ฉบับที่ 263 ใบไม้มีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่..ได้หรือ

        เวลาผู้บริโภคได้รับข้อมูลถึงการมีโปรตีนปริมาณสูงในส่วนของพืชที่เป็นอาหารชนิดใหม่ (novel food) นั้น สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนวิชาเคมีทางอาหารที่มีการใช้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหาร อาจจำเป็นต้องรับฟังโดยดุษฎี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่านวิชาดังกล่าวอาจฉุกใจว่า ปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นอาจไม่ใช่โปรตีนจริงก็ได้         กรณีตัวอย่างที่อาจเป็นปัญหานั้นได้แก่ การอ้างว่าใบของพืชชนิดหนึ่งมีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่ ซึ่งปรากฏในบางรายการโทรทัศน์บ้าง Youtube บ้าง หรือสื่อช่องทางอื่นๆ ซึ่งผู้รับข่าวสารจำต้องตั้งหลักคิดให้ดีแล้วถามตัวเองว่า ผู้ให้ข้อมูลได้ข้อมูลมาได้อย่างไร         ในความเป็นจริงแล้วตัวอย่างนั้นๆ ต้องถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการหรือเอกชนที่ได้มาตรฐานตามกระบวนการของ ISO ซึ่งผู้รับข้อมูลควรสอบถามผู้ให้ข้อมูลว่า ใครเป็นผู้วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนให้และควรมีเอกสารรับรองเป็นเรื่องเป็นราวจึงจะเชื่อได้ในระดับหนึ่ง         ทำไมจึงควรเชื่อได้แค่ในระดับหนึ่งนั้นมีคำอธิบายว่า ในการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนของสิ่งที่เป็นอาหารมนุษย์นั้น ถ้าสิ่งนั้นดูไม่น่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า เช่น ใบปาล์ม ผู้รับข้อมูลต้องใช้วิจารณญาณว่า ข้อมูลนั้นอาจเป็น “ความเข้าใจผิด” เนื่องจากการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจในการแปรผลที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นผลที่นำมาพูดอาจผิดพลาด เพราะผลการวิเคราะห์ที่ได้อาจไม่ได้หมายถึงโปรตีนจริงโปรตีนในพืช        เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ใบไม้จากพืชบางชนิดนั้นพอนับได้ว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่มนุษย์กินได้ ในหนังสือชื่อ Handbook of Hydrocolloids (Second edition) ซึ่งเป็น Series in Food Science, Technology and Nutrition พิมพ์โดย Woodhead Publishing Limited ในเมือง Oxford สหราชอาณาจักร ในปี 2009 มีบทที่ 15 เป็นเรื่องของ Vegetable protein isolates ซึ่งให้ข้อมูลว่า ใบไม้มีการสังเคราะห์โปรตีนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้นอาหารสัตว์บางชนิดจึงใช้โปรตีนเข้มข้นจากใบไม้ (leaf protein concentrate) บางชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้ใบไม้ดังกล่าวดูมีอนาคตในการเป็นอาหารเสริมโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ องค์การอนามัยโลกจึงเสนอให้มนุษย์บริโภคโปรตีนที่สกัดจากใบไม้เป็นครั้งแรกในราวปี 1960 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเนื่องจากโปรตีนที่สกัดได้จากใบไม้มักมีรสขม เหม็นเขียว และสีออกเขียวเข้ม สำหรับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโปรตีนในใบไม้มักเป็นการศึกษาใบอัลฟาฟา (alfalfa) ใบถั่วฟาบา ใบถั่วลันเตา ผักโขม (amaranth) พืชน้ำเช่น แหน (duckweed) ซึ่งมักแสดงผลว่า โปรตีนที่ศึกษามีกรดอะมิโนจำเป็นคือ เมไธโอนีน (methionine) ในปริมาณต่ำ และมักมีสารพิษทางโภชนาการคือ สารไฟเตต สารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ หรือสารแทนนิน เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติ         ประเด็นสำคัญที่ผู้รับข้อมูลควรทราบคือ การหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นใช้วิธีการใด เพราะโดยปรกติแล้วการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารซึ่งมีความหลากหลายนั้นมักใช้วิธี เจลดาห์ล (Kjeldahl method) เป็นหลัก ยกเว้นในบางกรณีใช้วิธีวัดการหักเหแสง (refractive index measurement) เพื่อหาปริมาณโปรตีนในนมสดซึ่งต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากนมต้องได้รับการแปรรูปก่อนการเสียสภาพโดยพื้นฐานแล้วกระบวนการวิเคราะห์โดยวิธีเจลดาห์ลนั้น เป็นการวิเคราะห์จำนวนอะตอมไนโตรเจน โดยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ไนโตรเจนนั้นอยู่ในโมเลกุลอะไร และที่สำคัญองค์ประกอบตามธรรมชาติของพืช เช่น ใบพืช นั้นมีสารธรรมชาติมากมายหลายชนิด (ที่ไม่ใช่โปรตีน) มีอะตอมไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบระดับโมเลกุล         นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีทางอาหารแบ่งสารประกอบในอาหารที่มีไนโตรเจนออกเป็น 2 ประเภทคือ protein nitrogen และ non-protein nitrogen ดังนั้นในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารด้วยวิธีเจลดาห์ลแล้วได้ผลเป็นปริมาณไนโตรเจนโดยรวมนั้นจะต้องเอาค่า conversion factor ที่ได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละอย่างมาคูณค่าไนโตรเจนออกมาเป็นค่าปริมาณโปรตีน โดยค่า conversion factor สำหรับอาหารแต่ละชนิดที่นักวิเคราะห์รู้กันว่า ได้มีการทำวิจัยเชิงลึกแล้วว่าช่วยให้ได้ค่าโปรตีนจริงในอาหารแต่ละชนิดเป็นเท่าใด เช่น 6.38 สำหรับเนื้อสัตว์ ไข่และข้าวโพด, 6.25 สำหรับข้าวฟ่าง, 5.83 สำหรับข้าวเจ้า, 5.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ธัญญพืช, 5.6 สำหรับปลาและกุ้ง, 4.59 สำหรับสาหร่ายสีแดง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดที่ทันสมัยขึ้นนั้นสามารถดูได้จากบทความเรื่อง Calculation of Nitrogen-to-Protein Conversion Factors: A Review with a Focus on Soy Protein ในวารสาร Journal of the American Oil Chemists' Society ของปี 2019 หรือจาก Official Methods of Analysis of AOAC INTERNATIONAL, 21st Edition (2019)         ปัญหาที่มักเกิดเกี่ยวกับการระบุถึงปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารใหม่ เช่น ใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีใครสนใจทำวิจัยหา conversion factor เฉพาะไว้ ผู้ทำการวิเคราะห์จำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไป คือ 6.25 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีโอกาสผิดพลาดได้         ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเอาโอกาสผิดพลาดดังกล่าวไปหาประโยชน์คือ กรณีของนมด้อยคุณค่าที่ถูกเติมสารเมลามีน (melamine) ในประเทศจีน ซึ่งเมลามีนเป็นสารที่มี อะตอมไนโตรเจนในโมเลกุลสูง โดยสูตรเคมีของเมลามีนโมโนเมอร์คือ C3H6N6  ดังนั้นเมื่อมีการเติมเมลามีนลงในนมที่มีโปรตีนต่ำแล้ว เมื่อมีการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในนมด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นอาจทำให้แปลความว่า นมที่ถูกปลอมแปลงมีปริมาณโปรตีนสูงเหมือนนมธรรมดา เพราะมีการใช้ conversion factors ของนมสดมาคูณค่าไนโตรเจนที่วิเคราะห์ได้ออกมาแล้วแปรผลเป็นปริมาณของโปรตีน         ดังนั้นจากการที่มีรายการโทรทัศน์บางรายการซึ่งเผยแพร่บนสื่อต่างๆ กล่าวถึงใบไม้ของพืชบางชนิด เช่น ใบปาล์ม ใบว่าน ว่ามีโปรตีนสูงนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างที่เป็นอาหารใหม่ด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นจำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไปคือ 6.25 เป็นตัวคูณเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนออกมา ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เพราะยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่า ใบไม้นั้นมีโปรตีน         ในการประเมิณคุณภาพของโปรตีนในตัวอย่างอาหารนั้น AOAC หรือ Association of Official Agricultural Chemists (ซึ่งเป็นองค์กรที่นักเคมีทางอาหารเชื่อถือ) ได้กำหนดไว้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันในการประเมินเพราะสะดวกและเร็วที่สุดพร้อมทั้งมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งนั้นคือ PER (Protein Efficiency Ratio หรือ อัตราส่วนประสิทธิภาพโปรตีน)         หลักการของ PER โดยย่อนั้นเป็นการใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน (laboratory animals) เช่น หนู rat หรือหนู mouse ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคน (แต่อาจใช้ไก่หรือปลาที่มีการเพาะพันธุ์จนเป็นมาตรฐานแล้วได้เช่นกัน) โดยแบ่งสัตว์ออกเป็นกลุ่ม ๆ ให้มีน้ำหนักเฉลี่ยของสัตว์ทั้งหมดใกล้เคียงกัน จากนั้นกำหนดให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารมาตรฐานที่สัตว์นั้นกินแล้วเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ซึ่งมีไข่หรือเคซีนที่เป็นโปรตีนในนมเป็นแหล่งโปรตีน และอีกกลุ่มกินอาหารที่มีการแทนที่โปรตีนในอาหารทั้งหมดด้วยตัวอย่าง (เช่น ใบไม้) ที่สนใจศึกษา (ถ้าจะให้ละเอียดรอบคอบกว่าจำต้องมีกลุ่มที่สามที่เป็น pair fed control ด้วย) โดยเมื่อคำนวณค่าพลังงานรวมของอาหารที่ทดสอบแล้วต้องประมาณเดียวกันกับค่าพลังงานรวมของอาหารมาตฐานในลักษณะที่เรียกว่า isocaloric diet        ในการศึกษาต้องทำการจดน้ำหนักสัตว์และน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินทุกวัน (เมื่อเก็บไว้ยืนยันการว่าการเจริญเติบโตเป็นปรกติ) และเมื่อสิ้นสุดการทดลอง เช่น 4 สัปดาห์ สัตว์ทดลองแต่ละตัวต้องถูกชั่งน้ำหนักแล้วหารด้วยน้ำหนักโปรตีนที่คำนวณจากน้ำหนักที่สัตว์กินอาหารรวมทั้งสิ้น ผลที่ได้คือ ค่า PER.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 เอาแล้วโดนหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก

        ยุคข้าวของแพง ใจใครจะไม่หวั่นไหวเมื่อมีการเสนอขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด         คุณดาวเรือง เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ทุกวันนี้ต้องปรับราคาขายขึ้นไปเพราะไม่อาจทนต้านราคาสินค้าซึ่งถีบตัวสูงได้ โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ต้องใช้จำนวนมาก และราคาก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ปรับมากไปลูกค้าก็จะหนีหายกันไปหมด วันหนึ่งมีคนรู้จักมาบอกว่า “ฉันรู้แหล่งซื้อน้ำมันพืชยี่ห้อดังนะ น้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าตลาด ขายแค่ 3 ขวด 100 บาท เพราะเขาได้รับปันส่วนมาจากบริษัท สนใจไหม”         แน่นอนดีลนี้คุณดาวเรืองหูผึ่งทันที ด้วยว่ารู้จักกันกับคนที่นำข่าวมาบอกพอสมควรและเขาก็เอาหลักฐานที่อยู่ของคนที่เสนอขายมานำเสนอ คุณดาวเรืองจึงสั่งซื้อไปหลายลัง แต่หลังโอนเงินไปรอแล้วรออีกสินค้าก็ไม่มาตามสั่ง วันหนึ่งก็เห็นข่าว ตำรวจรวบแก๊งหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก “ตายๆ ฉันจะทำอย่างไรดี” แน่นอนคุณดาวเรืองมั่นใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ และคนรู้จักคนนั้นก็พลอยหายหน้าไปด้วย จึงโทรมาปรึกษากับทาง มพบ. ว่าตนเองควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณดาวเรืองนำหลักฐานที่มีทั้งหมด ทั้งใบสั่งซื้อ ชื่อ เลขที่บัญชีที่โอนเงินเข้า รีบนำไปแจ้งความทันที         กรณีนี้นำมาฝากเป็นข้อเตือนใจ หากพบว่ามีใครนำเสนอขายสินค้าใดก็ตามที่ราคาถูกผิดปกติ คือถูกกว่าราคาตลาดไปมาก ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า เป็นเรื่องหลอกลวงไม่ควรหลงเชื่อเพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินทอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมากัญชาจากอาหารกันให้ครื้นเครง

        รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสในช่วง 9.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ตอนหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับ อาหารผสมกัญชา ซึ่งเป็นไปตามกาลสมัยที่ผู้อาศัยอำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศได้มองเห็นศักยภาพของกัญชาในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองจากประชาชนที่อยู่ในข่ายของคำพระที่ว่า “สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ” ซึ่งแปลได้ว่า กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย โดยเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฏหมายให้บางส่วนของกัญชาถูกเอามาผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้คนไทยยุคโควิด-19 นี้ได้ยิ้มกันทั่วหน้าทั้งที่กระเป๋าแห้งครึ่งค่อนประเทศ         สิ่งที่น่าสนใจในตอนหนึ่งของข่าวจากไทยพีบีเอสคือ ได้มีทั้งเภสัชกรของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการปรุงอาหารใส่ใบกัญชาและแพทย์ที่เป็นผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินอาหารใส่ใบกัญชาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า เหมาะสมแค่ไหนในการกินอาหารลักษณะนี้ โดยเฉพาะการเกิดปัญหายาตีกันในผู้ที่ได้รับสารเสพติดจากใบกัญชาแล้วไปมีผลต่อยาบำบัดโรคอื่นที่กำลังกินอยู่ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเตือนผู้บริโภคในการกินอาหารที่ปนกัญชาประมาณว่า กินน้อยเป็นคุณกินมากเป็นโทษ ต้องพอดี ( แต่คำว่า พอดี นั้นขึ้นกับแต่ละบุคคลซึ่งไม่เท่ากัน) ดังนั้นอาหารผสมกัญชาจะก่อปัญหาให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น อยู่ภายใต้สามัญสำนึกของผู้ประกอบการว่า ควรใส่ส่วนไหนของกัญชาลงในอาหารในปริมาณเท่าใด และมีการเตือนผู้บริโภคหรือไม่ว่าอาหารมีกัญชา         เนื้อความต่อไปนี้ไม่ได้ประสงค์จะต่อต้านการใส่กัญชาในอาหารแต่อย่างใดเพราะรู้อยู่แล้วว่า เปล่าประโยชน์ในการต่อต้าน เพียงแต่ต้องการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้อ่านลองหาคำตอบว่า มีวิธีการใดที่สามารถควบคุมผู้ประกอบการให้ใส่เฉพาะใบของกัญชาที่ซื้อจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตการปลูกตามกฏหมาย ด้วยจำนวนใบที่แค่เพิ่มความรู้สึกอร่อยของอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดอาการเมาสารเคมีในกัญชา และเมื่ออาหารที่ผสมใบกัญชามาถึงลูกค้าแล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาหารนั้นมีแค่ใบกัญชาจำนวนเท่าที่อนุญาต และ/หรือไม่มีการเติมสารสกัดหรือส่วนอื่นของกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ผู้สนับสนุนการค้าอาหารใส่กัญชาคงมีคำตอบว่า ไม่น่าจะมีการใส่เกินเพราะกัญชานั้นยังมีราคาแพง แต่ท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า ก่อนทำให้คนติดใจในอะไรสักอย่างก็คงต้องมีการลงทุนทำให้ติดใจเสียก่อน เพราะเมื่อติดใจจนใจติดแล้ว เท่าไรก็ยอมควักจ่ายเพื่อให้ได้ตามใจที่ต้องการ         เภสัชกรท่านหนึ่งได้เขียนบทความเรื่อง พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บ https://ccpe.pharmacycouncil.org (ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม) ตอนหนึ่งประมาณว่า  “ส่วนของต้นกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC มากที่สุด คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)”..... ดังนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า การบริโภคใบกัญชาในอาหารนั้นน่าจะเป็นหนทางการรับสาร THC เข้าสู่ร่างกายด้วยความตั้งใจนอกเหนือไปจากการสูดควันจากใบกัญชาที่มวนในลักษณะบุหรี่ อย่างไรก็ดีปริมาณ THC ในใบกัญชานั้นขึ้นกับสายพันธุ์ของกัญชาว่าเป็นสายพันธุ์ใดด้วย         อาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่องแล้วเมื่อใส่กัญชาลงไปอร่อยขึ้นหรือ คำตอบคือ ใช่ในภาพลวง ดังนั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวไร้ฝีมือย่อมพอใจถ้าคนกินอาหารเข้าไปแล้วสักพักก็ชมว่า อาหารจานนั้นอร่อย เพราะผลจากการที่สาร THC ในกัญชาวิ่งเข้าไปหาตัวรับ (receptor) ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทส่งสัญญาณไปสมองว่า ร่างกายรู้สึกชอบใจเมื่อได้กิน THC ในอาหารนั้นๆ ดังปรากฏจากบทความเรื่อง The endocannabinoid system controls food intake via olfactory processes ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2014 ที่ระบุว่า  เมื่อ THC เข้าไปในสมองของหนูทดลองแล้วได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่นและลิ้มรสอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้กินอาหารมีกัญชา (ซึ่งต้องมี THC) จึงคงรู้สึกพึงพอใจในอาหารจานนั้นมากขึ้นเพราะลิ้มรสได้ดีขึ้น ไม่ใช่อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด         นอกจากนี้บทความเรื่อง  Hypothalamic POMC neurons promote cannabinoid-induced feeding ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2015 พบว่า สารเคมีในกัญชาน่าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ทำให้กินอาหารไม่หยุด เพราะเซลล์ประสาทที่ดูเหมือนถูกเปิดให้ทำงานด้วยสาร THC นั้นเป็นเซลล์ประสาทที่ปรกติแล้วทำหน้าที่ปิดสัญญาณความหิวของร่างกายตามปกติเพื่อควบคุมการกินอาหาร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า THC ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมอง โดยส่งคำสั่งแสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวก็ตาม         บทความเรื่อง Smoking, Vaping, Eating Is Legalization Impacting the Way People Use Cannabis ในวารสาร International Journal of Drug Policy ของปี 2016 ให้ข้อมูลว่า อาหารผสมกัญชาที่มี THC นั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกหลุดไปจากโลกเช่นเดียวกับการสูบกัญชา นอกจากนี้การกินกัญชานั้นน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ THC ออกฤทธิ์ได้สูงกว่าเมื่อได้จากการสูบควัน ซึ่งมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการกินอาหารมีกัญชานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการกินนั้นใช้เวลาหลังจากกินแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงในการเริ่มต้นแสดงฤทธิ์เมา และอาจอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งต่างจากผลของ THC จากการสูบควันกัญชานั้นมักออกฤทธิ์เมาอยู่ในช่วง 1–4 ชั่วโมง         ในเอกสารเรื่อง The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids ของ The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine เผยแพร่โดย The National Academies Press ในปี  2017  กล่าวเป็นเชิงว่า การกินอาหารใส่กัญชานั้น เป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับควันจนเกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ หรือถ้ายาวไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ดังนั้นสำหรับผู้ประสงค์จะละศีลข้อ 5 เพื่อลองกินผลิตภัณฑ์ใส่กัญชาจึงรู้สึกว่า ได้ทำคุณแก่โลกที่ไม่ได้หยิบยื่นควันพิษให้สัตว์โลกที่อยู่ใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอคือ ควรเริ่มด้วยขนาดที่ต่ำหน่อยเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เพราะการกินนั้นง่ายมากที่จะกินจนได้สารเสพติดในขนาดที่สูงเกินไป ซึ่งกว่าที่จะรู้ผลที่เกิดขึ้นจาก THC นั้น ก็อาจเกินกว่าที่ร่างกายรับไหว         เรารู้กันมานานแล้วว่า สารเสพติด THC ในกัญชานั้นออกฤทธิ์แทบจะทันทีทันใดเมื่อสูบควันเข้าถึงปอด เพราะมีการส่งต่อสารเสพติดนั้นเข้าสู่เลือดในพริบตาที่ปอด ในขณะที่ผลของ THC จากการกินนั้นต้องรอเวลาย่อยผ่านระบบทางเดินอาหาร ไปตับก่อนเข้าสู่เลือดที่ต้องรอเวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีการเผาผลาญเร็วอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้เร็วขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถย่อยและประมวลผลสิ่งที่กินได้เร็วขึ้น การกินกัญชาตอนท้องว่างอาจทำให้ได้ผลเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการกินแบบกินร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือหลังกินอาหาร ดังนั้นหลังการกินอาหารใส่กัญชาสิ่งที่ผู้บริโภคอาจนึกไม่ถึงคือ การออกฤทธิ์ของสารเสพติดในกัญชา (ถ้ามี) อาจเริ่มขึ้นหลังจากอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แล้วเริ่มเคลิบเคลิ้มไปกับการจราจร         อาหารบางอย่างเช่นลูกอมหรือลูกกวาดนั้น การดูดซึมของ THC อาจทำให้เมาตั้งแต่ขนมนั้นอยู่ในปาก ดังบทความเรื่อง  Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ในวารสาร  European Journal of Internal Medicine ของปี 2018 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาในลูกอมที่เรียกว่า hard candy นั้นอาจเริ่มออกฤทธิ์ใน 15–45 นาที ในขณะที่กัญชาในอาหารอื่นอาจต้องรอเวลา 60–180 นาที กว่าที่ผู้บริโภคเริ่มเมา         ความสามารถทนได้ต่อการออกฤทธิ์ของสารเสพติดทั้งหลายในกัญชา (Individual tolerance) นั้นต่างกันในแต่ละคน สายเขียวที่จัดว่าได้สูบหรือกินกัญชามาเป็นเวลานานสามารถทนกับฤทธิ์ของ THC ได้ในปริมาณสูงระดับหนึ่งจึงจะเมาตามต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาอาจรู้สึกถึงฤทธิ์ที่รุนแรงอย่างรวดเร็วจนหัวทิ่มตำหลังได้ THC จากกัญชาในระยะเวลาไม่นานเท่าใด  ซึ่งตรงกับข้อมูลในบทความเรื่อง Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับ THC ในปริมาณหนึ่ง สายเขียวส่วนใหญ่อาจเมากัญชาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง) ในขณะที่มือใหม่หัดเสพอาจเป๋ได้ถึง 6–8 ชั่วโมง และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พบว่า คนที่ไวต่อสารเสพติดต่างๆ ในกัญชาสูงอาจเมาได้นานถึง 8–12 ชั่วโมง        เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณของ THC ในกัญชาว่า ควรเป็นเท่าใดในอาหารจึงจะไม่ออกฤทธิ์ที่ก่อปัญหาในคนที่ไวต่อการเมากัญชา  มีบางบทความในอินเตอร์เน็ทเสนอว่า สาร THC ในปริมาณที่ต่ำแค่ 0.5 มิลลิกรัม เรื่อยไปจนถึง  2.5-5.0 มิลลิกรัมนั้นไม่ควรส่งผลเสียในผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยรับรองข้อเสนอนี้ สำหรับสายเขียวมืออาชีพที่นิยมการใช้หรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชามักกล่าวว่า THC ประมาณ 10-15 มิลลิกรัม ก็ควรส่งผลให้ร่างกายรู้ได้ถึงฤทธิ์ของสารเสพติดดังกล่าวแล้วหลังการเสพเข้าไป 2-3 ชั่วโมง และเมื่อใดที่ขนาดของสาร THC ขึ้นไปถึง 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่มืออาชีพรับได้นั้น มือใหม่อาจจะได้รับโอกาสรู้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหายฟัง         ปริมาณจิ๊บ ๆ  (สำหรับบางคน) ของ THC ที่ 20 มิลลิกรัมนั้น ดูแล้วไม่เท่าไรเลยในผู้ที่ชินกับการสูบกัญชา แต่ปริมาณเดียวกันนี้อาจก่ออันตรายต่อมือใหม่หัดกินอาหารใส่กัญชา ดังที่บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Tasty THC Promises and Challenges of Cannabis Edibles ในวารสาร Methods Rep RTI Press ของปี 2017 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจาก THC ในอาหารที่กินได้อาจปรากฏในบางคนด้วยปริมาณที่ต่ำแค่ 2.5 มิลลิกรัม ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องการสูงถึง 50 มิลลิกรัมจึงจะซาบซึ้งถึงฤทธิ์ของ THC ช่วงที่กว้างของขนาดที่ออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคลของ THC นี้ดูเป็นการตอกย้ำถึงหลักการว่า คนที่ยินดีละศีลข้อ 5 ควรเริ่มต้นกินอาหารใส่กัญชาด้วยปริมาณที่น้อยก่อนถ้ายังคิดว่า โลกนี้ยังน่าอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 การตกค้างของ ‘ไกลโฟเสต’ ใน ซีเรียลบาร์

        ซีเรียลบาร์ (Cereal Bar), กราโนลาบาร์ (Granola Bar) หรือ ธัญพืชอัดแท่ง บางครั้งถูกเรียกว่า เอนเนอร์จีบาร์ (Energy Bar) เป็นอาหารเช้าหรือขนมทานเล่น ซึ่งทำจากกราโนลาที่ถูกอัดแท่งแล้วนำไปอบ เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เหมาะสำหรับช่วงเวลาเร่งรีบเพราะสามารถรับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิดทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน น้ำตาล ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ          ความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสารไกลโฟเสตคือ ในการเพาะปลูกธัญพืช เกษตรกรส่วนหนึ่งมีการใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชในปริมาณมาก หรืออาจมีการตกค้างของสารเคมีดังกล่าวอยู่ในดินเพาะปลูก ซึ่งอาจทำให้เมล็ดธัญพืชที่เป็นผลผลิตมีสารพิษตกค้างอยู่ด้วย เมื่อนำธัญพืชมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ซีเรียล ก็มีความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์จะมีสารเคมีตกค้าง         โดยเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กร “กลุ่มคนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” หรือ Environmental Working Group ในสหรัฐอเมริกา ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่วางขายในท้องตลาด จำนวน 45 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ และพบว่ามีซีเรียลถึง 43 ตัวอย่าง ที่มีสารไกลโฟเสต (Glyphosate) ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชปนเปื้อน โดย 2 ใน 3 ของตัวอย่างซีเรียลที่พบการปนเปื้อนนั้น มีปริมาณของไกลโฟเสตในอัตราสูง ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ จำนวน 8 ตัวอย่าง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน 2562  ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืช “ไกลโฟเสต (Glyphosate)” เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยให้กับผู้บริโภค โดยผลวิเคราะห์แสดงไว้ดังตารางหน้าถัดไปสรุปผลการตรวจวิเคราะห์        จากการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารไกลโฟเสตในผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง พบว่า ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง  ข้อมูลโภชนาการ         จากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ทั้ง 8 ตัวอย่าง โดยเรียงลำดับตามปริมาณน้ำตาล (กรัม) ต่อ น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัม จากน้อยไปมาก พบว่า         ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อน้ำหนัก 100 กรัม น้อยที่สุด คือ Carman's (คาร์แมนส์) ธัญพืชชนิดแท่งผสมอัลมอนด์และเฮเซลนัต กลิ่นวานิลลา มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 11.42 กรัม/น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัม         และ ผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อน้ำหนัก 100 กรัม มากที่สุด คือ Kellogg's (เคลล็อกส์) ธัญพืชอบกรอบชนิดแท่งเคลือบโยเกิร์ต ผสมแครนเบอร์รี่อบแห้งและสตรอเบอร์รี่เข้มข้น มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 36 กรัม/น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัมข้อมูลอ้างอิง- ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร  (http://fic.nfi.or.th/)- กราโนล่าคืออะไร ลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ สูตรลดความอ้วนด้วยกราโนล่า และวิธีทำกราโนล่าด้วยตัวเอง    (www.honestdocs.co/what-is-a-granola-to-lose-weight-or-not)   (www.honestdocs.co/what-is-a-granola-to-lose-weight-or-not)- สหรัฐฯ เตือนพบอาหารเช้า "ซีเรียล" ผสมยาฆ่าหญ้า  (www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/87584)- www.ewg.org/childrenshealth/glyphosateincereal- https://th.wikipedia.org/wiki/- www.ewg.org/childrenshealth/glyphosateincereal- https://th.wikipedia.org/wiki/ไกลโฟเสต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ‘ยาปฏิชีวนะในพืชและสัตว์’ เมื่อผู้บริโภคอาจกินเชื้อดื้อยาเข้าปาก

ในช่วง 5-6 ปีหลังๆ มานี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ทำการรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลบ่อยครั้งขึ้น ถึงกระนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลจนก่อผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง        ข้อมูลจาก ‘ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อปลายปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อถึงปี 2593 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดคือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท        องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ(Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ         ส่วนในประเทศไทย ประมาณการเบื้องต้นคาดว่า มีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง        เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 รายหรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ        จากข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคที่ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องผ่าตัด อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทว่า ในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้อดื้อยาอาจมากับอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะส้มและปลาทับทิม นี่ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค  แม่น้ำที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ         ต้องกล่าวก่อนว่าการทำปศุสัตว์อย่างหมู ไก่ หรือโคนม และการเลี้ยงปลามีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่แล้วโดยทั่วไป เกษตรกรสามารถซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งเคยมีการสำรวจพอเชื้อดื้อยาทั้งในหมูและไก่มาแล้ว ส่วนในสัตว์น้ำพบเชื้อดื้อยาในปลามากกว่ากุ้ง โดยเฉพาะการดื้อต่อยา tetracycline, oxytetracycline และ sulfamethoxazole แน่นอนว่าเรื่องนี้ชวนวิตกกังวล เพราะในคนที่มีอาการแพ้ยา การได้รับเชื้อดื้อยาเพียงน้อยนิดอาจหมายถึงชีวิต         ภก. สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา เปิดเผยกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         การติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะในกระชังปลาทับทิมในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา อ่างทอง ไปจนถึงชัยนาท พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ที่ผสมมากับอาหารเลยก็คือ tetracycline กลุ่มที่ใช้รักษาโรคพื้นๆ อย่าง penicillin amoxicillin แล้วก็มีกลุ่มที่ใช้รักษาโรคพิเศษคือกลุ่ม quinolone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสัตว์        ภก. สันติ ยังบอกอีกว่า ยากลุ่ม quinolone นี้ยังไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือเปล่าหรือว่ามาจากตลาดมืด แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร ตั้งแต่ต้นน้ำก็คือเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทมาถึงอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ พบว่ามีการใช้อย่างไม่มีการควบคุม ชาวบ้านสามารถหาซื้อมาใช้ตามคำบอกเล่าหรือแบบบอกต่อจากเพื่อนที่ทำกระชังปลาด้วยกัน         “ผู้ประกอบการจะประเมินจากจำนวนปลาที่อยู่ในกระชังมากน้อย เพราะถ้าความหนาแน่นของปลาในกระชังมีมาก ปลาก็มีโอกาสจะเป็นแผลหรือเกิดโรค เขาก็จะใช้ยาในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนตัว amoxicillin เขาจะใช้ละลายน้ำแล้วก็หว่านลงในกระชัง ซึ่งเขาก็จะมีความถี่ในการให้ เช่น ให้เช้าเย็นหรือให้ติดต่อกัน 7 วันเหมือนมีคนแนะนำมาว่าควรจะทำแบบนี้ๆ และในส่วนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคที่มาตามฤดู เขาก็จะใช้ตัว quinolone ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์ แต่โดยแพ็คเกจแล้วดูเหมือนจะเป็นยาในตลาดมืดมากกว่า ไม่ใช่ยาที่ขายโดยทั่วไป         สิ่งที่เรากังวลก็คือการที่ทั้งผสมอาหารให้ปลากินทุกวันหรือผสมน้ำแล้วหว่านลงในกระชังติดต่อกัน 7 วัน 14 วัน มันเป็นการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคิดว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่แค่ตัวปลาในกระชังที่ได้รับยานี้ แต่มันหมายถึงสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาอื่นๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะไปด้วย ซึ่งถ้ามันมียีนดื้อยา การที่เราไปบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาอยู่มันจะส่งผลกระทบกับเราหรืออาจจะตกค้างในแม่น้ำ” ภก.สันติ กล่าว  เชื้อดื้อยาในสวนส้ม          อีกกรณีหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นคือการใช้รักษาโรคพืช โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งในพืชตระกลูส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacterasiaticus ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่เกษตรกร         ต่อมางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยรักษาโรคกรีนนิ่งได้ผลดี โดยมีการทดลองเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ tetracycline, penicillin และ ampicillin พบว่า ampicillin ที่เป็นแคปซูลทั้งขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมได้ผลดีที่สุด จึงมีการส่งเสริมการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าต้นส้มเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มเป็นไปอย่างแพร่หลาย         จากการลงสำรวจพื้นที่อำเภอเชียงของของ ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบว่า มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 ของสวนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการใช้ยังไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณปีละครั้งหรือปีละ 2 ครั้งเท่านั้น         “การใช้ยาปฏิชีวนะที่เชียงของจะได้รูปแบบมาจากฝาง จะใช้แบบผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะรูต้นส้ม แล้วก็ฉีดเข้าไป บางส่วนก็จะใช้ไซริงค์ใหญ่ๆ ประมาณ 20 ซีซีปักคาที่ต้นไว้ บางส่วนก็จะใช้อัดเข้าไปในขวดโค้กแล้วต่อสายน้ำเกลือห้อยไว้ ส่วนใหญ่ก็จะมี 2 รูปแบบนี้ ทางเรากำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลทำเป็นทะเบียนผู้ผลิตส้มและทะเบียนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสวนจึงยังไม่ทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ส่วนยาที่ใช้จะเป็น ampicillin กับ amoxicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนด้วยสำหรับโรคติดเชื้อทั้งหลาย”         ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาล เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และสำนักงานเกษตร เพื่อทำการสำรวจ พูดคุย และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ปลูกส้มและทะเบียนสารเคมี ทั้งยาปฏิชีวนะและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงทั้งหลายว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง         ภก.อิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาหรือร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่เกษตรกรก็นำไปดัดแปลงใช้เพราะมีการวิจัยว่าใช้ได้ผล แต่ไม่ได้มีการศึกษาผลระยะยาวเรื่องการดื้อยา         เมื่อถามต่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือ?         เขาตอบว่าไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ เพราะการจะมีใบสั่งยาแพทย์ต้องเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษเป็นแค่ยาอันตรายทั่วไป        อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มในอำเภอเชียงของยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับอำเภอฝาง จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายสวนเริ่มมีความถี่ในการฉีดยาต้นส้มเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่พบคือ 2 เดือนครั้ง เกษตรกรบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะเอาไม่อยู่ ซึ่งน่าสงสัยว่าเชื้อในต้นส้มจะดื้อยาหรือเปล่า                 “มันไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสวน แต่กฎหมายจะดูแหล่งแพร่กระจายคือ ร้านยาเวลาขายจะต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาจะมีการควบคุมปริมาณและมีรายงาน แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรายงานเท่าไหร่ทำให้เกษตรกรไปซื้อตามร้านขายยาได้คราวละมากๆ และอีกปัญหาหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าที่เรายังหาเส้นทางไม่เจอ แต่เรารู้ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนในประเทศไทย         “ของเชียงของตอนนี้ถ้าเราสำรวจผลิตภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยว่ามีตัวไหนบ้าง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ก็มีแผนว่าจะทำเป็นสวนตัวอย่างควบคุม อาจมีการทำวิจัยดูปริมาณสารตกค้างในส้มเพราะเท่าที่เคยอ่านรายงานมาต้นส้มจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการกำจัดยาออกจากต้นหมด นั่นหมายความว่าเกษตรกรน่าจะฉีดก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 4 เดือนถ้าจะฉีด ตอนนี้ทางเชียงของทั้งกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันว่าจะทำเป็นตารางการฉีด ถ้าคุณจะฉีดจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลส้มที่ออกมามันปลอดภัย แต่การห้ามฉีดเป็นไปไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลงทุนกับต้นส้มไปเยอะ ถ้ามันติดเชื้อต้องเผาทิ้งทั้งไร่ ก็เหมือนเผาเงินทิ้ง” ภก.อิ่นแก้ว กล่าวกลไกกำกับดูแลที่หละหลวม-การแก้ปัญหาต้องมองทุกมิติ         ไม่จำเป็นต้องถามว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในปลาและพืชจะเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ต้องถามว่ามีการตกค้างมากแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดในปัจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า         “การตรวจสอบเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทำ เพราะการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องตรวจในแล็บที่เชื่อถือได้ ซึ่งตัวชาวบ้านเองหรือเครือข่ายที่เฝ้าระวังไม่มีกำลังพอที่จะไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เราก็เรียกร้องมาหลายปีแล้ว เช่นกรมทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรที่ตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งเขาตรวจคุณภาพน้ำอย่างเดียว แต่ไม่ได้ตรวจเรื่องเชื้อดื้อยา อันนี้เราเรียกร้องว่าควรจะตรวจโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำกระชังปลาน้ำจืดเยอะๆ”         ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่กลไกที่จะคอยกำกับดูแลก็ยังมีข้อติดขัด ภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้ประสานงานเครือข่ายยาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน กล่าวว่า ในปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่ก็มีกลไกกำกับดูแล แต่ในภาคเกษตรแม้อาจจะใช้น้อยกว่า แต่ไม่มีกลไกในการกำกับดูแล         กลไกการกำกับดูแลหมายความว่า รู้ว่ามีการใช้และสามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าใช้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ใช้แล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดยีนดื้อยามนุษย์ได้ ซึ่งถ้ามีกลไกแบบนี้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้หรือจำกัดการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือกลุ่มยาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดยีนดื้อยา ภาคเศรษฐกิจก็สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็ลดการดื้อยาจากเชื้อดื้อยาได้         กลไกในที่นี้หมายถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ต้องผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายๆ ส่วน แต่ปรากฏว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อยาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ใครมาซื้อก็ได้ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ทำได้เลย ถ้าเป็นรายใหญ่มีข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อยากลุ่ม penicillin จากอินเดียที่ใช้ในสวนส้มจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่าเป็นยาที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ได้ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะถ้ามีการกำกับดูแลยาเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้เพราะไม่ถูกขึ้นทะเบียน ไม่มีฉลาก         “การใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทางภาคเหนือก็มีการใช้พร่ำเพรื่อและไม่มีกลไกตรวจสอบเลย เพราะว่าประเด็นนี้เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง กฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่มีอันไหนที่สามารถใช้ได้โดยตรงมากนัก จะใช้กฎหมายอาหารก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปทำการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวิเคราะห์ทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายต้องส่งแล็บที่มีสเกลสูง ซึ่งตามต่างจังหวัดไม่สามารถทำได้”        จากชุดประสบการณ์ที่ทาง ภก.ศุภนัยและคณะทำเรื่องสเตียรอยด์ การนำเข้ายาปฏิชีวนะมีได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือ สำแดงเท็จแล้วก็นำเข้ามาโดยตรง ซึ่งต้องผ่านนายหน้า ผ่านบริษัท เพราะโดยกระบวนการที่ถูกต้องเวลาจะนำเข้ายาต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านศุลกากร แล้วไปสำแดงกับสำนักด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พอได้รับใบอนุญาตนำเข้าก็จะมีระบบ tracking ว่านำเข้าโดยบริษัทใดนำไปผลิตเป็นยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ส่งให้ใคร แล้วก็มาบวกรวมกันว่าสารเคมีที่เหลือถูกต้องตรงกันกับที่ผลิตและกระจายใช้ในประเทศหรือไม่ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะทำผิดจึงไม่เข้าระบบนี้เพราะติดตามได้ว่ายากระจายไปที่ไหน เหลืออยู่เท่าไหร่ จึงมีการลักลอบนำเข้าแล้วกระจายขาย         เหล่านี้แสดงให้เห็นกลไกกำกับดูแลที่ยังหละหลวมและกฎหมายที่จะใช้บังคับก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพิ่มขึ้น         อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถมองในประเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมันเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ทำสวนและเลี้ยงปลา การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอาจหมายถึงการล้มละลายเพราะผลผลิตเสียหาย หากมองในภาพรวม จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างทางเลือกในอาชีพ การถือครองที่ดินทำกินเพราะผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเลี้ยงปลาในกระชังจึงเป็นทางออกไม่กี่ทางในการเลี้ยงชีพ        การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงมองมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และต้องมองเห็นมนุษย์ที่อยู่ในวงจรนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 2

นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นกระบวนการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ต้องไม่เข้าข่ายเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจของสังคมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมี ซึ่งยีนแปลกปลอมที่หลงเหลือในเซลล์หลังถูกดัดแปรพันธุกรรม เช่น ยีนต้านยาปฏิชีวนะที่มีการใช้เป็นตัวบ่งชี้(marker) ระหว่างการเพิ่มปริมาณยีนที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจหลุดเป็นอิสระระหว่างการย่อยอาหาร และเมื่อไปถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเก็บเอายีนต้านยาปฏิชีวนะเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายพันธุ์จนต้านยาปฏิชีวนะได้  หรือ ยีนโปรโมเตอร์ที่ได้จากไวรัส อาจย้ายตำแหน่งบนโครโมโซมในลักษณะของ transposon แล้วไปกำหนดให้ยีนอื่นที่ไม่เคยทำงานถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนแปลกประหลาดออกมาในเซลล์ และยีนที่แทรกเข้าไปในโครโซมของเซลล์เจ้าบ้านอาจไม่ใช่ยีนเดี่ยว แต่กลับมียีนอื่นซึ่งสามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เมื่อได้กินอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น         ด้วยความระแวงในปัญหาที่เกิดจากอาหารที่ดัดแปรทางพันธุกรรมดังกล่าว ผู้บริโภคในสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการเข้าสู่ตลาดอาหารของจีเอ็มโอ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบและได้ทำการค้นพบวิธีการใหม่ โดยนำเอาเทคนิค Crispr มาใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์กินเป็นอาหารเพื่อแก้ไขจีโนมให้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นตามที่ผู้แก้ไขต้องการ นัยว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันเองโดยละเว้นที่จะบอกว่า มันสามารถทำกำไรมหาศาลเมื่อทำสำเร็จ         หลักการของ Crispr และการยอมรับ         หลักการของ Crispr นั้นดูมหัศจรรย์มาก ผู้คิดค้นสมควรได้รับรางวัลโนเบลเป็นอย่างยิ่ง...ถ้าในอนาคตอันใกล้ไม่มีการพบเสียก่อนว่า หลักการนั้นถูกนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปรกติทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดจากพ่อ-แม่ไปสู่ลูก นอกเหนือไปจากการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารมนุษย์ทั้งพืชและสัตว์นั้นดูดีกว่าต้นตำรับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ         ผู้ที่นิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมักให้เหตุผลว่า สามารถควบคุมทั้งรสชาติและความสะอาด แต่บ่อยครั้งมักพบว่าเสียความรู้สึก เพราะอาหารหลายชนิดที่เป็นผัก-ผลไม้ซึ่งรวมถึงเห็ดที่ชื่นชอบนั้นเปลี่ยนสี ไปในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หลังการปอกหรือหั่นแล้ว จนต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้สารละลายซึ่งอาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น        การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสีของผัก-ผลไม้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลเนื่องจากการทำงานของเอ็นซัมออกซิเดสในพืชผักและผลไม้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดนำเอาเทคนิค Crisper มาจัดการในเรื่องนี้ โดยปรากฏเป็นบทความในวารสาร Nature ชุดที่ 532 หน้าที่ 293 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 เรื่อง Gene-edited Crispr mushroom escapes US regulation ที่มีใจความโดยย่อว่า ผู้ชำนาญด้านพยาธิวิทยาพืชของ Pennsylvania State University ในสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขเพื่อหยุดการทำงานของจีโนมที่สร้าง polyphenol oxidase ของเห็ดกระดุมขาว (Agaricus bisporus) เพราะเอ็นซัมนี้ทำให้เห็ดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นในข่าวนี้คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะไม่ใช้กฎหมายควบคุมเห็ดกระดุมที่ได้รับการแก้ไขจีโนมด้วย Crispr ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เนื่องจากไม่ได้มีการสอดใส่ชิ้นส่วนของ DNA แปลกปลอมเข้าไปเหมือนกรณีจีเอ็มโอทั่วไป ดังนั้นเห็ดที่ถูกแก้ไขจีโนมจึงสามารถปลูกและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลของ อย.สหรัฐอเมริกา นี่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการแก้ไขจีโนมโดย Crispr แล้วได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา        จากกรณีตัวอย่างของเห็ดไม่เปลี่ยนสีในปี 2016 นั้น ส่งผลให้กระทรวงเกษตรต้องทำการทบทวนหลักเกณฑ์การควบคุมการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาหาร แล้วสุดท้ายในปี 2018 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาก็จนมุม ต้องมีแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Sonny Perdue ยอมรับว่า พืชที่ถูกปรับปรุงโดยใช้เทคนิคการแก้ไขจีโนมที่เรียกว่า Crispr นั้นไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบพิเศษอื่นใด เพราะปลอดภัยพอๆ กับเห็ดที่ผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมในการปรับปรุงพันธุ์ (ที่ใช้เวลานานกว่าและแพงกว่า) รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้ในบทความชื่อ USDA greenlights gene-edited crops ของเว็บ https://cen.acs.org ประจำวันที่ 9 เมษายน 2018 เป็นต้น         ผลต่อเนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาไฟเขียวต่ออาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกแก้ไขจีโนมในปี 2018 ทำให้มีข่าวที่ปรากฏในหลายเว็บที่สนใจเกี่ยวกับความทันสมัยของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ลงบทความในทำนองว่า ญี่ปุ่น ยังต้องยอมให้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกแก้ไขจีโนมเข้าสู่ประเทศได้เหมือนเป็นอาหารธรรมดา ดังปรากฏเป็นบทความเรื่อง Gene-edited foods are safe, Japanese panel concludes ใน www.sciencemag.org เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2019 ข่าวโดยย่อกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ขายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการแก้ไขจีโนมแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการประเมินความปลอดภัย ตราบใดที่เทคนิคต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Ministry of Health, Labour and Welfare เห็นชอบ ประเด็นที่สำคัญคือ นี่เป็นการเปิดประตูสู่การใช้ Crispr และเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่มีไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ในญี่ปุ่น         ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความว่า การใช้เทคนิค Crispr นั้นดูดีไปทุกอย่าง ถ้ากระบวนการนั้นเป็นไปอย่างที่หวัง กล่าวคือ ถ้าหวังว่าต้องการตัดยีนแค่ไหนก็ตัดได้แค่นั้น ไม่ขาดหรือไม่เกิน เพราะถ้ามีการขาดหรือเกินนั้นผลที่ตามมาอาจก่อปัญหาที่รุนแรงต่อฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น         แล้วลางร้ายก็ปรากฏขึ้นดังที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลใจ เพราะมีงานวิจัยเรื่อง Repair of double-strand breaks induced by CRISPR-Cas9 leads to large deletions and complex rearrangements ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 36 หน้า 765–771 ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า การใช้ Crispr ในตอนนี้อาจจะไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบการแก้ไขนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากกว่าที่คิดไว้ รายงานดังกล่าวบอกว่า นักวิจัยลองใช้ Crispr เพื่อแก้ไข DNA ทั้งในเซลล์ของหนูและมนุษย์แล้วพบว่า มีส่วนของดีเอ็นเอขนาดยาวถูกลบทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการจัดเรียงลำดับหน่วยพันธุกรรมใหม่จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพร้อยละ 15 ซึ่ง Allan Bradley (ผู้ร่วมทำงานวิจัยนี้) กล่าวเป็นเชิงกังวลกับ Live Science (ในบทความเรื่อง Crispr gene editing may be doing more damage than scientists thought ดูได้จาก www.livescience.com ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018) ว่า Crispr อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด เพราะไม่สามารถควบคุมให้กระบวนการแก้ไข DNA นั้นถูกต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์และอาจมีปัญหาอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม"โดยสรุปแล้วประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิค Crispr คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการแก้ไขจีโนมนั้นมีลักษณะเหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า เนื่องจากมีลักษณะฟีโนไทป์ที่แสดงออกคล้ายหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (wild type) ในกรณีที่ฟีโนไทป์ที่แตกต่างนั้นเกี่ยวกับสีหรือกลิ่น ผู้บริโภคอาจสามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ถ้าสีและกลิ่นยังเหมือนเดิมในขณะที่ส่วนการแสดงออกที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตนั้น การสังเกตด้วยตาและจมูกก็อาจทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เราอาจต้องสวดมนต์ภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องกินอาหารที่ได้ถูกแก้ไขจีโนมเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนึ่งของยีนในสิ่งมีชีวิตอาจส่งผลให้ยีนอื่น ๆ ทำในสิ่งไม่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 กระแสต่างแดน

รางวัลแด่คน “ช่างกล้า”Consumer NZ นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของนิวซีแลนด์มอบรางวัลยอดแย่ประจำปีให้กับผู้ผลิตอาหารที่กล้าเคลมว่าสินค้าตนเอง “ดีต่อสุขภาพ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบมันไม่ใช่เจ้าใหญ่อย่าง เคลลอกส์ เนสท์เล่ เทเกล และ เฟรชแอนด์ฟรุ้ตตี้ ต่างไดัรับเกียรติกันถ้วนหน้าคะแนนที่ได้มาจากเสียงโหวตของผู้บริโภคที่พบว่า อาหารที่มีฉลากกำกับความดีงาม เช่น  “ไขมันต่ำ” “ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี” “ไม่ใช้น้ำตาลทรายขาว” “ไม่ใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์” หรือ “เป็นแหล่งไฟเบอร์” กลับมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ 3 ถึง 20 ช้อนชาต่อหนึ่งเสิร์ฟ        บ้างก็ชูจุดขายเรื่องส่วนประกอบที่เป็นผักและผลไม้ ทั้งที่ใส่ไปแค่ร้อยละ 1.36 มีแม้กระทั่งไก่ทั้งตัวที่ระบุว่าไก่ “ไม่ได้ถูกขังในกรง” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าพวกมันถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ทั้งๆ ที่พวกมันก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในคอกนั่นเองขอเสียงหน่อย            นครเชินเจิ้นเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงร้อยละ 48    แม้จะต้องใช้งบประมาณ 1.8 ล้านหยวนต่อคัน(ประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงขึ้นมากนัก            ทั้งนี้เพราะรัฐบาลกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งให้กับผู้ประกอบการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเติมให้อีก 500,000 หยวน(ประมาณ 2.3 ล้านบาท) เมื่อรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นระยะทางครบ 60,000 กิโลเมตร                   จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ปัจจุบันเชินเจิ้นมีประชากร 12 ล้านคน มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด16,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่เทศบาลเป็นเจ้าของอีก 40,000 แห่ง             รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชินเจิ้นบัสกรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรถเมล์สามรายของเมืองนี้บอกว่า บริษัทกำลังหาวิธีเพิ่ม “เสียง” ให้กับรถ เพราะมีผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาว่ามันวิ่งได้ “เงียบเกินไป”Madrid Central           กรุงแมดริดเริ่มโครงการ Madrid Central เพื่อลดมลภาวะจากน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการทดลองใช้กฎห้ามรถที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 2000 (รถเบนซิน) และ ค.ศ. 2006 (รถดีเซล) เข้ามาในเขตใจกลางเมือง           ข่าวระบุว่าประมาณร้อยละ 17 ของรถที่วิ่งในเมืองนี้ถือเป็น “รถเก่า” ใครฝ่าฝืนขับเข้ามาจะมีค่าปรับ 90 ยูโร (เขาอนุโลมในนำรถดังกล่าวเข้ามาวิ่งได้หากลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าและมีที่จอดรถเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคนที่มีบ้านอยู่ในเขตเมือง)           แผนนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน สต็อกโฮล์ม และมิลาน ที่จำกัดจำนวนรถด้วยการเรียกเก็บ “ค่าเข้าเมือง” จากผู้ขับขี่ “รถเก่า” ซึ่งปล่อยมลภาวะมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ           แมดริดมีประชากร 3.2 ล้านคน ยานพาหนะ 1.8 ล้านคัน ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงของเมืองมักถูกปกคลุมด้วยมลภาวะหนาแน่นในวันที่ไม่ค่อยมีลมของมันต้องมี             คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc และ Alphabet Inc (เจ้าของกูเกิ้ล) ที่อาจผูกขาดธุรกิจโฆษณาออนไลน์             คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไม่ได้เลือกนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเอง ก่อนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา             นอกจากนี้บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารแข่งกับสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลท่วมท้นจนอาจเกิดความสับสน             หน่วยงานตรวจสอบระบบการจัดอันดับโฆษณาหรือบทความต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแผนการปฏิรูปสื่อของออสเตรเลีย             ด้านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีก็เพิ่งจะสั่งปรับ facebook เป็นเงิน 10 ล้านยูโร(ประมาณ 370 ล้านบาท) จากการที่บริษัทนำข้อมูลผู้ใช้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เลือกเราไปสร้างตึกตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ที่จะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้        สำนักงานตำรวจโซลเปิดเผยว่าเมื่อปี 2560 บริษัท แดวู ล็อตเต้ และฮุนได ได้เสนอสินบนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมเป็นเงิน 230 ล้านวอน  200 ล้านวอน และ 110 ล้านวอนตามลำดับ เพื่อแลกกับการได้สิทธิก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล        นอกจากเงินแล้วยังแจกแทบเล็ตหรือคูปองห้องพักโรงแรมหรูด้วย         ทั้งสามบริษัทที่ได้สิทธิการก่อสร้างไปบอกว่าตนเองไม่รู้เห็นกับการกระทำของ “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์”  สำนักงานตำรวจฯ จึงส่งฟ้องพนักงานของบริษัทเพราะมีหลักฐานว่า “บริษัทที่ปรึกษาฯ” ได้แจ้งให้บริษัททราบแล้ว        นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีในระดับสากล ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 พืชชั้นต่ำรับประทานโดยสัตว์ชั้นสูง

ขึ้นชื่อว่าสินค้าใดที่กินแล้วทำให้สวยขึ้น ผอมลง หรือแม้แต่ฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ไม่ว่าสินค้านั้นจะอยู่ที่ใด นักการค้าหากำไรในประเทศนี้ย่อมไม่รอให้เสียจังหวะการนำมาบริการลูกค้า เพราะขืนช้าเท่ากับพลาดโอกาสโกยสินทรัพย์เข้ากระเป๋า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทตอบสนองความต้องการแบบนี้ เกิดเร็ว ตายเร็ว ผู้เขียนไม่ประหลาดใจเลยที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งมีบทความกึ่งโฆษณาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาลในการลดน้ำหนัก บทความกล่าวว่า สาหร่ายสีน้ำตาล หรือ ลามินาเลีย ดิจิตาตา นั้นมีสรรพคุณในการดูดซับสารพิษและสามารถถูกนำมาใช้เสริมความงามสาวๆ ที่พึ่งวิธีเติมสวยด้วยธรรมชาติ เนื่องจากเป็นข่าวธุรกิจหารับประทานด้านความสวยความงามจึงต้องดึงเอาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเลเซอร์มาเล่าถึงที่มาของสาหร่ายสีน้ำตาลว่า   “นับย้อนหลังไป ณ ทะเลแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ผู้คนนิยมนำน้ำทะเลของที่นี่มาใช้ในการบำบัดเวลาชาวบ้านเป็นแผล ก็จะเอาสาหร่ายมาโปะแล้วแผลก็หาย นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสจึงนำน้ำมาทำวิจัยพบว่า น้ำทะเลแห่งนี้มีองค์ประกอบเดียวกับพลาสมาในร่างกายมนุษย์ จึงช่วยใน การสมานแผล" (คำว่าพลาสมาในร่างกายมนุษย์นั้นหมอท่านนี้น่าจะหลงลืมวิชาสรีรวิทยาที่เรียนมาในโรงเรียนแพทย์ไปแล้วว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งผู้เขียนคงไม่ขออธิบายให้ยาวเยิ่นเย้อ แต่ฟันธงว่า มันคนละเรื่องเลย เป็นการกล่าวในลักษณะที่เกินเลยให้ผู้เบาปัญญาฟังเท่านั้นเอง) แพทย์ท่านนั้นยังได้กล่าวอีกว่า “ภายใต้ท้องทะเลแห่งนี้ยังมีสาหร่ายชนิดหนึ่ง คือ ลามินาเลีย ดิจิตาตา หรือสาหร่ายสีน้ำตาล ซึ่งมีคุณค่า หายาก และมีเฉพาะที่ทะเลแห่งนี้ (ซึ่งความจริงไม่จริง ผู้เขียนพบข้อมูลในวิกิพีเดีย ซึ่งจะกล่าวต่อไปว่า สาหร่ายนี้หาได้ที่ไหนบ้าง) เมื่อลองนำสาหร่ายมาสกัด สารประกอบ พบว่ามีความเข้มข้นมากกว่าน้ำทะเลแห่งนั้นถึง 10,000 เท่า และสามารถซึมในร่างกายมนุษย์ ประมาณ 92-95% โดยสามารถซึมถึงชั้นไฮโปเดอมิส ซึ่งเป็นชั้นใต้ชั้นหนังแท้ของมนุษย์ หากเปรียบกับวิตามินที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น อย่างมากคือ 40% และการซึมผ่านลงไปสามารถอยู่ได้แค่ชั้นหนังแท้ แต่สารสกัดจากธรรมชาติตัวนี้สามารถซึมลงไปลึกกว่านั้น” (ประเด็นที่เหยื่อทั้งหลายควรสำนึกคือ แพทย์ท่านนี้ไม่ได้บอกว่า สารประกอบนั้นคืออะไร และสำนวนภาษาไทยที่ใช้บรรยายแสดงถึงความพิการในการใช้ภาษาไทยเขียนเรียงความด้วย) ที่ตลกกว่านั้นคือ แพทย์ท่านนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “นอกจากสรรพคุณในการสมานแผล แล้ว สาหร่าย ทะเลยังขึ้นชื่อเรื่องการดูดซับสารพิษต่างๆ เห็นได้จากช่วงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดจากสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นต้องหาสาหร่ายทะเลมากินเพื่อขับสารพิษ เพราะสาหร่ายมีธาตุไอโอดีนสูงมาก ซึ่งไอโอดีนนี่เองจะช่วยป้องกันร่างกายมนุษย์จากพวกกัมมันตภาพรังสีและสาร พิษต่างๆ แต่ว่าคนญี่ปุ่นกลับไม่สามารถใช้คุณค่าจากสาหร่ายในทะเลของตัวเองได้ เพราะปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี จึงทำให้หลายคนแย่งกันซื้อผลิตภัณฑ์ของแล็บที่ฝรั่งเศสกันอย่างคึกคัก   โดยพวกเขานำมารับประทาน ทาตัว และแช่น้ำอาบ เพื่อดีท็อกซ์สารพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด” ท่านผู้อ่านน่าจะพอมีสติระลึกรู้ว่า คนญี่ปุ่น (รวมทั้งจีนและเกาหลี) นั้นกินสาหร่ายมาเป็นเวลานานตั้งแต่จิ๋นซีฮ่องเต้ยังไม่เกิดแล้ว ไม่ว่าโรงไฟฟ้าปรมาณูจะระเบิดหรือไม่ เขาก็จะกินสาหร่ายเป็นประจำ คงไม่ใช่พอมีอุบัติเหตุแล้วจึงไปสรรหามากิน ที่สำคัญก็คือ แพทย์ท่านนี้ได้อ้างถึงสรรพคุณสำคัญของสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ที่อาจโดนใจสาวไทยมากที่สุด คือ ช่วยปรับสมดุลแห่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ โดยอ้างอิงจากสถาบันขายเครื่องสำอางในประเทศฝรั่งเศสว่า “สารสกัดจากสาหร่าย ช่วยปรับสมดุลแห่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ ให้ผลในการสลายไขมัน ช่วยลดน้ำหนักและลดสัดส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากผลข้างเคียง  เพราะสารสกัดทำให้เกิดการสลายตัวของไขมันเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก” ดังที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้น ลับ ลวง พราง มากกว่าข้อมูลการปฏิวัติเสียอีก ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ลองเข้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่า มีใครที่กล่าวถึงสาหร่ายสีน้ำตาลที่ต่างจากข้อมูลที่เชิญชวนการใช้สาหร่ายเพื่อความงามบ้าง ก็พบว่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน Sarah Terry ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลในเว็บ www.livestrong.com ซาร่าได้กล่าวว่า สาหร่ายสีน้ำตาลนี้ เป็นพืชทะเลมีชื่อสามัญว่า kelp และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Laminaria digitata ซึ่งโดยทั่วไปแล้วใช้เป็นแหล่งอาหารที่มี โปรตีน วิตามินหรือเกลือแร่ แต่สำหรับประเด็นที่ว่า มีการนำสารสกัดจากสาหร่ายชนิดนี้ไปใช้ในการเป็นอาหารลดน้ำหนักนั้น Sarah ได้กล่าวเตือนว่า ควรปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อให้ทราบขนาดที่ควรบริโภคและความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ความจริงสาหร่ายสีน้ำตาลซึ่งอยู่ใน genus Laminaria นั้นมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาบริโภคคือ Laminaria digitata ซึ่งทางหน่วยงานด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐมิชิแกนได้ทำการศึกษาว่าเป็นแหล่งอาหารที่ดีในเรื่องวิตามิน โดยเฉพาะ มีกรดโฟลิกค่อนข้างสูง  แร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม โปแตสเซียมและแคลเซียม ดังนั้นศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก จึงได้ศึกษาบ้างและสามารถเตรียมสารสกัดจากสาหร่ายนี้เพื่อศึกษาผลด้านการแพทย์เป็นการเฉพาะ ความที่สาหร่ายชนิดนี้มีไอโอดีนสูงจึงสามารถเพิ่มการเผาผลาญในร่างกายสิ่งมีชีวิตโดยผ่านการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน นอกเหนือไปจากการใช้แก้ปัญหาการขาดไอโอดีนที่ก่อให้เกิดอาการคอพอกในบางพื้นที่ของโลกเรา แต่ช้าก่อนนะจอร์จ ซาร่าได้กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ ทางศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์กได้เตือนว่า คุณสมบัติการเพิ่มการเผาผลาญในร่างกายนั้นไม่ได้มีผลเลยไปถึงการใช้สารสกัดในการลดน้ำหนักผู้ป่วยโรคอ้วนเพราะยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าวารสาร Drug Digest ได้กล่าวว่าสาหร่ายนี้มีองค์ประกอบบางชนิดที่ออกฤทธิ์เป็นยาระบายช่วยในการขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย ลดความดันโลหิต ต้านไวรัสและต้านมะเร็งได้ (ในสองกรณีหลังนี้เป็นข้อมูลที่ซาร่าได้อ้างศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก ซึ่งท่านผู้อ่านก็ต้องใช้กาลามสูตรให้จงหนัก) ที่สำคัญซาร่าได้ระบุว่า หน่วยงานด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐมิชิแกนก็ได้ตือนว่า การบริโภคสาหร่ายชนิดนี้มากเกินไปจะทำให้ได้ไอโอดีนในระดับสูง ซึ่งอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ของผู้บริโภคทำงานผิดปรกติได้ ดังนั้นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์อยู่แล้วจึงต้องคิดให้จงหนักในการบริโภคสาหร่ายนี้ โดยเฉพาะในรูปสารสกัด ผลข้างเคียงของการกินสาหร่ายที่เพี้ยนผิดไปจากการกินเป็นอาหารคือ สิวขึ้นผิดปรกติ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ลิ้นปร่า ที่สำคัญคือ การได้รับโปแตสเซียมในสารสกัดสาหร่ายเกินขนาดนั้นไม่ได้เป็นของดีกับคนธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีผลขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด ข้อมูลต่าง ๆ อาจอ่านเพิ่มได้จาก http://www.livestrong.com/article/295828-laminaria-extract-weight-loss/#ixzz1qIChxISq ส่วนในวิกิพีเดียก็ได้กล่าวว่า สาหร่ายชนิดนี้มีแหล่งธรรมชาติทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่กรีนแลนด์จึงแหลมคอด และบริเวณตอนเหนือของรัสเซียและไอซ์แลนด์ไปจนถึงฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งแสดงว่าเป็นสาหร่ายที่ชอบน้ำเย็น ๆ ดังนั้นการหารับประทานจึงต่อเสียเงินนำเข้าจากต่างประเทศเป็นพิเศษ ไม่สามารถช้อนขึ้นมากินได้จากคูคลองเหมือนสาหร่ายที่ใช้เลี้ยงเป็ดที่บางบริษัทได้ช้อนมาอัดเม็ดขายในราคาโลละเป็นหมื่น ปรกติแล้วสาหร่ายชนิดนี้ได้ถูกใช้เป็น fertiliser ซึ่งแปลว่า ปุ๋ย ในศตรวรรษที่ 18 สาหร่ายประเภทนี้จะถูกทำให้แห้งแล้วเผาเพื่อเอาธาตุโปแตสเซียมเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตแก้วทางอุตสาหกรรม จากนั้นในศตวรรษที่ 19 จึงมีการเตรียมสารสกัดจากสาหร่ายนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาขาดไอโอดีน พอถึงศตวรรษที่ 20 สาหร่ายชนิดนี้ก็ถูกละเลยเนื่องจากแร่ธาตุทั้งโปแตสเซียมและไอโอดีนนั้นหาได้จากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่า ที่ยังคงมีการใช้อยู่ก็คือ ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนสารสกัดกรดอัลจินิก (alginic acid) จากสาหร่ายนี้ใช้ในการผลิตยาสีฟัน และเป็นสารเจือปนในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรวมถึงการผลิตหัวน้ำซุปของจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นผู้ที่หวังว่าจะกินสารสกัดจากสาหร่ายเพื่อช่วยในการลดน้ำหนักนั้น ก็ขอให้ใช้กาลามสูตรจนเกิดปัญญาก่อนจึงตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่ เพื่อถึงซึ่งประโยชน์แห่งความสวยงามโดยไม่ประมาทเถิด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอ

2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอผลกระทบต่อสุขภาพและการต่อต้านของผู้บริโภค การถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(genetically engineered organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและอาหารดัดแปรพันธุกรรม (genetically engineered food) ปะทุขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติได้ผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการทดลองพืชจีเอ็มในแปลงเปิด และเตรียมให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อย องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น อาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรม(gene) ของสิ่งมีชีวิตไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น ตัดต่อหน่วยพันธุกรรมจากแบคทีเรียเข้าไปใส่ในถั่วเหลือง หรือข้าวโพดเพื่อให้พืชดังกล่าวสามารถผลิตสารพิษขึ้นในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้นเมื่อแมลงกัดกินพืชนั้น ทำให้แมลงตายโดยหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง หรือตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของไวรัสใส่ในพืช เพื่อให้พืชนั้นสามารถต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีได้มากโดยไม่ต้องกลัวว่าพืชนั้นจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาด เพราะแม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังที่ ดร.เดวิด ซูซูกิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-พันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นตำราที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์คนใดที่บอกคุณว่าจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ประสีประสากับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพราะเขาจงใจโกหก แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบหรอกว่าผลกระทบระยะยาวของจีเอ็มโอจะเป็นเช่นไร”   ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการคัดค้านของผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยมีอยู่สามเรื่องสำคัญคือ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความไม่ปลอดภัยของอาหารดังกล่าว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจีเอ็มโอ และปัญหาการผูกขาดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร ผลกระทบต่อสุขภาพของเรื่องจีเอ็มโอ ปัญหาผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากสารที่ถูกผลิตขึ้น  โอกาสที่จะเกิดการแพ้และการที่การต้านทานยาปฏิชีวนะจากยีนแปลกปลอมที่ใช้ในกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม ตลอดจนสัดส่วนและองค์ประกอบของสารอาหารที่แตกต่างไม่เทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราเคยรับประทาน เป็นต้น กลุ่มผู้สนับสนุนมักอ้างว่า กระบวนการประเมินความเสี่ยงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้เนื่องจากเหตุผล 3 ประการคือ หนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอมักเป็นการทำการทดลองในระยะสั้นๆ เท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบนั้นเป็นเรื่องระยะยาว สอง อุปสรรคสำคัญสำหรับการทดสอบความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ เกิดจากการขัดขวางของบริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้นักวิชาการอิสระทำการประเมินเรื่องความปลอดภัยนั้น เรื่องนี้ทำให้ประชาคมวิทยาศาสตร์อดรนทนไม่ได้จนต้องทำจดหมายร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐ สาม สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของ FDA สหรัฐเนื่องจากพวกเขาพบว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มโอ คณะทำงานของ UN ที่ใช้ชื่อว่า International Assessment of Agricultural Knowledge Science and Technology for Development (IAASTD) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรสำหรับการพัฒนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกระบวนการประเมินจาก 110 ประเทศ 900 คน ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า “ผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมากในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายและทำให้การวิจัยเรื่องความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ” “การประเมินเทคโนโลยีนี้ยังตามหลังการพัฒนาของมัน ข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง ทั้งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบและผลประโยชน์ของมัน ทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไคล์ฟ เจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ ได้เข้าพบกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย เจมส์บอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทยว่า พืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย จากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐได้บริโภคผลิตภัณฑ์มานานถึง 19 ปีแล้ว แต่กลับไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพแต่ประการใด คำกล่าวข้างต้นเคยถูกตอบโต้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ว่าที่จริงยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies)เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆ โดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในสหรัฐกลับพบว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว( 90% ของพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเป็นพืชที่ตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืช) ไกลโฟเสทเหล่านั้นกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งพบปนเปื้อนในผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด และล่าสุดนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พบว่าสถิติการใช้สารไกลโฟเสทที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีลักษณะคล้ายกับกราฟการเพิ่มของโรคหลายชนิดเช่น อัลไซม์เมอร์ ออร์ทิสติค และมะเร็งตับ เป็นต้น     ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าไกลโฟเสทซึ่งมาพร้อมกับพืชจีเอ็มโอนั้นมีพิษเรื้อรังต่อสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสทเป็นส่วนผสมมีความเป็นพิษและรบกวนการทำงานของเซลล์ต่อมไร้ท่อของมนุษย์” (Gasnier C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Toxicology. 2009 Aug 21; 262(3): 184 – 91) งานวิจัยนี้พบว่าแม้ใช้สารนี้ใน ระดับที่ต่ำเช่นเพียง 0.5 ppm ก็มีผลกระทบต่อต่อมไร้ท่อ และมีผลกระทบต่อ DNA ในระดับที่ใช้เพียง 5 ppm เท่านั้น นักวิจัยได้เสนอให้มีการพิจารณาสารเคมีนี้เป็นสารก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยต่อประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยที่สนับสนุนข้อค้นพบของประชาคมวิทยาศาสตร์คืองานวิจัยของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (โดย Thogprakaisang S., Thiantanawat A., Rangkadilok N., Suriyo T., Satayavivad J.) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Food and Chemical Toxicology( Food and Chemical Toxicology 59 (2013) 129–136) เรื่อง “ไกลโฟเสท ชักนำให้เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เจริญเติบโต โดยผ่านทางตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน” ข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้คือ “ไกลโฟเสท ทำให้เพิ่มการเจริญขยายตัวเฉพาะในโรคมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของมนุษย์” และ “ไกลโฟเสท ในขนาดความเข้มข้นต่ำก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์เอสโตรเจน” อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จีเอ็มโอเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออร์ทิสติค อัลไซม์เมอร์ และมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลเหล่านี้ควรทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนบางภูมิภาคที่บริโภคอาหารจีเอ็มโอเป็นเวลานานหลายปีไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต้องสงบปากสงบคำลงไปในที่สุด การต่อต้านที่ขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น แม้จะเริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1996 แต่กลับเป็นประชาชนในทวีปยุโรปที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นภูมิภาคแรก โดยกระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอได้เริ่มต้นในยุโรปมานานเกือบ 20 ปี กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเคยเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสการต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยผลการสำรวจพบว่า กระแสการสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอกลับยิ่งลดลง ทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในพื้นที่จำกัด เช่น สเปน และโปรตุเกส ซึ่งประชาชนมากกว่า 60% เคยสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเมื่อปี 1996 บัดนี้กลับลดเหลือเพียง 35-37% เท่านั้น บางประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอาหารของไทย เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเพียง 16% และ 22% ตามลำดับเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจึงปฏิเสธอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และเลือกระบบอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการแพร่ขยายการต่อต้านไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและประเทศที่มีพื้นที่ปลูกพืชประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก จุดเริ่มต้นการต่อต้านที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เมื่อประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐร่วมเดินขบวนต่อต้านจีเอ็มโอและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้ โดยประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นประมาณ 2 ล้านคน  พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราและศิลปินอเมริกันคนแล้วคนเล่าพร้อมใจกันลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็ม ลงนามในคำแถลงต่อต้านจีเอ็มโอ บอยคอตบริษัทที่ต่อต้านการติดฉลาก และหลายคนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านบรรษัท ดาราและศิลปินเหล่านั้น ได้แก่ Neil Young, Danny DeVito, Susan Sarandon, Daryl Hannah, Michael J Fox, Elijah Wood, James Kaitlin, Olson Taylor, Bill Maher,James Taylor, Dave Matthews, Maroon 5, Chevy Chase, Roseanne Barr, Kristin Bauer van Straten, Kimberly Elise, Mariel Hemingway, Bianca Jagger, Vivienne Westwood, Jeremy Irons, Bill Pullman, Amy Smart, Sara Gilbert, Ed Begley Jr, Anne Heche, Frances Fisher, Rashida Jones, Kimberly Elise, Ziggy Marley, Julie Bowen,Emily VanCamp เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญโหมโฆษณาเพื่อต่อต้านการติดฉลากของบรรดารัฐต่างๆ ในขณะที่จำนวนเงินการระดมทุนของฝ่ายที่เรียกร้อง "สิทธิที่จะรู้ที่มาของอาหาร" น้อยกว่าหลายเท่าตัว บางรัฐผู้บริโภคได้รับชัยชนะในการออกกฎหมายติดฉลาก บางรัฐก็พ่ายแพ้ แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า "นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น" เท่านั้น กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอ และตอบโต้การผูกขาดระบบเกษตร/อาหารของบรรษัทกำลังเติบโต   ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้ง "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ในขณะที่ผลกระทบเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อการส่งออก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อใดที่ประเทศไทยเดินหน้าพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเราได้ละทิ้งเกษตรกรรมที่ยืนอยู่บนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของเราไปพึ่งพาต่างชาติ ระบบเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทจะสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร ?

อ่านเพิ่มเติม >