ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >