ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟาร์มเลี้ยงหมู ส่งกลิ่นเหม็น

        หากใครเคยมีประสบการณ์รถบรรทุกหมูวิ่งผ่านหน้าบ้าน หรือเคยขับรถออกต่างจังหวัดแล้วสวนทางกับรถขนหมู คงจะเคยได้กลิ่นขี้หมูอยู่ไม่น้อยว่าคละคลุ้งขนาดไหน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วครู่ ก็อาจต้องรีบควานหายาดมในกระเป๋ากันทันที แต่นั่นคงไม่หนักเท่ากับคุณนภาพรและเพื่อนบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ที่ต้องอดทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของฟาร์มเลี้ยงหมูในชุมชน          คุณนภาพร ได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่ากรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการส่งกลิ่นเหม็นของฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยู่บริเวณชุมชนนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาตนและเพื่อนบ้านหลายครอบครัวต้องทนอยู่กับกลิ่นขี้หมูมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหารแถวหมู่บ้านที่บ่นว่าลูกค้าลดน้อยลงไปมาก เพราะทนกับกลิ่นไม่ไหว แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 3/2549 เรื่อง การควบคุมกิจการเลี้ยงสุกร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูให้มีระยะห่างตามเหมาะสมที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการเลี้ยงหมูตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป ควรมีระยะห่างตั้งแต่ 200 - 1,000 เมตร และมีการจัดการสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง         ทั้งนี้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 (4) กล่าวถึง การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมาตรา 26, 27 และ 28 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถห้ามหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเหตุรำคาญนั้น ให้ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นได้ และในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อแก้ไขเหตุรำคาญดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้นและอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก         ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกับคุณนภาพร ก็สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 กระแสต่างแดน

แพ็กสุดคุ้ม Ofcom องค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของอังกฤษทำการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคเพื่อจัดทำข้อเสนอที่จะช่วยให้การเลือกแพ็กเกจบริการบรอดแบนด์เป็นเรื่องง่ายขึ้นเขาพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้บริโภคเลือกแพ็กเกจจากราคาเป็นหลัก แต่พวกเขาไม่แน่ใจว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตหรือปริมาณข้อมูลที่ได้มานั้นคุ้มค่าคุ้มราคาหรือไม่  แม้ผู้บริโภคจะสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่นได้เมื่อสิ้นสุดสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 60 ที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการก่อนวันหมดสัญญา นั่นหมายความว่าลูกค้าไม่ได้ใช้สิทธิเลือกอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่มีผู้ให้บริการแข่งขันกันอยู่ในตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ราย Ofcom จึงเสนอให้มีข้อบังคับเรื่องการแจ้งเตือนเหมือนกรณีของประกันรถยนต์ นอกจากนี้ยังเสนอให้ ผู้ประกอบการจ่ายค่าชดเชยกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้เกินสองวันทำการ/ไม่สามารถเริ่มใช้บริการได้ในวันที่ตกลงกัน หรือถูกพนักงานนัดมาติดตั้งหรือแก้ไขโทรมายกเลิกนัดด้วย  ช่วยกันกิน ช่วยกันใช้ ขณะนี้ประชากรจิงโจ้ในออสเตรเลียมีมากจนน่าเป็นห่วง จาก 27 ล้านตัวในปี 2010 เพิ่มเป็น 45 ล้านตัวในปีที่แล้ว(ในขณะที่ประชากรออสซี่มีเพียง 25 ล้านคน) รัฐบาลจึงขอความร่วมมือให้มีการบริโภคเนื้อจิงโจ้ให้มากขึ้นที่แดนจิงโจ้นั้น ผู้ประกอบการสามารถขอสัมปทานในการฆ่าจิงโจ้เพื่อการค้าได้ แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีใครไปขอ เพราะไม่มีความต้องการของตลาดแถมราคาก็ถูกจนไม่น่าลงทุน  คนออสซี่ไม่นิยมบริโภคเนื้อจิงโจ้ เนื้อที่ผลิตได้ก็ถูกส่งออกแทบทั้งหมด ร้อยละ 70 ส่งไปรัสเซีย ที่เหลือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ ส่วนหนังและขนของมันก็เป็นสินค้าส่งออกเช่นกัน แต่หางจิงโจ้ยังสามารถหาซื้อได้ในย่านไชน่าทาวน์ในเมืองซิดนีย์เพราะเป็นที่นิยมของลูกค้าเชื้อสายจีน กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์นี้บอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการลดจำนวนจิงโจ้จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่อย่างใด ที่สำคัญคือจิงโจ้ปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าวัวด้วยซ้ำ  หนี้ซ้ำซ้อน วันนี้คนนอร์เวย์เป็นหนี้กันมากขึ้น ธนาคารแห่งชาติของนอร์เวย์เปิดเผยว่าตัวเลขคนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 และมักจะมีเจ้าหนี้มากกว่าหนึ่งราย ทั้งหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้าน  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแคมเปญการตลาดของสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้คนกู้เงินทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ความหละหลวมในการตรวจสอบหนี้เดิมของลูกค้าที่ทำให้คนเป็นหนี้อยู่แล้วสามารถกู้เพิ่มได้ และการออกใบแจ้งหนี้ที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน   ภาครัฐจึงแก้เกมด้วยการห้ามใช้ประเด็นต่อไปนี้ – “ยื่นของ่าย” “ได้รับอนุมัติเร็ว” หรือ “โอนเงินทันที” ในการโฆษณา นอกจากนี้ยังปรับปรุงฐานข้อมูลและกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบใหม่เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอกู้ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ส่วนใบแจ้งหนี้ในแต่ละเดือนนั้น เขากำหนดให้มีการแสดงหนี้ทั้งหมดให้จบภายในบิลเดียว ให้เห็นหนี้ที่ต้องชำระในเดือนนี้และหนี้ทั้งหมดด้วย หลังพายุสงบ เฮอริเคนฮาร์วีย์ ทำให้มีคนอพยพออกจากบ้านไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ระหว่างนั้นพวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากที่มากกว่าแค่ลมและฝนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในเท็กซัสได้รับเรื่องร้องเรียนเกือบ 2,000 เรื่อง ประมาณ 600 กว่าเรื่องเป็นการถูกผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันถือโอกาสขึ้นราคา อีกไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องคือการได้รับโทรศัพท์สายที่ไม่ต้องการ เช่น โทรมาขายประกัน ชวนบริจาค หรือขอข้อมูลเรื่องความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของที่พักราคาแพง เช่นโรงแรมในเครือเบสต์เวสเทิร์น ที่ขึ้นค่าห้องพักจากคืนละไม่เกิน 150 เหรียญ(ประมาณ 5,000 บาท) เป็น 280 เหรียญ(ประมาณ 9,200 บาท) ข่าวบอกว่าขณะนี้โรงแรมประกาศคืนเงินให้ผู้เข้าพักแล้วไหนจะมีพวกหลอกลวงที่โทรมาชวนลงทุนในโครงการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารที่เสียหายจากพายุ และศูนย์ฯ คาดการณ์ว่าอีกหนึ่งเดือนจะมีเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของบ้านที่โดนผู้รับเหมาเชิดเงินค่าซ่อมบ้านหนีไปแน่นอนที่อเมริกามีทีมพิเศษดูแลจัดการเรื่องเหล่านี้ เพราะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์พายุหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคาทรินา ริต้า หรือวิลม่า  ได้เวลาเปลี่ยนโค้ด เหตุการณ์ไข่ไก่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในยุโรปส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ ที่ผู้คนไม่ค่อยคุ้นชินกับอาหารปนเปื้อนของสารเคมี ถึงขั้นเกิด egg phobia การสำรวจฟาร์มไก่ในประเทศจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,200 ฟาร์ม พบว่ามีถึง 52 ฟาร์มที่มีไข่ไก่ปนเปื้อนเกินกำหนด ข่าวบอกว่าเขาไม่ได้ทำการสำรวจเลยตั้งแต่ปี 2010 ร้อนถึงกระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา ที่ตัดสินใจประกาศจะนำระบบโค้ดใหม่มาใช้กับไข่ไก่ในประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจากเดิมที่ระบุเพียงฟาร์มที่เลี้ยงและภูมิภาคที่ตั้งของฟาร์ม ผู้ประกอบการจะต้องแสดงวันที่ ที่ไก่ออกไข่ รหัสฟาร์ม และวิธีที่ใช้เลี้ยง(เลี้ยงแบบออกานิก/เลี้ยงด้วยระบบเปิด/เลี้ยงในโรงเลี้ยง/เลี้ยงในกรง) นักวิชาการบอกว่าเราอาจต้องกินไข่ไก่ถึง 126 ฟองในคราวเดียวจึงจะได้รับอันตรายเฉียบพลันจากฟิโพรนิล แต่ก็ต้องไม่ประมาทผลในระยะยาวเพราะคนส่วนใหญ่รับประทานไข่ทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >