ฉบับที่ 208 ฟันขาวใน 1 สัปดาห์ มีจริงหรือไม่

ไม่เฉพาะแต่ผิวพรรณเท่านั้น ที่คนไทยส่วนหนึ่งอยากให้ขาวผ่อง ฟันก็เป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่คนต้องการให้ขาววับเงางาม ทั้งที่ธรรมชาติฟันแต่ละคนจะมีระดับของความขาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งที่เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากการกินในชีวิตประจำวัน เช่น ขนมสีสด การดื่มชา กาแฟ ก็มีส่วนทำให้ฟันมีคราบสะสม หรือการสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฟันเป็นคราบดูไม่สะอาดได้ ซึ่งหากปรึกษากับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่วิธีที่ใช้คือการฟอกสีฟัน แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ฟันขาววิ้งค์ได้ เพียงแค่ช่วยขจัดคราบที่ทำให้ดูไม่สะอาดให้หมดไป ตรงจุดที่ทางการแพทย์เองก็ไม่ได้มีเครื่องวัดว่าระดับความขาวของฟันนั้นทำได้สุดแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละคนเป็นสำคัญ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ออกมามากมายเพื่อชวนให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ฟันสามารถขาวขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่นานและรักษาฟันผุได้ จนถึงขนาดว่า ไม่ต้องพบทันตแพทย์อีกเลย หรืออาจอวดอ้างสรรพคุณที่วิเศษไปมากกว่านี้ล่าสุดทันตแพทยสภาได้ออกแถลงข่าว เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า ไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดมาสนับสนุนว่ายาสีฟันประเภทใด ที่จะมีประสิทธิภาพสามารถซ่อมแซมฟันที่ผุและทำให้หินปูนสลายเองภายใน 1 เดือน รวมถึงการทำให้ฟันขาวขึ้น 4-5 ระดับ  ดังนั้นหากต้องการให้ฟันดูสะอาดไม่เป็นคราบเหลือง  วิธีที่เหมาะสม คือต้องแก้ที่สาเหตุ เรามาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุทำให้ฟันเหลืองได้บ้าง เพื่อจะได้ดูแลให้ถูกวิธีสาเหตุที่ทำให้ฟันเหลืองและการแก้ไข1. สีสันของอาหาร บรรดาสีย้อมที่ผสมในอาหาร สามารถสร้างคราบไม่สะอาดให้กับฟันได้ รวมถึงเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ ดังนั้นหลังการรับประทานอาหารกลุ่มนี้ ควรแปรงฟันเพื่อขจัดคราบไม่ให้สะสมอยู่ที่ฟัน 2. สูบบุหรี่เป็นประจำก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ควรเลิกหรือเบาลง 3. ฟันผุ ซึ่งมักจะทำให้ฟันมีสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล ควรพบทันตแพทย์เพื่อรักษาฟันให้มีสุขภาพดี 4. เกิดจากฟันตาย (ฟันตาย คือ อาการของฟันผุมากๆ และถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานไม่มีการรักษาทำให้ไม่มีเลือดและประสาทฟันมาหล่อเลี้ยงเนื้อฟัน) ทำให้ฟันมีสีทึบไม่โปร่งเหมือนฟันปกติ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางรักษา5. โรคบางชนิดก็สามารถทำให้สีของฟันเปลี่ยนได้ รวมไปถึงการตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิดด้วย 6. กรรมพันธุ์และวัย ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก คนที่มีอายุมากขึ้นโอกาสที่ฟันจะยังคงความขาวก็ยิ่งมีน้อยลง เนื่องจากเคลือบฟันบางลง ทำให้สีเหลืองของชั้นเนื้อฟันที่อยู่ข้างในปรากฏออกมาให้เห็นชัดมากขึ้น7. แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือแปรงสีฟันไม่มีคุณภาพทำให้ขจัดคราบที่ตกค้างบนผิวฟันได้ไม่หมด วิธีใดบ้างที่จะทำให้ฟันขาววิธีที่ง่ายที่สุดคือ การแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึงหลังอาหารทุกมื้อ ร่วมกับการไปพบทันตแพทย์ อย่างสม่ำเสมอเพื่อขูดหินปูนและขัดฟัน รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดฟันผุ ถ้าต้องการให้ฟันดูขาวขึ้น ทันตแพทย์จะแนะนำให้ฟอกสีฟัน คือการฟอกสีฟันทั้งปาก ซึ่งได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป และปัจจุบันยาที่ฟอกสีฟันนั้นพัฒนาไปมาก ทำให้ใช้ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำสารฟอกสีกลับไปทำเองได้ที่บ้าน (ควรปรึกษาทันตแพทย์)ส่วนยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว ซึ่งมีออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้นนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่ดูแลที่ต้นเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ยาสีฟันก็อาจช่วยได้เพียงแค่การขจัดคราบ แต่ไม่ได้ทำให้ฟันขาวมากไปกว่าสีฟันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาจนเข้าข่ายเป็นของวิเศษ อย่าหลงเชื่อเพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด    ข้อมูลจาก http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/radiology/dept_article_detail.asp?a_id=94

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2559ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ “สุทธิภัณฑ์” ชี้แจงพร้อมยืนยันผลทดสอบไม่พบสารฟอกขาวเกินมาตรฐานหลังจากที่ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ได้นำเสนอผลทดสอบ สารฟอกขาวกับน้ำตาลมะพร้าว โดยผลจากการสุ่มทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่างจาก 21 ตัวอย่างที่พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดที่ 40 มิลลิกรัม / 1 กิโลกรัม ประกอบด้วย ตัวอย่าง น้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ สุทธิภัณฑ์ ที่เก็บตัวอย่างจาก กูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน ที่ตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 72 มก./กก. และตัวอย่างที่ไม่มีการระบุยี่ห้อที่ซื้อจากตลาดอมรพันธ์ ที่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 61 มก./กก.ซึ่งหลังจากได้มีการเผยแพร่ผลทดสอบออกไปก็สร้างความตื่นตัวต่อทั้งผู้บริโภค และรวมถึงตัวผู้ประกอบการเอง โดยทางตัวแทนของบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD. ได้เข้ามาชี้แจงกับทางนิตยสารฉลาดซื้อ ว่าทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลการตรวจที่ทางฉลาดซื้อได้นำเสนอ ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวที่ทางบริษัทผลิต จำนวน 5 ตัวอย่าง นำไปส่งตรวจวิเคราะห์ดูปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับทาง บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตภัณฑ์น้ำตาลทั้ง 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุถุงพลาสติก ล็อตการผลิต 26/7/59, 2.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุกระปุก ล็อตการผลิต 10/8/59, 3.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลโตนดธรรมชาติ ล็อตการผลิต 26/7/59, 4.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ชนิดก้อนเล็ก ล็อตการผลิต 3/8/59 และ 5.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ขนิดบรรจุ 1 ก้อนใหญ่ ล็อตการผลิต 3/8/59 ซึ่งเป็นล็อตเดียวกับที่ฉลาดซื้อตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานโดยผลการตรวจที่ทางบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD นำมาชี้แจงกับทางฉลาดซื้อนั้น พบว่า ทุกตัวอย่าง ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน(น้อยกว่า 10.00 มก./กก.) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค ที่มีบริษัทที่ใส่ใจและตื่นตัวในการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยทางบริษัทยืนยันว่าต่อไปจะดำเนินการตรวจสอบทุกล็อตการผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคธปท.สั่งธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียม “บัตรเอทีเอ็ม” ไว้ให้บริการหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเวลาที่ไปขอเปิดบัญชีทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบธรรมดา แล้วถูกธนาคารตอบกลับมาว่า บัตรดังกล่าวหมดหรือต้องใช้เวลารอนานกว่าจะมีบัตรใหม่ให้ทำ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็จะพูดหว่านล้อมเชิญชวนให้ทำบัตรแบบที่มีบริการเสริมอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบัตรที่มีบริการเสริมจะมีค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่และค่าบริการรายปีสูงกว่าบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบธรรมดาปัญหาดังกล่าวถูกร้องเรียนเข้าไปที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นจำนวนมาก ทำให้ล่าสุด ธปท.ต้องออกประกาศ ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ก็ได้ทำการสำรวจปริมาณการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตประเภทต่างๆ พบว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาไว้ที่สาขาในปริมาณที่น้อยกว่าบัตรประเภทที่มีบริการอื่นเสริม ซึ่งหลังจากมีประกาศนี้ออกมา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่สามารถอ้างการไม่ออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตรแบบพื้นฐานให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป----------------------------------------------------------------------------------------.ผลตรวจสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ “คะน้า-ส้ม” เจอมากที่สุดปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ยังคงเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคไทยเหมือนเดิม เมื่อล่าสุด เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ค่อยทำหน้าที่เฝ้าระวังและสุ่มตรวจการใช้สารเคมีในผัก-ผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยข้อมูลผลการสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้ รวมทั้งหมด 158 ตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ทั้งแบบที่มีมาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ มีฉลากประเภทต่างๆ รับรอง เช่น ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว รวมทั้งผัก-ผลไม้ที่จำหน่ายทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด และจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ ปทุมธานี นครปฐม และ ราชบุรี ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษผลการตรวจพบว่า ผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยผักที่พบการตกค้างของสารเคมีเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ผักคะน้า พบ 10 จาก 11 ตัวอย่าง, รองลงมาคือ พริกแดง พบ 9 จาก 12 ตัวอย่าง, ถั่วฝักยาว และ กะเพรา พบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง, ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง, มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง, แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง, มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง, กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบ 2 จาก 11 ตัวอย่างส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบ 8 จาก 8 ตัวอย่าง, แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง, ฝรั่งพบ 6 จาก 7 ตัวอย่าง, มะละกอพบ 3 จาก 6 ตัวอย่าง, แตงโมพบ 3 จาก 7 ตัวอย่าง และ แคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่างเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม Thai PAN ก็เคยออกมาแถลงสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นพบการปนเปื้อนสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 46.4 แม้ว่าจะได้มีการส่งข้อมูลการตรวจที่ได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข แต่จากผลทดสอบที่ได้ในครั้งนี้ สถานการณ์ปัญหายังคงไม่ดีขึ้น โดยผลการตรวจครั้งนี้พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย คือ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ในผัก-ผลไม้ถึง 29 ตัวอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ Thai PAN จะนำผลทดสอบที่ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมวิชาการการเกษตร อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินการต่อไป-------------------------------------------------------------------------------------.ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะในช่องปาก ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยาก-------------------------------------------------------------------------.“สไลม์” ของเล่นอันตราย เสี่ยงปนเปื้อนโลหะหนักหลังจากที่ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องของ เด็กรายหนึ่งที่นอนป่วยในโรงพยาบาลโดยระบุว่าเด็กคนดังกล่าวติดเชื้อในกระแสเลือดจากการเล่น “สไลม์” มีอาการหายใจไม่ออกเนื่องจากสูดดมกาวจากการทำสไลม์ ซึ่งเป็นของเล่นที่มีลักษณะยืดเหนียว ทำมาจากแป้งและกาว บางครั้งมีการใช้ สบู่ ผงซักฟอก และสีสังเคราะห์ลงในส่วนผสม ทำให้อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ได้ออกมาให้ข้อมูลเสริมในเรื่องดังกล่าว โดยในเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดของเด็กคนดังกล่าวเกิดจากของเล่น “สไลม์” จริงหรือไม่ เพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดมีหลายปัจจัย แต่ สไลม์ ก็ถือเป็นของเล่นที่มีปัญหาที่ผู้ปกครองและหน่วยงานที่กำกับดูต้องเข้ามาควบคุมดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีคลิปการสอนทำสไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่สอนทำส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ เอง โดยบางคลิปแนะนำให้ผสมครีมโกนหนวด ผงซักฟอกกับแป้งโด ซึ่งการนำสารเคมีต่างๆ มาผสมเองถือว่าเป็นอันตรายมากรศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังฝากเตือนอีกว่า แม้จะมีการตรวจหาสารโลหะหนักใน สไลม์ ทั้งที่มีและไม่มี มอก. พบว่า มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว สารหนู และ ปรอท แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากเล่นแล้วเผลอนำเข้าสู่ร่างกายจะเป็นการสะสมทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน ที่สำคัญคือไม่ควรให้เด็กผสมสไลม์เล่นเอง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีอันตราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์พฤศจิกายน 2557 ห้ามจำหน่าย “ภาชนะปนเปื้อนสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์” คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้มีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย "ภาชนะหรือเครื่องใช้สำหรับบรรจุหรือสัมผัสอาหารที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์" หลังจากพบข้อมูลยืนยันชัดเจนแล้วว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถละลายออกมาปะปนในอาหาร เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เคยทดสอบการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ภาชนะที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วางขายตามตลาดนัดมีสีมันฉูดฉาด ไม่มีการแจ้งผู้ผลิตหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิต “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” ฟอกฟันขาวได้จริงหรือ? อะไรที่ถูกแชร์ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ ต้องฟังหูไว้หู อย่าได้เชื่อตามทันที อย่างกรณีล่าสุด ที่มีการส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ว่า “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” นำมาฟอกฟันให้ขาวขึ้นได้ งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใด การทำฟันขาวด้วยมะนาวผสมเบกกิงโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ถือเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และกรดจากมะนาวยังระคายเคืองเหงือกอาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเบคกิงโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆ ที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้ ผู้ที่มีเหงือกอักเสบและเสียวฟันอยู่แล้วไม่ควรนำวิธีนี้มาใช้เพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดฟันไม่ควรใช้เบคกิงโซดาขัดฟัน เพราะจะทำให้กาวยึดเครื่องมือจัดฟันอ่อนตัวและหลุดได้   อย.เชือด!!! “ครีมมหัศจรรย์” Firmax 3 อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อหลงใช้ผลิตภัณฑ์ Firmax 3 ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นครีมมหัศจรรย์ ใช้ทาตรงจุดชีพจร สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ริดสีดวงทวารหนัก อัมพฤต-อัมพาต ฯลฯ หลังทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หลักจากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ Firmax 3 เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พบมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแห่งใหญ่อยู่ที่โคราชและหาดใหญ่ มีการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ตัวสินค้าเองมีลักษณะเป็นเครื่องสำอางแต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค อย.จึงได้ดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายและผู้ที่นำเข้า หากผู้บริโภคคนไหนพบเห็นผลิตภัณฑ์ Firmax 3 หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงหรือแจ้งสรรพคุณว่ามีผลต่อการรักษาโรค สามารถแจ้งไปยัง อย.ให้ทำการตรวจสอบและเอาผิดได้ทันทีที่ สายด่วย อย. 1556   ส้มจีนมีใบ คือส้มผิดกฎหมาย? รู้หรือมั้ยว่า? ส้มจีนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด หากมีใบติดมาที่ผลส้มด้วยอาจเป็นส้มที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เพราะล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ส้มจีนที่มีใบติดมาห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเสี่ยงโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีการนำส้มจีนที่มีใบติดเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะขายได้ราคาดีกว่าส้มไม่มีใบ ซึ่งส้มจากจีนจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายต้องมาจากสวนหรือโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง มีใบรับรองสุขอนามัย และต้องไม่มีกิ่ง ก้านใบ ดิน ติดเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการเกษตร แต่เพราะคนไทยเข้าใจผิด นิยมซื้อส้มที่มีใบติดเพราะเห็นว่าสวยงามกว่า คิดว่าเป็นส้มใหม่ เลยทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก     ค้านกฎหมาย จดสิทธิบัตร “กลิ่น-เสียง” สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และภาคประชาชน ค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็น “กลิ่นและเสียง” เหตุเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์และยังเป็นการทำร่างกฎหมายที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความให้มีการจดสิทธิบัตรเรื่องกลิ่น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิ์ได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญการให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ ถือว่าเกินไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต ซึ่งหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวทำได้จริงหรือ

ยาสีฟันที่โฆษณาว่าทำให้ฟันขาวได้นั้นจะต้องใส่สารบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นไปจากยาสีฟันปกติ การที่จะตอบได้ว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าสารเคมีที่ใส่ในยาสีฟันนั้นคืออะไรและมีผลอย่างไรกับสีของฟัน สารสำคัญที่พบคือ   สารขัดฟัน ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งทุกยี่ห้อจะใส่สารขัดฟันที่มีความหยาบแตกต่างกัน สารขัดฟันนี้จะช่วยขจัดคราบสีต่างๆบนตัวฟันทำให้ฟันขาวขึ้นได้จริง แต่จะขาวเท่ากับสีฟันเดิมของเรา ถ้าฟันเดิมเหลืองก็จะเหลืองเหมือนเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการนี้เป็นการขัดเอาคราบที่ติดอยู่ภายนอกผิวฟันออกไป ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนสีภายในของเนื้อฟัน ถ้าฟันเดิมของเราสีออกเหลือง ถ้ามีคราบสีจากอาหาร น้ำชา กาแฟ บุหรี่ ฯลฯมาเกาะสีฟันก็จะเข้มขึ้น เมื่อใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันเหล่านี้คราบก็จะออกจนหมดกลับมาเป็นฟันเหลืองตามปกติที่ควรจะเป็น ขอย้ำนะครับว่าสารขัดฟันไม่ได้ทำให้ฟันขาวขึ้นจากสีธรรมชาติเดิมของฟัน สารขัดฟันที่มีใช้ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่นิยมใช้ได้แก่สารกลุ่มซิลิกา (Hydrate Silica, Silica dioxide, Perlite ที่มี 70-75% silica dioxide) สารกลุ่มอลูมิน่า (Alumina oxide) สารกลุ่ม แคลเซียม ( Calcium pyrophosphate,Calcium Carbonate, Dicalcium phosphate dihydrate)  และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น เบกิ้งโซดา (Sodium Bicarbonate) และ Mica เป็นต้น ปัญหาที่พบของสารขัดฟัน ก็คือ ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันมาก (หรือพูดง่ายๆว่า สารขัดฟันหยาบมาก) ก็จะกำจัดคราบสีต่างๆได้ดีและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เคลือบฟันถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้เคลือบฟันบางลง เมื่อใช้ต่อเนื่องไปนานๆ เคลือบฟันจะบางลงจนเห็นเนื้อฟันที่มีสีเหลืองกว่าอยู่ข้างใต้ การใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งต่อเนื่องนานๆอาจทำให้ฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิม และจะมีอาการเสียวฟันตามมาอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันน้อย การกำจัดคราบสีก็จะทำได้ช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่จะไม่ทำอันตรายเคลือบฟันเท่าใดนัก ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สารขัดฟันที่ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อนั้นมีความสามารถในการขัดฟันเท่าใด ในยาสีฟันปกติ จะใส่สารขัดฟันที่มีค่าความสามารถในการขัดฟัน (RDA, Realtive Dentine Abrasivitiy) อยู่ที่ 40-80 หน่วย ซึ่งเป็นค่าที่ปลอดภัยไม่ทำอันตราบเคลือบฟัน  ส่วนในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะมีค่า RDA มากกว่า 100 หน่วย เพื่อให้ขัดคราบฟันได้ดี ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเพดานค่า RDA ไว้ไม่เกิน 200 หน่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สารเคมีช่วยขจัดคราบฟัน ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารเคมีบางตัวเช่น  enzymes, Sodium Citrate, Sodium Pyrophosphate, Sodium tripolyphosphate หรือ hexametaphosphate ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยขจัดคราบบนตัวฟันออกและช่วยป้องกันให้คราบสีมาเกาะติดกับฟันยากขึ้น สารเคมีเหล่านี้มักจะคุณสมบัติในการย่อยโปรตีนได้ดี ซึ่งคราบที่ติดฟันนั้นก็มีองค์ประกอบของโปรตีนอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปเรามักจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดบริเวณคอฟันและซอกฟัน ดังนั้นผู้ผลิตยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้อจึงคาดหวังให้สารเคมีเหล่านี้ไปช่วยกำจัดคราบบริเวณคอฟันและซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่สารขัดฟันไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด แต่จากรายงานการวิจัยพบว่า สารเคมีเหล่านี้มีส่วนช่วยได้เล็กน้อยมาก การกำจัดคราบสีต่างๆยังต้องพึ่งสารขัดฟันเป็นหลัก   สารสีฟ้า ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากสารขัดฟันแล้วยังใช้ สีสะท้อน Optical agents เช่น การใช้สีฟ้า ( Blue Covarine หรือ CI74160 Pigment Blue) ผสมลงในยาสีฟัน เมื่อแปรงฟันสารสีฟ้าเหล่านี้จะไปเกาะที่ฟัน เวลามองสะท้อนแสงก็จะเห็นฟันขาวขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้เพียงครั้งเดียวก็จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นทันที เปรียบเทียบง่ายๆกับถ้าเราต้องการให้ผ้ามีสีขาว เราก็ไปย้อมให้เป็นสีคราม เมื่อเป็นการย้อมสี ดังนั้นข้างหลอดยาสีฟันจะมีคำเตือนว่า “ยาสีฟันอาจทำให้เสื้อผ้าเลอะได้” การใช้สารสีฟ้าเคลือบฟันไว้จะได้ชั่วคราวเท่านั้น สารสีฟ้าจะติดฟันได้ไม่นานนัก เมื่อมีการรับประทานอาหาร สีเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออก ทำให้กลับไปเป็นสีฟันเดิมของเรา   ข้อแนะนำ ยาสีฟันไวท์เทนนิง สามารถใช้ได้เพื่อกำจัดคราบฟันที่ติดอยู่ที่ผิวฟันออกได้ จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นกว่าเดิม แต่จะขาวได้เท่ากับสีของฟันเดิมของเราเท่านั้น จะขาวขึ้นกว่าเดิมไม่ได้ ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่มีสารสีฟ้า เป็นการใช้เทคนิคการสะท้อนสีฟ้าเพื่อทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่สีฟ้าจะหลุดออกเมื่อรับประทานอาหาร ฟันจะกลับมาเป็นสีเดิม ไม่ควรใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งติดต่อกันต่อเนื่อง ทั้งนี้สารขัดฟันของยาสีฟันไวท์เทนนิ่งจะมีความหยาบมากกว่า ซึ่งจะทำให้เคลือบฟันบางลงเมื่อใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใช้กับแปรงสีฟันขนแปรงแข็ง แปรงฟันแรงเกิน ก็จะทำให้เคลือบฟันบางลงได้เร็ว แนะนำให้ซื้อใช้เพียงหลอดเดียวเท่านั้น เมื่อรู้สึกว่าฟันเริ่มมีคราบมาติดใหม่ ก็กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นระยะๆ ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันโดยใช้แรงพอประมาณ สังเกตุได้จากหากใช้แปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่มแล้วแปรงควรจะปานใน 3 เดือน หากแปรงบานเร็วก่อนกำหนดแสดงว่าเราแปรงฟันแรงเกินไป   หมายเหตุ ยาสีฟันไวเทนนิ่งเป็นกลุ่มยาสีฟันที่ขจัดคราบภายนอกฟันเท่านั้น มียาสีฟันอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ยาสีฟันฟอกสีฟัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะไปฟอกสีฟันภายในเนื้อฟัน โดยใช้สารเคมีที่จะซึมผ่านเคลือบฟันและเนื้อฟันเข้าไปสลายโมเลกุลของสีในเนื้อฟันเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น โดยปกติแล้วสารเคมีที่ใช้จะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1% หรือ แคลเซียมเปอร์ออกไซด์ 0.5-0.7% ซึ่งความเข้มข้นที่ใช้ถือว่าน้อยมาก จากงานวิจัยพบว่า ในความเข้มข้นที่น้อยและเวลาที่สัมผัสฟันตอนแปรงฟันสั้นๆ ไม่กี่นาทีนั้น ไม่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้แต่อย่างใด การไปพบทันตแพทย์เพื่อฟอกสีฟันจะใช้สารเคมีตัวเดียวกันซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่ามาก และใช้เวลาสัมผัสฟันนานเป็นชั่วโมง สีของฟันจึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งมีข้อเสียตามมามากมายหลายอย่าง ผมอยากชวนให้คิดว่า ฟันสีเหลืองธรรมชาติของคนไทยเรามีเสน่ห์และเหมาะกับสีผิวและใบหน้าของคนไทย การที่มีฟันขาวจนเกินพอดีนั้น น่าจะดูแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาตินะครับ   ส่วนประกอบอื่น ของยาสีฟัน Titanium Dioxide หรือ CI 77891 เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีสีขาว หรือทำให้มีความขุ่น Cocamidopropyl Betaine เป็นสารลดแรงตึงผิว ทำให้สารต่างในยาสีฟันแทรกซึมสัมผัสกับฟันได้ง่ายขึ้น Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารทำให้เกิดฟอง Sodium Saccharin ขัณฑสกร​ เป็นสารให้ความหวาน Sorbitol, Xylitol เป็นน้ำตาลโพลิออล ให้ความหวานและยังทำให้ชุ่มชื้นอีกด้วย Glycerin ทำให้ชุ่มชื้น Sodium Hydroxide โซดาไฟ ใช้ดูดความชื้น ทำให้คงตัวและปรับความเป็นกรดด่าง Carrageenan สารเพิ่มความหนืดที่เป็นเจลใส Xanthan Gum, Cellulose Gum, PEG-12 (Polyethylene Glycol) เป็นสารที่ให้ความหนึดแบบทึบ Methylparaben, Butylparaben  สารกันเสีย (สารกันบูด) Spearmint, peppermint, Eucalyptus, Mentol  เป็นสารแต่งกลิ่นและรส ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ยาสีฟัน ยาสีฟันในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ และราคาก็แตกต่างกันมากมาย  ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผลบางอย่างเข้าไปมากมาย จนบางทีก็ดูเกินกว่าหน้าที่ของยาสีฟันแต่เดิม ที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น กลุ่มของยาสีฟันแยกตามวัตถุประสงค์ 1.กลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นยาสีฟันที่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย ในทางวิชาการเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สามารถป้องกันฟันผุ ได้ และองค์การอนามัยโลกก็ให้คำแนะนำประชาชนใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นหลัก ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ จะมีอยู่ 1,000 ส่วนในล้านส่วน หรือ 1,000 พีพีเอ็ม. และ 500   พีพีเอ็ม. สำหรับเด็ก เหตุผลที่ยาสีฟันเด็กมีปริมาณความเข้มข้นเพียงครึ่งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะกลืนยาสีฟันทำให้ได้รับฟลูออไรด์เกิน 2.กลุ่มยาสีฟันที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสารสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน ไทมอล น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ  สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ในคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบใช้แล้วจะรู้สึกว่า เหงือกกระชับแน่นขึ้น ไม่อักเสบบวมแดงอย่างที่เคยเป็น 3.กลุ่มยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท เพื่อไปปิดรูเล็ก ๆ ที่เนื้อฟัน ทำให้ลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว แต่ควรต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียวฟันร่วมด้วย จึงจะแก้ที่ต้นเหตุได้จริง 4.กลุ่มยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว มีการใช้ผงขัดที่หยาบเพื่อให้ขจัดเอาคราบสีต่าง ๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก รวมทั้งอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ซึ่งการใช้ผงขัดที่หยาบผสมลงในยาสีฟันอาจทำให้มีการขัดเอาผิวฟันออกมากเกินไป ทำให้เคลือบฟันสึกและบางลง รวมทั้งสารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ อาจมีอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ จึงควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง 5.กลุ่มที่มีการโฆษณาว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก หรือใช้กลางคืนเพื่อลดกลิ่นปากตอนเช้า จากรายงานทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารเคมีหรือสารสมุนไพรต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point