ฉบับที่ 114 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2553 6 กรกฎาคม 2553ดื่มน้ำมังคุดไม่หายป่วย อาจซวยได้โรคเพิ่ม จากกรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยวัย 81 ปี ชาว จ.หนองคาย เข้ารักษาในโรงพยาบาลหลังมีอาการไข้ ไอ อ่อนเพลีย และท้องเสียรุนแรงถึงขั้นถ่ายเป็นเลือด เมื่อตรวจตามร่างกายก็พบรอยจ้ำช้ำเลือดทั่วตัว ซึ่งสอบถามหาสาเหตุพบว่าผู้ป่วยได้ดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการปวดขาได้ แต่สุดท้ายดื่มแล้วกลับต้องป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล ทาง อย. จึงรีบออกมาเตือนประชาชน ยืนยันผลจากรายงานของแพทย์ ว่าน้ำมังคุดรักษาโรคไม่ได้ แถมยังมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย   “แม้ในมังคุดจะมีสารแซนโทน (xanthones) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็ยังขาดข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ นอกจากนี้เคยมีรายงานทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยดื่มน้ำมังคุดทุกวัน ตลอด 12 เดือน จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และพบอาการไม่พึงประสงค์ อาทิ บวม แดง เกิดผื่นคัน ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก และที่ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น และผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดมีการผสมน้ำตาลจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคดังที่กล่าวไม่ควรรับประทาน ซึ่งในอเมริกาก็เคยออกคำเตือนกับผู้ผลิตน้ำมังคุดเกี่ยวกับการโฆษณาสรรพคุณด้วยเช่นกัน” นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 14 กรกฎาคม 2553เตรียมออกกฎหมายมาตรฐานแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคลินิกการแพทย์แผนจีน พร้อมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการการแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 1 กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรควบคุมคลินิกการแพทย์แผนจีนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยการจัดทำร่างมาตรฐานสถานพยาบาลสาขาการแพทย์แผนจีน บังคับให้คลินิกแพทย์แผนจีนต้องมีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรค ให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะ ที่ต้องมียา อุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพียงพอ ส่วนการนวดและการฝังเข็มนั้น สถานบริการจะต้องมีจำนวนเตียงให้บริการสัดส่วนไม่เกิน 10 เตียง ต่อผู้ให้บริการ 1 คน ซึ่งร่างดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนพิจารณา โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีหน้านี้   นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มากขึ้น โดยให้คลอบคลุมถึงการใช้สมุนไพรและการนวดแบบจีน ที่นอกเหนือจากการฝังเข็มรักษาโรคเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะเสนอให้ผู้ป่วยเบิกได้ตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริงได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรักษาโรคมากขึ้น -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   22 กรกฎาคม 2553อย.ออกกฎลดปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม แก้เด็กไทยฟัน "ตกกระ" คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า เด็กที่บริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีรายงานไว้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่แนะนำคือ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร ซึ่งการกำหนดเป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากการบริโภคน้ำและอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งทางอย. ห่วงใยเด็กไทยโดยเฉพาะในวัย 1 – 6 ขวบซึ่งอยู่ในระหว่างการสร้างฟัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็ก จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 โดยปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก “1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร” เป็น “0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร” โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ส่วนผู้ผลิต / นำเข้าน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการจดทะเบียนรายละเอียดของอาหารไว้แล้วก่อนหน้านี้ ต้องปรับปริมาณฟลูออไรด์ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป หากพบน้ำดื่มบรรจุขวดมีคุณภาพหรือมาตรฐานไม่เป็นไปตามประกาศ เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ผู้บริโภคร้อง กทช.เปลี่ยนเครือข่ายใช้เบอร์เดิมต้องไม่เสีย 99 บาท เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) คัดค้านการอนุญาตให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายเลขหมายในอัตรา 99 บาท เพราะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมนายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า จุดยืนขององค์กรผู้บริโภคเรื่องการคงสิทธิในเลขหมายได้เสนอไว้อย่างชัดเจนทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กทช. ทั่วประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง 3G เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกเก็บค่าบริการในการโอนย้ายบริการจากผู้ใช้บริการ แต่หากบริษัทมีต้นทุนในการให้บริการโอนย้ายดังกล่าวจริง ผู้ประกอบการควรตกลงรับภาระกันเอง เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ใช้บริการด้าน นายพนัชทร สุนทราภิมุข ตัวแทนองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค กล่าว่า การมีมติของ กทช.ที่ให้เรียกเก็บค่าโอนย้ายเครือข่ายได้นี้ น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 12 และมาตรา 21 เพราะในมาตรา 12 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการ กทช.กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิมได้ เมื่อมีความพร้อมทางเทคนิค และที่สำคัญคือเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการเมื่อผู้ใช้บริการต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการแต่ต้องการคงเลขหมายเดิม โดยไม่มีการให้อำนาจแก่ กทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการคิดค่าใช้จ่ายการโอนย้ายเลขหมายแต่อย่างใด และในมาตรา 21 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังบังคับให้คณะกรรมการ กทช. ต้องกำหนดมาตรการที่มิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ให้บริการกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม แต่การที่ กทช.ไปกำหนดให้มีการเรียกค่าเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายกับผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดสิทธิในการเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ตนเองเห็นว่ามีคุณภาพการบริการที่ดีกว่าผู้ให้บริการรายเดิมได้ การกำหนดให้มีการคิดค่าธรรมเนียมได้นี้จึงไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันถือเป็นหน้าที่ที่ กทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- แพทย์ชนบทย้ำ พ.ร.บ,คุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดการฟ้องหมอ แพทย์ชนบท เภสัชกรชนบท เครือข่ายผู้บริโภคย้ำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมอได้ประโยชน์ พร้อมหนุนให้มีกฎหมาย เครือข่ายผู้เสียหายเดินหน้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อสังคม และตนหวังว่า น่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีทุกฝ่าย และถือว่ามีประโยชน์อย่างมากและครอบคลุมผู้ใช้สิทธิทุกคน   “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายซึ่งเป็นเสมือนบททดลอง ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งสามารถเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ แต่ก็บรรเทาความเสียหายเฉพาะผู้ใช้สิทธิรักษาบัตรทองเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งหากมี กฎหมายตัวนี้ออกมาจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้น” นพ.วชิระ กล่าว   ด้าน นพ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ที่เคยมีกรณีรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกแล้วผู้ป่วยติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง 11 รายและต้องควักลูกตาทำให้ตาบอดสนิทจำนวน 10 ราย กล่าวว่า “ถ้าหากมีกฎหมายตัวออกมาตั้งแต่ปี 2553 ตนน่าจะเบาหน่อย เพราะหากมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกมาเราจะมีเวทีในการพูดคุยกันระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพลาดพลั้งมาก็ต้องคุยกัน ต้องสร้างสัมพันธ์กัน”   ด้าน ภญ. ศิริพร จิตร์ประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงพี่น้องที่ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขที่กังวลว่าหากกฎหมายตัวนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการฟ้องอาญามากขึ้นนั้น การฟ้องอาญา ม.34 หากผู้เสียหายฟ้องอาญาไว้แล้ว จะไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ได้บังคับให้เลือกใช้สิทธิเพียงสิทธิเดียวเท่านั้น และ ม.45 จะมีการบรรเทาโทษ หรือละเว้นโทษให้ หากมีการช่วยเหลือ หรือแสดงความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายนี้ไปแล้ว ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาหลายๆส่วน เชื่อว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องผสานความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้ต่อไปและไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม  

อ่านเพิ่มเติม >