถามว่าเบคกิ้งโซดามันล้างออกแล้วเรากินเบคกิ้งโซดาเหรอ  ขนาดไอ้นี้ยังล้างออกแล้วเราไม่แย่เหรอถ้าเรากินเข้าไปอีก เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่อันตรายก็บอกให้เราทำตามนี้ แต่เราก็ไม่ได้ทำหรอก เลยตัดสินใจฟ้องบริษัทฯ จริงๆ ก็คือ สงสารผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยนะ คนที่ซื้อหลังๆ นี้ คืออาจจะต้องใช้เวลานานๆ แล้วมันจะเห็นว่ามีปัญหาจากการใช้งานกระทะนี้ คือถ้าใช้ไปแค่ 1 - 2 ครั้งยังไม่รู้หรอก แต่ถ้าคุณใช้เป็นประจำวันเป็นปกติมันจะเห็นเร็ว ของเราก็ใช้ไม่กี่เดือนเอง เดือนแรกก็เริ่มแล้วทำไปได้ไม่กี่ครั้งเองไม่ถึง 10 ครั้งด้วยซ้ำก็เริ่มติดกระทะ เริ่มหลายอย่างจนกระทั่งรู้สึกไม่ไหวแล้ว มันติดกระทะแล้วก็เริ่มแดงขึ้นๆ เราก็เลยเก็บ พอได้ยินข่าวว่าสามารถฟ้องร้องได้ จึงตัดสินใจว่าจะร่วมฟ้องคดีด้วย ------------------------------คุณณัชไม กิตติโรจนธรรมตอนที่ซื้อมี 1 แถม 1 แต่ราคาตอนนั้น 3,300 บาท รู้สึกจะเป็นรุ่นต้นๆ ของเขา จะไม่มีแถมอะไรต่ออะไร ซึ่งมาตอนหลังนั้นเริ่มถูกลง ราคาก็คงถูกลงด้วยและก็มีของแถมเป็นตะหลิวบ้างอะไรบ้าง สรุปว่าราคาถูกลงและฟังดูหลายๆ คนก็ซื้อได้ราคาถูกลงด้วย เราก็รู้สึกว่าความมาตรฐานของเขาไม่มี อยากจะขายเท่าไรก็ขาย ความนิยมเยอะก็ขายราคาสูง กระทะนี้ก็ดูโฆษณาก็รู้สึกว่าน่าใช้นะ ที่บ้านไม่ค่อยได้ทำอะไรทานเองมากนัก ปกติจะซื้อกับข้าวนอกบ้าน ก็คิดว่าได้กระทะมามันไม่ต้องใช้น้ำมันก็ดีนะ ทอดไข่ ผัดกับข้าวอะไรพวกนี้ จะได้ดีต่อสุขภาพก็ซื้อมาใช้ พอซื้อมาใช้รู้สึกว่าไม่ใช้น้ำมัน(อย่างโฆษณา) ไม่ได้แล้ว อาหารมันติดหนึบเลย สรุปก็คือตอนนั้นเอาปลามาทอดก็ต้องใส่น้ำมันสักนิดหนึ่ง แต่ไอ้ส่วนที่ติดมันก็ติดอยู่ พอใช้ไป 2 – 3 ครั้งมันเริ่มเป็นเหมือนสนิม ก็คิดว่านี่มันจะเป็นอะไรหรือเปล่าแต่ก็ด้วยความที่เราไม่ได้ทำกับข้าวเยอะ ส่วนมากจะซื้อกินเสียมากกว่าก็ไม่ได้สนใจตรงนั้นไป ถึงเวลาจะใช้ก็เอามาใช้ พอใช้ทีก็เป็นอย่างเดิมทุกที คิดอยู่นะว่าเสี่ยงไหมนี่แล้วไม่นานก็ได้ยินข่าวว่ากระทะชื่อดังโฆษณาไม่จริงตามที่เขาได้ทำโฆษณาไว้  เราก็เลยเริ่มกังวลว่าสงสัยเป็นจริงแล้วอย่างที่เรากลัวๆ ไว้ แสดงว่าที่เรากินไปที่หลุดๆ ลอกๆ มามันไม่ได้หายไปไหนมันคงอยู่ในอาหารเรานี้แหละ หลังจากนั้นก็เห็นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเริ่มมาทำเรื่องชวนกันฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เราก็เลยขอเข้าไปร่วมทำเรื่องกับเขาด้วย แต่จุดประสงค์ก็คือไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะมาชดใช้อะไรเรา แต่อยากจะสร้างภาพพจน์ให้ผู้บริโภคของเราแข็งแรงขึ้น ในหลายๆ เรื่องนั้น เช่นถ้าผู้บริโภคแข็งแรงการหลอกลวง อย่างเช่น เรื่องที่ดินก็คงไม่เกิดขึ้น ไม่กล้าโฆษณาเพื่อที่จะหวังหลอกลวง  โดยหลอกให้คนส่ง 5 ปี 10 ปี ซึ่งถ้าพวกเราแข็งแรงขึ้นนั้นคนที่จะทำอะไรเขาจะต้องคิดก่อนที่มาทำ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะช่วยๆ กันคิดว่าการร่วมฟ้องฯ ครั้งนี้จะช่วยยกระดับสินค้าคิดเรื่องยกระดับผู้บริโภคให้แข็งแรงขึ้นมากกว่า อยากจะให้ใครได้ยินข่าวนี้อยากให้ช่วยๆ กันมาร่วมมือกัน ทำให้ฝ่ายผู้บริโภคแข็งแรง เพราะถ้าผู้บริโภคมีพลัง คิดว่าเขา(บริษัทฯ) น่าจะกลัวพลังตรงนี้ แล้วก่อนจะทำอะไรพวกบริษัทต่างๆ ที่ทำไม่ดีเขาจะได้คิดเยอะขึ้น และถ้าจะให้ดีนั้นถ้าเสียงดังไปถึงฝ่ายรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสนับสนุนทำให้พวกเราโตขึ้นมันก็จะยิ่งทำให้ภาคประชาชนแข็งแรงขึ้นคดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้าขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาตโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม1.  โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.   โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.   คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย4.   ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.    เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.    ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาล  อุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดดาวโหลดกฎหมายได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/028/1.PDFขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 173, สำนักงาน ไทยลอว์ คอนซัลต์, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040824

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2553 6 กรกฎาคม 2553ดื่มน้ำมังคุดไม่หายป่วย อาจซวยได้โรคเพิ่ม จากกรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยวัย 81 ปี ชาว จ.หนองคาย เข้ารักษาในโรงพยาบาลหลังมีอาการไข้ ไอ อ่อนเพลีย และท้องเสียรุนแรงถึงขั้นถ่ายเป็นเลือด เมื่อตรวจตามร่างกายก็พบรอยจ้ำช้ำเลือดทั่วตัว ซึ่งสอบถามหาสาเหตุพบว่าผู้ป่วยได้ดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการปวดขาได้ แต่สุดท้ายดื่มแล้วกลับต้องป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล ทาง อย. จึงรีบออกมาเตือนประชาชน ยืนยันผลจากรายงานของแพทย์ ว่าน้ำมังคุดรักษาโรคไม่ได้ แถมยังมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย   “แม้ในมังคุดจะมีสารแซนโทน (xanthones) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็ยังขาดข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ นอกจากนี้เคยมีรายงานทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยดื่มน้ำมังคุดทุกวัน ตลอด 12 เดือน จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และพบอาการไม่พึงประสงค์ อาทิ บวม แดง เกิดผื่นคัน ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก และที่ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น และผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดมีการผสมน้ำตาลจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคดังที่กล่าวไม่ควรรับประทาน ซึ่งในอเมริกาก็เคยออกคำเตือนกับผู้ผลิตน้ำมังคุดเกี่ยวกับการโฆษณาสรรพคุณด้วยเช่นกัน” นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 14 กรกฎาคม 2553เตรียมออกกฎหมายมาตรฐานแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคลินิกการแพทย์แผนจีน พร้อมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการการแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 1 กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรควบคุมคลินิกการแพทย์แผนจีนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยการจัดทำร่างมาตรฐานสถานพยาบาลสาขาการแพทย์แผนจีน บังคับให้คลินิกแพทย์แผนจีนต้องมีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรค ให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะ ที่ต้องมียา อุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพียงพอ ส่วนการนวดและการฝังเข็มนั้น สถานบริการจะต้องมีจำนวนเตียงให้บริการสัดส่วนไม่เกิน 10 เตียง ต่อผู้ให้บริการ 1 คน ซึ่งร่างดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนพิจารณา โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีหน้านี้   นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มากขึ้น โดยให้คลอบคลุมถึงการใช้สมุนไพรและการนวดแบบจีน ที่นอกเหนือจากการฝังเข็มรักษาโรคเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะเสนอให้ผู้ป่วยเบิกได้ตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริงได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรักษาโรคมากขึ้น -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   22 กรกฎาคม 2553อย.ออกกฎลดปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม แก้เด็กไทยฟัน "ตกกระ" คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า เด็กที่บริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีรายงานไว้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่แนะนำคือ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร ซึ่งการกำหนดเป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากการบริโภคน้ำและอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งทางอย. ห่วงใยเด็กไทยโดยเฉพาะในวัย 1 – 6 ขวบซึ่งอยู่ในระหว่างการสร้างฟัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็ก จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 โดยปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก “1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร” เป็น “0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร” โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ส่วนผู้ผลิต / นำเข้าน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการจดทะเบียนรายละเอียดของอาหารไว้แล้วก่อนหน้านี้ ต้องปรับปริมาณฟลูออไรด์ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป หากพบน้ำดื่มบรรจุขวดมีคุณภาพหรือมาตรฐานไม่เป็นไปตามประกาศ เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ผู้บริโภคร้อง กทช.เปลี่ยนเครือข่ายใช้เบอร์เดิมต้องไม่เสีย 99 บาท เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) คัดค้านการอนุญาตให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายเลขหมายในอัตรา 99 บาท เพราะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมนายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า จุดยืนขององค์กรผู้บริโภคเรื่องการคงสิทธิในเลขหมายได้เสนอไว้อย่างชัดเจนทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กทช. ทั่วประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง 3G เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกเก็บค่าบริการในการโอนย้ายบริการจากผู้ใช้บริการ แต่หากบริษัทมีต้นทุนในการให้บริการโอนย้ายดังกล่าวจริง ผู้ประกอบการควรตกลงรับภาระกันเอง เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ใช้บริการด้าน นายพนัชทร สุนทราภิมุข ตัวแทนองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค กล่าว่า การมีมติของ กทช.ที่ให้เรียกเก็บค่าโอนย้ายเครือข่ายได้นี้ น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 12 และมาตรา 21 เพราะในมาตรา 12 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการ กทช.กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิมได้ เมื่อมีความพร้อมทางเทคนิค และที่สำคัญคือเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการเมื่อผู้ใช้บริการต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการแต่ต้องการคงเลขหมายเดิม โดยไม่มีการให้อำนาจแก่ กทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการคิดค่าใช้จ่ายการโอนย้ายเลขหมายแต่อย่างใด และในมาตรา 21 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังบังคับให้คณะกรรมการ กทช. ต้องกำหนดมาตรการที่มิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ให้บริการกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม แต่การที่ กทช.ไปกำหนดให้มีการเรียกค่าเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายกับผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดสิทธิในการเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ตนเองเห็นว่ามีคุณภาพการบริการที่ดีกว่าผู้ให้บริการรายเดิมได้ การกำหนดให้มีการคิดค่าธรรมเนียมได้นี้จึงไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันถือเป็นหน้าที่ที่ กทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- แพทย์ชนบทย้ำ พ.ร.บ,คุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดการฟ้องหมอ แพทย์ชนบท เภสัชกรชนบท เครือข่ายผู้บริโภคย้ำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมอได้ประโยชน์ พร้อมหนุนให้มีกฎหมาย เครือข่ายผู้เสียหายเดินหน้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อสังคม และตนหวังว่า น่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีทุกฝ่าย และถือว่ามีประโยชน์อย่างมากและครอบคลุมผู้ใช้สิทธิทุกคน   “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายซึ่งเป็นเสมือนบททดลอง ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งสามารถเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ แต่ก็บรรเทาความเสียหายเฉพาะผู้ใช้สิทธิรักษาบัตรทองเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งหากมี กฎหมายตัวนี้ออกมาจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้น” นพ.วชิระ กล่าว   ด้าน นพ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ที่เคยมีกรณีรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกแล้วผู้ป่วยติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง 11 รายและต้องควักลูกตาทำให้ตาบอดสนิทจำนวน 10 ราย กล่าวว่า “ถ้าหากมีกฎหมายตัวออกมาตั้งแต่ปี 2553 ตนน่าจะเบาหน่อย เพราะหากมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกมาเราจะมีเวทีในการพูดคุยกันระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพลาดพลั้งมาก็ต้องคุยกัน ต้องสร้างสัมพันธ์กัน”   ด้าน ภญ. ศิริพร จิตร์ประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงพี่น้องที่ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขที่กังวลว่าหากกฎหมายตัวนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการฟ้องอาญามากขึ้นนั้น การฟ้องอาญา ม.34 หากผู้เสียหายฟ้องอาญาไว้แล้ว จะไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ได้บังคับให้เลือกใช้สิทธิเพียงสิทธิเดียวเท่านั้น และ ม.45 จะมีการบรรเทาโทษ หรือละเว้นโทษให้ หากมีการช่วยเหลือ หรือแสดงความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายนี้ไปแล้ว ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาหลายๆส่วน เชื่อว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องผสานความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้ต่อไปและไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 การติชมโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของผู้บริโภค ไม่ถือเป็นความผิด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถตู้ยี่ห้อโฟตอน จากประเทศจีน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริโภคจำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถตู้โฟตอน จำนวน 19 ราย  และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีก 1 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและแจ้งความเท็จ  หลังผู้บริโภคซื้อรถตู้ดังกล่าวมาใช้แล้วเกิดปัญหา ได้รับความเสียหาย และบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของรถ จึงนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยกับสาธารณชน  และแจ้งร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นั้น ที่สุดศาลได้ตัดสินยกฟ้องผู้บริโภคทุกราย เนื่องจากเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตน จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง        กรณีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างอีกหนึ่งคดี ที่จะทำให้ผู้บริโภคท่านอื่นที่กำลังเผชิญปัญหาจาการถูกละเมิดสิทธิ   มีกำลังใจที่จะเดินหน้าในการพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ เพราะถ้าเราสามารถยืนยันและให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงได้อย่างละเอียดชัดเจน ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขได้ในที่สุด  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปพบกับตัวแทนของผู้บริโภคกลุ่มคดีรถตู้โฟตอน ว่าพวกเขาต้องฝ่าฟันกับเรื่องใดมาบ้างนายบังเอิญ  เม่นน้อย  “สมัยก่อนผู้บริโภคไม่กล้าส่งเสียงเพราะกลัวว่าจะถูกฟ้อง  แต่ตอนนี้อยากให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า การออกมาใช้สิทธิคือสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคมีกระบวนการดูแลไม่เคยทอดทิ้งให้เราต่อสู้เพียงลำพัง”ปลายปี 2551 ผมเห็นโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ว่ามีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ให้เช่าซื้อ มีบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยทั้งภาคบังคับ(พ.ร.บ.)และประกันภัยภาคสมัครใจ (ชั้น 1) ที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ตู้ยี่ห้ออื่นก็ราคาไม่สูง จึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาเช่าซื้อโดยคาดหวังว่าจะยึดอาชีพพนักงานขับรถตู้โดยสารสาธารณะ เพื่อเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวช่วงแรกได้ให้พ่อตาเป็นคนขับ แต่ก็พบปัญหาหลังจากซื้อมาได้ไม่ถึง 15 วัน คือ ไม่สามารถเหยียบครัช หรือเข้าเกียร์ได้ตามปกติ มีปัญหาของเครื่องยนต์ ต้องเปลี่ยนยกเครื่องใหม่ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน พ่อตาไม่สามารถขับต่อไปได้ ผมจึงได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมาขับเอง แต่ก็เป็นการขับไปซ่อมไป “แทนที่จะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวตามที่ตั้งใจไว้ก็กลายเป็นว่า ครอบครัวของเราต้องเป็นหนี้จากการกู้ยืมเงินมาซ่อมรถ ผมและภรรยาจึงตกลงกันว่าเราจะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องพิทักษ์สิทธิของตัวเองโดยการร้องทุกข์ไปที่หน่วยงานที่ไว้ใจ เชื่อใจได้ เลยตกลงมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพยายามรวบรวมกลุ่มเพื่อนผู้เสียหายได้ประมาณ 30 คน จนในที่สุดก็เป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งมาร่วมกับเรียกร้องความถูกต้องให้ตัวเอง ”นางประทิน  ซื่อเลื่อม“ป้าซื้อรถตู้คันนี้ด้วยเงินสด ที่เก็บหอมรอบริบมาเกือบทั้งชีวิต เพราะหวังว่าจะยึดเป็นอาชีพในบั้นปลาย แต่ที่ไหนได้ซื้อมายังไม่ทันได้สามเดือนรถพัง แถมไม่มีอะไหล่เปลี่ยนให้อีก กัดฟันซ่อมแทบจะวันเว้นวัน สุดท้ายไม่ไหวต้องตัดสินใจขายต่อให้คนอื่น ได้เงินคืนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ”ป้าซื้อรถยนต์ประเภทรถตู้ ยี่ห้อ โฟตอน รุ่น VIP 14 ที่นั่ง ราคาประมาณ 1,365,000 บาท  เริ่มใช้งานรถตู้ประมาณ 1 เดือน จึงเริ่มเกิดปัญหาของคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน และความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์เสีย  ท่อแอร์รั่ว ไดชาร์ทเสีย คันเร่งค้าง เข้าเกียร์ไม่ได้  ประตูรถเสีย  เลี้ยวแล้วพวงมาลัยมีเสียงดัง    รวมทั้งระบบโครงสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงสังเกตจากช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อน รำคาญให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ มีความพยายามแก้ไขตามขั้นตอน ทั้งติดต่อไปที่บริษัทเพื่อส่งเข้าศูนย์ซ่อมแต่ก็ไม่มีบริการ มีเพียงแห่งเดียว ช่างชำนาญงานก็ไม่มี อะไหล่ก็ไม่มี ต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรายวัน จนในที่สุดต้องตัดสินใจขายในราคาที่ถูกมาก และเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะต้องการเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัท ที่เหมือนว่าจงใจนำรถที่ไม่ได้คุณภาพมาขาย แต่ท้ายที่สุดก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 19“ที่ต้องสู้ต่อเพราะป้าคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด พูดความจริงทุกอย่าง ไม่เคยแจ้งความเท็จกับหน่วยงานไหน ที่สำคัญถ้าป้าไม่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง ใครเขาจะมาช่วยป้าได้ ”นางสาวนภัสนันท์  ปิ่นหอมระหว่างการต่อสู้ทางคดีจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อทำสัญญากับ กรมคุ้มครองสิทธิกระทรวงยุติธรรม เธอจึงตัดสินใจยอมเป็นผู้ค้ำประกันให้กับจำเลยทั้ง 20 ราย ทั้งที่สามีของเธอคือ คุณบังเอิญ ก็เป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้“ รู้สึกเศร้าใจไม่คิดว่าผู้ประกอบการจะเอาเปรียบผู้บริโภคขนาดนี้  พวกเขาเดือดร้อนกันจริงๆ  ไม่เคยคิดกลั่นแกล้งใคร เงินที่ลงทุนซื้อรถไปก็อยากมีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองได้ สาเหตุที่ตัดสินใจเป็นนายประกันให้จำเลยทั้งยี่สิบคนก็เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว และเชื่อมั่นว่าต่อสู้ร่วมกันมาขนาดนี้ อะไรที่ช่วยกันได้ก็อยากจะช่วย เพื่อนย่อมไม่ทอดทิ้งกันแน่นอน ” ---------------------------------------------------------------------------------------------ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 ถึง ปี 2559 นั้น ยอมรับว่าอาจจะมีความเครียดบ้างในส่วนของการดูแลความรู้สึกของผู้บริโภคที่ถูกฟ้องคดี เพราะเราต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ร้องว่า ไม่ใช่เรื่องการตัดสินใจผิดพลาดที่มาใช้สิทธิร้องเรียนแล้วต้องถูกฟ้องร้องทางคดี แต่นี่คือความกล้าหาญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการแสดงพลังของคนเล็กคนน้อยให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา และพร้อมที่จะเผชิญหน้าในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองนางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียวหลังจากรับเรื่องร้องเรียน ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคก็ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนได้ความว่า ผู้ร้องเดือดร้อนจริงจากการเช่าซื้อรถยนต์ตู้จากบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พากลุ่มผู้ร้องฯ ไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ขอให้พิจารณาช่วยเหลือผู้บริโภค กรณีได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้ยี่ห้อ โฟตอน แล้วพบปัญหาชำรุดบกพร่อง และพาไปร่วมออกรายการโทรทัศน์ ช่องเนชั่นทีวีผ่านทาง “รายการระวังภัย 24 ชั่วโมง” ในหัวข้อ ซื้อรถไม่ได้ใช้ แต่ต้องใช้หนี้   นำรถไม่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่ายและไม่รับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของรถ สวนีย์  ฉ่ำเฉลียว(จำเลยที่ 20) รับหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการ และได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง รวมทั้งซักถามในประเด็นปัญหาต่าง ๆ กับทางผู้ร้องร่วมกับพิธีกรในรายการอีกท่าน การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวถือว่า อยู่ในความรับผิดชอบในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ พิธีกรร่วมในรายการ ไม่ได้มีเจตนาสร้างความเสียหายให้กับโจทก์ หรือมีความโกรธแค้นโจทก์เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด เป็นข้อมูลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น“ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 ถึง ปี 2559 นั้น ยอมรับว่าอาจจะมีความเครียดบ้างในส่วนของการดูแลความรู้สึกของผู้บริโภคที่ถูกฟ้องคดี เพราะเราต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ร้องว่า ไม่ใช่เรื่องการตัดสินใจผิดพลาดที่มาใช้สิทธิร้องเรียนแล้วต้องถูกฟ้องร้องทางคดี แต่นี่คือความกล้าหาญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการแสดงพลังของคนเล็กคนน้อยให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา และพร้อมที่จะเผชิญหน้าในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง เพราะเราเชื่อว่า หน่วยงานของเรา คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขาแล้ว และภารกิจของมูลนิธิก็คือ รับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค อยู่แล้ว การที่ดิฉันในฐานะเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ หรือแปลกประหลาด แต่ถือว่าเป็นการย้ำจุดยืนของหน่วยงานว่า เป็นอิสระจริง และทำงานจริงไม่ใช่แค่เสือกระดาษ” ---------------------------------------------------------------------------------------------ในช่วงปลายปี 2551 บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อ “ โฟตอน ” จากประเทศจีน เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย  โดยโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  เพื่อเชิญชวนให้สมาชิกเข้ามาทำสัญญาเช่าซื้อ  โดยมีเอกสารแผ่นพับ  แสดงรูปแบบรายละเอียด พร้อมราคาตัวรถตู้ คันละ 1,365,000 บาท (หนึ่งล้านสามแสนหกหมื่นห้าพันบาทถ้วน)  ซึ่งมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยเมื่อผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้น  สมาชิกที่เข้าทำสัญญาในคราวเดียวกันนี้มีทั้งสิ้นกว่า 70  ราย หลังจากสมาชิกเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อดังกล่าวแล้วกลับพบว่า เกิดความชำรุดบกพร่องนับแต่ใช้งาน คือขณะขับรับส่งผู้โดยสารเครื่องยนต์ดับกะทันหัน เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ รวมถึงระบบเครื่องยนต์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง รวมทั้งระบบโครงสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงสังเกตจากช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อน รำคาญให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ  รวมทั้งปัญหาด้านการบริการซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมี 1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงเป็นอู่ซ่อมรถทั่วไป  ดังนั้นผู้เสียหายแต่ละรายจึงต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยมิได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องได้ติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถยนต์ตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธโดยต่อมาทางผู้ให้เช่าซื้อได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อกับผู้ร้องกว่า 10 ราย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ร้องจำนวน 20 ราย จึงติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เพื่อขอคำปรึกษา ร้องเรียน ให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ โดยความเสียหาย แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเช่าซื้อรถและค่าซ่อมแซม มูลค่ากว่าสามสิบล้านบาท แต่ภายหลังปรากฏว่าทาง บริษัท แพล็ททินัมฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ฐานความผิด ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, แจ้งความเท็จ จำนวนทุนทรัพย์ 5,000,000.-บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) กับจำเลยจำนวน 20 ราย เป็นผู้ร้องเรียน 19 ราย และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 1 ราย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ฝรั่งออสเตรเลีย ฟ้อง ธ.กรุงไทย หลังโดนหักเงินในบัตรเดบิตไม่ทราบเหตุ

ฝรั่งออสเตรเลียฟ้องธนาคารกรุงไทย ฐานหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1.25 แสน ศาลพิพากษาธนาคารผิดจริงให้จ่ายค่าเสียหายตามที่เรียกพร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษอีก 120,000 บาทเจฟฟรี ชายชราชาวออสเตรเลีย เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายอาศัยอยู่ในเมืองไทยที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณปี 2548 เขาเปิดบัญชีออมทรัพย์ กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรเลีย และเปิดใช้บริการบัตรเดบิตผ่านบัญชีดังกล่าวต่อมาราวปลายปี 2554 เจฟฟรี ใช้บัตรเดบิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม พบความผิดปกติว่าเงินในบัญชีลดลงอย่างมาก จึงติดต่อกับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียงเพื่อให้ตรวจสอบการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ผลการตรวจสอบของธนาคารพบว่า  มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ติดต่อกันในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2554 เป็นเงินประมาณ 120,000 กว่าบาท ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตพร้อมกับการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรเดบิตพร้อมกับรหัสประจำตัวได้ปัญหาอยู่ตรงที่ รายการใช้จ่ายซื้อสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจฟฟรียังพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และบัตรเดบิตก็อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา เจฟฟรีจึงมีหนังสือถึงธนาคารปฏิเสธรายการใช้บัตรเดบิตและเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทันทีที่ทราบเรื่อง ต่อมาธนาคารกรุงไทยได้แจ้งผลการตรวจสอบรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี อ้างว่าเป็นการใช้บัตรซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ   แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งอาสาสมัครขึ้นไปที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับเจฟฟรีและภรรยาชาวไทย และพยายามนัดเจรจากับ ธ.