ฉบับที่ 237 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 2

        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง การสร้างข้อมูลของระบบตรวจสอบความเหมาะสมในการซื้อสินค้าอาหารต่อสุขภาพของลูกค้าซึ่งแปรไปตามยีน ฉบับนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าอาหารใดก็เพียงนำเอาสายรัดข้อมือ ซึ่งมีระบบอิเล็คทรอนิคที่ส่งสัญญาณไปสแกนที่บาร์โค้ดบนกล่องสินค้า แล้วจะมีสัญญาณขึ้นเป็นสีจากเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อเตือนว่าลูกค้าควรซื้อสินค้านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีผู้ให้บริการไม่ได้อธิบายว่า การ สแกนที่บาร์โค้ดแล้วเกิดไฟเขียว เหลือง หรือแดงนั้นเป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า เมื่อสายรัดข้อมือได้ข้อมูลว่าสินค้านั้นคืออะไรแล้ว รหัสที่อยู่ในบาร์โค้ดคงถูกส่งไปที่แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งคงต้องออนไลน์ไปยังแหล่งเก็บข้อมูลทางโภชนาการของสินค้าอาหารตามฉลากโภชนาการ (nutrition label) ที่น่าจะต้องเป็นการตกลงไว้กับบริษัทที่ขายสินค้านั้น จากนั้นข้อมูลทางโภชนาการจะถูกส่งกลับเข้าสมาร์ทโฟนเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมกับข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกค้าว่า ถ้าลูกค้ากินอาหารดังกล่าวแล้วจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน หรืออื่นๆ หรือไม่ แล้วส่งผลไปที่สายรัดข้อมือเพื่อแสดงสีของสัญญาณไฟ ในกรณีที่สีของไฟเป็นแดง คือไม่แนะนำให้ซื้อนั้น ลูกค้าสามารถเข้าดูเหตุผลได้จากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน         โดยสรุปแล้ว DNAnudge นั้น เป็นการย่อกระบวนการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าในลักษณะที่เรียกว่า Lab on Chip เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในการกินสินค้าอาหารหนึ่งๆ ที่มีข้อมูลทางโภชนาการว่าเหมาะสมหรือไม่ ข้อสังเกตคือ ลูกค้าต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัทว่าทำได้จริง มีเงิน (สายรัดข้อมือของบริการนี้คงทำหน้าที่บอกเศรษฐานะของเจ้าของได้เหมือนกับนาฬิกา) มีความสนใจและบังคับใจตนเองให้ปฏิบัติตนตามหลักการทางโภชนาการที่บริษัทได้ nudge ให้ และต้องอยู่ในบริเวณที่มีอินเทอร์เน็ต ระดับ 5 G        การตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมกับเชื้อโรค Covid-19         นอกจากการหารับประทานจากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเพื่อธุรกิจหาประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม ยังได้พัฒนากระบวนการตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมอย่างเร็วมาใช้ในการตรวจพบว่า ผู้รับบริการอยู่ในข่ายอาจติดเชื้อโรค Covid-19 มีผลการตรวจเป็นบวกหรือลบอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้         การตรวจว่าผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือไม่ด้วยระยะเวลาช้าหรือเร็วนั้นมีผลทางจิตใจอย่างมาก งานวิจัยเรื่อง Impact of delays on effectiveness of contact tracing strategies for COVID-19: a modelling study ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Lancet Public Health ของปี  2020 ได้แสดงให้เห็นว่า การลดความล่าช้าในการทดสอบให้น้อยที่สุดมีผลกระทบมากที่สุดในการติดตามแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายติดเชื้อ ปฏิบัติการนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ถึงร้อยละ 80         เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2020 สำนักข่าวบีบีซีให้ข้อมูลว่า นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีการตรวจสารคัดหลั่งและตรวจหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะรู้ผลอย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 90 นาที เป็นการช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า นายกรัฐมนตรี Boris Johnson ตั้งเป้าการตรวจวัดไว้ที่ 200,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะจัดส่งชุดตรวจเร็วที่ใช้ตัวอย่างสารคัดหลั่งแบบชื่อ LamPORE (จากบริษัทวิจัย Oxford Nanopore) จำนวน 450,000 ชุด ไปยังสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อที่ก่อโรค covid-19 และจะเพิ่มจำนวนเป็นหลายล้านชุดในช่วงปลายปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายราว 40 ปอนด์ต่อ 1 ตัวอย่าง จากนั้นตั้งแต่เดือนกันยายนรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเพิ่มเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมของบริษัท DnaNudge ซึ่งปัจจุบันมีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาลเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือ NHS จำนวน 8 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในเครือที่อื่นๆ อีก 5,000 เครื่อง โดยเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจหาเชื้อเพิ่มได้อีก 5.8 ล้านตัวอย่าง ซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยให้สามารถตัดห่วงโซ่แห่งการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังจะเซ็นสัญญาเพื่อซื้อเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย สำหรับความน่าเชื่อถือของระบบตรวจหาเชื้อไวรัสก่อ Covid-19 นั้น เซอร์จอห์น เบลล์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้ข้อมูลว่า เครื่องตรวจที่กล่าวถึงนั้นมี "ความไว" พอๆ กับการตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติการ         เว็บ https://edition.cnn.com เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 มีบทความเรื่อง FDA authorizes new test that could detect coronavirus in about 45 minutes ได้ให้ข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยที่เร็วขึ้นนี้เป็นนวัตกรรมของบริษัท Cepheid ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งความเร็วดังกล่าวนั้นช่วยลดความกังวลของผู้ต้องการรับการตรวจเนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนอเมริกันถึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากนั่นก็เพราะมีการตรวจที่เร็วและสะดวกนั่นเอง         www.hospimedica.com/covid-19 มีบทความเรื่อง New Biosensor Detects COVID-19 Virus in Air ซึ่งรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากบริษัท Empa และ ETH Zurich สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์ใหม่สำหรับตรวจจับไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ที่บอกถึงความเข้มข้นของไวรัสในสิ่งแวดล้อม เช่น ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือในระบบระบายอากาศของโรงพยาบาล         การตรวจหาไวรัสโดยใช้เซ็นเซอร์นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่การทดสอบในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน อุปกรณ์นี้เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟหรือโรงพยาบาล เพื่อวัดการปรากฏตัวของไวรัสในอากาศ โดยเซ็นเซอร์ที่กล่าวถึงนี้เป็นไบโอเซ็นเซอร์แบบออปติคัล ที่ทำขึ้นจากโครงสร้างเล็กๆ ของทองคำที่เรียกว่า โกลด์นาโนไอแลนด์บนพื้นผิวแก้ว ซึ่งมีการตรึงหน่วยพันธุกรรมที่มีหน่วยโครงสร้างที่สามารถเข้ากันได้อย่างดีกับลำดับหน่วยโครงสร้างของ RNA ที่อยู่ภายใน SARS-CoV-2 ซึ่งเมื่อจับกันได้แล้วจะมีการแปลผลออกมาเป็นสัญญาณบวกของการตรวจหา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงใด นักวิจัยได้พบความสำเร็จในการทดสอบกับไวรัส SARS-CoV (ซึ่งระบาดในปี 2546) เพื่อแสดงว่าสามารถแยกแยะออกจากตรวจจับไวรัสก่อโรค Covid-19 ได้ ทั้งที่เป็นโคโรนาไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 1

        ร้อยปีที่แล้วเป็นศตวรรษของอะตอมเพราะมีการศึกษารู้ว่า อะตอมในโมเลกุลมีอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบ ตลอดจนสามารถปลดปล่อยพลังงานของอะตอมออกมาเป็น Atomic bomb จากนั้นเมื่อถึงศตวรรษ 21 นี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเป็น ศตวรรษของยีน เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถรู้ว่า รหัสพันธุกรรมบนโครโมโซมภายในเซลล์ของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งได้มีการศึกษาถึงความหมายของรหัสพันธุกรรมที่อยู่บนยีนแต่ละยีนว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถแปลต่อไปว่า รหัสพันธุกรรมแบบไหนที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นสุขไร้โรคหรือทุกข์อมโรคได้         ความแตกต่างของลำดับนิวคลีโอไทด์ ที่เป็นองค์ประกอบของแต่ละยีนนั้นส่งผลต่อการทำงานของยีนทั้งในด้านบวกหรือลบ ความแตกต่างกันเพียงตำแหน่งเดียวของลำดับพันธุกรรมของแต่ละยีนซึ่งเรียกว่า single nucleotide polymorphism หรือ SNP (นักวิทยาศาสตร์บางคนใช้คำว่า SNiP เพื่อให้จำง่าย) อาจส่งผลถึงการเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ตัวอย่างเช่น sickle cell anemia คือการที่เม็ดเลือดแดงบางส่วนของผู้ป่วยมีลักษณะผิดปรกติมีสัณฐานคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว ความผิดปรกตินี้ทำให้เม็ดเลือดนั้นไม่สามารถนำออกซิเจนได้เหมือนเม็ดเลือดปรกติที่มีสัณฐานกลมเป็นแอ่งเว้าตรงกลาง สาเหตุที่ก่อความผิดปรกติคือ เกิดการกลายพันธุ์ของนิวคลีโอไทด์ 1 หน่วยของยีนที่สร้างโปรตีนฮีมในเม็ดเลือดแดงชื่อ hemoglobin-beta gene อย่างไรก็ดียีนสร้างโปรตีนฮีมของเม็ดเลือดแดงมีหลายยีน เพราะคนที่เป็น sickle cell anemia นั้นยังมีเม็ดเลือดแดงที่ปรกติบ้าง จึงยังมีชีวิตอยู่ได้แบบค่อนข้างลำบาก         มีการศึกษาพบว่า ความแตกต่างกันขององค์ประกอบที่เป็นหน่วยพันธุกรรมหรือ SNP ของยีนแต่ละยีนนั้นมักส่งผลถึงการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ (ซึ่งถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม) ที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองต่อสารอาหารบางชนิดต่างไปจากคนปรกติทั่วไป ด้วยอิทธิพลของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า nutrigenomic ซึ่งใช้อธิบายว่า คนหลายคนที่มีรูปแบบชีวิตเหมือนกันโดยเฉพาะการกินอาหารนั้น กลับมีการแสดงออกทางร่างกาย (phenotype) ต่างกันในด้านน้ำหนัก ความแข็งแรง ความอดทน และอื่น ๆ         ข้อมูลที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นที่มาของธุรกิจให้บริการตรวจความแปรเปลี่ยนขององค์ประกอบทางพันธุกรรมของแต่ละยีน (SNP) ที่มีผลต่อสุขภาพเนื่องจากการกินอาหารตลอดไปจนถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ ในธุรกิจนี้ผู้รับบริการจะได้รับอุปกรณ์คือ cotton bud สำหรับกวาดกระพุ้งแก้มเพื่อเก็บเซลล์พร้อมน้ำลายที่มีเซลล์ที่หลุดออกมาแล้วใส่ลงในภาชนะที่มีน้ำยาสำหรับคงสภาพของเซลล์ แล้วส่งทางไปรษณีย์กลับไปยังห้องปฏิบัติการของบริษัทเพื่อทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งหมดบนโครโมโซมที่ได้จากเซลล์ เพื่อหาว่ามีลักษณะของพันธุกรรมที่เป็น SNP ของยีนที่มีการตอบสนองต่อการใช้สารอาหารแต่ละชนิดที่กินจากอาหารแต่ละมื้อต่างไปจากคนปรกติส่วนใหญ่หรือไม่         จากนั้นบริษัทจะแปลผลออกมาโดยนักวิชาการที่รู้ดีในศาสตร์นี้ว่า ลูกค้าผู้นั้นควรกินอาหารที่มีองค์ประกอบอย่างไร เพราะถ้าลูกค้ามี SNP ที่ส่อจะเกิดโรคไม่ติดต่อบางโรค เช่น กระดูกพรุน เบาหวานประเภทที่ 1 มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ  การเลี่ยงสารอาหารบางอย่างหรือเพิ่มสารอาหารบางอย่างอาจช่วยให้ชีวิตดำเนินได้เป็นสุขขึ้น และมักมีการเพิ่มคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่ เช่น การออกกำลังกาย (โดยอาศัยข้อมูลจากแบบสอบถามที่ส่งไปพร้อมกับน้ำลาย)         ประเด็นคือ กระบวนการของบริษัทเหล่านี้เชื่อได้แค่ไหน คำตอบคือ แล้วแต่บุญและกรรมที่อาจทำกันมาแต่ชาติปางก่อนว่าบริษัทนั้น กลวงแบบบริษัทขายไม้ล้างป่าช้าตรวจวัตถุระเบิดหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานชื่อ The U.S. Government Accountability Office หรือ US. GAO ซึ่งทำหน้าที่สำคัญให้วุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในการตรวจสอบความโปร่งใสของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งหมด (โปรดอย่าสับสนว่าเหมือน ป.ป.ช ของไทย) แม้การทุจริตของประธานาธิบดีก็ไม่มีการเว้น ดังนั้นเมื่อมีการหลอกลวงในการขายสินค้าหรือบริการสำคัญๆ ที่มีผลกระทบถึงผู้บริโภค เช่น กรณีของการตรวจหน่วยพันธุกรรมเพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กับโรคเนื่องจากการบริโภค หน่วยงาน US. GAO จึงเข้าทำการตรวจสอบและได้เผยแพร่เอกสารอิเล็คโทรนิคอย่างน้อย 2 เรื่องคือ NUTRIGENETIC TESTING: Tests Purchased from Four Web Sites Mislead Consumers และ DIRECT-TO-CONSUMER GENETIC TESTS: Misleading Test Results Are Further Complicated by Deceptive Marketing and Other Questionable Practices         ใจความสำคัญของเอกสารทั้งสองชิ้นนั้นระบุว่า การให้บริการตรวจสอบองค์ประกอบทางพันธุกรรมเพื่อทำนายผลหรือการแนะนำพฤติกรรมการกินเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไม่ติดต่อต่างๆ ของบางบริษัทนั้นดูจะเชื่อไม่ได้ โดยทางสำนักงานได้ทดลองส่งตัวอย่างที่ได้จากการกวาดกระพุ้งแก้มของสตรีนางหนึ่งไปยัง 4 บริษัทที่มีการโฆษณาบริการบนอินเทอร์เน็ต ผลปรากฏว่า การแปลผลและคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารนั้นไปคนละทิศละทาง ซึ่งผู้ทำรายงานเข้าใจว่า ความแตกต่างนั้นเกิดเนื่องจากข้อมูลที่ตอบไปในแบบสอบถามซึ่งต่างกัน นั่นเป็นการแสดงว่าคำแนะนำนั้นแทบไม่ได้ขึ้นกับการวิเคราะห์หน่วยพันธุกรรมแต่ขึ้นกับคำตอบในแบบสอบถามมากกว่า         ทางสำนักงาน US. GAO ได้ทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งตัวอย่างของหนึ่งชายไปยัง 2 บริษัท ซึ่งผลของคำแนะนำที่ได้นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยขึ้นกับข้อมูลที่กรอกไปในแบบสอบถาม (เช่นกัน) และเมื่อส่งตัวอย่างของหนึ่งหญิงไปยัง 9 บริษัท พร้อมกับการตอบแบบสอบถามซึ่งให้ข้อมูลที่ต่างกัน แถมข้อมูลที่ส่งไปบางบริษัทนั้นได้หลอกว่าเป็นตัวอย่างจากเพศชาย ผลคำแนะนำที่ได้กลับมาจึงไม่น่าประหลาดใจว่า คำแนะนำจาก 9 บริษัทแก่ผู้หญิงคนเดียวกันจึงต่างกันไปโดยสิ้นเชิง         เรื่องของการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม โดยเฉพาะของมนุษย์เพื่อหาเงินนั้นมีข่าวหนึ่งทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่า นักการเมืองไทยคนหนึ่งได้ลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเพื่อแปลผลไปสู่การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายตามหลักการที่เรียกว่า nutrigenomic เพื่อแก้หรือป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกิน บริษัทที่ให้บริการนี้ชื่อ DNAnudge        ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริการนี้อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไร และการบริการนี้เป็นจริงตามที่โฆษณาไว้ที่ว่า ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะสมกับรหัสพันธุกรรมที่แต่ละคนมี...หรือไม่         คำว่า Nudge นั้นมีความหมายว่า การสะกิดให้ใครสักคนเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระทำอยู่ไปในแนวใหม่ที่ควรจะดีขึ้นกว่าเดิม ในที่นี้ DNAnudge มีความหมายโดยรวมว่า เป็นการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าเพื่อแปลเป็นข้อมูลที่ใช้แนะนำให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ (ควรจะ) ดีขึ้นต่อสุขภาพของลูกค้า         สิ่งที่ลูกค้าต้องทำคือ (บ้วนปากให้สะอาดแล้ว) กวาดกระพุ้งแก้มด้วย cotton bud เพื่อให้ได้เซลล์ออกมาใส่ลงไปในภาชนะที่เรียกว่า DnaCartridge แล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะนำไปต่อเชื่อมกับเครื่องมือที่เรียกว่า NudgeBox ซึ่งน่าจะเป็นอุปกรณ์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (ขนาดย่อที่เล็กมากแต่มีประสิทธภาพสูง) ที่เริ่มจากการปล่อยน้ำยาเฉพาะเข้าสู่ DnaCartridge เพื่อสกัด DNA ออกมาจากตัวอย่างเซลล์กระพุ้งแก้ม แล้วส่ง DNA ที่สกัดได้เข้าสู่ส่วนของ NudgeBox เพื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้า (รายละเอียดในหลักการทางวิศวกรรมสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา         การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมนั้นผู้ให้บริการกล่าวในเว็บว่า เป็นการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้ง 3 พันล้านตำแหน่งของ DNA ภายในเวลาสั้นราว 60 นาที เพื่อให้ทราบส่วนที่เรียกว่า SNP ของยีน ที่ตอบสนองต่อสารอาหารเฉพาะ เช่น ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว แป้ง เกลือ หรืออื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวานประเภทที่ 1 ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือแม้แต่มะเร็ง (ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้) เป็นต้น         ข้อมูลจากการวิเคราะห์จาก NudgeBox อยู่ในลักษณะที่เป็นสัญญาน Digital จะถูกส่งเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า capsule ซึ่งภายในมี Chip ของวงจรอิเล็คทรอนิคที่เป็นส่วนหนึ่งของสายรัดข้อมือที่ถูกถอดไปประกอบติดกับ NudgeBox ขณะมีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอและเมื่อ capsule ได้ข้อมูลที่เป็นรหัสพันธุกรรมของลูกค้าแล้ว capsule นั้นจะถูกนำกลับไปประกอบกับสายรัดข้อมือของลูกค้าซึ่งจะส่งต่อข้อมูลรหัสพันธุกรรมไปยัง Application ของ DNAnudge ที่ลงไว้ใน Smartphone ของลูกค้าเพื่อใช้เป็นฐานเมื่อต้องการวิเคราะห์ว่า อาหารใดเหมาะกับลูกค้าหรือไม่ โดยเว็บของบริษัทผู้ให้บริการกล่าวว่า ข้อมูลใน capsule จะถูกทำลายทิ้งเพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การทำงานต่อไปขอให้ติดตามในตอนที่ 2 ของ ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 2

นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นกระบวนการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ต้องไม่เข้าข่ายเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจของสังคมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมี ซึ่งยีนแปลกปลอมที่หลงเหลือในเซลล์หลังถูกดัดแปรพันธุกรรม เช่น ยีนต้านยาปฏิชีวนะที่มีการใช้เป็นตัวบ่งชี้(marker) ระหว่างการเพิ่มปริมาณยีนที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจหลุดเป็นอิสระระหว่างการย่อยอาหาร และเมื่อไปถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเก็บเอายีนต้านยาปฏิชีวนะเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายพันธุ์จนต้านยาปฏิชีวนะได้  หรือ ยีนโปรโมเตอร์ที่ได้จากไวรัส อาจย้ายตำแหน่งบนโครโมโซมในลักษณะของ transposon แล้วไปกำหนดให้ยีนอื่นที่ไม่เคยทำงานถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนแปลกประหลาดออกมาในเซลล์ และยีนที่แทรกเข้าไปในโครโซมของเซลล์เจ้าบ้านอาจไม่ใช่ยีนเดี่ยว แต่กลับมียีนอื่นซึ่งสามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เมื่อได้กินอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น         ด้วยความระแวงในปัญหาที่เกิดจากอาหารที่ดัดแปรทางพันธุกรรมดังกล่าว ผู้บริโภคในสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการเข้าสู่ตลาดอาหารของจีเอ็มโอ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบและได้ทำการค้นพบวิธีการใหม่ โดยนำเอาเทคนิค Crispr มาใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์กินเป็นอาหารเพื่อแก้ไขจีโนมให้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นตามที่ผู้แก้ไขต้องการ นัยว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันเองโดยละเว้นที่จะบอกว่า มันสามารถทำกำไรมหาศาลเมื่อทำสำเร็จ         หลักการของ Crispr และการยอมรับ         หลักการของ Crispr นั้นดูมหัศจรรย์มาก ผู้คิดค้นสมควรได้รับรางวัลโนเบลเป็นอย่างยิ่ง...ถ้าในอนาคตอันใกล้ไม่มีการพบเสียก่อนว่า หลักการนั้นถูกนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปรกติทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดจากพ่อ-แม่ไปสู่ลูก นอกเหนือไปจากการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารมนุษย์ทั้งพืชและสัตว์นั้นดูดีกว่าต้นตำรับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ         ผู้ที่นิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมักให้เหตุผลว่า สามารถควบคุมทั้งรสชาติและความสะอาด แต่บ่อยครั้งมักพบว่าเสียความรู้สึก เพราะอาหารหลายชนิดที่เป็นผัก-ผลไม้ซึ่งรวมถึงเห็ดที่ชื่นชอบนั้นเปลี่ยนสี ไปในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หลังการปอกหรือหั่นแล้ว จนต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้สารละลายซึ่งอาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น        การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสีของผัก-ผลไม้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลเนื่องจากการทำงานของเอ็นซัมออกซิเดสในพืชผักและผลไม้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดนำเอาเทคนิค Crisper มาจัดการในเรื่องนี้ โดยปรากฏเป็นบทความในวารสาร Nature ชุดที่ 532 หน้าที่ 293 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 เรื่อง Gene-edited Crispr mushroom escapes US regulation ที่มีใจความโดยย่อว่า ผู้ชำนาญด้านพยาธิวิทยาพืชของ Pennsylvania State University ในสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขเพื่อหยุดการทำงานของจีโนมที่สร้าง polyphenol oxidase ของเห็ดกระดุมขาว (Agaricus bisporus) เพราะเอ็นซัมนี้ทำให้เห็ดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นในข่าวนี้คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะไม่ใช้กฎหมายควบคุมเห็ดกระดุมที่ได้รับการแก้ไขจีโนมด้วย Crispr ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เนื่องจากไม่ได้มีการสอดใส่ชิ้นส่วนของ DNA แปลกปลอมเข้าไปเหมือนกรณีจีเอ็มโอทั่วไป ดังนั้นเห็ดที่ถูกแก้ไขจีโนมจึงสามารถปลูกและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลของ อย.สหรัฐอเมริกา นี่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการแก้ไขจีโนมโดย Crispr แล้วได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา        จากกรณีตัวอย่างของเห็ดไม่เปลี่ยนสีในปี 2016 นั้น ส่งผลให้กระทรวงเกษตรต้องทำการทบทวนหลักเกณฑ์การควบคุมการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาหาร แล้วสุดท้ายในปี 2018 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาก็จนมุม ต้องมีแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Sonny Perdue ยอมรับว่า พืชที่ถูกปรับปรุงโดยใช้เทคนิคการแก้ไขจีโนมที่เรียกว่า Crispr นั้นไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบพิเศษอื่นใด เพราะปลอดภัยพอๆ กับเห็ดที่ผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมในการปรับปรุงพันธุ์ (ที่ใช้เวลานานกว่าและแพงกว่า) รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้ในบทความชื่อ USDA greenlights gene-edited crops ของเว็บ https://cen.acs.org ประจำวันที่ 9 เมษายน 2018 เป็นต้น         ผลต่อเนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาไฟเขียวต่ออาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกแก้ไขจีโนมในปี 2018 ทำให้มีข่าวที่ปรากฏในหลายเว็บที่สนใจเกี่ยวกับความทันสมัยของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ลงบทความในทำนองว่า ญี่ปุ่น ยังต้องยอมให้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกแก้ไขจีโนมเข้าสู่ประเทศได้เหมือนเป็นอาหารธรรมดา ดังปรากฏเป็นบทความเรื่อง Gene-edited foods are safe, Japanese panel concludes ใน www.sciencemag.org เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2019 ข่าวโดยย่อกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ขายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการแก้ไขจีโนมแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการประเมินความปลอดภัย ตราบใดที่เทคนิคต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Ministry of Health, Labour and Welfare เห็นชอบ ประเด็นที่สำคัญคือ นี่เป็นการเปิดประตูสู่การใช้ Crispr และเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่มีไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ในญี่ปุ่น         ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความว่า การใช้เทคนิค Crispr นั้นดูดีไปทุกอย่าง ถ้ากระบวนการนั้นเป็นไปอย่างที่หวัง กล่าวคือ ถ้าหวังว่าต้องการตัดยีนแค่ไหนก็ตัดได้แค่นั้น ไม่ขาดหรือไม่เกิน เพราะถ้ามีการขาดหรือเกินนั้นผลที่ตามมาอาจก่อปัญหาที่รุนแรงต่อฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น         แล้วลางร้ายก็ปรากฏขึ้นดังที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลใจ เพราะมีงานวิจัยเรื่อง Repair of double-strand breaks induced by CRISPR-Cas9 leads to large deletions and complex rearrangements ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 36 หน้า 765–771 ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า การใช้ Crispr ในตอนนี้อาจจะไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบการแก้ไขนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากกว่าที่คิดไว้ รายงานดังกล่าวบอกว่า นักวิจัยลองใช้ Crispr เพื่อแก้ไข DNA ทั้งในเซลล์ของหนูและมนุษย์แล้วพบว่า มีส่วนของดีเอ็นเอขนาดยาวถูกลบทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการจัดเรียงลำดับหน่วยพันธุกรรมใหม่จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพร้อยละ 15 ซึ่ง Allan Bradley (ผู้ร่วมทำงานวิจัยนี้) กล่าวเป็นเชิงกังวลกับ Live Science (ในบทความเรื่อง Crispr gene editing may be doing more damage than scientists thought ดูได้จาก www.livescience.com ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018) ว่า Crispr อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด เพราะไม่สามารถควบคุมให้กระบวนการแก้ไข DNA นั้นถูกต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์และอาจมีปัญหาอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม"โดยสรุปแล้วประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิค Crispr คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการแก้ไขจีโนมนั้นมีลักษณะเหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า เนื่องจากมีลักษณะฟีโนไทป์ที่แสดงออกคล้ายหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (wild type) ในกรณีที่ฟีโนไทป์ที่แตกต่างนั้นเกี่ยวกับสีหรือกลิ่น ผู้บริโภคอาจสามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ถ้าสีและกลิ่นยังเหมือนเดิมในขณะที่ส่วนการแสดงออกที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตนั้น การสังเกตด้วยตาและจมูกก็อาจทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เราอาจต้องสวดมนต์ภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องกินอาหารที่ได้ถูกแก้ไขจีโนมเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนึ่งของยีนในสิ่งมีชีวิตอาจส่งผลให้ยีนอื่น ๆ ทำในสิ่งไม่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 มรดกทางพันธุกรรม

ผู้เขียนไม่ค่อยสบายใจเมื่อมองไปข้างหน้าแล้วคาดได้ว่า ประเทศไทยอาจมีทรัพยากรมนุษย์ที่ลืมตาดูโลกในช่วงนี้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เป็นไปในลักษณะที่ควรเป็น ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะผู้เขียนได้ดูคลิปที่ได้มาจาก YouTube เรื่อง the ghost in your genes คลิปดังกล่าวให้ความรู้ใหม่ว่า มรดกทางพันธุกรรมที่ส่งผ่านจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลานนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้การบงการจากยีน (ซึ่งอยู่บนโครโมโซม) เพียงประการเดียว แต่ยังขึ้นกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่นอาหารการกิน ความเป็นอยู่ในอดีต การต่อสู้และการก่อการร้าย ปัจจัยเหล่านี้ต่างแสดงอิทธิพลต่อการที่ลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละยีนจะแสดงออกหรือไม่ในรุ่นลูกหลาน ปัจจุบันเด็กไทยมีการสำส่อนในเรื่องเพศจนมีลูกเมื่ออายุ 10 ปี ขาดสัมมาคารวะ เป็นคนสร้างเกราะกำบังตัวเองเพื่อจะได้อยู่กับโลกไซเบอร์ ขึ้นรถไฟฟ้าก็แย่งที่นั่งโดยไม่เอื้อเฟื้อคนพิการหรือผู้อ่อนแอกว่า ซ้ำร้ายยังยอมรับในเรื่องคอรัปชั่นว่า ทำได้ถ้าตนเองได้รับส่วนแบ่งทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เคยปรากฏเมื่อสมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก The ghost in your genes นั้นเป็นสารคดีเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์อังกฤษที่ใฝ่ศึกษาว่า การส่งมรดกทางพันธุกรรมให้ลูกหลานนั้นเป็นไปอย่างเที่ยงตรงหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า การปิด-เปิดยีนเพื่อแสดงออกถึงลักษณะทางพันธุกรรมนั้น ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่เซลล์นั้นประสบ ยกตัวอย่างที่ท่านผู้อ่านอาจเคยประสบคือ การถ่ายท้องเมื่อกลับมาดื่มนมหลังจากเลิกดื่มไปนานแล้ว อาการถ่ายท้องนั้นเกิดเพราะเมื่อดื่มนมเข้าไปแล้วขาดเอนไซม์ แลคเตส ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตสส่งผลให้น้ำตาลแลคโตสไม่ถูกย่อยจึงลงไปสู่ลำไส้ใหญ่ กลายเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ย่อยน้ำตาลนี้ได้เป็นก๊าซที่ทำให้ท้องอืด ส่วนน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการหมักของแบคทีเรียรวมกันก็เพิ่มความดันออสโมติกทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นในลำไส้ใหญ่ จนทำให้อุจจาระเหลวเกิดอาการที่เรียกว่า ถ่ายท้อง การหยุดสร้างเอนไซม์แลคเตสเพื่อย่อยแลคโตสนั้นเกิดเพราะ เอนไซม์ต่างๆ ในร่างกายมนุษย์มักถูกสร้างออกมาเพื่อตอบสนองกระตุ้นด้วยสิ่งมันจะทำการย่อย ดังนั้นใครก็ตามที่เลิกดื่มนมไปนานๆ ยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างเอนไซม์แลคเตสก็จะถูกปิด เพราะขาดน้ำตาลแลคโตสไปกระตุ้นการทำงาน แต่ในบางกรณี การปิดเปิดนั้นอาจเป็นปรากฏการณ์ถาวรได้ โดยในคลิปดังกล่าวนั้น ผู้ทำการวิจัยชาวอังกฤษได้ไปทำการศึกษาร่วมกับนักวิจัยชาวสวีเดนในหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษกล่าวคือ เป็นหมู่บ้านที่สามารถรักษาข้อมูลความเป็นไปของแต่ละครอบครัวที่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านได้อย่างดี สามารถสืบกลับไปในอดีตว่า บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวนั้นประสบสุขหรือทุกข์ภัยอย่างใด มีความเป็นอยู่ในด้านโรคภัยไข้เจ็บแบบใด และผลดังกล่าวนั้นถ่ายทอดไปเป็นมรดกทางสุขภาพแก่ลูกหลานอย่างไร สิ่งซึ่งน่าแปลกใจในเรื่องอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อการเกิดตัวอ่อนมนุษย์ก็คือ มีประเด็นว่า เด็กสองคนซึ่งมีบางส่วนของโครโมโซมแท่งเดียวกันและตำแหน่งเดียวกันขาดหายไป กลับเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ต่างกัน คำถามคือว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น (ปรากฏการณ์นี้ต่างจากกรณีที่เด็กซึ่งมีจำนวนโครโมโซมคู่ที่ 21 เป็น 3 แท่ง มีอาการดาว์นซินโดรมทุกคน) คำตอบนั้นยังไม่มี แต่ในคลิปสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอิทธิพลของปัจจัยภายนอกต่อการแสดงออกของความผิดปรกติที่โครโมโซม ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ การเกิดโรคทางพันธุกรรมที่เกิดยากในภาวะธรรมชาตินั้นกลับเกิดได้ในเด็กหลอดแก้ว นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งในคลิปได้ตั้งประเด็นว่า การทำการปฏิสนธินอกมดลูก (IVF หรือ in vitro fertilization) นั้นอาจมีส่วนในการกระตุ้นให้โรคทางพันธุกรรมแสดงออกมา เนื่องจากปิดเปิดยีนบางตำแหน่ง ทั้งนี้เพราะมีการทดลองเลี้ยงตัวอ่อน (embryo) หนูในจานแก้วปรากฏว่า มีการปิดหรือเปิดยีนบางตำแหน่งต่างจากหนูที่โตในท้องแม่ ซึ่งปรากฏการนี้ได้ถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกด้วยเช่นกัน มีการศึกษาถึงผลที่ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจอย่างร้ายแรงเช่น กรณี 911 ที่นิวยอร์กว่า มีผลต่อลูกของสตรีที่ประสบเห็นเหตุการณ์อย่างไร โดยนักวิจัยตั้งประเด็นว่า การเกิดเหตุร้ายช่วงการตั้งท้องเด็กนั้น ส่งผลต่อระดับสูงกว่าปรกติของฮอร์โมนเช่น คอร์ติโซน (cortisone ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อมีความเครียด) ในเด็กที่โตขึ้น แม้ว่าเด็กจะคลอดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ดังนั้นนักวิจัยจึงยังติดตามดูต่อพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า สตรีที่ท้องในช่วงมีการวางระเบิดในจังหวัดชายแดนใต้นั้นคงมีแน่นอน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ อย่างไรก็ดีในคลิปดังกล่าวนั้น ปัจจัยหลักที่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าน่าจะสำคัญที่สุด ที่ทำหน่วยพันธุกรรมมีการทำงานที่เบี่ยงเบนไปก็คือ การได้รับอาหารและโภชนาการที่เปลี่ยนไป ซึ่งประเด็นนี้ในอดีตอาจขึ้นกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร แต่ในปัจจุบันเราคงสามารถเห็นได้ว่า พฤติกรรมการบริโภคแบบเร่งด่วน การกินอาหารตามใจตน ไม่สนใจหลักการกินอาหารที่ถูกต้อง น่าจะมีผลลัพธ์เป็นมรดกที่ส่งต่อให้กับเด็กไทยที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ทั้งทางด้านสุขภาพและนิสัยใจคอ มีประเด็นหนึ่งจากคลิปที่น่าสนใจกล่าวว่า คุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกสร้างขึ้นนั้น มีสภาวะแวดล้อมเป็นตัวกำหนดการแสดงออกของยีน หลังจากที่เซลล์สืบพันธุ์ชายและหญิงผสมกัน สิ่งนี้สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะปัจจุบันเราทราบดีกว่า แฝดแท้ (identical twin) นั้นถึงจะมียีนเหมือนกัน 100 % ถ้าถูกเลี้ยงดูอยู่ในสภาวะแวดล้อมต่างกัน เช่น กินอาหารต่างกัน ทำเลอยู่อาศัยต่างกัน มีอาชีพต่างกัน ใช้ชีวิตในรูปแบบต่างกัน ฯ สุดท้ายเมื่ออายุมากขึ้นเราสามารถมองเห็นความแตกต่างกันของรูปลักษณ์ภายนอกได้ชัดเจน (เรื่องประเภทนี้สามารถไปดูคลิปใน YouTube ได้โดยใช้คำค้นหาว่า epigenetic identical twins) ดังนั้นต่อให้แฝดแท้ชายทั้งสองคนไปแต่งงานกับแฝดแท้หญิงทั้งสองคน โอกาสที่ลูก (แม้เป็นเพศเดียวกันจากคู่แต่งงานแต่ละคู่) มีการทำงานของยีนที่ต่างกันย่อมเกิดได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในช่วงการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ที่ต่างกันทำให้การปิดเปิดยีนต่างกัน รูปลักษณ์ นิสัยใจคอ สุขภาพ ฯลฯ จึงอาจต่างกันได้ ประเด็นเรื่องของผลเนื่องจากสิ่งแวดล้อมต่อคุณภาพของคนนี้ เป็นที่สนใจของหน่วยงานรัฐบาลในบางประเทศ ที่มุ่งหวังจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งควรจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพคนที่ออกมา ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ พลเมืองของประเทศเช่น ภูฏาน ซึ่งไม่เคยคิดจะแข่งขันในการเป็นอารยะเช่นเดียวกับประเทศอื่น น่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพทั้งกายและใจดีกว่าพลเมืองของอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะพยายามแข่งขันกันเพื่อให้ได้เป็นหนึ่งในอาเซียนตามคำขวัญที่พยายามคิดขึ้นมา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >