ฉบับที่ 215 กระแสต่างแดน

คิดก่อนทิ้ง                 ผู้สื่อข่าวรายการ Capital ทางช่อง M6 ของโทรทัศน์ฝรั่งเศส ปลอมตัวไปทำงานอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งของอเมซอนที่เมืองซารอง แล้วแอบถ่ายคลิปพนักงานขณะกำลังโยนเครื่องทำกาแฟ ชุดของเล่นเลโก้ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อดัง ลงถัง            ภาพถ่ายจากโดรนที่ติดตาม “ขยะ” หลายพันชิ้นเหล่านี้ไป แสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกส่งเข้าเตาเผาหรือไม่ก็ถูกฝังกลบ            บริษัทอ้างว่านี่เป็นสิ่งที่ทำได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ค้าปลีกที่นำสินค้ามาวางขายบนเว็บอเมซอน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งกลับ นำไปบริจาค หรือรีไซเคิล            แน่นอนต้องมีเสียงก่นด่าจากนักสิ่งแวดล้อม แต่เสียงที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลฝรั่งเศสที่เตรียมออกกฎหมายห้ามการทิ้งสินค้าสภาพดี เพื่อกดดันให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น            อเมซอน ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์ ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อถูกเปิดโปงว่านำสินค้าค้างสต็อก ซึ่งไม่ได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด ไปทิ้งเสียดื้อๆใครต้องจ่าย?                สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์เพิ่งจะสร้างสนามกีฬายิ่งใหญ่อลังการมูลค่า 850 ล้านปอนด์ (เกือบ35,500 ล้านบาท) ไว้เอาใจมิตรรักแฟนบอล                เนื่องจากสนามนี้ตั้งอยู่ในย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม สโมสรจึงเรียกร้องให้เทศบาลท้องถิ่นจัดการกับข้าวของที่กองเกะกะริมทาง รวมถึงดูแลเรื่องความสะอาด นอกจากนี้ยังขอให้ซ่อมแซมถนนที่แฟนบอลจะใช้เดินทางมายังสนาม (ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 500,000 ปอนด์) ด้วย                ชาวบ้านแถบนั้นบอกว่าเมื่อจบการแข่งขัน ก็เป็นหน้าที่ของสโมสรที่จะต้องเก็บกวาดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องใช้งบของเทศบาลด้วย  เงินแค่ 8,000 ปอนด์ (330,000 บาท) ต่อครั้ง ไม่น่าจะระคายเคืองสโมสรที่มีกำไรถึงปีละ 58 ล้านปอนด์ ( 2,300 ล้านบาท)                และสิบปีที่ผ่านมาเทศบาลนี้ก็ถูกตัดงบมาตลอด ชาวบ้านตัดพ้อ... ทำไมสโมสรที่รวยเป็นอันดับ 11 ของอังกฤษถึงไม่ยอมรับรู้ปัญหาพวกเราบ้าง “ทำไมสเปอร์ไม่เซนซิทิฟ?”เห็นแล้วไม่กล้า                อีกไม่นานเราอาจได้เห็นมิเตอร์แสดงปริมาณการใช้พลังงานในห้องพักตามโรงแรมทั่วไป เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่จะทำให้คนเราประหยัดได้ คือการได้เห็นว่ากำลัง “บริโภค” ไปมากแค่ไหนนั่นเอง                จากการติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ไว้ในห้องพักของโรงแรมหกแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ และบันทึกผลการใช้พลังงานจากการอาบน้ำทั้งหมด 20,000 ครั้ง ผู้วิจัยพบว่าแขกที่พักในห้องที่มีสมาร์ตมิเตอร์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าแขกที่เข้าพักในห้องทั่วไปถึงร้อยละ 11.4                ทีมวิจัยซึ่งเผยแพร่งานนี้ในนิตยสาร Nature Energy ตั้งข้อสังเกตว่า คนเราใช้พลังงานอย่างประหยัดได้แม้จะไม่มีแรงจูงใจเรื่องเงิน และการรณรงค์ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ผลเพราะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินก็เป็นได้                ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์มาหักลบกับค่าน้ำที่ประหยัดได้ ก็จะพบจุดคุ้มทุนภายในสองปีแจ้งก่อนหัก                เมื่อเราต้องการ “ทดลองใช้” บริการข้อมูลหรือแอปพลิเคชันใดๆ สิ่งที่ต้องทำคือการให้หมายเลขบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้า                ปัญหาคือหลังจากใช้ฟรีไปเพลินๆ สถานภาพเราอาจเปลี่ยนเป็น “ผู้ใช้แบบจ่ายเงิน” ที่ถูกหักเงินจากบัตรไปโดยไม่รู้ตัว หากเราไม่ต้องการใช้ต่อ ก็ต้องวุ่นวายติดต่อธนาคารเพื่อยกเลิกเองอีก                ถือเป็นข่าวดีที่บริษัทบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดลุกขึ้นมาประกาศกฎเหล็กว่าต่อไปนี้ผู้ประกอบการที่รับ บัตรเครดิตของเขาจะต้องส่งอีเมลหรือข้อความสั้นแจ้งลูกค้าก่อนจะทำการหักเงิน                โดยจะต้องแจ้งราคา  วันชำระเงิน ชื่อผู้ประกอบการ รวมถึงเว็บไซต์และเบอร์โทรศัพท์ ที่ขาดไม่ได้คือต้องแจ้งช่องทางและวิธีการยกเลิกบริการให้ชัดเจนด้วย                โชคดีเป็นของเรา เมื่อการทดลองใช้ฟรีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปสแกนกู้โลก                  วันนี้เราสามารถตรวจสอบที่มาของอาหารที่เราเลือกบริโภคได้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน                กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือกับบริษัท BGC Digital Ventures จากออสเตรเลียจัดทำเว็บไซต์ OpenSC เพื่อให้ผู้บริโภค ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารต่างๆ ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของอาหาร เช่น ปลานี้จับได้จากที่ไหน  พื้นที่นั้นจัดอยู่ในเขตการทำประมงอย่างยั่งยืนไหม สภาพการผลิตเป็นไปตามเกณฑ์ด้านแรงงานและการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือไม่                สมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่สามารถตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ เพียงเราสแกนคิวอาร์โค้ดบนตัวสินค้า หรือเมนูในร้านอาหาร ข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏ                นอกจากจะดีต่อผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดีและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในการผลิตอาหารของเราด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ทดสอบลูกฟุตบอล ในเทศกาลบอลโลก 2014

ด้วยความอยากอินเทรนด์ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ ฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอผลการทดสอบลูกฟุตบอลรุ่นต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำโดย Proteste Brazil องค์กรผู้บริโภคของประเทศบราซิล ซึ่งนอกจากจะจริงจังกับการเล่นฟุตบอลไม่แพ้ใครแล้วยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ด้วย เราจะได้ติดตามเรื่องราวของฟุตบอลจากมุมมองของผู้บริโภค ตั้งแต่เรื่องของคุณภาพสินค้า ไปจนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตไปด้วยกัน เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าลูกฟุตบอลรุ่นที่ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (Official) นั้น “เหนือ” กว่าลูกฟุตบอลในรุ่นเดียวกันที่ใช้ซ้อม (Replica) ในด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ใช้ ลูกฟุตบอลชนิด Official จริงจึงมักมีราคาแพงกว่าพวก Replica บางครั้งแพงกว่าถึง 10 เท่า Proteste Brazil จึงร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยเทคโนโลยี Institute for Technological Research ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบราซิล ทำการทดสอบลูกฟุตบอล 17 รุ่น (ทั้งชนิดที่ใช้แข่งและใช้ซ้อม) จากผู้ผลิต 7 ราย โดยอิงกับเกณฑ์ของฟีฟ่า (FIFA) กำหนด ตั้งแต่ น้ำหนัก เส้นรอบวง ความกลม การสะท้อนกลับ การดูดซับน้ำ การรั่วซึม และการคงสภาพของลูกบอลหลังการใช้งาน สโมสรฟุตบอลฟลูมิเนนเซ่ของบราซิลก็ส่งนักเตะ 4 คนและผู้รักษาประตูอีก 3 คน มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพของลูกฟุตบอลเหล่านี้จากการใช้งานจริงในสนามด้วย   พิเศษสุดสำหรับผู้อ่านฉลาดซื้อ เรามีผลทดสอบประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกของลูกฟุตบอล ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในเกมการแข่งขัน (แต่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับรองของฟีฟ่า) เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็มีหลายคนหงุดหงิดกับลูกฟุตบอลรุ่น “จาบูลานี” ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อัฟริกาใต้ แม้ว่ามันจะได้รับการชื่นชมว่ากลมกลิ้งไม่มีใครเกิน แต่มันก็เป็นลูกฟุตบอลที่ควบคุม และคาดเดาการเคลื่อนไหวได้ยากที่สุดด้วย ข่าวบอกว่าอาดิดาสได้ปรับปรุง “บราซูกา” ซึ่งเป็นลูกฟุตบอลสำหรับการแข่งขันบอลโลกปีนี้ให้ดีกว่าเดิม ... แล้วเราจะได้รู้กันจากผลการทดสอบในหน้าถัดไป                                         Show me the money! กีฬา .. เงินตรา .. เป็นยาวิเศษ   ประมาณการรายได้ของ FIFA จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 อยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญ (เกือบ 130,000 ล้านบาท) ร้อยละ 60 มาจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ที่เหลือมาจากสปอนเซอร์ 24 แบรนด์ ตลาดสินค้าเกี่ยวกับฟุตบอล (เสื้อกีฬา ลูกฟุตบอล รองเท้า) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5,000 ยูโรนี้มีผู้เล่นหลักๆอยู่เพียงสองราย การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 นี้จะเป็นสังเวียนการต่อสู้ระหว่างทีมอาดิดาส จากเยอรมนี กับทีมไนกี้ จากอเมริกานั่นเอง   ใน World Cup 2014 นี้ อาดิดาสซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอล ชุดและอุปกรณ์ของกรรมการ รวมถึงเสื้อผ้าของอาสาสมัครที่ช่วยงานในสนาม และเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมที่เคยเป็นแชมป์อย่างเยอรมนี และอาร์เจนตินา ยาวไปถึงเสปน ซึ่งเป็นแชมป์ปัจจุบันด้วย   อาดิดาส ทำสัญญากับฟีฟ่าเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 และจะเป็นไปจนถึงปีพ.ศ. 2573 ในปี 2557 นี้อาดิดาสจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอลให้กับการแข่งขันดังกล่าวเป็นครั้งที่ 12 จากเทลสตาร์ในปี 2514 มาถึงจาบูลานีในปี 2553 และบราซูก้าในปีนี้   ค่ายไนกี้ กลุ่มธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไนกี้เป็นสปอนเซอร์ของทีมเจ้าภาพบราซิลซึ่งเคยเป็นแชมป์มาแล้ว 5 สมัย และทีมยอดนิยมของผู้ชมทั่วโลกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส อีกต่างหาก   อาดิดาส คุยไว้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับฟุตบอลทั้งหมดของบริษัทจะทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (2,000 ล้านยูโร) ในปีนี้ และจะสามาระชนะคู่แข่งอย่างไนกี้ได้ขาดลอย ----------------------------------------------------------------   Fair Game vs Fair Trade แต่ละปีมีลูกบอลเพื่อการกีฬากว่า 60 ล้านลูกถูกจำหน่ายออกไป สองในสามของจำนวนดังกล่าวคือลูกฟุตบอล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการให้เครื่องหมายรับรอง “Fair Trade” ด้วย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจ้างงานหรือใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต อย่างช็อคโกแลต กาแฟ สับปะรด เสื้อผ้า เป็นต้น   สถิติในปี 2552 ระบุว่าในบรรดาลูกฟุตบอลที่ขายไปนั้น มีลูกฟุตบอลที่ได้รับการรับรองด้วยเครื่องหมาย Fairtrade ประมาณ 118,000 ลูก ลดลงไปจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16 นั่นหมายความว่า ณ จุดนี้มีไม่ถึงร้อยละ 0.2 ของลูกบอลที่ใช้ในการเล่นกีฬาที่มีตรารับรอง Fair Trade   ส่วนแบ่งการบริโภคลูกบอลในยุโรป (สถิติปี 2552) อังกฤษ              ร้อยละ 15 ฝรั่งเศส                         ร้อยละ 15 เยอรมนี             ร้อยละ 15 อิตาลี                ร้อยละ 13 สเปน                ร้อยละ 11 สวีเดน               ร้อยละ 3* (สวีเดนเป็นประเทศที่มีการบริโภคลูกบอล Fair Trade มากที่สุด)   ---------------------------------------------------------------- เจาะลึกเบื้องหลัง Brazuca ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ที่อัฟริกาใต้ อาดิดาสผลิตลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอล เพราะมีชิ้นส่วนน้อยที่สุด (8 ชิ้น) และใช้แรงอัดและความร้อน ทำให้ลูกฟุตบอลกลมกลึงไร้รอยเย็บ แตกต่างจากเจ้า “ทีมไกสต์” ที่ใช้อย่างเป็นทางการในเวิลด์คัพ ปี 2549 ที่เยอรมนี ซึ่งมีชิ้นส่วนถึง 14 ชิ้น เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ต้องมี “บราซูกา” ลูกฟุตบอลรุ่นที่ 12 ที่อาดิดาสผลิตเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ บราซูการุ่นที่ใช้ในการแข่งขันเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ในสนนราคาลูกละ160 เหรียญ (ประมาณ 5,200 บาท) เราขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนที่ผลิต อาดิดาส บราซูกา (ซึ่งยังคงคอนเซปต์กลมเนี๊ยบด้วยชิ้นส่วนที่ลดลงเหลือแค่ 6 ชิ้น) ดูทั้งแระบวนการผลิตและการใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกันเลย บราซูกา มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม การเชื่อมต่อเข้าด้วยกันจะอาศัยกาวและความร้อน ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยผ้าที่ตัดออกเป็นชิ้นๆ หลังจากลูกบอลผ่านการตรวจเช็คขนาด จะถูกทากาวทับอีกรอบ และนำไปอบ ลูกบอลจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ลูกที่รั่วจะถูกทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลจะประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนการทำลูกบอลชั้นนอกเป็นขั้นตอนที่เกิดเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงดังกล่าวไม่เกินมาตรฐาน ทั้งของจีนและของนานาชาติ แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดความดังของเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียง พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูกา โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก ผู้จัดการโรงงาน          บอกว่ามีกฎให้พนักงานแต่ละคนอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่า            โรงงานจะเลือกใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน และมีการจัดตรวจสุขภาพ ให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง งานประกอบชั้นนอกของลูกบอลเข้ากับชั้นใน ชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการอบด้วยความร้อน หรือ thermal bonding เพื่อทำให้ทุกชิ้นส่วนติดกันเป็นเนื้อเดียวโดยไม่ต้องเย็บนั่นเอง ก่อนจะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขาย ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ถ้ารั่วก็ไม่ได้ไปต่อ   ---------------------------------------------------------------- ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเตะ โดย FIFA ร่วมกับมหาวิทยาลัยลัฟเบรอ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ การสัมภาษณ์ผู้เล่น 48 คน และแบบสอบถามที่ทำกับผู้เล่น 231 คน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2556 ผลสำรวจ -          ร้อยละ 85 ของนักเตะที่ตอบแบบสอบถามพึงพอใจกับลูกฟุตบอลที่ใช้อยู่ -          สิ่งที่นักเตะให้ความสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับลูกฟุตบอลคือน้ำหนักและการกระเด้ง (rebound) -          นักเตะคิดว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและควรได้รับการปรับปรุงได้แก่ ความเสถียรของลูกฟุตบอลเมื่อลอยผ่านอากาศ การเคลื่อนไหวเป็นแนวโค้ง และความเร็วของลูกฟุตบอล -          นักเตะมีความเห็นหลายหลายเรื่องคุณสมบัติที่ดีของลูกฟุตบอล และแน่นอนความแตกต่างนี้มีมากที่สุดระหว่างกลุ่มนักเตะกับผู้รักษาประตูนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสต่างแดน

แฟนบอลดีใจ...ได้เฮปกติแล้วเยอรมนีมีกฎเหล็กห้ามทำเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม แต่วุฒิสภาได้อนุมัติให้เทศบาลต่างๆ ผ่อนผันกฎดังกล่าวในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร (10 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม)เพราะฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีนี้ กำหนดเวลาเริ่มการแข่งขันส่วนใหญ่ไว้ที่ 3 ทุ่ม หากไม่มีการผ่อนผัน เจ้าหน้าที่เทศบาลคงต้องระดมคนไปตามปรับแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่อาจส่งเสียงเฮ(หรือโห่ก็แล้วแต่) ให้กำลังใจทีมชาติอยู่ที่บ้านแต่เพื่อรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มรักชาติกับกลุ่มรักความเงียบ เขากำหนดให้ใครก็ตามที่จะจัดฉายการถ่ายทอดสดบนจอใหญ่ให้คนมาร่วมกันเชียร์ ต้องมาขออนุญาตจากเทศบาลก่อนเพื่อให้พิจารณาเป็นกรณีไป อร่อยข้ามรั้วนี่คือร้านขายอาหารว่างสำหรับคนเดินทางร้านแรกในเยอรมนี ใครขับผ่านมาแล้วหิวก็จะจอดรถ ตะโกนสั่ง แล้วปีนบันไดที่พาดกับรั้วเหล็กขึ้นไปรับอาหารจากพนักงานที่ปีนมาส่งและเก็บเงิน ใครมีเวลามากหน่อยก็ปีนข้ามไปนั่งกินในร้านได้ลูกค้าบางคนรับของแล้วมองซ้ายมองขวา ... นี่มันรายการประเภทซ่อนกล้องเน้นฮาหรือเปล่าเนี่ย เมื่อปี 2009 คริสติน่าลงทุนซื้อร้านนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมออโต้บาห์น ในรัฐทูรินเจียตอนกลางของประเทศ แต่ต่อมาเธอพบว่าสำนักงานขนส่งของทูรินเจียได้เพิกถอนใบอนุญาตค้าขายของร้านไปตั้งแต่ปี 2004 นี่มันหลอกขายกันชัดๆ เพราะคงไม่มีใครซื้อที่ตรงนี้แน่นอนถ้ารู้ว่าขายของไม่ได้แต่เธอก็เปิดกิจการขายไส้กรอกต่อไป จนทางการมาสร้างรั้วเหล็กกั้นระหว่างร้านกับถนน คริสติน่าไม่ยอมแพ้ เธอซื้อบันไดมาพาดอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจนได้ เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเธอสามารถขายอาหารให้กับลูกค้าอีกฝั่ง(ที่มาท่องเที่ยวเดินป่า) ได้ตามปกติ แต่ขายกับคนบนถนนไม่ได้ และเธอจะต้องจ่ายค่าปรับเธอรับไม่ได้ ... นี่ไม่ใช่ร้านธรรมดา ใครที่ไหนจะปิดประวัติศาสตร์ ร้านนี้เปิดมา 80 ปีแล้ว มันอาจเป็นร้านแรกในยุโรปด้วยซ้ำ สมัยก่อนร้านนี้แหละคือที่ที่ผู้คนแวะหยุดพักเวลาเดินทางจากเยอรมันตะวันตกไปตะวันออก… เรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องติดตามผลการตัดสินของศาล รายได้ “พื้นฐาน”มิถุนายนนี้จะเป็นครั้งแรกในโลกที่ประชากรของประเทศหนึ่งจะได้โหวตว่าต้องการให้รัฐจัด “รายได้พื้นฐานแบบไม่มีเงื่อนไข” (UBI: unconditional basic income) ให้หรือไม่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องขอ UBI กับทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงานทำ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะได้ องค์กร Basic Income Earth Network (BIEN) บอกว่าจุดประสงค์คือการลดความยากจนและการพึ่งพาสวัสดิการรัฐ ที่สำคัญที่สุด ... ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับงานที่ทำ และพวกเขาสามารถเลือกทำงานที่ชอบได้(ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำเพื่อความอยู่รอด)ตัวเลขนั้นยังไม่ได้เคาะ แต่ที่คุยกันอยู่ขณะนี้คือ 2,500 ฟรังก์ (ประมาณ 90,000 บาท) หมายความว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับคนที่หาเงินได้เกินนี้ แต่ใครที่ได้น้อยกว่าก็จะได้รับเพิ่มจนครบตามจำนวนแน่นอนรัฐบาลไม่เห็นด้วย ไหนจะงบมหาศาล 208,000 ล้านฟรังก์ต่อปี ไหนจะกลัวว่าคนที่มีรายได้น้อยอาจเลิกทำงานแล้วมารอรับเงินเฉยๆ แต่เราจะได้รู้กันในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แล้วว่าผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์จะโหวตรับหรือไม่ ..ผลโพลอย่างไม่เป็นทางการบอกว่ามีถึงร้อยละ 57 ที่ไม่เห็นด้วย ไปด้วยกันนะผู้ประกอบการขนส่ง เดลีทรานสปอร์ต คอร์ป บอกว่าตั้งแต่ลดค่าตั๋วโดยสารรถไฟสายสนามบินลงร้อยละ 40 มีคนมาใช้บริการเพิ่มถึงร้อยละ 50 ตอนนี้ฝ่ายบริหารเลยคิดจะลดราคาตั๋วสายอื่นๆ บ้างปัจจุบันเดลีเมโทรมีผู้โดยสารประมาณ 2.6 ล้านคนต่อวัน ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารประมาณ 300 คนต่อหนึ่งตู้ แต่ในเวลาอื่นๆ จะมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 78 คนต่อตู้เท่านั้น เขาจึงคิดแผนจะลดค่าโดยสารในชั่วโมงไม่รีบเร่งลงแต่เรื่องนี้อดีตผู้บริหารเขาเห็นต่าง เขาบอกว่าเราเป็นบริษัทที่เลี้ยงตนเองและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากรัฐ เราจึงน่าจะเก็บเงินได้ตามคุณภาพที่เราเสนอให้กับลูกค้า หลักๆแล้ว เขามองว่าควรขึ้นค่าโดยสารด้วยซ้ำเดลีเมโทรมีผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด แม้ค่าใช้จ่าย (ด้านเชื้อเพลิงและค่าจ้างพนักงาน) จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในปีที่แล้วบริษัทก็ยังมีกำไรอยู่ดี... ไม่เหมือนแถวนี้นะ เอะอะก็ขาดทุน ... ไม่แยกแล้วมันยุ่งหนึ่งในเรื่องที่สิงคโปร์ยังจัดการไม่ได้คือการรีไซเคิลขยะจากบ้านเรือน ทุกวันนี้แม้จะมีถังสีน้ำเงินวางไว้ให้ผู้คนนำขยะที่รีไซเคิลได้มาทิ้ง แต่มีถึงร้อยละ 50 ของสิ่งที่อยู่ในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพราะผู้คนยังไม่ตระหนัก และยังคงทิ้งเศษอาหาร กระดาษทิชชูใช้แล้ว หรือแม้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กลงไปด้วยความจริงแล้วรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากเพราะทั้งประเทศมีบ่อขยะอยู่เพียง 1 บ่อที่กำลังจะเต็มในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่เก็บขยะเพื่อรีไซเคิลอยู่ 4 บริษัท ทั้งหมดบอกตรงกันว่าขยะที่ได้มานั้นคุณภาพแย่ เพราะหนูหรือแมลงเข้ามากัดกินเศษขยะสดที่ปะปนมา ทำให้ “เสียของ” และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการไปทิ้งอีกด้วย  อัตราการรีไซเคิลของคนสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 19 ยังห่างไกลกับมหาอำนาจด้านรีไซเคิลอย่างไต้หวันที่มีอัตรานี้ถึงร้อยละ 50 ... เพราะที่นั่นการรีไซเคิลเป็นกฎหมายด้วย     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสต่างแดน

บราซูก้า!! ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ อาดิดาสได้เปิดตัวลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอลมา เพราะมีชิ้นส่วนเพียง 8 ชิ้นและไม่มีรอยเย็บ แต่เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ยังมี “บราซูก้า” ลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียง 6 ชิ้น ที่อาดิดาสผลิตขึ้นเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 นี้ กระแสต่างแดนฉบับนี้จึงขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานผลิตลูกฟุตบอลบราซูก้า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เรามาดูกระบวนการผลิตและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์อาดิดาสไปพร้อมๆ กัน บราซูก้ามีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยชิ้นผ้า หลังจากผ่านการตรวจเช็คขนาด ลูกบอลจะถูกทากาวทับอีกรอบก่อนนำไปอบ ลูกบอลที่สูบลมแล้วจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ลูกที่รั่วจะถูกนำไปทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนนี้มีเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงในโรงงานไม่เกินมาตรฐาน(ทั้งของจีนและของนานาชาติ) แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ตัดเสียง   พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูก้า โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก โรงงานจึงมีกฎให้พนักงานอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่าโรงงานใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และมีการจัดตรวจสุขภาพให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง จากนั้นชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือการอบด้วยความร้อน (thermal bonding) เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนติดกันโดยไม่ต้องเย็บ ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีการรั่วไหลของอากาศมันจะไม่ได้ไปต่อ ส่วนลูกที่สอบผ่านก็จะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขายต่อไป   รักษาสิทธิเป็นที่สุด ถ้าเขาไม่ได้ตำแหน่งโจรตัวอย่างไปครองแล้ว เราคงจะยกตำแหน่งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิยอดเยี่ยมให้เขาไป หัวขโมยชาวโปแลนด์นายนี้รอบคอบมาก เขาจะสำรวจราคาสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตก่อนลงมือเสมอ เนื่องจากกฎหมายของโปแลนด์ระบุว่าการขโมยสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า 420 ซวอตี(ประมาณ 4,500 บาท) นั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แต่คราวนี้ร้านค้าเจ้ากรรมดันติดป้ายราคาผิด ทำให้ขโมยรายนี้ฉกข้าวของไปในราคาที่เกินความตั้งใจไปประมาณ 20 บาท เมื่อถูกจับได้เขาจึงต้องรับโทษหนัก แม้ตัวจะอยู่ในคุก แต่เขาก็ประกาศกร้าวว่าจะฟ้องซูเปอร์มาเก็ตเจ้านี้ โทษฐานติดราคาหลอกลวงผู้บริโภค …   ได้โปรดอย่ามาตั๋ว เมืองท่องเที่ยวหลักของเวียดนามอย่างฮานอยและฮอยอัน สูญเสียรายได้ประมาณร้อยละ 40 ให้กับมือดีที่มาตัดหน้าขายตั๋วปลอมเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามระดับมรดกโลกของเขา ทั้งๆ ที่ราคาตั๋วจริงก็ไม่ได้แพงเว่อร์เสียหน่อย ตั๋วสำหรับชาวต่างชาติราคา 120,000 ดอง (ประมาณ 185 บาท) สำหรับคนท้องถิ่น 80,000 ดอง(ประมาณ 120 บาท) และยังสามารถใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวได้ถึง 5 แห่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาต้องซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อเข้าชมเมืองเก่าเหล่านี้ เพราะบริษัททัวร์บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้าชมหลังเวลา 6 โมงเย็น (ซึ่งเป็นเวลาที่ให้เข้าฟรี) หรือไกด์บางคนก็พานักท่องเที่ยวซอกแซกหลบจุดที่จะต้องจ่ายค่าผ่านประตูไปเสียดื้อๆ มีผู้คนทั้งในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าเงินค่าตั๋วนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมตึกรามบ้านเรือนเก่าและโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่มรดกโลกนั่นเอง ข่าวบอกว่าเวียดนามจะคิดระบบตั๋วเข้าชมที่จะทำให้รัฐมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยออกมาภายในปี 2558 นี้ หาดนี้ไม่มีคู่แข่ง อิตาลีมีระบบการบริหารจัดการชายหาดที่ไม่ซ้ำใคร ชายหาดความยาว 7,500 กิโลเมตรนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการอยู่ 28,000 ใบ และมันแทบไม่เคยถูกเปลี่ยนมือ เพราะผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือให้เช่าร่ม ในปัจจุบันก็คือลูกหลานตัวเป็นๆ ของผู้ที่เคยได้สัมปทานจากรัฐในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวบอกว่ารัฐเก็บค่าเช่าจาก “ธุรกิจครอบครัว” เหล่านี้ปีละ 3,570 ยูโร แต่ใครที่ไปเช่าช่วงต่ออาจต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงปีละ 250,000 ยูโร แน่นอน ... ชายหาดที่สามารถสร้างรายได้ถึง 10,000 ล้านยูโรต่อปีนั้นย่อมดึงดูดใจนักลงทุนจากทุกแห่งหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือทุนใหญ่จากต่างประเทศยังหาโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการครอบครัวไม่ได้เสียที เมื่อ 8 ปีก่อน สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศสมาชิกเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจหลายๆประเภท และบอกให้อิตาลีนำใบอนุญาต 28,000 นี้ออกมาประมูลด้วย ตอนนั้นอิตาลีเตะถ่วงด้วยการขอเวลาไปจนถึงปี 2015 แต่เมือถึงปี 2012 รัฐบาลอิตาลีซึ่งถูกกดดันโดย “ครอบครัว” เหล่านี้ก็ออกกฎหมายที่กำหนดเวลาการประมูลไว้ที่ปี 2020 เสียเลย อีก 6 ปี เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ...   //

อ่านเพิ่มเติม >