กรุงไทย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก ด้วยข้ออ้างว่าธนาคารมีประสบการณ์ในการแยกแยะการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตของคนธรรมดาทั่วไปกับมิจฉาชีพ หากเป็นการใช้จ่ายของมิจฉาชีพจริง เมื่อปลอมบัตรหรือได้รหัสผ่านแล้วจะรีบนำเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้บัตรเดบิตเดินช้อปปิ้งซื้อของเล็กบ้างใหญ่บ้าง แถมยังใช้บัตรเดบิตจ่ายค่าแท๊กซี่ปรากฏอยู่ด้วย เป็นสภาพของการซื้อใช้สินค้าและบริการตามปกติของผู้คนทั่วไปที่ใช้บัตรเดบิตของตัวเอง จึงยืนกระต่ายขาเดียวปฏิเสธการคืนเงินให้แก่เจฟฟรีเมื่อหมดหนทางการพูดคุยในทางปกติ เราจึงถามใจเจฟฟรีว่าจะสู้กับธนาคารต่อหรือไม่ เจฟฟรีบอก ผมอยากได้รับความเป็นธรรม ผมไม่ได้เป็นคนซื้อสินค้าเหล่านี้ ธนาคารต้องคืนเงินให้กับผมวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นวันที่เจฟฟรีเข้ายื่นฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค กล่าวหาธนาคารกรุงไทยมีความผิดฐานผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิต เรียกค่าเสียหาย 125,357 บาท พร้อมดอกเบี้ยในวันที่  7  พฤศจิกายน  2555   ศาลแขวงพระนครใต้ พิพากษาให้ ธนาคาร กรุงไทย จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเจฟฟรี เป็นเงินตามจำนวนที่ฟ้อง พร้อมกับสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท  รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาทเหตุที่ศาลชั้นต้นให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะว่าเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า กรณีนี้ธนาคารกรุงไทยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่ออกให้กับนายเจฟฟรี ไปใช้ในต่างประเทศจริงและทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการหรือลายมือชื่อลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่ธนาคารกลับไม่นำหลักฐานที่ว่ามาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานของธนาคารเองยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของเจฟฟรีที่ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรในช่วงขณะดังกล่าวดังนั้นเมื่อธนาคารไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าผู้บริโภคเป็นผู้ใช้เองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า เมื่อธนาคารหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปแล้ว ธนาคารจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของลูกค้าทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชี และการที่ธนาคารทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากการมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของลูกค้าไปใช้ เมื่อลูกค้าทวงถามแล้ว แต่ธนาคารกลับปฏิเสธไม่คืนเงินให้กับลูกค้า จึงถือว่าธนาคารมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและเงินในเชิงลงโทษให้กับเจฟฟรีตามจำนวนที่กล่าวมา และยังสั่งให้ธนาคารชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลรวมทั้งค่าทนายความจำนวน 5,000 บาทแทนนายเจฟฟรีอีกด้วย“ผมรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา  ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้” เจฟฟรี กล่าวนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบและจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปรามหรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ“ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป ” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เจ็บใจอยากฟ้องบริษัทลิสซิ่ง สงสัยแกล้งขายรถทอดตลาดราคาต่ำ

ทั้งที่ตัดสินใจถวายรถคืนบริษัทเช่าซื้อไปแล้ว ก็ยังต้องถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอีก และมาชีช้ำซ้ำอีกครั้ง ที่บังเอิญไปเจอรถยนต์ตัวเองถูกขายต่อให้คนอื่นในราคาที่สูงกว่าราคาขายทอดตลาดเกือบแสนคุณภูวดล เขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยความขมขื่นใจเป็นล้นพ้นว่า เมื่อกลางปี 2551 ตนได้เช่าซื้อรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดมือสองกับบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 475,000 บาทเศษ ผ่อน 48 งวด งวดละ 9,911 บาท(ในจดหมายไม่ได้บอกว่าผ่อนไปได้กี่งวด แต่เมื่อตรวจดูคำฟ้องที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายกับคุณภูวดล ได้ความว่ามีการส่งค่างวดไปเพียงแค่สองงวดเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย)หลังจากถูกติดตามทวงถามยึดรถคืนตั้งแต่ปลายปี 2551 ท้ายสุดคุณภูวดลตัดสินใจบอกบริษัทฯ ไม่ต้องส่งคนมายึดรถแล้ว เดี๋ยวจะเป็นคนส่งมอบรถยนต์คืนให้เอง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 คุณภูวนัยส่งมอบรถยนต์คืนให้บริษัทลิสซิ่ง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ปีเดียวกัน บริษัทฯ มีหนังสือบอกกล่าวการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่ส่งคืนมาถึงคุณภูวดลด้วยจดหมายลงทะเบียนตอบรับ และได้นำรถออกขายทอดตลาดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 หรืออีก 4 วันต่อมา ในราคา 300,000 บาท ให้กับบุคคลภายนอกรายหนึ่งไปจากนั้นบริษัทฯ ได้นำเงินในส่วนที่ขายรถได้มาหักลบกลบหนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ ปรากฏว่าก็ยังขาดอยู่อีก 141,000 บาท บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคุณภูวดลเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ และมีลูกตามน้ำคือ ค่าติดตามทวงถาม 7,200 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ผิดนัดค่างวดจนถึงวันที่ได้รถคืนเป็นเวลา 5 เดือนอีก 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่คุณภูวดลถูกฟ้อง 193,200 บาทเมื่อถูกฟ้องคุณภูวดลก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู้คดียังไง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เขาชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ ในท้ายที่สุด แต่ที่ทำให้คุณภูวดลชีช้ำกะหล่ำปลีเพิ่มขึ้นก็คือ วันหนึ่งคุณภูวดลบังเอิญไปเจอรถยนต์คันที่ตัวเองเคยเช่าซื้ออยู่บนถนน ก็ตามไปจนได้พูดคุยกับผู้ที่ครอบครองรถอยู่ ผู้ครอบครองรถได้ให้สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถมาให้ดูพบว่า มีการขายในราคา 393,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 คุณภูวดลถึงกับอึ้งและคิดว่าการขายทอดตลาดเมื่อ 13 มีนาคม 2552 นั้นมีการฮั้วราคากันระหว่างบริษัทลิสซิ่งกับคนซื้อ จึงเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 สอบถามว่า จะฟ้องบริษัทลีสซิ่งแห่งนี้เป็นคดีผู้บริโภคได้หรือไม่ที่ขายรถทอดตลาดได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้ตนได้รับความเสียหายต้องชดใช้หนี้ส่วนต่างที่สูงเกินสมควร แนวทางแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่าผู้บริโภคท่านนี้ตื่นตัวช้าไปนิดนะขอรับ เหตุเกิดเมื่อปี 52 แต่มาเขียนถามกันในปี 54 เจออย่างนี้ก็ต้องบอก “อย่างนี้ก็มีด้วย” ก็คงให้ได้แต่คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องผิดพลาดให้ทราบไว้เป็นบทเรียนสำหรับท่านอื่นๆ ครับ จุดที่หนึ่ง การที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์จะขอบอกเลิกสัญญา และคืนรถที่เช่าซื้อนั้น ควรมีการตรวจสอบสภาพรถและประเมินราคารถก่อนทำการคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานจุดที่สอง การนำรถที่ยึดมาไปขายให้แก่บุคคลอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ พอที่จะบอกได้ว่าบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาต่อผู้บริโภค คือระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือกับระยะเวลาที่นำรถออกขายทอดตลาดห่างกันแค่ 4 วันเท่านั้น อันนี้เป็นข้อพิรุธ ในขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นสัญญาควบคุมและกำหนดให้ระยะเวลาการบอกกล่าวก่อนนำรถออกขายจะต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ จุดที่สาม เมื่อมีการนำรถออกขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้อควรเข้าไปดูการประมูลด้วยตนเองว่า เป็นการประมูลขายทอดตลาดที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคควบคุมนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น ก็เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากผู้เช่าซื้อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการประมูลหรือขายทอดตลาดรถเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสัญญากับผู้เช่าซื้อตามที่ว่ามา ศาลก็อาจจะพิจารณายกฟ้องก็เป็นได้แต่เมื่อผู้บริโภคไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบการประมูลหรือเข้าต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากฝ่ายบริษัทฯ เท่านั้น และเป็นการยากที่จะดำเนินการฟ้องใหม่และอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องซ้ำไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้เข้าไปค้านในเวลาที่บริษัทฯ ขายทรัพย์ และไม่ได้เข้าต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ที่มาซื้อรถในการขายทอดตลาดโดยซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายเอากำไรในภายหลังก็สามารถทำได้โดยชอบ ดังนั้นผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากพบว่าตนเองจะไม่สามารถผ่อนค่างวดรถต่อไปได้ และยังเหลือค่างวดอีกบานตะไท การขายดาวน์รถอาจเป็นทางเลือกหนึ่งแต่จะต้องไม่ทำการซื้อขายกันเองเด็ดขาด เพราะผู้ซื้อรถต่ออาจไม่ส่งค่างวดกับบริษัทเช่าซื้อตามที่รับปากก็ได้ ทางที่ดี...ควรจะจูงมือกันไปที่ไฟแนนซ์เปลี่ยนชื่อของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่าซื้อให้เป็นชื่อและผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถรายใหม่เสียให้เรียบร้อย อย่างนี้ปลอดภัยไม่โดนฟ้องร้องในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >