ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เช็คพัสดุออนไลน์ใน eTracking

        ยุคนี้สมัยนี้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะไม่เคยใช้บริการออนไลน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ที่ผ่านมาต้องมีหลายคนที่ได้ทดลองใช้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเดินทาง ลดความเสี่ยงที่จะต้องไปสัมผัส ซึ่งเป็นการป้องกันตนเองและครอบครัวได้วิธีหนึ่ง         ปัญหาที่ตามมาหลังจากมีการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ก็คือ สถานะการสั่งสินค้าไม่อัปเดทเป็นปัจจุบัน จนทำให้คนสั่งรอแล้วรออีก ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่กันแน่ หรือพ่อค้าแม่ค้าเองก็ไม่รู้ว่าสินค้าของลูกค้าไปอยู่ที่จุดไหนแล้ว ฉบับนี้จึงพามาดูแอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบพัสดุ เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับลูกค้าและพ่อค้าแม่ค้ากัน         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า eTrackings ช่วยในการติดตามเลขพัสดุที่อัปเดทสถานะของจุดที่สินค้าอยู่ได้อย่างรวดเร็ว และแจ้งเตือนสถานะพัสดุได้ การเข้าใช้แอปฯ มีหลายวิธี ได้แก่ ลงทะเบียนของแอปฯ โดยตรง ผ่านเฟซบุ๊ก และผ่าน gmail สามารถดาวน์โหลดฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS        คุณสมบัติของแอปฯ นี้ที่จะช่วยทุนแรงพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้า เพราะมีระบบตรวจจับพัสดุ ทั้งในรูปแบบการกรอกตัวเลข สแกน QR Code และอ่านเลขพัสดุจากรูปภาพ ซึ่งสามารถทำการสแกนหาตัวเล็ก Tracking Number โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องนั่งพิมพ์เอง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา         นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนพัสดุที่กำลังติดตาม สามารถแชร์พัสดุเป็น URL และสร้าง QR Code เพื่อให้คนอื่นมาสแกน ที่สำคัญสามารถเช็คราคาพัสดุตามขนาดและน้ำหนัก ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการคำนวณราคาในการส่งสินค้าอย่างมาก ทั้งนี้ในกรณีพัสดุจัดส่งถึงแล้วระบบจะเก็บประวัติการค้นหาให้ 3 วันเมื่อครบแล้วระบบจะนำออกจากระบบทันที ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะภายในแอปพลิเคชั่นยังมีบริการค้นหารหัสไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้อีกด้วย         รายชื่อบริษัทขนส่งที่สามารถติดตามพัสดุภายในแอปพลิเคชั่น eTrackings อาทิ ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส, แฟลช เอ็กซ์เพรส, ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส, อัลฟ่า ฟาส, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, ซีเจ โลจิสติกส์, สปีด-ดี, นินจาแวน, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, บี เอ็กซ์เพรส, อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส, ชิปป๊อป, อาราเม็กซ์, ทีพี โลจิสติกส์, เฟดเอกซ์, ไอที ทรานสปอร์ต, นครชัยแอร์, ยูพีเอส, นิ่ม เอ็กซ์เพรส, บี.เอส เอ็กซ์เพรส, ชิปจัง, Global ไช่เหนียว, เจแปน โพสต์, ไชน่า โพสต์, สกายบอกซ์, บุ๊คมายคาร์โก, บิสซิเนส ไอเดีย ทรานสปอร์ต, ปอลอ เอ็กซ์เพรส, บลู แอนด์ ไวท์ เอ็กซ์เพรส, เซ็นด์อิท, เจดับเบิ้ลยูดี เอ็กซ์เพรส, เอสเอ็มอี ชิปปิ้ง, เอ็นทีซี เอ็กซ์เพรส, Logistics Worldwide Express, ดีพีเอ็กซ์ โลจิสติกส์, ECMS Express, เซ้าท์เทิร์น เดลิเวอรี่ เซอร์วิส, ซีทีที เอ็กซ์เพรส, ยูเซ็น โลจิสติกส์ เป็นต้น         แต่อย่าลืมนะคะ หลังรับสินค้าที่สั่งผ่านออนไลน์มาแล้ว ควรฉีดพ่นน้ำยาแอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าและรีบนำกล่องไปทิ้ง พร้อมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 แฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน ผ่านมาปีกว่ายังไม่ได้ของคืน

        ส่งจดหมายผิดซองคงเป็นเจ้าของที่พลาดเอง แต่ถ้าส่งพัสดุไปผิดบ้าน งานเข้าบริษัทรับส่งของไปเต็มๆ คงยากจะปัดความรับผิดชอบ         คุณกันยากร อยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อต้นเมษายน 2563 ได้สั่งซื้อกางเกงยี่ห้อมาริฮอร์นทางออนไลน์ให้จัดส่งไปบ้านของคุณพ่อที่เมืองไทย จากนั้นปลายเดือนเดียวกัน เธอไลน์ถามหลานชายว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้านหรือยัง ทั้งหลานชายและคุณพ่อต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่เห็นมีของมาส่งเลย คุณกันยากรจึงถามกลับไปที่ร้านค้าว่าส่งของให้หรือยัง ทางร้านแจ้งว่าส่งให้แล้วโดยใช้บริการของแฟลช เอ็กซ์เพรส จากนั้นคุณพ่อของคุณกันยากรไปทวงถามที่บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ คุณพ่อจึงไปที่โกดังของบริษัทที่บางพลัด แต่ผู้จัดการดูไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เมื่อคุณพ่อโชว์หลักฐานให้ดู บริษัทก็บอกว่าจะชดเชยให้แค่ 400 บาท เป็นการเคลมนอกระบบ แต่คุณพ่อไม่ยอมรับ หลังจากนั้นพนักงานชื่อนพดลได้มาที่บ้านและสารภาพว่าเขาเป็นคนส่งพัสดุไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งเอง และรับปากว่าจะติดตามของมาคืนให้ แต่แล้วก็เงียบหายไป         คุณกันยากรยังไม่ละความพยายาม แม้ตัวจะอยู่ไกล เธอก็ยังไลน์ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทตลอด ทางบริษัทก็ตอบว่ากำลังตามสินค้าให้ และจะให้พนักงานติดต่อกลับไป แต่วันแล้ววันเล่าก็ยังไม่มีพนักงานคนไหนติดต่อกลับมาอีกเลย คุณกันยากรจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นแนะนำให้คุณพ่อของคุณกันยากรไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากมูลนิธิฯ ได้รับรายการตรวจเช็คพัสดุที่ส่งมา ซึ่งในใบพัสดุระบุว่า “เซ็นรับแล้ว” แต่ไม่มีลายเซ็นปรากฎอยู่ และมีรูปพัสดุที่คนส่งนำไปไว้ในตู้ของอีกบ้านหนึ่ง ศูนย์ฯ จึงทำจดหมายถึงบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งทางบริษัทตอบกลับมาว่าจะติดตามให้ ล่าสุดแจ้งว่าจะชดเชยเป็นเงินให้ แต่จนแล้วจนรอด ณ วันนี้ คุณกันยากรก็ยังไม่ได้ของคืน หรือค่าชดเชยใดๆ ในกรณีแฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน เรื่องแบบนี้คงต้องว่ากันในทางคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ระวังเสียเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

        เมื่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็ว่องไวในการหาทางฉกฉวยเงินของคุณจากธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขอนำเสนอภัยแฝงอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรรับทราบไว้         คุณนพวรรณโทรมาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวานกลับจากทำงานถึงบ้าน คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับคุณนพวรรณยื่นกล่องพัสดุน้อยๆ ให้บอกว่า วันนี้มีคนนำมาส่งและเรียกเก็บเงินปลายทาง จำนวน 150 บาท ป้ามองแล้วแม้เห็นว่าชื่อผู้รับไม่ตรงกับคนในบ้าน แต่บ้านเลขที่ตรงกันจึงคิดว่าหลานหรือคุณนพวรรณอาจใช้ชื่ออื่นในการสั่ง อีกทั้งจำนวนเงินก็ไม่ได้มาก คุณป้าจึงจ่ายค่าสินค้าและเซ็นรับของไว้         คุณนพวรรณอึ้งไปสักพักและทบทวนว่าตนได้สั่งซื้อสินค้าอะไรไปหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ และเมื่ออ่านชื่อที่อยู่ผู้รับซ้ำอีกครั้ง พบว่าแม้เลขที่บ้านตรงกันแต่เป็นคนละซอย เธอคิดว่าผู้ส่งซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งคงเข้าใจผิด ผู้สั่งสินค้าจริงอาจจะกังวลที่ของไม่ถึงมือจึงโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่แปะอยู่บนกล่องพัสดุ มีคนรับโทรศัพท์แต่พอเล่าเรื่องให้ฟัง คนตามจ่าหน้ากลับบอกว่าตนเองวันนี้ได้รับสินค้าที่สั่งไปแล้ว สินค้าที่อยู่กับคุณนพวรรณไม่น่าจะใช่ของตนเอง “อ้าว แล้วคราวนี้จะยังไง” สรุป “มีดโกนหนวดนี้เป็นของใคร” คุณนพวรรณเลยโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ไม่มีผู้รับสาย เธอพยายามหลายรอบจนคิดว่าอาจจะไม่มีร้านนี้อยู่จริง “ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากปรากฎเป็นข่าวเตือนภัยกันถึงเรื่องที่มีมิจฉาชีพส่งพัสดุราคาไม่แพงไปเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับที่ไม่ได้อยู่บ้านในขณะที่สินค้ามาส่งจะไม่มีโอกาสปฏิเสธ แต่ญาติหรือคนที่อาศัยด้วยกันเป็นผู้รับสินค้า เมื่อเห็นว่าราคาเรียกเก็บเงินประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากก็จะออกเงินให้ไปก่อน แต่มารู้ทีหลังว่าผู้รับตามจ่าหน้าไม่ได้เป็นผู้สั่งสินค้า ก็ทำให้เสียเงินกันไปฟรีๆ เพราะสินค้าที่ได้มามักเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่เสียไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้เสียหายต้องการให้เกิดการจัดการทางกฎหมายควรนำสินค้าไปแจ้งความกล่าวโทษกับร้านค้าหรือบริษัทที่ส่งสินค้ามาหลอกลวง         อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีคุณนพวรรณ เนื่องจากว่าบ้านเลขที่บนกล่องพัสดุมีบุคคลที่สั่งซื้ออยู่จริงเพียงแต่มีสินค้าชนิดเดียวกันนำไปส่งให้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับสั่งสินค้าผิดพลาด(สั่งซื้อซ้ำ) และพนักงานบริษัทขนส่งทำงานพลาด ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยประสานงานกับบริษัทขนส่ง ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำส่งสินค้าแก้ไขปัญหาให้กับคุณนพวรรณ ทางบริษัทฯ ได้รับเรื่องไว้และส่งพนักงานไปรับสินค้าจากคุณนพวรรณพร้อมคืนเงินจำนวน 150 บาท และนำสินค้ากลับไปเพื่อดำเนินการจัดส่งให้ถูกต้องต่อไป        สำหรับผู้บริโภคที่พบกรณีปัญหาคล้ายกันนี้ หากพบพิรุธว่าเป็นการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ให้นำความไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีในฐานฉ้อโกง แต่หากพบว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดของบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทขนส่งที่รับผิดชอบส่งสินค้าผิดมาให้ท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป  และบอกกล่าวกับคนในบ้านไว้เสมอเมื่อตนเองสั่งสินค้าอะไรไป ของจะมาส่งวันไหน แต่หากว่ามีของมาส่งโดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ให้ตรวจสอบรายชื่อและบ้านเลขที่ให้ดีๆ หากไม่ตรงกันกับบุคคลในบ้านและ/หรือที่อยู่ผิดควรปฏิเสธไม่รับสินค้า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 จดหมายถึงบอกอ

ทดสอบสาหร่ายแผ่นปรุงรส ดิฉันมีเรื่องทดสอบมาแนะนำค่ะ คือสาหร่ายแผ่นปรุงรสที่เด็กๆ ทานเล่น บางครอบครัวซื้อให้ลูกรับประทานเล่นเพราะคิดว่ามีประโยชน์มากกว่าขนมซอง อยากให้ฉลาดซื้อนำมาทดสอบให้หน่อยค่ะว่ามีอะไรต้องระวังไหมคะ พิมพา ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านฉลาดซื้อนะคะ ส่วนเรื่องสาหร่ายแผ่นปรุงรสเป็นเรื่องที่ทางกอง บก.กำลังสนใจเลยค่ะ เพราะเราเคยสำรวจและทดสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ฉบับที่ 108 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นเวลานานมากแล้ว คุณพิมพาติดตามผลการทดสอบใหม่ล่าสุดได้เร็วๆ นี้แน่นอนค่ะ  สนใจเรื่องการส่งพัสดุ    ติดตามผลการทดสอบจากนิตยสารฉลาดซื้อเวลามีการจัดแถลงข่าวเสมอครับ ผมสนใจเรื่องบริษัทจัดส่งพัสดุซึ่งมีให้เลือกมากมายในปัจจุบัน อยากให้ฉลาดซื้อลองนำข้อมูลและรายละเอียดมาให้อ่านด้วยครับ                                                                                                                                    เด็กรังสิต     ทางกองบรรณาธิการมีความสนใจเรื่องบริษัทจัดส่งพัสดุเช่นกันค่ะ ติดตามข้อมูลได้ในฉบับถัดๆ ไปนะคะ แต่ถ้าสนใจผูกปิ่นโตเป็นสมาชิกนิตยสารได้รับข้อมูลในทุกๆ เดือน สมัครเป็นสมาชิกนิตยสารแบบออนไลน์ราคาประหยัดได้ที่เว็ปไซต์ของเราได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >